ตามบทบัญญัติในพระคัมภีร์อัลกุรอาน ห้ามมิให้ชาวมุสลิมเรียกดอกเบี้ย เมื่อเป็นเช่นนี้
ระบบธนาคารของอิสลามจะดำเนินไปได้อย่างไร ในเมื่อดอกเบี้ยเป็นสิ่งสำคัญของกิจการธนาคาร?
ปัจจุบันธุรกิจการธนาคารอำนวยบริการมากมายหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งแตกต่างไปจากธุรกิจการธนาคารตามแบบประเพณีดั้งเดิมอัน
ได้แก่ การรับฝากเงิน การให้กู้ยืมเงิน และการโอนเงิน บริการต่างๆ ทั้งหมดของกิจการธนาคารในสมัยปัจจุบัน
อาจจำแนกออกได้อย่างกว้างๆ เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
“อำนวยบริการต่างๆ ของธนาคารที่มีการเรียกค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมเป็นการตอบแทน
ให้กู้ยืมเงิน และ
ให้บริการฟรี โดยไม่เรียกค่าตอบแทน”
ธนาคารของอิสลามก็อำนวยบริการต่างๆ ทำนองเดียวกันนี้ โดยมิได้แตกต่างออกไปแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการพิจารณาให้กู้ยืมเงิน กล่าวคือ เนื่องจากคัมภีร์ของศาสนาอิสลาม
ห้ามมิให้มีการเรียกดอกเบี้ย ดังนั้น ธุรกิจการธนาคารที่ต้องอาศัยดอกเบี้ยเป็นพื้นฐาน
จึงไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ในระบบการธนาคารแบบอิสลาม เพราะเหตุนี้ทัศนะทางธุรกิจของการธนาคารแบบอิสลามจึงต้องเริ่มต้นด้วยหลักการที่ว่า
“จะไม่มีการให้ดอกเบี้ย”
เพื่อที่จะทำความเข้าใจในระบบธนาคารแบบอิสลาม และเพื่อดูว่ากิจการธนาคารที่ไม่มีการให้ดอกเบี้ย
จะปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างไรในงานซึ่งระบบธนาคารตามปกติธรรมดาเขาคิดดอกเบี้ยให้กัน
ก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงทัศนะทางเศรษฐกิจขั้นมูลฐานของอิสลาม
2 ประการด้วยกัน คือ
ประการแรก ได้แก่หลัก “โมดาอารบะฮ์” หรือ “การประกอบธุรกิจร่วมกัน”
ตามหลัก “โมดาอารบะฮ์” นี้ หมายความว่า ผู้ร่วมหุ้นฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ออกทุน
และผู้ร่วมหุ้นอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้ดำเนินกิจการนั้น ตามข้อตกลงซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมหุ้นฝ่ายแรกได้รับส่วนตอบแทนจากผลกำไรในธุรกิจนั้น
ในอัตราส่วนที่แน่นอน การดำเนินวิสาหกิจร่วมกันแบบนี้ รับรู้การเข้าร่วมหุ้นของหุ้นส่วน
2 ฝ่าย หรือมากกว่านั้น โดยหวังแบ่งผลกำไรกันตามข้อตกลงที่ได้กำหนดไว้
ประการที่สอง ได้แก่หลัก “ซีรากัด” หรือ “การลงทุนร่วมกัน”
โดยมีบุคคลตั้งแต่ 2 คน หรือมากกว่านั้น ตกลงเข้าร่วมในวิสาหกิจเดียวกัน โดยทุกๆ
คนต่างลงทุนในจำนวนที่แน่นอนตามแต่จะตกลงกัน โดยเขาจะเข้าทำงานร่วมกัน และจะร่วมด้วยทั้งในผลกำไรและการขาดทุนในวิสาหกิจนั้นๆ
ตามส่วนของทุนที่ได้ตกลงกันไว้ วิธีนี้เป็นระบบกรรมสิทธิ์ร่วมในธุรกิจโดยทั่วๆ
ไป แต่ได้นำมาใช้ปฏิบัติในบริษัทการเงินของอิสลามในลักษณะที่ลึกซึ้งกว่า
และมั่นคงกว่า
เมื่อบริษัทต้องเผชิญกับการขาดแคลนเงิน บริษัทอาจเรียกร้องให้มีการเพิ่มทุนได้จากบรรดาผู้ที่เป็นเจ้าของร่วม
