Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2531
เท้าไม่เปลือยเปล่าของจงสถิตย์วัฒนามรดกธุรกิจจากชนรุ่น 1 ถึง รุ่น 2 บนความปึกแผ่น             
 


   
search resources

Garment, Textile and Fashion
พิชัย จงสถิตย์วัฒนา
รองเท้าตราอูฐ




ธุรกิจครอบครัวนี้ สืบทอดมาสู่ชนรุ่น 2 อย่างเต็มที่แล้ว หลังจากจงฮิวกวง ผู้บุกเบิกได้วางมือไปตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อปี 2513 ภาระในการนำธุรกิจนี้ไปสู่การเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป บนรากฐานของการยอมรับในระบบอาวุโสและความสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่นในหมู่พี่น้อง เป็นตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่น่าศึกษาถึงศักยภาพของระบบธุรกิจครอบครัวไทยในทศวรรษนี้

ลูกเอ๋ย… เราทำมาหากินเกี่ยวกับของเบื้องต่ำ อย่าไปหวังร่ำรวยอะไรกันนัก พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็พอ…" จงอิวกวงพูดกับลูกๆ เมื่อกว่า 30 ปีก่อน…

คำพูดของผู้พ่อที่กล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบๆ กับลูกๆ นี้ บ่งบอกถึงส่วนลึกของคนจีนโพ้นทะเลในยุคสมัยนั้นส่วนใหญ่ ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบข้ามน้ำข้ามทะเลหากินในเมืองไทย เพียงเพื่อความปรารถนาจะมีชีวิตรอด ดำรงชีพอย่างสมถะ ไม่ได้หวังร่ำรวยอะไร

"จงอิวกวง" เป็นชนรุ่นบุกเบิกธุรกิจครอบครัว "จงสถิตย์วัฒนา" ที่ทำธุรกิจซื้อมาขายไปรองเท้าหนังยี่ห้อ 555 มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยปักหลักอยู่ที่เยาวราชย่านไชน่าทาวน์ของไทย

สงครามทำให้ "จงอิวกวง" สูญเสียที่มั่นในการประกอบอาชีพ เขาต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ด้วยจิตใจที่ทรหดอดทน เข้าหาทำเลค้าขายใหม่ มาอยู่ที่เจริญกรุงบริเวณสามแยก

จงอิวกวง ไม่ทำมาหากินอย่างอื่นเลย เขายังคงสร้างหลักปักฐานอยู่กับรองเท้าอย่างเดียวเท่านั้น… สงครามไม่ทำให้เขามีจิตใจหวั่นไหวเลย

เมื่อสงครามยุติลง จงอิวกวง ยังคงค้าขาย (ปลีก) รองเท้ายี่ห้อ 555 ของเขาต่อไป ลูกค้าทั้งหมดก็เป็นคนในเมืองหลวงนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน กล่าวกันว่า รองเท้าที่จงอิวกวงนำมาขายนั้น ผลิตขึ้นในประเทศไทยนี้เอง เป็นหัตถกรรมในครัวเรือน หนึ่งในจำนวนนี้คือบริษัท SCS ในปัจจุบันนี้เอง

ออกจะเป็นเรื่องแปลกที่ จงอิวกวง ไม่เคยร่ำเรียนการตลาดหรือบริหารธุรกิจสาขาใดมาก่อน แต่การค้าขายกับลูกค้าชาวจีนในเมืองหลวง เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้เขารับรู้ว่า สินค้ารองเท้ายี่ห้อ 555 ที่เขาตั้งขึ้นดูจะเป็นชื่อที่เรียกขานกันได้ยาก ด้วยชาวจีนมีสำเนียงพูดไม่ชัดเจน ความทรงจำในยี่ห้อสินค้า ซึ่งในหลักการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ถือว่าเป็นหัวใจในการค้าขาย ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในจิตใจผู้ซื้อ

จงอิวกวง จับจุดนี้ออก เขาจึงเปลี่ยนยี่ห้อรองเท้าใหม่จาก 555 เป็น "ตราอูฐ" ที่มีความหมายถึงความทนทาน และเรียกขานกันได้ง่าย

นับแต่นั้นธุรกิจค้าขายรองเท้าของจงอิวกวงก็เริ่มติดลมบน!…

ตลาดค้าปลีกในเมืองหลวงแคบเกินไปเสียแล้ว จงอิวกวงเริ่มเล็งตลาดออกไปที่ต่างจังหวัด ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคนจีนที่มีความรู้แคบในการหยั่งรู้ถึงรสนิยมในการซื้อรองเท้าของคนต่างจังหวัด แต่เขาก็มี "พิชัย" ลูกชายคนโตที่เกิดจากภรรยาคนที่ 2 เป็นคนคอยช่วยเหลือในการบุกเบิกตลาด

