Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2531
โซลเวย์ "ผู้แปลกหน้า" รายนี้ มาดีหรือมาร้าย!?             
 


   
www resources

SOLVAY Homepage

   
search resources

Chemicals and Plastics
โซลเวย์ (SOLVAY)




ความยิ่งใหญ่ของโซลเวย์สำหรับยุโรปตะวันตกและหลายๆ ประเทศทั่วโลกแล้ว เป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัด แต่สำหรับประเทศไทยโซลเวย์เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังแปลกหน้าอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็คงไม่ใช่ประเด็นสาระสำคัญ เพราะสำคัญกว่านั้นก็คือการเข้ามาตั้งหลักปักฐานในไทยของโซลเวย์นั้นต่างฝ่ายต่างจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง??

โครงการปิโตรเคมีระยะที่หนึ่งที่มาบตาพุดกำลังดำเนินการอย่างรีบเร่ง เพื่อให้ทันตามกำหนดการที่วางไว้ ถึงแม้ความเกี่ยวเนื่องกับโครงการปิโตรเคมีระยะที่สองในแง่ของการผลิตจะมีไม่มากนัก หากนั่นก็คงจะทำให้หลายคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวอยางใจจดใจจ่อ รวมทั้งผู้ร่วมลงทุนทั้งหลายสบายใจว่า โครงการปิโตรเคมีระยะที่สองจะไม่กระทบกระเทือนหรือหยุดชะงับไปจากความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการระยะที่หนึ่ง

ในระหว่างการพิจารณาสรรหาผู้เหมาะสมที่จะมาลงทุน เพื่อให้ประโยชน์แก่ประชาชนในชาติสูงสุด มิให้เป็นการ "ผูกขาด" ของกลุ่มทุนใดเพียงกลุ่มเดียวของโครงการปิโตรเคมีระยะที่สองที่ผ่านมา

ชื่อของกลุ่มทุนหลายกลุ่มเป็นที่คุ้นหูคุ้นตามิใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติศิริ โสภณพานิช ลูกชาย "บิ๊กบอส" ชาตรีที่ขอรับการส่งเสริมทำ PE ยักษ์ใหญ่อย่างทีพีไอ กับอภิพร ภาษวัธน์จากปูนซิเมนต์ไทยที่ขอทำ PP

หรือไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ เช่น PS, PTA, LAB ฯลฯ ก็มีเสือสิงห์กระทิงแรดต่างพากันยื่นขาข้างหนึ่งเข้ามาด้วยหวังจะมีส่วน "เอี่ยว" แม้เพียงเล็กน้อยกับตลาดมูลค่านับแสนล้านบาทนี้

ผู้สังเกตการณ์รอบข้างรู้สึกเมามันและคาดการณ์ไปต่างๆ นานาว่าใครกันแน่ที่จะได้รับการส่งเสริม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พีวีซี ดูเหมือนจะเฝ้าจับตามองกันมาก

เพราะที่นี่… มีทั้งกลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง เชิดชู โสภณพนิช พิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ จากกลุ่มสับปะรดกระป๋องไทยที่ขนเอาเทคโนโลยีจากไต้หวันมาพร้อมจะลงสนามเต็มที่

และมีทั้งพิพัฒน์ สงวนปิยะพันธ์แห่งกลุ่มง่วนเอี้ยวฮวดเทรดดิ้ง จับมือกับเธียร เฟื่องฟูสกุลแห่งโกลด์สปอตที่ควงแขน MARUBENI ญี่ปุ่นและ HELM ของเยอรมนีมาร่วมลุยด้วย

แต่… ผู้ได้รับการส่งเสริมกลับเป็นกลุ่ม "โซลเวย์" จากเบลเยียม ที่มีไม่กี่คนในเมืองไทยรู้จัก

โซลเวย์เป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร ความยิ่งใหญ่ของโซลเวย์นั้นอยู่ในระดับใด เหตุใดจึงสามารถเอาชนะการแข่งขันระดับชาติที่ทราบกันดีอยู่ว่า คนไทยมักใช้ยุทธวิธีระดับท้องถิ่น ด้วยการล็อบบี้บ้าง ใช้สายสัมพันธ์ต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการตลาดมาครั้งแล้วครั้งเล่า "ไม้ตาย" ที่โซลเวย์กำอยู่ในมือจะเป็นเช่นดั่งบรรดาพวกที่กล่าวมาทั้งหลายนั้นล่ะหรือ???

ประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของโซลเวย์นั้นเริ่มต้นเมื่อเออร์เนสต์ โซลเวย์ ชาวเบลเยียมผู้ก่อตั้งบริษัทโซลเวย์ ค้นพบวิธีการใหม่และปฏิวัติกระบวนการผลิตโซดา-แอช และตั้งเป็นบริษัทขึ้นในปี 1863

เออร์เนสต์ โซลเวย์ สร้างโรงงานเล็กๆ ขึ้นที่ COUILLET ในเบลเยียมในปี 1865 เริ่มแรกนั้นเขายังไม่สามารถดำเนินงานได้ทันที เนื่องจากมีปัญหาและความยุ่งยากเกี่ยวกับเทคโนโลยีหลายประการ แต่เขาก็ฟันฝ่าอุปสรรคนานา ดำเนินการผลิตได้ในปีต่อมา (1866)

วิวัฒนาการของผลิตภัณฑ์ที่โซลเวย์คิดค้นขึ้นเริ่มจากโซดา-แอชในปี 1863 เขาเป็นคนแรกที่ค้นพบ ELECTROLYSIS ที่ได้มาจากเกลือในยี่สิบกว่าปีต่อมา จากนั้นโซลเวย์ก็เริ่มขยายตัวอย่างก้าวร้าวด้วยการก้าวเข้าไปสู่อุตสาหกรรมพลาสติก ผลิตพีวีซีและสู่ผลิตภัณฑ์ในการรักษาสุขภาพของมนุษยชาติในปี 1953

ด้วยความเป็นอัจฉริยะของเขากับอัล เฟรด โซลเวย์ผู้น้องและครอบครัวของเพื่อนๆ บริษัทโซลเวย์ขยายตัวไปอย่างรวดเร็วมาก เพียงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไม่นาน โซลเวย์ตั้งสาขาขึ้นใน 13 ประเทศ รวมทั้งในอเมริกาและสหภาพโซเวียต

พัฒนาการที่สำคัญของโซลเวย์ขยายจากโซดา-แอช โซดาไฟ คลอรีน ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นอีกมากมาย ในสาขาพลาสติก เช่น พีวีซี พีพี พีอี สาขาผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีนสำหรับรักษาคนและสัตว์ และที่หลายคนคาดไม่ถึงคือ โซลเวย์ยังเป็นยอดฝีมือทางด้าน HOME DECORATION, BUILDING INDUSTRY รวมไปถึงชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้พลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิต และเป็นผู้ผลิตชั้นแนวหน้าในตลาดยุโรปทีเดียวเชียว

ปัจจุบันโซลเวย์มีสาขากว่า 290 แห่งใน 32 ประเทศ มีการจ้างงานกว่า 45,000 คน และในจำนวนนี้โซลเวย์ใหความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาและวิจัย ซึ่งพวกเขามีนักวิจัยที่ทำหน้าที่ค้นคว้าเพื่อความก้าวหน้าให้แก่โซลเวย์ถึงกว่า 3,000 คน (สาขาต่างๆ, ยอดขาย, กำไรและการขยายตัวของบริษัทในกลุ่มโซลเวย์แสดงไว้ในตาราง)

โซลเวย์มิได้แตกต่างจากบริษัทธุรกิจข้ามชาติอื่นที่ต้องมีทั้งประวัติศาสตร์แห่งความรุ่งโรจน์โชติช่วง และตำนานในด้านของความล้มเหลาหรือเรียกว่า "ล้มลุกคลุกคลาน" ด้วยเหมือนกัน

แต่ก็น่าแปลกที่ว่าความล้มเหลวที่ว่า ในอีกด้านหนึ่งแล้วกลับแสดงให้เห็นความแข็งแกร่งของโซลเวย์เด่นชัดที่สุด!?!

ยี่สิบห้าปีหลังที่ผ่านมาของโซลเวย์ (1963-1988) โซลเวย์มิได้แตกต่างจากบริษัทอื่นในยุโรป พวกเขาต้องเผชิญมรสุมที่รุมเร้าเข้ามาหลายด้าน เช่น วิกฤติการณ์ด้านน้ำมันในปี 1973 และในปี 1979 เกือบช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ชาวยุโรปต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อและการว่างงาน ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลก ความเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศที่เลวร้ายของยุโรปที่ยากแก่การคาดเดา

ปัญหามากมายเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามที่ว่า โซลเวย์ผ่านพ้นปัญหาเหล่านี้มาได้อย่างไร โดยมิได้บาดเจ็บบอบช้ำมากมายเช่นกับบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ

