|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

“เรียนจบมาไม่รู้หนังสือ” คุณคิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นความผิดของใคร พ่อแม่ ครู เด็ก หรือระบบการศึกษา
ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยไหน แต่ปัจจัยความไม่ประสบความสำเร็จของการเรียนในระดับประถมศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดนี้ กำลังถูกกำจัดออกด้วยโครงการทวิภาษา
โครงการทวิภาษาเป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ: กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-ภาษามลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นเจ้าของระบบการเรียนการสอนแบบทวิภาษา ที่มีความครบถ้วนทั้งระบบการฟัง พูด อ่าน เขียน และนำโครงการไปใช้กับหลายจังหวัดชายแดนในทุกภาคของประเทศมาแล้ว แต่การทำโครงการทวิภาษาเข้ามายังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่มีปัจจัยเสริมด้านความไม่สงบและปัญหาความรุนแรง ว่ามีประเด็นอื่นแอบแฝงหรือไม่นอกจากความต้องการแก้ปัญหาวิกฤติด้านภาษาในพื้นที่เท่านั้น ซึ่งจากผลการดำเนินงานก็กำลังเป็นตัวพิสูจน์ที่ทำให้หลายฝ่ายยอมรับในโครงการนี้มากขึ้น
ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ภาษามลายูถิ่นเหมือนๆ กัน ซึ่งเป็นภาษาเดียวกับภาษามลายูหรือภาษามาเลย์ แต่มีสำเนียงเพี้ยนกันเล็กน้อย เช่น กินข้าว มลายูจะออกเสียงว่า มากัน นาซิ แต่มลายูถิ่นจะออกเสียงเป็น มาแก นาซิ หรือคำว่า พี่ชายที่คนไทยคุ้นเคยว่า “บัง” มลายูถิ่นก็จะออกเสียงเป็น “แบ” เทียบแล้วก็เหมือนกับภาษาไทยที่มีสำเนียงของภาษาไทยกลาง แต่ก็มีสำเนียงเหน่ออย่างคนสุพรรณฯ นั่นเอง
ในมาเลเซียการสื่อสารนอกจาก ภาษาพูด มีการใช้ภาษาอังกฤษสะกด คำถ่ายทอดเสียงภาษามลายู เรียกกัน ว่า ภาษารูมิ (RUMI) แต่ภาษามลายูถิ่นไม่มีตัวเขียนที่ใช้ถ่ายทอดระหว่างกันนอกจากภาษาพูด
วิกฤติด้านภาษาของคนสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ไม่ใช่แค่ปัญหาการอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ แต่สำเนียงภาษามลายูถิ่นเองก็เริ่มเพี้ยนไป กลายเป็นว่าคนท้องถิ่นกำลังล้มเหลวกับทั้ง 2 ภาษา แต่ภาษาเป็นทั้งเครื่องมือการสื่อสารและเครื่องมือการต่อยอดไปสู่การคิดและการพัฒนาตัวเองของมนุษย์ ความล้มเหลวด้านภาษาย่อมส่งผลต่อความล้มเหลวของระบบการพัฒนาในภาพรวมอย่างไม่ต้องสงสัย
“ปี 2507 ผมเป็นครูบรรจุครั้งแรก เสนอให้สอนภาษาไทยเด็กเล็ก สอนได้ปีที่สอง ผมถูกต่อต้านว่านี่คือตัวทำลายภาษามลายู ทั้งที่ผมคิดว่าต้องสอนภาษาไทย ก็เพราะว่าเด็กสมัยนั้นพูดไทยไม่ได้” คำพูดของแวยูโซะ สามะอาลี ประธานอนุกรรมการโครงการฯ และครูเกษียณอายุราชการ ที่ยังคงสะท้อนปัญหาด้านการเรียน ภาษาไทยในพื้นที่ที่มีปัจจัยอื่นแฝงอยู่เสมอได้อย่างดี
สิ่งที่คุณครูแวยูโซะเริ่มต้นทำมา ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ยอมรับและเคยชินว่า ระบบการศึกษาในห้องเรียนระดับประถมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งมีประชากร ที่ใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวันเกือบ 100% จะต้องมีการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นเครื่องมือหลักเป็นพื้นฐานมาหลายสิบปี แต่ปัญหาที่ปรากฏในปัจจุบันกลับกลาย เป็นว่า ระบบการเรียนการสอนนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเมื่อพบว่า
“จากการวัดผลการศึกษาของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หรือช่วงชั้นที่ 1 พบว่าเด็กในสามจังหวัดภาคใต้อ่านภาษาไทยไม่ออกและเขียนไม่ได้ถึง 30.82% มีอีก 20% กว่า ต้องปรับปรุง และถ้าวัดเฉพาะทักษะด้านการเขียน ตัวเลขนี้จะปรับสูงขึ้น เกินกว่า 40%”
ผลที่ออกมานี้ส่งผลต่อการเรียนวิชาอื่นๆ และการศึกษาของเด็กทั้งระบบ เพราะในการเรียนระดับสูงขึ้นไปนั้นเด็กไม่สามารถที่จะใช้แค่ทักษะกระบวนการคิดเพียงอย่างเดียว การใช้ทวิภาษาแบบเต็มรูปแบบทั้งฟังพูดอ่านเขียน จึงเป็นคำตอบที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ทั้งการเรียนรู้ภาษาไทยและการสืบทอดภาษามลายูถิ่นให้คงอยู่
กลไกของโครงการทวิภาษา หยิบอักษรไทยมาใช้ถ่ายทอดเสียงภาษา มลายูถิ่น จากนั้นเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่การจัดทำแผนการสอน สื่อ เทคนิควิธีสอน การประเมินผล และการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนเพื่อการเรียน การสอนใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ทั้งหมดยังคงดำเนินงานภายใต้หลักสูตรตามระดับ ชั้นที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้
เป้าหมายการเรียนเพื่อฟัง พูด อ่าน เขียนไทยให้ได้ แต่สอนกันด้วย ภาษามลายู จะไปกันได้อย่างไร คำตอบที่ชัดเจนที่สุดหนีไม่พ้นการเข้าไป สัมผัสและมีส่วนร่วมในประสบการณ์จริง
“ตั้งแต่สอนแบบทวิภาษา พ่อแม่เด็กบางคนถึงกับมาหาครูที่โรงเรียน มาถามว่าทำอะไรกับลูกเขา กลับบ้านไปเด็กอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าเลย ทั้งใบปริญญา เห็นป้ายอะไรแปะไว้ก็หัดสะกด หัดอ่าน” คุณครูต่วนเยอะ นิสะนิ คุณครูประจำชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนบ้านประจัน เล่าถึงระบบการเรียน การสอนด้วยความสนุกสนาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้โรงเรียนเคยได้รับจดหมายขู่จะเผาโรงเรียนจากชายชุดดำที่คลุมหน้าตามายื่นให้ก่อนจะเริ่มโครงการนี้ เล่นเอาคุณครูต้องรีบปิดโรงเรียนส่งเด็กกลับบ้านกันทันที
ในระยะทดลองนี้ โครงการฯ ใช้โรงเรียนต้นแบบ 4 แห่งใน 4 จังหวัด บวกสตูลเข้ามาอีก 1 จังหวัด เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการใช้ภาษาถิ่นกันเกือบ 100% ส่วนโรงเรียนที่เลือกมาทดลองจะเป็นโรงเรียนที่คนในชุมชนใช้ภาษามลายูถิ่นในชีวิตประจำวัน 100% โรงเรียนบ้านประจัน อ.รามัญ จ.ปัตตานี เป็น 1 ใน 4 ของโรงเรียนทดลองที่ ผู้จัดการ 360◦ มีโอกาสเข้าไปสัมผัส การเรียนการสอนทั้งในระดับอนุบาล 1 อนุบาล 2 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของการทดลองที่มีอยู่ตอนนี้
หนึ่งในอุปสรรคของโครงการทวิภาษาก็คือความคลางแคลงใจของคนในพื้นที่ดังกล่าว แม้ว่าการเรียนการสอนจะเปลี่ยนมาใช้ภาษาแม่ ซึ่งก็คือภาษามลายูถิ่น เพื่อการสื่อสารในการเรียนการสอนแทนภาษาไทยที่ใช้กันมานานก็ตาม
“พ่อแม่อยากให้เด็กพูดอ่านเขียนไทยได้ พอบอกจะสอนเป็นมลายูก็ไม่พอใจ แล้วอย่างนี้ลูกฉันจะพูดไทยได้อย่างไร ตอนแรกย้ายลูกไปเรียนโรงเรียนอื่นก็มี” คุณครูต่วนเยอะเล่า
แต่วันนี้หลายคนแม้กระทั่งเด็กในเมืองก็อยากจะย้ายลูกมาเรียนที่โรงเรียนบ้านประจัน เมื่อโครงการทวิภาษาเริ่มมีการทดลองที่เห็นผลถึงระดับชั้น ป.1 และมีเด็กคว้ารางวัลชนะเลิศ การอ่านเขียนภาษาไทยระดับจังหวัดมาเป็นเครื่องพิสูจน์งานทดลอง ที่เริ่มเผยแพร่สู่การรับรู้ของคนภายนอกอย่างเป็นรูปธรรม
