ปี 2527 สำหรับวงการเงินการคลังของประเทศไทย นับได้ว่าเป็นปีที่ไม่เคยมีเวลาให้พักเลย
คนเก่าในวงการบางคนบอกว่า ตั้งแต่สังคมการเงินเติบโตมาเพิ่งจะมีปีนี้แหละที่มีแต่เรื่องเลวร้ายมาตลอด
นักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงกับยืนยันว่า 2527 คือ Depression Year ในแง่เศรษฐศาสตร์เพียงแต่ว่าพวกเราอยู่ในเหตุการณ์ก็เลยมองไม่เห็น “คุณลองให้เวลาผ่านไปอีกสัก
10 ปี แล้วมองย้อนไปซิ คุณจะเห็นชัดเลยว่า เรากำลังมี Depression อยู่ในขณะนี้”
นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งกล่าว
ถ้าปีนี้เป็น Depression สำหรับเศรษฐกิจแล้วละก้อ สำหรับบุคคลดังๆ ในวงการก็น่าจะเป็นปีแห่งกาลกิณีแท้ๆ
และหนึ่งในวงการนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นคนชื่อ “นุกูล ประจวบเหมาะ” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
สื่อมวลชนส่วนใหญ่ได้พูดถึงข่าวการปลดนุกูล ประจวบเหมาะ อย่างละเอียดลออแล้ว
“ผู้จัดการ” จะไม่พูดถึงเรื่องนี้อีกแต่เราอยากจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความพิกลพิการของเรื่องนี้ซึ่งมีทั้งหลักการและเรื่องบุคลิก
อุปนิสัยของตัวแสดงที่เข้ามาเกี่ยวข้องจนเกิดละครชุด “จำต้องพิฆาตเข่นฆ่าให้อาสัญ”
ที่ไม่น่าเกิดขึ้น
“ผู้จัดการ” มีเวลาน้อยมากในการทำเรื่องนี้ เราพยายามติดต่อขอคุยกับ สมหมาย
ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ “ท่านรัฐมนตรียังไม่อยากจะพูดอะไรมากในขณะนี้”
ผู้ใกล้ชิดสมหมายบอกมาและบอกว่า สมหมายแนะนำให้พูดกับคนใกล้ชิดของสมหมายอีกคนหนึ่งแทน
ซึ่งไม่ประสงค์จะให้ “ผู้จัดการ” เอ่ยนาม
การที่จะเข้าใจถึงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ท่านผู้อ่านต้องพยายามเท้าความไปถึงกระทรวงการคลังในยุคก่อนสมหมายเข้ามา
และใช้จิตวิทยา ตลอดจนหลักรัฐศาสตร์เข้าประกอบด้วยจึงจะพอเข้าใจภาพต่อทั้งหลายได้ชัดเจนกว่าเดิม
เหมือนที่ว่าเอาไว้ว่า ยุคใครคนนั้นก็ต้องสร้างฐานอำนาจของตนเองขึ้นมาและในระบบราชการ
หรือเอกชนนั้นย่อมหมายถึงการแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามากุมอำนาจ
ในกระทรวงการคลังก่อน 14 ตุลานั้นเป็นยุคของบรรยากาศอนุรักษนิยมที่ถูกบริหารโดยนักการคลังที่ไม่ได้มีสายตาที่ยาวไกล
แต่เป็นการบริหารงานแบบธรรมดาสามัญที่วางแนวตามกรอบประเพณีที่เคยอ้างกันมาอยู่แล้วคือ
การดำเนินนโยบายคลังตามผู้มีอำนาจทางการทหารซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศ
ฉะนั้นการเกิดของข้าราชการหนุ่มที่มีอนาคตจึงเป็นเรื่องยากนอกเหนือไปจากการค่อยๆ
เลื่อนขึ้นมาตามระบบอาวุโส
บุญชู โรจนเสถียร คงจะเป็นคนแรกที่เริ่มการปรับปรุงองค์กรนี้ใหม่ โดยดึง
อำนวย วีรวรรณ จากอธิบดีกรมศุลกากรมาเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ข้ามหน้าคนที่มีอาวุโสมากกว่าหลายคนในขณะนั้น
การเอาอำนวย วีรวรรณ ขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงการคลังคือการพังทำนบให้น้ำไหลบ่าเข้ามาเป็นครั้งแรก!
