|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

ด้วยความที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่เพียง 23 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวจึงมักมองเห็นความโดดเด่นของเชียงใหม่มากกว่าลำพูน ทั้งที่แท้จริงแล้วเมืองที่มีอายุเก่าแก่กว่าเชียงใหม่แห่งนี้ มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวมากมาย โดยเฉพาะด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
สะบัดร้อนสะบัดหนาว ครั่นเนื้อครั่นตัว เมื่อกลิ่นอายของเหมันตฤดูเริ่มต้นขึ้น ทำให้นึกถึงความสดชื่น ความงดงามของภูมิประเทศในหุบเขา ห้วงเหวลึก โดยเฉพาะดอกไม้ที่บานสะพรั่ง รับแสงแดดในยามเช้า และอากาศที่เริ่มเย็นยะเยือกเมื่อตะวันลับยอดเขา
ถนนสายเก่าแก่ที่ปกคลุมไปด้วยต้นยางสูงตระหง่าน เป็นระเบียบ มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี ตลอดแนวสองฟากฝั่งถนนจาก เชียงใหม่สู่ลำพูน ว่ากันว่าเป็นถนนสายเดียวในประเทศไทยที่เป็นเช่นนี้
เจ้าผู้ครองนครหริภุญชัยองค์สุดท้าย พลตรีเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เปลี่ยนจาก นครหริภุญชัยเป็นจังหวัดลำพูน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง ณ บัดนั้นเป็นต้นมา
ลำพูนเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดในภาคเหนือ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเป็นเมืองโบราณที่มีอายุกว่า 1,300 ปีเศษ
เมื่อ พ.ศ.1200 ฤาษีวาสุเทพเกณฑ์พวกเมงคบุตรเชื้อสาย มอญมาสร้างนครหริภุญชัยขึ้นระหว่างแม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง โดยเชิญราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้ พระนามว่า “พระนางจามเทวี” มาเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองจนถึงสมัยพระยายีบา จึงได้เสียเมือง ให้แก่พ่อขุนเม็งรายมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนา
ถึงแม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนาแล้วก็ตาม แต่ยังคงความสำคัญและได้มีการถ่ายทอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมให้แก่อาณาจักรล้านนามากมาย
พระธาตุหริภุญชัย เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองลำพูนมาแต่โบราณ ดังมีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังชัยภูมิ พญาชมพูนาคราชของชาวเม็ง ทรงหยุดประทับนั่ง ณ สถานที่หนึ่ง และพญากาเผือกได้มาอุปัฏฐาก และมีชาวลัวะนำลูกสมอมาถวายพระองค์ ทรงมีพุทธพยากรณ์ว่าที่นี่ในอนาคตจะเป็น “นครหริภุญชัยบุรี” เป็นที่ประดิษฐาน “พระสุวรรณเจดีย์” ซึ่งบรรจุ ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง
ในครั้งนั้น พญาทั้งสองได้ทูลขอพระเกศาธาตุนำไปบรรจุ ในกระบอกไม้รวกและโกศแก้วใหญ่ไว้ในถ้ำใต้ที่ประทับ
ในสมัยพญาอาทิตยราช ผู้ครองเมืองหริภุญชัยเสด็จลงห้องพระบังคน แต่ได้มีการขัดขวางมิให้เข้าไป ภายหลังทรงทราบ ว่าที่แห่งนั้นคือที่บรรจุพระบรมธาตุ จึงทรงให้รื้อวัง และขุดพระบรม ธาตุมาบรรจุโกศทองคำ พร้อมสร้างมณฑปปราสาทเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งได้รับการบูรณะเรื่อยมา โดยพระเจดีย์องค์ปัจจุบันบูรณะเมื่อ 500 กว่าปีมาแล้วในสมัยพระเจ้า ติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ซุ้มประตูวัดฝีมือสมัยศรีวิชัยก่ออิฐ ถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร ซุ้มยอดเป็นชั้นๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่ยืนสง่าบนแท่น ซึ่งปั้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช เมื่อทรงประทานให้เป็นสังฆาราม
