Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2531
จี.เอส.สตีล กลยุทธอำมหิต "กระบี่เดียวทะลวงสามคอหอย"             
โดย นพ นรนารถ
 


   
search resources

Metal and Steel
จี.เอส.สตีล




ถ้ากรรมกรนัดหยุดงานเพราะตกลงกับนายจ้างไม่ได้แล้ว นายจ้างก็ตอบโต้ด้วยการปิดกิจการ เนื่องจากก็รับเงื่อนไขไม่ไหวแล้ว เรื่องของจี.เอส.สตีล เจ้าพ่อเหล็กเส้นของไทยก็คงไม่มีอะไรที่ "ผู้จัดการ" จะต้องเจาะลึก แต่นี่เผอิญเรื่องมันยุ่งมากกว่านั้น มันเป็นเรื่องของการหักเหลี่ยมในหมู่หุ้นส่วนที่ทำให้จี.เอส.สตีลขาดทุน แต่กิจการหุ้นส่วนบางกลุ่มร่ำรวยและเหตุการณ์เรื่องแรงงานที่เกิดขึ้น ได้กลายเป็นช่องทางที่จะทำให้หุ้นส่วนกลุ่มหนึ่งแก้ปัญหาเพื่อที่จะร่ำรวยต่อไปได้อย่างเหมาะเจาะ งานนี้กรรมกรตกเป็นเครื่องมือตามฟอร์มอีกครั้ง

ถ้าจะมีสักวันหนึ่งที่ พล มาเอี่ยม รองประธานสหภาพแรงงานจี.เอส.สตีล ไม่อาจลืมเลือนไปชั่วชีวิต

วันนั้นน่าจะเป็นวันที่ 20 กรกฎาคม 2531!!

เพราะวันนั้น … เป็นวันที่เขา และเพื่อนพนักงานจี.เอส.สตีลอีกหลายคน ร่วมกัน "กรีดเลือด" ทำหนังสือร้องเรียนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยหวังให้หนังสือดังกล่าว สะท้อนให้ "ผู้ยิ่งใหญ่" ของบ้านเมืองที่กำลังนั่งเสพสุขอยู่บนหอคอยงาช้างทั้งหลายรับทราบปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่

ปัญหาที่เกิดขึ้นที่จี.เอส.สตีล การปลดคนงานกว่าหกร้อยคน ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาย มีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูนับจำนวนเป็นพัน ๆ คนต้องตกงาน ไม่มีรายได้เป็นเวลานานกว่าห้าเดือนแล้วนั้น

เรื่องราวที่พยายามเพิ่มกระแสความสนใจของคนหมู่มาก ให้เน้นไปอยู่ที่ปัญหา "ความขัดแย้ง" ทางด้านแรงงาน ละเลยรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลขาดทุนของบริษัทที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีนี้

หากเจาะลึกไปอย่างจริงจังแล้ว ใครกันบ้างที่ได้รับประโยชน์จากการปิดกิจการของจี.เอส.สตีลในครั้งนี้

และคงเป็นการ "โง่เขลา" อย่างยิ่งที่เราจะสรุปง่าย ๆ ว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับจี.เอส.สตีล ในส่วนของบริษัทเองแทนที่จะเกาะกุมโอกาสในปัจจุบันที่ยากจะหานี้ไว้ กลับปล่อยให้ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการขายสินค้าของตัวเองหลายสิบหลายร้อยล้านบาทต้องหลุดลอยไป

เป็นเพียงผู้ใช้แรงงานไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ก็เลยทำอะไรไม่ดูตาม้าตาเรือ "ทุบหม้อข้าว" ตัวเองทิ้งเสียดื้อ ๆ กระนั้นหรือ!!!

จี.เอส.สตีล อาจเป็นกรณีพิพาทแรงงานธรรมดาสามัญที่เราท่านพบเห็นกันอยู่ดาษดื่น…

แต่ก็ไม่แน่นัก ความต่อเนื่องและละเอียดอ่อนของเรื่องราว ความลึกซึ้งของเหตุการณ์อาจเป็นสิ่งที่หลายคนไม่เคยคาดคิด…

… หรือแม้แต่คิดก็ยังคิดไม่ถึงก็เป็นได้?!?

การเติบโตหรือตกต่ำของอุตสาหกรรมก่อสร้าง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนได้อย่างชัดเจนที่สุด

ถ้าธุรกิจก่อสร้างขยายตัวนั่นไม่เพียงแต่จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างวัสุดก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องไฟฟ้า ฯลฯ ขยายตัวตามไปด้วยเท่านั้น

ยังหมายรวมถึงไปถึงการจ้างงานก็จะมากขึ้นด้วย เป็นการเสริมสร้างและกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในส่วนต่าง ๆ ของสังคมให้ทัดเทียมกันอีกทางหนึ่ง

มูลค่าก่อสร้างในปีหนึ่ง ๆ ประมาณการกันว่ามีถึง 200,000 ล้านบาท เป็นงานก่อสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กถึงครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 100,000 ล้านบาท หากมองจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซาอย่างรุนแรงในปี 2526-2527 และเริ่มฟื้นตัวในปี 2528-2529 จนเข้าสู่ยุคที่หลายคนเรียกว่าเป็น "ยุคทองของเศรษฐกิจไทย" ในปี 2530-2531 แล้ว

การขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยง อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ก็เป็นปัจจัยสำคัญและมีผลในการผลักดันให้อุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งซบเซามาตลอดในสองสามปีหลังได้เริ่มฟื้นคืนมาอีกครั้ง

อุตสาหกรรมก่อสร้างที่เติบโตมากขึ้นในปี 2530 นี้ ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วัสดุก่อสร้างหลายชนิดมีการปรับราคาสูงขึ้น แน่นอนที่สุด ย่อมรวมไปถึงเหล็กเส้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในงานก่อสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กด้วย

ซึ่งผู้ผลิตที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล็กที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้รับเหมาและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในประเทศไทยเรานั้น มีน้อยมากจนสามารถนับถ้วนได้

"จี.เอส.สตีล" เป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กเส้นแห่งแรกในเมืองไทย ความยิ่งใหญ่ของจี.เอส.สตีลอาจบอกได้ว่าอยู่ในอันดับหนึ่งอันดับสองของอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างเต็มปาก

จี.เอส.สตีล เป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กที่มีโรงงานขนาดใหญ่ ทำการผลิตด้วยเทคนิคทันสมัยโดยนำเศษเหล็ก (SCRAP) มาหลอมเหลวในเตาหลอมด้วยกระแสไฟฟ้ากำลังสูง

ตรวจสอบน้ำเหล็กที่หลอมเหลวตามมาตรฐานที่กำหนด แล้วนำมาหลอมเป็นแท่ง (INGOT หรือ BILLET) หลังจากนั้นนำเหล็กแท่งเข้าสู่เตาอบให้ร้อนแล้วส่งเข้าเครื่องรีด เพื่อรีดออกเป็นเหล็กเส้น (STELL BAR) ตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง โดยทั่วไปการผลิตด้วยวิธีนี้จะสามารถควบคุมการผลิตให้ได้เหล็กเส้นที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน และเหล็กเตาหลอมนี้มักจะใช้กับงานก่อสร้างของส่วนราชการต่าง ๆ

นอกจากจี.เอส.สตีลแล้ว เมืองไทยเราก็ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น อาทิ เหล็กสยามของเครือซีเมนต์ไทย กรุงเทพผลิตเหล็ก เหล็กไทย-อินเดีย และที่อื่น ๆ อีกสองสามแห่งที่ผลิตเหล็กแบบเดียวกันนี้ออกสู่ตลาด

จี.เอส.สตีลเกิดขึ้นจากความคิดของคนไต้หวันคนหนึ่งกับเพื่อนที่ย้ายมาจากญี่ปุ่น บวกกับสายสัมพันธ์ทางการค้าที่มีอย่างแนบแน่นกับผู้ใหญ่ ทั้งของทางราชการและนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงบางคนเมื่อยี่สิบห้าปีที่แล้ว

คนไต้หวันคนนั้นชื่อ "ฉั่วเต็งซ้ง" หรือเต็งซ้ง แซ่ฉั่ว

ส่วนเพื่อนของเขา "อึ้งเค็กเม้ง" ทั้งสองเข้ามาเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบไม่นาน และได้ร่วมกันเปิดกิจการค้าเครื่องเหล็ก เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมทั้งสั่งเข้าเศษเหล็กมาจากต่างประเทศขึ้นโดยตั้งชื่อว่า "ห้างหุ้นส่วน สี่ยงค์ จำกัด" เมื่อเดือนกรกฎาคม 2491