พอจะพูดได้ว่า ยุคที่อำนวย วีรวรรณ เป็นปลัดกระทรวงการคลังนั้นเป็นยุคที่คนหนุ่มกระตือรือร้นมากที่สุด
และผลพวงอันนี้ก็ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในกระทรวงการคลังในรูปของบุคลากรอย่างมากที่สุดที่เห็นได้ชัดคือ
เป็นยุคที่คนหนุ่มเป็นอธิบดีกันมากในขณะที่คนอายุมากใกล้เกษียณแล้ว จะไม่ได้รับความสนใจ
เช่น พิพัฒน์ โปษยานนท์ สมัยที่เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิตแทบจะไม่มีบทบาทและเกือบจะโดนย้ายไปประจำกระทรวงหลายครั้งแล้ว
ถ้าไม่ใช่มีการขอกันในระดับผู้ใหญ่
สมัยที่บุญชู โรจนเสถียร เป็นรัฐมนตรีคลัง และอำนวย วีรวรรณ เป็นปลัดกระทรวงเรียกได้ว่า
เป็นช่วงเวลาของการทำงานที่ให้โอกาสคนหนุ่มๆ เช่น ชายชัย ลี้ถาวร, นุกูล
ประจวบเหมาะ, ไกรศรี จาติกวนิช, วิโรจน์ เลาหพันธุ์, บัณฑิต บุณยปานะ, ม.ร.ว.จัตุมงคล
โสณกุล ฯลฯ ได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ อาจจะเป็นเพราะบุญชูเองมาจากภาคเอกชน
ฉะนั้นการบริหารงานราชการจึงแตกต่างไปกว่ารัฐมนตรีที่มาจากข้าราชการประจำ
ในยุคอำนวย วีรวรรณ นั้นหนึ่งในหลักการทำงานที่อธิบดีทั้งหลายพออกพอใจมากเป็นพิเศษคือ
การที่ทุกคนสามารถจะทำงานกันอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเอาอกเอาใจเจ้านาย
พอหมดยุคบุญชู โรจนเสถียร และอำนวย วีรวรรณก็ถูกการเมืองเล่นงานในยุค
ธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ถึงยุคสมัยของ สุพัฒน์ สุธาธรรม ที่ถูกทุกคนข้ามหัวไปในยุค
บุญชู และสุพัฒน์ก็หันเข้าไปในรูปแบบเดิมของระบบอาวุโสและอนุรักษนิยม
กระทรวงการคลังในสมัย สุพัฒน์ สุธาธรรม คือกระทรวงการคลังที่ทำงานในลักษณะของผู้ตามนโยบายการคลังที่รัฐบาลมักจะเป็นผู้ชี้แนะ
อาจจะเป็นเพราะกระทรวงการคลังมีรัฐมนตรีที่ไม่มีลักษณะของผู้นำทางเศรษฐกิจแต่กลับเป็นผู้เดินตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี
มาสมัยที่บุญชู โรจนเสถียรกลับมาเป็นรองนายกฯ และอำนวย วีรวรรณมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้นบทบาทของกระทรวงการคลังก็พลิกกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งจากการเป็นผู้ตามมาเป็นผู้นำในนโยบายการเงินการคลังและบทบาทนี้ก็มีต่อเรื่อยมาจนถึงยุคสมหมาย ฮุนตระกูล กระทรวงการคลังก็เริ่มเล่นบทนี้มาตลอด
อาจจะเป็นเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยมียุคกำเนิดมาจากกระทรวงการคลังและได้รับอิทธิพลจากกระทรวงการคลังค่อนข้างสูง ประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทย
ก็เป็นระเบียบข้อบังคับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องทำงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยตรง
โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานอื่นในกระทรวงการคลัง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ฯลฯ ดังนั้นเมื่อมองในรูปนี้แล้วยุคไหนสมัยไหนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีผู้ว่าการที่อ่อนก็ย่อมที่จะถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังครอบ
หรือถ้ารัฐมนตรีแข็งและผู้ว่าการแข็งก็ต้องเกิดการปะทะกันอย่างในกรณีของสมหมาย
ฮุนตระกูล กับ นุกูล ประจวบเหมาะ
บทบาทและความสัมพันธ์ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงเป็นบทบาท
และความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชา
และอีกลักษณะหนึ่งคือ การมีอิสระในการวางนโยบายการเงิน โดยไม่ต้องคอยรับคำสั่งใคร
ดังนั้นในภาวะที่ไม่มีวิกฤตการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ตัวผู้ว่าธนาคารชาติ จึงมักจะไม่ค่อยมีความขัดแย้งใดๆ
กับรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง
แต่เมื่อใดที่วิกฤตการณ์การเงินหรือเศรษฐกิจเกิดขึ้น วิธีการแก้ปัญหาของธนาคารชาติกับกระทรวงการคลัง
ก็อาจจะต้องมีการเผชิญหน้ากัน เพราะบุคลากรและเจ้าหน้าที่ของธนาคารชาติ
จะมองปัญหาและเสนอวิธีแก้โดยแนวทางเศรษฐศาสตร์ ขณะที่รัฐมนตรีคลังต้องรับภาระการนำปัญหารัฐศาสตร์การเมืองเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีการจำกัดสินเชื่อ 18% ที่เพิ่งถูกยกเลิกเมื่อเร็วๆ
นี้
แต่บางครั้งผู้ว่าการธนาคารชาติ ถ้าเป็นคนอ่อนก็มักจะต้องแพ้ภัยตัวเอง
แล้วก็ต้องมีอันเป็นไปอย่างน่าเสียดาย อย่างสมัยหนึ่งที่ เสนาะ อูนากูล เป็นผู้ว่าการธนาคารชาติในยุค
เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีกรณีราชาเงินทุนล้ม
เสนาะ อูนากูล อยู่ในภาวะที่อัดอั้นตันใจมาก เพราะการตัดสินใจจะแก้ปัญหาอะไรก็ตามในขณะนั้น
ถ้าออกมาในลักษณะที่ไปช่วยให้ราชาเงินทุนอยู่ได้ก็จะเป็นว่า เสนาะเข้าข้างราชาเงินทุน
และก็เผอิญอีกเหมือนกันที่ เสนาะ อูนากูล เองก็เป็นเพื่อนสนิทของ เสรี ทรัพย์เจริญ
ประธานราชาเงินทุน และทั้งสองก็เล่นกอล์ฟกันอยู่บ่อยครั้ง
อีกประการหนึ่งในช่วงที่ราชาเงินทุนกำลังทรุด ภรรยาเสนาะ อูนากูล ก็เป็นผู้เล่นหุ้นของราชาเงินทุนด้วยคนหนึ่ง
ความอัดอั้นตันใจนี้ ทำให้เสนาะ อูนากูล ถึงกับประสาทแทบเสีย และต้องลาออกจากธนาคารชาติไปบวชสงบสติอารมณ์อยู่พักหนึ่ง
จนต่อมาภายหลังถึงกลับเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาแห่งชาติ ในยุคที่บุญชู
โรจนเสถียร เป็นรองนายกฯ
พอเสนาะ อูนากูล ลาออกก็มีการสรรหาผู้ว่าการธนาคารชาติคนใหม่
อาจจะเป็นเพราะปัญหาทางการเงินของบ้านเรามีลักษณะที่เริ่มจะสับสนและวุ่นวายขึ้นมาเรื่อยๆ
ตลอดเวลา หลังจากที่ราชาเงินทุนล้มไปแล้ว หรืออาจจะเป็นเพราะหลังจากที่
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ออกจากตำแหน่งนี้ไปแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถจะทำได้ดีกว่า
ดร.ป๋วย และแต่ละคนที่มาแทนดร.ป๋วยก็ขาดคุณลักษณะและคุณสมบัติ ตลอดจนบารมีของ ดร.ป๋วยที่ทุกวงการเคารพและเกรงใจ
ก็เลยไม่มีใครพิศวาสในตำแหน่งนี้เท่าไรนัก?
