|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ความผูกพันทางเชื้อชาติ ศาสนา และประวัติศาสตร์ กำลังกลายเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเส้นเขตแดน
หลายร้อยปีมาแล้วที่เราใช้แผนที่และภูมิศาสตร์ขีดเส้นกั้นเขตแดน แต่ขณะนี้การฟื้นกลับคืนมาใหม่ของความรู้สึกผูกพันในเผ่าพันธุ์เดียวกัน อาจกำลังขีดเส้นกั้นเขตแดนของโลกเสียใหม่ และซับซ้อนมากกว่าเดิม ครั้งหนึ่งเราใช้แผนที่ การเมืองและการทูต เป็นตัวกำหนดพรมแดน แต่ขณะนี้ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรมกำลังกลายเป็นตัวแบ่งแยกมนุษยชาติออกเป็นกลุ่มใหม่ๆ ทั่วโลก ซึ่งมีน้ำหนักและความสำคัญที่เหนือกว่าอุดมการณ์หรือแนวคิดที่เป็นสากล อย่างทุนนิยม-ระบบตลาด สังคมนิยม หรืออุดมการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม
การลุกฮือทางการเมืองและการเกิดขึ้นของโลกาภิวัตน์ ยิ่ง ช่วยส่งเสริมอิทธิพลของความผูกพันในความเป็นพงศ์เผ่าเดียวกัน ความจริงแล้ว การขีดเส้นพรมแดนใหม่นี้เริ่มขึ้นมานานแล้ว ในทันทีที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง เมื่อแผนที่ที่แบ่งแยกประเทศต่างๆ ออกเป็นกลุ่มที่ถือหางสหรัฐฯ กับอดีตโซเวียตหมดความหมายลง แม้แต่การรวมกลุ่มที่เก่าแก่อย่างกลุ่มประเทศ “โลกที่สาม” ก็ถูกทำลายลง ด้วยการผงาดขึ้นมาโดดเด่นเหนือกว่าเพื่อนในกลุ่มเดียว กันของจีนและอินเดีย ส่วนแนวคิดใหม่ๆ ในการรวมกลุ่มประเทศ ตลาดเกิดใหม่อย่างกลุ่มประเทศ BRIC ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน ก็ไม่น่าจะไปรอด เพราะทั้ง 4 ประเทศแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมและไม่มีความรู้สึกผูกพันกันมาก่อน
อย่างไรก็ตาม “พรมแดนใหม่” ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ยังคงไร้ความแน่นอนและยังเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและมีบางประเทศ ที่ไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มไหนได้เลยอย่างเช่นฝรั่งเศส รวมทั้งมีประเทศหรือนครใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนเป็นทายาทของนครรัฐใน ยุคโบราณอย่างกรุงลอนดอนและสิงคโปร์ ระเบียบโลกใหม่ที่จัดแบ่ง ประเทศออกเป็นกลุ่มต่างๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จึงเกิดจากความผูกพันใกล้ชิดทางความรู้สึก ไม่ใช่ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์
1. กลุ่มประเทศ Hansa ใหม่ (New Hansa): เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน
ในสมัยโบราณยุคศตวรรษที่ 13 เมืองหลายแห่งในยุโรปเหนือได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Hanseatic League หรือ Hansa Towns หมายถึงเมืองที่สร้างอารยธรรมขึ้นมาจากการค้าเหมือนกัน ปัจจุบันกลุ่ม Hansa ยุคใหม่ หมายถึงประเทศ ที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมแบบเยอรมันร่วมกัน และยังคงมีความเหมือนกันทางด้านการค้า โดยประเทศนี้เหล่านี้ครองตลาด niche ในการขายสินค้าคุณภาพสูงให้แก่ทั้งชาติร่ำรวยที่พัฒนาแล้ว และชาติกำลังพัฒนาที่กำลังร่ำรวยอย่างจีน อินเดีย และรัสเซีย กลุ่ม ประเทศ Hansa ใหม่ ต่างได้รับความชื่นชมยกย่องเป็นพิเศษ ใน การเป็นประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการดีเยี่ยมในดัชนีประเทศที่มีความเจริญมั่งคั่งที่เรียกว่า Legatum Prosperity index 6 ใน 8 ประเทศอันดับแรกของดัชนีดังกล่าว มาจากกลุ่ม Hansa ใหม่ กลุ่มนี้ยังมีอัตราการออมสูงที่สุดในโลกคือ 25% หรือมากกว่าและมีอัตราการมีงานทำ การศึกษา และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่สูงมาก
