|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่อินเดียทั้งประเทศอยู่ในความตึงเครียดที่สุดช่วงหนึ่ง เหตุเพราะจะมีการตัดสินกรณีพิพาท ‘อโยธยา’ ว่าที่ดินผืนเล็กๆ อันเป็นที่ตั้งมัสยิด Babri ซึ่งถูกทุบทำลายโดยชาวฮินดูในปี 1992 ควรจะเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร ฮินดูหรือมุสลิม คนทั่วทั้งประเทศต่างกลั้นใจรอ เพราะเกรงว่าผลของคำพิพากษาอาจนำไปสู่การนองเลือดอีกครั้ง แต่ที่สุดทุกฝ่ายก็หายใจทั่วท้อง เมื่อศาลพิพากษาให้คู่กรณีสามรายได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินไปเท่าๆ กัน และผู้คนที่มีทั้งพอใจและไม่พอใจกับคำพิพากษาต่างอยู่ในความสงบ
ที่ดินขนาด 90 X 110 ตารางฟุตนี้สำคัญเช่นไร และทำไมคดีนี้จึงถือเป็นคดีประวัติศาสตร์
มัสยิดบาบรีที่เป็นกรณีพิพาทนี้ตั้งอยู่ในเมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศ จากหลักฐานทางจารึกถือกัน ว่า Babur กษัตริย์ราชวงศ์โมกุลพระองค์แรกรับสั่งให้ Mir Baqi สร้างมัสยิดแห่งนี้ขึ้นซึ่งแล้วเสร็จราวปี 1528-1529 ความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและฮินดูปะทุขึ้นครั้งแรกในปี 1853 ด้วยชาวฮินดูเชื่อว่ามัสยิดนี้สร้างทับวัดฮินดูที่ถูกทุบทำลายลง ที่สำคัญบริเวณใต้โดมกลางของมัสยิดคือที่ประสูติของพระรามเทพองค์สำคัญในศาสนาฮินดู หลังจากมีการไกล่เกลี่ยโดยทาง การสถานการณ์ค่อยเย็นลง จากบันทึกใน Faizabad Gazetteer ทั้งชาวฮินดูและมุสลิมสวดสักการะในตัวอาคารเดียวกันอยู่จนถึงปี 1859 เมื่อทางการซึ่งอยู่ในอำนาจการปกครองของอังกฤษ สั่งให้มีการกั้นรั้วพื้นที่สำหรับทำพิธีทางศาสนา โดยด้านในมัสยิดเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิม ด้านนอกเป็นของชาวฮินดู
ในปี 1885 Mahant Raghubar Das ยื่นเรื่องต่อศาลขอสร้างวัดฮินดูขึ้นในพื้นที่ด้านนอก แต่ไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาในคืนวันที่ 22 ธันวาคม 1949 มีคนลอบนำเทวรูปของพระรามเข้าไปตั้งไว้กลางมัสยิด ชาวมุสลิมพากันชุมนุมประท้วง ทั้งชาวมุสลิม และฮินดูต่างรวมกลุ่มกันยื่นฟ้องต่อศาลอ้างกรรมสิทธิ์ ในมัสยิดบาบรี รัฐบาลจึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรักษาการ ระหว่างรอกระบวนการในชั้นศาล
