|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“...พ่อบอกว่า การเป็นเจ้าของโรงแรมมันน่าคบกว่าการเป็นเจ้าของโรงเลื่อยหรือโรงเหล็ก แม้ว่ายอดขายของโรงเหล็กหรือโรงเลื่อยอาจจะสูงปีละแสนล้านบาทก็ได้ แต่ยังไงเจ้าของโรงแรมก็เป็นอาชีพที่คนอยากคบมากที่สุดแล้ว...” เป็นหนึ่งในหลายวาทกรรมของชินเวศ ที่ณัฐประทับใจและเห็นด้วยอย่างมาก
บนเตียงนอนริมสระน้ำที่เส้นขอบสระจรดกับเส้นขอบฟ้าที่ตัดกับขอบทะเล ทิวทัศน์ เบื้องหน้าเต็มไปด้วยเกาะแก่งน้อยใหญ่ ที่เจ้าของพื้นที่อย่างชินเวศ สารสาส เคยนับเอาไว้ ว่ามีมากถึง 13 เกาะ จัดเป็นวิวที่หาชมได้ยาก
จริงๆ แล้ว ชาวไทยและชาวโลกเกือบจะอดชื่นชมกับวิวสวยๆ ที่เป็นหนึ่งเดียวใน ประเทศไทยเช่นนี้ หากเพียงชินเวศไม่เปลี่ยนใจนำที่ดินที่เคยคิดจะปลูกบ้านอยู่เองมาลงทุนทำธุรกิจโรงแรมสุดหรูภายใต้เชนโรงแรม 5 ดาวอย่าง “ซิกส์เซ้นส์ ไฮด์อะเวย์”
แม้ผู้ที่มีโอกาสได้ยลทิวทัศน์ที่สวยงามจะเป็นเพียงคนส่วนน้อย ที่สามารถแบกรับกับค่าที่พักเฉลี่ยคืนละ 47,600-84,000 บาท (ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว) ได้
และคงมีเพียงมหาเศรษฐี celeb ระดับวีไอพีและไฮโซผู้มีอันจะกินเท่านั้น ที่จะมีโอกาสได้พักให้ห้องที่ได้ชื่อว่ามีวิวที่งดงามที่สุดของโรงแรม เพราะ Hill Top Reserve Villa มีค่าห้องอยู่ที่ 4 แสนบาทต่อคืน
สำหรับลูกค้าคนแรกของวิลล่าคืนละ 4 แสนบาทนี้ก็คือตัวชินเวศเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการฉลองโรงแรมแห่งแรกของครอบครัว พร้อมไปกับการฉลองวันเกิดอายุครบ 49 ปี
“จริงๆ ในตอนนั้นไม่ได้คิดจะทำโรงแรม ที่ดินที่ซื้อไว้ตั้งใจจะสร้างบ้านอยู่เอง แต่ทำบ้านก็มีแต่ต้นทุน ผมมีบ้านเยอะ มาก อาจจะมีเยอะที่สุดในประเทศไทย ที่มีอยู่ก็ไปอยู่ไม่ไหวแล้ว ก็เลยสร้างโรงแรม แล้วเป็นคนนิสัยเสีย เวลาทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด ก็เลยออกมาเป็นแบรนด์นี้” ชินเวศพูดทีเล่นทีจริง
ด้วยบรรยากาศที่ร่มครึ้มและดีไซน์ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ “ซิกส์เซ้นส์ ไฮด์ อะเวย์ ยาวน้อย” จึงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเกรดเอจากทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ แต่ยังไม่ยอมทิ้งชีวิตที่หรูหรา สะดวกสบาย และทันสมัย
วิลล่าทั้ง 56 หลัง ออกแบบและตกแต่งให้แตกต่างในเรื่องพื้นที่ใช้สอยและวิวทิวทัศน์ที่ลดหลั่นตามเนินเขาของอ่าวพังงา โดยทุกวิลล่ามีห้องอาบน้ำแบบเปิด มีอ่างอาบน้ำ และสระว่ายน้ำส่วนตัวที่เปิด โอกาสให้แขกได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดขณะที่ใช้บริการพื้นที่นั้น
นอกจากทิวทัศน์ที่หรูหรา บริการบัทเลอร์ส่วนตัวตลอด 24 ชั่วโมง ก็เป็นอีกประสบการณ์แห่งความหรูที่ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าให้สมกับราคายิ่งขึ้น
ซิกส์เซ้นส์ ไฮด์อะเวย์ ยาวน้อย เปิดตัวอย่างเป็นทางการราวเดือนพฤศจิกายน 2550 ทว่า การเจรจาและการเตรียมงานก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ 4 ปีก่อนหน้านั้น