2. กลุ่มประเทศ “ชายแดน” (The Border Areas): เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก เอสทัวเนีย ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวะเกีย และอังกฤษ
กลุ่มนี้มีสภาพเหมือนอยู่แถวชายแดน หลายประเทศโดย เฉพาะโรมาเนียและเบลเยียม มีความขัดแย้งวุ่นวายในประเทศสูง จากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม กลุ่มนี้ยังไม่มีที่ยืนใน ระเบียบโลกใหม่ที่แบ่งแยกกันด้วยความผูกพันทางความรู้สึกและยังมีความผันผวนสูง ไอร์แลนด์กลายสภาพจากที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นถึง “เสือเศรษฐกิจแห่งเซลท์” (Celtic tiger) กลายเป็นประเทศที่เกือบล้มละลายทางการเงิน ในอดีตประเทศเหล่านี้มักถูกรุกราน จากชาติเพื่อนบ้านที่ใหญ่กว่า ส่วนในอนาคต พวกเขายังคงต้องต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจในการปกครองตนเอง จากประเทศอื่นที่ใหญ่ กว่า ซึ่งกำลังแย่งกันมีอิทธิพลเหนือประเทศในกลุ่มนี้
3. กลุ่มประเทศ “มะกอก” (Olive Republics): บัลแกเรีย โครเอเชีย กรีซ อิตาลี โคโซโว มาซิโดเนีย มอนเตเนโกร โปรตุเกส สโลวีเนีย และสเปน
กลุ่มนี้มีรากเหง้ามาจากกรีกและโรมันโบราณ เป็นดินแดน แห่งมะกอกและไวน์ มีความล้าหลังเพื่อนร่วมทวีปอย่างกลุ่ม Hansa ในเกือบทุกด้าน ทั้งอัตราความยากจนที่สูงกว่า Hansa เกือบสองเท่า อัตราการมีงานทำต่ำกว่าประมาณ 10-20% และเกือบทุกประเทศในกลุ่มนี้นำโดยกรีซ สเปนและโปรตุเกส ล้วนแต่มีปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะสูงและยังมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก อิตาลี กำลังแข่งกับญี่ปุ่นในการเป็นประเทศที่มีคนแก่มากที่สุดในโลก
4. ทายาท “นครรัฐ” (City-States): ลอนดอน ปารีส สิงคโปร์ เทลอาวีฟ
ลอนดอนเป็นศูนย์กลางการเงินและสื่อสารมวลชนของโลก แต่อาภัพที่ต้องกลายเป็นเมืองดีเด่นระดับโลก ที่อยู่ในประเทศที่ถูกจัดเป็นชั้นสอง
ปารีสเพียงเมืองเดียว สร้างการเติบโตให้แก่ฝรั่งเศสเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 25% ของ GDP และเป็นที่ตั้งของบริษัทระดับโลกของฝรั่งเศสมากมาย แม้ปารีสจะสำคัญไม่เท่ากับลอนดอน แต่ก็มีตลาดสำหรับเมืองที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลกแห่งนี้เสมอ
สิงคโปร์ การมีทำเลที่ตั้งอยู่ระหว่าง 2 มหาสมุทรคือแปซิฟิก กับอินเดีย ในโลกที่เอเชียกำลังทวีความสำคัญ ทำให้สิงคโปร์อาจ เป็นประเทศที่มีทำเลดีที่สุดในโลกและมีท่าเรือที่ดีที่สุด ประชาชน มีระดับรายได้และการศึกษาสูง นับเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก
เทลอาวีฟ แม้ส่วนใหญ่ของประเทศอิสราเอลยังคงมีสภาพ วุ่นวายเหมือนอยู่ชายแดน แต่เมืองที่ใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์กลางการเงินของอิสราเอลแห่งนี้มีเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองและเป็นเมืองส่งออก สินค้าไฮเทคส่วนใหญ่ของอิสราเอล รายได้ต่อหัวของประชากรใน เทลอาวีฟ สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของอิสราเอล 50% อภิมหาเศรษฐี
