ระลอกคลื่นการลงทุนที่ไหลบ่ามายังบ้านเราในช่วงปีใกล้ๆ นี้ พ่วงเอากลุ่มธุรกิจจากแดนอารีดังเข้ามาด้วย
ชักแถวตามกันมาติดๆ ล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง ฮุนได
หรือโกลด์สตาร์ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจรุ่นใหม่ที่ไล่หลังญี่ปุ่นมาติดๆ
แต่ในเรื่องของการลงทุนในประเทศไทยแล้ว เกาหลียังห่างไกลจากญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่าสิบปี
ก้าวย่างของโกลด์สตาร์เป็นตัวอย่างที่พอจะบอกอะไรบางอย่างได้
"ในเวลาเพียงหนึ่งชั่วอายุคน เกาหลีใต้ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของตนเอง
จากประเทศที่เลี้ยงตัวด้วยผลิตผลทางเกษตรกรรม มาเป็นประเทศที่ทำรายได้จากการค้าและอุตสาหกรรม
ช่างซ่อมรถบรรทุกของกองทัพอเมริกันในสมัยสงครามเกาหลีหลายๆ ในปัจจุบันนี้
คือผู้นำของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ส่งออกสินค้าสารพัน ชนิดทั้งเหล็ก รถยนต์
โทรทัศน์ ไมโครชิบ เซมิคอนดัคเตอร์ และสินค้าไฮเทคอื่นๆ เข้าสู่ตลาดโลก"
นี่คือข้อสรุปสั้นๆ ต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ในสายตาของผู้สื่อข่าวแห่ง
"นิวยอร์กไทม์" หลังจากได้ไปเยือนประเทศนี้หลายครั้ง
การทุ่มเททั้งกายและใจให้กับการทำงานหนัก ค่าจ้างแรงงานถูก การปกครองที่รวมศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จ
และความมุมานะที่แฝงเร้นในส่วนลึกที่จะทำให้ญี่ปุ่นซึ่งเข้ายึดครองเกาหลี
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448-2488 ได้ตระหนักถึงความสามารถและศักดิ์ศรีแห่งประชาชาติของตน
เป็นรากฐานแห่งความรุดหน้าเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่สำคัญ
เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้น ราวกับถอดแบบมาจากญี่ปุ่นเลยทีเดียว
จะต่างกันก็เพียงในมิติของกาลเวลาที่ญี่ปุ่นล้ำหน้าไปหลายสิบปี
เกาหลีใต้เริ่มสลัดคราบไคลของความเป็นชาติเกษตรกรรม โดยการตั้งต้นจากอุตสาหกรรมเบาที่เน้นการใช้แรงงานและเทคโนโลยีพื้นๆ
ในระยะแรก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ การแปรรูปสินค้าเกษตร ในระยะแรกก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมหนัก
เช่น การต่อเรือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง การถลุงเหล็กและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในระยะต่อมา
จนมาถึงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่สลับซับซ้อนมากขึ้น จำพวกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
รูปแบบของการประการการที่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตเป็นสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศอีกทีหนึ่ง
ก็พัฒนามาถึงขั้นย้ายฐานการลงทุนออกไปต่างประเทศ เพื่อแสวงหาความได้เปรียบทางการตลาด
และหลีกเลี่ยงข้อจำกัดในการแข่งขันให้ได้มากที่สุด
ในขณะที่ญี่ปุ่นมีสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรปเป็นต้นแบบในการพัฒนาสินค้าและสร้าง
เทคโนโลยีเป็นของตนเองในเบื้องต้น เกาหลีใต้ก็อาศัยผลพวงจากการพัฒนาคิดค้นของญี่ปุ่นเป็นฐานก่อร่างสร้างอุตสาหกรรมของตนขึ้นมา
สมญานาม "ญี่ปุ่นใหม่" (NEW JAPAN) ด้านหนึ่งฉายภาพลำดับขั้นของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีญี่ปุ่นเป็นแม่แบบ
อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนถึงความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างที่ประเทศแม่แบบ ได้สร้างผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจโลกมาแล้ว
ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้น มีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เป็นพลังขับเคลื่อนหลักกลุ่มธุรกิจเหล่านี้เรียกกันในภาษาเกาหลีใต้ว่า
CHAEBOL ซึ่งหมายถึงกลุ่มธุรกิจที่มีบริษัทอยู่ในเครือข่ายหลายๆ บริษัท มีกิจการที่ครอบคลุมและคาบเกี่ยวอยู่ในหลายๆ
อุตสาหกรรม
เกาหลีใต้มี CHAEBOL อยู่ด้วยกันสามสิบกลุ่ม รวมทั้งสี่ยักษ์ใหญ่ซึ่งติดกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลกคือ
ซัมซุง ฮุนได ลัคกี้-โกลด์สตาร์ และแดวู
กลุ่มลัคกี้-โกลด์สตาร์นั้นจัดเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สามของเกาหลีใต้
รองลงมาจากซัมซุง และฮุนได
จากการจัดอันดับ 100 กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของโลกนอกสหรัฐอเมริกา
โดยใช้ยอดขายเป็นเกณฑ์ของนิตยสารฟอร์จูน เมื่อปี พ.ศ. 2529 ลัคกี้-โกลด์สตาร์อยู่ในอันดับที่
37 ด้วยยอดขาด 11.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ยอดขายจำนวนนี้เท่ากับ 12 เปอร์เซนต์ของมูลค่า GNP ของเกาหลีใต้ เป็นรายได้จากการส่งออกเพียงอย่างเดียว
4.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับ 12.1 เปอร์เซนต์ของยอดส่งออกรวมทั้งประเทศในปี
2529
ลัคกี้-โกลด์สตาร์มีบริษัทในเครือ 29 แห่ง มีบริษัทสาขาทั้งที่เป็นการลงทุนเอง
และเป็นบริษัทร่วมทุนกระจายอยู่ในเมืองใหญ่ๆ 37 แห่งทั่วโลก
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 40 ปีจากจุดเริ่มต้นในปี 2490 ในกิจการผลิตเครื่องสำอางเล็กๆ
แห่งหนึ่งขยายเข้าไปสู่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์เพื่อใช้ในระบบอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์
กิจการทั้งหมดของลัคกี้แตกแขนงออกเป็นสี่กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และทรัพยากรธรรมชาติที่รวมเอาโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานถลุงเหล็กเอาไว้ด้วย
กลุ่มที่สองคือ อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์
กลุ่มที่สามเป็นเครือข่ายทางด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งมีทั้งบริษัทหลักทรัพย์
ประกันภัย บริษัทไฟแนนซ์และการลงทุน และกิจการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
กลุ่มสุดท้ายเป็นบริการสังคมและสาธารณะที่ประกอบไปด้วยมูลนิธิการกุศล บริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการกีฬา
วิทยาลัยที่สอนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาลัยเกษตรกรรม
เฉพาะกลุ่มที่สองซึ่งผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องมือ อุปกรณ์ทางอิเล็คทรอนิกส์สำหรับระบบหรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
นับเป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด เป็นหัวหอกในการขยายตัวและขยายฐานการลงทุนของกลุ่มลัคกี้ในต่างประเทศ
กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าของลัคกี้นี้มีชื่อเรียกกันเป็นการเฉพาะว่า กลุ่มโกลด์สตาร์
ซึ่งเป็นชื่อและเครื่องหมายการค้าของสินค้าทุกชนิดที่ออกมาจากบริษัทในกลุ่ม
ในจำนวน 12 บริษัทที่ขึ้นต้นเหมือนกันหมดว่า โกลด์สตาร์ แบ่งออกได้เป็นห้ากลุ่มใหญ่ตามประเภทของสินค้าคือ
กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งเป็นผู้ผลิตโทรทัศน์
วิดีโอ เครื่องเสียง เครื่องครัว เครื่องซักผ้า ตลอดจนสินค้าตัวอื่นๆ ที่ใช้ในครัวเรือน
กลุ่มที่สองคือ กลุ่มคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์โทรคมนาคม ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์
รวมทั้งระบบออฟฟิศออโตเมชั่น อุปกรณ์และเครือข่ายในการสื่อสารด้วย
กลุ่มที่สามคือ บริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ทางอิเล็คทรอนิกส์ป้อนให้กับบริษัทในเครือ
กลุ่มที่สี่เรียกกันว่า กลุ่มระบบอุตสาหกรรม ที่คิดค้นและพัฒนาระบบอุปกรณ์
ที่ใช้กับโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ระบบหุ่นยนต์ ระบบการผลิตอัตโนมัติ ระบบควบคุมในโรงงาน
ลิฟต์ บันไดเลื่อนและอุปกรณ์ทางไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มที่ผลิตเฉพาะเซมิคอนดัคเตอร์
สินค้าในกลุ่มแรกคือสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นสินค้าที่ทำให้ตลาดโลกได้รู้จักกับชื่อโกลด์สตาร์เป็นครั้งแรก
ความได้เปรียบทางด้านต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำ ประสบการณ์ที่ยาวนานในอุตสาหกรรมนี้
บวกเข้ากับเทคโนโลยีที่ไม่สลับซับซ้อนเกินกว่าที่จะพัฒนาต่อไปจากต้นแบบ ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อโกลด์สตาร์ขยับเข้าไปยินในตลาดระหว่างประเทศได้อย่างไม่ยากเย็นเกินไปนัก
บริษัทโกลด์สตาร์ (GOLDSTAR CO.,LTD.) คือบริษัทในเครือที่ผลิตและขายสินค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ
เป็นบริษัทแรกในกลุ่มโกลด์สตาร์ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2502 พร้อมๆ กับการเริ่มพัฒนาสินค้าของตนเองขึ้นมา
โกลด์สตาร์นั้นอ้างว่าเป็นผู้ผลิตและพัฒนาสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายๆ ตัวเป็นรายแรกของเกาหลีใต้
ตั้งแต่การผลิตวิทยุเมื่อปี 2502 การทำตู้เย็นในปี 2508 โทรทัศน์เมื่อปี
2509 จนมาถึงไมโครคอมพิวเตอร์เมื่อหกปีที่แล้ว
และบริษัทโกลด์สตาร์ก็คือกลไกของกลุ่มโกลด์สตาร์ในการออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ
แรงผลักดันที่สำคัญที่สุดที่ทำให้โกลด์สตาร์หันไปให้ความสนใจตลาดต่างประเทศก็คือ
การแข่งขันภายในประเทศ เกาหลีใต้นั้นมีผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่อีกสองรายที่มีขีดความสามารถและขนาดที่ไม่ด้อยไปกว่าโกลด์สตาร์เลย
สองรายที่ว่านี้ก็คือ ซัมซุง อิเล็คทรอนิกส์ และแดวู อิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งเข้ามาทำให้การแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น
ในขณะที่การขยายตัวของตลาดมีขีดจำกัด
ฐานะผู้นำทางการตลาดที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดเอาไว้มากที่สุดมาตั้งแต่ต้นของโกลด์สตาร์
เริ่มถูกท้าทายจากความแข็งแกร่งของคู่แข่งทั้งสองราย
การมองออกไปให้ไกลกว่าคาบสมุทรเกาหลีเพื่อหาตลาดใหม่ๆ จึงเป็นความจำเป็นเพื่อการอยู่รอดของตนเอง
ตลาดใหญ่ของเครื่องใช้ไฟฟ้าจากเกาหลีก็คือ สหรัฐอเมริกา ถึงแม้จะมีญี่ปุ่นเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่แล้ว
แต่ขนาดของตลาดที่ใหญ่มาก และมาตรฐานการครองชีพที่สูงมากพอต่อการทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ใช่สินค้าที่แพงเกินไปต่อการซื้อหามาไว้ใช้ประจำบ้าน
ที่ว่างในตลาดจึงยังพอมีอยู่สำหรับสินค้าของโกลด์สตาร์
