Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2531
SEAGATE แผ่นดินนี้เราจอง             
 


   
www resources

Seagate Technology Homepage
โฮมเพจ ซีเกท เทคโนโลยี - Segate

   
search resources

ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย), บจก.
Computer
United States




อุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์ถือกันว่าเป็นอุตสาหกรรมสุดยอดไฮเทคประเภทหนึ่ง ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้ไม่มีใครที่ไม่รู้จักความยิ่งใหญ่ของซีเกท อย่างไรก็ตามการเข้ามาลงทุนในไทยของซีเกท ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เจ้าของประเทศเองไม่ได้รับผลสะเทือนของความยิ่งใหญ่อะไรเลยก็ว่าได้!?!

แทบทุกครั้งที่จักรชัย พานิชพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ BOI ถูกถามถึงผลประโยชน์ ที่ไทยจะได้จากการให้การส่งเสริมการลงทุนบริษัทต่างชาติ ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จะถูกยกเป็นตัวอย่างเสมอ

ทั้งๆ ที่ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) เพิ่งจะมีอายุครบ 5 ปีเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา

เวลาเพียง 5 ปีสำหรับบริษัทอื่นอาจเป็นเพียงช่วงหัดเดิน แต่กับซีเกทแล้วมันหมายถึงการปักหลักอย่างมั่นคง

ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จดทะเบียนเมื่อเดือนตุลาคม 2526 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ถือหุ้นโดย SEAGATE TECHNOLOGY INC. 99.99%

ซีเกทช่วงแรกดำเนินกิจการประกอบ (SUB-ASSEMBLY) ชิ้นส่วนย่อยเพื่อนำไปประกอบเป็น HARD-DISK DRIVES ที่สิงคโปร์

เมื่อเริ่มแรกนั้นซีเกทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ตึกมโนรม คลองเตย และเป็นศูนย์กลางการผลิตหัวอ่าน (E-BLOCK) ถัดมาก็ขยายสาขาไปที่สุรศักดิ์มนตรี ประกอบ STEPPER MOTOR ตึกสินเคหการ ประกอบ SLIDER ตึก QUALITY REWORK งานที่ชำรุด ทั้ง 4 แห่งนั้นเป็น SUB-ASSEMBLY ทั้งสิ้นและจะถูกส่งไป ASSEMBLY เป็น DISKDRIVE ที่สิงคโปร์ จนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โชคชัย แดรี่ฟาร์ม ตรงข้ามเมืองเอกรังสิตก็ต้องมีอันกลายเป็นโรงงานแห่งล่าสุดของซีเกทไป "เป็น PLANT ที่ผลิต HARD-DISK DRIVES สำเร็จรูป" พนักงานคนหนึ่งบอก "ผู้จัดการ"

เส้นทางของซีเกทช่างรุ่งเรืองเสียนี่กระไร ช่วงเวลาครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ซีเกทได้สร้างความมหัศจรรย์ให้เพื่อนร่วมชาติทึ่ง และอดีตลูกน้องเก่าอย่างญี่ปุ่น มองด้วยสายตาหวั่นไหวอยู่ในที

นั่นเนื่องเพราะผลประกอบการของซีเกทโดยแท้ จากยอดรายได้เพียง 490 ล้านในปี 2527 ทะยานสู่ 4,624 ล้านบาทในปี 2530 สิบเท่าภายใน 4 ปี

ด้านกำไรนั้นยิ่งน่าตื่นเต้น ปี'27 ขาดทุน 16 ล้านบาทและกลายมาเป็น 26 ล้านในปี'28 แต่คุณพระช่วย! ปี'29 กำไรถึง 42 ล้านและถีบไปถึง 128 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว

ภายในปีเดียวกำไรเพิ่มถึง 3 เท่าตัวนับว่าซีเกทไม่ธรรมดาจริงๆ

ทว่า… สิ่งที่ถือเป็นจุดเด่นของซีเกท จนกระทั่ง BOI ต้องหยิบยกมากล่าวถึงบ่อยๆ คือการเป็นศูนย์การจ้างงานใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทต่างชาติที่ได้ BOI

ซีเกทเริ่มต้นด้วยพนักงานเพียง 50 คนในปีแรกและค่อยๆ พุ่งขึ้นสู่หลักพันในปีถัดมา จนกระทั่ง "ขณะนี้เรามี พนักงานทั้งหมด 12,500 คน" โรแนล ดี.เวอร์ดอน รองประธานฝ่าย DISK DRIVE ของซีเกทประมาณการ

แต่ประเทศไทยจะได้อะไรจากซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) บ้าง ช่วงลดภาวะตกงานของเหล่าบัณฑิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือไทยจะได้อะไรมากกว่านั้น ?!?!