ในการสรรหาผู้ว่าการคนใหม่นั้น เนื่องจากทุกคนคิดว่าผู้ว่าการธนาคารชาติจะต้องเป็นคนที่มีจุดยืนของตัวเอง
และจะต้องไม่ยอมอะไรที่ผิดหลักการ ก็เผอิญมีคนคนหนึ่งในกระทรวงการคลังที่มีคุณสมบัติแบบนี้อยู่
และในขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลางที่ชื่อ นุกูล ประจวบเหมาะ
นุกูล ประจวบเหมาะ เป็นคนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตระกูลเป็นเศรษฐีที่ดิน
นุกูลเป็นคนที่ในวงการราชการต้องการมากๆ เพราะเป็นคนที่ตรงเป็นเส้นตรง และเป็นคนที่ไม่ยอมคน
ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ถ้าผิดหลักการไปแล้ว นุกูลจะยอมหักไม่ยอมงอ
ความที่เป็นคนตรงมากๆ ในยุคหนึ่งก็เลยต้องรับผิดชอบการเก็บภาษีของรัฐ
โดยเป็นอธิบดีกรมสรรพากรในยุคที่อำนวย วีรวรรณ เป็นปลัดกระทรวงการคลัง และบุญชู
โรจนเสถียร เป็นรัฐมนตรี
มาถึงยุครัฐบาลชุดธานินทร์ กรัยวิเชียร นุกูลถูกสุพัฒน์ สุธาธรรม รัฐมนตรีคลังย้ายไปอยู่กรมบัญชีกลาง
เพราะขอร้องให้ช่วยบริษัทที่ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก10 กว่าล้าน แล้วนุกูลไม่สนใจแม้แต่นิดเดียวก็เลยถูกย้ายจากกรมอันดับหนึ่งไปอยู่กรมแถวหลังๆ
เป็นรางวัล
ว่ากันว่า ความแข็งของนุกูล แข็งถึงขนาดเวลาเดินสวนกับรัฐมนตรีคลังที่ชื่อสุพัฒน์
สุธาธรรม แม้กระทั่งเหลือบมองนุกูลยังไม่มองเลยและไม่ยอมยกมือไหว้รัฐมนตรีด้วย
คงจะเป็นเพราะกิตติศัพท์ความแข็งไม่ยอมลงคนง่ายๆ ก็เลยเป็นจุดที่ทุกคนมองว่า
นุกูลน่าจะเหมาะกับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติ!
จะเรียกว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่อาจจะทราบได้!!!
ตัวนุกูลเองก็ไม่ได้ต้องการจะไปอยู่ธนาคารชาติเลยแม้แต่น้อย แต่ต้องยอมหลังจากถูกเกลี้ยกล่อมและชักชวน
“เดิมทีคุณนุกูลกับคุณชาญชัยตกลงกันว่าให้คุณนุกูลไปธนาคารชาติ 2 ปี แล้วกลับมาเป็นปลัดกระทรวงการคลัง
ส่วนคุณชาญชัยค่อยไปธนาคารชาติ” แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดีพูดให้ฟัง
แต่พอครบ 2 ปี สัญญานี้ก็ทำไม่ได้ เพราะชาญชัย ลี้ถาวร ยังไม่ยอมไปเนื่องจากมีงานค้างอยู่ชิ้นหนึ่ง
ซึ่งถ้าไปแล้ว อาจจะถูกหาว่าทำไม่เสร็จ
พอดีตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่างลง สมหมายซึ่งอยากเปลี่ยนชาญชัย
ลี้ถาวร อยู่แล้ว ก็เลยชู้ตชาญชัยไปบีโอไออย่างสายฟ้าแลบ และชาญชัยอยู่ที่นั่นไม่นานก็ลาออกเข้ามาทำงานในภาคเอกชนดังที่ทราบกันอยู่
สมหมาย ฮุนตระกูล เคยอารมณ์ค้างมากับกระทรวงการคลังครั้งหนึ่งแล้ว ในยุคที่เป็นรัฐมนตรีคลังอยู่ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องออกไปเมื่อรัฐบาลชุดพลเอกเปรม
ยกโควตากระทรวงการคลังให้กับกิจสังคม
พอกลับเข้ามาครั้งที่สอง สมหมาย ฮุนตระกูล ก็เริ่มทำงานในแนวความคิดของตนเองอย่างเต็มที่
สมหมายเป็นนักการคลังที่ใช้ Conservative Fiscal Policy และจากการที่พลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ ปล่อยให้สมหมาย ฮุนตระกูล ทำงานอย่างเต็มที่ก็ทำให้สมหมายใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวดเข้ามาเป็นกรอบให้รัฐบาลเดิน
เหตุการณ์ของเศรษฐกิจโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาวะผันผวน และเศรษฐกิจตกต่ำมากๆ
ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นสูงก็พอดีลงล็อกกับนโยบายอนุรักษ์ทางการเงินและการคลังที่สมหมายวางเอาไว้
สมหมายเป็นคนที่ตั้งใจว่า จะทำอะไรแล้วก็ต้องทำให้ได้ และการดำเนินการที่ตัวเองตั้งใจไว้แล้ว
ก็จะเป็นการเดินหน้าเข้าชนลูกเดียว อย่างไม่หวั่นเกรง ประการหนึ่งเป็นเพราะสมหมายนั้นเป็นรัฐมนตรีที่อยู่ในโควตาของพลเอกเปรม
ฉะนั้นการต้องขัดแย้งกับรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมือง ก็เป็นสิ่งที่สมหมายไม่เคยยี่หระ
การปะทะกันในคณะรัฐมนตรีระหว่างสมหมาย ฮุนตระกูล กับรัฐมนตรีอื่นๆ จึงเป็นของธรรมดาและ
สมหมายมักจะเป็นฝ่ายชนะอยู่เสมอ แม้แต่ในกรณีที่นายกฯ กำลังจะตัดสินเข้าข้างอีกฝ่ายสมหมายก็สามารถจะเข้าพบเป็นส่วนตัวแล้วชี้แจงจนในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ต้องเห็นด้วยกับสมหมาย
บางครั้งเพื่อให้ได้แนวทางที่ตนวางไว้สมหมายถึงกับเคยเอาตำแหน่งของตัวเองเข้าเป็นเดิมพัน
ถ้าข้อเสนอของตนไม่ได้รับการพิจารณาซึ่งในที่สุดสมหมายก็ชนะไป!!!
