|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
อนันดา เทคโนโลยี บริษัทเล็กๆ มีความฝันให้คนไทยเริ่มต้นเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสาร หลังจากตกอยู่ในฐานะผู้ซื้อมายาวนานเกินกว่า 20 ปี
เบื้องหลังการใช้บริการโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสารของจำนวนเครื่องลูกข่ายกว่า 60 ล้านเครื่องในปัจจุบันของผู้ให้บริการเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และฮัทช์ มีอุปกรณ์สื่อสารเสริมเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้การสื่อสารสมบูรณ์ และบริษัท อนันดา เทคโนโลยี จำกัด องค์กรขนาดเล็ก เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว
การปรากฏตัวของบริษัท อนันดา เทคโนโลยี จำกัดในแต่ละครั้ง จะเข้าไปสอดแทรกในงานแสดงเทคโนโลยีต่างๆ ทั้ง ในและต่างประเทศบ้างเป็นบางครั้ง เช่น ร่วมงานนิทรรศการคอมมูนิคเอเชียในสิงคโปร์
ล่าสุดบริษัทได้เข้าร่วมงานเปิดตัวเทคโนโลยี 3G มีคณะกรรมการกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นประธานจัดงานเมื่อต้นเดือนกันยายน ก่อนจะเริ่มประมูล 3G แต่แผนดังกล่าวต้องพับไปเพราะติดข้อกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้
ก่อนหน้าที่จะมีงานประมูล บริษัท อนันดามีความฝันเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะ ผู้ผลิตอุปกรณ์สถานีฐาน (base station) เช่นกัน เพราะคาดการณ์ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าอุปกรณ์นี้จะมีมูลค่าถึง 150,000 ล้านบาท
แม้ว่านโยบายผลักดัน 3G จะยังไม่สัมฤทธิผล แต่บริษัทก็มีประสบการณ์ผลิตอุปกรณ์รีพีทเตอร์ รองรับเทคโนโลยี 3G ให้กับบริษัทเอไอเอสนำไปทดลองใช้ ใน พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และบริษัททรูมูฟ ได้ทดลองใช้อยู่ในกรุงเทพฯ
แต่เมื่อการประมูลถูกยกเลิกไป ทำให้บริษัทต้องปรับแผนธุรกิจบางส่วนและทำให้รู้ว่าธุรกิจในวงการสื่อสารโทร คมนาคมไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่า 3G จะหยุด ชะงักไป แต่ธุรกิจของบริษัทยังต้องเดินหน้า ต่อไป และหาโอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ
บริษัท อนันดา เทคโนโลยี จำกัด (www.anundatech.com) มีทุนจดทะเบียน 22 ล้านบาท ก่อตั้งครั้งแรกในชื่อ ว่า บริษัท อ๊อกเทค (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2541 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อนันดา
บริษัท อนันดาเป็นบริษัทคนไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่ผลิตอุปกรณ์เสริม เช่น Frequency Repeater อุปกรณ์เครื่อง ทวนสัญญาณ และ Booster อุปกรณ์ขยาย สัญญาณและสายอากาศ อุปกรณ์แพร่กระจายคลื่นสัญญาณให้กับโอเปอเรเตอร์ไทยในปัจจุบัน
ก่อนที่บริษัท อนันดาจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจให้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารให้กับโอเปอเรเตอร์ได้ในทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภาพของบริษัทเป็นบริษัทเล็กๆ ต้อง ต่อสู้กับแบรนด์คู่แข่งต่างชาติ ทำให้ต้องใช้เวลาหลายปี
แต่ด้วยต้นทุนประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งธุรกิจ ดร.ทองทด วานิชศรี ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ดร.หทัยชนก วานิชศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สองสามี-ภรรยา ที่มีมากว่า 20 ปี จากการเรียนรู้ทั้งในและต่างประเทศ
โดยเฉพาะ ดร.ทองทดที่ไปคว้าปริญญาเอกจากวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า Imperial College, University of London หลังจาก เรียนจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมอิเล็ก ทรอนิกส์ และปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ในขณะที่ ดร.หทัยชนกจบการศึกษาด้านวิศวกรรมเคมี ระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกับ ดร.ทองทด
การเข้ามาในธุรกิจสื่อสารโทร คมนาคมของ ดร.หทัยชนก และ ดร.ทองทด เริ่มต้นจากความฝันของ ดร.ทองทดที่ต้องการก่อตั้งบริษัทไทยให้สามารถผลิตอุปกรณ์สื่อสารภายใต้แบรนด์ไทย เพราะเขามองว่าตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในฐานะผู้ใช้เพียงอย่างเดียว
ความคิดของ ดร.ทองทดที่แตกต่าง เช่นนี้อาจเป็นเพราะว่า ดร.ทองทดนอกจาก จะเป็นผู้บริหารในฐานะที่ปรึกษาของบริษัท อนันดาอยู่แล้วในปัจจุบัน เขายังเป็นอาจารย์ สอนนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังอีกด้วย จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจก่อตั้งบริษัท
การก่อตั้งบริษัท อนันดามีความแตกต่างจากบริษัทเทคโนโลยีทั่วไป คือการรวมหน่วยงานวิจัย ห้องแล็บ และการตลาดไว้อยู่ในที่แห่งเดียวกัน
การรวมหน่วยงานวิจัยและการตลาดไว้ด้วยกันเป็นความฝันของนักวิจัยและนักการตลาดหลายๆ คนปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะในประเทศไทย หน่วยงานวิจัยส่วนใหญ่ยัง อยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐ ส่วนการตลาดจะอยู่ในการดูแลของบริษัทเอกชน
การอยู่คนละฟากนี้เองทำให้กลายเป็นช่องว่างเทคโนโลยีของไทยที่ไม่สามารถทำให้ก้าวข้ามไปเป็นผู้ผลิตได้เลย
ดร.ทองทดและ ดร.หทัยชนกเริ่มต้นธุรกิจมาจากพื้นฐานของนักวิชาการ
นักวิจัย และกำลังก้าวข้ามไปอยู่ในฝั่งของธุรกิจการตลาด เพื่อผสมผสานการเรียนรู้ทั้งสองด้านให้ชิ้นงานด้านวิจัยกลายเป็นสินค้าที่ขายได้ในตลาด
ประสบการณ์ของ ดร.ทองทดที่ร่วม ก่อตั้งบริษัท อ๊อกเทค จำกัด ในประเทศอังกฤษร่วมกับ Prof.Christofer Toumazou ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาเอก เพื่อผลิตชิป เซมิคอนดักเตอร์ส
ความรู้ที่ได้รับการสั่งสมมายาวนานของ ดร.ทองทดจึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ แต่หลังจากที่กลับมาประเทศไทย เขาไม่ได้ผลิตชิปโดยตรง เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีต้นน้ำที่อยู่ในชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารเกือบทุกประเภท ดังนั้นต้องใช้งบประมาณการลงทุนจำนวนมาก และผู้ผลิตในปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรายใหญ่แทบทั้งสิ้น
ดร.ทองทดจึงหันมาดูเทคโนโลยีในประเทศไทย และพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เน้นติดตั้งโครงข่ายสถานีฐาน อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ
บรอดแบนด์ รวมไปถึงอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย
บริษัทจึงเริ่มต้นธุรกิจให้บริการบำรุง รักษาอุปกรณ์สื่อสารให้กับโอเปอเรเตอร์ เช่น ซ่อมแซมโมดูล รีเพลสเม้นท์ของยี่ห้อโมโตโรล่า หลังจากนั้นได้ขยายไปเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เสริม เพราะโอเปอเรเตอร์ไม่ต้อง การลงทุนซื้ออุปกรณ์ขนาดใหญ่ จะส่งผลให้ใช้งบประมาณลงทุนสูง หรืออุปกรณ์บาง อย่างไม่มีจำหน่ายในตลาด จึงกลายเป็นช่องทางด้านการตลาดที่ทำให้บริษัท อนันดาผลิตอุปกรณ์ตามความต้องการในต้นทุนไม่แพงเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายใหญ่
ดร.หทัยชนก ประธานกรรมการบริหาร กล่าวกับ ผู้จัดการ 360◦ ระหว่างให้ สัมภาษณ์ในสำนักงานบนถนนพระราม 9 ว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้บริษัทได้รับการยอมรับจากโอเปอเรเตอร์ เพราะบริษัททุ่มเทการทำงานทั้งก่อนและบริการหลังการขายทุก ครั้งเมื่อโอเปอเรเตอร์มีปัญหา บริษัทจะเข้า ไปร่วมช่วยแก้ไขปัญหาทันทีและทำอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ได้รับความไว้วางใจแตกต่างจากบริษัทตัวแทนผู้ผลิตในต่างประเทศ จะทำหน้าที่ขายเพียงอย่างเดียว
เธอเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่าบริษัทยังใหม่สำหรับวงการธุรกิจสื่อสาร ไม่รู้จักว่าใครและในช่วงแรกที่นำอุปกรณ์ไปแนะนำติดตั้งทดลองบริการ บริษัทจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปี เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของอุปกรณ์
“ความตั้งใจของเรา อุปกรณ์สื่อสารจะต้องมีคุณภาพใกล้เคียงกับโนเกีย หรืออีริคสัน แต่ราคาจะต้องแข่งขันกับจีนได้” ดร.หทัยชนกกล่าว