หรือจากแหล่งให้กู้ยืมเงินอื่นๆ แต่เมื่อเงินกู้ยืมได้เข้ามามีส่วนเป็นโครงสร้างของทุนในบริษัทแล้ว
บริษัทก็จะเริ่มตกอยู่ในความเสี่ยงเพิ่มขึ้น นั่นคือความเสี่ยงทางการเงิน ส่วนผู้ให้กู้ยืมเงินนั้น
บัดนี้จะอยู่ในฐานะเป็นผู้ได้เปรียบ และมีสิทธิเรียกร้องเหนือผลกำไรได้มากขึ้น
เท่าๆ กับความเสียเปรียบของผู้ร่วมทุนคนอื่นๆ
ตามโครงสร้างของบริษัทแบบอิสลาม ไม่เปิดช่องทางให้หาเงินมาใช้โดยวิธีกู้ยืม
แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้ให้กู้ยืมเงินจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงหรือมีเสียงในการจัดการของบริษัท
ก็ต่อเมื่อบริษัทได้ผิดนัดตามสัญญา หรือละเมิดสัญญากู้ยืมเงิน หรือละเมิดข้อผูกพันตามใบหุ้นกู้
หรือเมื่อบริษัทกำลังตกอยู่ในปัญหายุ่งยากหรือกำลังมีปัญหาทางการเงินอย่างร้ายแรง
ในกรณีเช่นนั้น จะต้องนำเอาระเบียบปฏิบัติของบริษัทอิสลามใช้บังคับโดยตลอด
เมื่อธนาคารออกเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทหนึ่งบริษัทใดเพื่อใช้จ่ายในธุรกิจของตนแล้วว่าบริษัทนั้นได้เข้าแบกรับความเสี่ยงถึง
2 ชนิดด้วยกัน คือ
ชนิดแรก ได้แก่ความเสี่ยงทางธุรกิจกล่าวคือ ธุรกิจทุกประเภท ย่อมมีความเสี่ยงอยู่ในตัวของมันเอง
โดยบริษัทธุรกิจนั้นๆ อาจไม่สามารถทำกำไรได้ คือ ไม่สามารถสร้างมูลค่าส่วนเกินจากการลงทุนในการดำเนินกิจการของตนก็ได้
ชนิดที่สอง ความเสี่ยงทางการเงิน กล่าวคือ เมื่อบริษัทไม่สามารถหาเงินรายได้ให้มากมายเพียงพอแก่การดำเนินกิจการของตน
ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าดอกเบี้ย ค่าเช่า เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้
บริษัทก็อาจจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายก่อน
เมื่อธนาคารหรือสถาบันการเงินใดให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทธุรกิจใดๆ กู้เท่ากับว่า
ธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นได้เข้ามาแบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจกับบริษัทผู้กู้ยืมเงินนั้นด้วยเหมือนกันทั้งนี้เพราะ
ในบริษัทการเงินของอิสลามนั้น จะไม่มีการแบ่งแยกความเสี่ยงทางการเงินแต่อย่างใด
เนื่องจากทัศนะตามหลักการ “โมดาอารบะฮ์” ถือว่า “ไม่มีใครมีสิทธิ์จะได้รับอะไรเป็นเครื่องตอบแทน
จนกว่าเขาจะได้สูญเสียอะไรบางอย่างไปในกระบวนการนั้นเสียก่อน และไม่มีใครควรได้รับรายได้หรือผลตอบแทนใดๆ
จนกว่าเขาจะได้ทำงานหามันมาเสียก่อน”
โดยถือตามหลักภาษิตดังกล่าว ธนาคารอิสลามจึงอาจตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัด
โดยแบ่งส่วนออกเป็นหุ้นๆ ได้ แต่เนื่องจากสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของผู้ถือหุ้น
ไม่มีอะไรแตกต่างกัน ดังนั้นฐานะของเจ้าของเงินฝากจึงแตกต่างออกไปในทางปฏิบัติ
กล่าวคือ ในขณะที่ทุนของผู้ถือหุ้นจะมีสิทธิต่อเนื่องกันนั้น เงินของผู้ฝากเงินจะมีสิทธิ์เพียงในชั่วระยะเวลาอันจำกัด
