Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2531
60 ปีแห่งการรวมตัวของผู้รับเหมายังไปไม่ถึงไหนเลย!?!             
 


   
www resources

โฮมเพจ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย

   
search resources

Construction
สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย




วิกฤติการณ์เหล็กเส้นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วสืบเนื่องมากระทั่งประทุขึ้นอย่างครึกโครมเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมานี้ หัวขบวนของบรรดาผู้รับเหมาทั้งมวลก็คือ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย

ในฐานะตัวแทนที่เป็นทางการ สมาคมนี้ก้าวเข้ามามีบทบาทเรียกร้องเป็นปากเสียงให้กับผู้รับเหมา เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล็กเส้นขาดแคลนและมีราคาแพง จนทำให้รัฐบาลต้องทลายกำแพงภาษี เปิดให้เหล็กเส้นถูกนำเข้าอย่างเสรี

ผลงานครั้งนี้ทำให้เกียรติภูมิของสมาคมกระเดื่องเลื่องลือจนผู้คนสนใจใคร่รู้จักกันมาก

สมาคมนี้ก่อตั้งมานานนับ 60 ปีแล้ว แรกเริ่มมิได้ใช้ชื่อดังปัจจุบัน หากแต่เป็นชื่อตามสำนวนโบราณที่เรียกว่า "สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม" จดทะเบียนเป็นสมาคมตามพระราชบัญญัติเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2471

ดูจากปีก่อตั้งจัดได้ว่าอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับสมาคมจึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ กระทั่งพระเจ้าแผ่นดิน

นายกสมาคมในขณะนั้นก็คือ นายพลเอกพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน และได้หม่อมเจ้าเสริฐศิริกับพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์เป็นอุปนายก

ปีต่อมาคณะกรรมการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่วังสุโขทัย เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภกของสมาคม

จนเมื่อ 2475 เป็นต้นมา บ้านเมืองเปลี่ยนการปกครองตัวสมาคมเองก็เปลี่ยนไปด้วย ทั้งชื่อเรียกและคณะกรรมการ

ชื่อเรียกใหม่กลายเป็นสมาคมนายช่างแห่งประเทศไทย" โดยที่คำต่อท้าย "ในพระบรมราชูปถัมภ์" ก็หายไปด้วย

ส่วนคณะกรรมการ มีหลวงยุกตเสวีวิวัฒน์เป็นนายกสมาคมเมื่อปี 2489 ต่อมาก็เป็นสามัญชนไม่มีบรรดาศักดิ์อย่างนายสง่า วรรณดิษฐ์ (2490) และนายบุญทอง ผ่องสวัสดิ์ (2491-2499) เข้ามาบริหารงาน

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กิจกรรมของสมาคมหยุดชะงักไปชั่วขณะหนึ่ง พอสงครามสงบ สง่า วรรณดิษฐ์ก็กลับมาบริหารงานต่อ จนสมาคมได้จดทะเบียนกับกรมการค้าภายในใหม่ในนาม "สมาคมนายช่างเหมาไทย" เมื่อปี 2510 และย้ายมาตั้งที่ทำการเป็นการถาวรแถวถนนวิทยุจนปัจจุบัน

ชีวิตของสมาคมยังคงเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอิตัลไทยก็เคยเป็นนายกสมาคมช่วงปี 2518-2521

ในปี 2526 สมาคมเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งให้ดูทันสมัยขึ้นเป็น "สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย" และเป็นชื่อที่ยังใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีสมบัติ เพชรตระกูลเป็นนายกสมาคม

ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกประมาณ 600-700 ราย นับว่าน้อยมาก ไม่ถึง 5% ของผู้รับเหมาทั่วประเทศ ว่ากันว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า วงการผู้รับเหมายังไม่ตื่นตัวในการร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มอาชีพของตน

และที่สำคัญในวงการยังมีบุคคลที่ยังยึดถือแต่การทำธุรกิจแบบตัวใครตัวมัน ใช้สไตล์การรับเหมาแบบเก่า ที่เน้นการเติบโตของบริษัทควบคู่ไปกับการสร้างสายสัมพันธ์ทังนอกและในวงจรธุรกิจ