การสืบค้นครั้งเห็นทีต้องลงลึกถึงที่มาของซีเกท เทคโนโลยี

COPORATE DIASPORA

"สังคมข้อมูลกำลังจะเข้ามาแทนที่สังคมอุตสาหกรรม" JOHN NUISBITT กล่าวไว้ในหนังสือ MEGATREND THE BEST-SELLER ของเขา นั่นหมายความว่า ยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลนั่นเอง "ข้อมูลเป็นหัวใจของความสำเร็จ" เป็นคำกล่าวที่หลายคนได้ยินจนชินชา

เมื่อเอ่ยถึงข้อมูล (INFORMATION) แล้วก็ต้องพูดถึงคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นของคู่กัน

คอมพิวเตอร์นั้นได้ถูกคิดค้นขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ถือว่าเป็น "INNOVATION OF THE CENTURY" ก็คงไม่ผิด จากวันนั้นถึงวันนี้ คอมพิวเตอร์มาถึง GENERATION ที่ 4 แล้ว

วันนี้ของคอมพิวเตอร์ไม่ใช่วันเวลาของ MAINFRAME อีกต่อไป และยังไม่ใช่ยุคทองของ MINICOMPUTER อีกแล้ว แต่มันคือยุคทองฝังเพชรของ MICROCOMPUTER หรือ PERSONAL COMPUTER (PC)

กล่าวกันว่า คนอเมริกัน 8 คนจะมีคอมพิวเตอร์ (PC) 1 เครื่อง (ปัจจุบันคาดว่าอัตราส่วนจะแคบเป็น 4 : 1) และไม่เพียงคนอเมริกันเท่านั้นที่คลั่งคอมพิวเตอร์ มันอาจจะทั้งโลกเลยทีเดียว โซเวียตเมื่อเร็วๆ นี้ IMPORT คอมพิวเตอร์จากสหรัฐฯ จำนวนมหาศาล และมีโครงการจะผลิตเองในอนาคตอันใกล้

คอมพิวเตอร์กลายเป็น "GLOBAL PRODUCT" ไปแล้ว

อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ "ประมาณ 15% ต่อปี" BUSINESS WEEK ระบุ

การเติบโตของ COMPUTER INDUSTRY นี้ก่อให้เกิดมหาเศรษฐีหลายราย ไม่ว่าจะเป็น STEVE JOB APPLE INNOVATOR ตั้ง APPLE COMPUTER หรืออภิมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ (BILLIONAIRE) ผู้มีอายุน้อยที่สุด (32 ปี) WILLIAM GATE III เจ้าของหุ้น 40% บริษัท MICROSOFT ที่เขาเป็น CO-FOUNDER

ผลพวงยังตกมาถึงบริษัทผู้ผลิต PERIPHERAL อีกด้วย นั่นคือเหล่าผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ อาทิ FLOPPY-DISK DRIVE หรือ HARD-DISK DRIVES ที่เติบใหญ่ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ด้วย

SEAGATE TECHNOLOGY แห่ง SCOTT VALLEY CALIFORNIA ก็อยู่ในกลุ่มหลังนี้ SEAGATE TECHNOLOGY INC. ก่อตั้งโดย ALAN F. SHUGART และ DAVID T. MITCHELL

SHUGART นั้นก่อนที่จะมาเริ่มต้นกับ SEAGATE TECHNOLOGY เขาเป็นวิศวกรอยู่ INTERNATIONAL BUSINESS MACHINE (IBM) THE BIG BLUE ยักษ์ใหญ่วงการคอมพิวเตอร์นานถึง 18 ปี จึงผันไปเป็นลูกจ้างอยู่ MEMREX นาน 4 ปี

หลังจากนั้นคงจะเข็ดเขี้ยวชีวิตลูกจ้าง ซึ่งก็เป็นลูกจ้างวันยังค่ำ กอปรกับคลุกคลีวงการคอมพิวเตอร์มานานกว่า 2 ทศวรรษทำให้เห็นช่องทางการเป็นเถ้าแก่ จึงเริ่มชีวิตการเป็น ENTREPRENEUR ครั้งแรกด้วยการก่อตั้ง SHUGART AND ASSOCIATES แปลเป็นไทยก็คงเป็น SHUGART และสหาย อะไรเทือกนั้น

ดูตามรูปการณ์แล้วชีวิต ENTREPRENEUR ของเขาน่าจะสดใส เพราะ FLOPPY-DISK DRIVE กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่หลังจากก่อตั้งได้ปีเดียว อดีตวิศวกรของ IBM ก็ถูกดีดออกจาก SHUGART และสหาย ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบชัด ที่แน่ๆ เขาประสบชะตากรรมเดียวกับ STEVE JOB ผู้สมัครใจอำลา APPLE COMPUTER ที่สร้างมากับมือ

SHUGART ก็เฉกเช่น STEVE JOB ผู้ไม่ยอมจำนน เขาเริ่มต้นครั้งใหม่ด้วยการจับมือกับ DAVID TOM MITCHELL ก่อตั้ง SEAGATE TECHNOLOGY INC. ณ SCOTT VALLEY มลรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่คราวนี้เป็นการผลิต HARD-DISK DRIVES มีใช้ FLOPPY-DISK DRIVES ดังที่ SHUGART AND ASSOCIATES ผลิต เนื่องเพราะตลาด FLOPPY-DISK DRIVES ถูกญี่ปุ่นครบครองแล้ว ประกอบกับ HARD-DISK DRIVES ก็เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต เพราะเป็นของคู่กับคอมพิวเตอร์

SEAGATE ก้าวจากยอดขาย (SALES) เพียง 40 ล้านดอลลาร์ในปี '25 พุ่งสู่ยอด 344 ล้านดอลลาร์ในอีก 2 ปีต่อมา แต่ในปี '28 ยอดขายกลับทรุดสู่ 215 ล้านดอลลาร์

SEAGATE ถึงคราวอำลายุทธจักรแล้วหรือ?