เพราะฉะนั้นผลตอบแทนแก่บุคคลทั้ง 2 ประเภทนี้จึงไม่เท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าผลตอบแทนแก่บุคคลทั้ง
2 ประเภทนี้ จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของกำไรก็ตาม แต่ผลตอบแทนแก่เจ้าของทุนถาวร
ย่อมได้ส่วนสัมพันธ์กันกับลักษณะของการลงทุนมากกว่า คือ เป็นการลงทุนในระยะยาว
เมื่อธนาคาร “ให้กู้ยืมเงิน” โดยแท้ที่จริงแล้วมันเป็นการเข้าร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนนั่นเอง
ทั้งธนาคารและผู้ประกอบการจะร่วมกันลงทุนและ “จัดการ” ธุรกิจนั้นเพราะฉะนั้นสัญญาร่วมการลงทุนระหว่างธนาคารกับนักธุรกิจผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีขึ้นมาก่อน
ในสัญญานี้จะระบุถึงลักษณะของธุรกิจ ข้อจำกัดต่างๆ ที่ธนาคารจะต้องรับผิดชอบต่อไป
ระยะเวลาที่ธนาคารจะเข้ามารับผิดชอบ (คือระยะเวลาการให้กู้ยืมเงิน) แล้วก็อัตราส่วนของผลกำไรที่จะถึงแบ่งปันกัน
ในกรณีขาดทุนก็เช่นกัน จะแบ่งกันขาดทุนตามส่วนของการลงทุน เมื่อโครงการสำเร็จลงแล้ว
หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนด หรือเมื่อเลิกกิจการของธุรกิจนั้นๆ ก็จะมีการคืนทุน
และแบ่งปันผลกำไร หรือแบ่งส่วนกันขาดทุน เพราะฉะนั้นตามระเบียบของธนาคารอิสลามในปัจจุบัน
จึงไม่ใช่ “สัญญากู้ยืมเงิน” แต่จะใช้ “สัญญาร่วมหุ้นแบบซีรากัต”
หรือไม่ก็ “สัญญาร่วมลงทุนแบบโมดาอาระบะฮ์” แทน แล้วแต่ว่าธนาคารอิสลามประสงค์จะเข้าร่วมลงทุนด้วยในลักษณะใด?
ในกรณีที่มีการแบ่งทุนออกเป็นหุ้นๆ ตามหลักการของการเข้าเป็นหุ้นส่วนกันนั้น
ธนาคารก็ย่อมจะมีอิสระอย่างเต็มที่ในการวางกฎเกณฑ์ของตนต่อผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ
เกี่ยวกับการแบ่งผลกำไร แต่ในกรณีเช่นนี้ จำเป็นต้องกำหนดส่วนของธนาคารและผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ
ในการที่จะแบ่งผลกำไรเอาไว้เป็นอัตราส่วนร้อย ไม่ใช่กำหนดไว้เป็นตัวเลขแน่นอนตายตัวสำหรับหุ้นส่วนแต่ละคน
โดยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ธนาคารก็เป็นอิสระในการได้รับส่วนแบ่งผลกำไรตามส่วนของเงินที่ตนลงไป
(คือ ให้กู้ยืมไป) หรืออาจจะกันส่วนเอาไว้ต่างหาก แล้วตกลงกันในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราสวนอย่างอื่นๆ
ในการเข้าเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทหรือภาคีการค้าต่างๆ นั้น ธนาคารอาจกำหนดส่วนแบ่งผลกำไรในอัตราต่างๆ
กันก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร
เมื่อครบกำหนดเวลาของการเป็นหุ้นส่วนกันแล้ว (คือ ครบกำหนดระยะเวลาการให้กู้ยืมเงิน)
เงินที่ธนาคารนำมาลงไว้ จะต้องส่งคืนแก่ธนาคาร (คือ ชำระคืนเงินต้น) พร้อมกับผลกำไรที่เงินทุนนั้นหาได้มา
แล้วผลกำไรนี้ก็กลายไปเป็นผลกำไรของธนาคาร แต่ถ้าเกิดการขาดทุนในกิจการที่ร่วมลงทุนนั้น
ส่วนที่ขาดทุนนี้ก็ต้องหักบัญชีแบ่งกันขาดทุน
ทีนี้เราลองมาดูการดำเนินงานส่วนใหญ่ของธนาคาร เพื่อดูว่าธนาคารอิสลามเขาดำเนินกิจการอย่างไร