ภูมิสัน โรจน์เลิศจรรยา ประชาสัมพันธ์ของสมาคมในปัจจุบันกล่าววิเคราะห์ถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการรวมตัวผู้รับเหมาว่า

"ผู้รับเหมาในปัจจุบันในแง่หนึ่งมันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ในด้านการจับงาน ปัจจุบันต้องใช้หลักวิชาช่างและวิชาบริหารเข้ามาจับอย่างจริงจัง มันน่าจะหมดสมัยที่จะมาทำตัวเป็นนายหน้าเอางานมาได้แล้วชักเปอร์เซ็นต์ไปขายให้คนอื่นทำต่อ นอกจากนี้ผู้รับเหมารุ่นใหม่ก็เกิดขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งเติบโตจากการศึกษาด้านวิศวกรรม หรือสาขาอื่นๆ จากรั้วมหาวิทยาลัย อีกส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานของผู้รับเหมาเดิม คนหนุ่มเหลานี้จะเป็นอนาคตของวงการ"

ยิ่งในทุกวันนี้สถานการณ์ที่นำพาวงการผู้รับเหมาไปสู่ "ที่สุดของการเจ๊ง" มีมากมาย อาทิวัสดุก่อสร้างแพงอย่างผิดปกติ การที่ผู้รับเหมาแข่งขันกันตัดราคา ไม่สามารถเข้าใจสภาพตลาดการซื้อขายวัสดุก่อสร้าง การปัดแข้งปัดขา และไม่รักษาสัจจะในการทำงาน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ได้เรียกร้องผู้รับเหมาต้องรวมตัวกันปรับปรุงในหลายๆ ดาน

อันหนึ่งก็คือ การเสนอข้อเท็จจริงทางวิชาการต่อสังคม เช่น ข้อมูลด้านราคาวัสดุก่อสร้าง อัตราการเจริญเติบโตของมูลค่าการก่อสร้าง เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจสถานะของธุรกิจก่อสร้าง

นอกจากนี้น่าจะเสนอรูปแบบใหม่ของประเพณีสัญญาการว่าจ้างที่ทั้งรัฐบาลและเอกชนพึงปฏิบัติ เรื่องนี้ควรดูของเก่า สมัยก่อนนี้การรับเหมา ถ้าทำช้ามีการปรับ แต่ถ้าทำเสร็จเร็วจะมีรางวัล โดยคิดตามจำนวนวันก่อนครบตามสัญญา ในปัจจุบันนี้มีสัญญาในลักษณะที่จะปรับเมื่องานไม่เสร็จ แต่การให้รางวัลไม่มี

ยิ่งกว่านั้น วิชาชีพรับเหมาก่อสร้างก็ควรได้รับการพัฒนายกระดับให้ทันสมัย ตัวสมาคมเองก็ต้องสร้างวัฒนธรรมการรวมตัวกลุ่มอาชีพที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งจิตใจและการปฏิบัติต่อกันในการทำงานร่วมกัน

ความคิดดีๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ภูมิสันปรารถนาให้เกิดขึ้นเป็นจริงเป็นจังกับวงการ เขาอยากเห็นสมาคมมีบุคลากรมากขึ้น ทั้งด้านวิเทศสัมพันธ์ วิชาชีพช่าง ด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐศาสตร์การเงินการธนาคารเพื่อปรับปรุงให้สมาคมสามารถรับใช้สมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ทั้งนี้ผู้รับเหมาก็ต้องตื่นตัวที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ด้วย

"อันที่จริงองค์กรแบบนี้มีอยู่ในทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบทุนนิยม เพื่อปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของกลุ่มตน ของไทยเรายังขาดความเข้าใจอีกมาก ทุกวันนี้วงการก่อสร้างจึงปั่นป่วนเมื่อเกิดเรื่อง เช่น เหล็กเส้นวิกฤต เราก็รวมตัวรับมือไม่ได้เต็มที่" ภูมิสันกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในท้ายสุด

ดังนั้น 60 ปีของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้าง และการรวมตัวของผู้รับเหมาจริงๆ แล้วก็ยังไปไม่ถึงไหน และรอวันที่จะมีคนหนุ่มไฟแรงมาพัฒนากันต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us