วิหารหลวงเป็นวิหารหลังใหญ่มีระเบียงรายล้อม มีมุขออก ทั้งด้านหน้าด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2458 เมื่อ วิหารหลังเก่าถูกพายุพัดพังทลาย วิหารหลวงใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล ประกอบศาสนกิจทุกวันพระ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป ปฏิมาใหญ่ 3 องค์ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองบนแท่นแก้ว
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะสมัยเชียงแสนชั้นต้น และชั้นกลางอีกหลายองค์
พระบรมธาตุหริภุญชัย ประดิษฐานพระเกศาธาตุบรรจุใน โกศทองคำ เจดีย์ประกอบด้วยฐานบัว มีแบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ
ต่อจากนั้นจะเป็นฐานเขียงกลมเป็นชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ มีสัตถบัญชรคือระเบียง 1 หอก รั้วเหล็ก และทองเหลือง 2 ชั้น สำเภาทอง ประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอก ทั้งทิศเหนือและใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์และฉัตรประจำสี่มุม หอคอยประจำทุกด้าน บรรจุพระรูปนั่ง มีโคมประทีปแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชา
เหตุการณ์ที่ผู้เขียนจำได้ไม่รู้ลืม ว่าเคยได้สรงน้ำพระธาตุองค์นี้ โดยได้ไป เยี่ยมเยือนคุณแม่ลำเจิด ภรรยาพ่อเลี้ยง เมืองดี นันทขว้าง ซึ่งเป็นคนเก่าแก่ของเมืองลำพูน ได้พาไปร่วมงานบุญสาวเชือกลูกรอก โดยนำน้ำใส่ถังขึ้นไปสรงบนยอดพระธาตุฯ ด้วยความประทับใจ เป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนั้นยังได้รับความรู้เรื่องราวของเมืองลำพูน ตลอดจนเรื่องอาหารการกิน ความเป็นอยู่ อย่างเช่นเรื่องแคบหมูของเก่าของโบราณของคนเมืองแท้ๆ นั้นมีลักษณะอย่างไร
แคบหมูเมือง แคบหมูจิ้น คือแคบหมูติดมันที่มีชื่อเรียกกัน ในหมู่จาวเหนือ
ปัจจุบันมีการผลิตแคบหมูในรูปแบบต่างๆ รูปแบบใหม่ๆ แคบหมูไร้มัน แคบหมูปรุงรส เส้นจัมโบ้ และยังคงแบบโบราณ ติดมันชิ้นหนา หรือเพื่อความสะดวกในการรับประทาน อร่อย กรุบกรอบ ไม่เลี่ยน มันพอดีคำของเหล่านักชิม “พอคำ”
การทำแคบหมูของคนพื้นเมืองเหนือนี้ เป็นภูมิปัญญาที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่อดีต มีการประยุกต์ในเรื่องการปรุงแต่งรสให้อินเทรนด์บ้างสำหรับยุคสมัยนี้
การผลิตแคบหมูในเชิงอุตสาหกรรมภายในครัวเรือน เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก แต่ยังคงมาตรฐานในเรื่องคุณภาพและราคา
กรรมวิธีเริ่มด้วยการทำความสะอาดหนังหมู โดยวิธีการขูด ขนหมูออก จะไม่ใช้วิธีเผาโดยเด็ดขาด ไม่ตากแดด ก่อนนำมาผลิต จะได้ไม่อมน้ำมันเก็บได้นาน ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือหืน
สุวรรณเจดีย์ หรือปทุมวดีเจดีย์ สร้างโดยพระนางปทุมวดี อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ภายหลังพระธาตุเสร็จได้ 4 ปี โดยมีทรงเป็นปรางค์สี่เหลี่ยม ฝีมือช่างละโว้ มีพระพุทธรูปประจำ ซุ้ม ฝีมือแบบขอม ทองเหลือง หุ้มยอดพระเจดีย์ ภายใต้ฐานล่าง บรรจุพระเครื่อง นอกจากนี้ พระธาตุหริภุญชัยนี้ยังเป็นองค์พระธาตุ ประจำปีเกิดของเหล่าพุทธศาสนิกชนที่เกิดปีระกาอีกด้วย
วัดกู่กุดหรือวัดจามเทวี บนถนนสายลำพูน-สันป่าตองสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.1298 โดยฝีมือช่างละโว้ พระเจดีย์ภายใน วัดเป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนทรงประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ ทั้งสี่ด้านด้านละองค์
“พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ” เดิมยอดพระเจดีย์หุ้มด้วยทองคำ แต่ต่อมา หักหายไป โดยเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศราชโอรสได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุ อัฐิของมารดาคือพระนางจามเทวี