วิธีการของโซลเวย์ในช่วงเวลาดังกล่าวมีอย่างน้อยสามวิธีด้วยกัน

เริ่มต้นจากปัญหาความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ วิธีการง่ายๆ ก็คือการ "เคลื่อนย้าย" มูลค่าการลงทุนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งลดความรุนแรงของปัญหาไปได้อย่างมาก

"อีกสองวิธีที่เราใช้เสมอก็คือ เปลี่ยนแปลงสินค้าต่างๆ ในประเทศหนึ่งๆ ให้เหมาะกับความต้องการของตลาด โดยใช้วิทยากรที่ก้าวหน้าเขามาเป็นตัวหนุนเสริม และประการสุดท้ายทำให้บริษัทเป็นอิสระจากความต้องการวัตถุดิบในการผลิต หรือพูดง่ายๆ คือไม่ให้บริษัทมีปัญหาเกิดขึ้น หากขาดแคลนวัตถุดิบ หรือเมื่อวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น" วิลลี่ ลาลองด์ บอก "ผู้จัดการ"

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สินค้าที่ทำรายได้มหาศาลมานานปีให้กับโซลเวย์คือ "แก้ว" ในช่วงหนึ่งนั้นโซลเวย์มีปัญหาอย่างมากกับปัญหาพื้นๆ ที่เราท่านต่างทราบดี นั่นคือ "แก้วแตก" หรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นง่ายมากๆ ของแก้วไม่ว่าจะมีคุณภาพหรือปริมาณมากน้อยแค่ไหน

ซึ่งตัวเลขความเสียหายเหล่านี้นับวันก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเสียด้วย

การแก้ไขปัญหาของโซลเวย์ในเรื่องนี้ ก็โดยเปลี่ยนจากการใช้โซดา-แอช ที่ใช้ในการผลิตแก้ว หันมาใช้พีวีซีแทน ผลก็คือนอกจากจะลดต้นทุนในการผลิต เพราะพีวีซีถูกกว่าแล้ว ยังลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นตลอดมาได้อีกด้วย และทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในทางอ้อมด้วยอีกทางหนึ่ง

"กลยุทธ์" ทางธุรกิจที่โซลเวย์ใช้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานสามประการ

หนึ่ง - โซลเวย์จะทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามด้วยเทคโนโลยีในการผลิตที่ต้องก้าวล้ำนำหน้าเหนือผู้อื่นเสมอ สอง - ต้องมั่นใจว่ามีแหล่งวัตถุดิบที่สมบูรณ์สำหรับใช้ในการผลิต และสาม - จะต้องเป็น "ผู้นำ" อันดับหนึ่งในกิจกรรมใดๆ ที่ตนเองเข้าไปทำนั้น โดยมั่นใจได้จากการศึกษาความเป็นไปได้โดยเฉพาะในทางการเงินของผู้เชี่ยวชาญของโซลเวย์

ซึ่งแนวทางนี้เองเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการเพื่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของโซลเวย์

การที่ BARON DANIEL JANSSEN ประธานกรรมการกลุ่มโซลเวย์เดินทางเข้ามาไทย และจัดแถลงข่าวรายละเอียดการลงทุนในโครงการปิโตรเคมีระยะที่สองด้วยเงินประมาณ 8,200 ล้านบาทเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า โซลเวย์กำลังเริ่มโครงการของพวกเขาอย่างจริงจังแล้ว และนั่นอาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับที่จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้ามากกว่าหนึ่งร้อยปีจากบริษัทข้ามชาติแห่งนี้ แม้เพียงส่วนเสี้ยวก็ตาม

สองปีก่อนหน้านี้ (2528-2529) โซลเวย์ส่งผู้เชี่ยวชาญจากบรัสเซลส์เข้ามาจำนวนหนึ่งร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาชาวไทย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนสำหรับโครงการปิโตรเคมีที่พวกเขามีความเชี่ยวชาญ

แน่นอนพวกเขาไม่เพียงพอต้องศึกษา เพื่อให้ทราบถึงแหล่งวัตถุดิบที่จะต้องใช้ในการผลิตในอนาคต ยังต้องมองไปยังความต้องการของตลาดทั้งในและนอกประเทศไทย รวมไปถึงข้อปลีกย่อยเล็กน้อย เช่น ขั้นตอนต่างๆ ในการติดต่อกับระบบราชการไทย ทัศนคติ ค่านิยม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย สิ่งเหล่านี้ถึงแม้จะไม่มีคนให้ความสนใจกับมันไม่มากนัก แต่สำหรับโซลเวย์ พวกเขา "ทำการบ้าน" ไว้มากมาย และเพียงพออย่างยิ่งจริงๆ

ความรอบคอบสุขุมของโซลเวย์พิจารณาได้จากการคัดเลือก PARTNER หรือผู้ร่วมทุนชาวไทย ซึ่งพวกเขาใช้เวลานานเป็นพิเศษ

และไม่ได้หมายความว่า พวกเขาลำบากใจหรือมีปัญหาในการตัดสินใจแม้แต่น้อย!!!