สำหรับในกระทรวงการคลังนั้น สมหมายเป็นคนค่อนข้างจะเหงา และโดดเดี่ยวพอสมควร
อาจจะเป็นเพราะสมหมายเข้ามาในกระทรวงการคลังโดยไม่มีฐานของตัวเองที่จะทำงานให้นอกจากหลานชาย
(ลูกของเพื่อน) ที่ชื่อ นิพัฒน์ พุกกะณะสุต และเริงชัย มะระกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย
ซึ่งมีภรรยาเป็นหลานสาวของสมหมาย ฮุนตระกูล (หลานสมหมายใช้นามสกุลเดิมว่า เมฆไพบูลย์
ซึ่งแตกหน่อมาจากฮุนตระกูล โดยคำว่า ฮุนในภาษาจีนหมายถึงเมฆ) เริงชัยนั้นก็เป็นอดีตนักเรียนเก่าญี่ปุ่น
ในสมัยที่ปัญหาทรัสต์กำลังคุกรุ่น และระเบิดออกมานั้น เริงชัยมักจะหอบแฟ้มเข้าไปรายงานให้สมหมายโดยไม่ผ่านนุกูล
ประจวบเหมาะ และนี่ก็เป็นความขัดแย้งอันหนึ่งในหลายๆ อัน ที่คุกรุ่นขึ้นมา
ประกอบกับสมหมายก็เป็นธรรมดาของคนแก่ที่คงจะพึงปรารถนาให้มีคนเข้ามาพบและเข้าไปใกล้ชิดตลอดเวลา
ซึ่งก็มีน้อยคนในกระทรวงการคลังที่จะเข้าไปใกล้ชิด อาจจะเป็นเพราะการทำงานใน
กระทรวงการคลังในช่วงตั้งแต่อำนวยเป็นปลัดกระทรวงมาจะเน้นที่ผลงานมากกว่าความใกล้ชิด
หนึ่งในไม่กี่คนที่เข้าไปใกล้ชิดสมหมาย ฮุนตระกูล ขนาดถึงขั้นติดสอยห้อยตามตัวรัฐมนตรีไปต่างประเทศตลอดเวลาคือ
มนัส ลีวีรพันธ์ ซึ่งปัจจุบันเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง
มนัส ลีวีรพันธ์ เคยอยู่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมาตลอด แต่ในช่วงหลังถูกแขวนโดยโดนย้ายไปประจำกระทรวงด้วยเหตุผลหลายประการ
“คุณมนัสแกถูกมองข้ามไป ข้อหนึ่งเป็นเพราะผู้บังคับบัญชาคิดว่า เขาไม่มีความสามารถจริง
อีกข้อหนึ่งก็เป็นเรื่องภายในเก่าๆ เช่น สมัยแกเป็นกรรมการการบินไทย แล้วก็มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น”
แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังพูดกับ “ผู้จัดการ”
โดยสรุปแล้ว พอจะพูดได้ว่า มนัส ลีวีรพันธุ์ เป็นคนที่รู้จักใช้โอกาสและจับเหตุการณ์ต่างๆ
ขึ้นมาเป็นประโยชน์กับตัวเอง
เมื่อสมหมายเข้ามากระทรวงการคลัง นอกจากการย้ายชาญชัย ลี้ถาวร ออกไปแล้ว
ก็ยังปูพื้นฐานโดยเอามนัส ลีวีรพันธุ์ กลับเข้ามาเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังนั้น เปรียบเสมือนเป็นมันสมองให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เพราะต้องทำหน้าที่รับเรื่องต่างๆ จากกรมทั้งหมด เอามาพิจารณาพร้อมทั้งเสนอแนะให้รัฐมนตรีรวมทั้งการช่วยเป็นต้นคิดในเรื่องนโยบายต่างๆ
จึงพอจะสรุปได้ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลังนั้น เปรียบเสมือนเป็นมือขวาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทีเดียว
ส่วนกำจร สถิรกุล นั้นซึ่งก่อนที่จะโยกย้ายไปเป็นผู้ว่าการธนาคารชาตินั้น
เดิมทีเป็นรองอธิบดีอยู่กรมศุลกากรมาเป็นเวลา 6 ปี และถูกสมหมายย้ายมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
เมื่อปลายปี 2525
กำจร สถิรกุล เป็นคนอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อจบการศึกษาแล้วก็เริ่มงานที่กรมศุลกากรมาตลอด
ว่ากันว่า กำจรเป็นคนตั้งใจในการทำงานเป็นอย่างมาก และเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องกฎหมายศุลกากรเป็นอย่างดี
กำจรเป็นข้าราชการที่ไม่รู้จักกับการปฏิเสธคำขอร้องของผู้ใหญ่ ซึ่งต่างกับนุกูล
ประจวบเหมาะ เป็นอย่างมาก
ครั้งหนึ่งกำจร สถิรกุล ได้ทำงานชิ้นหนึ่งเพื่อช่วยสมหมาย ฮุนตระกูล ในเรื่องเกี่ยวกับนิพัฒน์
พุกกะณะสุต ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายของสมหมาย โดยที่นิพัฒน์ซึ่งเคยถูกกระทรวงการคลังส่งไปเป็นกรรมการของบริษัทไทยเดินเรือทะเลและถูกคณะกรรมการ ป.ป.ป.สอบในกรณีที่จัดทำสัญญาเช่าเรือ
มารีนไทม์อีเกิล บรรทุกน้ำมันให้กับ ปตท. ซึ่งสัญญาเสียเปรียบบริษัทเจ้าของเรือทำให้รัฐสูญเสียเงินโดยใช่เหตุ
