พณ.เร่งผลักดันสภาธุรกิจ SMEs หวังเพิ่มบทบาท-ช่องทางประสานงานกับภาครัฐ หลังพบอุปสรรคเพียบ เพราะมีหน่วยงานดูแลมากถึง 40 หน่วยงาน ทำให้ไม่มีเอกภาพ และเจ้าภาพที่แท้จริง พร้อมคาดหวังให้มีการจัดตั้งได้อย่างเป็นรูปธรรม และแก้ปัญหาได้โดยตรง เพราะธุรกิจ SMEs มีสัดส่วนสูงถึง 99.6% หรือคิดเป็นจำนวน 2,815,000 ราย
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเปิดงานสัมมนาการเตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจเอสเอ็มอีไทย เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น (Contribution to Thai SMEs for Strengthening the Thai Economy) โดยระบุว่า การที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวนกว่า 40 หน่วยงาน ทำให้มีปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพ SMEs ยังขาดการประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ขณะที่ทุกประเทศมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
ขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาจัดตั้งสภาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (Thailand SMEs Business Council) หรือ SMEs Council โดยจะให้เป็นหน่วยงานที่ทำงานคล้ายกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อจะสามารถส่งเสริม สนับสนุนและแก้ปัญหาให้กับ SMEs ไทยโดยตรง ซึ่งจะเป็นช่องทางในการประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างรัฐบาลกับผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างจริงจัง และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ ได้เคยนำโครงการ SMEs Council ไว้ในแผนของอาเซียนในการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการส่งออกเป็นผู้ศึกษารายละเอียดและประสานงานกับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ด้านการส่งออกจากกระทบของปัญหาเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะเตรียมหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อขอเพิ่มวงเงินกู้ Clean Loan ระยะสั้น 3 เดือนจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินรายละ 3 แสนบาท ขยายเป็น 5 แสนบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากวงเงินเดิมอาจจะไม่เพียงพอกับกับการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการได้
“ภาคธุรกิจ SMEs ถือเป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งในจำนวนนี้ มีจำนวนกว่า 76% เป็นการจ้างแรงงานภายในประเทศ และมีบทบาทสำคัญที่สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และจำนวนกว่า 39% ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มการส่งออกโดยตรง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 29% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม จึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง”
ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งให้ภาคธุรกิจ SMEs ของไทยมีความแข็งแกร่ง และสามารถขยายตลาดการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน และภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งตลดาอาเซียน เป็นตลาดอับดับหนึ่งของไทย และตลาดญี่ปุ่น ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของภาคธุรกิจ SMEs จึงเชื่อมั่นว่า ภาคธุรกิจ SMEs ของไทยสามารถขยายตลาด โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าภายใต้กรอบดังกล่าว ตั้งแต่ปลายปี 2550 การค้าระหว่างไทย กับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้มากยิ่งขึ้น เพราะถือเป็นระบบธุรกิจที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในปัจจุบัน โดยขณะนี้มีธุรกิจขนาดเล็กมากถึง 99.6% หรือประมาณ 2,815,000 ราย ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางมีเพียง 0.4% หรือประมาณ 12,000 รายเท่านั้น
ด้าน นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SMEs Bank กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา พบว่ามีผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของ ธพว.ได้รับความเดือดร้อนไม่มากนัก จึงเตรียมการช่วยเหลือไว้แล้ว แต่หากปัญหายืดเยื้อก็จะมีมาตรการช่วยเหลือต่อไป
โดยวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน 2010 หรือ (BIG+BIH 2010) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-24 ตุลาคม 2553 นี้ ถือเป็นการประกาศศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการค้าและดีไซน์แห่งอาเซียนของไทย
รายงานเพิ่มเติมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าของใช้และของขวัญในบ้านในปีนี้ จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,736 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาสามารถส่งออกไปแล้วกว่า 1,168 ล้านดอลลาร์
|