พิชัย เป็นลูกชายคนโตของจงอิวกวง เขาจบจากอัสสัมชัญ แล้วไปทำงานฝ่ายขายอยู่ที่บริษัทคอลเกตฯ อยู่ 1 ปี การเป็นเซลส์แมนอยู่ที่คอลเกตฯ ทำให้พิชัยมีประสบการณ์ในการทำตลาดต่างจังหวัด ที่นำมาปรับใช้ให้กับธุรกิจของครอบครัวมากๆ

จงอิวกวง มีลูกอยู่หลายคน คนโตสุดเกิดจากภรรยาคนแรกชื่อ เจริญ ส่วนพิชัยเป็นลูกชายคนโตที่เกิดจากภรรยาคนที่สอง เจริญกับพิชัย เมื่อออกมาทำงานกับครอบครัว จงอิวกวงให้เขาทั้ง 2 แยกความรับผิดชอบออกจากกัน

เจริญ รับผิดชอบตลาดขายปลีกในเมืองหลวงในนามบริษัทสิงคโปร์ สโตร์ ขณะที่พิชัยรับผิดชอบตลาดต่างจังหวัด ในนามบริษัทเกษมเทรดดิ้ง

การให้ลูกๆ ที่เกิดต่างมารดา แยกความรับผิดชอบในธุรกิจครอบครัวออกจากกัน นับว่าเป็นความฉลาดของจงอิวกวง เพราะวิธีการนี้สะท้อนให้เห็นว่า จงอิวกวงได้ปูพื้นฐานโครงสร้างการทำธุรกิจครอบครัวให้แก่ชนรุ่น 2 ได้เป็นระบบขจัดปัญหาการแย่งชิงทรัพย์สินกันในภายหลัง เมื่อตนเองปลดเกษียณลง

จงอิวกวง เริ่มเปลี่ยนมือจากธุรกิจเพื่อผ่องถ่ายไปให้ลูกๆ เมื่อปี 2513 เขาก็เหมือนกับคนจีนโพ้นทะเลทั่วไปที่ภายหลังสร้างหลักปักฐานให้แก่ครอบครัวได้ ก็คิดจะปลดเกษียณเมื่อวัยชราได้มาเยี่ยมเยือน

"ตอนปล่อยมือ คุณพ่อปล่อยจริงๆ ธุรกิจทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นที่สิงคโปร์ สโตร์ และเกษมเทรดดิ้ง ท่านให้ลูกๆ ทำกันเองหมด ท่านให้เวลาที่เหลือท่องเที่ยวพักผ่อนอย่างเดียว เพื่อความสุขในบั้นปลาย" พิษณุ จงสถิตย์วัฒนา ลูกชายคนที่ 4 ต่อจากพิชัย พิเชษฐ์ พิจิตร ที่เกิดจากภรรยาคนที่ 2 ของจงอิวกวง เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง หลังจากพยายามชี้ให้เห็นว่า จงอิวกวงเป็นเถ้าแก่คนจีนโพ้นทะเลน้อยรายเหลือเกิน ที่ปลดเกษียณตัวเองจากธุรกิจขณะที่มีชีวิตอยู่อย่างจริงๆ โดยไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวเลย

"ผมรู้สึกแปลกใจเอามากๆ ที่คุณพ่อทำใจได้เช่นนั้นจริงๆ" พิษณุกล่าว พิชัยและน้องที่เกิดจากภรรยาคนที่สองของจงอิวกวงได้มรดกจากพ่อ คือ บัญชีลูกหนี้ต่างจังหวัด ขณะที่เจริญลูกที่เกิดจากภรรยาคนแรกของจงอิวกวง ได้บัญชีลูกหนี้ในกรุงเทพฯ ไป

พิชัยยอมรับว่า การแบ่งบัญชีลูกหนี้กัน แม้จะเป็นความต้องการของจงอิวกวง แต่ลึกๆ แล้ว พิชัยก็ยังสงสัยอยู่ เพราะขณะนั้นเจริญเป็นคนคุมการเงินของบริษัททั้ง 2 แห่ง

จุดนี้เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกันในชนรุ่น 2 อย่างช่วยไม่ได้ หลังจากจงอิวกวงได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 2516