และกำธร พันธุลาภ ซึ่งเป็นประธาน ป.ป.ป. สอบสวนแล้วว่ามีความผิดจริง จึงส่งเรื่องคืนต้นสังกัด
โดยมีกำจร สถิรกุล เป็นประธานสอบ และกำจรก็ได้ชี้ลงไปว่านิพัฒน์ไม่มีความผิด
เพราะถูกยืมตัวไปทำงาน หลังจากนั้นกำจรก็ส่งนิพัฒน์ไปเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจที่กรุงวอชิงตัน
นิพัฒน์จึงรอดตัวไป
การโยกย้ายกำจร สถิรกุล ไปแทนนุกูล ประจวบเหมาะ ที่ธนาคารชาตินั้น หลายกระแสข่าวยืนยันว่า
เป็นการยิงนกทีเดียวได้ 2 ตัว ทั้งนี้เพราะเป็นการเอาคนที่สมหมายรู้ว่าจะไม่สร้างความขัดแย้งในอนาคตกับรัฐมนตรีว่าการคลังแล้วยังเท่ากับ
เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้กำจร และเป็นการเปิดโอกาสให้มนัส ลีวีรพันธุ์ ได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยทุกอย่างลงตัวหมด
แต่ถ้าจะพูดถึงสาเหตุจริงๆ การปลดนุกูล ประจวบเหมาะ ออกซึ่งส่วนใหญ่จะลงความเห็นว่า
เป็นการก้าวก่ายและต้องการควบคุมธนาคารชาตินั้น “ผู้จัดการ” ไม่เห็นด้วย
เราเชื่อว่าการปลดนุกูล ประจวบเหมาะ นั้นเป็นปัญหาของความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัวเท่านั้นเอง
เพราะสมหมายมีความประสงค์ที่จะย้ายนุกูลมานานแล้ว และนุกูลเองก็ทราบถึงเรื่องนี้ดี
สมหมายเคยทาบทามบัณฑิต บุณยะปานะ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และไกรศรี จาติกวณิช
อธิบดีกรมศุลกากรมาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว แต่ทั้ง 2 ก็ปฏิเสธไม่ยอมรับ
ฉะนั้น การผลักดันกำจรเข้าไปจึงเป็นการเลือกตัวบุคคลที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
โดยมิได้มีความคิดที่จะวางแผนล่วงหน้า โดยมีเจตนาจะควบคุมธนาคารชาติ
ในสายตาของสมหมายแล้ว นุกูล ประจวบเหมาะ เป็นคนที่หยิ่งยโส และทระนง
การทำงานของนุกูล ถ้าหากจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังแล้ว นุกูลก็จะต้องใช้วิธีส่งเป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามาขอความเห็นชอบ
แทนที่จะเข้ามาชี้แจงด้วยตัวเองเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งบางสิ่งบางอย่างที่นุกูลทำลงไปสมหมายเองก็ไม่ทราบ
และครั้งหนึ่งสมหมายถึงกับโดนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตำหนิว่า ทำไมถึงไม่ส่งข้อมูลมาให้พลเอกเปรม
เพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยที่สมหมายไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย เพราะข้อมูลอยู่ที่นุกูลคนเดียว
(อ่านเรื่อง “วันที่สมหมายโดนนายกเปรมเล้ง”)
ข้อกล่าวหาที่ทั้งนุกูลและสมหมายต่างโยนกันไปโยนกันมานั้นไม่สามารถที่จะหาข้อยุติได้ว่าใครโกงใครกันแน่
เช่น
1. กรณีควบคุมสินเชื่อ 18%
ที่เป็นข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารชาติต่างมีความเห็นพ้องกันว่า
ปี 2527 นั้นจะต้องมีการลดการขยายสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
และไม่เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ
แต่บางแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับสมหมายก็ยืนยันว่า ทางฝ่ายธนาคารชาติไปออกมาตรการ
18% โดยพลการ โดยไม่ปรึกษากระทรวงการคลังเมื่อเกิดผลเสียขึ้นมา สมหมายในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลจึงโดนกลุ่มการเมืองและกลุ่ม
Pressure Group รุมตีเสียน่วม เลยทำให้สมหมายอารมณ์เสียอย่างมาก
เพราะผลกระทบของมาตรการ 18% นี้รุนแรงถึงขนาดพันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ ส.ส. จังหวัดอุทัยธานี
สังกัดพรรคชาติไทย ถึงกับพูดออกมาในที่สาธารณะเกี่ยวกับสมหมายว่า “กูจะเอามึงออก”
ผู้ใกล้ชิดสมหมายพูดว่า “คุณเป็นท่าน คุณจะรู้สึกอย่างไร?”
