Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2531
ความเห็นในการผลิตบัณฑิตทางวิศวกรรมศาสตร์             
 


   
search resources

Education




ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ในหลายแห่งว่า การผลิตวิศวกร 55 คนต่อประชากรล้านคนต่อปี หรือผลิตวิศวกร 4 คน ในบัณฑิตปริญญาตรี 100 คนของไทยนั้น เป็นการผลิตที่แย่มาก และประเมินว่า ถ้าเราจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยขาของตนเอง เราก็จำเป็นต้องผลิตวิศวกรอย่างต่ำ 300-500 คนต่อประชากรล้านคน/ปี ซึ่งจำนวนการผลิตดังกล่าว จะมีอัตราถึง 17,000 คน ถึง 20,000 คนต่อปี แทนที่จะเป็น 2,500-3,000 คนต่อปี อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้เขียนยังคงแน่ใจและยืนยันตัวเลขดังกล่าว แม้ว่าการวิจัยทางตัวเลขจากหน่วยงานต่างๆ จะออกมาน้อยกว่านี้ก็ตาม เช่น ตัวเลขของ TDRI ซึ่งประเมินความต้องการแรงงานวิศวกรในภาคอุตสาหกรรมไว้เพียง 7,000-8,000 คน/ปี ในปัจจุบัน

ถ้าเราจะพิจารณาปริมาณแรงงานของไทยในปัจจุบัน ตัวเลขที่ใช้คงจะไม่ต่างกันมากนัก ถ้าจะยึด WORK FORCE ของไทยจากประชากร 55 ล้านคน เป็นประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งใน 30 ล้านคนนี้ ประมาณ 66% จะเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม, 22% เป็นแรงงานในภาคบริการ และ 12% เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเจริญเติบโตอย่างวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคิดเพียงการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศเท่านั้น ไม่รวมงานวิจัยและพัฒนา และคิดว่าเราจะทำเฉพาะเทคโนโลยีระดับกลางและล่าง ในความเจริญปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก อัตราส่วนวิศวกร : ช่างเทคนิค : แรงงาน เฉพาะในภาคอุตสาหกรรม จะเป็นราว 1 : 4 : 50 ดังนั้น ความต้องการวิศวกรในแรงงานอุตสาหกรรมที่ควรจะเป็นจะเฉลี่ยอยู่ราว 1.8-2% ซึ่งบางส่วนอาจสูงหรือต่ำกว่านี้ ดังนั้นแรงงานอุตสาหกรรม 3.6 ล้านคน จะต้องการวิศวกร 65,000 คน ส่วนในภาพบริการ โดยที่เทคโนโลยีด้านสื่อสารข้อมูลต่างๆ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ถ้าคิดว่าวิศวกรในแรงงานส่วนนี้เป็น 1% ซึ่งอาจยังน้อยไปเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าคิดเพียง 1% จะต้องการวิศวกรในภานี้เท่ากับ 66,000 คน ในแรงงาน 6.6 ล้านคน ถ้าคิดภาคเกษตรกรรมต้องการวิศวกรต่อแรงงานเป็น 0.25% จะต้องการวิศวกรในภาคนี้ถึง 50,000 คน ในแรงงาน 20 ล้านคน