เขาทั้งสองได้สร้างสายสัมพันธ์ทางการค้าออกไปมากมายทั้งในและนอกประเทศ สามปีให้หลังพวกเขาชักชวนฮิริกิ อาราตะ นักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเหล็กจากญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเหลืองานพวกเขาอีกแรงหนึ่ง

ด้วยความสามารถของทั้งสาม "สี่ยงค์" ขยับขยายตัวเองไปอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากการร่วมทุนกับเพื่อชาวญี่ปุ่นของเขาตั้งบริษัท สังกะสีไทย จำกัด ขึ้นในปี 2503 ยิ่งไปกว่านั้นจากการติดต่อกับญี่ปุ่นเป็นเวลานานปี ทำให้เขาทั้งสามสนิทสนมคุ้นเคยเป็นอันดีกับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเหล็กเส้นที่เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันบ้างแล้วอย่าง คาวาชิ สตีล เทรดดิ้ง (KAWACHI STEEL TRADING) และมิตสูบิชิ โชจิ ไกชา (MITSUBISHI SHOJI KAISHA) เป็นต้น

บวกกับสายสัมพันธ์ที่เขามีอยู่กับพระยามไหสวรรย์ (ก.สมบัติศิริ) และพ่อค้าใหญ่อย่าง ไพศาล นันทาภิวัฒน์ ทำให้ความฝันที่จะตั้งโรงงานผลิตเหล็กที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งแรกที่มีในเมืองไทยในขณะนั้นเป็นไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

จี.เอส.สตีล จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2506 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

"จี.เอส.สตีล เริ่มแรกยังไม่มีคนญี่ปุ่นเข้ามาช่วยจริงจังนัก เพราะต้องรอการก่อสร้างโรงงาน การขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวมทั้งวางแผนต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อวัตถุดิบและตัวแทนที่จะจำหน่ายสินค้าก่อน" คนในวงการเหล็กเส้นท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง

จี.เอส.สตีล ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2506 ช่วงสองปีต่อมา จี.เอส.สตีลก็ลงหลักปักฐานของตัวเองได้แจ่มชัดและมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น

เพิ่มทุนครั้งแรกในปี 2507 เป็นยี่สิบล้านบาท พร้อมทั้งตั้งห้างหุ้นส่วน "ไทยร่วมจิตต์" จำกัด เป็นผู้รับซื้อเศษเหล็กจากภายนอกขายให้จี.เอส.สตีลอีกต่อหนึ่ง โดยมี เต็งซ้ง แซ่ฉั่ว ที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น "ชำนิ วิศวผลบุญ" เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับ แสง บุษราเทพกุล (อึ้งเค็กเม้ง) ช่วยดูแลอีกแรงหนึ่ง

ปีต่อมา (2508) ความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นก็เป็นจริงยิ่งขึ้น เมื่อบริษัทญี่ปุ่นทั้งสองตกลงเซ็นสัญญาร่วมทุน และสัญญาการช่วยเหลือทางด้านเทคนิค ทำการขายเครื่องจักรที่ใช้ในผลิตแก่จี.เอส.สตีล และเพิ่มทุนขึ้นเป็นสี่สิบล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยผู้ถือหุ้นชาวไทย 40% และผู้ถือหุ้นญี่ปุ่น 60%

เปิดดำเนินการผลิตเหล็กเส้นจากเตาหลอมที่มีอยู่จริงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2511

จี.เอส.สตีล ในสมัยนั้นถือได้ว่าเป็น "เจ้าพ่อ" ของวงการเหล็กเส้นในเมืองไทย ไม่เพียงสินค้าคือเหล็กเส้นที่ออกมาจากโรงงานจะมีมาตรฐานสูงเป็นที่ยอมรับของตลาดเท่านั้น ในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงาน สวัสดิการ โบนัสและการอำนวยการสะดวกต่าง ๆ แก่พนักงาน ก็ถูกจัดว่า "ยอดเยี่ยม" ที่สุด

"ตอนแรก ๆ ที่เปิดโรงงานเขาก็เอาชาวนาชาวไร่แถวนั้นเข้ามาฝึกงาน ให้เงินเดือนโดยใช้อัตราค่าจ้างของญี่ปุ่น ไม่มีการทดลองงานสมัครเข้าไปแล้วบรรจุเลย รู้สึกว่าคนงานทุกคนพอใจมากกับสิ่งที่เป็นอยู่" คนงานคนหนึ่งของจี.เอส.สตีล เล่าให้ฟัง

ชำนิ วิศวผลบุญ กรรมการผู้จัดการ จี.เอส.สตีล นอกจากจะตั้งเครือข่ายของตนเองอย่าง "ไทยร่วมจิตร์" ทำการซื้อขายเศษเหล็กเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตดังที่กล่าวมาแล้ว

การตั้ง "จี.เอส.ซีแรมมิคส์" ผู้ผลิตอิฐทนไฟ วัตถุดิบสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องใช้ในเตาหลอมเพื่อผลิตเหล็กเส้น ก็เป็นกิจการส่วนหนึ่งในความรับผลิตชอบของชำนิเช่นเดียวกัน

รวมถึงการตั้ง "สี่ยงค์" เป็นเอเย่นต์ในการจัดจำหน่ายเหล็กเส้นที่ผลิตสำเร็จจาก จี.เอส.สตีล ร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นทั้งสองก็นับได้ว่า ชำนิได้วางรากฐานที่มั่นคงยิ่งแก่กิจการทั้งมวลของพวกเขา เพื่อครอบครองธุรกิจเหล็กเส้นไว้เกือบครบวงจรตั้งแต่แรกเริ่ม

อุตสาหกรรมก่อสร้างเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น ไม่ว่าจะรุ่งเรืองเฟื่องฟูเช่นปัจจุบัน มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ มากมายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมื่อปี 2512 ที่การก่อสร้างรายใหญ่มีไม่มากนัก จี.เอส.สตีล ถึงแม้จะผลิตเหล็กเส้นออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ขายไม่ออก บวกกับการนำเข้าเหล็กเส้นมาจากอินเดียจำนวนหมื่นกว่าตัน ทำให้การขายที่แย่อยู่แล้วยากลำบากยิ่งขึ้น

มีการร้องเรียนในปีต่อมา ทำให้รัฐบาลจำต้องยกเลิกการนำเข้าเหล็กเส้นภายใน 18 เดือนนับแต่วันประกาศเมื่อ 9 เมษายน 2513

ปี 2515-2517 เป็นช่วงเวลาวิกฤตของเหล็กเส้นอีกครั้งหนึ่ง ราคาเศษเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เพราะความขาดแคลนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลมายังประเทศไทยด้วย แต่เหตุการณ์ก็คลี่คลายได้เรียบร้อยในช่วงต้นปี 2517

ชำนิได้นำพานาวาจี.เอส.สตีล ฝ่าคลื่นลมและปัญหาต่าง ๆ มาได้โดยตลอดจนมาถึงปี 2520 ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์โชติช่วงครั้งแรกของอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก เนื่องประเทศในกลุ่มโอเปคประกาศขึ้นราคาน้ำมัน มีผลทำให้เกิดการคาดคะเนว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจะมีราคาสูงขึ้นรวมไปถึงวัสดุก่อสร้างด้วย

จี.เอส.สตีล ที่พอจะมีกำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ พอเลี้ยงตัวได้มาตลอด ก็เริ่มเก็บเกี่ยวผลพวงจากการนี้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งการนำพาบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปีนั้น คงพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า จี.เอส.สตีล "อ้วนท้วนสมบูรณ์" มากน้อยแค่ไหน

และจากวันนั้นเช่นกันที่การต่อสู้ฟาดฟันในอุตสาหกรรมเหล็กร้อนระอุมากขึ้นคู่แข่งรายใหญ่รายเล็กมากมายเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดที่ จี.เอส.สตีลครอบครองอยู่ ผลประกอบการก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ กำไรบ้าง ขาดทุนบ้างสลับกันไป

ความอัดแน่นสะสมมาเป็นเวลานานของปัญหาในหลายด้านก็ได้ปะทุขึ้นจนยากแก่การแก้ไข เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่จี.เอส.สตีล ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบในทางลบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างในเมืองไทยเท่านั้น

ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจการเติบโตถึงขีดสุดที่ยากจะหาในรอบสิบ ๆ ปีของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทำให้เกิดคำถามที่เต็มไปด้วยความฉงนสนเท่ห์เป็นอย่างยิ่งว่าจี.เอส.สตีลถึงจุดจบ เพราะปัญหาที่บอกกับคนภายนอกหลายประการนั้นจริง ๆ หรือ???

การจัดลำดับของเหตุการณ์วิเคราะห์การกระทำหรือท่าทีของคู่กรณีทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งการนำเอาพื้นฐานความเป็นจริงของวิกฤตที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีความสำคัญอย่างมากในการอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่จี.เอส.สตีล

"ผู้จัดการ" เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ติดตามเรื่องจี.เอส.สตีลมาโดยตลอดหากมองอย่างผิวเผินจะเห็นว่า เรื่องนี้คงไม่ได้แตกต่างจากเรื่องราวของบริษัทห้างร้านมากมายที่ทรนการเสียดมสีและการแข่งขันไม่ไหว จนต้องล้มหายตายไปจากวงการธุรกิจที่เราพบเห็นกันอยู่บ่อย

แถมเคราะห์ซ้ำกรรมซักขาดทุนอยู่แล้ว ยังต้องมาปวดหัวกับปัญหาแรงงาน การยื่นข้อเรียกร้องที่ยากแก่การยอมรับ และยืดเยื้อกระทั่งไม่สามารถดำเนินการผลิตให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อีก ก็เลยมีแต่ต้องปิดกิจการสถานเดียว

ดู ๆ ไปแล้วก็สมเหตุสมผลดี !?!

ความคลางแคลงสงสัยกรณีจี.เอส.สตีลเกิดขึ้นหลังจากสหภาพแรงงานจี.เอส.สตีลนัดหยุดงานมาเป็นเวลาห้าเดือนแล้ว ก็มีข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบจี.เอส.สตีล ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมมากมาย ที่ทำให้ต้องหันกลับมามองอย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่ง ว่าแท้ที่จริงแล้วเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่??

ข่าวคราวที่ว่า จี.เอส.สตีลหวังจะปิดกิจการก็เพื่อยกเลิกสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ราคาขาดทุนที่ทำไว้มากมายก่อนหน้านี้ เพราะกลัวประวัติศาสตร์จะ "ซ้ำรอย" ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2530 และทำให้บริษัทขาดทุนเกือบ 60 ล้านบาท

สิ่งที่ทำให้ต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้มากขึ้นก็คือ คำถามที่ว่าในเมื่อจี.เอส.สตีลประกาศเลิกกิจการ เพราะกิจการที่ทำอยู่นี้ขาดทุนมากมายจนไม่สามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป

แล้วเหตุใดเล่าผู้ถือหุ้นและคณะผู้บริหารเดิมของจี.เอส.สตีลจึงยังคงพร้อมใจกันก่อตั้งบริษัทใหม่ทำกิจการเดียวกันกับกิจการที่เพิ่งปิดตัวเองไปหยก ๆ ???

ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหน้าเดิม พนักงานระดับบริหาร ตลอดจนพนักงานประจำสำนักงานก็ยังคงเป็นพนักงานเดิม

อาจมี ความแตกต่างอยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อย ที่อาจเปลี่ยนแปลงบทบาท อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารบางคนเสียใหม่ให้ "ดูดี" ยิ่งขึ้นเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้นการหวัง "ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว" โดยใช้วิธีการทำลายขบวนการสหภาพแรงงานที่เริ่มก่อตัวขึ้นในจี.เอส.สตีลช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ด้วยการประกาศปิดโรงงานทำการจ้างงานใหม่ทำให้พนักงานที่ทำงานมานานไม่ต่ำกว่า 10-20 ปีจำนวนมาก ต้องนับอายุการทำงานเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเป็นการประหยัดเงินบำเหน็ดที่ต้องจ่ายเมื่อเกษียณให้แก่พนักงานไปได้หลายสิบล้านบาท

ข่าวคราวและข้อพิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ย่อมทำให้หลาย ๆ คนเริ่มคิดให้ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับจี.เอส.สตีล

แน่นอนว่า … คงไม่ยุติธรรมนัก หากจะบ่งชี้ลงไปว่าการเลิกกิจการของจี.เอส.สตีลเป็นเรื่องที่มีการ "วางหมาก" กันมาก่อนล่วงหน้าแล้ว

อย่างไรก็ตาม นั่นต้องทำให้ต้องกลับมามองอย่างรอบคอบว่า ในความเป็นจริงทางธุรกิจ สิ่งที่สำคัญต่อการตัดสนใจของฝ่ายบริหารในการเลิกกิจการ สภาพที่ต้องขาดทุน หรือปัญหาแรงงานที่มี "นัยสำคัญ" ทำให้เกิดผล "รุนแรง" ในทางปฏิบัติจนต้องปิดกิจการลงนั้น แท้ที่จริงแล้วมีรายละเอียดอย่างไรบาง

พื้นฐานการทำอุตสาหกรรมเหล็กเส้นสำหรับโรงงานที่ใช้เตาหลอมไฟฟ้าสำหรับผลิตเหล็กเส้นเช่นเดียวกับจี.เอส.สตีลนั้น ประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญหลายประการที่ไม่ได้แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นมากนัก

นั่นคือวัตถุดิบทึ่ใช้ในการผลิต การผลิต และการขายโดยผ่านเอเย่นต์

ปัญหาการขาดทุนของจี.เอส.สตีลอาจจะอยู่ที่ทั้งสามส่วนนี้เอง

จี.เอส.สตีลสั่งซื้อวัตถุดิบผ่าน "ไทยร่วมจิตร์" ซึ่งเป็นกิจการอยู่ในความรับผิดชอบของชำนิ วิศวผลบุญ

และผ่าน "ไทยวิโรจน์" ของวิโรจน์ หิรัญตระกูล เพื่อนของชำนิ เจ้าของบริษัท "ไทยชิบเพลท" ผู้ทำการตัดเหล็กจากเรือที่ไม่ใช้แล้ว นำเศษเหล็กมาขาย ทั้งสองกิจการต่างเช่าที่ทำการอยู่ในจี.เอส.สตีล ทำการซื้อเศษเหล็กจากภายนอกแล้วนำมาขายต่อให้กับจี.เอส.สตีล ซึ่งในแง่ของธุรกิจปัจจุบัน กลไกเหล่านี้มีให้เห็นกันอยู่ดาษดื่นไม่น่าจะต้องมีปัญหาแต่อย่างใด?

"ก็ไม่เห็นแปลกอะไรนี่ ถ้าคุณชำนิ เขาจะขายเศษเหล็กให้จี.เอส.สตีล เพราะราคาถูกควบคุมโดยรัฐอยู่แล้ว ผมว่าก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร" สรร อักษรานุเคราะห์ อดีตรองประธานกรรมการของจี.เอส.สตีลบอกกับ "ผู้จัดการ"

คำอธิบายก็คือในทางทฤษฎีน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ทางปฏิบัติแล้วเป็นเช่นไร??

วิธีที่จี.เอส.สตีลใช้ในการรับซื้อเศษเหล็กออกจะแปลกกว่าที่อื่นอยู่บ้าง นั่นคือจี.เอส.สตีลจะรับซื้อเศษเหล็กในราคาที่ตนเองกำหนดไว้เท่านั้น ถ้าราคาสูงกว่านั้นจะไม่มีการซื้อเด็ดขาด

เช่น จี.เอส.สตีลจะกำหนดราคารับซื้อเศษเหล็กไว้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท โดยไม่คำนึงถึงว่าหากเพิ่มเงินขึ้นไปอีกเล็กน้อย จะได้เศษเหล็กที่มีคุณภาพมากกว่ามาหลอมเป็นเหล็กแท่งที่ดีกว่า

"ลองคิดดูว่า ถ้าเราใช้เศษเหล็กดีกว่าที่แพงกว่า 20-30 ส.ต. แต่ผลผลิตที่ออกมาดีกว่ากันมากแต่เขาไม่เอา เราใส่เศษเหล็กเข้าไป 24 ตันปกติจะได้เหล็กออกมา 17 ตัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ถึง ต้นทุนการผลิตมันก็ต้องสูงขึ้นเป็นธรรมดา เพราะเราต้องหลอมเพิ่มขึ้นอีก" คนงานในฝ่ายผลิตคนหนึ่งบอก "ผู้จัดการ"

นี่เป็นวิธีแรก … ค่าซื้อวัตถุดิบอาจไม่เพิ่ม แต่ต้นทุนการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ต้องเพิ่มขึ้น

การใช้เตาหลอมมากครั้งขึ้นกว่าเดิม ทำให้อิฐทนไฟที่ต้องใช้เตาหลอมก็ต้องเพิ่มมากขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ อิฐทนไฟที่จี.เอส.สตีลใช้เป็นอิฐทนไฟที่ราคาถูกกว่าที่โรงงานอื่น เช่นเหล็กสยามใช้อยู่ประมาณก้อนละ 30 สตางค์ แต่ที่เหล็กสยามใช้ใช้ได้มากกว่าร้อยครั้ง แถมเสียแล้วยังสามารถซ่อมให้ใช้งานเพิ่มขึ้นได้อีก

แต่อิฐทนไฟของจี.เอส.สตีลใช้ได้ประมาณ 60 ครั้ง และใช้แล้วต้องทิ้งไปเลย

อิฐทนไฟที่ว่าต้องซื้อจากจี.เอส.ซีแรมมิคส์ ที่ชำนิเป็นเจ้าของอยู่ด้วยเท่านั้น

"ลูกชายนายห้างชำนิที่ชื่อโทนี่เคยกลับมาเมืองไทยครั้งหนึ่ง แกอยู่ญี่ปุ่นนานจนพูดเป็นไฟเลย แกบอกว่าอิฐอย่างนี้ใช้ได้อย่างไร นายห้างแกก็บอกว่าอย่ายุ่ง แกจะขายของของแก แถมยังส่งลูกชายไปอยู่อเมริกาเสีย" คนที่รู้เรื่องดีบอก

วิธีที่สองเฉียบขาดกว่าวิธีแรกมาก ซึ่งนอกจากจะไม่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการแล้วก็ยังขาดความรับผิดชอบในฐานะที่ จี.เอส.สตีลเป็นบริษัทหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ควรมีความรับผิดชอบต่อมหาชนอีกด้วย

"เรายังจำได้แม่น วันนั้นเป็นวันที่ 29 มีนาคม ปีนี้เอง รัฐบาลประกาศว่าวันที่ 30 ราคาเศษเหล็กจะลดลงกิโลละ 50 ส.ต." หัวหน้าคนงานจี.เอส.สตีลคนหนึ่งเท้าความให้ฟัง

ซึ่งในเวลางานปกติจะมีรถบรรทุกเศษเหล็กจากที่ต่าง ๆ เข้ามาขนถ่ายลงที่จี.เอส.สตีลวันละประมาณ 40-50 คัน คันละประมาณ 15-20 ตันตั้งแต่เก้าโมงเช้าจนถึงเวลาเลิกงานคือ สี่โมงครึ่ง บางวันถ้าสายหน่อยก็อาจจะถึงห้าโมงเย็น

แต่วันนั้นคนงานจี.เอส.สตีลต้องอยู่ขนถ่ายเศษเหล็กจากสองซัพพลายเออร์ของจี.เอส.สตีลอยู่จนถึงห้าทุ่ม

"เครื่องที่ใช้ขนเศษเหล็กของโรงงานร้อนจนไฟไหม้เลย แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า พรุ่งนี้ราคาเศษเหล็กจะลดลงแล้ว ทำไมบริษัทไม่ซื้อพรุ่งนี้ต้องมาซื้อวันนี้ด้วย" พนักงานอีกคนตั้งคำถามกับ "ผู้จัดการ"

ซึ่ง "ผู้จัดการ" เองก็คงไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ นอกจากจะไปถามชำนิ หรือผู้ควบคุมการซื้อขายเศษเหล็กของจี.เอส.สตีล ที่อยู่ในวันนั้นก็คงจะได้คำตอบบ้าง

วิธีการที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนและลึกซึ้งมากนัก ในการทำกำไรจากการขายให้กับเอเย่นต์ (แต่ทำให้จี.เอส.สตีลขาดทุน) อยู่ที่เหล็กเส้นที่ผลิตสำเร็จและส่งไปให้เอเย่นต์ทั้งสามคือ สี่ยงค์ มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) และคาวาโซ่ คอร์ปอร์เรชั่น ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเหล็กเส้นให้แก่จี.เอส.สตีลมากว่าสิบปีแล้ว

หนทางที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากการขายเหล็กเส้นได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นมีสองทาง

ทางแรกเหล็กเส้นที่ผลิตแล้วส่วนใหญ่จะเก็บไว้ในโกดัง เพื่อรอให้เอเย่นต์มารับตามโควตาของแต่ละแห่ง ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะได้แห่งละ 20 ตันเท่า ๆ กันสำหรับการขนครั้งหนึ่ง

บางครั้งถึงแม้จะมีที่ว่างในโกดัง แต่ผู้บริหารจี.เอส.สตีลกลับขนเหล็กเส้นที่ผลิตแล้วมาอยู่กลางสนามหน้าบริษัทตากแดดตากฝนให้เป็นสนิมเล่นเสียอย่างนั้นแหละ

"พอลูกค้าโดยเฉพาะถ้าเป็นสี่ยงค์มาดู ก็จะเห็นว่าเป็นสนิม ซึ่งทางช่างเราเรียกว่าเป็นสนิมผิวเอาเป่าหน่อยก็ออกแล้ว แต่เขาขายไปด้วยราคาลดมาก ๆ อ้างว่าเป็นสนิมทั้งแผ่น" คนงานในส่วนการผลิตอีกคนเล่าให้ฟัง

ต้นทุนในการผลิตเหล็กเส้นตันละประมาณ 7,000-7,200 บาท ก็จะขายไปในราคา 6,500-6,800 บาท

เรียกว่าตั้งใจจะขายให้ขาดทุนว่ายังงั้นเถอะ

แน่นอนที่สุดว่าผลขาดทุนนี้ก็จะตกอยู่กับจี.เอส.สตีล แต่สี่ยงค์กลับนอนตีพุงกินง่ายกินสบายอย่างที่สุด

งานนี้ใครได้ ใครเสียก็พอจะมองเห็นชัดกันบ้างแล้ว

นอกจากเรื่องราคา เรื่องสินค้าหมดสต็อกสำหรับเอเย่นต์อื่นที่ไม่ใช่สี่ยงค์ออกจะเป็นเรื่องปกติเอามาก ๆ

ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็เมื่อประมาณต้นปี ก่อนการสไตรค์ของพนักงานไม่นาน ผู้จัดการฝ่ายขายของมิตซูบิชิที่สงขลาอุตส่าห์นำรถบรรทุกจากสงขลามากรุงเทพฯ เพื่อซื้อเหล็กกลับไปสำหรับโครงการก่อสร้างที่บริษัทรับผิดชอบอยู่

"แกเข้ามาก็รออยู่ข้างนอกให้ลูกน้องเข้ามา ตอนนั้นก็มีรถขนเหล็กเส้นออกจากจี.เอส.สตีลอยู่ตลอดเวลา แกรออยู่ครึ่งวันไม่เห็นออกมาสักทีเลยเข้ามาดูเอง" คนที่อยู่ในเหตุการณ์คนหนึ่งเล่า

ผู้จัดการฝ่ายขายมิตซูบิชิคนนั้นเข้าไปถามว่าทำไมยังไม่เสร็จสักที ก็ได้รับคำตอบว่าสินค้าไม่มี

"แกโกรธมากเดินเข้าไปดูในโรงงานเอง แล้วถามคนงานในโรงงานว่าเหล็กสเปกอย่างนี้มีมั้ย คนงานนั่นไม่รู้เรื่องก็ตอบตามตรงว่ามี อยู่นี่ไงกองอยู่ตั้งเยอะ แต่ทางผู้ควบคุมโรงงานก็ไม่ยอมขาย แกก็กลับไปและโวยวายว่าแล้ววจะได้เห็นดีกัน" พนักงานคนเดิมกล่าวเสริม

ซึ่งเหตการณ์แบบที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่มีให้เห็นบ่อยครั้งจนพนักงานจี.เอส.สตีลเคยชินกันไปหมดแล้ว มีปากเสียไม่ได้เสียด้วย

แต่หากจะกล่าวถึงความรุนแรงของปัญหาที่เกิดจากการขาดทุนกันอย่างจริงจัง แล้วสิ่งที่จะต้องให้ความสนใจมาก ๆ น่าจะอยู่ที่การทำสัญญาซื้อขายเหล็กเส้นล่วงหน้าที่จี.เอส.สตีลทำกับบริษัทผู้รับเหมามากกว่า

เพราะเมื่อมองจากผลการดำเนินงานของจี.เอส.สตีลย้อนหลังไปประมาณ 5 ปี ก็จะพบว่าจี.เอส.สตีลถึงแม้จะประสบภาวะขาดทุนมากกว่ากำไร มีขาดทุนสะสมอยู่ค่อนข้างมากแต่กิจการก็ยังคงดำเนินต่อไปได้

ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย ทั้งที่เป็นตัวเงินและยอดขายสินค้า คือเหล็กเส้นที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น

ทำให้ผลขาดทุนจำนวน 59 ล้านบาทในปี 2530 ที่ผ่านมากระตุ้นความสนใจอย่างมากในส่วนที่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับจี.เอส.สตีลและเกิดขึ้นจากสาเหตุใด

คำตอบก็คือ จี.เอส.สตีล ทำสัญญาซื้อขายเหล็กเส้นล่วงหน้าในช่วงต้นปีเป็นจำนวนมากในราคาค่อนข้างต่ำ ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์เหล็กเส้นยังไม่ตึงตัวมากนัก

"สัญญาที่มีเป็นลายลักษณ์อักษรที่ฝ่ายจัดการให้เราดู ก็มีสัญญาที่ต้องสิ่งเหล็กให้อิตัลไทยจำนวนสองหมื่นตันตั้งแต่มีนาคมเป็นเวลาแปดเดือน แต่เขาบอกว่าสัญญาทั้งหมดรวมของคนอื่น ๆ ด้วยมีประมาณหกหมื่นตัน แล้วก็บอกว่าใช้ช่วยกันมาก ๆ หน่อย" คนที่รู้เรื่องดีบอก

60,000 ตันที่ขายไปมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ตันละ 7,524 บาท ราคาที่ทำสัญญากันไว้อยู่ที่ 7,200 บาท และมีข้อตกลงที่ว่า ถ้าไม่มีเหล็กส่งให้ตามสัญญาจะถูกปรับตันละ 500 บาท

ทั้ง ๆ ที่ราคาเหล็กเส้นในช่วงเวลากลางปีจนถึงสิ้นปีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ราว ๆ 8,000 บาท/ตัน

ซึ่งจากจุดนี้อาจแสดงให้เห็นถึง "ความซื่อสัตย์" ของจี.เอส.สตีลระดับหนึ่งที่มีต่อลูกค้าของคนเองหรือไม่ ที่ไม่ "เบี้ยว" สัญญาลูกค้า (บางราย)

เพราะหลังจากสิ้นปี 30 ไปไม่นาน ฝ่ายลูกจ้างพบว่า จี.เอส.สตีลขายเหล็กเส้นในปี 2530 จำนวนถึง 84,378 ตัน แต่ขาดทุน 59 ล้านบาท ขณะที่ปี 29 ขายได้เพียง 48,928 ตัน บริษัทยังมีกำไร 3.1 แสนบาท

"เราบอกว่าทำไมไม่เบี้ยวสัญญาลูกค้าเพราะถูกปรับห้าร้อย บวกกับราคาที่ทำสัญญาไว้ก็ประมาณเจ็ดพันเจ็ด ขายไปตอนนั้นยังมีกำไรประมาณสามร้อยบาทต่อตัน เขาก็ไม่ทำอ้างว่าต้องรักษาสัญญากับลูกค้า" พนักงานคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

แน่นอนในแง่ของความสัมพันธ์ทางการค้าแล้ว การกระทำเช่นนี้ของจี.เอส.สตีลน่านับถึงมาก ๆ

แต่ "ผู้จัดการ" เองก็ไม่ทราบว่าเรื่องที่ผู้บริหารจี.เอส.สตีลพูดกับคนงานกับการปฏิบัติจริงจะเป็นเช่นเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากมีหนังสือพิมพ์บางฉบับ (เดลินิวส์ 8 และ 12 มีนาคม 2531) ลงข่าวจี.เอส.สตีลเบี้ยวสัญญาขายเหล็กล่วงหน้ากับผู้ขายบางราย … แน่นอน ที่ใดมีควันที่นั่นย่อมมีไฟ ฉันใดก็ฉันนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาที่ขายออกไปจริงเป็นเท่าไร จำนวนเท่าใด จี.เอส.สตีลขาดทุนนั่นขาดทุนแน่ แต่จะมีใครได้กำไรหรือไม่นั้น ก็คงต้องไปถามลูกค้าที่สั่งซื้อเหล็กเส้นจากจี.เอส.สตีลกันดูว่าซื้อจากเอเย่นต์ไหน?

ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นแน่นอนตันละประมาณ 300 บาท คูณจำนวนอย่างน้อยหกหมื่นตันเข้าไปเป็นจำนวนเงินเท่าไรก็ลองคิดกันเอาเอง

และลองคิดให้ลึกลงไปอีกนิดว่า ในส่วนของความรับผิดชอบในการบริหารของผู้บริหารแล้ว สิ่งเหล่านี้ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ??

ทีนี้มาพิจารณาเรื่องของปัญหาแรงงานมีคนจำนวนมากมองว่า กรณีการนัดหยุดงานของพนักงานฝ่ายผลิต จี.เอส.สตีลจำนวนหกร้อยกว่าคนนั้นเป็น "หมาก" ตัวสำคัญที่ทำให้การเลิกกิจการของจี.เอส.สตีลดูสมเหตุสมผลไร้ข้อโต้แย้ง

แต่นั่นทำให้เกิดคำถามพื้น ๆ หลายข้อเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดตามขึ้นมา

อะไรเป็นเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้พนักงานสไตรค์โดยการนัดหยุดงาน

ทางฝ่ายนายจ้างได้เคยทำอะไร หรือไม่ อย่างไร ที่จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นยุติลงโดยสันติวิธีด้วยเวลาอันรวดเร็ว

แต่นั่นไม่สำคัญเท่าการกระทำ การตัดสินใจ การให้ข่าวประชาสัมพันธ์ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป ซึ่งทำให้พอจะมองออกว่าใครมีจุดยืนอยู่ที่ไหน อย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นด้านที่ทั้งสองฝ่ายอ้างว่าทำถูกต้องตามตัวบนกฎหมายทุกอย่าง

รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กรมแรงงาน ฯลฯ ที่เพิกเฉยไม่ให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังลึก ๆ ซ่อนอยู่ในความลึกซึ้งและซับซ้อนของเรื่องนี้ อยู่ที่จี.เอส.สตีลเป็นใคร ชำนิ วิศวผลบุญ เป็นใคร มีบทบาทมากแค่ไหนในวงการอุตสาหกรรมของไทย

เพราะไม่ยากที่จะเข้าใจได้ว่า หากชำนิและจี.เอส.สตีล ไม่มีน้ำหนักอย่างมากพอในสายตาของ "ผู้ใหญ่" ของบ้านเมืองไทยมากมายที่เราท่านทราบกันอยู่แล้ว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จี.เอส.สตีลก็น่าจะยุติและลงเอยในสภาพที่ดีกว่านี้ไปนานแล้ว

มาเริ่มกันที่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพนักงานจี.เอส.สตีลกันก่อนก็แล้วกัน

จี.เอส.สตีลถือได้ว่าเป็นบริษัทแรกที่บุกเบิกอุตสาหกรรมเหล็กเส้นที่มีมาตรฐานแห่งแรกในประเทศไทย

นอกจากเทคโนโลยีที่ได้รับมาจากญี่ปุ่น ผู้บริหารจี.เอส.สตีลได้นำแนวความคิด แนวทางการจัดการธุรกิจบางส่วนจากญี่ปุ่นมาใช้ด้วย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับบุคลากร

ทำให้ในช่วงเวลาหนึ่งจี.เอส.สตีลถือได้ว่าเป็นบริษัทที่ให้ผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน สวัสดิการต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกได้เต็มปากว่าดีที่สุดในอุตสาหกรรมเดียวกัน

แต่ในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงก็ได้เกิดขึ้น

"ปัญหาจริง ๆ อยู่ที่การให้โบนัส ถ้าเราดูกันตามตรงแล้ว เรื่องเงินเดือนบริษัทต้องจ่ายให้อยู่แล้ว สวัสดิการต่าง ๆ ก็เป็นหน้าที่ที่บริษัทจะต้องจัดหามาให้แก่พนักงาน เพราะฉะนั้นพนักงานจะเซ็นซิทีฟกับเรื่องโบนัสนี่มากเป็นพิเศษ" คนในวงการก่อสร้างท่านหนึ่งบอก

จี.เอส.สตีล ตั้งแต่ปี 2525-2527 ไม่มีการขึ้นเงินเดือน ไม่มีการจ่ายโบนัส เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว อุตสาหกรรมก่อสร้างกล่าวได้ว่าตกต่ำอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะไม่มีการขึ้นเงินเดือนแล้ว ยังมีการปลดพนักงานออกไปกว่าห้าร้อยคนด้วย

