ด้วยวัย 30 ปีเต็มในวันนี้ มนตรี เกรียงวัฒนา กำลังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนาธุรกิจบริษัท
ภัทรประกันภัย จำกัด ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล "บริษัทดีเด่นประจำปี 2531"
ประเภทธุรกิจประกันภัยติดต่อกันเป็นครั้งที่สอง
ในวัยหนุ่มไฟแรง มนตรีมีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ เขามีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
ในการออกกรมธรรม์ที่แตกต่างไปจากที่อื่น พยายามเสนอนิยามของธุรกิจประกันภัยใหม่
และมีความเห็นว่า บริษัทประกันภัยควรจะมีบทบาทต่อตลาดทุนและเงินมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อดีตนักเรียนทุนจากธนาคารกสิกรไทยผู้นี้จบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อปี 2521 ได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน
สหรัฐฯ แล้วถูกส่งตัวมาเริ่มงานแห่งแรกที่ภัทรฯ เมื่อปี 2524
เขาใช้เวลา 6 ปีกว่าในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายฯ จากจุดเริ่มในฐานะพนักงานใหม่ที่ไม่มีใครฟังความคิดเห็นมาสู่ตำแหน่งที่มีอะไรบ้างและคนก็เริ่มฟัง
มนตรีกล่าวอย่างภูมิใจลึกๆ ว่า "ภัทรประกันภัยดีกว่าคนอื่น แม้ว่าจะไม่ใช่บริษัทที่ใหญ่ที่สุด"
เขากล่าวถึงการคิดค้นกรมธรรม์ใหม่ที่ต่างไปจากที่อื่นว่า จริงๆ แล้วก็คือการเปลี่ยนรูปแบบในการขายหรือเพิ่มเติมให้สินค้านั้นดูต่าง
(DIFFERENTIATE) ออกไป ไม่ใช่การออกกรมธรรม์ใหม่โดยการแปลจากฝรั่งเหมือนที่หลายแห่งชอบทำกัน
สิ่งที่เขาคิดทำขึ้นมาก็อย่างเช่น การออกบัตรประกันภัยที่เป็นเสมือนบัตรเครดิตในความหมายแคบๆ
คือใช้ยื่นต่อโรงพยาบาลที่มีคอนแทรกกับบริษัทในเวลาที่ลูกค้าประสบอุบัติเหตุ
และโรงพยาบาลจะให้การรักษาโดยลูกค้าไม่ต้องใช้เงินสดแต่อย่างใด
หรือในการให้บริการประกันภัยเบ็ดเตล็ด ซึ่งเป็นงานที่บริษัทเริ่มทำมาได้
7 ปีแล้วนั้น มนตรีกล่าวว่าเขาสามารถเพิ่มยอดขายด้านนี้ได้ไม่ยาก โดยทำอย่างที่ชาวบ้านเขาทำกัน
คือโกงนิดๆ เปลี่ยนจากอันนั้นมาเป็นอันนี้
แต่เขาไม่ยอมทำเช่นนั้น เพราะมันไม่มีผลประโยชน์ไม่ว่าในแง่ไหน เขาเลือกที่จะเติมเสน่ห์ลงในบริการที่ให้แก่ลูกค้ามากกว่า
เช่นมีบัตรประกันภัยให้ในการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ให้บริการไม่มีวันหยุด
ให้ความเอาใจใส่ลูกค้า มีอินฟอร์เมชั่นต่างๆ ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ
จากแนวคิดเช่นนี้ เขาจึงต้องการเปลี่ยนนิยามของธุรกิจประกันภัยเสียใหม่
