Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤศจิกายน 2553
Super Wii-Fi: ปฐมบทของการเปิดเสรีการสื่อสาร             
โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
 


   
search resources

Wi-Fi
Federal Communications Commission




เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1985 คณะกรรมการการสื่อสารของสหรัฐอเมริกาหรือ FCC (Federal Communications Commission) ได้ตั้งกฎใหม่ขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นกฎที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของวงการเทคโนโลยีโลกในแบบที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน

FCC เป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กับ กสทช.ที่เรากำลังเพียรพยายามตั้งขึ้น โดย FCC มี หน้าที่หลักในการกำหนดหน้าที่การใช้งานให้กับคลื่นความถี่วิทยุสาธารณะความถี่ต่างๆ พูดง่ายๆ สมมุติคลื่นความถี่วิทยุทั้งหมดในประเทศสหรัฐอเมริกาคือพิซซ่าหนึ่งถาด FCC จะตัดแบ่งพิซซ่านั้นออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจากนั้นส่งชิ้นพิซซ่า นั้นให้แก่หน่วยงานหรือองค์กรที่จะสามารถนำคลื่นความถี่นั้นไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุ, สถานีโทรทัศน์, บริษัทโทรคมนาคม รวมถึงหน่วยงานการทหารต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในปี 1985 กฎบางอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปจากการผลักดันของ Michael Marcus วิศวกรที่เข้าร่วมงานกับ FCC นับตั้งแต่ยุครัฐบาลจิมมี่ คาร์เตอร์ ต่อเนื่องมาจนถึงยุคสมัยของประธานาธิบดี เรแกน โดย FCC กำหนดช่วงคลื่นความถี่ วิทยุบางช่วงให้สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้อง ขออนุญาต กฎนี้ทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยี รวมถึงผู้ใช้งานต่างๆ สามารถใช้งานอุปกรณ์ใดๆ บนคลื่นความถี่ช่วงนั้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยสามารถใช้ทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใดๆ

หรือกล่าวได้ว่า FCC ได้แบ่งพิซซ่า ชิ้นหนึ่งให้กับประชาชนนั่นเอง

อย่างไรก็ดี คลื่นความถี่ที่กันไว้นั้นก็ไม่ใช่คลื่นความถี่ที่ดีนัก โดยคลื่นความถี่ที่ FCC เอามาแจกจ่าย คือ 900 MHz, 2.4 GHz และ 5.8 GHz ซึ่งเรียกว่า คลื่นความถี่ขยะ (garbage band) เพราะเป็นคลื่นความถี่ที่มักจะโดนรบกวนโดยอุปกรณ์ ที่ใช้กันทั่วไปตามบ้าน เช่น ไมโครเวฟที่ใช้ คลื่นความถี่ 2.4 GHz เช่นกัน

แต่ด้วยเทคโนโลยีในการกระจายคลื่นความถี่ที่พัฒนาขึ้นที่เรียกว่า spread spectrum ซึ่งทำให้อุปกรณ์สามารถติดต่อ สื่อสารได้ตลอดช่วงของคลื่นวิทยุ ทำให้ลด ปัญหาเรื่องการโดนรบกวนได้มาก เหล่า บริษัทด้านเทคโนโลยีก็สามารถจัดการการใช้งานบนคลื่นความถี่ขยะเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

จากกฎในปี 1985 ทำให้เราได้ใช้งานเทคโนโลยีแบบไร้สายแบบ ทุกวันนี้ โดยอุปกรณ์สื่อสารแบบ ไร้สายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ไร้สาย, เราท์เตอร์ Wi-Fi ไปจนถึงบลูทูธล้วนใช้งาน คลื่นความถี่ที่ไม่ต้องขออนุญาต เหล่านี้ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าไม่มีกฎในปี 1985 นั้นก็ไม่แน่ใจว่า เราจะมีโลก ไร้สายแบบทุกวันนี้หรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม ในคลื่นวิทยุแบบที่ไม่ต้องขออนุญาตนี้ก็ยังมีข้อด้อยอยู่บ้าง เนื่องจากคลื่นความถี่เหล่านี้ถูกกันไว้สำหรับ การใช้งานสาธารณะจึงไม่ได้ ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในลักษณะที่กว้างขวาง ทำให้คลื่นความถี่เหล่านี้ค่อนข้างจะอ่อนไหวในการใช้งาน คลื่นเหล่านี้จึงไม่สามารถส่งผ่านทะลุกำแพงหนาๆ ไปได้รวมถึงไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางพอ นั่นทำให้หลายๆ ครั้งเราต้องเจอปัญหาสัญญาณ Wi-Fi ไปไม่ถึง หรืออินเทอร์เน็ตล่มทุกครั้งที่อุ่นแกงในไมโครเวฟ

FCC เพิ่งประชุมล่าสุดเกี่ยวกับแนว ทางในการปรับเปลี่ยนกฎใหม่ที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไร้สายครั้งสำคัญ โดยการเพิ่มช่วงคลื่นความถี่ ที่สามารถใช้งานโดยไม่ต้องขออนุญาตให้กว้างขึ้น โดยช่วงคลื่นความถี่นั้นเรียกว่า white space ซึ่งเป็นช่วงคลื่นที่ว่าง ภายหลังการเปลี่ยนระบบโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นดิจิตอล คลื่นความถี่ในช่วง white spaces นี้อยู่ในความถี่ตั้งแต่ 54MHz ไปจนถึง 806MHz ซึ่งถือว่าได้ช่วงคลื่นความถี่กลับคืนมาค่อนข้างมาก เนื่องจากโทรทัศน์ ระบบอนาล็อกใช้ความถี่ค่อนข้างเปลือง

ซึ่งคลื่นความถี่ที่ได้รับคืนมานี้ถือเป็นคลื่นความถี่ที่ไม่ใช่ขยะแล้ว แต่เป็นทำเลดีๆ บนคลื่นความถี่ โดยคลื่นความถี่ช่วงนี้สามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกล โดย FCC สามารถอนุญาตให้ปล่อยสัญญาณได้แรงขึ้น ซึ่งจะทำให้การ์ด Wi-Fi ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์จะทำงานบน white space ได้ในระยะทางเป็นหลักกิโลเมตร ที่ความเร็วสูงมาก, สามารถทะลุทลวงกำแพงและตึกได้ดี และสามารถขนส่งข้อมูลได้จำนวนมหาศาล

นักวิเคราะห์ในวงการเทคโนโลยีมอง ว่าการเปิดเสรีคลื่นความถี่ white space จะนำไปสู่การถือกำเนิดของอุปกรณ์ไร้สาย กลุ่มใหม่ที่เรียกว่า Super Wi-Fi ซึ่งเราท์เตอร์แบบใหม่นี้จะสามารถกระจายความถี่ ได้ในวงกว้างมาก เรียกได้ว่าสามารถใช้เราท์เตอร์ตัวเดียวสำหรับใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งมหาวิทยาลัย ตึกทั้งตึก หรือทั้งโรงพยาบาลได้เลย

อย่างไรก็ดี Super Wi-Fi ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดจากการเปิดเสรีคลื่นวิทยุครั้งนี้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดเรายังไม่สามารถจินตนาการออกมาได้ในตอนนี้ สิ่งที่เราพอจะมองเห็นในตอนนี้ก็คือ Wi-Fi จะกลายเป็น Super Wi-Fi ในอนาคตอันใกล้

การที่เราไม่สามารถจินตนาการได้ เราต้องย้อนไปดูเมื่อปี 1985 ในตอนที่ FCC เปิดเสรีคลื่นวิทยุบางส่วนนั้น แทบไม่มีใคร นึกถึง Wi-Fi หรือบลูทูธเสียด้วยซ้ำ โดยเรา ต้องใช้เวลาถึงสามปีกว่าจะมีใครสักคนพัฒนา Wi-Fi ขึ้นมา เช่นเดียวกับการเปิดเสรี white space ครั้งนี้ที่เราก็คาดหวังถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาบนคลื่นความถี่นี้เช่นกัน โดย Super Wi-Fi จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นโดยที่เรายังไม่รู้ว่าปลายทางอยู่ตรงไหน

การเปิดเสรี white space เกิดขึ้น จากการผลักดันที่สำคัญของยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไมโครซอฟท์ และกูเกิ้ล ซึ่งต่างยืนยันกันเป็นเสียงเดียวกันว่า การเปิดเสรี white space จะนำมาซึ่งนวัตกรรมมากมายในเทคโนโลยีแบบไร้สาย

นอกจากนี้ยังเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ ในการสร้างชุมชนอินเทอร์เน็ตสาธารณะหรือการสร้างพื้นที่ที่สามารถใช้งานอินเทอร์ เน็ตได้ฟรี โดยอาจจะจัดเป็นพื้นที่ Free Wi-Fi ใหญ่ๆ หรืออาจจะฟรีทั้งเมืองเลยก็เป็นไปได้