ก็คงจะเป็นเช่นนั้นถ้า SHUGART และ TOM MITCHELL ยอมจำนนต่อสถานการณ์

สถานการณ์ช่วงนั้น SEAGATE ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่เพราะปี ปี '28 ความต้องการ PCS อ่อนตัวลง ลูกค้ารายใหญ่ของ SEAGATE คือ IBM ขอเลื่อนการส่งมอบ HARD DISK DRIVE รวมทั้งประกาศิตว่า "ต้องการของถูก"

SHUGART และ MITCHELL ต้องตัดสินใจเพื่อแก้วิกฤตการณ์ครั้งนี้

SEAGATE สูญไป 12 ล้านเหรียญ จากการณ์นี้และจะสูญมากกว่านี้ถ้า SEAGATE เสียลูกค้าอย่าง IBM ไป

ทั้ง SHUGART และ MITCHELL เลือกใช้กลยุทธ์ที่ญี่ปุ่นใช้และประสบผลสำเร็จแล้ว นั่นคือ COPORATE DIASPORA หรือการโยกการผลิตไปต่างประเทศ

"เพราะกุญแจแห่งความสำเร็จของอุตสาหกรรมนี้คือ สินค้าคุณภาพสูง แต่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เพื่อขายในราคาถูกกว่าคู่แข่ง และต้องมี MODEL ให้เลือกหลากหลาย" นักวิเคราะห์คนหนึ่งให้ความเห็น

ประกอบกับ TOM MITCHELL PRESIDENT ของ SEAGATE มีความเห็นนานมาแล้วว่า วันหนึ่ง HARD-DISK DRIVES ต้องกลายเป็น COMMODITY PRODUCT และต้องถูกกดดันด้านราคาอย่างแน่นอน TOM MITCHELL จึงวางแผน COPORATE DIASPORA อยู่นานแล้ว จึงย้ายฐานการผลิตไปสู่เอเชียอาคเนย์ในปี '26 ก่อนเกิดการสูญ 12 ล้านเหรียญนั้นเสียอีก

เหตุการณ์ในปี '28 เพียงเป็นเครื่องกระตุ้นให้ SEAGATE ทุ่มเทการผลิตสู่ภูมิภาคแถบนี้เท่านั้น และด้วยความคิดที่ว่า "ในอนาคตอันใกล้ DESTOP COMPUTER จะต้องเป็น MASS PRODUCT"

ปี '26 จึงเป็นปีที่ SEAGATE บุกต่างประเทศอย่างหนัก เป้าหมายคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

TOM MITCHELL รับบทแม่ทัพใหญ่กับการรุกสู่เอเชียอาคเนย์ ในฐานะคุ้นเคยกับภูมิภาคนี้ เพราะเคยเป็นผู้บริหาร ASIAN PLANTS ของ FAIRCHILD CAMERA & INSTRUMENT CORP อยู่หลายปี กระทั่งเขากล้าเสี่ยงเปิดโรงงานที่สิงคโปร์และกรุงเทพฯ นอกจากนี้เท่าที่ "ผู้จัดการ" สืบค้นมายังมีโรงงานที่เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ด้วย "ก็ประกอบ HARD-DISK DRIVES เช่นกัน" ผู้รู้กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

และเหตุผลสำคัญที่ SEAGATE บุกไทยคือ "SEAGATE คิดจะย้ายกิจการที่ต้องใช้แรงงานมาก มายังเมืองไทย" รองประธานฝ่าย DISK DRIVE ซีเกท (ประเทศไทย) แจง

แปลว่าที่ SEAGATE ตั้งโรงงานในเมืองไทยเพียงเพื่อแรงงานราคาถูกเท่านั้นหรือ?