วันที่ 6 ธันวาคม 1992 กลุ่ม Kar Savek ซึ่งปลุกระดมโดย Vishwa Hindu Parishad (VHP) กลุ่มฮินดูขวาจัด บุกเข้าทุบทำลายมัสยิดบาบรี หวัง ยึดพื้นที่คืนเพื่อสร้าง Ram Temple เหตุการณ์ลุกลามไปสู่การปะทะระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน และเป็นต้นตอของการนองเลือดที่ตามมาอีกหลายครั้ง กรณีที่ชาวฮินดูในรัฐคุชราตบุกโจมตีและฆ่าชาวมุสลิม ในปี 2002 ก็สืบเนื่องจากข่าวลือว่าเหตุเพลิง ไหม้ในรถไฟที่สถานีโกรา เป็นฝีมือชาวมุสลิมที่มุ่งแก้แค้นชาวฮินดูที่จะไปแสวงบุญที่อโยธยา ซึ่งเหตุการณ์ทั้งสองกรณี การทุบทำลายมัสยิดบาบรีและการนองเลือดในรัฐคุชราตต่างเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลแยกออกไป
สำหรับคดีสิทธิ์เหนือมัสยิดบาบรีนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มตัวแทนและองค์กรทั้งฮินดูและมุสลิม ยื่นฟ้อง ต่อศาลอ้างสิทธิ์รวม 28 ราย ซึ่งตลอดหกทศวรรษที่ผ่านมาศาลยังไม่เคยสรุปคดี กระทั่งเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ศาลสูงเมืองอัลลาห์บัดประกาศว่าจะมีการ พิพากษาในวันที่ 23 แต่ต้องเลื่อนออกไปถึงสองครั้ง ในที่สุดมีการอ่านคำพิพากษาขึ้นในวันที่ 30 กันยายน ซึ่งในห้วงเวลานั้น หัวเมืองใหญ่ทุกเมืองในอินเดียโดยเฉพาะเมืองอัลลาห์บัด ล้วนอยู่ภายใต้การรักษาความปลอดภัยขั้นสูง และมีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังพิเศษต่างๆ เต็มอัตราเพื่อรับมือกับสถานการณ์ หากผลคำตัดสินจุดชนวนให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ผู้นำศาสนาทั้งสองฝ่ายต่างเรียกร้องให้ศาสนิกชนรับฟังคำตัดสินโดยสงบ
ผู้พิพากษาที่ร่วมตัดสินคดีประวัติศาสตร์ครั้งนี้ประกอบด้วยผู้พิพากษา Dharam Veer Sharma, Sudhir Agarwal และ Sibghat Ullah Khan ทั้งสามขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาแยกกัน โดยที่ผู้พิพากษา 2 ใน 3 ตัดสินให้แบ่งที่ดินผืนดังกล่าว เป็น 3 ส่วนเท่าๆ กันและมอบสิทธิ์ในการจัดการดูแลแก่ผู้ยื่นร้อง 3 ราย ได้แก่ Ram Lalla (กลุ่มตัวแทนเทวรูปของพระราม), Sunni Central Waqf Board (ตัวแทนฝ่ายมุสลิมกลุ่มสำคัญ) และ Nirmohi Akara (ชาวฮินดู นิกายหนึ่งที่อ้างสิทธิ์การจัดการดูแลที่ประสูติของพระรามมาแต่ต้น) โดยที่ประดิษฐานของเทวรูปพระราม ปัจจุบันหรือพื้นที่ใต้โดมกลางของมัสยิดเดิมให้เป็นสิทธิ์ของ Ram Lalla
นอกเหนือจากเรื่องสิทธิ์ ผู้พิพากษายังตัดสินประเด็นสำคัญหลายประเด็นในคดีนี้ แม้จะมีคำตัดสินต่างกันไปบ้าง พอสรุปได้ว่าไม่มีผู้ใดถือสิทธิ์ขาดในที่ดิน ดังกล่าวเพราะชาวมุสลิมและฮินดูต่างสวดสักการะในที่เดียวกันมาก่อนปี 1859 ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าโครงสร้าง ที่ตกเป็นข้อพิพาท (มัสยิดบาบรี) สร้างโดยบาเบอร์กษัตริย์โมกุล โครงสร้างดังกล่าวสร้างบนซากศาสนสถานของฮินดู แต่ไม่มีหลักฐานบอกได้แน่ชัดว่ามีการทุบทำลายศาสนสถานเดิม สำหรับที่ตั้งเทวรูปของพระรามในปัจจุบัน ศาลตัดสินว่ายึดตามศรัทธา และความเชื่อของชาวฮินดูแล้วที่ดังกล่าวถือเป็นที่ประสูติของพระราม ส่วนเทวรูปนั้นไม่ได้มีมาแต่เดิม แต่มีผู้นำเข้าไปวางในคืนวันที่ 22 ธันวาคม 1949