ข้อได้เปรียบของเครื่องใช้ไฟฟ้าเกาหลีคือ ต้นทุนที่ต่ำกว่า เพราะค่าแรงถูก
และที่สำคัญก็คือ ค่าเงินวอนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มีค่าลดลงอย่างต่อเนื่องถึง
60% ในช่วงปี 2513 ถึง 2529 ซึ่งทำให้สินค้าจากเกาหลีมีราคาถูกลงมาก
ปี พ.ศ.2521 บริษัทโกลด์สตาร์ตั้งบริษัทสาขาต่างประเทศของตนขึ้นเป็นแห่งแรกในสหรัฐฯ
ในชื่อว่า GOLDSTAR ELECTRONICS INTERNATIONAL INC. ทำหน้าที่ทางด้านการตลาดให้กับสินค้าของโกลด์สตาร์ในอเมริกา
และในปีเดียวกันนี้โกลด์สตาร์เป็นบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งแรกจากเกาหลีใต้ที่มียอดส่งออกมากกว่า
100 ล้านเหรียญสหรัฐ
ยุทธศาสตร์การลงทุนของโกลด์สตาร์ในต่างประเทศมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในอีกสี่ปีให้หลัง
เมื่อบริษัทโกลด์สตาร์ไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตโทรทัศน์สีและเตาไมโครเวฟ ที่รัฐอลาบามาเมื่อปี
2525
โรงงานแห่งนี้มีชื่อว่า GOLDSTAR AMERICA เป็นโรงงานแห่งแรกของเกาหลีใต้ที่ตั้งอยู่นอกประเทศ
และเป็นการลงทุนทั้งหมดด้วยทุนของโกลด์สตาร์เอง
เหตุผลสำคัญในการลงทุนตั้งโรงงานนี้ขึ้น ก็เพราะโกลด์สตาร์ต้องประสบกับปัญหาค่าขนส่งสินค้าของตนจากเกาหลีใต้มายังอเมริกาที่สูงมาและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ความหวั่นเกรงว่าความได้เปรียบด้านราคาอันเป็นจุดแข็งของตนกำลังจะสูญเสียไป
และความมั่นใจในตลาดว่ามีส่วนแบ่งมากพอที่จะตั้งโรงงานผลิตขึ้นเองได้ จึงเป็นแรงผลักดันของการลงทุนครั้งนี้
ในขณะเดียวกันคุณภาพของสินค้าก็เป็นจุดชี้ขาดความแพ้ชนะที่สำคัญในการแข่งขันด้วยเช่นกัน
การตั้งโรงงานในอเมริกาเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาแหล่งผลิตชิ้นส่วนและแรงงานที่มีคุณภาพเพื่อยกระดับสินค้าของตัวเองให้ได้มาตรฐาน
ด้วยกำลังการผลิตโทรทัศน์สีหนึ่งล้านเครื่องและเตาไมโครเวฟห้าแสนเครื่องต่อปี
GOLDSTAR AMERICA มีความสำคัญต่อโกลด์สตาร์ในการเป็นฐานการผลิตสำหรับตลาดในสหรัฐฯ
แคนาดา รวมทั้งกลุ่มประเทศในอเมริกากลางและอเมริกาใต้
การเกิดขึ้นของ GOLDSTAR AMERICA จึงเป็นไปเพื่อการรักษาและขยายตลาดของโกลด์สตาร์ในทวีปอเมริกาเป็นสำคัญ
เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของฐานการผลิตนอกประเทศแห่งที่สองของโกลด์สตาร์คือ
GOLDSTAR EUROPE ในเยอรมนีตะวันตก ซึ่งเพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อปี 2529 เป็นโรงงานผลิตโทรทัศน์สีและวิดีโอสำหรับตลาดของโกลด์สตาร์ในยุโรป
มีกำลังการผลิตโทรทัศน์สีปีละ 300,000 เครื่อง และวิดีโอปีละ 400,000 เครื่อง
การเกิดขึ้นของ GOLDSTAR EUROPE มีปัจจัยที่เร่งเร้าขึ้นมาอีกประการหนึ่งคือ
ความรุนแรงของการกีดกันทางการค้าจากลุ่มประชาคมยุโรป
โรงงานนอกประเทศแห่งที่สามที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างตอนนี้ตั้งอยู่ที่ตุรกี
เป็นการร่วมทุนกับ VESTEL ซึ่งเป็นผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของตุรกี
โรงงานใหม่นี้ใช้เป็นที่ผลิตเตาไมโครเวฟปีละ 200,000 เครื่องเพื่อขายในตลาดยุโรป
ทางออกสำหรับปัญหาการกีกันทางการค้าของโกลด์สตาร์นอกเหนือไปจากการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศแล้ว
อีกวิธีหนึ่งก็คือหันไปเล่นกับสินค้าที่เป็นไฮเทคมากยิ่งขึ้นและขยายไปสู่อุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติ
(OFFICE AUTOMATION) กับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการโทรคมนาคมมากยิ่งขึ้น