ปี 2528 เป็นปีที่อุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้นตัวขึ้นมาบ้าน แต่ก็ยังไม่ดีนัก ตอนต้นปีพนักงานได้ทำการเรียกร้องของให้บริษัทจ่ายโบนัสปลายปีให้ ซึ่งบริษัทสัญญาว่าจะจ่ายโบนัสให้คนละสองเดือน

แต่พอสิ้นปีจริง ๆ กลับจ่ายให้เพียง 75% ของเงินเดือนเท่านั้น เช่นเดียวกับปี 2529 แทนที่จะเพิ่มกลับลดลงมาอีกโดยจ่ายให้เพียง 5% ของเงินเดือน ทำให้พนักงานส่วนใหญ่สุดที่จะอดทนต่อไปได้ และยื่นข้อเรียกร้องต่ำชำนิและผู้บริหาร

ซึ่งจากการยื่นข้อเรียกร้องไปสิบข้อ ฝ่ายนายจ้างตอบตกลงมาเพียงสองข้อ นั่นคือจะเพิ่มค่าครองชีพให้เดือนละ 200 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ขาดงาน ลางาน มาสาย ลาป่วย หรือกลับก่อนเวลาทำงาน

และบริษัทจะจัดหาแพทย์มาประจำที่โรงงานวันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งก่อนหน้านี้มีอยู่บ้าง แต่ไม่สม่ำเสมอ

จุดประทุของปัญหาอยู่ที่ต้นปี 2531 เพราะตลอดปี 2530 ที่ผานมา พนักงานฝ่ายผลิตทำงานอย่างหนัก ตั้งแต่วันจันทร์-อาทิตย์ ทำล่วงเวลาตลอดทั้งสัปดาห์ ไม่มีวันหยุด ยอดขายทั้งหมดมากกว่าปีที่แล้วเกือบสองเท่าตัว แต่บริษัทแจ้งออกมาว่าขาดทุน และจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานในฝ่ายผลิตเพียงคนละ 150 บาท ทำให้พนักงานสุดจะอดทนต่อไปได้ และต้องยื่นข้อเรียกร้องกับบริษัทให้ปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีกว่าเดิมอีกครั้งจำนวน 17 ข้อเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2531 ที่ผ่านมา และหยุดงานกันจริง ๆ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2531

ช่วงเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ พนักงานยื่นข้อเรียกร้องไปนั้น มีการนัดเจรจากัน ระหว่างตัวแทนนายจ้างกับสหภาพแรงงานกันถึง 9 ครั้ง

สิ่งสำคัญก็คือ ชำนิและเหล่าผู้บริหารของจี.เอส.สตีล ไม่มีเจตนาที่จะตกลง หรือต่อรองในเงื่อนไขใด ๆ ที่ผ่านสหภาพฯ ยื่นเสนอเข้าไปให้บริษัทพิจารณาเลยตั้งแต่แรก

"ผมท้าเลย มันขอขึ้นเงินเดือนปีละ 15% ไม่มีใครที่ไหนเขาทำได้หรอก แล้วก็ทำอย่างกับว่าเราเป็นอะไรสักอย่างที่ต้องทำตามคำสั่งมันอย่างนั้นแหละ" สรร อักษรานุเคราะห์ ชี้แจงให้ "ผู้จัดการ" ฟังอย่างเหลืออด

รวมกับการที่ ชาญณรงค์ คงทน ตัวแทนจากพรรคกิจประชาคม เข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำแก่ฝ่ายสหภาพแรงงาน ทำให้ฝ่ายนายจ้างร้องโวยวายออกมาว่า มีมือที่สามเข้ามาก่อกวนทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น

ซึ่งแท้ที่จริงฝ่ายใดจะว่าอย่างไรก็ว่ากันไป เพราะที่สำคัญการเข้ามาของตัวแทนพรรคกิจประชมคมแทบไม่มีน้ำหนักใด ๆ ในอันที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเลยแม้แต่น้อย

ในด้านหนึ่งแล้ว หลายฝ่ายค่อนข้างเห็นด้วยที่ว่าข้อเรียกร้องหลาย ๆ ข้อที่พนักงานจี.เอส.สตีลยื่นเสนอนั้นค่อนข้างจะ "โหด" อยู่ไม่น้อย แต่ในอีกด้านหนึ่ง โดยปกติพนักงานอยู่ในสถานะเป็น "เบี้ยล่าง" อย่างมากพนักงานก็ทำได้เพียง "ต่อรอง" เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการเท่านั้น

แต่เรื่องรวที่บานปลายออกไปมากมาย ดังที่เราทราบกันนี้ เกิดขึ้นจากนิสัยที่ "ยอมหักไม่ยอมงอ" อย่างเด็ดขาดของชำนิเสียมากกว่า

"ตอนนั้นพวกผมออกมาแล้ว นายห้างก็บอกว่าจะเลิกกิจการ พวกผมก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นเราไม่เอาก็ได้ ไม่เอาเลยสักข้อ เรายอมกลับเข้าไปทำงานตามเดิม แกก็บอกว่าไม่ได้แล้ว ถ้าจะเข้าไปทำงานก็ต้องออกไป 200 คน เขาจะรับกลับเข้าไปแค่ 400" บัณฑิต อินทรสุรัช ประธานสหภาพฯ จี.เอส.สตีล เล่าให้ฟัง

สรุปข้อสนเทศ บริษัทจดทะเบียน-บริษัทรับอนุญาต ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2531

หมายเหตุ - งบการเงิน "ไทยร่วมจิตร์" ยังไม่ส่งคืนกรมทะเบียนการค้า

- บริษัทที่ชำนิ วิศวผลบุญ ถือหุ้นอยู่ หรือร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง อาทิ แผ่นเหล็กวิลาศไทย แสงไทยการเดินเรือ เดินเรือแสงไทย (1977) สังกะสี

เมื่อคิดถึงข้อมูลที่ "ผู้จัดการ" ทราบ จากพนักงานจี.เอส.สตีล ว่าก่อนที่จะมีการนัดหยุดงานเป็นเวลาสามเดือน กรรมการลูกจ้างของจี.เอส.สตีลร่วมกันจัดทำวารสารและเก็บเงินคนละ 150 บาท เพื่อใช้เป็นทุนในการนัดหยุดงาน ซึ่งฝ่ายนายจ้างก็ทราบดี แต่ไม่ได้ทำการขัดขวางหรือลงมาเจรจากันแต่อย่างใด ก็ยิ่งทำให้ดูเหมือนว่าฝ่ายนายจ้างต้องการให้พนักงานนัดหยุดงานกันจริง ๆ ด้วยซ้ำ !!!

การนัดหยุดงานของพนักงานจี.เอส.สตีลยังคงดำเนินต่อไป และมีสิ่งหนึ่งที่ชี้ชัดให้เห็นถึง "ชัยชนะ" ของพวกเขาในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะไม่มีใครให้ความสำคัญมากนัก

นั่นคือ การฝ่ายนายจ้างต้องถอนคำฟ้อง พล มาเอี่ยม รองประธานสหภาพฯ และเพื่อนของเขาอีก 11 คนที่บริษัทต้องการปลดพวกเขาออกจากการเป็นกรรมการลูกจ้าง เนื่องจากบริษัทได้เลิกกิจการไปแล้ว

ศาลได้นัดสืบพยานในอันที่จะพิสูจน์ว่าบริษัทยุบเลิกกิจการจริง ซึ่งในขณะที่ฝ่ายนายจ้างฟ้องนั้นไม่เคยมีการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อลงมติในการเลิกบริษัทแม้แต่น้อย ทำให้จี.เอส.สตีลต้องถอนคำฟ้องกลับคืนไป

แต่ในทางกฎหมายแล้ว "ผู้จัดการ" คิดว่าเรื่องนี้มีความไม่ชอบธรรมอยู่บ้าง ในแง่ของการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จากทางบ้านเมือง คือ คณะกรรมการกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย

เพราะตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ในการยุติข้อพิพาทด้วยการสามารถสั่งให้บริษัทเปิดดำเนินการผลิตให้คนงานกลับเข้าทำงานตามเดิมได้

แต่เจ้าหน้าที่ยืนกรานเป็นเสียงเดียวว่า ไม่สามารถใช้กฎหมายดังกล่าว เพราะคณะกรรมการพิจารณาจาก "เจตนา" ของผู้บริหารที่ต้องการปิดกิจการมาตั้งแต่แรกเริ่ม

วึ่งค่อนข้างขัดแย้งกับเอกสารของ จี.เอส.สตีลที่ประกาศออกมาอย่างชัดเจน 2 ฉบับหลังการนัดหยุดงาน

