การอิ่มตัวของตลาดและการขับเคี่ยวกันอย่างรุนแรงของบัตรเครดิต ทำให้ในระยะหลังได้เห็นเคแบงก์ขยับหนี หันมาปลุกกระแสตลาดบัตรเดบิต ด้วยการทำตลาดอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเครื่องให้บัตรเดบิตของเคแบงก์มีความแตกต่างที่มากกว่าบัตรเดบิตทั่วไป ไม่ใช่เพียงแค่ใช้กดเงินสดและชำระค่าสินค้าเท่านั้น
จุดที่ทำให้เคแบงก์สนใจตลาดบัตรเดบิต น่าจะเป็นเพราะการทำบัตรเดบิตยังไม่มีข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติผู้ถือบัตรเหมือนบัตรเครดิต คือ รายได้ของผู้ถือบัตร และไม่มีเรื่องความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถขยายถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ กว้างกว่าบัตรเครดิต เมื่อผนวกกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ผู้ถือบัตรเริ่มมีอายุน้อยลง จากเดิมคือวัยทำงานตอนต้น ขยับมาสู่นักเรียน นักศึกษาที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเดิมอาจจะถือแค่บัตรเอทีเอ็มเพื่อใช้กดเงินสดเท่านั้น แต่หันมาใช้บัตรเดบิตแทนมากขึ้น เพราะเห็นเรื่องความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน จึงทำให้บัตรเดบิตเป็นตลาดที่น่าสนใจ ปัจจุบันเคแบงก์มีฐานผู้ถือบัตรเดบิต 6-7 ล้านบัตร สูงกว่าบัตรเครดิตที่มีผู้ถือบัตรเพียง 1.48 ล้านบัตร หากมีการทำตลาดอย่างจริงจังเชื่อว่าบัตรเดบิตมีโอกาสจะเติบโตได้อีกมาก
การทำตลาดอย่างจริงจังทำให้ปัจจุบันบัตรเดบิตของเคแบงก์นอกเหนือจากคุณสมบัติพื้นฐาน คือ กดเงินสด ชำระค่าสินค้าได้ตามร้านค้าต่างๆ แล้ว ยังมีการเพิ่มเซกเมนต์ เพิ่มประเภทของบัตรให้หลากหลาย มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นตัวดึงความสนใจลูกค้า เช่น ส่วนลดร้านค้า สะสมแต้มแลกของรางวัล ไม่ต่างอะไรไปกับการทำตลาดของบัตรเครดิต
นอกจากนี้การส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็คทรอนิกส์และออนไลน์ของเคแบงก์ ตามนโยบายลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม ทำให้เคแบงก์ต้องพัฒนาระบบให้สามารถรองรับกับธุรกรรมของลูกค้าทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด ล่าสุดเคแบงก์ได้พัฒนาระบบจนทำให้บัตรเดบิตของเคแบงก์สามารถใช้ชำระค่าสินค้าที่ซื้อผ่านเว็บไซต์ได้ จากเดิมที่การซื้อสินค้าในเว็บไซต์จะต้องชำระด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันมีบัตรเดบิตเพียง 2 รายเท่านั้นในเมืองไทยที่สามารถใช้ได้ คือ เคแบงก์และธนาคารกรุงเทพ
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เคแบงก์ระบุว่าเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ วัยรุ่นที่นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่พบข้อจำกัดเรื่องการชำระเงินที่ต้องชำระผ่านบัตรเครดิตเท่านั้น ทั้งนี้เคแบงก์ได้พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย 2 ชั้น (Two-factor Authentication) มารองรับ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อสร้างความมั่นใจใหักับลูกค้า โดยปัจจุบันมีจำนวนบัตรเดบิตที่ทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าผ่านเว็บไซต์รวม 1 แสนบัตร เทียบกับภาพรวมตลาดที่มีการชำระผ่านบัตรเครดิตในสัดส่วน 75%
อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ของเคแบงก์จะทำเฉพาะที่ตัวบัตรเดบิต เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องทำไปถึงต้นทาง ซึ่งก็คือเว็บไซต์ต่างๆ ที่เป็นร้านค้าด้วย โดยพยายามเพิ่มจำนวนร้านค้าที่ใช้ K-Payment Gateway หรือบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการให้มากที่สุด แม้ปัจจุบันร้านค้าออนไลน์ในตลาดถึง 90% คิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 25,000-30,000 ล้านบาทต่อปี จะใช้ระบบของเคแบงก์อยู่แล้วก็ตาม ศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารจะเร่งโปรโมทบริการดังกล่าวให้มากขึ้น หลังจากพบว่าแนวโน้มตลาดE-Commerce ในไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดด จากปี 2551 ที่มีการซื้อขายเพียง 10,000 ล้านบาท คาดกว่าจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 24,000-25,000 ล้านบาทในปีนี้
ล่าสุดเคแบงก์ได้ใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท จัดทำเว็บไซต์ www.2010MegaSale.com ดึงพันธมิตรร้านค้ากว่า 20 ราย นำเสนอสินค้าและบริการราคาพิเศษลดสูงสุด 70% เช่น Gadget ตั๋วภาพยนตร์ โปรแกรมตรวจสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ตั๋วเครื่องบิน แพ็คเก็จทัวร์ ห้องพักโรงแรมชั้นนำ กระเป๋าแบรนด์เนม พร้อมเปิดประมูลสินค้าต่างๆ เป็นเสมือนงานเซลล์เฉพาะกิจที่จะจัดขึ้นเพียง 3 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 15-31 ต.ค. 53 เท่านั้น โดยจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายสำหรับงานนี้ ได้แก่ ส่วนลดพิเศษเมื่อชำระด้วยบัตรเครดิตทุกสถาบันการเงิน, รับคะแนนสะสม 5 เท่า สูงสุด 5,000 บาท เมื่อชำระผ่านบัตรเครดิตกสิกรไทย, รับสิทธิ 5 เท่าในการชิงโชคของ IPad และ IPhone 4G ในช่วงปลายปี เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต ซึ่งโครงการดังกล่าวเคแบงก์ตั้งเป้าว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ยอดการซื้อขายผ่านเว็บไซต์ที่ใช้บริการของเคแบงก์เติบโตขึ้น 30% ในปีนี้ ทั้งนี้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมจากการให้บริการดังกล่าว 200-300 ล้านบาทต่อปี
|