ตุน ตัน เสี่ยว ซิน ปัจจุบันมีอายุ 66 ปี เป็นประธานกรรมการของบริษัท ไซม์
ดาร์บี้ อันเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซียและของเอเชียอาคเนย์
นอกจากนั้น เขายังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของรัฐบาลมาเลเซียมาตั้งแต่เขาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อปี
1974 หลังจากที่ได้ดำรงตำแหน่งนั้นมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี
บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ ซึ่งมีทรัพย์สินคิดเป็นราคาทุนตามราคาตลาด เป็นมูลค่ามากกว่า
1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกิ่งก้านสาขามากมายหลายประเทศ อันประกอบด้วยบริษัทในสังกัดและบริษัทในเครือราว
200 บริษัท มีลูกจ้างทั้งหมดราว 55,000 คน กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ มากกว่า
10 ประเทศ
บริษัท ไซม์ มีหัวหน้าเป็นบุรุษซึ่งเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นนักเกษตรกรรมในที่ดินสวนยางของบิดาของเขาในจังหวัดมะละกา
และปัจจุบันนี้ เขาได้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวในนามของเขาเอง เพียงแค่นี้ยังไม่พอที่จะอธิบายเหตุผลถึงการที่กลุ่มบริษัทแห่งนี้ยังคงมุ่งมั่นไปที่งานเกษตรกรรมต่อไป
แต่ประสบการณ์ในชีวิตอันยาวนาน ได้มีอิทธิพลบางอย่างในการอภิปรายในห้องประชุมเกี่ยวกับการวางนโยบายของบริษัทความรักงานเกษตรกรรมได้วิ่งพล่านอยู่แล้วในสายเลือดของ
ตุน ตัน ปู่ทวดของเขาเป็นผู้บุกเบิกการปลูกมันสำปะหลัง ก่อนมีการนำพันธุ์ต้นยางจากบราซิลผ่านสวนพฤกษศาสตร์คิวการ์เดนแห่งลอนดอนมายังมาเลเซียเมื่อกว่า
100 ปีก่อนโน้นเสียอีก
ตุน ตัน ได้ตั้งห้างขึ้นมาหลายห้างด้วยความสำนึกของเขาเอง มากกว่าจากคำแนะนำของที่ปรึกษา
เขาบอกว่า "ผมไม่มีเวลาสำหรับที่ปรึกษาเพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ผมกระทำเมื่อได้รับมอบ
บริษัท ไซม์ดาร์บี้มา ก็คือ ไล่พวกเขาออกไป"
ตุน ตัน เป็นบุรุษผู้มีประสบการณ์อันยาวนานอย่างแท้จริงในความชำนาญทางธุรกิจ
และในทางการเมืองอันเป็นส่วนหนึ่งแห่งมรดกของเขา บิดาของเขา คือ ตุน ตัน
เช็งล็อก เป็นนายกคนแรกของสมาคมชาวจีนแห่งมะลายู (คือ มาเลเซียในปัจจุบัน)
ซึ่งตั้งขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1949 ในระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช
แล้วต่อมา บุตรชายของท่านผู้นี้ก็ได้รับเลือกขึ้นสืบตำแหน่งนั้นในปี 1961
และอยู่ในตำแหน่งนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี 1974
ตุน ตัน เป็นลูกบาบ๋า (ลูกครึ่งมาเลย์) แห่งมะละกาคนหนึ่ง ซึ่งหมายความถึงลูกจีนที่ถูกซับดูดโดยสภาพแวดล้อม
บรรพบุรุษต้นตระกูลของท่านผู้นี้คือ ตัน ไฮว่ กวาน ที่อพยพมาสู่มะละกาเมื่อกว่า
200 ปีก่อนโน้น โดยที่ผู้อพยพเข้าเมืองในสมัยโน้นไม่มีสตรีร่วมเดินทางมาด้วย
ดังนั้นเขาจึงมักมาแต่งงานกับสตรีชาวพื้นเมือง เลยทำให้เขามีความสำนึกว่า
ถึงอย่างไรชาติตระกูลของเขาก็มีสายเลือดมาเลย์ผสมอยู่ด้วยเหมือนกัน
ทางเลือกโดยชาติกำเนิด ด้วยความร้อนใจที่อยากจะสมานฉันท์กันในระหว่างเชื้อชาติต่างๆ
ของมะลายู เขาได้ตกลงใจเลือกชาติกำเนิดของสมาชิกฝ่ายจีนอาวุโสในตำแหน่งคณะรัฐมนตรีชุดแรกหลังจากได้รับเอกราช
ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลผสมจากหลายเชื้อชาติ ดำเนินการปกครองมาเลเซียตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในตอนแรก เขาเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่อีก