รัตนเจดีย์สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระยาสรรพสิทธิ์ ฐานล่างสุดเป็นรูป 8 เหลี่ยม ตัวเจดีย์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมแต่ละเหลี่ยมและเป็นซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ก่ออิฐถือปูน ทั้งองค์
วัดพระยืน กษัตริย์หริภุญชัย เจ้าธัมมิกราชเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธ ศตวรรษที่ 17 พระเจดีย์ทรงมณฑป มีพระพุทธรูปยืนทั้งสี่ทิศ เครื่องบนประกอบด้วยเจดีย์ห้ายอด โดยมีเจดีย์ทรงระฆัง และทรงกลมขนาดเล็กเป็นประธาน
กู่ช้าง-กู่ม้า โบราณสถานที่ตั้งอยู่ที่ชุมชนวัดไก่แก้ว
กู่ช้างเป็นสถูปทรงกระบอกปลายมน เชื่อว่าเป็นสุสานช้างศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี “ภูก่ำงาเขียว” หมายถึงช้างผิวสีคล้ำ งาสีเขียวที่ทรงอานุภาพและอิทธิฤทธิ์ในสงคราม
กู่ม้าเป็นสถูปทรงระฆัง เชื่อว่าเป็นสุสานม้าของพระโอรสพระนางจามเทวี
วัดมหาวันวนาราม มีตำนานการสร้างวัดว่า วัดนี้สร้างมาแต่ครั้งพระนางจามเทวีขึ้นครองหริภุญชัย
พระพุทธรูปนาคปรกที่เชื่อกันว่าคือพระพุทธสิกขิหรือพระศิลาคำ ซึ่งพระนางจามเทวีได้อัญเชิญมาจากกรุงละโว้
ชาวเมืองเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ พระรอดลำพูน หรือพระรอดหลวง ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์ในการจำลองพระเครื่องที่ลือชื่อแห่งหนึ่งคือ พระรอดมหาวัน
เชื่อกันว่าพระรอดมีความศักดิ์สิทธิ์ ความขลังปราศจากภัยอันตราย แคล้วคลาด ความวิบัติต่างๆ และมีเสน่ห์เมตตามหานิยม ได้ลาภยศ คงกระพันชาตรี
พระรอดได้ขุดค้นพบที่วัดมหาวันเพียงแห่งเดียวเท่านั้นเนื้อดินเผาละเอียดหนักนุ่มมาก เป็นพระพิมพ์ขนาดเล็ก องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัย ศิลปะโดยรวมแบบทวาราวดี-ศรีวิชัย เป็นรูปแบบเฉพาะสกุลช่างสมัยหริภุญชัยในช่วง พุทธศตวรรษที่ 17 แบ่งลักษณะแบบได้ 5 พิมพ์ทรงคือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้นนั้นมีลักษณะจุดตำหนิ โดยรวมที่เป็นสัญลักษณ์ปรากฏทุกพิมพ์ในพิมพ์ใหญ่ กลาง เล็ก
ลักษณะทั่วไปของพระรอดเป็นพระปางมารวิชัย มีฐานอยู่ใต้ที่นั่งและมีผ้านิสีทนะรองรับไว้บนฐานข้างหลังองค์พระ มีลวดลายกระจัง ชาวพื้นเมือง เหนือเรียกกันว่า ใบโพธิ์ เพราะกระจังนั้นดูคล้ายใบโพธิ์ กิ่งก้านไม้อยู่ในเรือน แก้ว พระพักตร์จะปรากฏพระเนตรพระกรรณยาวลงมาเกือบจรดพระอังสะทั้งสองข้าง ด้านหลังไม่มีลวดลาย นอกจากรอยนิ้วมือบางองค์นูนบ้างแบนบ้าง
สีสันและวรรณะต่างๆ ของพระรอด คือ สีเขียว สีเหลือง (พิกุล) แดงเขียวคราบเหลือง เขียวคราบแดง เขียวหินครก
พระรอดจะไม่มีสีอื่นๆ โดยเด็ด ขาด นอกจากนี้พระรอดทุกพิมพ์ พระกรรณของพระองค์จะต้องติดชัด ฝ่าพระหัตถ์ด้านขวาที่วางคว่ำบนพระกรรณ ด้านขวาจะต้องมี 6 พิมพ์ และทุกองค์มีความคมชัดจะเห็นได้ชัดเจน
การสังเกตพระรอด พระเกศ พระเมาลีคล้ายฝาชี พระพักตร์สอบเสี้ยมองค์ติดชัดๆ พระเนตรโปนโต พระนาสิกสั้นโต พระโอษฐ์เจ่อ มีเส้นแตกพาดเฉียงจากพระเนตรมาชนใบโพธิ์ ปลายพระกรรณซ้ายมือ องค์พระจะแหลมเป็นตัววี พระพิมพ์ใหญ่ โดยมาก จะมีขอบปีกพระนิ้วหัวแม่มือขวาองค์พระจะขาด ส่วนปลายนิ้วที่เหลือมักจะติดชัด แขนซ้ายองค์พระแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนกลาง มักเห็นเป็นกล้ามเส้นน้ำตกใต้แขนซ้าย องค์พระมาโผล่ ที่ใต้เข่าอีกจุด และในร่องใต้ ฐานอาสนะชั้นบนสุดอาจมีเส้นน้ำตก แผ่วๆ ในแนวเดียวกัน ร่องใต้ฐานอาสนะชั้นบนสุดจะมีเส้นแซมบางๆ หนึ่งเส้น ฐานอาสนะชั้นล่างสุดมี 3 ชั้น ชั้น 2 และ 3 บางทีติดกันโดย มีร่องตื้นๆ คั่นกลาง
ต้นฐานพระมีรอยบี้และรอยนิ้วมือติดอยู่ เกิดจากตอนดันพระออกจาก พิมพ์ทุกองค์