ฉบับหนึ่งเป็นการประกาศเลิกจ้างและหยุดงานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตโดยสิ้นเชิง และอีกฉบับหนึ่งเป็นเรื่องการจ้างงานพนักงานประจำบางส่วนให้เข้าทำงาน

อย่างน้อยก็พอจะชี้ชัดได้ว่า บริษัทยังไม่ได้ปิดดำเนินการอย่างที่อ้างกัน

และชี้ให้เห็นถึง "กำลังภายใน" หรือความสำคัญของ ชำนิ กับ จี.เอส.สตีล ที่มีต่อวงการอุตสาหกรรมบ้านเรา

เป็นที่ทราบกันดีว่า วัตถุดิบที่มีความสำคัญต่อการก่อสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กในประเทศไทยเรา ประกอบด้วยเหล็กเส้นกับปูนซีเมนต์

ถึงแม้ปูนซีเมนต์ไทยจะมีบริษัทเหล็กสยามจำกัด ที่สามารถซัพพลายเหล็กเส้นให้กับลูกค้าในโครงการได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว แต่เมื่อเทียบกับความต้องการของอุตสาหกรรมนี้ทั้งระบบ ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี

เช่นเดียวกับมาตรฐานของเหล็กเส้นที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของบริษัทผู้รับเหมาชาวไทยใหญ่น้อยทั่วไป ก็มีอยู่สองแห่ง หนึ่งในสองนั้นคือ จี.เอส.สตีล

ก็ไม่แปลกอะไรที่ชำนิ และ จี.เอส.สตีล จะสำคัญตัวว่า ตนเองมีความสำคัญเสียเหลือหลาย

"บ่อยครั้งที่มีการประชุมของสภาอุตสาหกรรมที่คุณชุมพล ณ ลำเลียง ต้องมาเชิญคุณชำนิด้วยตัวเอง เวลาประชุมทุกคนก้จะให้ความสำคัญกับความเห็นของคุณชำนิมาก" เจ้าของโรงงานเหล็กเส้นแห่งหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" ดังได้เสนอไปนี้ พอจะสรุปได้ว่า ปัญหาการขาดทุนและปัญหาแรงงานไม่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญจน จี.เอส.สตีลต้องเลิกกิจการ ตรงกันข้าใน จี.เอส.สตีล กลับมี "มุ้งเล็ก" ใน "มุ้งใหญ่" ที่คอยฉกฉวยผลประโยชน์ทั้งปวงจากการดำเนินการทั้งของ จี.เอส.สตีล และกิจการขายเศษเหล็ก และผู้แทนจำหน่ายที่รายล้อม จี.เอส.สตีล อยู่

ข้อมูลเหล่านี้เมื่อรวมกับกระแสข่าว 3 เรื่อง คือ หนึ่ง - การเบี้ยวสัญญากับบริษัทรับเหมา สอง - การที่มิตซูบิชิที่มีปัญหากับ จี.เอส.สตีล และสาม - ความพยายามทำลายสหภาพแรงงาน และเปลี่ยนสภาพการจ้างกับคนงานใหม่หมด ทำให้เรื่องราวทั้งหมดชวนให้คิดต่อไปว่า

คำถามที่สำคัญของเรื่องนี้มาหยุดลงตรงที่ในช่วงเวลาห้าเดือนที่ผ่านมา ชำนิ วิศวผลบุญ และจี.เอส.สตีล ได้อะไรจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นบ้าง

และแท้ที่จริงแล้ว เขามี "เจตนา" ที่จะเลิกกิจการ วางหมากล่วงหน้าโดยยกเอากรณีพิพาทแรงงานมาเป็นเหตุผลในการเลิกกิจการใช่หรือไม่???

"เขาจะทำอย่างนั้นทำไม ตอนนี้เราต้องจ่ายค่าชดเชยแรงงานไป 17 ล้าน จ่ายค่าดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายอะไรไปอีกตั้ง 19 ล้าน เงิน 35 ล้านไม่ใช่น้อย ๆ นะคุณ เรื่องอะไรเราต้องปิดกิจการทำเรื่องบ้า ๆ อย่างนี้ด้วย" กรรมการบริหารของจี.เอส.สตีลคนหนึ่งบอก "ผู้จัดการ"

ความยากลำบากที่สุดในการค้นหาความจริง ในอันที่จะพิสูจน์ว่า ชำนิ และ จี.เอส.สตีล ได้ประโยชน์เป็นกอบเป็นกำที่สุดจากเรื่องนี้ ก็อยู่ตรงที่ว่า เขามีสัญญาซื้อขายเหล็กเส้นล่วงหน้ากับบริษัทผู้รับเหมามากน้อยแค่ไหน

เขาทำสัญญาขายเหล็กล่วงหน้าเหล่านั้นด้วยราคาเท่าไร จำนวนเท่าไร และแน่นอนที่สุดถ้ามีสัญญาซื้อขายเหล็กเส้นล่วงหน้าที่ว่าจริง การปิดกิจการที่จะทำให้สัญญานั้นไม่มีผล ทำให้เขาลดผลการขาดทุนในอนาคตที่จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนเท่าไร ยังไม่รวมถึงค่าจ้างแรงงาน ต้นทุนการผลิต เวลาที่ต้องเสียไปกับการผลิต (เพื่อการขาดทุน) นี้อีกเป็นจำนวนเท่าไร

แต่การพิสูจน์หาความจริงดังกล่าว มีปัญหาที่สำคัญอยู่อย่างนอย 2 ประการ

ประการแรก และเป็นเหตุผลที่สำคัญยิ่งของการทำธุรกิจก็คือ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กเส้นในปัจจุบันแทบจะกล่าวได้ว่า เป็นตลาดของผู้ขายอย่างแท้จริง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมารายใด ไม่มีใครอยากจะตั้งตัวเป็นศัตรูในทางเปิดเผยกับบริษัทผู้ค้าเหล็กเส้น เพราะเหตุการณ์ที่ประสบอยู่ทุกวี่ทุกวันก็ไม่พอที่จะรับมืออยู่แล้ว

"อย่างเช่นถ้าเราไปซื้อเหล็กเส้น ยี่ปั๊วขึ้นราคาไปสักกิโลละบาท เราบอกไม่เอา ตอนหลังเราตัดใจเพราะกลัวค่าใช้จ่ายจะบานปลาย แต่พอกลับไปอีกครั้งมันไม่ขายแล้ว มันลงโทษเราทางอ้อมว่าทีหลังอย่าซ่า" ผู้รับเหมารายหนึ่งเล่าให้ฟัง

แต่ที่หนักหนาสาหัสกว่า และไม่สามารถพิสูจน์หรือตรวจค้นหาความจริงได้ก็คือ การเข้าไปซื้อเหล็กแล้วบอกว่าไม่มีของ ซึ่งกับสินค้าที่ดีมานด์มากกวาซัพพลายแล้วละก็ เรื่องราวเหล่านี้มีให้เห็นอยู่ทุกบ่อย เพียงแต่เรื่องเหล็กนี่ค่อนข้างจะซีเรียสมากกว่า เพราะราคาที่แตกต่างกันในการซื้อนั้นครั้งหนึ่งไม่ใช่บาทสองบาท และซื้อกันครั้งหนึ่งเป็นร้อยเป็นพัน ไม่ใช่ทีละกิโลสองกิโล

นั่นทำให้ไม่มีใครปริปากบอกออกมาแน่นอนว่าตนเอง "เสียหาย" กับเรื่องที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ถึงแม้จะมีข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า จี.เอส.สตีล "เบี้ยวสัญญา" ขายเหล็กกับผู้รับเหมาหลายราย (เดลินิวส์ มีนาคม 8, 2531) ก่อนจะมีการสไตร์คก็ตาม

ปัญหาอีกข้อหนึ่งเป็นเรื่องของหลักปฏิบัติทั่วไปของการซื้อขายเหล็กของ จี.เอส.สตีล

นอกจากจี.เอส.สตีลจะมีไทยวิโรจน์, ไทยร่วมจิตร์ และ จี.เอส.ซีแรมมิคส์ เป็นผู้ซื้อขายเศษเหล็ก และอิฐทนไฟที่ใช้ในการผลิตมาให้จี.เอส.สตีลแล้ว จี.เอส.สตีลยังมีหุ้นส่วนจำกัดสี่ยงค์เป็นเอเย่นต์รายใหญ่ ในการจำหน่ายเหล็กเส้นจาก จี.เอส.สตีลร่วมกับมิตซูบิชิ (ประเทศไทย) และคาวาโซ่ คอร์ปอร์เรชั่น