ด้านเงินฝากจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภทคือ
(1) เงินฝากกระแสรายวัน (จ่ายเมื่อทวงถาม) ธนาคารยินยอมให้ลูกค้าซึ่งฝากเงินประเภทนี้ไว้กับธนาคาร
ถอนเงินจากธนาคารได้เมื่อต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้า การถอนเงินฝากระแสรายวันดังกล่าวนี้
อาจกระทำโดยใช้เช็ค หรือใบสั่งจ่ายที่ลูกค้าจ่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ได้ โดยปกติ
ธนาคารจะไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ใดๆ ให้แก่เงินฝากประเภทนี้
ธนาคารอิสลามก็ปฏิบัติต่อเงินฝากกระแสรายวันเช่นนี้เหมือนกัน นอกจากอาจเป็นไปได้ว่า
ถ้าเงินฝากมีจำนวนเหนือกว่าระดับที่กำหนดไว้ จำนวนที่เหนือขึ้นไปนี้ อาจได้รับส่วนแบ่งผลกำไรที่ธนาคารได้รับมาในฐานะเป็นผลตอบแทนจากการออกเงินไปร่วมลงทุนของตน
(โดยคิดจากส่วนหุ้นของธนาคาร ไม่ใช่ส่วนหุ้นของผู้ลงทุนเพราะธนาคารได้ใช้เงินก้อนนั้น
หรือส่วนของเงินก้อนนั้นไปในการร่วมลงทุนดำเนินกิจการหรือในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กิจการนั้น)
นอกจากนั้น ผู้ฝากเงินอาจได้รับสิทธิ์ในการเอาประโยชน์จากบริการอย่างอื่นๆ
ของธนาคารก็ได้
(2) เงินฝากประจำ ลูกค้าอาจฝากเงินกับธนาคารด้วยจำนวนเงินที่แน่นอน และในระยะเวลาที่แน่นอนด้วย
ธนาคารอิสลามจะรับเงินฝากประเภทนี้ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยสัญญาร่วมลงทุนและเจ้าของเงินฝากจะกลายเป็น
“เสมือน” ผู้ถือหุ้นของธนาคารในชั่วระยะเวลาที่แน่นอนระยะหนึ่ง
(3) เงินฝากออมทรัพย์ ผู้มีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ไว้กับธนาคารอิสลาม จะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ที่ธนาคารได้มาจากการลงทุน
แล้วแต่ระเบียบว่าด้วยเงินฝากออมทรัพย์จะได้กำหนดจำนวนเงินต่ำสุดเอาไว้ นอกจากนั้นเจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
อาจได้รับประโยชน์จากบริการอย่างอื่นๆ ของธนาคารอีกด้วย
(4) บัญชีเงินลงทุน นอกจากบัญชีเงินฝากประเภทต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ธนาคารอิสลามยังจัดให้มีบัญชีเงินฝากชนิดพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก
เป็นต้นว่า อาจมีบัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุนให้ลูกค้าเปิดไว้กับธนาคาร เงินฝากประเภทนี้จะได้รับส่วนแบ่งของรายได้จากการลงทุนของธนาคารในทุกๆ
วันสิ้นปีบัญชีตามส่วนแห่งจำนวนเงินฝาก และระยะเวลาของการฝาก
การใช้ทรัพยากรของธนาคาร ตามทัศนะของธนาคารอิสลามนั้น มีแต่โครงการที่สามารถให้ผลกำไรได้เป็นอย่างดีเท่านั้น
จึงจะถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันควรแก่การที่จะได้ใช้เงินของธนาคาร โดยผ่านทางการร่วมลงทุน
แต่อย่างไรก็ดี ธนาคารอิสลามต้องแน่ใจด้วยว่า เงินฝากของตนที่เอามาร่วมลงทุนนั้นได้ถูกใช้ไปอย่างปลอดภัย
และโดยไม่ต้องเสี่ยงภัยกับการขาดแคลนสภาพคล่อง