แต่แหล่งข่าวทางนุกูลก็ยืนยันว่า เรื่อง 18% นี้สมหมายรู้มาตลอดตั้งแต่ต้น
เพราะ “ธนาคารชาติจะทำอะไรก็ต้องรายงานกระทรวงการคลังตลอด เป็นไปไม่ได้ที่คุณสมหมายจะไม่รู้”
นอกจากนั้น การทำงานของเจ้าหน้าที่ธนาคารชาติ บางครั้งก็สวนทางกับการทำงานของสมหมาย
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สมหมายภายใต้ความกดดันจากหลายฝ่ายให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ถ้ามาตรการ
18% ไม่ดีก็สามารถจะยกเลิกได้” ยังไม่ทันที่คำพูดของสมหมายจะเลือนหายไป
ธนาคารชาติก็ให้สัมภาษณ์สวนออกมาในวันรุ่งขึ้นว่า “ใครจะเลิกก็เลิกไปแต่ธนาคารชาติยังยึด
18% เหมือนเดิม”
สมหมายเองจากการที่ตัวเองมีประสบการณ์อยู่ในภาคเอกชนมานานพอสมควร ก็จะมีแหล่งข่าวและผู้ใกล้ชิดในภาคเอกชนที่สามารถชี้แจงให้สมหมายทราบถึงผลของมาตรการ
18% ว่าไม่ดีอย่างไร ก็เลยทำให้สมหมายอยู่ในสภาพการณ์ที่อึดอัดมากและจากการที่ต้องเกี่ยวข้องกับนักการเมืองอยู่ทุกวัน
ก็พอจะทำให้สมหมายคั่งแค้นใจในความดื้อความรั้นของนุกูล ประจวบเหมาะ
2. การยกเลิกมาตรการ 18%
แม้แต่การยกเลิกมาตรการ 18% ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่า ตัวเองเป็นคนเลิก นุกูลพูดกับ
“ผู้จัดการ” ว่า “ก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกผมก็เคยพูดว่า จะยกเลิก และเมื่อผมเห็นว่า
มาตรการนี้หมดความจำเป็น จากการพูดคุยกับหลายฝ่าย เช่น ดร.เสนาะ อูนากูล
คุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ผมก็เสนอให้เลิก ซึ่งเรื่องนี้ปรากฏเป็นหลักฐานในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่าผมเป็นคนเสนอ”
การยกเลิกมาตรการ 18% ที่นอกจากนุกูลและสมหมายแย่งกันเข้ามาเป็นผู้ริเริ่มเสนอแล้วยังมีฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์อ้างว่า
โดยแท้จริงแล้วรองนายกรัฐมนตรีพิชัย รัตตกุล เป็นผู้ผลักดันให้กับนายกรัฐมนตรี “ความจริงแล้ว
ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นคนแนะให้นายกรัฐมนตรียกเลิกไปเลยเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งๆ
ที่เรื่องพิจารณาการยกเลิกยังหาข้อสรุปกันไม่เสร็จ” แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลพูดกับ
“ผู้จัดการ”
3. กรณีสถาบันประกันเงินฝาก
ข้อขัดแย้งในเรื่องสถาบันประกันเงินฝากนี้อยู่ในภาวการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรงเป็นพิเศษ
เพราะสถาบันประกันเงินฝากเป็นความคิดของทางธนาคารชาติที่ต้องการจะให้มีขึ้น
เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในวงการเงินต้องลุกลามมากไปกว่านั้น แต่เมื่อความคิดนี้ถูกเสนอไปยังกระทรวงการคลังก็ถูกสมหมาย
ฮุนตระกูล โยนเข้าตู้เย็นแช่ทิ้งเอาไว้
“ท่านไม่เชื่อในสถาบันประกันเงินฝาก เพราะท่านเห็นว่า ทำไมจะต้องไปลงโทษสถาบันการเงินที่เขาบริหารงานกันดีอยู่แล้ว
เพราะมีสถาบันการเงินแห่งอื่นบริหารงานกันอย่างเหลวแหลก” คนใกล้ชิดสมหมายพูดให้ฟัง
แต่สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วการตั้งสถาบันประกันเงินฝาก คือการป้องกันและเป็นทางแก้ปัญหาที่พวกธนาคารชาติไม่อยากจะปวดหัวอีกต่อไป
จะเห็นได้ว่า เรื่องสถาบันประกันเงินฝากนั้น ความคิดจะออกมาทางสายของนุกูล
ประจวบเหมาะ และผ่านทาง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ส่วนเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ซึ่งต้องมีหน้าที่โดยตรงกับบรรดาบริษัทเงินทุนต่างๆ
กลับเงียบสนิท
ความขัดแย้งในเรื่องสถาบันประกันเงินฝากได้ขยายตัวออกไปอย่างมากมาย จนเปรียบเสมือนหนามยอกอกของสมหมาย
ฮุนตระกูล เพราะบังเอิญกระแสเสียงภายนอกตั้งแต่บรรดาสถาบันเงินทุนหลายๆ แห่งที่ต้องการจะมีสถาบันประกันเงินฝากไปจนถึงบรรดาสมาชิกสภาผู้แทน
รวมทั้งส่วนใหญ่ของคณะรัฐมนตรี ต่างพากันผลักดันเพื่อให้สถาบันประกันเงินฝากเกิดขึ้นมาให้ได้และนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สมหมายคิดว่านุกูลกำลังดัดหลังตัวอยู่
โดยขอยืมมือผู้อื่นมาผลักดัน
4. กรณีของธนาคารเอเชียทรัสต์
ในการปลดนุกูล ประจวบเหมาะ นี้สมหมาย ฮุนตระกูลอ้างกรณีของธนาคารเอเชียทรัสต์
เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ธนาคารชาติละเลยไม่สนใจต่อปัญหา ปล่อยให้ลุกลามจนกระทั่งต้องใช้วิธีให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นในที่สุด
โดยสมหมายได้ชี้แจงออกไปว่า ได้แจ้งให้ธนาคารชาติทราบถึงเรื่องนี้ 4-5 ครั้งแล้ว
แต่ธนาคารชาติยังไม่ให้ทำอะไรลงไป
สำหรับเรื่องธนาคารเอเชียทรัสต์นั้น วารี หะวานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์