ชาวอินเดียโดยรวมรับฟังคำพิพากษาโดยสงบ ไม่มีรายงานการปะทะหรือความรุนแรงใดๆ นายกฯ มานโมฮัน ซิงห์กล่าวชื่นชมประชาชนที่ให้ความเคารพต่อศาลและตอบรับสถานการณ์ครั้งนี้อย่างสง่างาม ฝ่ายรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยนอกจากจะ ร่วมชื่นชมปฏิกิริยาตอบรับของประชาชนยังได้เสริม ย้ำว่าคำตัดสินนี้ไม่ได้ให้ความถูกต้องแก่กรณีการทุบทำลายมัสยิดบาบรี การกระทำนั้นยังถือว่าผิดตามกฎหมาย ความเห็นของเขาแม้จะถูกในหลักการ แต่ถูกประณามโดยพรรคฝ่ายค้านว่าไม่ถูกกาลเทศะ อาจทำให้เชื้อไฟที่คุนิ่งอยู่ลุกโหมขึ้นมาอีก
คำพิพากษาครั้งนี้หลายฝ่ายเรียกว่าเป็นงานเซอร์ไพรส์ บ้างเรียกว่าเป็นฉบับประนีประนอม แต่หลายภาคส่วนก็ผิดหวัง และแสดงความเห็นคัดค้าน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของรัฐอุตตรประเทศกล่าวว่า ชาวมุสลิมรู้สึกเหมือนถูกโกง และตนผิดหวังที่ศาลยุติธรรมให้น้ำหนักกับศรัทธาความเชื่อมากกว่าหลักฐานข้อเท็จจริงและตัวบทกฎหมาย
ประเด็นที่ศาลยึดหลักศรัทธาความเชื่อมาใช้ในการพิพากษานี้ ได้รับการโจมตีอย่างหนักจากหลาย แวดวงวิชาการ ดร.ราจีฟ ธาวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญมองว่าเป็นการไกล่เกลี่ยแบบ ‘ศาลหมู่บ้าน’ “หนึ่งส่วนให้มุสลิม สองส่วนให้ฮินดู ทั้งๆ ที่เดิมเป็นของชาวมุสลิม เป็นคำตัดสินที่ไม่ได้ยึดในตัวบทกฎหมาย ไร้ความถูกต้องทางศีลธรรม และวางมาตรฐานที่จะก่อผลเสียในอนาคต” ขณะที่ผู้พิพากษาราจินดาร์ ซาชาร์ อดีตผู้พิพากษาศาลสูง เดลีให้ความเห็นว่า ศรัทธาความเชื่อไม่มีนัยสำคัญในระบบศาลสถิตยุติธรรม คำตัดสินครั้งนี้มีแต่จะให้ความถูกต้องแก่เรื่องที่ประสูติของพระราม ซึ่งเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ แบบ ‘ขวาจัด’ และยังเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันในทางประวัติศาสตร์
แวดวงนักประวัติศาสตร์เองก็มีผู้แสดงความเห็น คัดค้าน โดยเฉพาะการที่ศาลดูเหมือนจะใช้รายงานของ Archeological Survey of India เป็นตัวตั้ง ทั้งที่ข้อมูล และข้อสรุปหลายส่วนยังเป็นประเด็นร้อนที่โต้เถียงกันอยู่ในทางวิชาการ ศาสตราจารย์ ดี. เอ็น จา หนึ่งในทีมนักประวัติศาสตร์อิสระที่เข้าไปสำรวจมัสยิดบาบรีและยื่นรายงานต่อรัฐบาลไว้ตั้งแต่ปี 1991 ก่อนมัสยิดจะถูกทุกทำลายลง ชี้ว่ารายงานของ ASI เต็มไปข้อมูลที่ลักลั่นและอโยธยาเริ่มกลายเป็นที่แสวงบุญก็ราวปลายศตวรรษที่ 17 ซึ่งในรายงานที่นักประวัติศาสตร์อิสระทีมนี้ยื่นต่อรัฐบาล กล่าวว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา VHP กลุ่มฮินดูขวาจัดไม่เคยสามารถอ้างอิงจารึกหรือคัมภีร์โบราณใดๆ ที่ระบุถึงที่ประสูติของพระราม ตำนานที่ว่า มัสยิดบาบรีสร้างโดยการทุบทำลายวิหารฮินดูและตั้งอยู่บนที่ประสูติของพระรามนั้น เริ่มแพร่พลายก็ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้จากการตรวจสอบจารึกภาษาเปอร์เซียในตัวมัสยิดบาบรีเองและคัมภีร์โบราณของฮินดูที่ร่วมสมัยกับการสร้างมัสยิดดังกล่าว ก็ไม่มีการกล่าวถึงการทุบทำลายวิหารฮินดูหรือเรื่องที่ประสูติของพระรามไว้เลย
หลังคำพิพากษา ตัวแทนฝ่ายมุสลิมและฮินดู ต่างเฉดต่างสีที่เป็นโจทย์ในคดีนี้ แสดงปฏิกิริยาต่าง กันไป ส่วนใหญ่รับฟังแต่ไม่ยอมรับ หลายกลุ่มประกาศชัดว่าจะอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุด บางกลุ่มหันมาเจรจาหาข้อตกลงนอกศาล หนึ่งในแกนนำของ Nirmohi ตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้าปล่อยให้เป็นเรื่องของชาวฮินดูและมุสลิมเมืองอโยธยาจัดการกันเอง คุยกันไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็คงตกลงกันได้” คำกล่าวนี้มีนัยว่าเรื่องนี้ถูกทำให้บานปลายกลายเป็นเหตุนองเลือดก็เพราะคนนอก โดยเฉพาะกลุ่มก้อนที่หวังผลทางอำนาจและการเมือง
คำกล่าวนี้ไม่ได้เพ้อพกเกินเลย ดังมีตัวอย่าง กรณีหมู่บ้าน Gotkhindi ในเมือง Sangli ที่ชาวบ้าน ฉลองเทศกาลบูชาพระพิฆเนศด้วยการตั้งเทวรูปในมัสยิด ประเพณีที่หาได้ยากนี้เริ่มขึ้นในปี 1979 ในเทศกาลครั้งนั้นชาวฮินดูทำพิธีกันกลางแจ้งเนื่องจาก ไม่มีปัจจัยสร้างปะรำพิธีแล้วเกิดฝนตกหนัก ชาวมุสลิมในหมู่บ้านเห็นว่าพระพิฆเนศต้องตากฝน จึงเรียกให้เพื่อนบ้านชาวฮินดูนำเทวรูปเข้าหลบฝนบูชา ในมัสยิด ความภูมิใจในความสมานฉันท์ของคนในชุมชนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติมาจนถึง ทุกวันนี้
แม้ข้อพิพาทมัสยิดบาบรี-ที่ประสูติพระรามมีเค้าว่าจะยังหาข้อยุติที่ลงตัวไม่ได้ในเร็ววัน แต่การที่ชาวอินเดียรับฟังคำพิพากษาครั้งนี้โดยสงบ ก็น่าจะเป็นความหวังได้ว่า ‘ความอดกลั้น’ ต่อความคิดต่างเห็นต่าง ต่อความไม่ชอบธรรม และความต่างทางศาสนา อาจจะกลับมานำรัฐนาวาของอินเดียข้ามพ้นปมความขัดแย้งโดยสันติไปได้อีกห้วงหนึ่ง
|
|
|
|
|