"จะกล่าวอย่างนั้นก็ไม่ถูกนัก" ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์รายหนึ่งให้ความเห็น

จริงๆ แล้วเมืองไทยมิได้มีเพียงข้อได้เปรียบตรงที่แรงงานถูกเท่านั้น ถ้า SEAGATE ต้องการแรงงานถูก ทำไมไม่ตั้งที่บังคลาเทศ ที่นั่นค่าแรงถูกกว่าเมืองไทยมาก" ผู้รู้คนเก่าวิจารณ์

SEAGATE ตอนนี้กลาเป็น MULTINATIONAL ไปแล้ว วัตถุดิบมาจากประเทศหนึ่ง ประกอบในอีกประเทศ และส่งขายไปทั่วโลก

การวิวัฒนาการจาก DOMESTIC COPORATION ไปสู่ MULTINATIONAL COPORATION ของ SEAGATE TECHNOLOGY มิเพียงเป็นการพัฒนาตามวงจรชีวิตบริษัทตามปกติเท่านั้น แต่มันหมายถึงการวางกลยุทธ์ที่มุ่งหวังการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (COMPETITIVE ADVANTAGE)

ความได้เปรียบที่ SEAGATE ถือเป็นไม้เด็ดคือราคา เพื่อให้คงสถานะผู้ผลิต HARD-DISK DRIVES อันดับสองของโลก HIGHER-CAPACITY HARD-DISK DRIVES ของ SEAGATE จะต้องมีราคาถูกลง SEAGATE ฐานการผลิตมาสู่เอเชียอาคเนย์ดังข้างต้น

ที่สิงคโปร์ SEAGATE มีทั้งโรงงาน SUB-ASSEMBLY และ ASSEMBLY PLANT เพื่อประกอบ HARD-DISK DRIVES โดยตรง "เราใช้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการลงทุนในกลุ่ม FAR EAST" เวอร์ดอน ระดับสูง คนหนึ่งเผย

TOM MITCHELL ออกจะชื่นชอบสิงคโปร์มากเป็นพิเศษ อาจจะเป็นเพราะว่า เขาเคยนั่งอยู่ที่นั่นนาน อีกทั้ง อุตสาหกรรม HI-TECH ต่างๆ ของอเมริกันต่างเฮโลสู่สิงคโปร์แทบทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ในปี '22 สิงคโปร์เกือบจะไม่ใช่สวรรค์ของนักลงทุนอีกต่อไป

ปี '22 ลีกวนยูประกาศใช้นโยบายค่าแรงงานสูง (HIGH-WAGE POLICY) เพื่อกดดันให้อุตสาหกรรมที่มาลงในประเทศก้าวกระโดดไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต

นักลงทุนอเมริกันตอบสนองนโยบายของลีกวนยูด้วยดี คือการพาเหรดสู่เกาะสิงคโปร์เป็นทิวแถว รวมทั้ง APPLE COMPUTER ด้วย

SEAGATE ก็อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน สิงคโปร์ได้เปรียบตรงที่ไม่มีข้อจำกัดด้านการส่งเงินออกนอกประเทศ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็เพียบพร้อม เสถียรภาพทางการเมืองอยู่ในระดับ A+ ปัญหาแรงงานต่างๆ แทบจะไม่เคยปรากฏ

SEAGATE คาดว่าคงไม่มีปัญหาที่สิงคโปร์แน่ๆ แต่ในที่สุดสิ่งที่ TOM MITCHELL ไม่อยากจะให้มันเกิด แต่มันต้องเกิด สิงคโปร์ประสบปัญหา LABOUR SHORTAGE อย่างรุนแรง "ถึงขั้นต้องให้พนักงานในบริษัทไปหาเพื่อนมาทำงาน ถ้าหาได้จะมีค่าคอมมิชชั่นให้" ผู้รู้ท่านหนึ่งแจง

ขณะที่ SEAGATE มุ่งสู่สิงคโปร์อย่างลูกเมียหลวง พะเน้าพะนอเอาอกเอาใจทุกอย่าง แต่กับไทยแลนด์แล้ว ได้รับการปฏิบัติประหนึ่งลูกเมียน้อยก็ไม่ปาน

THAILAND แผ่นดินนี้ SEAGATE ขอจอง

TOM MITCHELL รู้จักเมืองไทยแต่ไม่ได้คลุกคลีอย่างใกล้ชิด เฉกเช่นสิงคโปร์ แต่เขาก็ตัดสินใจเลือกเมืองไทยด้วย

เมืองไทยปี 2526 ไม่มีสิ่งใดน่าพิสมัยเหมาะแก่การลงทุน

เมืองไทยยังเป็นที่ร่ำลือด้าน SEX เช่นเดิม TRAFFIC JAMMED ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เสถียรภาพของรัฐบาลยังไม่มั่งคง

รัฐบาลป๋าเปรมยังอกสั่นขวัญแขวนไม่หาจากเหตุการณ์เมษาฮาวาย แต่เมื่อพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ก้าวขึ้นนั่งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เสถียรภาพรัฐบาลกลับมั่นคงอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาแรงงานต่างๆ ได้รับการคลี่คลาย บัณฑิตตกงานเหยียบแสน

ห้วงเวลานั้น TOM MITCHELL สวมบท RISK TAKER ทดลองเข้ามาตั้งโรงงานประกอบ SUB-ASSEMBLY ของ HARD-DISK DRIVES

จากโรงงานแห่งแรกที่มโนรมขยายไปอีกสามแห่ง ที่ตึก Q - ตึกสินเคหการ - สุรศักดิ์มนตรี และที่อาคารทวิชด้วย

