เต๊กเฮงหยู เปิดหน้าประวัติศาสตร์บทใหม่ ด้วยความลักลั่นที่น่ากลัวของชนรุ่นที่
4 อย่างเต็มตัวแล้วในวันนี้ 88 ปีที่ผ่านมาระบุชัดแล้วว่า เต๊กเฮงหยู จะต้องเป็นโอสถานุเคราห์เพียงคนเดียวกับคำพยากรณ์ที่ว่า
ธุรกิจครอบครัวจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในห้องหนึ่งทศวรรษหน้านี้
สภาพหินลองทองดังกล่าวนี้เต๊กเฮงหยูไม่พ้นแน่นอน
"ทำไม? เป็นเพราะอะไรหรือ? บริษัทที่มีทุนสะสมมากพอกับการขยายอิทธิพลทางการค้าและยังตั้งขาหยั่งที่แข็งแกร่งในเมืองไทยมานานกว่า
80 ปีอย่างเต๊กเฮงหยูถึงมาได้ไกลเพียงแค่ที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน?"
หากลูกหลาน "โอสถานุเคราะห์" ใจกว้างพอกับการยอมรับข้อเท็จจริง
พวกเขาย่อมนึกสงสัยเช่นเดียวกับหลาย ๆ คนคลางแคลงใจนักว่า "ผลประกอบการของเต๊กเฮงหยูนั้นควรได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้
4,500 ล้านบาทในปีนี้มานานแล้วด้วยซ้ำไป"
ปี พ.ศ. 2521 กลุ่มโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ติอันดับที่ 6 ของกลุ่มบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดรวมกันในอุตสาหกรรมทุกประเภท
เมื่อผนวกกับความเป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ซึ่งสั่งสมมาจากรุ่นที่ 2 จึงไม่ยากเลยที่กลุ่มนี้จะเพิ่มความครั่นคร้ามน่าเกรงกลัว
ปี พ.ศ. 2531 "หนึ่งทศวรรษ" ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของเต๊กเฮงหยูกลับมิได้พุ่งพรวดพราดอย่างที่หลายคนคาดคิด
และยามที่ภาวะเศรษฐกิจกระเตี้องเฟื่องฟูอีกครั้ง ขณะที่หลายกลุ่มบริษัทปรีดาปราโมทย์กับอนาคตที่สดใส
ทว่าบริษัทเก่าแก่อย่างเต๊กเฮงหยูกลับดูเหมือนจะต้องมา "เริ่มต้น"
นับหนึ่งกันใหม่
เป็นยังงี้ได้ยังไง!?
เริ่มต้นปี 2531 ด้วยภาวะอาการถอยร่นของผลประกอบการที่ต่ำไปจากความเป็นจริงในปี
2530 นั้นอาจไม่เลวร้ายเกินไปกว่าวิกฤติศรัทธาของเหล่านักบริหารมืออาชีพทั้งหลายที่ตกอยู่ในสภาพหนียะย่ายพ่ายจะแจกันทั้งสิ้น
ไม่มีใครอาจปฏิเสธได้ว่า นักการตลาดมือครูที่อำลาจากเต๊กเฮงหยูมาอย่าง ศิลป์ชัย
ไชยสิทธิเวช พร ศรีจันทร์ พิเชษฐ์ รมหุตติฤกษ์ ประวิทย์ จิตนราพงศ์ ไล่มาจนถึง
มานิต รัตนสุวรรณ หมาล่าเนื้อที่ไม่สิ้นเขี้ยวเล็บเหล่านี้มิใช่หรือ? ที่เป็น
"น้ำดี" หล่อเลี้ยงบำรุงพันธุ์เต๊กเฮงหยูให้งอกงาม
จากสภาพการณ์ปัจจุบันที่การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ผลิตภัณฑ์หลายตัวของคู่แข่งพัฒนาหลั่งไหลลงสู่ตลาดไม่ขาดสาย
มีการพลิกผันกลยุทธ์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ความเชี่ยวชาญช่ำชองที่เต๊กเฮงหยูเคยได้รับจากนักการตลาดมือดีเหล่านี้ย่อมหนีไม่พ้นที่จะกลายเป็น
"จุดบอด" ให้ถูกทะลุทะลวง
ก็เป็นปัญหาหนักอาเต๊กเฮงหยูไม่เบาเลยทีเดียว!!