จุดแรกเริ่มของโรงแรมแห่งนี้มาจากการที่ชินเวศซื้อที่ดินบนเกาะยาวน้อยราว 30 ไร่ไว้ตั้งแต่เกือบ 20 ปีก่อน จนปี 2546 ที่เขาเกิดไอเดียอยากทำธุรกิจรีสอร์ต ที่นี่ จึงได้จัดตั้งบริษัท “โรงแรมป่าเกาะ” ขึ้น เพื่อร่วมทุนกับกลุ่มเจมิ่งเฟรย์จากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อซื้อที่ดินเพิ่มเป็น 76 ไร่ และรังสรรค์โรงแรมสุดหรูนี้ขึ้นมา
“สมัยก่อน ไม่เคยคิดจะทำธุรกิจโรงแรมเลย เพราะคิดว่าลงทุนสูง ช้า เสียเวลากว่าจะคืนทุน สู้ค้าเงินค้าหุ้นดีกว่า ได้เงินกลับมาเร็วดี ซึ่งวิธีคิดแบบนั้นมันต่าง จากวันนี้เลย” ชินเวศสะท้อนวิธีคิดที่พลิกผันจากวิกฤติการเงินปี 2540
นับเป็นกุศโลบาย เมื่อความคิดที่จะลงทุนในธุรกิจโรงแรมเป็นครั้งแรกในชีวิตของชินเวศ ได้จุดประกายโอกาสแห่งการเรียนรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจที่มีค่ายิ่งให้แก่ลูกชายคนโต ที่เพิ่งจบการศึกษาจากต่างประเทศและกำลังค้นหาแนวทางบนเส้นทางธุรกิจของตัวเอง
“ตอนแรก ผมยังไม่มีความคิดที่จะไปช่วยพ่อทำโรงแรม แต่บังเอิญไปเห็นม็อค-อัพโรงแรมแล้วไม่ชอบ พ่อก็เลยบอกให้ไปเข้าประชุมกับเขาแล้วทำให้เป็นอย่างที่คุณอยากให้เป็น ตอนนั้นผมยังอายุยังไม่ถึง 24 ปีดี แล้วต้องไปเจอกับฝรั่งเขี้ยวลากดินทุกอาทิตย์ ก็ค่อนข้างกลัว” ณัฐเล่าถึงก้าวแรกในธุรกิจโรงแรมของตน
ในการเข้าไปดูแลโครงการก่อสร้างโรงแรมแห่งแรกของตระกูล นัฐเริ่มต้นเรียนรู้ตั้งแต่การเจรจาสัญญา คุมการก่อสร้าง หาพาร์ตเนอร์เป็นเชนโรงแรม ฯลฯ ประสบการณ์ เหล่านี้ทำให้นัฐได้ร่วมงานกับสุดยอด “มืออาชีพ” ในวงการต่างๆ มากมาย และ “ก้าวนี้” เองที่เป็นจุดที่ทำให้เขาได้ทำงานกับผู้เป็นพ่ออย่างจริงจัง
เมื่อโรงแรมเปิดให้บริการแล้ว ณัฐก็ยังมีหน้าที่ต้อนรับแขกคนสำคัญระดับประเทศ และระดับโลก ทั้งพระราชวงศ์ชั้นสูง มหาเศรษฐีจากทั่วโลก ดาราฮอลลีวูด นักร้องและนักกีฬาระดับโลก ฯลฯ
“ตั้งแต่ทำโรงแรมมา เห็นชัดว่านี่เป็นช่องทางที่ทำให้ผมเจอกับมหาเศรษฐีทั่วโลก เพราะโรงแรมผมแพงมาก เวลามีแขกวีไอพีมากๆ มาพัก ผมกับพ่อก็ต้องเป็นคนไปพูดคุยดูแลเอง ก็เลยสนิทและกลายเป็นเพื่อนกับทุกคน พ่อบอกแต่แรกว่า โรงแรมจะเป็น marketing arm และเป็น ‘บันได’ ถีบผมไปสู่เวทีระดับโลกได้ แล้วมันก็เกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าเป็นคนอื่นคงไม่คิดที่จะสร้างโรงแรมเป็นบันไดให้ลูกแบบนี้” ณัฐเล่าด้วยความประทับใจ
หลังจากเปิดตัวโรงแรมเพียงไม่นาน ก็มีข่าวว่าตระกูลสารสาสร่วมกับกองทุนเจมิ่งเฟรย์ ซึ่งเป็นกองทุนไพรเวทอิควิตี้จากสวิตเซอร์แลนด์ ตัดสินใจนำโรงแรมหรู แห่งนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจัดตั้งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลักซ์ชัวรี่ (LUXF: Luxury Real Estate Investment Fund) มีมูลค่า 1,965 ล้านบาท
ทั้งนี้ กองทุน LUXF จะได้รับประโยชน์จากการให้เช่าทรัพย์สินเป็นเวลา 20 ปี แก่บริษัทอีเอชวาย จำกัด ซึ่งมี “โรงแรมป่าเกาะ” ถือหุ้นถึง 90% โดยกองทุนนี้จะได้รับผลตอบแทน 2 ส่วนจากค่าเช่าอัตราคงที่และค่าเช่าที่แปรผันตามความสามารถของการบริหารงานในแต่ละปี และมีนโยบายจ่ายปันผลไม่เกินปีละ 2 ครั้ง