สาเหตุการทะเลาะเบาะแว้งก็อยู่ที่เรื่องเจริญซึ่งคุมการเงินของบริษัททั้ง 2 แห่ง ต้องการขาย TRADE MARK LICENSE ยี่ห้อตราอูฐออกไปในราคา 10 ล้านบาท แต่พิชัยไม่ยอมเพราะถือว่าตนเองเป็นผู้บุกเบิกยี่ห้อตราอูฐมากับมือจนติดตลาด

"คุณเจริญ เป็นคนจดทะเบียนลิขสิทธิ์ยี่ห้อนี้ ผมเสนอให้โอนลิขสิทธิ์นี้มาให้ แต่คุณเจริญไม่ยอมเพียงต้องการให้ผมทำตลาดให้อย่างเดียวเท่านั้น" พิชัยกล่าว

เมื่อตกลงกันไม่ได้ พิชัยกับน้องๆ ก็แยกตัวออกมาทำเอง โดยจัดตั้งบริษัทรองเท้าตราอูฐขึ้นเมื่อปี 2520 โดยมุ่งหวังจะสร้างยี่ห้อใหม่ขึ้นมาคือ AA

ตรงนี้เอง คือจุดแยกกันอย่างสิ้นเชิงในทางธุรกิจของชนรุ่น 2 ที่เกิดต่างมารดากันของครอบครัว "จงสถิตย์วัฒนา" และประวัติศาสตร์ธุรกิจครอบครัวตระกูลนี้ของชนรุ่น 2 ที่เกิดจากภรรยาคนที่ 2 ของจงอิวกวงก็เริ่มขึ้นอยางจริงจัง

ชนรุ่น 2 ของสายเมียคนที่ 2 จงอิวกวง ประกอบด้วยพิชัย พิเชษฐ์ พิจิตร พิษณุ สุนันทา พิชิต สุวรรณา และพิศิษฐ์ ช่วงการลงหลักปักฐานบริษัทรองเท้าตราอูฐ มีพิชัย พิเชษฐ์ และพิจิตร เป็นหัวเรือใหญ่

บริษัทรองเท้าตราอูฐ จดทะเบียนด้วยทุน 4 ล้านบาท พิชัยและพิเชษฐ์ ถือหุ้นคนละ 10% ลักษณะการทำธุรกิจในช่วงแรกนี้ยังคงเป็นการซื้อมาขายไปเหมือนเดิม สินค้าที่ขายเป็นรองเท้าหนัง และรองเท้านักเรียน ยี่ห้อ AA ซึ่งเป็น TRADE MARK ที่พิชัยและน้องๆ มุ่งหวังจะสร้างให้เป็นที่นิยมของตลาดให้ได้

พิชัย พี่ใหญ่ คุมฐานลูกค้าเก่าต่างจังหวัดสมัยเขาบุกเบิกตราอูฐ ขณะที่พิเชษฐ์ น้องพิชัยผู้บุกเบิกตราอูฐมากับพิชัยในตลาดต่างจังหวัดมาก่อนเป็นคนคุมหน่วยรถ

กล่าวกันว่า คู่แข่งขันที่ครองตลาดรองเท้าหนังเวลานั้น คือ บาจา ซึ่งมีทุนและเครือข่ายตลาดที่เหนือกว่ามากมาย เพราะความเป็นผู้มาก่อนในธุรกิจอุตสาหกรรมรองเท้าระดับสากล

บริษัท บาจา เริ่มกิจการครั้งแรกในบ้านเรา ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เสียอีก โดยนำรองเท้าจากบริษัทมาขายในบ้านเรา จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทบาจา ประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกปี 2493 ด้วยทุนจดทะเบียน 100,000 บาท เริ่มมีฐานการผลิตในบ้านเราตั้งแต่ปี 2497 ที่ตำบลบางคอแหลม อีก 5 ปีต่อมาก็ย้ายมาผลิตที่โรงงานของบริษัทที่ซอยทองหล่อ ถ.สุขุมวิท (บางนา) ในปี 2516

ในปี 2521 บริษัทได้ขอ BOI และได้รับอนุมัติส่งเสริม จึงเปิดอีกโรงงานหนึ่งที่บางพลี

รวมความแล้ว บริษัทบาจาแห่งนี้มีฐานการผลิตในบ้านเรา 3 แห่ง ผลิตรองเท้าเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าหนัง ผ้าใบ นักเรียน แตะฟองน้ำ จนบริษัทสามารถประกาศให้ตลาดรู้ว่า ตนเองคือ "ผู้รู้เฟื่องเรื่องรองเท้า"

ถ้าให้บริษัทบาจาเลือดแคนาคาเป็นผู้มาก่อนในธุรกิจรองเท้าในบ้านเราแล้ว สำหรับธุรกิจรองเท้าเลือดไทยก็มีบริษัทรองเท้าตราอูฐของตระกูล "จงสถิตย์วัฒนา" ลูกๆ ของจงอิวกวงนี่แหละ ที่พอจะพูดได้ว่าเป็นผู้มาก่อนใครทั้งหมด!!