ปี พ.ศ.2529 หัวขบวนรุ่นที่ 3 อย่างสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ พิสมัยมนต์การเมืองเข้ากระดูก
ยอมก้าวลงจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ภาระอันหนักอึ้งจึงตกเป็นของวิมลทิพย์ พงศธร หลานสาววัยเริ่มต้นสามสิบกว่า
ๆ เข้ากุมบังเหียนแทน เธอนับว่าเป็นผู้จัดการที่อ่อนเยาว์อยู่มาก เมื่อเทียบกับอายุบริษัทรวมไปถึงเครือข่ายที่ต้องดูแลและผลประกอบการหลายพันล้านบาทเป็นมาตรวัดอัตราเสี่ยง
ธนา ไชยประสิทธิ์ คนหนุ่มวัยไม่ถึง 30 ปี หลานรักของสุรัตน์อีกคนหนึ่งถูกเลื่อนชั้นจากงานแผนกบริหารภายในขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการ
เพื่อแบ่งเบาช่วยเหลือวิมลทิพย์ ความสำเร็จแบบก้าวกระโดดเกินอายุของหนุ่มสาว
"โอสถานุเคราะห์" ยังตามมาอีกในปี 2530 ซึ่งยกระดับ ภาสุรี โอสถานุเคราะห์
ลูกชายของเสรีน้องของสุรัตน์ให้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการการตลาด 2 ตลาดที่เป็น
"หัวใจ" ของบริษัท ทั้ง ๆ ที่ภาสุรีเพิ่งเรียนรู้งานได้ไม่นานนัก
แล้วก็ยังมี วันทนีย์ เบญจกาญจน์ พี่สาวของธนาอีกคนหนึ่งซึ่งเคยคุมงานอยู่ที่บริษัทยูนิเวอร์แซลอิเลคทริค
1 ในบริษัทเต๊กเฮงหยู ก็ย้ายข้ามฟากมารุ่งโรจน์ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรการควบไปกับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ทรงอิทธิพลสูงคนหนึ่ง
ศักราชรุ่นที่ 4 ของโอสถานุเคราะห์และเต๊กเฮงหยูผงาดง้ำท้าทายด้วยความหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย
สิ่งที่คนรุ่นนี้จักต้องเผชิญในอนาคตเสมือนหนึ่งเป็นการพิสูจน์ความสามารถของพวกเขาว่า
"พอตัว" หรือไม่ที่จะธำรงธุรกิจของตระกูลให้ยาวนานเป็นนิรันดร์
เต๊กเฮงหยูน่ะหรือเป็นกฎตายตัวเสียแล้วว่า "ธุรกิจของเต๊กเฮงหยูต้องเป็นของโอสถานุเคราะห์คนเดียวเท่านั้น"!!!!