โครงการทวิภาษานอกจากจะพิสูจน์ความสำเร็จในตัวเอง ยังถือเป็นการพิสูจน์ความสำคัญของภาษาแม่ (Mother tongue) ซึ่งแม้แต่องค์การยูเนสโกก็หันมาให้ความสำคัญว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสื่อสารให้มนุษย์มีพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะเป็นภาษาแรกที่เด็กได้รับตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
เดิมนั้นเด็กในสามจังหวัดเมื่อเริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาล จากเดิมที่เคยสื่อสารด้วยภาษามลายูถิ่นกับพ่อแม่อยู่ทุกวัน แต่แค่ก้าวแรกที่เข้ามาในรั้วโรงเรียน ชีวิตพวกเขาก็ไม่ต่างกับการถูกส่งไปอยู่ยังต่างแดนเพราะต้องสื่อสารด้วยภาษาไทย กับครูผู้สอนที่ถูกกำหนดให้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก และกลาย เป็นปัญหาสะสมที่กลายเป็นปมวิกฤติ
“เราไม่ได้ทิ้งภาษาไทย แต่ให้ครูผู้สอนสื่อสารกับเด็ก ด้วยภาษามลายูถิ่น ซึ่งจากเดิมไม่มีตัวอักษรในการเขียน
เราก็สร้างระบบโดยใช้อักษรไทยมาใส่ถ่ายทอดเสียงมลายูถิ่น เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมกับภาษาไทยหรือการอ่านเขียนภาษาไทยได้ในชั้น ป.1 ซึ่งจะต่างจากเดิมหรือโรงเรียนอื่นๆ ที่จะสอนโดยเน้นเข้าสู่ระบบการอ่านเขียน ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก เลยตั้งแต่เริ่มต้น ขั้นตอนของทวิภาษา คือ ฟัง พูด ภาษามลายูถิ่นให้เข้าใจก่อน แล้วจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการมาฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาไทย” นักวิชาการในโครงการทวิภาษา เล่าถึงระบบของทวิภาษาที่นำมาใช้
ระบบนี้เน้นให้เด็ก ฟังเข้าใจ คิดตาม มีจินตนาการและสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เรียนออกมาได้ โดยมีภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร
“วันหนึ่งเราจะสอนศัพท์ใหม่ให้เด็กอย่างน้อย 6 คำ เริ่มจากพูดให้ฟัง ให้เขา รู้จักสะกดภาษาไทยเป็นเสียงภาษามลายูถิ่น อ่านตาม จากนั้นให้เขาเอาคำนี้ไปแต่งคำตามจินตนาการของเขา อย่างวันนี้เราสอนคำว่า รอดียู (แปลว่าวิทยุ) เด็กคนหนึ่งบอกแม่เปิดวิทยุเสียงดัง อีกคนบอกแม่หิ้ววิทยุ เด็กก็จะนำคำไปแต่งประโยคง่ายๆ จากประสบการณ์ที่เขาเคยเห็นแม่ เห็นคนในบ้านเคยทำ” คุณครูต่วนเยอะเล่า ถึงเทคนิคการเรียนการสอน
ขณะที่การสอนของคุณครูแวมีเนาะ วาเลาะ คุณครูประจำชั้นอนุบาล 1 กำลังใช้เทคนิคการสอนที่ใช้ภาษาถิ่นสร้างความเข้าใจให้เด็ก โดยนำประสบการณ์ใน ท้องถิ่นมาเป็นเรื่องราวในการเรียนการสอน
“เราให้เด็กๆ วนกันดูภาพต่างๆ เสร็จแล้วก็ให้เขาช่วยกันเรียง ลำดับภาพตามเรื่องราว ถ้าเรียงแล้วยังมีคนไม่เห็นด้วยก็ให้เด็กคนนั้นออกมาเรียงใหม่ ระหว่างนี้เราก็ถามว่าเพราะอะไรทำไมเหตุการณ์นี้มาก่อนมาหลัง โดยพยายามให้ทุกคนมีส่วนร่วม วิธีการสอนแบบนี้นอกจากจะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องราวแล้ว ยังทำให้เด็กกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก”
ระหว่างการสอนจึงมีนักเรียนของคุณครูแวมีเนาะผลัดกันยกมือเพื่อออกมาเรียงเรื่องราวของการไปทำละหมาดของชาวมุสลิมกันอย่างมีส่วนร่วมแทบทุกคน โดยเด็กบางคนเห็นว่าผู้คนจะทักทายกันก่อนเข้าไปละหมาด บางคนเห็นว่า การทักทายจะทำก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน การล้างมือต้องทำก่อนเข้าไปทำพิธีละหมาด ซึ่งคุณครูจะไม่เข้าไปตัดสิน หรือชี้ว่าเด็กคนไหนผิด แต่จะให้เพื่อนๆ ช่วยกันตัดสินและยอมรับร่วมกันจนไม่มีใครค้าน