คือเป็นธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวข้องกับการเสี่ยงภัยทั้งหมด ไม่ใช่เป็นแต่เรื่องการออกกรมธรรม์แล้วก็จบเพียงแค่นั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อถูกถามเรื่องการลงทุนของบริษัทประกันภัย เขากลับมีความเห็นว่าควรจะมีการอนุญาตให้บริษัทประกันภัย
ได้แสดงบทบาทต่อตลาดทุนและตลาดเงินมากกว่าที่ได้ถูกควบคุมด้วยกฎกระทรวงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
มนตรีกล่าวอุทธรณ์ว่า "เราไม่ได้ถูกทรีทเป็นสถาบันการเงินเลย มีกฎหมายควบคุมจนทำให้บทบาทการลงทุนไม่แตกต่างไปจากบุคคลธรรมดา"
เขาอธิบายว่า การลงทุนที่แท้จริงของบริษัทประกันภัยอยู่ในรูปเงินฝากธนาคารประมาณ
70% ส่วนอีก 30% ที่เหลือ อยู่ในรูปของการปล่อยกู้และการลงทุนในตลาดหุ้นหลักทรัพย์
เมื่อเปรียบเทียบการปล่อยกู้ของธนาคารกับบริษัทประกัน ดูเหมือนจะมีบางสิ่งที่ไม่น่าจะไปด้วยกันได้
มนตรีกล่าวว่าขณะที่แบงก์รับฝากเงินระยะสั้น แต่นำไปปล่อยกู้ระยะยาว ส่วนบริษัทประกัน
โดยเฉพาะประกันชีวิตมีเงินฝากระยะยาวกว่าคือ 30 ปีหรือตลอดชีวิต ดังนั้นบริษัทประกันจึงน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าแบงก์ในการให้การสนับสนุนโครงการลงทุนระยะยาว
ข้อวิจารณ์เหล่านี้ "ผู้จัดการ" ขอผ่านไปให้แก่สำนักงานประกันภัย
กระทรวงพาณิชย์ ส่วนคำถามประเด็นสุดท้ายที่ "ผู้จัดการ" ป้อนให้แก่ผู้บริหารวัยเยาว์ก็คือ
การจัดการความสัมพันธ์กับธนาคารกสิกรไทย
มนตรีกล่าวว่าธุรกิจของภัทรฯ ใช้เครือข่ายของธนาคารกสิกรไทยเป็นหลัก และก็ใช้ข้อได้เปรียบนี้ให้เป็นประโยชน์
ขณะที่บริษัทอื่นอีกมากมายมีข้อได้เปรียบนี้แต่ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์
ขยายความขึ้นมาอีกนิดก็คือ ข้อได้เปรียบนี้ไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่สั่งกันมา
ความสัมพันธ์ที่มีอยู่ไม่ใช่ในลักษณะที่ว่าเป็น "ล่ำซำ" ก็สั่งกันมา
ทว่าเป็นการติดต่อกันแบบธุรกิจต่อธุรกิจ แน่นอนการเป็น "ล่ำซำ"
ด้วยกันทำให้พูดจากันง่ายขึ้นเข้าถึงกันได้เร็วขึ้น แต่สิ่งที่ภัทรฯ ทำไม่ใช่เห็นว่าเป็นพรรคพวก
แต่เห็นว่าเป็นประโยชน์ด้วยเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี มนตรีได้พูดถึง "ข้อด้อย" ในความสัมพันธ์นี้ด้วย
คือบางโครงการที่ทำร่วมกับกสิกรนั้น ภัทรฯ ก็ไม่สามารถแสดงบทคนเดียวได้ และถ้ากสิกรไม่เอ
ภัทรฯ ก็ต้องเงียบ โดยเฉพาะคนชื่อมนตรี
"แต่ทว่าในแง่ที่ผมจะได้สร้างสรรค์คิดค้นอะไรของผมเองนั้น ผมมีโชคดีที่ว่า
องค์กรนี้เป็นองค์กรเล็ก และคุณยุตติก็ปล่อยผมทำเต็มที่" มนตรีกล่าวทิ้งท้ายในที่สุด
ในวัยเยาว์ของตำแหน่งระดับบริหารเช่นนี้ มนตรียังมีเวลาอีกมาที่จะคิดค้นสร้างสรรค์อะไรๆ
ของเขาได้ตามที่เขาต้องการ