|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แม้ว่ากระแสการใส่ใจในสุขภาพจะเป็นหนึ่งในกระแสหลักที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมาระยะหนึ่งแล้ว และยังจะเป็นแนวโน้มต่อไปอีกนาน แต่ในภาพรวมธุรกิจเกษตรอินทรีย์ (Organic) ยังเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ในเร็ววัน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มักจะมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่เพาะปลูกทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์กลไกทางการตลาดได้ ขณะเดียวกัน การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์มีต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้มีอุปสรรคในเรื่องของราคาที่สูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การอยู่รอดและเติบโตบนเส้นทางสายเกษตรอินทรีย์มีให้เห็นและติดตามอยู่เป็นระยะ ล่าสุด 2 ผู้ประกอบการ “ไร่ปลูกรัก” กับ “บ้านไร่วิมานดิน” เป็น 2 ตัวอย่างที่กำลังเดิมตามโอกาสทางธุรกิจบนความท้าทาย
๐ ไร่ปลูกรัก
วางโมเดลธุรกิจยั่งยืน
“ไร่ปลูกรัก”ก็เช่นกัน กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่ง่าย ต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปีจึงจะเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่กำลังก้าวสู่ความสำเร็จ จากความตั้งใจจริงของคู่สามีภรรยา “กานต์ ฤทธิ์ขจร กับอโณทัย ก้องวัฒนา” ที่เริ่มต้นเพาะปลูกพืชผักไร้สารพิษ สารเคมี และยาฆ่าแมลง บนที่ดิน 60 ไร่ ในจังหวัดราชบุรี ในปีพ.ศ. 2543 และมุ่งมั่นสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ปัจจุบันธุรกิจเกษตรอินทรีย์ของไร่ปลูกรัก แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ (product) ซึ่งประกอบด้วยผักสดหลากหลายชนิดที่ปลูกตามฤดูกาลโดยเฉพาะผักสลัดเป็นสินค้าหลักเพราะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด กับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชผักออร์แกนิก โดยมีจุดเด่นที่แตกต่างจากรายอื่นๆ เช่น น้ำส้มสายชูซึ่งทำจากข้าวหอมมะลิ นอกเหนือจาก น้ำสลัด น้ำจิ้มไก่ และซอสต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการมากอยู่แล้ว
สำหรับผลิตภัณฑ์ “ผักสด”ของไร่ปลูกรัก มีช่องทางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพฯ เป็นหลัก เช่น ท็อปส์ ฟู้ดแลนด์ และเลมอนฟาร์ม ส่วนช่องทางในแบบดิลิเวอรี่ให้กับสมาชิกที่เคยมองว่าจะทำให้ได้ฐานลูกค้าประจำกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก ขณะที่ “ผลิตภัณฑ์แปรรูป”มุ่งเน้นการส่งออกเพราะมีโอกาสสูงกว่าตลาดในประเทศ โดยเริ่มมีการส่งออกไปบ้างแล้วในแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย และมองว่าผลิตภัณฑ์แปรรูปมีแนวโน้มที่ดี จึงเร่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตให้ดีที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้ง การรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อการขยายตลาดได้ง่ายขึ้น
ในอีกส่วนที่เป็นเรื่องของบริการ (service) หรือการท่องเที่ยว ที่ไม่ใช่แค่การให้มาเที่ยวชมไร่และบอกเล่ากระบวนการเพาะปลูกเท่านั้น แต่ยังเน้นให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้เกิดการเรียนรู้ มีความเข้าใจและจดจำมากยิ่งขึ้น โดยกิจกรรม “Organic Family Day”ที่จัดขึ้น ใช้เวลาครึ่งวันหรือ 1 วัน ยังเน้นให้แตกต่างแหวกแนวจากที่อื่นอีกด้วย เช่น เวิร์คช็อปการทำไอศกรีมโฮมเมด ทำน้ำสลัด ทำไข่เค็มจากเป็ดที่เลี้ยงไว้ การเล่นเกมออร์แกนิก ได้เห็นไส้เดือน แมลงต่างๆ รวมทั้ง การเล่นคอนเสิร์ตที่มีเพลงเกี่ยวกับเรื่องเกษตรอินทรีย์ซึ่งแต่งขึ้นมาเอง
โดยมีพันธมิตรมาช่วยให้การนำเสนอเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น “ชีวิน วิสาสะ” นักเขียนนิทานเด็ก มาถ่ายทอดแนวคิดให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มครอบครัวและเด็กได้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจาก กลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเกษตรอินทรีย์ และคนที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