กำลังแรงงานเพิ่มจาก 50 คนในปีเริ่มทะยานสู่หลักพันในปีถัดๆ มา กระทั่งเมื่อปี 2530 สิงคโปร์ขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง อีกทั้งค่าแรงสูงกว่าเมืองไทยหลายเทา กระบวนการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากสิงคโปร์สู่เมืองไทยก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างค่อนข้างชัดเจน

ซีเกท ประกาศรับพนักงานไม่อั้น เพื่อรองรับโรงงานแห่งใหม่ซึ่งจะเป็นโรงงานประกอบ HARD-DISK DRIVES โดยตรง โรงงานแห่งนี้ก็คือ บริษัทโชคชัยอินเตอร์เนชั่นแนลฯ ของ โชคชัย บูลกุล ตรงข้ามทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก รังสิต นั่นเอง

และในปลายปีนี้ ซีเกทจะ CONSOLIDATE โรงงานประกอบ SUB-ASSEMBLY ทั้งหมด "มาอยู่ที่เทพารักษ์ สำโรง เพื่อให้ง่ายต่อการรวมศูนย์การบริหารแทนที่เราจะเปิดสาขาที่ 6-7-8 ซึ่งยากต่อการควบคุม ที่สำคัญเราจะเพิ่มกำลังการผลิตด้วย" ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งเผยแผน

ถ้าโรงงานที่เทพารักษ์ สำโรง ได้ฤกษ์เปิดดำเนินการเมื่อใด "ซีเกทจะมีพนักงาน 18,000 คน เจ้าหน้าที่ระดับสูงท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ด้วยน้ำเสียงภูมิอกภูมิใจ

ทุกวันนี้ SEAGATE TECHNOLOGY INC. และบริษัทในเครือมีพนักงานทั้งหมด 34,000 คน สำหรับในเมืองไทยหากรวมพนักงานที่โรงงานเทพารักษ์ พนักงานซีเกท (ประเทศไทย) มีประมาณ 18,000 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งของ SEAGATE TECHNOLOGY ทั่วโลก

"ผมเทเค้าหน้าตักมาที่เมืองไทย ที่นี่เป็นส่วนสำคัญที่สร้างให้ SEAGATE TECHNOLOGY ประสบความสำเร็จ" TOM MITCHELL ตอบ NEWSWEEK ถึงความรู้สึกที่มีต่อเมืองไทย

TOM MITCHELL และ ALAN F. SHUGART ก็คงจะต้องตอบอย่างนี้ เพราะทุกวันนี้โรงงานโชคชัยประกอบ HARD-DISK DRIVES ได้ 15,000 ตัวต่อวัน หัวอ่านคอมพิวเตอร์ 30,000 CHIP ต่อวัน และจะทะยานสู่ 50,000 CHIP เมื่อโรงงานเทพารักษ์เริ่มเดินเครื่อง

HARD-DISK DRIVES ก็เฉกเช่นกัน จะพุ่งสู่ยอด 30,000 ตัวต่อวัน "มากกว่าปริมาณที่ SEAGATE ทั่วโลกประกอบได้" ระดับสูงท่าหนึ่งเผยความสำเร็จ

แต่เมืองไทยจะได้อะไรจาก SEAGATE TECHNOLOGY INC.

TECHNOLOGY TRANSFER

ปาริฉัตร ก็เหมือนกับพนักงานคนอื่นๆ ของซีเกท เธอต้องใช้พนักงานซีเกท เสื้อสีน้ำตาลอ่อน กระโปรงสีเดียวกันที่ปลายแขนขลิบสีน้ำตาลเข้ม

ทุกๆ วันเธอต้องเข้าโรงงานซีเกท บริเวณที่เรียกว่า ตึกสินเคหการเพื่อประกอบ STEPPER MOTOR SUB-ASSEMBLY ตัวหนึ่งของ HARD-DISK DRIVES ผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อของซีเกท

ปาริฉัตรต้องตื่นแต่เช้าเพื่อทำงานตามกะ บ้านเธอยู่ไกลจากโรงงานมาก ป้ายรถเมล์ก็อยู่ในที่เปลี่ยว แต่เธอก็ต้องทน "มันไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้" ปาริฉัตรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" อย่างท้อแท้

ที่ปาริฉัตรไม่เข้าใจก็คือ ทำไมซีเกทต้องเปลี่ยนกะทุกกๆ สองอาทิตย์ ทังๆ ที่เธอต้องใช้เวลาปรับตัวมากๆ กว่าเธอจะชินกับการทำงานตามกะ

งานของเธอเป็นงานน่าเบื่อ เป็นงาน ROUTINE เธอเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งในโรงงานที่ต้องทำตามคำสั่ง ไม่มีสิทธิ์คิดหรือโต้แย้ง ทั้งๆ ที่ตอนนี้เธอก็เป็น UNDERGRADUATE ที่รามคำแหง

ปาริฉัตรเคยคิดว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเธอน่าจะดีกว่าการเป็นพนักงานขายโรบินสัน "เพราะได้ข่าวว่าเงินดีกว่า ก็ลองไปทำดู"

