Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤศจิกายน 2553
อินเดียควรรับฟัง             
 


   
search resources

Economics




อินเดียจะสามารถแซงหน้าจีนและกลายเป็นประเทศที่โตเร็วที่สุดในโลกได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่น่ากังขา

แม้จะมีทั้งภัยคุกคามจากกลุ่มฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง มีมาตรฐานธรรมาภิบาลที่ไม่ค่อยน่าไว้ใจ และวัฒนธรรมการปกครองแบบ kleptocracy โดยรัฐบาลที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น ฉกฉวยทรัพยากรของประเทศชาติมาเป็นของตน และความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐ แต่นักเศรษฐศาสตร์แทบทั้งหมดก็ยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะสามารถเติบโตที่ 8-9% ต่อไปได้ สวนทางเศรษฐกิจโลกที่อาจโตช้าลง

หลายคนเชื่อว่า อนาคตของอินเดียจะมั่นคงถึงขนาดที่อาจ แซงหน้าจีน กลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในโลกไปได้ ภายในเวลาเพียง 10 ปี อินเดียมีภาคเอกชนที่มีพลวัตสูง และมีความได้เปรียบจาก “ดอกผลของประชากร” ล่าสุดสหประชาชาติ ประเมินว่า การเพิ่มขึ้นของแรงงานของอินเดียจะมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการเพิ่มขึ้นของประชากรวัยแรงงานทั่วโลกตลอด 20 ปีข้าง หน้า ซึ่งจะทำให้อินเดียมีเงินออมสูงขึ้นและมีประสิทธิภาพการผลิต มากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อไปถึงการสร้างวัฒนธรรมการบริโภคที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้นในทุกประเภท

อันที่จริง การมีประชากรวัยทำงานมากอาจไม่เป็นผลดีต่อ เศรษฐกิจเสมอไป ตัวอย่างที่มีให้เห็นแล้วคือแอฟริกา แต่สาเหตุที่ทำให้คนยังคงเชื่อมั่นในแรงงานของอินเดีย เป็นเพราะระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการและการที่เศรษฐกิจอินเดียมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกสูงลักษณะทางประชากรของอินเดียในตอนนี้ยังคล้ายกับของจีนเมื่อไม่กี่ปีก่อน ที่ประชากรในวัยพึ่งพิงลดจำนวนลง ส่วนประชากรวัยทำงานเพิ่มจำนวนขึ้นหลายล้านคน ลักษณะทางประชากรเช่นนี้ คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจีน

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของโลก ยังมีเรื่องของพม่ากับฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยได้รับการคาดหมายในทศวรรษ 1950 ให้เป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ในอนาคตแห่งเอเชียตะวันออก แต่จนถึงทุกวันนี้ ทั้งสองประเทศยังคงห่างไกลจากคำนั้น บราซิล ซึ่งเศรษฐกิจเคยโตเกือบถึงเลข 2 หลัก และกำลังจะกลาย เป็นซูเปอร์สตาร์ในหมู่ประเทศตลาดเกิดใหม่เมื่อทศวรรษ 1960 แต่แล้วการเติบโตของบราซิลก็ตกลงนับแต่นั้น จนเหลือไม่ถึง 4% โดยเฉลี่ยในปัจจุบัน ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 CIA เคยถึงกับ เตือนรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า การที่สหภาพโซเวียตมีอัตราการลงทุนที่สูงมาก จะทำให้เศรษฐกิจของโซเวียตแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ภายในทศวรรษถัดจากนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับเป็นตรงกันข้าม เมื่อโซเวียตกลับล่มสลายในทศวรรษนั้น

ประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของโลกยังแสดงว่า การรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืนหาใช่เรื่องง่าย ล่าสุดรายงานของคณะกรรมการว่าด้วยการเติบโตและการพัฒนาของธนาคารโลก (Commission on Growth and Development) ระบุว่ามีเพียง 13 ประเทศในโลกเท่านั้นที่สามารถรักษาการเติบโต ทางเศรษฐกิจที่ “รวดเร็วและยั่งยืน” เอาไว้ได้ โดยสามารถรักษาการเติบโตที่ 7% หรือกว่านั้นโดยเฉลี่ยได้ เป็นเวลานาน 25 ปี 13 ประเทศที่ว่า มีทั้งประเทศที่ทุกคนคงคาดเดาได้ถูกต้องอย่างจีน และประเทศที่คาดไม่ถึงอย่างมอลตา ซึ่งเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ในยุโรป หากอินเดียยังสามารถโต 8% ได้จริงอย่างที่เชื่อกัน ก็คง มีหวังได้ติดกลุ่มประเทศหัวกะทิข้างต้นได้

