วันที่ 3 เมษายน 2543 เป็นวันที่บริษัทโฟล์กสวาเกน ลิสซิ่ง ประเทศไทย เริ่มเปิดให้บริการทางการเงินในไทยเป็นวันแรก
บริษัทแห่งนี้ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างโฟล์กสวาเกน ไฟแนน เชียล เซอร์วิส
บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินของโฟล์กสวาเกนกรุ๊ป จากเยอรมนี กับกลุ่มยนตรกิจ
และบริษัทเงินทุนทิสโก้ มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 800 ล้านบาท โดยโฟล์กสวาเกน
ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ถือหุ้น 49.99% บริษัทลีนุตพงษ์ ถือหุ้น 10% และบริษัทไทยคอมเมอร์เชียล
ออโต้ บริษัทเช่าซื้อในเครือบริษัทเงินทุนทิสโก้ ถือหุ้น 40.01% การรุกเข้ามาให้บริการทางการเงินของโฟล์กสวาเกน
ไฟแนน เชียล เซอร์วิส ในประเทศไทย ในนามของโฟล์กสวาเกน ลิสซิ่ง ดำเนินไปพร้อมกับการเปิดตัวรถโฟล์กรุ่นต่างๆ
ที่ค่ายยนตรกิจนำเข้ามา และมีแผนจะประกอบในประเทศไทย
เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา โฟล์กสวาเกน ลิสซิ่ง ได้ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไปแล้วทั้งสิ้น
700 คัน วงเงินให้สินเชื่อเฉลี่ยคันละ 1 ล้านบาท คิดเป็นยอดรวมการปล่อยสินเชื่อ
700 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในปีแรกที่คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้
1,000 ล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังซบเซาอยู่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่โฟล์กสวาเกน
ลิสซิ่ง ปล่อยให้กับลูกค้า จะจำกัดเฉพาะรถ 4 ยี่ห้อ คือ โฟล์กสวาเกน, ออดี้,
เซียท และสโกดา ซึ่งเป็นรถในกลุ่มโฟล์ก ซึ่งในปีที่ผ่านมามียอดขายในประเทศไทยรวม
1,929 คัน
"ตลาดรถโฟล์กในประเทศไทย ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีก" นอร์เบิร์ต แมสเฟลเลอร์
ประธานกรรมการบริหาร โฟล์กสวาเกน ไฟแนนเชียล เซอร์วิส เอจี มั่นใจ
การเข้ามาเปิดตัวให้บริการทางการเงินของโฟล์กสวาเกน ลิสซิ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
แม้จะเป็นไปอย่างเงียบๆ แต่ก็มีเป้าหมายที่แฝงไว้ค่อนข้างไกล
บริษัทแห่งนี้ ไม่ได้มองการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นบริการหลักเพียงอย่างเดียว
แต่มีแผนจะขยายการให้บริการทางการเงินให้กับลูกค้าอย่างครบวงจร โดยอาศัยฐานจากลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นอันดับแรก
"เรามีเป้าหมายที่จะพัฒนาการให้บริการทางการเงินประเภทอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อบุคคล
การให้บริการบัตรเครดิต ไปจนถึง การทำประกันภัย" นอร์เบิร์ต แมสเฟลเลอร์
เล่าถึงแผนงานในอนาคต
แผนของโฟล์กสวาเกน ลิสซิ่ง เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ ค่ายรถต่างประเทศ
ที่ได้เข้ามารุกตลาดในไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาทิ ฟอร์ดมอเตอร์ จากสหรัฐอเมริกา
ที่เข้ามาในไทยก่อนโฟล์กสวาเกน ได้เข้ามาเปิดบริษัทไพรมัส ลิสซิ่ง เพื่อให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในเครือฟอร์ด
และต่อมาได้ซื้อกิจการบริษัทเงินทุนธนาสิน เพื่อขยายธุรกิจไปสู่บริการทางการเงินอื่นๆ
หรือเดบิส เมอร์ซิเดส-เบนซ์ ของเดมเลอร์ไครสเลอร์ ที่เข้ามาให้บริการให้สินเชื่อรถเบนซ์
ในไทย และยังได้ขยายการให้บริการรวมไปถึงการเช่าซื้อเครื่องมือ เครื่องจักร
ตลอดจนเครื่องบิน ฯลฯ คนในวงการสถาบันการเงิน วิเคราะห์ว่าการรุกเข้ามาของบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินจากค่ายรถต่างประเทศ
เกิดขึ้นเนื่องจากประเทศไทยเกิดช่องว่างของการให้บริการเหล่านี้ หลังจากมีการปิดสถาบันการเงินไปถึง
56 แห่ง เมื่อปลายปี 2540
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินกลุ่มนี้ จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัทเงินทุนต่อไปในอนาคต
เพราะมีความคล่องตัว และการเริ่มจับลูกค้าเช่าซื้อรถยนต์เป็นฐาน ก็ถือเป็น
ข้อได้เปรียบที่สำคัญ เพราะเป็นตลาดที่กว้าง และมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
"ค่ายรถเหล่านี้มีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง และมีเม็ดเงินที่พร้อมให้บริการมากกว่า"
ซึ่งหากถึงเวลานั้นจริงๆ การทำธุรกิจของบริษัทเงินทุนในประเทศไทย อาจต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นมาอีก