มรดกทำธุรกิจรองเท้าจากพ่อ ทำให้พิชัยและน้องๆ วางตำแหน่งธุรกิจครอบครัวของตนเองอยู่ที่รองเท้าเพียงอย่างเดียว และหมายมั่นที่จะลบล้างทัศนคติของพ่อที่เคยกล่าวกับลูกๆ ว่า "การทำมาหากินกับของต่ำ อย่าไปหวังร่ำรวยอะไร เอาพอกินพอใช้ก็พอ" นั้นให้จงได้เพราะชนรุ่นลูกอย่างพิชัยและน้องๆ ที่เกือบทุกคนได้รับการปูพื้นจากประสบการณ์การทำงานบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่อย่างคอลเกตฯ และระดับการศึกษาด้านธุรกิจการค้าจากอัสสัมชัญ เขาย่อมมองธุรกิจทุกประเภทอย่างมีความหวัง ถ้าทำกันอย่างจริงจังและมีระบบการทำงานที่ดี

"ผมคัดค้านพ่อในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าธุรกิจรองเท้าถ้าทำให้ดีอย่างจริงจังย่อมสำเร็จและร่ำรวยได้" พิชัยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ชนรุ่น 2 ของจงอิวกวง วางกลยุทธ์สู่ความสำเร็จโดยสร้างแบรนด์ AA ให้โด่งดังกว่าตราอูฐ แต่จะไม่ไปแข่งกับบาจาโดยตรง เขาทราบดีว่า ในยุคของพวกเขามีธุรกิจรองเท้าเลือดไทยหลายรายก้าวเข้ามาแข่งขันอย่างเต็มตัว เช่น กลุ่ม SCS ที่เคยผลิตป้อนรองเท้าให้กลุ่ม SENSO ที่ผลิตรองเท้าแฟชั่นสตรี ดังนั้นการที่จะให้กลุ่มจงสถิตย์วัฒนาสามารถต่อกรกับคู่แข่งขันเลือดไทยได้ต้องมีฐานการผลิตของตนเอง ด้วยเหตุนี้ในปี 2522 บริษัทรองเท้าตราอูฐของตระกูลจงสถิตย์วัฒนา จึงขยายธุรกิจออกไปโดยสร้างฐานการผลิตของตนเองในนามบริษัทรองเท้าเอเอ และวางเป้าหมายการผลิตเฉพาะรองเท้านักเรียน รองเท้าแตะ PVC และรองเท้าผ้าใบเท่านั้น

เมื่อกลยุทธ์ธุรกิจปรับเปลี่ยนไปจากซื้อมาขายไปสู่การผลิตจัดจำหน่าย และนอกจากนี้กลุ่มสินค้าที่เคยจำกัดในไลน์แคบไม่กี่ตัวก็เริ่มมีมากขึ้น จากเฉพาะรองเท้าหนังและรองเท้านักเรียน ไปสู่รองเท้าแตะ PVC และรองเท้าผ้าใบ

ลักษณะกลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนไปเช่นนี้บ่งบอกว่า ธุรกิจครอบครัวเริ่มขึ้นสู่วงจรเติบโตขึ้นแล้ว พิชัย พิเชษฐ์ และพิจิตร 3 พี่ใหญ่ของครอบครัวรุ่น 2 "จงสถิตย์วัฒนา" รู้ดีว่า การปรับระบบบริหารให้ขยายตัวตามกลยุทธ์ที่เปลี่ยนไปเป็นสิ่งจำเป็น

พิชัยดึงสุนันทาน้องสาวคนโตที่จบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านบัญชีจากบริษัทบอร์เนียว มาควบคุมดูแลด้านบัญชีให้กับธุรกิจครอบครัวดึงพิศิษฐ์มาคุมด้านการขายส่งและปลีกในประเทศหลังจบอัสสัมชัญมา ดึงสุวรรณาน้องสาวคนเล็กมาคุมด้านแผนก P.C. หลังจบจากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