วัฒนธรรม "โอสถานุเคราะห์"
หาก ถาวร พรประภา จะยึดถือระบบปาร์ตี้ค็อกเทล เป็นคัมภีร์ในการบริหารงานวัฒนธรรมการสืบทอดอำนาจและบริหารงานที่ไม่เหมือนใครอีกรูปแบบหนึ่งของ
"โอสถานุเคราะห์" ก็เป็นบทเรียนนอกตำราที่น่าศึกษาเช่นเดียวกัน
"โอสถานุเคราะห์" มีหลักเกณฑ์ในการขึ้นมาครองอำนาจอย่างง่าย ๆ
3 ประการคือ ความสามารถ - ความเหมาะสม - ความไม่ตายตัว ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ทำให้ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของบริษัทนี้ไม่ปรากฏข่าวคราวความร้าวฉานของคนในตระกูลเลยสักครั้งเดียว
แป๊ะ โอสถานุเคราะห์ เมื่ออาศัยความบังเอิญทางการตลาดที่รัชกาลที่ 6 ทรงช่วยโฆษณาสรรพคุณยากฤษณากลั่นของเขาก็ทำให้ยาตัวนี้
ซึ่งเป็นยาจีนโบราณขนานแท้ขายดิบขายดีเป็นอันมาก ทำให้เต๊กเฮงหยูยิ่งใหญ่มาได้จนถึงปัจจุบัน
แป๊ะมีลูกหลายคน ซึ่งตามปกติธรรมเนียมจีนมักนิยมมอบกิจการให้ลูกชายคนโตเป็นผู้ดูแล
ในที่นี้เสวียนลูกชายคนโตก็ควรจะได้รับโอกาสดังกล่าว แต่ด้วยความเหมาะสมที่ว่าสวัสดิ์ลูกคนที่
3 นั้นเรียนมาทางแพทยศาสตร์ แป๊ะจึงมอบสมบัติของตระกูลให้สวัสดิ์สืบทอดอย่างเต็มตัว
อดีตนักเรียนมัธยมปลายอันดับที่ 19 ของประเทศอย่างสวัสดิ์พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่มีแค่
"ความเหมาะสม" เท่านั้น หากยังมี "ความสามารถ" เกินตัวอีกด้วย
สวัสดิ์นับเป็นแม่ทัพที่สร้างความเกรียงไกรให้กับเต๊กเฮงหยูอย่างแท้จริง
สวัสดิ์เป็นทั้งนักบริหาร-นักการตลาด-นักประชาสัมพันธ์ ที่เก่งกาจพร้อม
ๆ กันในคราวเดียว เขาเป็นคนแรกที่คิดค้นระบเซลส์-ระบบเครดิต-การจัดทำเอกสารคู่มือการใช้ยา
และที่ลือลั่นอย่างมากก็คือ หนังเร่ ที่ถือว่าเป็นงานขาย-งานโฆษณาที่เข้าเป้ามากที่สุดเมื่อ
15-20 ปีที่ผ่านมา
เต๊กเฮงหยูเติบโตอย่างห้าวฮึกด้วยตัว "ยาทัมใจ" ซึ่งยานี้เป็นยาแก้ปวดหัวสมัยใหม่ที่สวัสดิ์ทดลองผลิตขึ้นมาขาย
ตอนแรก ๆ ก็ขายซองละ 5 สตางค์ แต่ตลาดยังไม่เป็นที่ฮือฮามากนัก กระทั่งเมื่อสวัสดิ์ยอมทุ่มแจกยานี้ผ่านกับพวก
ส.ส. ที่ไปหาเสียงกับชาวบ้าน ปรากฏว่ากลเม็ดนี้ปลุกให้ยาทัมใจเป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในชนบท
วัตรปฏิบัติครานั้นเลยกลายเป็นเทคนิคล้ำเลิศของคนในตระกูล "โอสถานุเคราะห์"
ไปเสียเลย เพราะแม้แต่สุรัตน์ ลูกชายของสวัสดิ์ลงสมัคร ส.ส.ก็ยังได้ชื่อว่าเป็น
"ส.ส.ยาทัมใจ"
รุ่นที่ 2 ของเต๊กเฮงหยูภายใต้การบัญชาการรบของสวัสดิ์ คือการวางรากฐานที่มั่นคง
และขยายกำลังการผลิตบ้างตามความจำเป็น รุ่นนี้เต๊กเฮงหยูมีโรงงานผลิตทันสมัยเป็นของตัวเองแล้วที่หัวหมาก
(อยู่มาจนถึงปัจจุบัน) การสร้างโรงงานทุก ๆ แห่งยังชี้ให้เห็นถึงความเป็นคนมองการณ์ไกลของสวัสดิ์ด้วย
เพราะที่ดินทุกผืนซึ่งเป็นที่ตั้งเป็นที่ดินที่สวัสดิ์ซื้อเก็บไว้ตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นหนุ่ม