บริษัทโกลด์สตาร์มีศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ในต่างประเทศสองแห่งคือ
ที่โตเกียวและซิลิคอน แวลเล่ย์ ที่แคลิฟอร์เนีย นอกเหนือไปจากห้องทดลองและศูนย์วิจัยในประเทศอีกเกือบยี่สิบแห่ง
งบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาในแต่ละปีนั้นมีจำนวนสูงถึง 480 ล้านเหรียญ
มีนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอกรวมกัน 3,000 คน
ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและการถ่ายทอด เทคโนโลยีมาจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่
โกลด์สตาร์ได้เทคโนโลยีทางด้านโทรทัศน์สีจาก RCA ของสหรัฐฯ เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์จาก
HONEYWELL INFORMATION SYSTEMS ของสหรัฐฯ และ SORD ของญี่ปุ่น เทคโนโลยีด้านเครื่องวิดีโอจาก
RCA และ JVC และเทคโนโลยีด้านเตาไมโครเวฟจาก DESIGN & MANUFACTURING
CORP แห่งสหรัฐฯ
ปัจจุบันบริษัทโกลด์สตาร์เป็นบริษัทมหาชน โดยเข้าตลาดหลักทรัพย์เกาหลีเมื่อเดือนเมษายน
2513 มีทุนจดทะเบียนหนึ่งพันล้านวอน และแบ่งออกเป็น 200 ล้านหุ้น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ
ธนาคารแห่งโซล 9% บริษัทหลักทรัพย์ของลัคกี้ โกลด์สตาร์ 8% บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ
หรือ IFC 7.7% และบริษัทลัคกี้ 6.8%
ลัคกี้โกลด์สตาร์นั้นคุ้นหูคุ้นตาคนไทยมาตั้งแต่ปี 2529 แล้ว หากแต่ไม่ใช่ในแง่ของธุรกิจ
กลับเป็นเรื่องของกีฬาลูกกลมๆ ที่บริษัทลัคกี้-โกลด์สตาร์ สปอร์ต บริษัทในเครือของลัคกี้ว่าจ้างเทพบุตรแข้งทอง
ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ไปเตะฟุตบอลให้กับทีมลัคกี้โกลด์สตาร์
ถ้าจะว่ากันอย่างข้างๆ คูๆ เอาสีข้างเข้าถูว่านี่คือการลงทุน ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่การลงทุนในเมืองไทยเป็นครั้งแรกของโกลด์สตาร์
การลงทุนครั้งแรกนั้นมีขึ้นเมื่อปี 2522 เป็นการลงทุนของ GOLD STAR INSTRUMENT
& ELECTRIC หรือ GSI ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มสินค้าที่ใช้กับระบบอุตสาหกรรม
ผู้ผลิตและติดตั้งอุปกรณ์ อิเล็คทรอนิกส์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
GSI แต่เดิมรวมอยู่กับ GOLDSTAR TELECOMMUCATION จนถึงปี 2517 มีการร่วมทุนกับบริษัทฟูจิอิเล็คทริคของญี่ปุ่น
แยกตัวออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่
การลงทุนในครั้งนั้นเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มมหาจักร ซึ่งเป็นผู้ผลิตสกรูและนอตรายใหญ่ในประเทศ
และเป็นตัวแทนจำหน่ายแอร์มิตซูบิชิกับเครื่องเสียงเจวีซี
GSI เดิมคือซัพพลายเอร์มิเตอร์ไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาคของไทยเป็นเวลาหลายปี
เนื่องจากเมืองไทยยังไม่มีความสามารถที่จะทำมิเตอร์ไฟฟ้าขึ้นใช้เอง
"ทางมหาจักรนี่สนิทกับผู้ว่าของไฟฟ้าภูมิภาคคนปัจจุบัน คือ ดร.วีระ
ปิตรชาติ ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นผู้ว่า ดร.วีระแนะนำกับทางเราว่าน่าจะตั้งโรงงานทำมิเตอร์ขึ้นเอง
เพราะว่าแนวโน้มการใช้มิเตอร์จะขยายตัวอย่างแน่นอน เมื่อการไฟฟ้าขยายข่ายการส่งกระแสไฟฟ้าออกไป
ดร.วีระเป็นคนแนะนำเราให้รู้จักกับทางโกลด์สตาร์"
เกรียงศักดิ์ เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา สมุหบัญชีของบริษัทมหาจักรไฟฟ้าสากลคือบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่จากการร่วมทนุในครั้งนี้