การดึงเอาน้องๆ เข้ามาร่วมงานบริหารในฝ่ายต่างๆ แสดงแจ่มชัดว่า ระบบการบริหารของชนรุ่น 2 เริ่มมีการกระจายหน้าที่และอำนาจความรับผิดชอบ จากแต่เดิมมีลักษณะการรวมศูนย์อยู่ที่พิชัยและพิเชษฐ์

ในปี 2523 ตลาดภายในประเทศอ่อนเปลี้ยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลง เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยแพง สภาพไม่เอื้ออำนวยของตลาดภายในนี้ พิชัยและน้องๆ เริ่มเล็งไปที่ตลาดส่งออกย่านตะวันออกกลาง ที่ขณะนั้นเป็นตลาดยอดนิยมของผู้ส่งออกไทยในสินค้าทุกประเภท

พิชัยมองคนในครอบครัวที่เหมาะกับงานนี้ไปที่พิชิต อดีตผู้สื่อข่าวพิเศษ FAREASTERN ECONOMIC REVIEW ประจำฮ่องกง ด้วยความที่วิชาชีพทำให้เขาต้องเดินทางไปต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ พิขัยเห็นว่าเขาเหมาะกับงานนี้ จึงดึงพิชิต น้องชายมาร่วมงานนี้ด้วย

งานส่งออกแรกที่พิชิตทำ เขาบุกเบิกส่งรองเท้าหนัง AA สู่ตะวันออกกลางจาก TRADE MISSION ที่สภาหอการค้าไทยจัดนำไป ด้วยยอดขาย 30 ล้านบาทเป็นการบุกเบิกตลาดส่งออกและรองเท้า AA ภายในนามบริษัทรองเท้าตราอูฐได้สดสวยงามยิ่ง

ชนรุ่น 2 ของ "จงสถิตย์วัฒนา" กำลังนำธุรกิจสู่ INTERNATIONAL แล้ว !

ปี 2524 พิชัยตั้งแผนกส่งออกขึ้นในบริษัทรองเท้าตราอูฐ ให้พิชิตน้องชายที่แสดงฝีมือไว้แล้วในตลาดตะวันออกกลางเป็นหัวหน้าแผนก ซึ่งจังหวะก้าวเช่นนี้เป็นนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ธุรกิจครอบครัว "จงสถิตย์วัฒนา" อย่างยิ่ง ด้วย 4 ขาหยั่งทางโครงสร้างของธุรกิจที่พิชัยวาดหวังไว้เมื่อปี 2520 ได้ปรากฏชัดเจนขึ้น คือ หนึ่ง - ความเข้มแข็งของตลาดภายใน สอง - ความเข้มแข็งทางการเงิน สาม - ความเป็นไปได้ในตลาดส่งออก และสี่ - ความแข็งแกร่งของฐานการผลิต

อย่างไรก็ตามกล่าวสำหรับตลาดส่งออกแล้ว ยังไม่ใช่จุดทำกำไรเป็นชิ้นเป็นอันแก่ธุรกิจมากนัก เมื่อเทียบกับตลาดภายในประเทศ สาเหตุสำคัญก็เพราะสินค้ารองเท้าส่งออกมีการแข่งขันด้านราคากันมาก คู่แข่งขันเช่นไต้หวันและเกาหลีใต้มีประสิทธิภาพการผลิตทีดี่กว่าผู้ผลิตไทยมา อันเป็นผลจากการรู้จักประดิษฐ์คิดค้น เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ที่ประหยัดต้นทุนแรงงานอยู่ตลอดเวลา จุดนี้สอดคล้องกับคำพูดของพิชัยที่บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ตลาดส่งออกของรองเท้า AA เป็นการช่วยสร้างภาพพจน์มากกว่าความสามารถทำกำไร ความสามารถในการแทรกตัวเข้าไปในตลาดโลกได้ ทั้งๆ ที่ต้นทุนการผลิตด้านแรงงานสูงกว่า ซึ่งย่อมเสียเปรียบคู่แข่งขันในด้านราคา ย่อมแสดงว่าตลาดโลกยอมรับในคุณภาพรองเท้าจากผู้ผลิตไทย