ในลักษณะดังกล่าว จำนวนวิศวกรที่ควรจะมีในปัจจุบัน ถ้าไม่ต้องการซื้อลูกเดียว จะต้องเป็น 180,000 คน ในแรงงาน 30 ล้านคน คิดเป็น 0.6% ของแรงงานรวมของประเทศ ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศนิกส์ เขาจะมีอัตราส่วนวิศวกรต่อแรงงานสูงกว่า 1% ทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศที่จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นนิกส์ ซึ่งมีสัดส่วนวิศวกรต่อแรงงานสูงขึ้นไปอีก และเป็นที่แน่นอนว่า ในอนาคตความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะบีบให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการโตขึ้น และทุกภาคจะใช้วิศวกรในสัดส่วนที่สูงขึ้น ออสเตรเลียเองปัจจุบันมีอัตราส่วนวิศวกรต่อแรงงานเพียง 0.8% หรือ 67,000 คน แต่เขาก็รู้ตัวและพยายามที่จะให้สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1% ให้ได้ภายในปี 2000 ไทยเราปัจจุบันมีวิศวกรปริญญาที่ทำหน้าที่วิศวกรไม่เกิน 35,000 คนทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนวิศวกรต่อแรงงานเพียง 0.12% เท่านั้น!!! ถ้าจะมีจำนวนวิศวกรให้ได้ 180,000 คน โดยที่ไม่มีการตาย ไม่มีการย้ายอาชีพไปทำบริหาร ไม่มีการเกษียณอายุ (ซึ่งในปกติถ้าคิดอายุการทำงานของวิศวกรฯ รวมการเปลี่ยนอาชีพ เกษียณ ตาย ฯลฯ) และประชากรไม่เพิ่ม พร้อมทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการไม่เพิ่มขึ้นเลย ถ้าผลิตปีละ 17,000 คนจะใช้เวลากว่า 10 ปีและอีก 10 ปีข้างหน้า ในความเจริญเราจะมีวิศวกรเพียง 0.6% ของแรงงาน ในขณะที่ประเทศต่างๆ ถึงเวลานั้นคงมีสัดส่วนวิศวกรมากขึ้นไปอีก ตามความเจริญของเทคโนโลยี

นี่ขนาดคิดเบาะๆๆ ว่าผลิตปีละ 17,000 คน ซึ่งในปัจจุบันผลิตปีละ 2,500 คน แนวทางค่อนข้างหดหู่มาก แต่ถ้าเราเห็นพ้องต้องกันว่า ควรมีการผลิตวิศวกรให้มากๆ นับจำนวนหมื่น เราจะทำอย่างไร เราอาจทำได้โดย

1. เริ่มต้นถ้าดูด้าน INPUT ว่าปัจจุบันมีพอไหม ทั้งปริมาณและคุณภาพ ปี 2530 มีผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลายรวมสามแสนคนเศษ เป็นสายอาชีพแสนสองหมื่นคน เป็นสายสามัญประมาณ แสนแปดหมื่นคนเศษ ในจำนวนนี้สายสามัญวิทยาศาสตร์มีประมาณแปดหมื่นสามพันคน ถ้าคิดว่ามีเพียง 2% ของสายอาชีพที่จะมีความสามารถพอที่จะต่อขึ้นเป็น ปวส. และเป็นวิศวกรปริญญาได้ ก็จะมีวัตถุดิบทางสายนี้พร้อมอยู่ราว 2,500 คน/ปี ถ้าคิดว่าสายสามัญวิทยาศาสตร์นั้น คุณสมบัติทางวิชาการที่พอจะใช้เรียนแพทย์ วิศวะ ได้เป็น 25% แรกของชั้น ก็จะมีบุคลากรวัตถุดิบได้ 21,000 คน จะเห็นว่าเกลี่ยพอดีๆ แต่ในระยะสั้น วัตถุดิบที่สามารถนำมาเรียนวิศวกรได้จะเหลือ เพราะถึงอย่างไรการผลิตวิศวกรปีละ 20,000 คน จะต้องชะลอออกไปในระยะยาวหลายปี พอจะเพิ่มจำนวนนักเรียนในมัธยมปลายได้ทัน

2. การเพิ่มวิศวกร ควรกำหนดนโยบายให้ชัดเจน เช่นว่าจะมีเป้าหมายผลิตวิศวกรเพิ่มขึ้นเป็น 100 คน/ประชากรล้านคน/ปี ภายใน 8 ปีข้างหน้า และ 400 คนต่อประชากรล้านคน/ปี ภายใน 12 ปีข้างหน้าเป็นต้น