เป็นการร่วมกันสามฝ่ายคือ GSI 20% ฟูจิอิเล็คทริคที่ถือหุ้นอยู่ใน GSI ที่เกาหลีอยู่แล้ว
20% ที่เหลืออีก 60% เป็นส่วนของทางกลุ่มมหาจักร
ทุนจดทะเบียนครั้งแรก 21 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 42 ล้านบาทในปัจจุบัน
โดยที่สัดส่วนการถือหุ้นของทั้งสามฝ่ายยังคงเดิม มีโรงงานอยู่ที่นวนคร เงินลงทุนครั้งแรกในการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรประมาณ
20 ล้านบาท
"เราเข้ามาเพราะเห็นว่าค่าแรงของไทยถูกกว่าที่เกาหลี และต้องการเปิดตลาดใหม่"
KEUN YOUNG KIM ผู้จัดการฝ่ายบัญชีของมหาจักรไฟฟ้าสากล ซึ่งเป็นคนของ GSI
กล่าวถึงแรงจูงใจในครั้งนั้น
ตลาดใหม่ที่ว่านี้จริงๆ แล้วก็คือลูกค้าเดิมของ GSI นั่นเอง เพียงแต่เปลี่ยนจากที่เคยส่งเข้ามาขายโดยตรง
มาเป็นการร่วมลงทุนผลิตในประเทศเท่านั้น
กำลังการผลิตของมหาจักรไฟฟ้าสากลในขณะนี้คือ 300,000 เครื่องต่อปี ส่วนใหญ่เป็นมิเตอร์ผลิตตามคำสั่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ซึ่งเปิดประมูลปีต่อปี เป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศทั้งหมด
ทาง GSI ส่งช่างเทคนิคเข้ามาช่วยติดต่อเครื่องจักรและถ่ายทอดเทคนิคการผลิตให้กับช่างคนไทยในระยะแรกเท่านั้น
เพราะเป็นสินค้าที่คนไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการผลิตมาก่อนเลยในระยะนั้น
รวมทั้งวัตถุดิบก็ต้องสั่งเข้ามาจาก GSI เกือบทั้งหมด
"ตอนนี้เราทำเองทั้งหมด วัตถุดิบที่ต้องสั่งเข้ามาก็มีไม่ถึง 5% ของชิ้นส่วนทั้งหมดที่ต้องใช้"
ทุกวันนี้ทางเกาหลีส่งตัวแทนมาดูแลทางด้านการเงินเพียงคนเดียว มีตัวแทนจากฟูจิอิเล็คทริคมานั่งเป็นรองประธานอยู่อีกคนหนึ่ง
การบริหารทั้งหมดจึงอยู่ในความรับผิดชอบของคนไทยโดยตรง
การลงทุนครั้งที่สองของโกลด์สตาร์ในเมืองไทยทอดระยะห่างจากครั้งแรกถึงเกือบสิบปี
เครือข่ายของโกลด์สตาร์ที่เข้ามาในครั้งนี้ก็คือบริษัทโกลด์สตาร์นั่นเอง
โดยเข้ามาร่วมทุนในการตั้งโรงงานประกอบวิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องซักผ้ายี่ห้อโกลด์สตาร์
เมืองไทยนั้นไม่ใช่ตลาดใหม่สำหรับโทรทัศน์เกาหลี ความจริงาแล้วบริษัทโกลด์สตาร์ส่งโทรทัศน์ทั้งขาวและสีเข้ามาขายในเมืองไทยเป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีที่แล้ว
โดยผ่านทางบริษัทบรรจงมิตรของ วิษณุ ลิ่มวิบูลย์
วิษณุมีพื้นเพมาจากกิจการขายอะไหล่รถยนต์มาก่อนในชื่อบริษัทมิตเตอร์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากร้านอะไหล่แถววรจักรของพ่อชื่อมิตรเจริญกลการ
"เมื่อสิบปีที่แล้วทางศูนย์การค้าเกาหลีในเมืองไทยชวนผมไปเที่ยวที่นั่น
โดยจัดเป็นคณะไปเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรม เราได้ไปดูโรงงานของโกลด์สตาร์ด้วย
ผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ของเขาถึงความเป็นไปได้ที่จะสั่งสินค้าโกลด์สตาร์เข้ามาขายในไทย"
วิษณุเท้าความถึงจุดเริ่มแรกในการจับมือกับโกลด์สตาร์ ตัวเขาเองนั้นเห็นว่า
ทางโกลด์สตาร์น่าจะมีศักยภาพในตลาดบ้าน จึงตกลงใจสั่งเข้ามา
"เริ่มด้วยทีวี.ขาวดำก่อน ตอนนั้นคุณภาพยังไม่ดีนัก เสียงก็ยังไม่มีต้องเอามาปรับมาแก้ไขกันเล็กน้อย
แต่ว่าถูกกว่าญี่ปุ่น ขายได้กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง จนเข้าปีที่ห้า รัฐบาลประกาศลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนทีวี.