การทะยานออกไปสู่ตลาดส่งออกของพิชิตจากระดับไม่กี่สิบล้านบาทในช่วงปีแรกๆ (2523) สู่ระดับ 100 ล้านบาทในอีก 5 ปีต่อมา และจากฐานตลาดส่งออกในตะวันออกกลางสู่ตลาดในยุโรปตะวันตก แสดงว่าตลาดส่งออกเริ่มมีนัยสำคัญต่อความเติบโตของธุรกิจครอบครัวแล้ว ซึ่งจุดนี้พิษณุ จงสถิตย์วัฒนา น้องชายพิชัยคนที่ 4 ที่ถูกดึงเข้ามาร่วมงานกับครอบครัวด้วยเป็นรายล่าสุด ก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า ยอดขายจากส่งออกมีสัดส่วนประมาณ 30% ของยอดขายรวม ณ สิ้นปี 2530

พิษณุจบ MBA จาก UCLA เขาเป็นลูกชายจงอิวกวงที่เรียนสูงที่สุดในบรรดาพี่น้อง ก่อนหน้าพิชัยจะดึงเขามาร่วมงานกับครอบครัว เขาดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง เครือปูนใหญ่ ขายวิทยุ โทรศัพท์ MOBIRA

พิษณุร่วมงานกับครอบคัวเมื่อต้นปี 2530 นี้เอง มีความเป็นนักบริหารที่มีความรู้เชิงเทคนิควิชาการระดับมืออาชีพ เขาเข้ามาสู่ธุรกิจครอบครัวด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะมีส่วนร่วมกับพี่น้อง ในการจัดระบบการบริหารธุรกิจในครอบครัวให้มีระเบียบแบบแผนมากยิ่งขึ้น

บทบาทาของพิษณุถูกวางไว้ในระดับมีความสำคัญพอๆ กับพิชัย ความแตกต่างของคนทั้ง 2 อยู่ที่พิษณุได้รับการยอมรับในพี่น้องว่าเป็นคนมีความสามารถด้านเทคนิคและวางแผนเสมือนเสนาธิการของครอบครัว ขณะที่พิชัยเป็นนักปฏิบัติการ

พิษณุเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท AA FOOT WEAR ที่ตั้งขึ้นใหม่ล่าสุดด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท บริษัทแห่งนี้ใช้ทุนจากำไรสะสมของบริษัทโฮลดิ้งรองเท้าตราอูฐเป็นเงินทุนลงทุน และใช้เครดิตไลน์จากแบงก์ 40 ล้านบาทในการลงทุนจัดสร้างโรงงานผลิตรองเท้าเพื่อส่งออกอย่างเดียว

จุดนี้แสดงว่า หนึ่ง - ธุรกิจครอบครัว "จงสถิตย์วัฒนา" กำลังมุ่งสู่ตลาดส่งออกผ่านยุโรปตะวันตกที่เน้นสินค้ารองเท้าที่มีคุณภาพดี สอง - สะท้อนว่า ปรัชญาในการลงทุนของครอบครัวเน้นความมั่นคงมากกว่าการเติบโต ซึ่งเห็นได้จากการพึ่งเงินทุนในครอบครัวเป็นจุดหลักมากกว่าเงินกู้จากแบงก์ ตรงนี้สอดคล้องกับคำพูดของพิษณุที่บอกว่า

"การขยายธุรกิจครอบครัวให้โตขึ้นต้องอาศัยการระดมทุนจากภายนอก ขณะที่เราพึ่งเงินทุนภายในเอง เพราะพวกเราคิดเสมอว่า ทุกบริษัทในเครือ AA เราเป็นของครอบครัวทุกคนที่ร่วมชะตากรรมเดียวกัน จึงต้องระมัดระวังมาก"

พิษณุได้เสริมรูปธรรมในปรัชญาการลงทุนของครอบครัวในจุดนี้ว่าสัดส่วน DEBT/EQUITY RATIO ตกราว 1.8 : 1 เท่านั้น

การดำเนินนโยบายธุรกิจของครอบครัวนี้ ในลักษณะอนุรักษ์นิยมสูง ว่าไปแล้วด้านหนึ่งอาจหมายถึงการเติบโตในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเล ที่เน้นบทบาทาความมั่นคงการสืบทอดภารกิจทางธุรกิจจากชนรุ่นหนึ่งสู่อีกชนรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่งเป็นการแสดงออกถึงความระมัดระวังในการปกป้องตัวเอง ยามที่ภาวะธุรกิจประสบความเลวร้ายอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก

ในแง่นี้เคยเกิดขึ้นในปี 2527 และ 2528 ที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเลวร้าย และแบงก์ดำเนินนโยบายคุมกำเนิดอัตราการเติบโตของสินเชื่อไว้ 18%