"เราไม่มีปัญหาอะไร เพราะการลงทุนของเราส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต เรามีเทคโนโลยีชั้นสูง มีวิศวกรและผู้มีความสามารถทั้งในด้านการตลาด การเงินจำนวนมาก เราเสียเวลาช่วงนี้ค่อนข้างมากไปกับการค้นหาเอกสารข้อมูลต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในอนาคตของเราให้ดีที่สุดมากกว่า" วิลลี่ ลาลองด์ ตัวแทนของโซลเวย์ในไทยบอกกับ "ผู้จัดการ"

โซลเวย์ในไทยมีหน้าที่ของตนเองที่แน่นอน พวกเขามีหน้าที่ให้ข่าวสารข้อมูลแก่ผู้สนใจกิจกรรมของโซลเวย์ในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโซลเวย์เบลเยียม หรือที่อื่น รวบรวมข้อมูลที่เปลี่ยนแปลง "บ่อยครั้ง" ของเมืองไทย ส่งไปที่สำนักงานใหญ่ที่บรัสเซลส์เพื่อประกอบการวางแผนและตัดสินใจ

พวกเขาทำหน้าที่เป็น "ทัพหน้า" คอยตระเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทางก่อนที่ "ทัพใหญ่" จากเบลเยียมจะเข้ามาเมืองไทยอย่างเต็มตัว เมื่อโครงการปิโตรเคมีระยะที่สองในส่วนของโรงงานของโซลเวย์เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์

การตัดสินใจเขามาลงทุนด้วยเงินจำนวนที่เรียกได้ว่า "มหาศาล" ในเมืองไทยนั้น ออกจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้เรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คนแปลกหน้า" อย่างโซลเวย์

เพราะมีปัจจัยเพียงไม่กี่ข้อที่ทำให้โซลเวย์ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

"เราต้องการลงทุนในประเทศที่มีเสถียรภาพ ประเทศไทยในห้าปีที่ผ่านมามีเสถียรภาพดีมาก ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจประเทศไทย มีบุคลากรที่มีความสามารถ รวมทั้งความต้องการพีวีซีของตลาดเมืองไทยที่สูงขึ้นมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา และยี่สิบปีต่อจากนี้ไป" BARON DANIEL JANSSEN เคยให้สัมภาษณ์ไว้

เมื่อมองดูให้ถ่องแท้แล้วจะพบว่า สิ่งที่ผู้บริหารของโซลเวย์กล่าวมา ในระดับหนึ่งนั้นก็เป็นเพียงแค่ "จิตวิทยา" ที่อาจทำให้เจาของประเทศหลงใหลได้ปลื้มกับคำกล่าวสรรเสริญเยินยอเหล่านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากเสถียรภาพของประเทศไทยที่จัดว่า "มั่นคง" ในสายตาของผู้ลงทุนจากหลายชาติหลายภาษาที่เข้ามาลงทุนแล้ว ปัจจัยอื่นๆ นั้นดูจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานความเป็น "อันดับหนึ่ง" ในอุตสาหกรรมนี้ของโซลเวย์เองเกือบทุกประการ

โซลเวย์มีบุคลากรของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบุคลากรคนไทยมากนัก ขณะเดียวกันสินค้าที่ผลิตก็เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ไม่จำเพาะความต้องการภายใน ประเทศไทย

โซลเวย์เกือบจะไม่ต้องพึ่งพาเจ้าของประเทศเลยในปัจจัยเหล่านี้!?!