“จากเหตุการณ์นี้เราก็กระตุ้นจินตนาการของเด็ก เพิ่มคำถามเข้าไปในเหตุการณ์ เช่น ถามว่าถ้าไม่มีน้ำล้างมือจะทำอย่างไร เด็กก็จะ เสนอวิธีแก้ ก็ไปล้างที่บ้าน ก็ถามต่ออีกถ้ามัสยิดพังลงมาทำอย่างไร เด็กบอกสร้างใหม่ ถามต่อว่าให้ใครสร้าง บางคนบอกให้พระเจ้ามาสร้าง ครูถามว่าทำไมไม่ให้พ่อสร้าง เด็กบอกพ่อทำไม่เป็น เด็กจะเข้าใจเรื่องที่สอน คำถามกระตุ้นให้คิดและมีส่วนร่วม”
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของการเรียน แบบทวิภาษาใน 3 จังหวัด จะกำหนดให้ สอดแทรกวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิต โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง กระตุ้นให้เกิดความคิดแล้วแสดงออกจากความเข้าใจที่ได้เรียนรู้มากกว่าให้จำแบบท่องจำ เมื่อเด็กเรียนรู้อย่างเข้าใจตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 พอเข้าสู่วิชาภาษาไทยในชั้นอนุบาล 2 จะเริ่มมีการเชื่อมโยงภาษามลายูถิ่นเข้าสู่ภาษาไทย โดยคุณครูจะปรับ เป็นการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาไทยทั้งหมดในชั่วโมงวิชาภาษาไทย เมื่อระบบ เปลี่ยนสื่อการสอนทั้งหมดที่เห็น จึงต้องทำขึ้นใหม่เพื่อโครงการทดลองนี้โดยเฉพาะ โดยผ่านกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำระหว่างครูและชาวบ้านในชุมชน และคุณครูผู้สอนก็ต้องเข้าสู่กระบวนการอบรม เพื่อนำเทคนิคใหม่นี้ไปใช้เช่นกัน
ฮัสนะ เจะอุบง ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 2 ซึ่งเป็นเขตของโรงเรียนบ้านประจันเล่าว่า ผลที่ทางโครงการวิจัยวิเคราะห์กันพบว่าการที่เด็กอ่อนภาษาไทย ทำให้การศึกษาในรายวิชาอื่นๆ อ่อนตามไปด้วย การสร้างเด็กให้มีความมั่นใจ ในการใช้ภาษาไทยจึงเป็นจุดสำคัญของการแก้ปัญหาด้านการศึกษาของเด็กในพื้นที่นี้ เพราะเมื่อเด็กมีความเข้าใจ ฟังได้ดี กล้าคิด กล้าพูด ก็ส่งผลต่อการพัฒนาทั้งด้านการเรียนรู้ สติปัญญา อารมณ์ ร่างกาย สังคม และจิตใจ ถือเป็นการตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาที่มา ถูกทาง เพราะเด็กในโครงการที่พบล้วนมีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และการเรียน
แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเด็กอนุบาลซึ่งอยู่ที่บ้านฟังพูดภาษามลายูถิ่น 100% แต่ต้องมาสื่อสารกับคุณครูในห้องด้วยภาษาไทย ปฏิกิริยาการโต้ตอบ การมีส่วนร่วมก็จะไม่เกิด เพราะทุกอย่างเริ่มต้นจากความไม่เข้าใจ
ประเด็นเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับแนวคิดขององค์การยูเนสโก ที่ให้ความสำคัญของการ ดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสืบสานภาษาแม่ของแต่ละ กลุ่มชนไว้ เพราะภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีบทบาทต่อการพัฒนามนุษย์ตั้งแต่เด็กจนโต หากขาดพื้นฐานความเข้าใจเพราะขาดเครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มคน ก็จะส่งผลต่อต่อศักยภาพในการพัฒนาบุคคลในสังคมนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
โครงการทวิภาษานี้นอกจากจะแก้ปัญหาวิกฤติด้านภาษา อีกด้านหนึ่งคณะทำงานของโครงการก็หวังกันว่า การสื่อสารที่ทำให้เด็กเรียนรู้อย่างเข้าใจมากขึ้นนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะพัฒนาไปสู่ความเข้าใจและกำจัดปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่ได้ด้วย
|
|
 |
|
|