เงินที่เธอได้นั้นก็นับว่า พอจะมีกินแต่ไม่เหลือเก็บมากนัก เธอทำมานับจากปี 2529 จนถึงปัจจุบันยอดรายได้ทั้งหมดยังไม่ถึงสามหมื่นบาท

ทุกวันนี้เธอได้ค่าแรงเพียง 80 บาทต่อวัน มันเพียงพอค่าเช่าบ้าน ค่าเสื้อผ้า และค่าหน่วยกิตเท่านั้น ที่เธอตั้งหน้าตั้งตรารอคอยก็คือ เงินค่าครองชีพ 450 บาท และค่ารถ-ค่าอาหารเพียงวันละ 10 บาท ที่สำคัญคือค่าทำงานล่วงเวลาที่พอจะได้มาเต็มเม็ดเต็มหน่วย พอให้เก็บบ้าง แต่มันก็ต้องแลกกับสุขภาพจิตที่ทรุดโทรมทุกขณะ

เงิน PROFIT SHARING ที่เคยได้ประจำทุกสามเดือน เดือนหน้านี้ เธอก็จะไม่ได้แล้ว "เห็นเขาบอกว่า จะเอาเงินไปลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ เขาเลยตัด"

วัฒนธรรมที่เธอไม่เห็นด้วยก็คือ การเรี่ยโรเงินพวกเธอ 100 บาททุกครั้งที่บรรดา SUPERVISOR ลาออก "เขาบอกว่าจะเอาไปซื้อทองให้ซุป" ปาริฉัตรบอกว่าเธอยังโชคดีที่ไม่ได้ทำงานที่มโนรม "ที่นั่นเป็นงานเชื่อมที่มีสารตะกั่วมาเกี่ยวข้อง มันอันตราย" เธอกล่าวอย่างขนพอง

พนักงาน PRODUCTION อย่างปาริฉัตรมีนับหมื่นคนกระจายตามโรงงานทั้ง 6 แห่ง

พนักงานเหล่านี้เป็นผู้หญิงทั้งสิ้น มีบ้างจบ ม.ศ.3 บ้างสำเร็จ ม.ศ.5 หลายคนกำลังเป็นนักศึกษาอยู่รามคำแหง

"งานของพวกเราไม่ได้ใช้ความรู้อะไร เราทำตามสั่ง ไม่มีสิทธิ์พูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไรทั้งสิ้น" พนักงานคนหนึ่งเล่า

พวกเธอคงต้องย่ำต๊อกอยู่กับที่เดิมไปอีกนาน "เราไม่ได้จบปริญญาอย่างมากก็เพียงขึ้นเป็น MATERIAL HOLDING เท่านั้น"

พวกจบปริญญาตรีจึงจะมีสิทธิ์ขึ้นเป็น SUPERVISOR

SUPERVISOR เหล่านี้คือ บัณฑิตสาขาต่างๆ ที่ไม่ได้จบมาทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือวิศวะ "งานของเหล่า SUPERVISOR ไม่ได้ใช้ความรู้ด้านเทคนิคเลย เราเพียงควบคุมให้พนักงานระดับ PRODUCTION ทำงานตรงตาม SPEC ที่กำหนดเท่านั้น" SUP. คนหนึ่งว่า

ฉะนั้นการจะไปหวังเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากซีเกท จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ "คุณจะไปหวังอะไรกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ขนาดบริษัท JOINT VENTURE ระหว่างไทยกับต่างชาติ เทคโนโลยีที่ไทยหวังจะได้รับการถ่ายทอดยังเป็นเรื่องเพ้อฝัน จะมานึกถึงเรื่อง TECHNOLOGY TRANSFER อะไรกัน" อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งให้ความเห็น

วิศวกรดูจะเป็นความหวังประการเดียว ที่อาจจะเป็นช่องทางที่อาจได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะทุกวันนี้ซีเกทกำลังควานหาตัววิศวกรอย่างหนัก "ทุกวันนี้เรามีวิศวกรกว่า 130 คนยังไม่ขาดแคลน แต่ในอนาคตข้างหน้าไม่แน่" ระดับสูงคนหนึ่งพูดถึงวิศวกร

"ก็มีบ้างเล็กน้อยกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่เป็นลักษณะการซ่อมมากกว่าการสร้าง ของอย่างนี้เป็นความลับจะถ่ายทอดให้ได้อย่างไร" วิศวกรคนหนึ่งเล่า

แผนการที่ SEAGATE กำหนดขึ้นทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า ซีเกทจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนไทย เพราะมีการส่งคนไทยไปฝึกงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

วิศวกรเป็นพวกแรกที่ส่งไปฝึกอบรมบ่อยๆ "ไม่ค่อยได้ผล เป็นการสูญเปลาเสียมากกว่า อย่างบางทีวิศวกรบางคนชอบโทรศัพท์มาคุยเล่นมากกว่าเรื่องงาน อย่างที่ว่าเทคโนโลยีจริงๆ ใครจะถ่ายทอดมันเป็น ASSET บริษัท"