ปรากฏว่าในช่วง 2 ปีดังกล่าว ธุรกิจครอบครัว "จงสถิตย์วัฒนา" ขาดทุนดำเนินงานติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทำธุรกิจมา

แต่ภายใต้ภาวะวิกฤติเช่นนี้ ความเป็นปึกแผ่นในชนรุ่น 2 ของครอบครัวก็ไม่แตกสลายไปเหมือนธุรกิจครอบครัวอื่นๆ

ตรงนี้พิชัยได้กลาวกับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็นเพราะ หนึ่ง - พี่น้องทุกคนที่บริหารในธุรกิจของครอบครัวร่วมใจกันลดเงินเดือนและงดปันผล เพื่อแสดงสปิริตในความพยายามลดค่าใช้จ่ายส่วนที่เป็นค่าจ้างเงินเดือน และสอง - การดำเนินนโยบายบริหารเงินทุนแบบอนุรักษ์ที่พึ่งฐานเงินทุนของครอบครัวเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจของครอบครัวสามารถลดแรงกดดันดอกเบี้ยจ่ายลงไปได้มาก ซึ่งเท่ากับเป็นแรงลดค่าใช้จ่ายไปในตัว

การต้านวิกฤติแบบนี้ ถ้าเป็นธุรกิจที่บริหารโดยมีคนภายนอกเข้ามาด้วย (PROFESSIONAL ORGANIZATION) คงทำไม่ได้ง่ายๆ

แต่นี่มีแต่คนในครอบครัวทั้งนั้น สปิริตแบบนี้จึงเกิดขึ้นและไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง

นับว่าเป็นความโชคดีของจงอิวกวง ที่ลูกๆ มีความเป็นปึกแผ่นในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน

อย่างไรก็ตามในการดัดแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปให้องค์กรธุรกิจของครอบครัวเป็น PROFESSIONAL ORGANIZATION พิชัยและน้องๆ ก็ไม่ปฏิเสธในทิศทางนี้ เขาแสดงทัศนะถึงอนาคตของกลุ่มธุรกิจครอบครัวของเขาว่า บริษัท AA FOOTWEAR จะเป็นบริษัทแรกที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยจะให้ลูกค้าและพนักงานเข้าซื้อหุ้นของบริษัท ขณะที่คนในครอบครัวจะลดสัดส่วนการถือหุ้นกันลงมา

ทัศนะนี้แม้พิชัยจะยังไม่สามารถมีรายละเอียดในการปฏิบัติ แต่ก็แสดงออกถึงแนวคิดบางนโยบายที่ชัดเจน

ในการบริหารกลุ่มธุรกิจของครอบครัวมี 4 บริษัท คือ บ.รองเท้าตราอูฐ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ บริษัท AA MARKETING ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่าย บริษัทรองเท้า AA ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเพื่อขายในประเทศ และบริษัท AA FOOTWEAR ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออกอย่างเดียว พิชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า บริษัทแต่ละแหล่งเหล่านี้ แม้พี่นองในครอบครัวจะถือหุ้นกันเองโดยไม่มีคนภายนอก แต่การบริหารจะให้แต่ละแห่งยืนอยู่ได้ด้วยลำพังตนเอง จะไม่มีการอาศัยเงินทุนจากบริษัทแม่อีกต่อไป

พิจิตร น้องชายคนที่ 3 ของพิชัย ซึ่งจบด้านการออกแบบรองเท้าจากสถาบัน ARS SUTORIA อิตาลี ผู้ชำนาญการด้านรองเท้าเด็ก เขาได้รับการส่งเสริมจากพิชัยและพี่น้องให้ดูแลบริษัทแม่รองเท้าตราอูฐ

พิเชษฐ์ น้องชายรองจากพิชัย ที่มีประสบการณ์ลุยงานขายมากับพิชัยโดยตลอดเกือบ 30 ปีในต่างจังหวัด คุมบริษัท AA MARKETING ซึ่งเป็นหัวใจหลักของครอบครัวในการทำรายได้ให้กับธุรกิจจากตลาดภายในประเทศ

"ยอดขายจากตลาดภายในยังเป็นหัวใจและทิศทางหลักของธุรกิจเพราะมีกำไร/หน่วยยอดขายสูงกว่าส่งออก" พิษณุกล่าว

นอกจากพิเชษฐ์แล้วในบริษัทแห่งนี้ยังมีพิศิษฐ์นอ้งชายคนเล็กสุดของครอบครัว ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านการขายส่งและขายปลีกในตลาดภายในร่วมกับพิเชษฐ์ด้วย

