Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2531
เหตุเกิดที่บรรษัท (IFCT) ความสับสนในบทบาทที่แท้จริง? หรือเป็นเพียงนิยายน้ำเน่า             
 


   
search resources

บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย - IFCT
Financing




หลังจากที่บรรษัทโดนมรสุมข่าวโหมกระหน่ำอย่างหนัก ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมจนถึงกลางเดือนสิงหาคมก็ยังมีสื่อมวลชนบางฉบับกล่าวถึงอยู่

ภาพพจน์ของบรรษัทในฐานะสถาบันการเงินที่ได้รับความเชื่อถือในระบบการบริหารสมัยใหม่ มีนักบริหารมืออาชีพอยู่เต็มไปหมด เริ่มถูกตั้งข้อสงสัยในประสิทธิภาพเสียแล้ว?

ทางออกของปัญหานั้นบ้างก็ว่าต้องผ่าตัดบรรษัท หนังสือพิมพ์บางฉบับเล่นข่าวนี้อย่างหวือหวา ว่ามีการเสนอให้ยุบทิ้งบรรษัทพร้อมกับมีการปล่อยข่าวลือว่าบรรษัทจะล้ม!

ผู้ที่รับบทหนักที่สุดคือ ศุกรีย์ แก้วเจริญ กรรมการผู้จัดการทั่วไป แทบไม่เป็นอันทำงานทำการเพราะต้องคอยชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ที่ห่วงใยในสุขภาพของบรรษัททั้งหลาย โดยเฉพาะสื่อมวลชน แต่ก็ยังไม่สามารถคลายข้อสงสัยจนหมดสิ้น เพราะส่วนหนึ่งอยู่ท่าทีของกระทรวงการคลังด้วย

จนกระทั่ง สุธี สิงห์เสน่ห์ มอบหมายให้ โมรา บุณยผล รองปลัดคลังออกมาชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร และกระทรวงการคลังก็มีโอกาสเข้าไปดูแลและมีกรรมการของบรรษัทซึ่งได้รับเลือกจากผู้ถือหุ้นของบรรษัท และมีอดีตรัฐมนตรีคลังอย่างสมหมายเป็นประธาน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ข่าวนี้ซาลงไป

ในทางปฏิบัติยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาบทบาทของบรรษัท หรือการใช้มาตรการอื่นใด ข่าวที่บอกว่าคลังสั่งให้บรรษัทปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร ศุกรีย์ยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า ไม่เคยได้รับคำสั่งเช่นนั้น แต่ผลสะเทือนที่เห็นได้ชัดคือ ราคาหุ้นของบรรษัทที่ตกลงมาอย่างฮวบฮาบ ต้นเดือนกรกฎาคม ราคา 219 บาท กับวันที่เขียนต้นฉบับ (22 สิงหาคม) ราคาหุ้นเหลือเพียง 140 บาท ตกลงมาราวๆ 36% ซึ่งนับว่าหนักเอาการอยู่

ประเด็นของปัญหาอยู่ที่การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน คำนวณเมื่อสิ้นปี 2530 เป็นการขาดทุนทางบัญชี 6,320 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สมมุติว่าบรรษัทต้องชำระหนี้ระยะยาวที่มีอยู่ทั้งหมด ณ ธันวาคม 2530 แต่ความจริงยังไม่ขาดทุนเพราะยังไม่ถึงกำหนด

จำนวนเงินที่ขาดทุนจริงๆ ของปี 2530 คือ 527.7 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังต้องรับภาระออกเงินชดเชยให้บรรษัทก่อน นี่เป็นข้อกล่าวหาว่าบรรษัททำตัวเป็นเฒ่าทารกที่คิดแต่จะอิงหลังคลังไปจนตาย ระเรื่อยไปจนถึงบรรษัทแต่งบัญชี แทนที่จะนำขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไปลงด้านหนี้สินที่เพิ่มขึ้น กลับไปลงบัญชีเป็นตัวเลขด้านสินทรัพย์ในช่องลูกหนี้ เนื่องจากถือว่าคลังต้องชดเชยเงินจำนวนนี้ ทำให้ตัวเลขสินทรัพย์สวยงาม

ความจริงการทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ละเอียดลึกซึ้งเป็นสิ่งที่ทำได้ โดยแยกพิจารณาเป็นสองส่วน ภารกิจในอดีตที่สืบเนื่องถึงปัจจุบัน และบทบาทในปัจจุบันท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปซึ่งจะเป็นตัวกำหนดบทบาทที่ควรจะเป็นไปในอนาคต