4 ในทั้งหมด 9 คนของอิสราเอล อาศัยอยู่ในเมืองนี้
5. พันธมิตรอเมริกาเหนือ (North American Alliance): สหรัฐฯ แคนาดา
สองประเทศนี้ผูกพันใกล้ชิดกันมากเหมือนฝาแฝดตัวติดกัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ประชากรและวัฒนธรรม และต่างเป็นประเทศ คู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของกันและกัน นักวิชาการหลายคนเห็นว่าประเทศ ทั้งสองกำลังตกต่ำแต่พวกเขาอาจคิดผิด อเมริกาเหนือมีเมืองระดับ world class หลายแห่งนำขบวนโดยนิวยอร์ก และมีเศรษฐกิจที่มีฐานอยู่บนสินค้าไฮเทคที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผลผลิตการเกษตรที่ มากที่สุดในโลก ทั้งยังมีน้ำจืดมากกว่ายุโรปหรือเอเชียถึง 4 เท่า
6. กลุ่ม Leberalistas: ชิลี โคลัมเบีย คอสตาริกา เม็กซิโก และเปรู
คือกลุ่มประเทศประชาธิปไตยและทุนนิยมแห่งละตินอเมริกา รายได้ครัวเรือนของกลุ่มนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ และอัตราความยากจนสูง พวกเขากำลังพยายามถีบตัวขึ้นไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศที่เติบโตสูงอย่างจีนและพยายามตีตัวออกห่างจากสหรัฐฯ ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำทางเศรษฐกิจต่อประเทศในกลุ่มนี้มาช้านาน แต่ก็ดูเหมือนว่าอาจทำไม่สำเร็จ โดยเฉพาะสำหรับเม็กซิโก ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ทั้งทางเชื้อชาติและทางภูมิศาสตร์ อนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังไม่แน่นอนว่า จะยังพยายามเปิดเสรีทางเศรษฐกิจต่อไปหรือไม่ หลังจากที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ หรือจะหวนกลับไปเป็นเศรษฐกิจที่ควบคุมโดยรัฐอย่างเดิม
7. Bolivarian* Republics: อาร์เจนตินา โบลิเวีย คิวบา เอกวาดอร์ นิการากัว เวเนซูเอลา
กลุ่มนี้เป็นประเทศส่วนใหญ่ในละตินอเมริกา นำโดยประธานาธิบดี Hugo Chavez แห่งเวเนซูเอลา ซึ่งหวนกลับไปเป็นประเทศเผด็จการและเดินตามรอยลัทธิเปรอง (Peronism) ของอดีตผู้นำอาร์เจนตินา ซึ่งมีประวัติศาสตร์แห่งการเกลียดชังสหรัฐฯ และทุนนิยม ประเทศที่ได้รับอิทธิพลจาก Chavez เหล่านี้เป็นประเทศยากจน ในโบลิเวียคนจนมีมากกว่า 60% แต่กลุ่มนี้ร่ำรวย ทรัพยากรแร่และน้ำมัน เมื่อบวกกับความเกลียดชังที่มีต่อสหรัฐฯ ทำให้ประเทศในกลุ่มนี้คือเป้าหมายของการแข่งกันสร้างอิทธิพลจากจีนและรัสเซีย
*หมายเหตุ: ชื่อเต็มของเวเนซูเอลาคือ Bolivarian Republic of Venezuela
8. Stand-Alones: บราซิล ฝรั่งเศส Greater India ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์
บราซิลมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา และตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่ม Bolivarian กับ Liberalistas ของละตินอเมริกา มีทรัพยากรมั่งคั่ง ซึ่งรวมถึงน้ำมันนอกชายฝั่ง มีความเหนือกว่าในด้านอุตสาหกรรม ทำให้บราซิลจัดเป็นมหาอำนาจชั้นสอง รองจากอเมริกาเหนือ Greater India และจีน แต่ยังคงมีปัญหาทางสังคมมากมาย โดยเฉพาะอาชญากรรมและความยากจน บราซิลได้ถอยห่างจากอเมริกาเหนือ และพยายามสร้างพันธมิตรใหม่กับจีนและอิหร่าน