แต่ 13 ประเทศโตเร็วเหล่านั้นก็ยังหนีไม่พ้นชะตากรรม มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศในกลุ่มนี้ ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซียและไทย เศรษฐกิจเริ่มโตช้าลงหลังจาก 25 ปีผ่านไป และหากอินเดีย ยังมองไม่เห็นสัญญาณที่เริ่มเกิดขึ้นของปัญหาที่เคยทำลายประเทศ ดาวรุ่งเหล่านั้น อินเดียก็อาจไม่แคล้วต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน

ปัญหาแรกคือปัญหาทุนนิยมแบบเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งกำลังน่าวิตกมากขึ้นทุกทีในอินเดีย การคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง ในประเทศนี้เลวร้ายลงเรื่อยๆ จนถึงจุดที่การเล่นเส้นเล่นสายในรัฐบาล กำลังทำลายระบบและหลักเกณฑ์มาตรฐานอื่นๆ ของธุรกิจ อินเดียมีอภิมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นมากมาย โดยไม่สอดคล้องกับขนาด เศรษฐกิจของประเทศ จำนวนอภิมหาเศรษฐีในอินเดียมีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และรัสเซียเท่านั้น และสิ่งที่น่าวิตกคือ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คนที่กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีในอินเดีย มักมาจากภาคธุรกิจอย่างเช่น เหมืองแร่ โครงการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน และภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ธุรกิจ เหล่านั้นอยู่ได้เพราะอิทธิพลที่พวกเขามีอยู่เหนือนโยบายของรัฐบาลท้องถิ่น มากกว่าอยู่ได้เพราะการทำตามกฎเกณฑ์มาตรฐานของระบบตลาด หรือเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

การแข่งขันที่ลดลงจะทำลายประสิทธิภาพการผลิตของระบบเศรษฐกิจ และจะทำให้เกิดการจัดสรรเงินทุนที่ผิดพลาด การกระจุกตัวของความร่ำรวยในอินเดียเพิ่มขึ้นมากกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน ความร่ำรวยของอภิมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของอินเดีย มีทรัพย์สินรวมกันเป็นสัดส่วนถึง 12% ของ GDP เทียบกับเพียง 1% ในจีน 5% ในบราซิล และ 9% ในรัสเซีย

ความไม่พอใจเริ่มก่อตัวขึ้น ว่าเหตุใดจึงมีเพียงไม่กี่ตระกูล ในอินเดียที่มีอิทธิพลทางการเมืองเหนือรัฐบาล จนสามารถวางระบบกฎเกณฑ์ได้ตามอำเภอใจ เพื่อที่จะสามารถกว้านซื้อที่ดินของรัฐหรือสัมปทานเหมืองแร่ได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดความไม่สงบมากขึ้น โดยฝีมือของกลุ่มกบฏลัทธิเหมา ในหลายรัฐของอินเดียที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งประชาชนกำลังโกรธแค้น ที่รัฐบาลขายที่ดินและทรัพยากรของประเทศไปในราคาถูกๆ

ทุนนิยมแบบเล่นพรรคเล่นพวกยังนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นโรคร้ายที่เคยทำลายประเทศ ดาวรุ่งทางเศรษฐกิจมานักต่อนัก เมื่อเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง ความต้องการของผู้บริโภคจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากชนชั้นกลางร่ำรวยขึ้น ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นนี้ จะต้องได้รับการสนองตอบ ด้วยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ภาคธุรกิจจะไม่เกิดการลงทุน ถ้าหากสภาพแวด ล้อมทางธุรกิจไม่มั่นคง และไม่มีสิ่งใดที่จะบั่นทอน เสถียรภาพทางธุรกิจได้มากไปกว่าการเลือกปฏิบัติ และการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลอีกแล้ว ต้นทุนในการทำโครงการใหม่ๆ ในอินเดียแพงขึ้นตลอดเวลา ตามความแพงของจำนวนเงินที่ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ทุจริต เพื่อแลกกับการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการจัดตั้งโครงการใหม่ และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อของอินเดียในขณะนี้สูงถึงเกือบ 10% แล้ว นอกจากอินเดียจะต้องการการลงทุนที่แข็งแกร่งและสม่ำเสมอ เพื่อจะรักษาการเติบโตไว้ที่ 8-9% แล้ว อินเดียยังต้องการอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและสม่ำเสมอด้วย การสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ คือคุณสมบัติสำคัญของทุกประเทศที่สามารถรักษาการเติบโตได้อย่าง ยั่งยืนในระยะยาว

บริษัทของอินเดียมองเห็นปัญหานี้แล้ว จึงพากันย้ายออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ ธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทอินเดียขณะนี้มีสัดส่วนในการสร้างผลกำไรถึงกว่า 10% ของผลกำไรทั้งหมดที่บริษัทอินเดียทำได้ เทียบกับเพียง 2% เมื่อ 5 ปีก่อน ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นต่อการลงทุนภายในประเทศของตัวเอง เพราะหากดูจากศักยภาพการเติบโตอย่างมหาศาลของตลาดภายในของอินเดียแล้ว บริษัทอินเดียไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย ที่จะต้องออกไปไล่ซื้อธุรกิจ ในต่างประเทศ หากไม่เป็นเพราะเจอกับระบอบเล่นพรรคเล่นพวก ในประเทศของตัวเอง