วิธีการก็คือ จะไม่มีการซื้อขายเหล็กจากจี.เอส.สตีลโดยตรง ผู้รับเหมาจะต้องติดต่อกับสี่ยงค์และหรือซาปั๊วอีกทีหนึ่งทำให้ไม่มีตัวเลข หรือสัญญาที่แน่นอนว่า จี.เอส.สตีล มีออร์เดอร์มากน้อยแค่ไหน เท่าไรและมีใครเป็นลูกค้าบ้าง

ก็จะทำอย่างนั้นไปทำไมเล่า เมื่อผลิตออกมาเท่าไรก็ขายออกไปได้ทั้งหมด จะต้องมามัวยุ่งกับการทำสัญญิงสัญญาให้รำคาญใจกันอีกทำไม

"เรายอมรับว่า เราก็ซื้อเหล็กจากจี.เอส.สตีลเหมือนกัน แต่ไม่มากเท่าไหร่ แล้วเราก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเรามีโรงงานเหล็กเส้นของเราอยู่แล้ว" ผู้บริหารระดับสูงของอิตัลไทยคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

แน่นอนกับ "ผู้จัดการ" แล้ว ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าบริษัทใหญ่ ๆ จะกระเทือนหรือไม่อย่างไร ลองคิดดูสักนิดว่า จี.เอส.สตีลจะได้รับประโยชน์มากแค่ไหนกับการไม่ต้องส่งเหล็กเส้นตามสัญญา ซึ่งข้ออ้างที่ว่า พนักงานหยุดงานทำให้ไม่สามารถทำการผลิตได้ เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักพอแล้วกับการจะบอกว่าทำของให้ตามความต้องการไม่ได้

ยิ่งมีสัญญาที่ว่านี้มากแค่ไหน ผลกำไรที่จี.เอส.สตีลจะได้รับก็มากขึ้นเท่านั้น

ทีนี้กับผลประโยชน์ที่เห็นได้ชัด และพอจะอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นแจ่มชัดยิ่งขึ้นก็คือ การถอนหุ้นทั้งหมดจำนวน 180,000 หุ้น ออกจาก จี.เอส.สตีลของมิตซูบิชิฯ ผู้ร่วมหัวจมท้ายกับจี.เอส.สตีลมาตั้งแต่ต้น

"เขาเห็นว่าบริษัทมีปัญหาก็กลัวเสียภาพพจน์ ตัวเขาเองก็มีสินค้าหลายตัวไม่จำเป็น ที่จะต้องมาสนใจกับเหล็กเส้นเพียงตัวเดียว ก็เลยถอนตัวออกไป" สรร ชี้แจงให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

แต่เหตุผลที่ว่านี้ "ผู้จัดการ" เชื่อว่ายังคงไม่หนักแน่นพอ

ในการร่วมทุน เพื่อดำเนินกิจการใด ๆ ก็ตามจะตั้งอยู่บนพื้นฐานขั้นต้นประการหนึ่ง คืออย่างน้อยต้องเป็นกิจการที่มองออกแล้วว่ามีอนาคต สามารถทำรายได้ ทำกำไรให้กับผู้ร่วมทุนด้วยกัน

เช่นเดียวกับจี.เอส.สตีลได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมิตซูบิชิฯ ทำให้สามารถขยายฐานทางการผลิตในเมืองไทย โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันในการจำหน่ายเหล็กเส้นที่ได้จากการผลิต

มิตซูบิชฯ น่าจะอยู่ในสถานะที่เรียกว่ามีแต่ได้กับได้ ไม่มีเสียอย่างแน่ชัด

กอปรกับความต้องการเหล็กเส้นในอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยในปัจจุบัน มิตซูบิชิฯ ก็คงทราบดีว่าช่วงนี้เป็นโอกาสที่ยากจะหา และคงต้องการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการนี้อย่างเต็มที่เช่นกัน

ดังนั้นไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่มิตซูบิชิฯ ต้องถอนตัวไป

แต่มิตซูบิชิฯ ก็ประกาศถอนตัวจากจี.เอส.สตีล โดยการขายหุ้นในราคาพาร์คือ 100 บาทต่อหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นหรือบุคคลภายนอกที่สนใจนั้นมีนัยสำคัญหลายประการ

แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง ความแน่วแน่ของมิตซูบิชิฯ ที่ต้องการออกมาจาก จี.เอส.สตีลอย่างเด่นชัดที่สุด เพราะถ้ามิตซูบิชิฯ จะ "เล่นตัว" เนื่องจากมีการ "บีบ" เพื่อให้มิตซูบิชิฯ ออกไป ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมิตซูบิชิฯ จะต้องเรียกราคาสูงมาก ๆ เนื่องจากราคาหุ้นจี.เอส.สตีลในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนปิดกิจการก็อยู่ในระดับประมาณ 240-250 บาทแล้ว

ความขัดแย้งที่มิตซูบิชิฯ มีกับหุ้นส่วนจึงคงไม่เพียงการไม่มีสินค้าให้ตามที่ตกลงกันเพียงไม่กี่ครั้ง แต่นั่นต้องสะสมมาเป็นเวลานานทีเดียว?!?

แสดงออกมาถึงความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะออกจากจี.เอส.สตีล โดยไม่เกี่ยงว่าเงื่อนไขจะเป็นอย่างไร!!!

และหุ้นของมิตซูบิชิฯ คงทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม หลาย ๆ คนในจำนวนนั้นย่อมต้องมี ชำนิ วิศวผลบุญ อยู่ด้วยในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่ยงค์

ไม่ว่าคนงานจำนวน 638 คนของจี.เอส.สตีลจะได้กลับเข้าไปทำงานตามเดิมทั้งหมดหรือไม่ก็ตาม

ก็ถือได้ว่า ชำนิและบริษัทในเครือ รวมทั้งจี.เอส.สตีล ในนามบริษัทใหม่ที่ชื่อ "ไทยสตีลบาร์" ได้ประโยชน์มหาศาลจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ส่วนผู้เสียประโยชน์มีอย่างน้อย 3 ส่วนด้วยกัน คือ บริษัทผู้รับเหมา มิตซูบิชิฯ และคนงานของจี.เอส.สตีล

กลยุทธ์อำมหิต "กระบี่เดียวทะลวงสามคอหอย" เช่นว่านี้ ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะพบเห็นกันได้ง่าย ๆ

ผู้เป็นหุ้นส่วนอย่างมิตซูบิชิฯ ที่ถูกกลั่นแกล้งจนทนไม่ได้ต้องถอนตัวออกไป

ด้านของสหภาพแรงงาน ไม่เพียงจะได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องเสียเงินค่าจ้างแรงงานในอัตราเดิมที่เคยจ้าง และเงินบำเหน็จแก่พนักงานสูงอายุที่ทำงานกับบริษัทมาเป็นเวลานาน แต่ยังเป็นวิธีการทำลายขบวนการสหภาพแรงงานด้วยวิธีการอันแยบยลยิ่ง

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมากที่มิอาจละเลยไปได้มีหลายเรื่องด้วยกัน

การขาดแคลนของเหล็กเส้นจากตลาดที่มีผลกระทบโดยตรงในทางกว้างกับคนจำนวนมาก ด้วยการมองลึกลงไปอย่างมีระบบของปัญหาที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นลูกโซ่

ผู้รับเหมาไม่มีเหล็กเส้นก็ไม่สามารถทำงานตามสัญญาก่อสร้างของตนได้ ทำให้เกิดการทิ้งสัญญางานของรัฐบาลและเอกชนไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ยังพอทำเนา

กรรมกรผู้ใช้แรงงานจำนวนกี่พันกี่หมื่นครอบครัวที่ต้องตกงาน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มพูนขึ้นทุกวันทำให้หากผู้รับเหมาบางรายที่มี "สายป่าน" ที่ยาวพอจะยังคงอยู่รอดต่อไปได้ แต่ก็ต้องผลักภาระทั้งหมดไปอยู่ที่ "ผู้บริโภค" อยู่ดี

กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเราที่ยังเปิดโอกาสช่องว่างให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ จี.เอส.สตีลนี้เกิดขึ้นได้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนเป็นเรื่องธรรมดา

แน่นอน วันนี้ จี.เอส.สตีลได้ปิดกิจการลงไปแล้ว คนงานที่ไม่ได้รับความชอบธรรมเหล่านั้นจะสามารถร้องเรียนและรับความเป็นธรรมได้จากใครเล่า

"มโนธรรม" ประจำใจของนักธุรกิจและผู้ประกอบการทั้งหลายในปัจจุบัน หากไปอยู่ที่ใด???

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us