ฝรั่งเศสยังคงเป็นดินแดนแห่งความก้าวหน้าและวัฒนธรรม ที่พยายามจะต่อต้านวัฒนธรรมอังกฤษและอเมริกันและเกี่ยวข้อง กับ EU น้อยลง แต่ไม่ได้จัดเป็นประเทศมหาอำนาจอีกแล้ว แม้จะยังคงเป็นประเทศที่สำคัญมากกว่ากลุ่มประเทศมะกอก แต่ก็ไม่แข็งแกร่งเท่ากลุ่ม Hansa
Greater India เป็นศัพท์ที่ตะวันตกใช้เรียกอินเดียและชาติเพื่อนบ้านในเอเชียใต้ อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในโลก แต่รายได้ครัวเรือนยังต่ำกว่าจีนประมาณ 1 ใน 3 และอย่างน้อย 25% ของประชากรทั้งหมด 1,300 ล้านคนของอินเดียยังคงยากจน ในมหานครใหญ่ๆ อย่างมุมไบและกัลกัตตา มีสลัมใหญ่ที่สุดในโลกหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม อินเดียกำลังก้าว หน้าไปในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การผลิตรถยนต์ไปจนถึงการผลิตซอฟต์แวร์
ญี่ปุ่นมีทรัพยากรทางการเงินและความเก่งฉกาจในด้านวิศวกรรม ที่ทำให้ญี่ปุ่นยังคงเป็นมหาอำนาจ แต่เพิ่งถูกจีนแย่งตำแหน่งเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกไป การที่ญี่ปุ่นต่อต้านคนต่างด้าว ทำให้ภายในปี 2050 อย่างน้อย 35% ของประชากรญี่ปุ่นจะเป็นคนแก่ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี นอกจากนี้ความได้เปรียบทางเทคโนโลยีของญี่ปุ่นก็กำลังถูกกัดกินโดยเกาหลีใต้ จีน อินเดียและสหรัฐฯ
เกาหลีใต้กำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีอย่างแท้จริง เมื่อ 40 ปีก่อนรายได้ต่อหัวของเกาหลีใต้ยังต่ำขนาด ประเทศกานา แต่ทุกวันนี้เพิ่มขึ้นมากกว่านั้น 15 เท่า รายได้ครัวเรือนของเกาหลีใต้โดยเฉลี่ยขณะนี้สูงเท่าญี่ปุ่นแล้ว และสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกได้อย่างน่าทึ่ง แต่ต้องระวังไม่ให้ถูกดูดเข้าไปอยู่ในอิทธิพลอำนาจของจีนที่กำลังขยายตัว
สวิตเซอร์แลนด์เป็นเหมือนนครรัฐที่ติดต่อกับโลก ด้วยการ ติดต่อสื่อสารไฮเทคและเครื่องบิน สวิตเซอร์แลนด์ร่ำรวย มีน้ำจืด เหลือเฟือและบรรยากาศทางธุรกิจดีเยี่ยม
9. “จักรวรรดิ” รัสเซีย (Russian Empire): อาร์มีเนีย เบลารุส โมลโดวา สหพันธรัฐรัสเซีย ยูเครน
รัสเซียร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติและความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งกองทัพที่ทรงพลัง รัสเซียกำลัง สร้างอิทธิพลในยูเครน จอร์เจียและเอเชียกลาง จักรวรรดิรัสเซียใหม่มีฐานอยู่บนความแข็งแกร่งของชนชาติสลาฟ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 4 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด 140 ล้านคนของรัสเซีย รัสเซียเป็นประเทศที่จัดอยู่ในระดับปานกลาง รายได้ครัวเรือนประมาณครึ่งหนึ่งของอิตาลี และกำลังมีปัญหาคนแก่มากขึ้นเหมือนอิตาลี
10. แดนเถื่อนแห่งตะวันออก (The Wild East): อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจัน คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน ปากีสถาน ทาจิกิซสถาน
กลุ่มประเทศนี้จะยังคงเป็นเป้าหมายของการแข่งกันสร้างอิทธิพลของจีน อินเดีย ตุรกี รัสเซีย และอเมริกาเหนือ
11. Iranistan: บาห์เรน ฉนวนกาซา อิหร่าน อิรัก เลบานอน ซีเรีย