และห้ามนำเข้าตู้ทีวี. เราก็เลยต้องสร้างโรงงานประกอบขึ้นมาเอง"
โรงงานที่ตั้งขึ้นก็คือบรรจงมิตร ประกอบทั้งวิทยุและโทรทัศน์ โดยสั่งชิ้นส่วนเกือบทั้งหมดมาจากโกลด์สตาร์
แต่การประกอบเป็นฝีมือของวิศวกรและนายช่างของบรรจงมิตรเอง
สินค้าโกลด์สตาร์ทั้งที่สั่งเข้ามาในตอนแรก และที่ประกอบในไทย ในตอนหลังเปลี่ยนยี่ห้อเป็นวีสตาร์
เพราะชื่อโกลด์สตาร์นั้นมีบริษัทตัวแทนจำหน่ายวิทยุ โทรทัศน์จากยุโรปแห่งหนึ่งจดทะเบียนชื่อนี้ไว้ก่อนแล้ว
จนเมื่อต้นปีนี้ทางบริษัทโกลด์สตาร์ไปเจรจาขอใช้ชื่อนี้กับบริษัทดังกล่าวได้สำเร็จ
สิบปีของโกลด์สตาร์ในเมืองไทยนั้น ถึงแม้ส่วนแบ่งการตลาดที่มีอยู่ในมือจะเป็นแค่
2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่สำหรับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกยึดครองไว้อย่างเหนียวแน่นโดยสินค้าญี่ปุ่น
ส่วนแบ่งตลาดแค่นี้ก็คือว่าเก่งพอตัว
ตลาดของโทรทัศน์โกลด์สตาร์ส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างจังหวัด อาศัยราคาที่ถูกกว่าญี่ปุ่นประมาณ
15% เป็นช่องแทรกตัวเข้าไป
เกาหลีใต้นั้นก็เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาหลายๆ อย่างในการส่งออกสินค้าของคนในช่วงสองถึงสามปีมานี้
ปัญหาแรกคือค่าเงินวอนที่สูงขึ้นตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา รัฐบาลเกาหลีใต้จำเป็นต้องปรับค่าเงินวอนให้สูงขึ้น
อันเป็นผลจากการถูกบีบจากสหรัฐฯ อัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจาก 881.5 วอนต่อหนึ่งดอลลาร์ในปี
2529 เป็น 793.5 วอนต่อหนึ่งดอลลาร์ในธันวาคม 2530 และเพิ่มขึ้นเป็น 728.70
วอนต่อหนึ่งดอลลาร์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ในเวลาเพียงปีกว่าๆ ค่าเงินวอนเพิ่มขึ้นถึง 21% ค่าเงินวอนซึ่งครั้งหนึ่งเป็นตัวทำให้การส่งออกของเกาหลีไปได้สวย
กำลังจะกลายเป็นสิ่งที่สร้างความยุ่งยากเพราะทำให้สินค้าจากเกาหลีมีราคาแพงขึ้น
ปัญหาประการต่อมาคือ ค่าแรงภายในประเทศที่สูงขึ้นถึงเกือบสี่สิบเปอร์เซ็นต์ตามมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ดีกินดีขึ้น
ตามความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ
ปัญหาประการสุดท้ายคือ การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่รุนแรงขึ้นทุกวัน
การลงทุนในต่างประเทศจึงเป็นทางออกที่ดีของปัญหาข้างต้นทั้งสามประการ
กล่าวเฉพาะตลาดเมืองไทย จุดมุ่งหมายที่สำคัญยังคงอยู่ที่ตลาดภายในมากกว่าการใช้เป็นฐานในการส่งออก
ข้อได้เปรียบทางด้านราคาที่โกลด์สตาร์เคยใช้เป็นจุดแข็งในการสู้กับสินค้าญี่ปุ่นกำลังจะหมดไป
เมื่อค่าเงินวอนของเกาหลีได้เริ่มแข็งตัวขึ้น ชิ้นส่วนที่เคยสั่งเข้ามาจากเกาหลีก็ย่อมจะสูงเป็นเงาตามตัวไปด้วย
โครงการผลิตหลอดภาพโทรทัศน์ของบริษัทไทยซี อาร์ ที และโครงการผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ
เป็นสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของโกลด์สตาร์อีกส่วนหนึ่ง
เพราะเมื่อโครงการเหล่านี้เสร็จสิ้นลง แน่นอนว่าผู้ประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเราจะต้องหันมาใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ
ความแตกต่างทางด้านราคาของชิ้นส่วนก็จะไม่มีผลต่อการแข่งขันในตลาดอีกต่อไป
"โกลด์สตาร์เข้ามาในช่วงนี้ เป้าหมายสำคัญที่สุดก็คือขยายตลาดในไทย
และที่ต้องรีบเข้ามาก็เพื่อยึดหัวหาด สร้างชื่อโกลด์สตาร์ในติดตลาดไว้ก่อนที่ความได้เปรียบในเรื่องราคาจะหมดไป"
บริษัทโกลด์สตาร์เข้ามาร่วมทุนกับบรรจงมิตรตั้งบริษัทขึ้นใหม่ชื่อโกลด์สตาร์อิเล็คโทรนิกส์
(ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อประกอบโทรทัศน์สี วิทยุ และเครื่องซักผ้า มีโรงงานอยู่กระทุ่มแบน
สมุทรสาคร ทุนจดทะเบียนของบริษัทร่วมทุนนี้มีจำนวน 50 ล้านบาท เป็นสัดส่วนของบรรจงมิตร
51% และของโกลด์สตาร์ 49%
เงินลงทุนสร้างโรงงานทั้งหมดนั้นคือ 220 ล้านบาท อีก 150 ล้านบาท ที่นอกเหนือไปจากเงินทุนจดทะเบียนนั้นเป็นเงินกู้จากแบงก์กรุงเทพ
ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงานซึ่งจะใช้ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติทั้งหมดและจะเสร็จสิ้นประมาณสิ้นปีนี้
มีกำลังการผลิตโทรทัศน์ปีละหนึ่งแสนเครื่อง วิทยุปีละสามหมื่นเครื่อง และเครื่องซักผ้าปีละหนึ่งหมื่นเครื่อง
โกลด์สตาร์ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในสามปีส่วนแบ่งตลาดของตนน่าจะมีโอกาสเขยิบขึ้นไปถึง
10%
ตลาดต่างประเทศนั้นคงเป็นเรื่องที่โกลด์สตาร์มุ่งหวังอยู่ด้วยเหมือนกัน
เพราะดูจากกำลังการผลิต โดยเฉพาะโทรทัศน์แล้ว การจะเข้าแย่งตลาดกับญี่ปุ่นเพื่อให้รองรับสินค้าได้ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
อย่างแน่นอน
"กำลังการผลิตส่วนที่เหลือจะส่งออก โดยทางโกลด์สตาร์จะช่วยเหลือในเรื่องตลาดต่างประเทศ
ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ยุโรปและอเมริกา" วิษณุเปิดเผย
โรงงานที่สหรัฐฯ และเยอรมนีนั้นกำลังมีปัญหา เพราะค่าแรงแพงและต้องใช้ชิ้นส่วนในประเทศ
โดยเฉพาะหลอดภาพของสหรัฐฯ นั้นมีราคาแพงมาก
"ทางบริษัทแม่ที่เกาหลียังต้องจ่ายเงินอุดหนุนอยู่"
โกลด์สตาร์ในไทยจึงอาจจะเป็นทางออกหากทั้งสองโรงงานดังกล่าวมีปัญหามากเกินกว่าจะแก้ไข
แต่เมื่อลงทุนกันขนาดใหญ่แล้ว โกลด์สตาร์เองคงไม่ปล่อยให้ GOLDSTAR AMERICA
กับ GOLDSTAR EUROPE ต้องถอยกลับประเทศไปอย่างง่ายๆ
เป้าหมายของโกลด์สตาร์ไทยแลนด์ตอนนี้จึงยังคงเป็นตลาดภายในมากกว่า เหมือนๆ
กับการลงทุนของ GSI ร่วมกับกลุ่มมหาจักรเมื่อสิบปีที่แล้ว
จะต่างกันก็เพียงแต่การเข้ามาของ GSI ในครั้งนั้น ทำให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
ในขณะที่การเข้ามาของโกลด์สตาร์ไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งลงหลักปักฐานแล้วจากการเข้ามาของญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
เป็นเพียงการประกอบชิ้นส่วนธรรมดาๆ เท่านั้น !!
เปรียบเทียบกับญี่ปุ่นแล้ว การมาของโกลด์สตาร์ในครั้งนี้ก็เหมือนก้าวแรกของนักลงทุนจากแดนอาทิตย์อุทัยเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการลงทุนที่เป็นการร่วมทุนกับตัวแทนคู่ค้าเก่า ขนาดของการลงทุนที่ต่ำมากและลักษณะของอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุน
แต่จะขยับขยายตัวเฉกเช่นธุรกิจชาวอาทิตย์อุทัยหรือไม่นั้น ก็คงจะเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป