Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤศจิกายน 2553
เซินเจิ้นแห่งภาคตะวันตก             
 


   
search resources

Commercial and business




Kashgar เป็นเมืองชายแดนที่อยู่ทางตะวันตกสุดของจีน เคยเป็นจุดแวะพักของเส้นทางสายไหมโบราณ มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถานและปากีสถาน ไม่มีเที่ยวบินตรงจากปักกิ่ง (เพิ่งมีในเดือนกันยายน) ทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 6 ชั่วโมงจากปักกิ่ง รายได้เฉลี่ยของ Kashgar อยู่ราวๆ 1,000 ดอลลาร์ต่อปีในปี 2008 ซึ่งต่ำมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ยากจนอื่นๆ ของจีน ความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่นี่ยังคงคุกรุ่น ชาวมุสลิมอุยกูร์ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชาว Kashgar ทั้งหมด 4 ล้านคน รู้สึกว่า ตัวเองเป็นเพียงชนชั้นต่ำ ทั้งๆ ที่อยู่ในบ้านเกิดของตัวเอง และไม่ว่าจะเป็นในด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรมหรือศิลปะ นี่คือเมืองที่มีความเป็นจีนฮั่นน้อยที่สุดแห่งหนึ่งในจีน แถมที่ตั้งยังเหมือนถูกตัด ขาดออกจากพื้นที่ทั้งหมดของจีน เพราะถูกคั่นด้วยทะเลทราย Taklimakan ในความเห็นของนักวิเคราะห์ด้านจีนจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ดูเหมือนว่า Kashgar ไม่น่าจะเป็นศูนย์กลางของอะไรได้เลย

แต่รัฐบาลจีนกำลังมีแผนจะปลุกปั้นให้เมืองนี้เป็น “ลอสแองเจลิสแห่งจีน” ด้วยความที่ Kashgar มีบางอย่างที่ คล้ายกับเมืองดังของสหรัฐฯ แห่งนั้น Kashgar อยู่ในภาคตะวันตกของจีน ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เหมือน กับลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นศูนย์ กลางทางเศรษฐกิจในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ รัฐบาลจีน กำลังให้ความสนใจและเริ่มหว่านโปรยทรัพยากรไปให้แก่ Kashgar เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของเมืองนี้และพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับเอเชียกลางและยุโรป พร้อมกับหวังด้วยว่า การสร้างความเจริญให้แก่เมืองนี้ จะช่วยทำให้ชาวมุสลิมอุยกูร์รู้สึกพอใจและไม่ก่อความวุ่นวายได้

ในปี 2009 รัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนโครงการก่อสร้างใน Kashgar ก้อนใหญ่ 7,400 ล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านั้นก็เพิ่งใช้เงิน 25 ล้านดอลลาร์สร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ให้ ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนได้รื้อถอนบ้านหลายพันหลังในเขตเมืองเก่าของ Kashgar และใช้เงิน 448 ล้านดอลลาร์ โยกย้ายชาวบ้านให้เข้าไปอยู่ในบ้านที่รัฐ จัดไว้ให้ โดยไม่สนใจการประท้วงของชาวอุยกูร์และนักอนุรักษ์ และเพื่อทำตามแผนพัฒนาของจีน ที่กำหนดให้พื้นที่ร่ำรวยต้องช่วย พื้นที่ยากจน รัฐบาลจีนจึงกำหนดให้มณฑลกวางตุ้ง จะต้องส่งเงิน 1,400 ล้านดอลลาร์ไปช่วย Kashgar ตลอด 5 ปีข้างหน้า

สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดที่ยืนยันว่า รัฐบาลจีนไม่ได้ล้อเล่น กับแผนการเปลี่ยน Kashgar ให้กลายเป็นเซินเจิ้น 2 คือในเดือน พฤษภาคม จีนได้ประกาศให้ Kashgar เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) นับเป็นการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองแรกในรอบกว่า 15 ปี ก่อนหน้านี้ก็มีเพียง 6 เมืองเท่านั้นที่ได้รับสถานะพิเศษนี้ ซึ่งก็รวมถึงเซินเจิ้น จูไห่ และเมืองท่องเที่ยวอย่างเกาะไหหลำ การเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหมายถึงจะได้รับนโยบายภาษีที่ดีต่อธุรกิจ ได้รับโอกาสทางการลงทุนและจะได้ “เปิดรับโลกภายนอก” ซึ่งในกรณีของ Kashgar หมายถึงการที่จีนจะสามารถส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและสินค้า อุปโภคบริโภคไปยังเอเชียกลางและใต้ แลกกับการซื้อวัตถุดิบจาก ประเทศเหล่านั้นกลับคืนมา “เราต้องการเปลี่ยน Kashgar ให้กลายเป็นเมืองสากลในระดับโลก” Zeng Cun เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน Kashgar กล่าว

แน่นอน เมืองต้นแบบของ Kashgar ก็คือเซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของจีน และเพิ่งฉลอง ครบรอบ 30 ปีการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษไปเมื่อเดือนสิงหาคม ย้อนหลังไปเมื่อปี 1980 เซินเจิ้นเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง แต่บัดนี้กลับกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่ร่ำรวยที่สุดของจีน และหนึ่งในเมืองที่สำคัญที่สุด ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ที่รุ่งเรืองของจีน เซินเจิ้นเติบโตตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ด้วยความได้เปรียบในทำเลที่ตั้ง ซึ่งอยู่ติดทะเลและอยู่ใกล้ฮ่องกง และไต้หวัน อันเป็นแหล่งใหญ่ของเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่เซินเจิ้น และยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในทุกทาง หลังจากที่ได้รับการประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเมืองแรก และถูกกำหนดให้เป็นกองหน้าในแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนแล้ว เซินเจิ้นก็เป็นเมืองแรกที่ได้รับอนุญาตให้รับการลงทุนจากต่างชาติได้ รัฐบาลจีนเพิ่งจัดตั้ง ChiNext ตลาดหุ้น สไตล์ NASDAQ ขึ้นในเซินเจิ้นเมื่อปีที่แล้ว (2009)

จีนไม่เพียงต้องการให้เซินเจิ้นเป็นต้นแบบของ Kashgar แต่ยังต้องการให้เป็นพี่เลี้ยงด้วย เซินเจิ้นจะลงทุนใน Kashgar และจะให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษและการ พัฒนาเศรษฐกิจ พรรคคอมมิวนิสต์จีนใน Kashgar ชูสโลแกนใหม่ “ตะวันออก มีเซินเจิ้น ตะวันตกมี Kashgar” จีนเชื่อมั่นว่า Kashgar ซึ่งพัฒนาเร็วมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จะยิ่งพัฒนาเร็วขึ้น อีกในอีก 10 ปีถัดจากนี้

Kashgar จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า หลังจากเติบโตมานานถึง กว่า 30 ปีแล้ว จีนจะยังสามารถเนรมิตมหานครแห่งใหม่ขึ้นจาก อากาศธาตุได้อีกหรือไม่ แต่อย่างน้อย ตอนนี้ Kashgar ก็นับว่า ประสบความสำเร็จในทางเศรษฐกิจแล้ว ในปี 2009 ตัวเลขเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนระบุว่า เศรษฐกิจของ Kashgar เติบโตถึง 17.4% ต่อปี โดยภาคธุรกิจที่โตเร็วที่สุดคือภาคเกษตรและบริการ ซึ่งรวมกันเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของ GDP ของ Kashgar ราคาอสังหาริมทรัพย์ทั่ว Kashgar พุ่งสูงติดเพดาน หลังจาก Kashgar ได้รับการประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในเดือนพฤษภาคม ทั้งชาว Kashgar และชาวเมืองอื่น เช่น กวางเจา เซี่ยงไฮ้ และเจียงซี ต่างแย่งกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ใน Kashgar จนจำนวนนักท่องเที่ยวในเมืองนี้พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของ Kashgar จะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่มีใครสามารถบอกได้ ถึงแม้จะได้รับการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ยังไม่ใช่หลักประกันความสำเร็จได้เสมอไป ซัวเถา หรือซ่านโถว เมืองชายฝั่งในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตในภาคใต้ของจีน เป็นหนึ่งในเมืองแรกๆ ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ก็ไม่สามารถรุ่งเรือง ได้ดังหวัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทำเลที่ตั้งที่แม้จะอยู่ติดชายฝั่ง แต่ก็ไม่ดีเท่าเซินเจิ้น ปัจจุบันซัวเถามีขนาดเศรษฐกิจเพียงเศษเสี้ยวของเซินเจิ้นเท่านั้น และแม้รัฐบาลจีนจะทุ่มงบประมาณมหาศาลให้แก่ Kashgar แต่ Kashgar ก็ยังไม่ได้รับความสำคัญมากเท่า กับที่เซินเจิ้นเคยได้รับเมื่อ 30 ปีก่อน เซินเจิ้นได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศส่วนใหญ่ที่เข้ามาในจีน โดยเฉพาะจากฮ่องกงตลอดช่วงทศวรรษ 1980 แต่ Kashgar ยังไม่ได้รับเงินลงทุน ต่างประเทศเลย

ที่สำคัญ เซินเจิ้นไม่มีปัญหาการเมืองที่มาจากความขัดแย้ง ทางเชื้อชาติอย่าง Kashgar ซึ่งยังไม่มีเสถียรภาพ ชาวอุยกูร์ในขณะนี้กลับยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวมากกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ 3,000 ปีของพวกเขา และกำลังรู้สึกว่า พวกเขาไม่มีความสามารถที่จะแข่งขันได้ในตลาดนี้ เพราะความด้อยในสิทธิต่างๆ ที่ไม่เท่าเทียม กับชาวจีนฮั่น ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับ Kashgar ยังทำให้ยากที่ Kashgar จะได้ ประโยชน์ในการทำการค้ากับประเทศเหล่านั้น ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียกลาง ยังยากจนเกินกว่าจะเป็นตลาดที่มีความหมายสำหรับสินค้าและบริการจากจีน

อย่างไรก็ตาม ทำเลที่ตั้งของ Kashgar เหมาะสมกับการขนส่งทรัพยากรระหว่างจีนกับเอเชีย จีนวางแผนจะสร้างรางรถไฟ จาก Kashgar ไปถึงทะเลอาหรับโดยผ่านปากีสถาน ซึ่งจะช่วยเชื่อมท่าเรือ Gwadar กับจีน และย่นระยะเวลาการขนส่งน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซีย

ทางรถไฟสายใหม่ซึ่งสื่อในจีนตั้งฉายาให้ว่า “เส้นทางสายไหมเหล็ก” สายนี้ จะตัดผ่านดินแดนที่มีความขัดแย้งในปากีสถาน และจะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของกองทัพปากีสถานที่อยู่ใกล้กับอินเดีย ทำให้อินเดียแสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนสร้างทางรถไฟของจีนดังกล่าว แต่จีนยังคงเดินหน้าต่อไป ไม่เพียงสร้างทางรถไฟ แต่ยังจะสร้างถนนและการขนส่งทาง ทะเล ทั้งที่ตัดผ่านโดยตรงหรืออยู่รอบๆ Kashgar รัฐบาลอิหร่านเพิ่งเปิดเผยในเดือน กันยายนว่า จีนจะสร้างทางรถไฟจากกรุงเตหะรานของอิหร่านไปถึงชายแดนที่ติดกับ อิรัก และยังมีแผนจะขยายทางรถไฟดังกล่าว จากกรุงเตหะรานไปถึงทาจิกิซสถาน คีร์กิซสถาน และสุดท้ายไปถึง Kashgar หากแผนการนี้สำเร็จ จะทำให้ Kashgar กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าไปยังยุโรป และนั่นอาจเป็นหลักประกันอนาคตที่มั่นคงของ Kashgar

อย่างไรก็ตาม ประเทศอย่างคีร์กิซสถาน ซึ่งเพิ่งเกิดการรัฐประหารในเดือนเมษายน อาจทำให้แผนการดัน Kashgar ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งต้องตกรางได้ และความขัดแย้งในเอเชียกลาง ยังอาจล้นข้ามพรมแดนเข้าไปในจีนด้วย และหากเอเชียกลางยังไม่สงบ ก็ยากที่ Kashgar จะสงบได้

ปัญหาความไร้เสถียรภาพจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของ Kashgar เมืองที่เคยรุ่งเรืองในยุคจักรวรรดิมองโกลในอดีต และเคยเป็นสมรภูมิแก่งแย่งอำนาจความเป็นใหญ่เหนือเอเชียกลางระหว่างอังกฤษกับรัสเซีย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใหญ่ไม่ว่าจาก จีนหรือตะวันตกเข้าไปตั้งหรือทำธุรกิจใน Kashgar เลย Kashgar ยังล้าหลังเซินเจิ้นอยู่หลายช่วงตัว

อย่างไรก็ตาม เซินเจิ้นในช่วงทศวรรษ 1980 ก็ไม่ต่างจาก Kashgar ในตอนนี้ คือล้าหลังจากปักกิ่งหลายทศวรรษ แต่เซินเจิ้น ก็สามารถไล่ตามทันปักกิ่งได้อย่างรวดเร็ว โดยเติบโตถึง 25.8% ต่อปี ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เทียบกับการเติบโตเฉลี่ยของจีนซึ่งอยู่ที่ 10% ชาวเซินเจิ้นในขณะนี้มีมาตรฐานการครองชีพที่ทัดเทียมกับปักกิ่ง

หากโมเดล “สั่งการและควบคุม” ของรัฐบาลจีนยังคงใช้ได้ผลและสามารถพัฒนา Kashgar ให้กลายเป็นเซินเจิ้น 2 ได้จริง Kashgar ก็คงจะกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าที่เจริญรุ่งเรืองอีกแห่งหนึ่งของจีน แต่หากไม่เป็นไปดังหวัง ก็อาจเป็นการเตือนให้จีนได้เห็นว่า อะไรจะเกิดขึ้นบ้างหากความไร้เสถียรภาพจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติเป็นฝ่ายชนะการควบคุมจากส่วนกลาง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us