“สำหรับผม การบริหารโรงแรมถือว่าหนักสุด เพราะเราเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และแต่ละปีเราต้องจ่ายปันผลแบบการันตี ผมก็เลยต้องดูแลผลประกอบการเพื่อจะได้มีเงินปันผลจ่ายเพียงพอ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้อย่างที่ การันตีไว้ เราก็ต้องควักเงินเอง” ทายาทธุรกิจของชินเวศกล่าว
อย่างไรก็ดี ณัฐเชื่อว่าท้ายสุดแล้ว ผู้เป็นพ่อคงต้องพยายามผลักดันให้ทั้ง “go” และ “G Capital” เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับโรงแรม...ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง ภาระของเขาอาจจะ “หนัก” กว่านี้ก็เป็นได้
จากที่ไม่เคยคิดจะลงทุนทำธุรกิจโรงแรม เพราะมองว่าเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงแต่คืนทุนช้า กระทั่งมีโรงแรมแห่งแรกของตระกูลซึ่งสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก มาวันนี้ ชินเวศและณัฐกำลังเตรียมตัวสร้างโรงแรมหรูแห่งใหม่บนเกาะเต่า ซึ่งสองพ่อลูก ลงพื้นที่ไปสำรวจด้วยกันมาถึง 3 รอบ กว่าจะได้ทำเลพิเศษมาครอง
ณัฐแย้มว่า โครงการลงทุนบนเกาะเต่าจะเป็น Luxury Diving Hotel แห่งแรกของโลกคือเป็นโรงแรมบูทีคหรูที่สามารถเดินออกไปดำน้ำได้จากหน้าห้องพัก ขณะที่บริการ ก็ยังคงเน้นความหรูหราด้วยบริการบัทเลอร์ส่วนตัว โดยโรงแรมใหม่นี้จะยังคงใช้เชนโรงแรมจากต่างประเทศมาบริหารให้ เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ “ซิกส์เซ้นส์” เหมือนเดิม
จากก้าวแรกที่เข้ามาดูแลธุรกิจโรงแรมอย่างจริงจังมาจนถึงวันนี้ ณัฐเชื่อว่า เขามี know-how เพิ่มขึ้นอีกมาก และแทบ จะรู้ในเกือบทุกอณูของธุรกิจโรงแรม เพียงแต่ครั้งนี้เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับโรงแรมหรูแบบบูทีคเท่านั้น ในอนาคต เขามองว่าอาจจำเป็นที่ต้องมาเรียนรู้ know-how ในการทำโรงแรมแบบแมสเพิ่มขึ้นด้วย
คล้ายกับธุรกิจของ “go” และ “G Capital” นัฐมองว่าธุรกิจโรงแรมก็มีคอนเซ็ปต์ในการทำธุรกิจแบบเดียวกัน นั่นคือ ไม่ได้เริ่มต้นจากเป้าหมายเพื่อการแสวงหากำไรสูงสุด แต่วัตถุประสงค์แรกเกิดจากความต้องการให้ชาวโลกได้ประจักษ์ในความสวยงามของประเทศไทย
ระหว่าง 3 ธุรกิจ หากจะมีสิ่งที่แตกต่างกัน ก็เห็นจะเป็นตรงจุดที่ “go” เป็นธุรกิจเกี่ยวกับงานรูทีนที่ไม่มีใครอยากทำ ส่วน “G Capital” เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับสินเชื่อรากหญ้าที่ไม่ค่อยมีใครอยากเล่น แต่ธุรกิจโรงแรมไม่ใช่ เพราะโรงแรมเป็นธุรกิจที่ดู “สวยหรู” จนไฮโซหลายคนอดใจ ไม่ไหวต้องเข้ามาทำ
ทั้ง 3 ธุรกิจจะยังมีความต่างอะไรอีกบ้าง คงไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับชินเวศและลูกชายนัก เพราะประเด็นที่ทั้งคู่ให้ความสำคัญมากกว่านั่นคือ ทั้ง 3 ธุรกิจนั้นให้ผลดีต่อประเทศชาติ ดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ชินเวศเลือกจับทั้ง 3 ธุรกิจนี้เป็นการเปิดฉากตำนานบทใหม่ของ “สารสาส”
|
|
|
|
|