ต้นแขนขวาองค์พระคอกเล็กน้อย คล้ายพระคงแต่น้อยกว่าพระพิมพ์ ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเห็นปลายพระบาทซ้ายองค์พระคล้ายท้องมีร่องปากเล็กๆ ปรากฏ
พระรอดพิมพ์ใหญ่ ลักษณะขององค์พระจะมีฐาน 4 ชั้น ซึ่งมีมากกว่าพระรอดพิมพ์อื่นๆ ซึ่งมีเพียง 3 ชั้นคือ จะประกอบไปด้วยฐานชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 โดยฐานชั้นที่ 3 และ 4 นั้นจะติดกัน ส่วนด้านล่างสุดเป็นเนื้อดินที่ล้นพิมพ์และจะกดทับขึ้นมาชนกับฐาน ชั้นที่ 4
พระสกุลลำพูน พระรอดยอดสูงส่ง อีกพระคงคงกระพัน พระลือชื่อลือลั่น เสน่ห์นั้นต้องพระบาง พระเปิมช่วยเสริมสร้าง พระเลี้ยงล้างทางอัปรีย์ พระลบพบคนดี มีสุขศรีพระรอดหลวง
พืชผลของเกษตรกรนั้น นอกจากหอมกระเทียมที่เป็นผลิต ผลที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลำพูนแล้ว ลำไยเป็นหนึ่งในผลผลิตที่ทำรายได้ให้แก่จังหวัด เป็นอย่างมากอีกชนิดหนึ่ง
ลำไยเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งร้อนของเอเชีย ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในลังกา พม่า จีน และอินเดีย
แต่ที่พบหลักฐานปรากฏในวรรณคดีจีนสมัยพระเจ้าเซ็งแทง เมื่อ 1766 ปีก่อนคริสตกาล มีการพูดถึงลำไยแล้วเมื่อ พ.ศ.1514
ชาวยุโรปได้เดินทางไปยังประเทศจีนได้เขียนเรื่องราวของลำไยไว้ ซึ่งแสดงว่าลำไยนี้มีการปลูกที่มณฑลกวางตุ้ง เสฉวน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลฟูเกียนของจีน
ลำไยแพร่หลายเข้าไปในหลายประเทศ ลังกา อินเดีย พม่า ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคาดว่าคงเข้ามาในประเทศ ไทยพร้อมๆ กับประเทศในเขตนี้ หลักฐานที่พบคือ พบในสวนเก่าแก่ของร้อยเอกหลวงชาญอรีพล ใกล้วัดปริวาส ตรอกจันทร์ ถนนสาธุประดิษฐ์ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นลำไยขยายพันธุ์มาจากเมล็ดเพาะ แสดงว่ามีการพัฒนาพันธุ์ตามสภาพภูมิอากาศมา ก่อนหน้านี้แล้ว
พระราชชายาดารารัศมีได้นำลำไยมาจากกรุงเทพฯ ขึ้นไป ขยายพันธุ์ที่เชียงใหม่ จากนั้นได้ขยายสู่จังหวัดต่างๆ ในล้านนา โดยการเพาะเมล็ดจนเกิดพันธุ์ใหม่ตามสภาพดินฟ้าอากาศ
จังหวัดลำพูนมีสภาพภูมิประเทศที่ดี มีภูมิอากาศที่เหมาะสม มีลุ่มแม่น้ำหลายสาย จนเกิดลำไยต้นหมื่นที่บ้านหนองช้างคืน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่รสชาติหวานกรอบ
จากนั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้มีลำไยหลากหลายพันธุ์กว่า 100 ปีแล้ว
บางปี บางฤดูกาลผลิตผลลำไยจะมีมากเกินความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้เกิดโรงงานในเรื่องแปรรูปผลผลิตลำไยเช่น อบแห้ง บางครั้งจะเห็นแม่ค้าหัวใสนำลำไยมาใช้ในการประกอบอาหาร เช่น ข้าวซอย ทำให้มีรสชาติไปอีกรูปแบบหนึ่งอีกด้วย
ซึ่งในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี จังหวัดลำพูนยังได้มีการ จัดงานเทศกาลลำไย เพื่อจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรอีกด้วย
วัดศรีดอนชัย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา “พระพุทธเฉลิมสิริราช” (พระเจ้ายืน) สูง 59 เมตร เป็นพระพุทธรูป องค์หนึ่งที่สูงและใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ สร้างโดยศรัทธาของประชาชน เมื่อปี พ.ศ.2536 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสเสด็จครองราชย์ปีที่ 60 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
วัดพระธาตุดอยเวียง สร้างเมื่อ พ.ศ.1220 สมัยพระนางจามเทวี ตามจารึกใบลานภาษาพื้นเมืองเล่าไว้ว่า ขุนหลวงปาละวิจาได้มาตั้งเมืองที่นี่ สร้างพระวิหารเจดีย์บนภูเขา วัดนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัย
โดยมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งฝนแล้ง ชาวบ้านเดือดร้อนจึงนำพระองค์นี้มาแห่ขอฝน ปรากฏฝนมาก จึงได้ตั้งชื่อท่านว่า “พระเจ้าสายฝน” นอกจากนี้ยังมีองค์พระเจ้าดำดิน ประดิษฐานไว้ บนเขา 1 องค์ ข้างล่าง 1 องค์ สร้างสมัยพระนางจามเทวี
พระธาตุดอยห้างบาตร เป็นเจดีย์รูปทรงจัตุรมุขสีขาวมีฉัตรทองอยู่ยอดเจดีย์ ไม่มีหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด
ป่าซาง เราเคยได้ยินและรู้จักกันมานมนานแล้ว ป่าซางเป็นเมืองเก่าชุมชนเก่าแก่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ที่ตั้งอำเภอป่าซาง ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำทากับแม่น้ำปิง
ก่อนจะมาเป็นอำเภอป่าซาง บ้านป่าซางคือตำบลหนึ่งของอำเภอ ปากช่อง จังหวัดลำพูน เมื่อสมัยพระยากาวิละจะกอบกู้เมืองเชียงใหม่ ได้ซ่องสุมกำลังพลที่เวียงเวฬุคาม ซึ่งตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำด้านทิศตะวัน ตก มีแนวกำแพงเมืองลักษณะเป็นรูปเกือกม้า คูน้ำที่ล้อมรอบเวียงเวฬุคามนั้นใช้น้ำไหลเข้าจากแม่น้ำทา โดยมีฝายกั้นที่ธนาคารออมสินในปัจจุบัน
น้ำไหลรอบคูเมืองไปออกข้างป่าช้าป่าซางปัจจุบัน กำแพงเมือง กว้าง 1 เมตร มียามรักษาการณ์ตลอดแนวกำแพงเมือง 100 เมตร ปัจจุบันซากกำแพงเมืองยังมีอยู่เป็นเขตกว่า 1.5 กิโลเมตร
ตลาดป่าซาง ถนนลำพูน-ป่าซาง เพียง 11 กิโลเมตร ตรงข้ามวัดป่าซางมีให้ได้จับจ่ายใช้สอยหลากชนิด โดยเฉพาะสินค้าประเภทผ้าฝ้าย
ณ วันนี้ เห็นแล้วใจหายจากภาพอดีต การเรียงรายของร้านรวงสินค้าพื้นเมืองห้องแถวที่คลาสสิก ตลอดแนว 2 ฟากถนน นั้นกลายเป็นความทรงจำไปเสียแล้ว
จากผู้คนที่ขวักไขว่ ค้าขายกันอย่างสนุกสนานด้วยสำเนียง และใบหน้าที่ชวนซื้อไม่มีให้เห็น
การตัดถนนสายใหม่ ทำให้เส้นทางการเดินทางไม่มีความจำเป็นต้องผ่านถนนเส้นป่าซางอีกต่อไปนั่นเอง ไปดูการผลิตผ้าฝ้าย ทอมือ ยิ่งทำให้รู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง จะเห็นแต่ระดับแม่อุ๊ย นั่งประจำกี่กระตุกไม้แบบดั้งเดิมเพื่อผลิตผืนผ้าด้วยความประณีต ชำนาญโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อออกสู่สายตาเหล่านักท่องเที่ยว ส่วนคนรุ่นหนุ่มสาว จะพากันไปแออัดที่นิคมอุตสาหกรรม สู่เมือง เชียงใหม่หรือกรุงเทพมหานคร จากคำตอบโจทย์ที่ว่า ได้มีโอกาส พบปะผู้คน สะดวกสบายโดยเฉพาะรายได้ที่ดีกว่านั่นเอง
ป่าซางถือว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือเพื่อการส่งออก และผลิตให้ร้านค้าต่างๆ ในจังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ผ้าฝ้ายทอมือแหล่งผลิตที่ใหญ่และมีชื่อเสียงอยู่ที่บ้านหนองเงือกและบ้านดอนหลวง
จุดเด่นของผ้าฝ้ายบ้านดอนหลวง จะเป็นการทอมือแบบโบราณ เน้นลาย 4 และลาย 6 ตะกอ ช่วยให้เนื้อฝ้ายนุ่มและเหนียว นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนารูปแบบให้มีความหลากหลาย มีทั้งรูปของผ้าซิ่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ กระเป๋า ปลอกหมอน ผ้าคลุมเตียง และอีกสารพัดชนิด
สำหรับวัดหนองเงือก เป็นวัด เก่าแก่สามารถพบเห็นศิลปกรรม ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะปูนปั้นที่ซุ้มประตูวัดและหอไตร ซึ่งเป็นศิลปะแบบพม่า ลักษณะตึกโบราณ 2 ชั้น ชั้นล่างมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง
วัดพระพุทธบาตรตากผ้า วัดนี้มีตำนานการสร้างเล่าว่า พระพุทธองค์เคยเสด็จประทับที่นี่ แล้วทรงนำจีวรออกตากกับหน้าผาหินแถวนั้น ปัจจุบันยังปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายจีวรพระ
ผ้านี้มีลักษณะคล้ายกับผืนนาของชาวมคธอินเดีย เนื่องจากได้มีการนำลักษณะผืนนาดังกล่าวมาเป็นตัวอย่างการเย็บผ้าจีวรพระภิกษุไว้ใช้นุ่งห่มมาจนทุกวันนี้