SUPERVISOR เป็นอีกพวกหนึ่งที่มักจะถูกส่งไปฝึกงาน

เมื่อครั้งที่โรงงานโชคชัยจะเปิดดำเนินการ SEAGATE ส่งเหล่า SUP. และพนักงาน PRODUCTION ไปฝึกงาน "ไม่มีอะไร ผมไปศึกษาประกอบ HARD-DISK DRIVES ที่เขาจะ TRANSFER มาจาก SINGAPORE เท่านั้น" คนที่เคยไปฝึกงาน SINGAPORE มาเล่า

คนที่ไปฝึกงานสิงคโปร์นั้น "ผมไปถึงสามเดือน ทั้งๆ ที่งานประเภทนี้สองอาทิตย์ก็เป็นแล้ว" SUP. คนเดิมเล่า

ที่น่าสนใจคือการส่งคนไปดูงานที่แคลิฟอร์เนีย

วิศวกรคนหนึ่งพูดถึง SUP. ที่เคยไปแคลิฟอร์เนียว่า โครงการอบรมที่ SCOTT VALLEY นั้นจริงๆ แล้วใช้เวลาเพียง 2 อาทิตย์ "แต่โครงการก็เลื่อนมาเรื่อยจนบางคนอยู่ถึง 5 เดือนก็มี"

จริงๆ แล้วมันคือการใช้แรงงานคนไทยนั่นเอง "ค่าแรงของคนอเมริกันสูงมาก เมื่อเทียบกับคนไทย SEAGATE จึงใช้แผนการอบรมงานบังหน้า เป็นแผนตื้นๆ" ผู้รู้วิจารณ์

ไม่เพียงซูเปอร์ไวเซอร์เท่านั้นที่ตกอยู่ในวังวนของแผนการนี้ พนักงานระดับ PRODUCTION ก็เข้าร่วมสังฆกรรมด้วย "เขาจะส่งระดับ PRODUCTION ไปทำงานภายใต้แผนอบรมดูงานซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก" วิศวกรคนเดิมว่า

พนักงานบางคนต่อวีซ่าถึงสามครั้งสามครา "จนเครื่อง FIXTURE ชำรุดแหละ" ENGINEER ช่างสังเกตเล่า

เบื้องหลังแผนการครั้งนี้ มันคือ MASTER PLAN ของ SEAGATE ที่มี TOM MITCHELL เป็นเสนาธิการใหญ่

MITCHELL รู้ดีว่า การโยกย้ายฐานการผลิตจาก SCOTT VALLEY CALIF. สู่ SOUTHEAST ASIA นั้น ถึงจะมีข้อได้เปรียบหลายประการ แต่มันก็มีความเสี่ยง

เสี่ยงในแง่ของต้นทุนขนส่งจะมีราคาสูงขึ้น รวมทั้งการสื่อสารระหว่างวิศวกรของสหรัฐฯ และโรงงานในต่างประเทศจะประสบปัญหาความยุ่งยากและการควบคุมคุณภาพกลับยากยิ่งกว่า

ทางแก้ของ MITCHELL คือการนำพนักงานที่หน่วยก้านดีไปครั้งละ 50-100 คน เพื่อไปสอนวิธีการประกอบโมเดลใหม่ตามที่ลูกค้าสั่ง ซึ่งจะส่งผ่านมาประกอบในประเทศนั้น

แต่เบื้องหลังที่แท้จริงแล้วก็คือแผนการใช้แรงงานราคาถูกนั่นเอง

MASTER PLAN ของ SEAGATE ครั้งนี้เรียกได้ว่า HAPPY กันทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายแรกคือ เหล่าพนักงานที่ไปฝึกงานต่างประเทศ ถึงบางคนจะรู้ตัวว่าถูกใช้งาน แต่ก็ไม่ตีโพยตีพายแต่อย่างใด เพราะเบี้ยเลี้ยงที่ระดับ SUP. ได้นั้นตกเดือนละเกือบสามหมื่นบาท เทียบกับเงินเดือนสี่พันกว่าบาทที่ได้ระหว่างอยู่เมืองไทยแล้ว การได้ไปต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องที่พนักงานซีเกทหลายคนใฝ่ฝัน

"นอกจากจะได้เปิดหูเปิดตา ฝึกภาษาอังกฤษไปในตัวแล้ว หากพนักงานบางคนเก็บเงินดีๆ แล้วจะมีเงินกลับบ้านเป็นแสน นอกจากนั้นยังมีประสบการณ์เพิ่มเติมไปใช้สมัครงานที่อื่นได้อีก" คนซีเกทพูดถึงประโยชน์ที่จะได้รับ

ยิ่งสำหรับพนักงานระดับ PRODUCTOIN ด้วยแล้ว การไปอบรมต่างประเทศถือเป็นเป้าหมายหลักเลยทีเดียว

เบี้ยเลี้ยงเกือบสองหมื่นบอกกับประสบการณ์ที่ได้รับ พร้อมการ PROMOTE หลังการกลับมา "หนูก็คอยโอกาสนี้เหมือนกัน" ปาริฉัตรสารภาพ