“ตอนนี้การให้ความสนใจเข้ามาเที่ยวไร่ของเราเปลี่ยนไปมาก มีกลุ่มต่างๆ เช่น องค์กรทั้งของรัฐและเอกชนมาดูเรา นอกจากกลุ่มครอบครัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้แค่อธิบายว่าปลูกผักยังไง เลี้ยงเป็ดยังไง จัดการไร่ยังไง แค่นี้มันน่าเบื่อ แต่เราใส่กิจกรรม มีความลึกของเนื้อหาและใช้ศิลปะการนำเสนอให้คนที่มาชมซึมซับและมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะเรามองว่าคนที่มาซื้อประสบการณ์ต้องได้ความรู้ความประทับใจที่ดีไปเพื่อเป็นหนทางช่วยให้ธุรกิจของเรายั่งยืน”
๐ โชว์กิจกรรม
สร้างประสบการณ์แนวใหม่
สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้คือ “Thai Organic Festival” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ซึ่งให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์มาระยะหนึ่งแล้ว โดยแบ่งเป็นโซนหรือเวทีต่างๆ และเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นกว่ากิจกรรมเดิมไม่ว่าจะเป็น โซนเพาะปลูก โซนอาหารซึ่งมีการเปิดร้านอาหารเล็กๆ ที่สร้างสรรค์เมนูเพื่อสุขภาพ โซนนวดผ่อนคลาย โซนช้อปปิ้ง และกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นช่วงที่มีความพร้อมในเรื่องของฤดูกาลที่จะมีผักสดออกมามาก และอากาศที่เย็นสบาย ดังนั้น ในตอนนี้จึงเน้นการพัฒนาสถานที่ให้สวยงามเพื่อเตรียมพร้อม
นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้บริหารสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (The German Technical Cooperation : GTZ) มีการเตรียมที่จะทำโครงการ “Organic to School” ซึ่งมีเป้าหมายให้ 25 โรงเรียนในกรุงเทพฯ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ผ่านกิจกรรมในรูปแบบบันเทิงและใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเด็กมีความเข้าใจและเกิดการตื่นตัวในเรื่องของเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
เมื่อหันกลับมามองธุรกิจของไร่ปลูกรัก ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้ และมีกำไรพอที่จะลงทุนในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ได้กำไรมากมาย โดยมีบุคลากรกว่า 30 คนช่วยกันผลักดันให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้า ภายใต้ผู้นำที่มีความคิดว่า การอยู่ในธุรกิจเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องของธรรมชาติ และการเป็นเกษตรกรมีข้อดีที่ได้พบเจอความจริงจากธรรมชาติ ทำให้ได้เรียนรู้ความเป็นจริง เช่น ได้รู้ว่าการปลูกพืชฝืนธรรมชาติทำให้บอบช้ำและบาดเจ็บได้ อย่างการที่มีที่ดินอยู่ราชบุรีแต่กลับปลูกแอ๊ปเปิ้ลหรืออโวควาโดสุดท้ายก็ย่อมจะไม่ได้ผลดีเหมือนปลูกอยู่ที่ออสเตรเลียแน่นอน
ขณะที่ส่วนสำคัญที่สุดหรือหัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์ คือการเชื่อมโยงวิถีทางของเกษตรอินทรีย์ การสร้างชีวิตเกษตรกรที่ลำบากให้มีความมั่นคงและมีหนทางของธุรกิจที่ยั่งยืนให้ได้ เพราะเกษตรอินทรีย์นั้นทุกอย่างมีความเชื่อมโยง ตั้งแต่พื้นดิน ไส้เดือนที่อยู่ในดิน ฤดูกาล และพืชผักที่เหมาะสมในการปลูก ต้องสัมพันธ์กันจึงจะได้ผลผลิตที่ดีและเป็นไปตามแนวทางของการใส่ใจในสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
มาถึงวันนี้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จของไร่ปลูกรัก นอกจากจะมาจากความเชี่ยวชาญในการทำอาหารของ “อโณทัย”ที่เปิดร้านอาหารออร์แกนิกเล็กๆ ย่านพระราม9 เป็นจุดสำคัญที่ช่วยกระตุ้นผู้บริโภคได้อย่างดี ประกอบกับการได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระบบสากลจากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) การสามารถในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ การให้ความรู้ รวมทั้ง การสร้างประสบการณ์ที่ดีในสินค้าและบริการมาอย่างต่อเนื่อง
๐ บ้านไร่วิมานดิน
ปักธง 'Organic Farm Stay'