ทรงอธิษฐานเหยียบพระบาท ประดิษฐานรอยไว้บนลานผาลาด นอกจากนั้นบนม่อนดอยเบื้องหลังวัดได้สร้างพระเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะผสมผสานพระธาตุดอยสุเทพและพระธาตุหริภุญชัย โดยมีบันไดนาคเชื่อมระหว่างเจดีย์บนม่อนดอยกับวัดพระบาทตากผ้าที่เชิงดอย
ทุกปีจะมีการจัดงานประเพณีสรงน้ำพระพุทธบาท ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งตรงกับวันถวายพระเพลิงพระสรีระสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วัดพระบาทห้วยต้มเป็นวัดใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ วัดประจำ หมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม มีสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด มีองค์พระธาตุที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม บูรณะก่อสร้างจากศรัทธาชาวกะเหรี่ยง ที่มีต่อครูบาชัยวงศา พระอาจารย์ชื่อดังในภาคเหนือ
ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ นอกจากทำไร่ทำสวนแล้วยังเป็นช่าง ฝีมือทอผ้า เครื่องเงิน และเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนอีกด้วย
นอกจากนี้ที่อำเภอแม่ทายังมีหมู่บ้านแกะสลักบ้านทา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไม้แกะสลักลวดลายของเนื้อไม้ฉำฉาเป็นรูปแบบต่างๆ แกะเป็นเครื่องประดับบ้าน เครื่องใช้ รูปคน รูปสัตว์ รูปตุ๊กตา บนถนนท่าจักร-แม่ทา
สิ่งที่จะละเลยไม่พูดถึงไม่ได้เลยนั่นก็คือ อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอแม่ทา ลำพูน อำเภอห้างฉัตร อำเภอเมืองของจังหวัดลำปาง สภาพพื้นที่เป็นป่า เขตอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด
บริเวณยอดเขาจะมีที่ทำการของอุทยานฯ มีบ้านพักรับรอง ย.1 ซึ่งเป็นบ้านพักรับรองของการรถไฟฯ ถ้าเดินเท้าต่อไปอีกเกือบ 1 กิโลเมตร จะเรียก ย.2 ซึ่งมีต้นสนเขาขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น จะเป็นบ้านพักรับรองของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ภายในปลูกพันธุ์พืชไม้เมืองหนาว และเมื่อเดินต่อไปอีกเกือบ 4 กิโลเมตรจะถึง ย.3 เป็นที่ตั้งของบ้านพักมิชชันนารี จุดสูงสุดของเทือกเขาคือ “ม่อนส่องกล้อง” คือ ย.4 ซึ่งต้องเดินขึ้นไปอีก 1 กิโลเมตร
สำหรับอาณาจักรที่เก่าแก่ในแถบภาคเหนือนี้มีการสั่งซื้อไหมดิบจากหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้าง โดยผ่านทางจังหวัด น่าน และพ่อค้าจีนฮ่อนำมาจากยูนนาน ราชสำนักคุ้มของเจ้านาย จะมีข้าทาสบริวารที่ทำหน้าที่ทอผ้า สำหรับในราชสำนักของภาคกลางจะสั่งซื้อมาจากกัมพูชา อินเดีย เปอร์เซีย และจีน ประเภทผ้าตาด ยกดิ้นทอง ผ้าเขียนทอง มักจะมีการออกแบบลวดลายให้ทำ อาจจะทอเองบ้าง นอกจากนี้ทางภาคใต้ยังเป็นแหล่งทอผ้า ดิ้นทองซึ่งสืบทอดกันมานานแล้วอีกด้วย
ศิลปะการทอที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของลำพูน มีลวดลายเฉพาะแบบโบราณ แม้ว่าราคาจะค่อนข้างสูง แต่ความงามจากผืนผ้าโดยฝีมือที่ประณีตจากท้องถิ่นจึงเป็นที่นิยม โดยเฉพาะเป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศ “ผ้าไหมยกดอก”
ผ้าไหมยกดอกนี้ เป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่งดงาม ประณีตด้วยฝีมือซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อมาหลายชั่วอายุคนแล้ว
การยกดอก เป็นการทำลวดลายในการทอซึ่งเกิดจากการยกและการแยกเส้นไหม ด้ายเส้นพุ่งขึ้นลงและมีการเพิ่มเส้นไหมด้ายเส้นพุ่งจำนวน 2 เส้น หรือมากกว่าเข้าไป รวมทั้งการเพิ่มดิ้นเงินดิ้นทองเพื่อให้ได้ลวดลายและสีสันงดงาม
ขั้นตอนเริ่มจากการทำเส้นไหมซึ่งได้จากการนำรังของตัวไหมมาปั่นเป็นเส้นใย เส้นไหมที่ได้จากการปั่นเมื่อนำมาทอเป็นผ้าไหมยกดอกจะแบ่ง เส้นไหมได้คือ
ไหมเส้นยืน คือเส้นไหมดิบที่ปั่นด้วยใยไหม 4 เส้น เป็นไหม เส้นยืน