โดยปกติ ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายจะเรียกค่าธรรมเนียมเอาจากตั๋วแลกเงินที่ถูกนำเอามายื่นเพื่อการเรียกเก็บ
และการชำระเงินจะกระทำภายหลังจากได้หักเงินค่าดอกเบี้ยแล้วธนาคารอิสลามก็จะปฏิบัติทำนองเดียวกันนี้ด้วยเหมือนกัน
แต่จะใช้วิธีขอมีส่วนผลกำไรกับเจ้าของสินค้านั้น ส่วนการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ
ซึ่งมีการเรียกค่าธรรมเนียมตอบแทนนั้น ก็มีวิธีปฏิบัติในธนาคารอิสลามเช่นเดียวกัน
การดำเนินงานเกี่ยวกับการค้าต่างประเทศ โดยผ่านทางเลตเตอร์ออฟเครดิต ผู้ส่งสินค้าออกจะได้รับหลักประกันในการชำระมูลค่าของสินค้าที่ส่งออกนั้น
(ตราบเท่าที่เอกสารนี้ยังคงสนองความต้องการเครดิตรายนั้นอยู่) โดยโอนความเสี่ยงของการไม่ได้รับชำระค่าสินค้านั้นไปให้แก่ธนาคาร
ส่วนผู้ซื้อสินค้าเข้าก็ต้องตรวจตราให้แน่ใจว่า เอกสารนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของการได้รับเครดิต
และเงื่อนไขของการส่งสินค้านั้น เมื่อธนาคารของผู้ส่งสินค้าออกได้รับตั๋วแลกเงินของผู้ส่งออกแล้ว
ก็จะหักเงินค่าดอกเบี้ยจำนวนหนึ่งเป็นส่วนลดตามอายุของตั๋วนั้น แล้วจึงนำเงินตามตั๋วเข้าบัญชีของผู้ส่งออก
(เพราะผู้ส่งออกต้องให้เวลาแก่ผู้ซื้อของเข้าระยะหนึ่ง จึงจะได้รับชำระเงิน
เนื่องจากการค้าต่างประเทศ มีระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องในการรับของและการชำระเงิน)
ต่อจากนั้นธนาคารก็ต้องรอคอยจนกว่าจะถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ตอนนี้ธนาคารก็จะคิดค่าธรรมเนียมพร้อมทั้งดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่รอคอยเพื่อการเรียกเก็บเงิน
ธนาคารของผู้ส่งออกจะได้รับชำระเงินต่างๆ เหล่านี้จากธนาคารของฝ่ายผู้นำเขาหรือผู้ซื้อสินค้านั้น
ภายหลังจากได้รับเอกสารต่างๆ ถูกต้องครบถ้วนแล้ว
แต่ธนาคารอิสลามนั้นเมื่อได้รับตั๋วเงินของผู้ส่งออกมาแล้ว ก็จะจ่ายเงินตามตั๋วให้เต็มจำนวน
โดยไม่คิดค่าส่วนลด (ไม่คิดดอกเบี้ย) แต่จะคิดค่าธรรมเนียมในการให้บริการต่างๆ
เหล่านั้น
การพัฒนาโครงสร้างเบื้องล่างโดยรัฐบาล รัฐบาลอาจจัดให้มีการพัฒนากิจการใดๆ
บนพื้นฐานของหลักการ “ชีรากัต” ก็ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อ รัฐบาลต้องการดำเนินโครงการชลประทานอะไรสักอย่างหนึ่ง
รัฐบาลก็อาจทำความตกลงกับผู้ร่วมหุ้นที่ออกเงินเพื่อให้มีการแบ่งปันผลกำไรกันก็ได้
ทั้งนี้เพื่อว่าในที่สุด รายได้ทั้งหมดจากโครงการดังกล่าวนั้น จะได้แบ่งปันกันเป็นส่วนๆ
ตามที่ได้ตกลงกัน
ความคิดพื้นฐานที่แพร่หลายอยู่ในวงการธนาคารอิสลามก็คือ การทำธนาคารให้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนจากประชาคม
มาใช้ประโยชน์ในทางที่ก่อให้เกิดดอกผล การยอมรับบทบาทเช่นนี้ ทำให้ธนาคารกลายเป็นองค์กรดูแลผลประโยชน์แบบองค์กรทรัสตีไป
ในฐานะเป็นผู้ดูแลเงินทุนของมหาชน ธนาคารไม่อาจเป็นผู้แสงหากำไรสูงสุดได้
เพราะฉะนั้นจุดมุ่งหมายของธนาคารอิสลามจึงได้แก่การประกอบคุณูปการเพื่อการกินดีอยู่ดีร่วมกันของประชาคมในที่สุด