ด้วยทรัพยากรน้ำมัน ระดับการศึกษาที่ค่อนข้างสูง และขนาดเศรษฐกิจประมาณเท่าตุรกี ทำให้อิหร่านมีศักยภาพที่จะเป็นมหาอำนาจ แต่อิหร่านกลับไม่สามารถสร้างอิทธิพลได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่ยอมละทิ้งการยึดถืออุดมการณ์แบบสุดโต่ง ซึ่งไม่เพียง ทำให้ขัดแย้งอย่างหนักกับชาติตะวันตก แต่ยังขัดแย้งกับกลุ่มประเทศอาหรับ Greater Arabia อีกด้วย การบริหารเศรษฐกิจไม่เก่ง ทำให้อิหร่านกลายเป็นประเทศนำเข้าสุทธิสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าไฮเทค อาหาร และแม้กระทั่งน้ำมันสำเร็จรูป
12. กลุ่มประเทศอาหรับ (Greater Arabia): อียิปต์จอร์แดน คูเวต ปาเลสไตน์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เยเมน
ความร่ำรวยน้ำมันทำให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทมากทั้งทาง การเมืองและการเงิน แต่มีช่องว่างอย่างใหญ่หลวงระหว่างประเทศ ร่ำรวยอย่างซาอุดีอาระเบียและ UAE กับชาติที่ยากจนกว่า UAE มีรายได้ต่อหัวถึง 40,000 ดอลลาร์ แต่เยเมนมีรายได้ต่อหัวเพียงเศษเสี้ยว คือประมาณ 5% ของชาว UAE ประเทศในกลุ่มนี้มีความผูกพันทางวัฒนธรรม คือศาสนาและเชื้อชาติสูง แต่กลับทำให้มีปัญหาในด้านความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ของโลก
13. จักรวรรดิออตโตมันใหม่ (The New Ottomans): ตุรกี เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน
การเปลี่ยนแปลงของตุรกีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของระเบียบ โลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น แม้ว่าความสัมพันธ์กับยุโรปจะยังคงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของตุรกี แต่ตุรกีก็เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับยุโรปน้อยลง และหวนกลับไปใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านที่เคยอยู่ในจักรวรรดิ ตุรกีโบราณหรือจักรวรรดิออตโตมันมากขึ้น ซึ่งเป็นประเทศในตะวันออกกลาง และเอเชียกลางที่มีความผูกพันทางเชื้อชาติกับตุรกี นอกจากนี้ยังหันไปค้าขายกับรัสเซียและจีนมากขึ้นด้วย
14. จักรวรรดิแอฟริกาใต้ (South African Empire): บอตสวานา เลโซโท นามิเบีย แอฟริกาใต้ สวาซิแลนด์ ซิมบับเว
แอฟริกาใต้มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายที่สุดในแอฟริกา มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมีทรัพยากรเหมืองแร่ ดินที่อุดม และฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง มีรายได้ต่อหัว 10,000 ดอลลาร์ ซึ่งนับว่าสูงมากในแอฟริกา และยังมีความผูกพันทางวัฒนธรรมที่เหนียวแน่นกับชาติเพื่อนบ้านอย่างเลโซโท บอตสวานา และนามิเบีย ซึ่งมีชนส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์เหมือนกัน
15. แอฟริกา sub-sahara: แองโกลา แคเมอรูน แอฟริกา กลาง คองโก-คินชาซา เอธิโอเปีย กานา เคนยา ไลบีเรีย มาลาวี มาลี โมซัมบิก ไนจีเรีย เซเนกัล เซียราลีโอน ซูดาน แทนซาเนีย โตโก อูกันดา แซมเบีย
ส่วนใหญ่เป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษหรือฝรั่งเศสแบ่งแยกกันด้วยการเป็นมุสลิมกับคริสเตียน การใช้ภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศส และไม่มีความผูกพันทางวัฒนธรรม แต่มีสิ่งที่เหมือนกันคือร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติและมีอัตราความยากจนที่สูงถึง 70-80% เป็นที่แน่นอนว่า ประเทศร่ำรวยอย่างจีน อินเดีย และอเมริกาเหนือจะแก่งแย่งกันฉกฉวยผลประโยชน์จากภูมิภาคนี้
16. ดินแดน Maghreb ในแอฟริกา (Maghrebian Belt): แอลจีเรีย ลิเบีย มอริตาเนีย โมร็อคโค ตูนิเซีย
หมายถึงประเทศที่อยู่แถบชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนในแอฟริกา มีเพียงลิเบียและตูนิเซีย ที่ดูเหมือนจะก้าวหน้าและร่ำรวย กว่าประเทศอื่นในกลุ่มนี้ ซึ่งแทบทั้งหมดยากจน
17. อาณาจักรจีน (Middle Kingdom): จีน ฮ่องกง ไต้หวัน
จีนอาจยังไม่สามารถแย่งตำแหน่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกมาจากสหรัฐฯ ได้ภายใน 10 ปี (จากการประเมินล่าสุดของ IMF) หลังจากเพิ่งแย่งตำแหน่งที่ 2 มาจาก ญี่ปุ่นได้ แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า จีนกำลังจะเป็นมหาอำนาจ ด้วยความแข็งแกร่งทางเชื้อชาติและความทะนงในประวัติศาสตร์ที่เหนือกว่าของตน ชาวจีนฮั่นมีสัดส่วนมากกว่า 90% ของประชากร ทั้งหมดของจีน และนับเป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติและวัฒนธรรมเดียวกันกลุ่มใหญ่ที่สุดของโลก การเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมประจำชาติที่เหนียวแน่น ทำให้จีนเป็นตลาดที่ยากจะเจาะเข้าไปได้ และบริษัทต่างชาติถึงกับต้องลงทุนศึกษาวัฒนธรรมจีน เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนจีน
ความต้องการทรัพยากรอย่างมาก ทำให้จีนขยายอำนาจทางเศรษฐกิจไปในแอฟริกา กลุ่มประเทศ Bolivarian Republics และ Wild East แต่จีนเป็นประเทศที่มีปัญหามาก ทั้งระบบการปกครองแบบเผด็จการล้ำลึก ช่องว่างที่กว้างใหญ่ระหว่างคนรวยคนจน ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการมีคนแก่มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของจีน ในอีก 30 ปีข้างหน้า
18. ดินแดนแห่งยาง (The Rubber Belt): กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย
กลุ่มประเทศนี้ร่ำรวยแร่ธาตุ น้ำจืด ยางพารา และพืชผลการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ แต่มีปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ทุกประเทศกำลังพยายามจะพัฒนาตัวเองให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม และสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ แต่รายได้ ครัวเรือนยังอยู่ในระดับต่ำยกเว้นมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ มีศักยภาพที่จะเป็นประเทศโตเร็วได้ในอนาคต
19. ประเทศที่โชคดี: ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
รายได้ครัวเรือนสูงเท่าๆ กับอเมริกาเหนือ แม้ว่าเศรษฐกิจ จะไม่มีความหลากหลายเท่า การรับคนอังกฤษและอเมริกาเหนือเข้าไปตั้งถิ่นฐาน และการมีมรดกทางวัฒนธรรมอังกฤษร่วมกัน ทำให้ 2 ประเทศนี้ผูกพันทางวัฒนธรรมกับอังกฤษและอเมริกา เหนือ แต่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และการขายสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก ทำให้ประเทศอย่างจีนและอินเดีย อาจกลายเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของ 2 ประเทศนี้ในอนาคต
|
|
|
|
|