ด้าน SEAGATE นั้นยังสุดจะ HAPPY

นอกจากจะได้ใช้แรงงานราคาถูกโดยไม่มีคำตัดพ้อจากพนักงานแล้ว ระบบที่ว่านี้ยังทำ SEAGATE สามารถถล่มญี่ปุ่นอยู่หมัด

เมื่อปี 2527 สหรัฐฯ สูญเสียตลาด FLOPPY-DISK DRIVES ให้ญี่ปุ่น แต่มาบัดนี้สหรัฐฯ กลับครองความเป็นเจ้าในตลาด HARD-DISK DRIVES โดยมี SEAGATE เป็นหัวเรือใหญ่ "ผลิตภัณฑ์ SEAGATE ถูกกว่าญี่ปุ่น 15%" คนในวงการระบุ

คู่แข่งที่พอจะสูสีกับ SEAGATE คือ NEC ของญี่ปุ่นก็ยังครอง MARKET SHARE น้อยกว่า SEAGATE 15%

ถ้าไม่นับ DRIVES ที่บริษัทผู้ผลิต คอมพิวเตอร์ผลิตเองแล้ว SEAGATE จะครองตลาด HARD-DISK DRIVES ถึง 50%

SEAGATE กับปัญหาอนาคต

หากดูเผินๆ แล้วการขยายกำลังการผลิตของซีเกท (ประเทศไทย) ไปที่เทพารักษ์ สำโรง คงจะเป็นเรื่องน่ายินดี แม้ว่ากำไรที่ได้จะถูกส่งกลับบริษัทแม่ทั้งหมดก็ตาม

ถึงจะไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดการว่างงานลงอย่างน้อยก็เกือบสองหมื่นคน

ถ้าซีเกทจะขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งตลอดไปก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ซีเกทย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงวงจรชีวิตของอุตสาหกรรม มีทั้งขึ้นและลง อย่างที่เคยอุบัติกับ MEMORY CHIPS มาแล้ว

ทุกวันนี้ SEAGATE ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ดี นอกจากจะเน้นการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว SEAGATE ทุ่มเทงบ R&D ในปริมาณที่สูงถึง 33.6 ลานดอลลาร์ ในปี 2530 เพิ่มจากปี '29 ถึง 77% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ STORAGE TECHNOLOGY ที่มียอดขายน้อยกว่า SEAGATE ถึง 208 ล้านดอลลาร์แล้ว งบ R&D ของ SEAGATE ยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

งบ R&D ของ STORAGE TECHNOLOGY สูงถึง 60.1 ล้านดอลลาร์ในปี '30 ซึ่งน้อยกว่าปี '29 อยู่ -3%

นั่นแสดงว่า SEAGATE ได้ละเลยด้าน R&D มาหลายปี "TOM ทดแทนการขาดแคลนด้านวิศวกรรมด้วยการผลิต" อดีตคู่หูของ TOM MITCHEEL วิจารณ์ตรงๆ

แต่ปัจจุบัน SEAGATE ได้พยายามทุ่มเทในสิ่งที่ละเลยมานานจนกระทั่งสามารถผลิต DRIVE ตัวแรกที่สามารถบันทึกข้อมูลบนจานขนาด 3.5 นิ้วแทนที่ขนาด 5.25 นิ้วที่ใช้กันในอดีต

ที่น่าวิตกสำหรับ SEAGATE ก็คือข่าวที่น่าเชื่อถือว่า IBM ลูกค้ารายใหญ่ (ซื้อ 30%) ของ SEAGATE จะตั้งโรงงานผลิต DRIVE ขนาด 3.5 นิ้วเองที่ญี่ปุ่นและข่าวลือที่ว่าจะซื้อ HARD-DISK DRIVES ของบริษัท MINISCRIBE แทน SEAGATE

"เราไม่กลัวเพราะเราสามารถผลิต HARD-DISK DRIVES ได้ถูกกว่าที่เขาจะผลิตเอง" SHUGART ตอบแบบไม่หวาดหวั่น

แต่นั่นอาจจะเป็นการปลอบใจตัวเองของ SHUGART

ถ้าวันใดสินค้าของ SEAGATE ขายไม่ออกแล้วล่ะก็ พนักงานระดับ PRODUCTION ของ SEAGATE จะตกที่นั่งลำบากที่สุด

สำหรับบรรดา SUPERVISOR และเหล่า ENGINEER นั้นเขาเตรียมทิ้งซีเกทได้ทุกเมื่อ

"ซีเกทก็เหมือนโรงเรียนฝึกงาน" SUP. คนหนึ่งสรุป

ถ้าวันนั้นของซีเกทมาถึงคุณูปการหนึ่งเดียวของซีเกทจะหมดไป แถมถูกลูกค้าตราหน้าว่าทำให้คนมีงานทำตกงาน สู้ให้ตกงานตลอดไปเสียเลยจะดีกว่า

แต่วันนั้นคงอีกนานกว่าจะมาถึง "ผู้จัดการ" ขอเอาใจช่วย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us