การก่อกำเนิดของบรรษัทเป็นการแทนที่ "ธนาคารอุตสาหกรรม" ซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่กิจการอุตสาหกรรมระหว่างปี 2495-2500 แต่เนื่องจากธนาคารอุตสาหกรรมประสบปัญหาในการดำเนินงาน รัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม พ.ศ. 2502 แล้วได้ล้มเลิกธนาคารอุตสาหกรรม

รูปแบบของบรรษัทถูกกำหนดให้เป็นสถาบันการเงินที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น แต่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน โดยนักบริหารมืออาชีพ มี สิทธิพิเศษ ตรงที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ต่างประเทศ มี หน้าที่ ให้บริการทางการเงินเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ตั้งแต่วางรากฐานไปจนกระทั่งกิจการมั่นคงแข็งแรงในที่สุด และช่วยเหลือการพัฒนาตลาดทุนในประเทศอีกด้วย

ขณะเดียวกันก็มี ข้อจำกัด ที่ไม่สามารถระดมเงินจากประชาชนได้โดยตรงอย่างที่ธนาคารหรือบริษัทเงินทุนทำได้

ลักษณะพิเศษเหล่านี้เป็นเหตุให้วิธีการทางบัญชีของบรรษัทแตกต่างออกไป

จากจุดประสงค์ดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลสมัยนั้นต้องการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม แต่รัฐบาลไม่สามารถให้กู้ได้เอง จึงเลือกใช้บรรษัทในฐานะ "กลไก" อันหนึ่ง

แหล่งของเงินทุนระยะยาวในขณะนั้นหายากมาก ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุไถ่ถอนคืน 10-30 ปี และเป็นการผ่อนชำระในเงินตราต่างประเทศหลายสกุล

สิ่งที่ตามมากับการกู้เงินตราต่างประเทศ คือความเสี่ยงจากภาวะผันผวนของค่าเงิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดกำไรหรือขาดทุนก็ได้ ถ้าขาดทุนจะมีการตัดจ่ายตามหลักปฏิบัติ โดยตัดจากกองทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งบรรษัทได้ตั้งสำรองไว้ทุกปี และถ้าไม่พอสามารถขอชดเชยจากกระทรวงการคลัง ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างคลังกับบรรษัท

ซึ่งเงินชดเชยที่ได้รับจากคลังนี้ บรรษัทจะตัดเป็นรายจ่ายเมื่อชำระคืนหลังในระยะยาว

"ย้อนหลังกลับไปดูในช่วงแรกๆ รัฐให้ผู้ประกอบการเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงไปจากอัตราแลกเปลี่ยนเอง ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ประกอบการเจ๊งไปหลายราย ด้วยเหตุนี้ ราวๆ ปี 2517 จึงมีการเปลี่ยนนโยบายให้บรรษัทรับภาระโดยคลังเข้ามาช่วยเหลือ" ผู้จัดการฝ่ายการบัญชีของบรรษัทเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

หลังจากนั้นมาบรรษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนมาตลอด ยกเว้นปี 2522 ซึ่งขาดทุน 24 ล้านบาท ซึ่งบรรษัทได้ส่งเงินคืนคลังเรียบร้อยแล้ว

จนกระทั่งปี 2530 ซึ่งขาดทุนมากเนื่องจากสาเหตุหลายประการอันเนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงมีผลทำให้เงินสกุลอื่นๆ แข็งตัวขึ้น โดยเฉพาะเงินเยน ซึ่งการที่บรรษัทเลือกกู้เงินเยนและสกุลอื่นๆ แทนดอลลาร์เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า และสามารถกู้ระยะยาวได้ นอกจากนั้นการลดค่าเงินบาทในปี 2524 และ 2527 ส่งผลกระทบสะสมต่อเนื่องมา

สำหรับตัวเลขขาดทุน 6,320 ล้านบาทที่คำนวณเมื่อสิ้นปี 2530 เมื่อคำนวณใหม่ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ตัวเลขขาดทุนลดลงเหลือไม่ถึง 4,000 ล้านบาท ซึ่งอนาคตก็คงเปลี่ยนไปอีก

การบริหารหนี้ต่างประเทศเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารบรรษัทเป็นอย่างยิ่ง "เราไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการใช้มาตรการต่างๆ ในการบริหารหนี้เงินกู้ต่างประเทศตามภาวะการณ์ตลาดจะอำนวย เรากระจายการกู้เงินเป็นหลายสกุลเพื่อกระจายความเสี่ยง การทำ SWAP รวมทั้งการพิจารณาเลือกเงินสกุลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่เดิมเรากู้ผ่าน WORLD BANK และ ASIAN DEVELOPMENT BANK ซึ่งมีข้อจำกัดตรงที่เขาเป็นฝ่ายบริหารเงิน แต่ตอนหลังเรากู้จากที่อื่นสามารถเลือกสกุลเงินได้เอง" ศุกรีย์ชี้แจง