ปัญหาที่ผู้บริหารของโซลเวย์ค่อนข้างวิตกกังวล กลับอยู่ที่ความเป็นคนแปลกหน้า เป็นคนต่างถิ่นที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย โดยไม่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกลุ่มทุนใดๆ รวมทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะชี้ความเป็นความตายให้กับโครงการลงทุนระดับหมื่นล้านบาทของพวกเขา

พอจะกลาวได้ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวในระดับหนึ่งนั้นค่อนข้างหวาดเสียวเอามากๆ สำหรับกับโซลเวย์เพราะความไม่แน่นอนของ "อารมณ์" "การตัดสินใจ" รวมทั้ง "ขั้นตอน" ต่างๆ ที่ซับซ้อน (ในความรู้สึกของชาวโซลเวย์) ของผู้ใหญ่ในบ้านเราเมืองเสียมากกว่า

ผู้บริหารระดับสูงในเมืองไทยของโซลเวย์บอก "ผู้จัดการ" ว่า ในวินาทีนี้ โซลเวย์ค่อนข้างพร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า พวกเขาทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนในเมืองไทยมามากกว่าสองปี

โซลเวย์ไม่มีปัญหาในทางการตลาด เพราะเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิตขึ้นนั้น แม้ความต้องการในตลาดเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมากมายเพียงใด หรือลดน้อยอย่างฮวบฮาบแค่ไหน โซลเวย์ก็ยังมีตลาดในต่างประเทศที่ในปัจจุบันนี้ พวกเขาก็ยังไม่สามารถสนองความต้องการได้เพียงพอ

โซลเวย์ไม่มีปัญหาในด้านบุคลากรที่จะมาดำเนินการทั้งในการบริหาร และการผลิต เพราะพวกเขาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มานานจนเป็นลำดับที่ 2 ของบริษัทในสายผลิตภัณฑ์พลาสติกในเบลเยียม บริษัทด้านเคมีภัณฑ์อันดับ 10 ของยุโรป และอันดับ 25 ของโลก มีบริษัทในเครือกระจายอยู่ 32 ประเทศทั่วโลกกว่า 30 แห่ง คงเป็นหลักประกันได้เป็นอย่างดีว่า โซลเวย์มีความพร้อมเพียงใด

แม้ความต้องการคนไทยที่จะเข้าร่วมงานกับโครงการปิโตรเคมีของโซลเวย์ในประเทศไทยจะมีประมาณ 300 คนก็ตาม ในจำนวนนี้จะเป็นวิศวกรชาวไทย ที่โซลเวย์จะส่งไปฝึกฝน ให้ความรู้ในทุกๆ ด้านที่สำคัญ และจำเป็นในการดำเนินงานตามโครงการนี้จะมีเพียงประมาณ 5-10% หรือประมาณ 30 คนก็ตาม แต่นั่นก็เป็นก้าวแรกที่โซลเวย์สนับสนุนและให้ความสำคัญต่อการถ่ายทอดความรู้ความสามารถของพวกเขาแก่ประเทศไทย

การรุกเข้ามาทำธุรกิจของโซลเวย์ในประเทศไทยมิได้หยุดยั้งลงเพียงแค่นี้ เพราะนอกจากโครงการผลิตพีวีซีแล้ว เมื่อไม่นานมานี้โซลเวย์ได้ตั้งบริษัท S.A.H. (SOLVAY ANIMAL HEALTH) ขึ้นในประเทศไทย

S.A.H. เปรียบเสมือนแขนขาที่สำคัญของโซลเวย์ เพราะความเป็นหนึ่งของโซลเวย์ในด้านเคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตวัคซีนที่ใช้สำหรับรักษาโรคของสัตว์ต่างๆ เช่น หมู ไก่ ฯลฯ ที่เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก

รวมทั้งความเป็นไปได้ในการวางแผนที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมรถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ด้วยผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่โซลเวย์ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่คิดค้นเองในยี่สิบห้าปีหลังที่ผ่านมา เข้ามาในประเทศไทยด้วย

ทำให้ก้าวต่อไปของโซลเวย์ในประเทศไทยดูน่าเกรงขามและน่าจับตามองมากๆ

หนึ่งร้อยยี่สิบห้าปีของโซลเวย์จากเบลเยียมได้พิสูจน์ตัวเองให้หลายคนในหลายประเทศทราบดีแล้วว่า พวกเขามีความสามารถมากน้อยแค่ไหนเพียงไร

ปีแรกของโซลเวย์ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ไม่แพ้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในนานาประเทศที่โซลเวย์เข้าไปบุกเบิกทำธุรกิจเช่นเดียวกันเมื่อก่อนหน้านี้

จับตาดูให้ดีเถอะ ไม่แน่ว่าโซลเวย์นี่แหละจะเป็นผู้นำความเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีชั้นสูงให้แก่ประเทศไทย เพราะบทบาทของโซลเวย์คงไม่มีเพียงเท่านี้แน่นอน หากแต่นับวันจะมากขึ้นๆ และเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต???

และเมื่อระยะเวลาผ่านไปสักช่วงหนึ่งแล้ว การพิสูจน์ความจริงใจต่อกันก็คงเริ่มเห็นชัดขึ้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us