3. รัฐบาลต้องมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ชัดเจน ที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถมีส่วนร่วมในการผลิตวิศวกรของตนเอง ส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนในการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา และการจัดตั้งสถาบันการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์ของภาคอุตสาหกรรม สามารถมี INCENTIVE ที่เหมาะสม เช่น การออกกฎหมาย การตัดบัญชี ASSET (ซึ่ง ปัจจุบันใช้เป็นแบบ INTANGIBLE ASSET ตัดบัญชีใน 5 ปี 10 ปี๗ ให้สั้นลง เช่น การวิจัยและพัฒนาให้ตัดได้หมดภายในปีเดียว เช่นในต่างประเทศ เพื่อให้มีการสนับสนุนให้มีงาน R+D และมีสถาบันวิจัย เพื่อผลิตวิศวกรของภาคอุตสาหกรรมเองให้มากขึ้น เฉพาะในหน่วยงานที่เป็นของไทยและใช้วิศวกรไทยโดยสมบูรณ์ เพื่อให้แข่งขันกับหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมลูกครึ่ง หรืออุตสาหกรรมพันธุ์เทศได้

4. ในทันทีรัฐบาลน่าจะวางนโยบายการจัดการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ให้เท่าเทียมกัน ในการกระทำดังนี้ จะทำให้สถาบันที่ทำการผลิตในประสิทธิภาพไม่เต็มกำลังเพิ่มจำนวนนักศึกษาขึ้น และสถาบันที่ผลิตอยู่เต็มกำลังแล้วสามารถพัฒนา และมีการวางแผนพัฒนาได้ดีขึ้น ปัจจุบันบางแห่งมีอาจารย์ต่อนักศึกษาถึง 1 : 19 แต่ไม่สามารถขอเพิ่มอัตราให้เหมาะสมได้ งบประมาณที่ได้จากรัฐบาล ก็มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมาก ชนิดมือใครยาวสาวได้สาวเอา ควรจัดการให้เท่าๆ กัน และมีนโยบายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ต้องสอนวิศวกรให้มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรม จะทำตัวเป็นเสือกระดาษไม่ได้ ดังนั้นรายได้หลักอันหนึ่งของคณะต้องมีความสามารถที่จะนำเข้ามาได้จากภาคเอกชน

5. ในทันทีจะต้องเสริมที่นั่งจากการโหว่ ที่เหลืออยู่ในภาควิชาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ต่างๆ ให้เต็ม โดยคัดนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ หรือผู้จบ ปวส. ที่มีแต้มเฉลี่ยสะสมสูงพอที่จะมีคุณภาพของวัตถุดิบที่จะเรียนทางวิศวกรรมศาสตร์ได้ อาจต้องมีการลดชั้นลงด้วย แต่จะเพิ่มการผลิตได้ทันที 20-30%

6. จัดชั้นรับนักศึกษาเพิ่ม อาจะเป็นภาคค่ำ โดยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ทั้งในด้านทรัพยากร บุคคล เครื่องมือเครื่องใช้ และด้านการเงิน ซึ่งบางสถาบันก็ได้เริ่มทำอยู่แล้ว

7. ในระยะยาวมองเห็นชัดว่า ในความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นจุดสื่อสารข้อมูล ความต้องการวิศวกรไฟฟ้าสาขาต่างๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์, คอมพิวเตอร์, เครื่องมือวัด, ไฟฟ้ากำลัง, โทรคมนาคม, ระบบควบคุมเป็นจำนวนมาก และในบางสาขา เช่น อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สามารถจัดการเรียนการสอนทางไกลได้ โดยการให้นักศึกษาซื้ออุปกรณ์ทำปฏิบัติการเอง ซึ่งต้องเป็นอุปกรณ์ที่ส่วนใหญ่พัฒนามาขึ้นในประเทศ เพราะจำนวนผลิตน่าจะพอและต้องควบคุมคุณภาพของบัณฑิตให้เคร่งครัด แต่แม้ว่าจะมีนักศึกษาจบน้อย แต่ก็จะมีประโยชน์ แม้คนที่เรียนไม่จบ สามารถเพิ่มพูนความรู้ไปใช้เสริมในการประกอบการอุตสาหกรรม ดีกว่าปล่อยให้เรียนทางสังคมศาสตร์มากๆ