“บ้านไร่วิมานดิน”เป็นอีกหนึ่งรายที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะมองเห็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ จากจุดเริ่มในปีพ.ศ.2540 เมื่อ “พ.ต.ท.กฤชญาณ อภิกุลชา”นายตำรวจที่มีความรักและความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณไม้ไทยมากมายจากประสบการณ์ที่มีมาตั้งแต่วัยเด็ก หันมาทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ 80 ไร่ ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้นำแนวคิดเกษตรผสมผสานตามพระราชดำริของในหลวงมาใช้เป็นหลักในการวางรากฐานธุรกิจเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ด้วยการปลูกพืช 3 ระดับ เช่น ปลูกสะตอและยางพาราเป็นพืชชั้นบน ปลูกพริกไทกับดีปลีเพื่อพันเกาะต้นสะตอ ปลูกมังคุด มะเฟือง และเงาะเป็นพืชชั้นกลาง ปลูกเฮลิโคเนียเป็นพืชชั้นล่าง ปลูกผักพื้นบ้านกับสมุนไพร เช่น ผักกูด พลูคาวเป็นพืชคลุมดิน และปลูกกระชาย ขมิ้นชันเป็นพืชชั้นใต้ดิน สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันโดยไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก รวมทั้ง การเลี้ยงวัวตามแนวทางปศุสัตว์อินทรีย์ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการส่งเสริมเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับเป้าหมาย “บ้านไร่วิมานดิน”ต้องการจะก้าวไปสู่การเป็น“ออร์แกนิกฟาร์มสเตย์”ที่ประสบความสำเร็จ เพราะนอกจากแนวทางการทำการเกษตรที่วางรากฐานไปได้ระดับหนึ่งแล้วและผ่านการรับรองโดยได้รับเครื่องหมายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) จากกรมวิชาการเกษตรเมื่อปี 2546 แม้ว่าในส่วนของการสร้างรายได้ยังต้องมีการจัดการที่ดีกว่านี้
แต่“ชารางจืด”ที่ได้จากป่าชุมชนซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่พืชพรรณเติบโตตามธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารเคมีในการปลูก กำลังจะกลายเป็นสินค้าหลักที่มีอนาคตของที่นี่ เพราะนอกจากจะมีคุณสมบัติในการล้างพิษในร่างกาย ยังมีรสชาติที่ดีอีกด้วย จึงนำมาแปรรูปให้เก็บได้นานขึ้นและสะดวกในการรับประทาน โดยกำลังเน้นเจาะตลาดส่งออก
ขณะที่ด้านของที่พักซึ่งมีอยู่ 19 ห้องในรูปแบบบ้านริมน้ำเป็นหลังและบ้านบนเนินเขา เริ่มหันมาปรับปรุงการทำตลาดออนไลน์อย่างจริงจังเมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่หลายปีก่อนเคยทำมาแล้ว แต่ไม่ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
นอกจาก“จุดขาย”ในเรื่องของที่พักซึ่งมีบรรยากาศของความเป็นบ้าน แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติสวยงามทั้งภูเขา ต้นไม้ และสายน้ำที่สามารถสัมผัสพร้อมกิจกรรมล่องแก่งชื่นชมความงามได้อย่างใกล้ชิด และสนุกสนานกับการถ่ายภาพได้ในหลายๆ จุดที่มีการจัดไว้เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ แต่ต่อไปจะเพิ่มในส่วนของการช้อปปิ้งสินค้ามือสองสภาพดี เช่น ของใช้และของตกแต่งในบ้าน เป็นต้น เพราะได้รับความสนใจจากลูกค้าหลังจากนำมาประดับตกแต่งที่พักในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังคิดที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้วยการร่วมมือกับค่ายมวยพันธุ์ยุทธภูมิซึ่งมีชื่อเสียง เพราะเห็นว่ามวยไทยเป็นศิลปวัฒนธรรมที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจและต้องการฝึกหัดมากขึ้น ให้“บ้านไร่วิมานดิน”เป็นทั้งที่ฝึกหัดและพักผ่อน ซึ่งนอกจากจะได้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาฝึกแล้ว ยังจะได้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาชมนักมวยชื่อดังฝึกซ้อมอีกด้วย
สำหรับการลงทุนที่ใช้ไปแล้วประมาณ 20 ล้านบาทซึ่งนักว่าไม่น้อย แต่เป็นเงินที่ได้จากครอบครัวให้การสนับสนุน ไม่ได้ใช้เงินกู้ เพราะมองว่าหากต้องทำเรื่องใหญ่แต่ต้องกู้เงินมาลงทุน เลือกที่จะทำเล็กๆ โดยใช้เงินของตัวเองจะดีกว่า เพราะฉะนั้น การพัฒนา“บ้านไร่วิมานดิน”จึงทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่ไปกับการหาโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
แม้ว่าผู้ประกอบการทั้งสองรายที่นำเสนอไปยังไม่สามารถปักธงความสำเร็จในธุรกิจเกษตรอินทรีย์ของตนเองได้อย่างสวยงามเท่าไรนัก แต่ทำให้เห็นว่าแนวทางที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้นอยู่ไม่ไกล เมื่อมีโมเดลธุรกิจและการบริหารจัดการให้ตอบโจทย์
|
|
|
|
|