ได้ยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องธนาคารเอเชียทรัสต์นั้นนายสมหมายได้รับทราบและเห็นด้วยมาโดยตลอด
จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวหาว่านุกูล ประจวบเหมาะ บกพร่องในเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี บางกระแสข่าวซึ่งไม่สามารถจะยืนยันได้ก็อ้างว่า สาเหตุของธนาคารเอเชียทรัสต์นั้นเป็นเพราะ
พวกธารวณิชกุลเข้าไปฟ้องสมหมายว่าถูกนุกูลแกล้ง ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นไปได้
แต่นั่นก็เป็นกระแสข่าวอีกด้านหนึ่งซึ่งไม่ค่อยจะน่าเชื่อถือนัก
5. นุกูลครบวาระที่อยู่มา 4 ปีแล้ว
พูดไปโดยเนื้อแท้แล้ว ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาตินั้นสมควรจะเป็นตำแหน่งที่ต้องมีวาระในการคงอยู่และกำหนดเวลาของการจากไป
ในต่างประเทศตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางนั้นเป็นตำแหน่งที่อยู่กันเพียง
4 ปี และหากจะมีการต่อก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะตำแหน่งที่สำคัญนี้เป็นตำแหน่งซึ่งคนที่จะมานั่งจะต้องเป็นคนที่เปิดหูเปิดตาให้กว้างและจะต้องไม่ดักดานอยู่กับสิ่งที่ใกล้ตัวจนเกินไป
ความจริงข้ออ้างของสมหมายที่ว่านุกูลอยู่ครบ 4 ปีแล้วนั้น พูดกันด้วยความเป็นธรรมแล้ว
ก็เป็นข้ออ้างที่สมควรกับเหตุผล แต่เผอิญการให้นุกูลออกครั้งนี้เกิดมีองค์ประกอบหลายอย่างเข้ามาแทรกพลอยทำให้การที่อ้างว่า
อยู่ครบ 4 ปี แล้วดูไม่หนักแน่นและศักดิ์สิทธิ์
ที่นุกูลพูดก็ถูกว่า ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาตินั้น แต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่เคยมีการกำหนดว่าจะต้องอยู่ในวาระกี่ปี
แม้แต่ตำแหน่งบางตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เกษม จาติกวณิช
ก็ดำรงตำแหน่งนี้มา 20 กว่าปีแล้ว
สมหมายเองคงจะหาเหตุผลอะไรเข้ามาเพิ่มเติมไม่ได้ ก็เลยจำเป็นต้องเอาวาระ
4 ปี นั้นเข้ามาสอดแทรก
กระแสข่าวของการปลดนุกูลนั้นมีมานานแล้วและเริ่มเข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ นุกูลเองก็รู้เพราะนับตั้งแต่ถูกสมหมายชวนให้มาเป็นปลัดกระทรวงการคลัง
เมื่อประมาณปีกว่าที่แล้ว ซึ่งนุกูลก็ได้ปฏิเสธไป ทำให้นุกูลพอรู้ว่าตัวเองคงจะไม่แคล้วโดนสมหมายฟันเข้าสักวันหนึ่ง
แต่นุกูลเองก็ยังเชื่อว่า ถ้าเรื่องเข้าถึงคณะรัฐมนตรีเมื่อไรฝันหวานของสมหมายคงจะไม่สำเร็จตามที่ปรารถนาแน่แต่นุกูลก็คาดผิดไป
เพราะสมหมายเล่นเสนอเรื่องของนุกูลช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ไปต่างประเทศและระยะเวลากับจังหวะที่เสนอเข้าไปจะเป็นเพราะสมหมายตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่ทราบ
แต่มันเป็นจังหวะระยะเวลาที่ทำความเจ็บปวดให้กับนุกูลอย่างแสนสาหัสที่สุด
เพราะการถูกปลดครั้งนี้ถูกปลดก่อนที่นุกูลจะมีสิทธิ์ได้รับบำนาญเพียงเดือนครึ่งเท่านั้น
นอกจากนั้นก็เป็นการปลดเพียง 4 วันก่อนที่นุกูลจะเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปร่วมประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ณ ธนาคารโลก
การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสักคนหนึ่งอาจจะเป็นข่าวซึ่งจะไม่มีความสำคัญเลยในโลกภายนอก
แต่การเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารชาติอย่างกะทันหันแบบสายฟ้าแลบเช่นนี้ มันเป็นเรื่องที่วงการเงินทั่วโลกค่อนข้างจะตื่นตระหนกอยู่พอสมควร
นายธนาคารบางคนคิดเลยเถิดไปว่า เหตุที่นุกูลถูกปลดก่อนจะไปประชุมที่ธนาคารโลกนั้นอาจจะเป็นเพราะสมหมายไม่ต้องการจะไปธนาคารโลกกับนุกูล
และกลับมาอย่างเสียหน้าเพราะนุกูลอาจจะไปพูดอะไรที่ทำให้สมหมายอยู่ในภาวะที่ไม่มีความสำคัญไป
ตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารชาตินั้นในประเทศไทยอาจจะมีตำแหน่งเทียบเท่ากับรองปลัดกระทรวงเท่านั้น
แต่สำหรับในต่างประเทศแล้ว ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงและก็เป็นตำแหน่งที่เหนือกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียอีก
แน่นอนที่สุด การปลดนุกูลครั้งนี้ บรรดาพนักงานธนาคารชาติทั้งหลายต่างมีปฏิกิริยาต่อต้านสมหมายเกือบจะแทบทุกคน
ทั้งๆ ที่ในช่วงระยะเวลาที่นุกูลยังเป็นผู้ว่าธนาคารชาติอยู่นั้นนุกูลเองก็ไม่ได้เป็นที่พิสมัยของบรรดาระดับผู้บริหารของธนาคารชาติเท่าใดนัก
แต่การปลดนุกูลอย่างกะทันหันเช่นนั้น ในสายตาของพวกธนาคารชาติแล้ว เป็นการก้าวก่ายเข้ามาในสถานที่ที่พวกเขาคิดว่า
ไม่ควรที่จะถูกอิทธิพลภายนอกเข้ามาแทรกแซง
ฉะนั้นการรวมตัวเพื่อปกป้องหลักการของตัวเองก็เกิดขึ้น!