ๆ ด้วยสนนราคาไม่กี่บาท
สวัสดิ์มีลูกชาย 4 คน คือสุวิทย์-สุรัตน์-สุรินทร์-เสรี ทายาทเหล่านี้ต่างมีความชำนิชำนาญแปลกแยกกันไป
สุวิทย์ช่ำชองด้านไฟแนนซ์-การตลาด สุรัตน์โชกโชนกับงานการศึกษา-การเมือง
ส่วนสุรินทร์-เสรีเน้นไปในด้านธุรกิจที่ดิน
รุ่นที่ 3 ของ "โอสถานุเคราะห์" เป็นการสร้างอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่
บริษัทแม่อย่างเต๊กเฮงหยูได้แตกบริษัทบริวารออกไปอีก 4 บริษัท คือ พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง
(ปี 2520) อินเตอร์แม็กนั่ม ตัวแทนขายนม อสค. (ปี 2520) เอสจีไอ. บริษัทผลิตขวดแก้ว
(ปี 2520) สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง บริษัทโฆษณา (ปี 2520) ทั้ง 4 บริษัทนี้เกิดขึ้นในปีเดียวกัน
ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากโดนมรสุมการเมืองกระหน่ำหนัก
โดยเฉพาะข่าวคราวที่ว่าเมืองไทยจะเป็นโดมิโนตัวสุดท้ายในกลุ่มอินโดจีน
นอกจากนี้ในส่วนตัวลูก ๆ ของสวัสดิ์ทั้ง 4 คนก็ยังมีอาณาจักรส่วนตัวตามความถนัดอีกด้วย
เช่น สุวิทย์ มีบริษัทเงินทุน จี เอฟ. และธุรกิจอีกมากมายในนาม "กลุ่มหลังสวน"
สุรัตน์ เป็นทั้งนักการเมืองระดับนำของประเทศและเจ้าของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
สำหรับสุรินทร์-เสรี ก็เป็นเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรขนาดใหญ่ที่ชื่อ "เสรีวิลล่า"
การแตกตัวทางธุรกิจของเต๊กเฮงหยูในรุ่นที่ 3 นับเป็นการแตกตัวที่เชื่อมโยงสอดรับกันอย่างต่อเนื่อง
ไล่มาตั้งแต่บริษัทแม่เต๊กเฮงหยูกับบริษัทเอสจีไอ. ในฐานผู้ผลิต ส่งมอบสินค้าให้กับพรีเมียร์ฯ
และอินเตอร์ฯ ดำเนินการด้านการตลาด โดยมีสปาฯ เป็นตัวรุกไล่ทางด้านโฆษณา-ประชาสัมพันธ์
และยังด้านบุคลากรที่มีทั้ง จีเอฟ.กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นสนามเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลพอควร
ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ก็คือ "การทะเลาะเบาะแว้งซึ่งถือเป็นงานหลักในการแย่งชิงอำนาจ"
นั้นเป็นที่น่าทึ่งไม่น้อยว่าไม่เคยปรากฏเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตเลยสักครั้งสำหรับธุรกิจเต๊กเฮงหยู
สวัสดิ์ใช้เคล็ดลับ "ความไม่ตายตัว" เข้ามาจัดสรรบทบาทลูก ๆ ทั้ง
4 คนภายในเต๊กเฮงหยู เขาใช้วิธีหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาเป็นใหญ่ สุวิทย์ใหญ่ในฐานะกรรมการผู้จัดการที่คุมงานส่วนใหญ่ครั้งแรกในปี
2500 ซึ่งเขาก้าวเข้ามาภายหลังสุรัตน์ที่เป็นน้องชายถึง 2 ปี สุรัตน์กับสุวิทย์ผลัดกันใหญ่จนถึงปี
2506 ก็ถึงคิวสุรินทร์ แล้วก็หมุนกลับมาเป็นของสุวิทย์อีกครั้งในปี 2508
จากนั้นอีก 3 ปีจึงเป็นหน้าที่ของสุรัตน์