ระยะหลังที่ตลาดเงินบ้านเรามีสภาพคล่องมาก บรรษัทออก "IFCT NOTE" เพื่อระดมเงินจากตลาดภายใน แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศเป็นหลัก

"แต่เราก็พยายามจะยืนบนขาของเราเองตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา เราก็เริ่มกู้เงินจากต่างประเทศโดยที่รัฐบาลไม่ต้องค้ำประกัน เพื่อแสดงเครดิตของเราแม้ว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกก็ตาม เว้นแต่กรณีที่สถาบันต่างประเทศระบุว่าต้องมีรัฐบาลค้ำประกัน" ศุกรีย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เมื่อเราเห็นตัวเลขที่เสียหายดังกล่าว เราจะกล่าวโทษผู้บริหาร หรือจะให้อภัยต่อข้อจำกัดหลายประการดังกล่าว ก็แล้วแต่เกณฑ์วินิจฉัยของแต่ละคน แต่อีกด้านหนึ่งที่ควรจะดูควบคู่กันไป คือผลประโยชน์โดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากบริษัท

อาทิปี 2530 ก่อให้เกิดการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 6,100 ล้านบาท มีมูลค่าเพิ่มกว่า 1,700 ล้านต่อปี มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นมูลค่ากว่า 3,300 ล้านต่อปี เมื่อโครงการเหล่านี้ทำการผลิตเต็มที่ ทำให้มีการจ้างงานโดยตรง 11,000 คน และที่สำคัญโครงการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้จากบรรษัทเป็นโครงการในส่วนภูมิภาคถึงร้อยละ 85

นั่นคือภารกิจทางประวัติศาสตร์ของบรรษัท

คำถามก็คือว่า ประเทศไทยเราพร้อมหรือยังที่จะระดมเงินออมภายในประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาวสำหรับกิจการอุตสาหกรรมกู้ยืมต่อไปในอัตราดอกเบี้ยคงที่ได้ โดยมีข้อสังเกตว่าตลาดทุนมีการพัฒนาขึ้นมาก แต่การออกหุ้นสามารถกระทำได้ในขอบเขตที่จำกัด ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ให้กู้ยืมระยะสั้นและระยะปานกลาง โดยที่ระยะยาวคิดอัตราดอกเบี้ยผันแปรไปตามราคาตลาด

บรรษัทซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรม ยังคงมีบทบาทเช่นนี้ต่อไป หรือควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เหมาะสม หรือจะยกเลิกไปเลยอย่างที่รัฐบาลเคยทำกับธนาคารอุตสาหกรรม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะพิจารณาให้ถ่องแท้บนพื้นฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริง ซึ่งก็นับเป็นโอกาสอันดีของบรรษัทที่จะได้ทบทวนบทบาทของตัวเอง ซึ่ง "ผู้จัดการ" ทราบว่าทางบรรษัทเตรียมที่จะจัดสัมมนาใหญ่เพื่อระดมความคิดในการกำหนดจังหวะก้าวต่อไปของบรรษัท

ความจริงคำถามหรือข้อสงสัยต่อข้อมูลที่เปิดเผยทั่วไปในงบการเงินของบรรษัทเป็นสิ่งที่ดี "ผู้จัดการรายสัปดาห์" เองได้ตั้งข้อสังเกตและแสดงตัวเลขต่างๆ เหล่านี้มาตั้งแต่ต้นปี 2531 ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ก่อนหน้าที่จะมีการพูดถึงเรื่องนี้หลายเดือน ในคอลัมน์ที่เกี่ยวกับหุ้นของบรรษัท นอกจากผู้อ่านจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว มันยังมีนัยยะว่าผู้บริหารสามารถถูกตรวจสอบได้

แต่คงเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ถ้าเบื้องหลังการขุดคุ้ยเรื่องนี้ขึ้นมาจะกลายเป็นเพียงความเคียดแค้นของผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังคนหนึ่ง ซึ่งมีญาติผู้ใหญ่ถูกบรรษัทฟ้องยึดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้เงินกู้ ว่ากันว่าถึงกับมีการประกาศว่าจะล้ม ศุกรีย์ หรือจะล้มบรรษัทซะเลย!!!

มีคนมากมายไปถามศุกรีย์ว่า "คนๆ นั้นใช่มั้ย"

คำถามนี้ออกจะถามผิดคนไปหน่อย ควรจะถามใครทิ้งไว้เป็นปริศนาดีกว่า "ผู้จัดการ" ยังไม่อยากเพิ่มคดีความขึ้นอีกโดยไม่จำเป็น และไม่อยากเชื่อจริงๆ ว่าจะเป็นเรื่องน้ำเน่าเช่นนี้!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us