แน่นอนที่สุด นุกูลก็ฉลาดพอที่จะไม่เอาเรื่องความขัดแย้งในเรื่องบุคลิกเขากับสมหมายขึ้นมาเป็นเหตุ
แต่นุกูลเน้นอยู่ตลอดเวลาว่าสมหมายกำลังทำให้ธนาคารชาติไม่มีอิสระในการดำเนินงานซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติในอนาคต
สิ้นเสียงนุกูล ก็มีเสียงกระหึ่มของบรรดาพนักงานธนาคารชาติทั้งหลายขึ้นขานรับกันอย่างพร้อมเพรียง!
นายธนาคารบางคนคิดว่า ข้อกล่าวหาของนุกูลอาจจะเกินความจริงไปบ้าง เพราะ “ผมเชื่อว่าธนาคารชาติยังคงมีบรรดามืออาชีพทำงานกันอยู่เหมือนเดิม
และพวกนี้ยิ่งจะต้องพยายามปกป้องให้ธนาคารชาติยังความอิสระต่อไป เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้”
อย่างไรก็ตาม ธนาคารชาติยุคใหม่นี้ก็อาจจะต้องพ้นความยากลำบากเป็นพิเศษในช่วงนี้
เพราะขวัญและกำลังใจของบรรดาเจ้าหน้าที่ยังไม่กลับเข้ามาสู่ตัวพนักงานเท่าใดนัก
การตั้งกำจร สถิรกุล มาเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติแทนนุกูล กลับทำให้คนเชื่อมั่นว่าธนาคารชาติจะต้องมีอิสระของตัวเองลดน้อยลงไป
การปลดนุกูลนั้นถึงแม้จะทำความขมขื่นให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารชาติทั้งหลายก็ตามแต่ในทางตรงกันข้าม
กับเป็นเรื่องที่น่าเฉลิมฉลองระหว่างนายธนาคารบางกลุ่ม เพราะนโยบายและวิธีการทำงานของนุกูล
จากการที่เป็นคนโผงผางขวานผ่าซาก และพูดจาแบบไม่มีซิปรูด ทำให้นายธนาคารไม่น้อยรู้สึกไม่สบอารมณ์กับนุกูลเท่าใดนัก “ผมรู้ว่าพวกนายธนาคารที่ไม่ชอบผมออกไปเลี้ยงฉลองที่ผมโดนปลดแทบจะทุกคืน”
นุกูลพูดกับริชาร์ด มอร์ซัค ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เอเชียน วอลสตรีท เจอร์เนิล
การปลดนุกูล ประจวบเหมาะ ออกจากตำแหน่งครั้งนี้ เป็นการปะทะกันระหว่างคน
2 คน ที่มีบุคลิกแข็งกร้าวด้วยกันทั้งคู่
“ผู้จัดการ” เชื่อว่าถ้านุกูลอยู่ในตำแหน่งสมหมาย ฮุนตระกูล นุกูลก็คงจะทำเหมือนกับที่สมหมายทำ
สมหมาย ฮุนตระกูล ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีสิทธิ์ที่จะปลดนุกูล
ประจวบเหมาะ ปัญหาอยู่ตรงที่วิธีการปลดนั้นควรหรือมิควรเท่านั้น และจังหวะที่ปลดเหมาะหรือไม่เหมาะ?
เหมือนอย่างที่นุกูลพูดออกมาอย่างขมขื่นว่า สมหมายเองน่าจะเป็นคนพูดกับนุกูลแทนที่จะให้พนัส
สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้โทรศัพท์มาบอกซึ่งนุกูลก็ตอบปฏิเสธไปว่าไม่ยอมลาออก
เมื่อเป็นเช่นนี้ คนแก่อารมณ์ร้อนอย่างสมหมายที่เคยอยู่ธนาคารชาติมา 20
กว่าปี และอาวุโสกว่านุกูลมากก็คงจะไม่มีอารมณ์ไปนั่งจำนรรจากับนุกูลอีกต่อไป
ที่แน่ๆ นุกูล ประจวบเหมาะ ก็ได้แสดงให้โลกเห็นแล้วว่า ไหนๆ จะเป็นคนหัวรั้นแล้ว
ก็จะขอเป็นคนรั้นให้จนถึงที่สุด
เรียกได้ว่า นุกูล ประจวบเหมาะ ยินดีเป็นหยกที่แหลกลาญมากกว่าจะเป็นกระเบื้องที่สมบูรณ์
มันอาจจะเร็วจนเกินไปที่จะไปทำนายทายทักว่าการปลดนุกูล ประจวบเหมาะ ครั้งนี้จะมีผลกระทบกระเทือนต่อสถานภาพของประเทศไทยในตลาดการเงินหรือไม่
และมันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยหรือธนาคารชาติจะได้รับความเสียหาย
จากการที่นุกูลถูกปลดครั้งนี้ ถ้าจะมีปัญหาก็คงจะเป็นเพราะสงสัยที่ว่า ธนาคารชาติหลังจากที่นุกูลถูกปลดแล้ว
จะยังคงอยู่ในสภาวะที่เป็นอิสระต่อไปหรือไม่
และคำตอบนี้ ถึงแม้สมหมายจะตอบออกมาแล้วว่า ธนาคารชาติจะยังคงมีอิสระอยู่เหมือนเดิม
แต่เวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่า ที่สมหมายพูดนั้นเป็นความจริง!!!!!