เคล็ดลับประการนี้ของสวัสดิ์เหมือนกับลั่นกระสุนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว
คือ หนึ่ง - ลดปัญหาความขัดแย้งภายในตระกูล ไม่ว่าจะเป็นเตี่ยกับลูก หรือพี่กับน้อง
ที่เป็นปัญหาน้ำเน่าเหนี่ยวรั้งการเติบโตของธุรกิจ สอง - เป็นการสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานทุก
ๆ ด้านให้กับผู้สืบทอด ซึ่งจะเห็นว่าลูก ๆ ของสวัสดิ์ก้าวขึ้นมาใหญ่ในวัยที่ยังไม่ถึง
30 ปีด้วยกันทั้งสิ้น
ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่รุ่นที่ 4 ของเต๊กเฮงหยูอย่างวิมลทิพย์,
ธนา, วันทนีย์ หรือภาสุรี จะก้าวกระโดดเกินอายุ เพราะนี่ถือเป็นกลยุทธ์การเรียนรู้ที่
"โอสถานุเคราะห์" ถือว่าเป็นของดีที่ไม่เหมือนใคร??
เต๊กเฮงหยูเป็นองค์กรหนึ่งที่มุ่งมั่นมากกับการสร้างภาพพจน์ความเป็น "องค์กรมืออาชีพ"
ถึงกับมีคำกล่าวอ้างว่า "ที่นี่คือที่รวมมืออาชีพมากที่สุด" แต่จากระบบกระโดดค้ำถ่อขึ้นมาเป็นใหญ่ของเหล่าลูกหลาน
"โอสถานุเคราะห์" ทั้งหลายที่เป็นมาช้านาน คำกล่าวนั้นเลยเปลี่ยนไปในทางกลับกันว่า
"ที่นี่คือสุสานของมืออาชีพ"!?
นักบริหารอาชีพท่านหนึ่งบอกว่า การว่าจ้างมืออาชีพของเต๊กเฮงหยูนั้น ด้านหนึ่งเพื่อใช้เป็นกำลังหลักในการสร้างความเติบโต
และอีกด้านหนึ่งเพื่อนำมาเป็น "ครู" สอนสั่งความรอบรู้ให้กับลูกหลานของ
"โอสถานุเคราะห์" มืออาชีพที่เข้ามามีเพียงอำนาจหน้าที่เต็ม 100%
แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ 100% มืออาชีพบางคนที่ต้องออกไปนั้นเป็นเพราะไม่อาจรับ
"นาย" ที่เป็นลูกหลานของตระกูลนี้ได้
"ลองคิดดูเถอะว่า การทำตลาดสินค้าแต่ละตัว บางทีต้องประชุมกันยืดเยื้อเป็นสิบ
ๆ ครั้งเพื่อรอการตัดสินใจของเด็ก ๆ ที่เป็นลูกหลาน ที่เห็นชัด ๆ ก็คือ ลิโพวิตัน-ดี
เดิมทีเป็นตัวทำเงินอย่างมาก พอมีกระทิงแดงออกมาก็ถูกแบ่งตลาดจนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
เรื่องอย่างนี้หากใช้มืออาชีพเขาแก้เกมกันโดยอิสระแล้วสินค้าที่เคยติดตลาดมาก่อนอย่างลิโพฯ
จะไม่มีวันพ่ายแพ้เด็ดขาด" แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกกล่าว
ระบบการบริหารอย่างเต๊กเฮงหยูที่คุมเข้มด้านการเงิน ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สร้างความอึดอัดให้กับมืออาชีพอยู่ไม่น้อย
เพราะการบริหารด้านการเงินทุกอย่างจะรวมศูนย์อยู่กรรมการผู้จัดการบริษัทเต๊กเฮงหยูทั้งหมด
กรรมการผู้จัดการบริษัทบริวารแทบจะไม่มีอำนาจอะไรเลย ซึ่งระบบรวมศูนย์นี้ใช้ได้ผลกับธุรกิจที่ยังไม่มีขนาดใหญ่มากนัก
แต่ระบบธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเต๊กเฮงหยูที่หลายครั้งต้องการความรวดเร็วในการสั่งจ่ายเพื่อใช้ในการขยายและพัฒนาธุรกิจ
ระบบรวมศูนย์ที่ว่านี้จะกลายเป็น "จุดบอด" ไปโดยไม่รู้ตัว!?