พิศิษฐ์ก็เหมือนกับพี่ๆ ของเขา เขาอยู่ในธุรกิจนี้มานานนับ 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่จบจากอัสสัมชัญ ก็ถูกพิชัยพี่ใหญ่ดึงเข้ามาทำงานด้วย นอกจากนี้ยังมีสุวรรณาน้องสาวคนเล็กอีกคนหนึ่งที่ช่วยงานดานขายตรงที่มีสต๊าฟในอาณัติอีก 100 คน

มองในแง่นี้ บริษัท AA MARKETING จึงเต็มไปด้วยคนในครอบครัวที่ควบคุมดูแลงานขายที่เต็มไปด้วยประสบการณ์อันยาวนาน

พิชัยพี่ชายคนโตสุดที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ในช่วงนี้บริษัทครอบครัวที่เขาปลุกปั้นมากับมือเติบโตขึ้นมากแล้ว เขาเริ่มปล่อยมืองานหลายส่วนแก่น้องๆ นับตั้งแต่งานขายในบริษัท AA MARKETING งานบริหารการเงินในบริษัทแม่รองเท้าตราอูฐ ทุกวันนี้เขาเป็นรองประธานกรรมการบริษัทที่มีแม่เป็นประธานฯ อยู่ทุกบริษัทในเครือ

พิชัยพอใจที่จะวางบทบาทตนเองในงานบริหารโรงงานบริษัทรองเท้า AA ทีผลิตเพื่อขายในประเทศเพียงอย่างเดียว เขาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า การจะผลิตรองเท้าประเภทใดออกมาสู่ตลาดบริษัทจะดูแลด้าน INVENTORY CONTROL เป็นจุดหนักมากกว่าการคำนึงถึง MARKET SHARE ซึ่งจุดนี้ก็สะท้อนถึงปรัชญาในการบริหารได้อย่างดีว่า หนึ่ง - ธุรกิจครอบครัวมีจุดร่วมกันเอง หนึ่งคือรักษาความมั่นคงมากกว่าการเติบโตอย่างหวือหวา เหมือนดังที่พิษณุได้กล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า รองเท้าแฟชั่น กลุ่มบริษัทครอบครัวเขาจะไม่ลงไปแข่งขันมากนัก เพราะผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ผู้บริโภคมีรสนิยมในแบบเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป มันเสี่ยงต่อการดำรงสินค้าคงคลังสูงเกินไป และสอง - มันชี้ให้เห็นว่า กลุ่มธุรกิจครอบครัวมักคำนึงถึงผลตอบแทนกำไรต่อหน่วยยอดขายที่สูงมากกว่าปริมาณของยอดขาย

ธุรกิจครอบครัวทำรองเท้าอย่าง "จงสถิตย์วัฒนา" มีวงจรชีวิตที่ทอดยาวมาไกลแล้วเมื่อเทียบกับคู่แข่งขันหน้าใหม่ๆ ที่เข้ามาอย่างกลุ่ม SENSO หรือกลุ่มอื่นๆ ที่วางขายผลิตภัณฑ์รองเท้าในตลาด เส้นทางในอนาคตของกลุ่มครอบครัวนี้ จากชนรุ่น 2 สู่รุ่น 3 ยังทอดยาวต่อไปในเวทีธุรกิจรองเท้า

มันไม่ง่ายนักต่อการลงหลักปักฐานธุรกิจนี้เติบโตต่อไปอย่างมั่นคง เหมือนบรรพบุรุษได้สร้างมาภายใต้สภาวะการแข่งขันที่แหลมคมขึ้นทุกวัน แต่สปิริตที่สร้างสมกันมาอย่างยาวนาน จนเป็นวัฒนธรรมของครอบครัวนี้ในการสามัคคีกันอย่างแน่นแฟ้น และการยอมรับในระบบอาวุโส ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาใดๆ นับว่าเป็นจุดเด่นที่ตอกย้ำถึงคุณลักษณะของธุรกิจครอบครัวไทยที่มีรากฐานมาจากชนรุ่นบุกเบิกชาวจีนโพ้นทะเลที่มีความขยัน อดทน และถูกเสริมสร้างด้วยวิทยาการสมัยใหม่ของชนรุ่นลูกๆ ในการวางทิศทางของธุรกิจอย่างมีระเบียบแบบแผน เหตุนี้กระมังที่ธุรกิจครอบครัวในระบบธุรกิจไทยยังคงความศักดิ์สิทธิ์ได้ต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us