ไหมเส้นพุ่ง เส้นไหมที่ปั่นด้วยใยไหม 6 เส้น สำหรับใช้เป็นไหมพุ่งและทำลายยกดอก
เส้นไหมที่ได้จากการปั่นจะมียางเหนียวคล้ายกาว โดยถูกขับออกมาจากตัวไหมโดยธรรมชาติพร้อมๆ กับเส้นใยไหม จะทำให้เส้นใยไหมแข็ง หยาบกระด้าง ขาดความเงางาม จึงต้องนำไปฟอกก่อนทอ
การฟอกนอกจากจะช่วยทำให้เส้นไหมนิ่มเป็นประกายแล้ว สีจะติดทนนานไม่ตก ไม่ซีด
ไหมเส้นยืนจะต้องนำไปใส่ในน้ำแป้งผสมน้ำมันพืชหลังจาก การฟอกเสร็จ โดยใช้แป้งหมี่ มีส่วนผสมเพียงเล็กน้อย และน้ำมันพืช 2-3 หยดต่อเส้นไหม 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งจะช่วยให้เส้นไหมลื่นไม่ติดกันและนำไปตากแห้ง หลังจากนั้นนำไหม ไปย้อมเพื่อให้ได้สีสันตามต้องการ
การนำเส้นไหมที่ย้อมแห้งดีแล้วมาปั่นการกรอเพื่อการแยกเส้นไหมให้ออกเป็นเส้นๆ เป็นการดูเส้นไหมให้เรียบร้อยไม่ขาด เพื่อความสะดวกในการสาวไหม
การโล้นไหมในภาษาพื้นเมือง คือการนำเส้นไหมยืนที่กรอ แล้วไปสาวในรางสาวไหม อุปกรณ์ใช้ในการสาวไหมประกอบด้วย ม้าเดินได้ ไม้ไขว้หลัง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการสาวไหมและหลักตั้ง
ฟืมหรือฟันหวี ใช้สำหรับสาวเส้นไหมให้เป็นระเบียบและเป็นประโยชน์ในการทอโดยใช้กระทบไหมเส้นพุ่งให้ขยับเข้าขัดกับไหมเส้นยืน คือสานให้เป็นผืนผ้าออกมาดูสวยงาม
การทำฟันหวีด้วยไม้นั้น ช่วงห่างจะไม่มีความสม่ำเสมอและโยกได้ ทำให้ผ้าไหมที่ทอออกมาไม่ได้คุณภาพและความสวยงาม
ปัจจุบันฟันหวีจะทำด้วยสเตนเลสจะให้มีความงดงามความสม่ำเสมอ ถ้าใช้ทองเหลืองจะเกิดสนิมไปติดเนื้อผ้า
การเข้าฟันหวีก่อนเข้านำไหมไปเข้าเครื่องหนีบ เพื่อยึดเส้นไหมด้านหนึ่งเอาไว้ ฟันหวีจะช่วยสาวเส้นไหมให้เป็นระเบียบและสม่ำเสมอ การนำไหมเส้นยืนไปเข้าหัวม้วน ทุกๆ 5 เมตรจะใช้ทางมะพร้าวสอดกันไว้ มีประโยชน์คือป้องกันเส้นใยบาดกันเอง เมื่อไหมขาด จะหารอยต่อได้ไม่ยาก
ประวัติการทอผ้าไหมยกดอกของลำพูน เริ่มจากในคุ้มเจ้าแต่เป็นการทอผ้าฝ้ายยกดอกลวดลายธรรมดา จนกระทั่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้นำการทอผ้าไหมยกดอกที่มีลวดลาย วิจิตรตระการตา แปลกตา ซึ่งเรียนรู้จากภาคกลางมาถ่ายทอดให้ เจ้าหญิงส่วนบุญ ชายาเจ้าครองนครลำพูนองค์สุดท้ายที่เป็นพระญาติกัน โดยมีเจ้าหญิงลำเจียกธิดาได้เริ่มทำต่อมา
จนในที่สุดการทอผ้าไหมยกดอกได้แพร่หลายไปสู่ชาวบ้าน จนทำให้ลำพูนกลายเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงเรื่องการแต่งภายในสมัยรัชกาลที่ 6 จากการสวมผ้าโจงกระเบนมาเป็นการสวมใส่ผ้าซิ่นและสวมเสื้อแบบชาวตะวันตก นอกจากนี้การคมนาคมที่สะดวกด้วยแล้ว โดยเฉพาะ ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่เฉพาะชนชั้นสูงและเจ้านายเท่านั้น ประชาชนทั่วไปเริ่มนิยมใช้และสวมใส่ ทำให้ผ้าไหมยกดอกของลำพูนเป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ทำให้เกิดโรงงานทอผ้าไหมยกดอกขึ้นมากมาย
เช่น โรงทอคุ้มเจ้าหญิงส่วนบุญฯ โรงทอผ้าเจ้าหญิงลำเจียก ณ ลำพูน โรงทอผ้าทองคำ อินทพันธ์ โรงทอผ้าป้าบุญศรี “ปรีชา เกียรติไหมไทย” โรงงานทอผ้าป้าสุวรีย์ ป้านวลแก้ว คุณย่าบัวผัน คุณป้าคำแหว้น ป้านวลจันทร์ ซึ่งบางโรงงานได้เลิกกิจการไปแล้ว
สำหรับโรงงานที่สร้างชื่อเสียง และได้รับความนิยมตลอดมาถึงปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ คือโรงงานทอผ้าไหมเพ็ญศิริไหมไทย เป็นโรงงานที่ทอผ้าไทยยกดอกทั้งผ้าดิ้นเงินดิ้นทอง และเป็นแหล่งทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของลำพูนในปัจจุบัน โดยได้มีการปรับการทอผ้าแบบโบราณให้เข้ากับยุคสมัยเป็นอย่างดี ซึ่งยังคงความสวยงามและประณีต
เพ็ญศิริ บุญเกียรติ ซึ่งเป็นทายาททางหัตถศิลป์ ได้รับช่วง ดำเนินการกิจการ สืบทอดมรดกทางด้านนี้ของบรรพบุรุษที่เกือบ สูญหายไป