"ไม่ใช่โอสถสภาฯ แห่งเดียวที่เกิดปัญหานี้ บริษัทอื่นก็มี บางคนออกไปก็มีแต่คนที่อยู่กับเรา
นาน ๆ ก็ยังมีอยู่กันหลายคน ถึงยังไงเราก็เชื่อว่า พวกเราพี่ ๆ น้อง ๆ สามารถบริหารงานกันต่อไปได้"
วิมลทิพย์เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงปัญหาการลาออกของมืออาชีพในเต๊กเฮงหยู
ในคำตอบของเธอก็บอกเป็นนัย ๆ แล้วว่า
เต๊กเฮงหยูโดยคนในครอบครัว "โอสถานุเคราะห์" ยังไง ๆ มันก็ยังไปได้!?
สุวิทย์ โอสถานุเคราะห์ สมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่และรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเคยบอกไว้ว่า
จะพยายามนำเต๊กเฮงหยูเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อเปิดกว้างกับสาธารณชนมากขึ้น
ในแผนงานของสุวิทย์ที่มีสุรัตน์เห็นดีเห็นชอบด้วยนั้น หลายคนบอกว่า "ช่างสวยหรูเสียนี่กระไร"
แต่ครั้นสุวิทย์มาด่วนจากไป… แผนงานนั้นก็มีอันรางเลือน!!!
สุรัตน์ที่ยังอยู่ก็กระโจนเข้าไปเล่นการเมือง ในที่สุดก็หลงลืมไปโดยไม่เจตนา!!
จากวันนั้นจนกระทั่งถึงวันนี้สิบปีกว่า ๆ แล้วกระมัง เต๊กเฮงหยูก็ยังเป็นของ
"โอสถานุเคราะห์" อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังเดิม!!!
การเติบโตของเต๊กเฮงหยูเป็นอีกบทหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงสายสัมพันธ์กับงานการเมืองว่า
หากประสานเข้ากันได้อย่างแยบยลแล้วจะมีคุณูปการอย่างมาก ไม่นับครั้งที่สวัสดิ์เคยใช้
ส.ส.เป็นฐานในการโปรโมทยาทัมใจ ก็ยังมีหลายครั้งที่เต๊กเฮงหยูเล่นละครการเมือง-ธุรกิจได้อย่างโดดเด่น
อาทิ
ครั้งที่อินเตอร์แม็กนั่มเข้าไปประมูลขายนมให้ อสค. เมื่อปี 2528 ตอนนั้นเต๊กเฮงหยูทุ่มโถมสุดตัว
เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์ผูกขาดเพียงรายเดียว คนวงในตั้งข้อสังเกตว่าเงื่อนไขที่คณะกรรมการตั้งไว้นั้น
สูงมากจนเอเยนต์รายอื่นขยาดกลัว คงมีเพียงอินเตอร์แม็กนั่มรายเดียวเท่านั้นที่สู้ได้และสู้ได้อย่างสบาย
ๆ
ที่น่ามองก็คือ คนที่กุมอำนาจใน อสค. ช่วงนั้น เป็นคนของพรรคกิจสังคมที่มี
สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เป็นเลขาฯ พรรคฯ และสุรัตน์คนเดียวกันนี้ก็ยังเป็นกรรมการผู้จัดการเต๊กเฮงหยู
ที่เป็นบริษัทแม่ของอินเตอร์แม็กนั่มฯ
ถึงทุกวันนี้อินเตอร์แม็กนั่มก็สบายตัวไปเสียแล้ว เพราะไม่ว่าไปที่ไหน ๆ
ก็ได้ยินแต่คำพูดที่ว่า "วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง"!?