การจะแก้ปัญหานี้ อินเดียต้องส่งเสริมการแข่งขันให้มากกว่า นี้และสร้างสังคมที่ปกครองด้วยกฎระเบียบ ไม่ใช่เส้นสายส่วนตัว การที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน สามารถรักษาการเติบโตสูงและเพิ่มรายได้จนเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วได้นั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะมีระบบที่ยุติธรรมในการซื้อที่ดินของรัฐ รัฐสภาอินเดียกำลังจะผ่าน กฎหมายใหม่ในการซื้อที่ดิน ซึ่งจะป้องกันการซื้อที่ดินที่ไม่ถูกต้อง ส่วนรัฐบาลอินเดียก็เพิ่มงบประมาณด้านสวัสดิการ เพื่อชดเชยให้แก่ภาคส่วนของสังคมที่อาจรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง จากกระบวนการพัฒนาประเทศที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การลดความยากจนด้วยวิธีใช้จ่ายงบประมาณเพียงอย่างเดียว จะเพิ่มภาระทางการเงินให้แก่รัฐบาล และยังขัดขวางกระบวนการย้ายถิ่นจากชนบทไปสู่เมืองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอีกด้วย รัฐบาลอินเดียมีการใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ย 18% ต่อปีตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เทียบกับเพียง 11% ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น ผลก็คือ ยอดขาดดุลงบประมาณของอินเดียกำลังใกล้จะถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10% แล้ว นั่นหมายความว่าสิ่งที่อินเดียได้รับจากการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังจะถูกผลาญให้หมดไปอย่างรวดเร็ว

นโยบายที่ได้รับความนิยมสูงสุดของพรรค Congress พรรครัฐบาลอินเดีย คือนโยบายประกันการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานให้แก่คนจนในชนบท ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณสูง ถึงเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนจะใช้งบประมาณในจำนวนเดียวกันนี้ อุดหนุนค่าอาหารให้แก่คนจน อีก หากรัฐบาลอินเดียยังขืนเดินตามเส้นทางนี้ต่อไปก็อาจไม่แคล้ว ต้องประสบชะตากรรมเดียวกับบราซิลในทศวรรษ 1970 เมื่อการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลบราซิล ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง จนทำให้ยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของบราซิลต้องจบสิ้นลง

นโยบายเช่นนี้ยังทำให้ชาวอินเดียในชนบทติดอยู่กับการทำเกษตรต่อไป และทำให้กระบวนการอพยพจากชนบทไปสู่เมืองเกิดขึ้นช้าลง การที่จีนสามารถแปรเปลี่ยน “ดอกผลทางประชากร” ให้กลายเป็นความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจได้นั้น เป็นเพราะจีนกระตุ้นให้เกษตรกรในชนบทย้ายเข้าไปสู่เมืองชายฝั่งที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา ในช่วง 10 ปีนี้มีชาวจีนในชนบทถึง 180 ล้านคนแล้ว ที่อพยพเข้าไปอยู่ในเมือง อัตราการขยายตัวของเมืองในจีนเพิ่มขึ้น จาก 35% เป็น 46% แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อินเดียมีอัตราการ ขยายตัวของเมืองช้ากว่าจีน โดยเพิ่มจาก 26% เป็น 30% เท่านั้น หากอินเดียกระตุ้นการอพยพจากชนบทเข้าสู่เมืองให้มากกว่านี้ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตถึงขนาดเลขสองหลักได้

อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงย่ามใจว่าจะสามารถแทนที่จีน ในการเป็นประเทศที่โตเร็วที่สุดในโลกได้ภายในทศวรรษนี้ เพราะไม่มีประเทศไหนอีกแล้วที่ทุกอย่างดูจะเป็นใจ ให้เหมือนอินเดีย ตั้งแต่ความได้เปรียบทาง ประชากรไปจนถึงความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รายได้ต่อหัวต่อปีของอินเดียอยู่ที่เพียง 1,000 ดอลลาร์ (เทียบกับ 4,000 ดอลลาร์ของจีน) ทำให้อินเดียมีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก แต่ความอหังการคือจุดตายของวีรบุรุษ รัฐบาลอินเดียควรเร่งเดินหน้าออกมาตรการสกัดกั้น ทุนนิยมแบบเล่นพรรคเล่นพวก หยุดการใช้จ่ายงบประมาณที่เกินตัว เพื่อรักษาสถานะที่ดี เยี่ยมในสายตานักลงทุนทั่วโลกเอาไว้ มิฉะนั้น “หนังแขก” เรื่องนี้อาจไม่จบแบบ happy ending สมใจคอหนังที่เอาใจช่วยก็เป็นได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us