เพ็ญศิริมีความพร้อมทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ วัตถุดิบ โดยเฉพาะเรื่องวิชาการ และครูฝึก ทำให้เมื่อปี 2531 กลุ่มแม่บ้านต่างๆ ได้เข้ารับการฝึกฝนจนกลายเป็นการทอผ้าไหมพื้นเมืองส่งเสริมอาชีพกระจายรายได้
ทั้งนี้ยังได้รับการแต่งตั้งจากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดลำพูน เป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรมผ้าไหมยกดอกจังหวัดลำพูน “เพ็ญศิริไหมไทย”
ผ้าทอมือเป็นผ้าทอพื้นบ้านของไทย ส่วนใหญ่จะใช้เส้นใย จากธรรมชาติ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยเฉพาะบรรดา นักท่องเที่ยวจะหลงใหลในเสน่ห์ผ้าทอมือของไทยเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
เมื่อวันที่เข้าไปตลาดป่าซางได้พบแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือ “นันทขว้าง” ซึ่งทุกคนโดยเฉพาะผู้คนต่างถิ่น นักท่องเที่ยวชื่นชม ชื่นชอบในผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นี้ และยังมีความเข้าใจว่าเป็นของเชียงใหม่ แต่แท้จริงแล้วแหล่งผลิตอยู่ที่ลำพูน
มีโอกาสได้พูดคุยกับ “ก้อย” สการะ ศรีทิภัณฑ์ วัยเฉียด 50 ปี เป็นคนอำเภอป่าซาง ได้เห็นลวดลายผ้าฝ้ายทอมือ ม้วนผ้า และได้เรียนรู้และซึมซับในสิ่งเหล่านี้ และได้รับรู้มาแต่เกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพบรรพบุรุษของเธอคือ โสภา เมืองกระจ่าง มารดา ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ “นันทขว้าง” ที่ผลิตและจำหน่ายผ้าฝ้ายทอมือโดยเฉพาะใช้สำหรับในการตกแต่งบ้าน ได้ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2495
ก้อยเล่าว่า ครอบครัวได้ส่งเข้าเรียนที่เรยีนาเชลีวิทยาลัย ในฐานะนักเรียนประจำอยู่กับมาแมร์นักบวชที่บางท่านมีความสนใจ และชอบในการสอนงานฝีมือตามสไตล์ฝรั่ง ทำให้เธอได้ซึมซับเข้ามาอยู่ในตัวเธอตลอดวัยเรียน เลือกเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จบจากคณะมนุษยศาสตร์ในสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส จากนั้นไปอยู่ที่ปารีส มีความหลงใหลด้านงานฝีมือ จึงได้ศึกษาการทำผ้า Patchwork Paint รูปลงบนผืนผ้า ทำ Tapisserie คือ การทำพรมที่ทอตามรูปภาพ
นอกจากนั้นยังได้ศึกษาดูงานแสดงนิทรรศการต่างๆ ดูชิ้นงานตามพิพิธภัณฑ์และมีโอกาสเข้าไปใช้ห้องสมุดที่มีการแสดง ฝีมือสมัยโบราณที่ Louve และ Fornex
การใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสทำให้มีโอกาสได้พบเห็นสิ่งที่สวยงาม รวมทั้งจากการจัดแต่งร้านต่างๆ หลากรูปแบบ ทำให้เกิดเป็นแรง บันดาลใจ เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทย เมื่อ พ.ศ.2526 จึงได้สานต่องานของบรรพบุรุษด้วยการประยุกต์ผ้าฝ้ายทอมือออกแบบลวดลาย ผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย สูงด้วยดีไซน์ งานผ้าฝ้ายในห้องนอน ห้องนั่งเล่นรับแขก ห้องครัว หรือแม้แต่เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ที่มีประโยชน์ใช้สอยในงานที่แตกต่างกันออกไป โดยมาเปิด กิจการบนถนนนิมมานเหมินท์ ถนนสายเล็กๆ ข้างมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ซึ่งแรกเริ่มมีร้านค้าอยู่เพียงไม่กี่ร้าน และเพิ่มสาขาที่มีสินค้าแตกต่างที่ถนนเลียบคลองชลประทาน
และยังคงร้านในกรุงเทพฯ ในซอยสุขุมวิท 23 ไว้บริการอีกด้วย ซึ่งมีการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ก้อยบอกว่ามีความสุข ที่ได้ทำงานที่ชอบ และยังมีโอกาสได้ช่วยอนุรักษ์เอกลักษณ์ของชาวลำพูนไว้เป็นมรดกแก่อารยชนรุ่นลูกหลานต่อไปอีก ทำให้ผู้เขียนโล่งอกกลับมาหัวใจพองโตกับเอกลักษณ์ผ้าฝ้ายทอมือของชาวลำพูนที่ยังคงมีชีวิตชีวา เส้นทางเดินที่มั่นคง สดใสและยาวไกล ต่อไปอีกนานแสนนาน
|
|
 |
|
|