หินลองทองของ "โอสถานุเคราะห์"
เต๊กเฮงหยูนับตั้งแต่รุ่นที่ 2 (สวัสดิ์) มาจนถึงรุ่นที่ 3 (สุวิทย์ - สุรัตน์
- สุรินทร์ - เสรี) การขยายกิจการหลายอย่างจะมุ่งโจมตีไปทางด้านการตลาดเป็นสำคัญส่วนใหญ่
ที่ขยายตัวจะมีความสัมพันธ์กับธุรกิจเดิมที่ทำมาก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตั้งพรีเมียร์ฯ
ขึ้นมารองรับสินค้าจากเต๊กเฮงหยู เป็นต้น
การพาเหรดเข้ามาครองอำนาจของชนรุ่นที่ 4 "โอสถานุเคราะห์" วิถีทางธุรกิจที่เบี่ยงเบนไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือ
แนวโน้มการขยายธุรกิจที่เริ่มจะ DIVERSIFY ไปยังธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมมากขึ้น
อย่างเช่นในปี 2529 ที่เข้าร่วมทุนกับดาต้าโปร บริษัทคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วตั้งบริษัทดาต้าโปรคอมพิวเตอร์ซิสเต็ม
(ดีซีเอส.) ขึ้นมา
วิมลทิพย์ พงศธร ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา เธอมักอยู่ไม่ค่อยติด
สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ต้องเที่ยวเดินทางขึ้นล่องกรุงเทพฯ-ระยองอยู่เป็นประจำ
ทั้งนี้เพื่อไปดูโครงการกุ้งกุลาดำ ซึ่งเต๊กเฮงหยูร่วมลงทุนกับกลุ่มเนาวรัตน์
พัฒนาการ ของมานะ กรรณสูต เจ้าพ่อวงการก่อสร้าง โครงการนี้ชี้ให้เห็นเด่นชัดเลยว่า
กลยุทธ์การร่วมทุนของเต๊กเฮงหยูจะถูกนำมาใช้มากในรุ่นที่ 4 โดยเฉพาะในเรื่องโครงการอาหารต่าง
ๆ ที่วิมลทิพย์บอกว่า "จะเป็นหัวใจของเต๊กเฮงหยูต่อไปในอนาคต"
และยังมีการ่วมทุนกับต่างชาติเพื่อผลิตสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกหลายตัว
เช่น การร่วมทุนกับยูนิชาร์มของญี่ปุ่นตั้งโรงงานผลิตผ้าอนามัยซิลคอต หรือร่วมทุนกับชิเซโด้ของญี่ปุ่นผลิตแชมพูและครีมนวดผมชิเซโด้
ซึ่งสินค้าที่จะผลิตออกมาเหล่านี้ล้วนมีผู้นำตลาดรายปึ๊กส์ ๆ ดาหน้ารอรับความกล้าหาญชาญชัยของรุ่นที่
4 โอสถานุเคราะห์อยู่อย่างเต็มอัตราศึกแล้ว
ธุรกิจครอบครัวของเต๊กเฮงหยูไม่เพียงยืนอยู่บนชะง่อนผาสูง เพื่อท้าทายความอยู่รอดที่ยิ่งใหญ่มานานนับ
80 กว่าปีเท่านั้น หากความอหังการที่จำเป็นต้องสู้ของรุ่นที่ 4 ยังเป็นคำถามอีกว่าอาณาจักรแห่งนี้ที่มีหลายคนบอกว่า
ยอดขายสูงเป็นหมื่น ๆ ล้านได้แล้วนั้น ถึงเวลาที่จะเป็นจริงเสียที ก็ด้วยฝีมือและความสามารถของคนในรุ่นที่
4
ปัญหาอยู่ที่ว่าพวกเขาจะทำกันได้หรือไม่เท่านั้นเองแหละ!!!!