ในด้านประสิทธิภาพของเทคโนโลยี อาจจะไม่เป็นข้อกังหา แต่ในด้านการตลาด ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับบริษัท อนันดา โดย เฉพาะการสร้าง “อนันดา เทคโนโลยี” ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี เพราะแบรนด์ไทยมีภาพลักษณ์ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในตลาดเท่าที่ควร
จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับบริษัทไม่น้อย แม้ว่าในใจลึกๆ ของ ดร.หทัยชนก ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนและมีข้อเสนอสิทธิพิเศษให้กับโอเปอเรเตอร์หรือ บริษัทที่ซื้อเทคโนโลยีของคนไทยด้วยกัน
เหมือนดังตัวอย่างเช่นในประเทศจีน และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเกาหลีใต้เป็นประเทศชาตินิยม รัฐบาลส่งเสริมให้ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก เช่น อุปกรณ์ทวนสัญญาณ มีการใช้สินค้าในประเทศถึงร้อยละ 60
อุปกรณ์ทวนสัญญาณ เป็นอุปกรณ์เสริมขนาดเล็ก แต่เกาหลีใต้สนับสนุนให้ใช้อุปกรณ์สื่อสารในประเทศจำนวนมาก อาจเป็นเพราะว่าเกาหลีใต้ได้วางแผนการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารไว้ก่อนล่วงหน้า
แต่การรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐ คงไม่ใช่วิถีแห่งการพึ่งพาตนเองทั้งหมดอย่างแน่นอน ดังนั้นวิธีการทำตลาดของบริษัทอนันดาจึงเน้นขายตรงไปยังกลุ่ม ลูกค้า เพื่อลดช่องว่างการติดต่อสื่อสาร เพราะการสื่อสารโดยตรงได้สร้างการเรียนรู้ของทั้งสองฝ่าย
การเรียนรู้นี้ทำให้บริษัทได้พัฒนาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จากเดิมรู้เพียงส่วนเดียว ก็จะช่วยต่อยอดผลิตอุปกรณ์ให้ออกมาเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ รวมไปถึงการตกแต่งหน้าตาของอุปกรณ์ให้จำหน่ายได้
นอกเหนือจากการทำตลาดในประเทศแล้ว บริษัทยังมองหาโอกาสตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ประเทศเพื่อนบ้าน ลาว อินโดนีเซีย กัมพูชา ที่ยังใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงกับประเทศไทย
แต่ในภูมิภาคอื่นบริษัทก็ไม่ได้เพิกเฉย จึงทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ว่าจ้างพนักงานต่างชาติเข้ามาทำตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะ
ดร.ทองทดให้เหตุผลที่ต้องจ้างต่างชาติ ก็เพื่อขจัดอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร เขาเชื่อว่าเจ้าของภาษาคุยกับลูกค้าภาษาเดียวกันจะอธิบายได้ลึกซึ้งมากกว่า และทำให้รู้ว่าลูกค้าต้องการสิ่งใด
แต่การกระโดดเข้ามาร่วมธุรกิจสื่อสารเทคโนโลยีเป็นความเสี่ยงสูงที่บริษัทก็ยังหวั่นวิตกเพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และการวิเคราะห์และติดตามให้ถูกทางจึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก
บริษัทจะต้องตามทิศทางแนวโน้มเทคโนโลยีให้ถูกทาง เพราะในวงการนี้มียักษ์ใหญ่ที่ควบคุมเทคโนโลยีอยู่ว่าจะให้ไปในทิศทางใด ไม่ว่าจะเป็นไว-ไฟ ไวแม็กซ์ ระบบเทคโนโลยีต่างๆ ทุกอย่างมีการเมืองซ่อนอยู่เบื้องหลังของเทคโนโลยีเหล่านี้ทั้งสิ้น
ทั้ง ดร.ทองทดและ ดร.หทัยชนก ยอมรับว่าการกระโดดเข้าสู่วงการเทคโนโลยี มีความเสี่ยงสูงทุกด้าน เช่น การปรับเปลี่ยนที่รวดเร็วของเทคโนโนโลยี คู่แข่งที่ต้องแข่งขันทั้งคุณภาพสินค้าและราคา นอกจากนี้ ยังมองว่าเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูง
แต่ ดร.ทองทดให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “หากเราไม่เสี่ยง เราก็จะไม่มีวันชนะ”
หากมองภาพรวมธุรกิจของบริษัท อนันดาในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างเริ่มต้น ที่ ยังต้องแสวงหาโอกาสต่อไป จากผู้ก่อตั้งเพียง 3 คน ขยายกิจการและพนักงานเพิ่มเป็น 36 คนในปัจจุบัน
พนักงานส่วนหนึ่งเป็นศิษย์ของ ดร.ทองทดที่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจที่ทีมงานใฝ่ฝันกันว่าสักวันหนึ่ง บริษัท อนันดา จะเป็นเสมือนโนเกียจากประเทศฟินแลนด์ และอีริคสันจากสวีเดน ประเทศเล็กๆ ที่สามารถสร้างชื่อเสียงจนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารรายใหญ่ของโลก
ทั้งโนเกียและอีริคสันเปรียบเหมือนเป็น Role Model ของบริษัท อนันดา ที่จะเดินตามและสร้างฝันให้เป็นจริง
|
|
|
|
|