8. ยอมรับกันเสียทีว่า ความเจริญในสาขาวิศวกรรมศาสตร์นั้น ควรยอมให้มีคณะวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมอุตสาหกรรม หรือคณะวิศวกรรมโยธาได้แล้ว ในสถาบันที่เน้นการผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือสถาบันที่มีความพร้อมพอ มหาวิทยาลัยแพทย์ มีทั้งคณะแพทย์ศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะทันตแพทย์ คณะพยาบาล ฯลฯ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีทั้งคณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ฯลฯ ในมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็มีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ คณะโบราณคดี ฯลฯ ได้ คณะวิศวกรรมก็ควรได้รับการขยายตัวแบ่งสาขาออกไป

9. ในท้ายที่สุดในขณะที่ DEMAND และ SUPPLY ทางบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์ของเราเป็นอย่างนี้ ต้องเร่งแก้ไขผลตอบแทนของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยในสายดังกล่าวให้เร็วที่สุด หรือมี INCENTIVE อย่างอื่นที่ชัดเจนขึ้น เช่น ความสบายใจและคล่องตัวในการวิจัยและพัฒนาทางวิชาการ มิฉะนั้น นอกจากภาคอุตสาหกรรมจะแย่งบัณฑิตวิศวะในสถาบันต่างๆ แล้ว ก็จะถึงจุดที่อุตสาหกรรมจะเริ่มซื้อแม่ไก่แทนที่จะรอไข่ไก่ ข้าราชการตุลาการมีเงินเดือนมากกว่าธรรมดาได้ รัฐวิสาหกิจก็เช่นกันแถมมีโบนัส บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ที่เริ่มรับราชการกับเอกชน จะมีเงินเดือนต่างกัน 3 เท่า เมื่อทำงานไป 5 ปี จะต่างกัน 5 เท่า และทำงาน 15 ปี ต่างกันเป็นสิบเท่า อย่ารอให้เหลือแต่บุคลากรที่คุณภาพไม่ดีในระบบราชการเลย อาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นเงินเดือนอาจไม่ใช่ข้อสำคัญสำหรับหลายคนอยู่ แต่ขวัญและกำลังใจที่สามารถทำให้เขาสามารถทำงานต่างๆ ได้ทางวิศวกรรมศาสตร์ ที่จะไม่ได้เป็นเสือกระดาษ ซึ่งในสภาพของผู้เขียนเองก็ตั้งใจปวารณาตัวไว้นานแล้ว ว่าสำหรับ OUTSIDE DEMAND PULL ละก็ ผู้เขียนคงจะไม่ไป แต่ถ้าเมื่อใดที่ INSIDE SUPPLY PLUS ละก็ เมื่อไรก็เมื่อนั้น

ซึ่งถ้าเราจะสามารถทำตามนี้ได้โดยเฉพาะในข้อ 2 ซึ่งเป็นแม่บทอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศเราอาจพัฒนาขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ชนิดที่เริ่มได้เปรียบดุลการค้า แต่อย่าได้ฝันว่าจะได้เปรียบดุลทางเทคโนโลยี เพราะแม้ในปัจจุบันมีเพียง สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเท่านั้น ที่ได้เปรียบดุลทางเทคโนโลยี และก็อย่าลืมว่า อเมริกายังเป็นประเทศที่เสียเปรียบดุลการค้าอยู่อย่างมหาศาล

ถึงเวลานั้นเราคงจะไม่ต้องเอาผู้หญิงของเราเป็นเหยื่อกาม เป็นพาหะนำโรคเอดส์ เพื่อจะทำให้ ประเทศไทยเกินดุลชำระเงินอีกต่อไป

และในภาวะการแข่งขัน กีดกันอย่างรุนแรงของตลาดโลกในอนาคต สินค้าอุตสาหกรรมที่คุณภาพดีกว่าและราคาถูกกว่าเท่านั้น จึงจะยืนหยัดอยู่ได้ และทางเดียวที่จะได้ก็คือ ต้องมีวิศวกรที่มีคุณภาพดีได้เพียงพอที่จะทำการวิจัยและพัฒนา และรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us