ปัจจุบัน FCC ทดสอบการใช้งาน Super Wi-Fi ในเมือง Wilmington รัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยในเมืองนี้สามารถส่งภาพวิดีโอผ่านหน้าเว็บได้ด้วยความเร็วเหมือนดูจากแผ่นดีวีดี รวมถึงสามารถมอนิ เตอร์ตัวเซ็นเซอร์อุปกรณ์ต่างๆ จากระยะ ทางไกลๆ ได้ หลายบริษัทก็กำลังทดสอบ การทำงานบนระบบ smart grid ซึ่งช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารบน Super Wi-Fi นี้ได้โดยติดตั้งตัวเซ็นเซอร์ในพื้นที่ห่างไกลแล้วสามารถส่งข้อมูลกลับไปยังบริษัทแม่ได้

ในที่สุดแล้ว white space จะทำให้เกิดการแข่งขันที่หนักหน่วงขึ้นในตลาดบรอดแบนด์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย จะนำเสนอแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้ที่บ้านหรือบนโทรศัพท์มือถือผ่าน Super Wi-Fi มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เหล่าบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องแข่งขันกันมากขึ้นๆ

อย่างไรก็ดี white space เป็นประเด็นซึ่งถกเถียงกันมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะในหมู่บริษัทด้านบันเทิงต่างๆ โดยพวกเขาร้องเรียนประเด็นเกี่ยวกับการรบกวนสัญญาณ โดยเหล่าบริษัทโทรทัศน์และบริษัทถ่ายทอดสดรายการต่างๆ ร้องเรียนว่าอุปกรณ์ใหม่นี้จะส่งผลเสียหายต่อสัญญาณโทรทัศน์ที่พวกเขาส่งออกมา เช่น เดียวกับการแข่งกีฬาและการจัดคอนเสิร์ตซึ่งก็กลัวว่าจะมารบกวนไมโครโฟนแบบไร้สายที่ใช้ในการทำงานของพวกเขา

ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการธุรกิจและการเมืองและทำให้ FCC ถูกบีบให้ต้องทำการศึกษาถึงผลกระทบจากการนำอุปกรณ์ไปใช้งานบน white space และต้องหาหนทางในการทำให้อุปกรณ์ใหม่ๆ เหล่านี้ต้องสามารถทำงานกับเทคโนโลยีแบบเก่าๆ ได้ดีด้วย

ผลจากการกดดันนั้นก็ทำให้มีการกำหนดว่า อุปกรณ์ที่จะใช้สัญญาณในช่วง white space จะต้องมาลงทะเบียนแล้วเก็บเป็นฐานข้อมูลกลางเพื่อดูว่าเมื่อต้องการ นำไปใช้งานในพื้นที่ใดจะกระทบกับการใช้งานอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่นั้นๆ หรือไม่ ในทางทฤษฎีแล้ว นี่จะทำให้การใช้งาน Super Wi-Fi จะไม่ไปกระทบกับสัญญาณโทรทัศน์หรือไมโครโฟนที่ใช้งานอยู่ แต่หลายๆ ฝ่ายก็มองว่า นี่จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญเมื่อต้องมีการนำเอาไปใช้งานในวงกว้าง ในพื้นที่ที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ Super Wi-Fi อาจจะไม่สามารถใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติได้

แต่ในระยะเริ่มต้นอย่างนี้ คงต้องให้ เวลาเหล่าบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ในการพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถมาใช้ประโยชน์บนเครือข่าย white space นี้ นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ผลิตภัณฑ์แรกๆ น่าจะวางตลาดได้ภายในปีหน้า แน่นอนว่า ราคาคงสูงมากและอาจจะไม่คุ้มในการใช้งาน เช่นเดียวกับการตั้งมาตรฐานการใช้งานที่คงต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่ง

ซึ่งเราคงไม่ลืมว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก สิ่งที่เราต้องทำคือการนั่งรอ เฝ้ามองสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นบนโลกเทคโนโลยีที่หมุนเร็วนี้

แล้วปรับตัวเข้ากับมัน

อ่านเพิ่มเติม:
1. What is “Super Wi-Fi”?, http://gizmodo.com/5646259/what-is-super-wi+fi
2. Spread spectrum http://en.wikipedia.org/wiki/Spread_spectrum
3. Rose, J. (2010), “FCC” to weigh in on ‘White Spaces,’ Sept 22, 2010, http://www.npr.org/templates/story/story.php?storyId=130052519
4. Manjoo, F. (2010), ‘What’s Better Than Wi-Fi? Super Wi-Fi!,’ Sep 30, 2010, http://www.slate.com/id/2269268/pagenum/all/#p2
5. White Space, http:/en.wikipedia.org/wiki/ White_spaces_(radio)
6. รายงาน FCC เกี่ยวกับการใช้งานในช่วง white space, http://www.fcc.gov/Daily_Releases/Daily_Business/2010/db0924/FCC-10-174A1.pdf   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us