2 ปีต่อมา เขาก็เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีต ตุน ราซัก
ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้นได้กล่าวว่า "ความมั่นคงทางการเงิน
และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นผลจากการดำเนินนโยบายตามแนวทางของ
ตุน ตัน จึงเป็นที่แน่นอนเชื่อถือได้ว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ให้กำเนิดและเป็นผู้สร้างสรรค์ประชาชาติของเราแห่งนี้"
คราวหนึ่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่งเสนอว่า เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ลดภาษีสำหรับภรรยาคนหนึ่งได้แล้ว
ก็ควรขยายไปถึงภรรยาคนอื่นๆ ที่ผู้ชายเราอาจมีได้ด้วย ท่าน ตุน ตัน เลยวิจารณ์ตอบโต้อย่างโผงผางออกมาว่า
"การมีเมียน้อยเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ถ้าท่านอยากมีเมียน้อยอีกคนท่านก็ควรจะควักกระเป๋าเสียภาษีเพื่อเมียน้อยเอาเอง"
เมื่อออกจากวงการรัฐบาลแล้ว ตุน ตัน ก็พยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
และเข้ารับภาระดูแลธุรกิจของตระกูล เมื่อคณะกรรมการของบริษัท ไซม์ เริ่มขัดแย้งโต้เถียงกันนั้น
บริษัทเพอร์นัส อันเป็นบริษัทของรัฐบาลที่ถือหุ้นมากที่สุดเพียงกลุ่มเดียวในจำนวนหุ้นทั้งหมดของ
บริษัท ไซม์ ได้เสนอตุน ตัน เข้าชิงตำแหน่งประธานกรรมการของกลุ่มบริษัท เป็นที่เชื่อกันว่า
จากประวัติอันดีเด่นและยาวนาน จะช่วยให้เขาได้รับความไว้วางใจจากบรรดาผู้ถือหุ้นอิสระในตะวันออกไกลและในอังกฤษ
ลักษณะส่วนตัว การเลือก ตุน ตัน ครั้งนี้ไม่ต้องสงสัยว่า เป็นการเลือกทางการเมืองในระดับสูงสุด
ด้วยความรู้อยู่อย่างเต็มอกว่า เขาจะไม่ยอมให้มีการแทรกแซงอย่างใดในการดำเนินงานของกลุ่มเลย
เพอร์นัสกับเจ้านายทางการเมืองมีความฉลาดหลักแหลมในการรักษาไว้และสร้างภาพลักษณ์อันดีงามของบริษัทไซม์
เอาไว้ ในฐานะเป็นกลุ่มธุรกิจระหว่างชาติ
แน่นอน เขาเป็นผู้อาวุโสที่ยิ่งใหญ่ของสังคมธุรกิจมาเลเซีย แม้แต่ขนาดของกลุ่มบริษัท
ไซม์ ก็ยังเล็กกว่าความยิ่งใหญ่ของเขาเสียอีก เนื่องจากฐานะอันนี้ส่วนหนึ่ง
กับบุคลิกทางส่วนตัวของเขาอีกส่วนหนึ่ง จึงทำให้เขาพร้อมที่จะเป็นตัวของตัวเองในปัญหาต่างๆ
ได้อย่างกว้างขวาง และด้วยความทรนงองอาจอย่างที่เขาเคยเป็นมาแล้ว
ตุน ตัน มีความสนใจมากในเรื่องของสมาคมอาเซียน ความใฝ่ฝันของเขา รวมทั้งของไซม์ด้วยมิได้หดตัวอยู่ในวงแคบ
อย่างไรก็ดี เรารู้สึกไม่ใคร่พอใจความล่าช้าและความลังเลใจในการร่วมมือภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน
ที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
เขาอยากให้กลุ่มประเทศอาเซียนเป็นอะไรที่ไม่น้อยไปกว่าภูมิภาคแห่งการค้าเสรี
โดยยกเลิกการเก็บภาษีทุกชนิดสำหรับการค้าภายในประชาคมเดียวกัน แต่ยินยอมให้ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศกำหนดภาษีอากรของตนเองขึ้นมาได้สำหรับการค้ากับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนเขามีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า
กลุ่มประเทศอาเซียนควรจะก่อตั้งบริษัทระหว่างชาติขึ้นมาเอง โดยอนุญาตให้บริษัทที่ได้รับสถานภาพว่าเป็นบริษัทระหว่างชาติอาเซียน
รัฐใช้ตลาดในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด "บริษัทแบบนี้จะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าและเหมาะสมกว่า
ที่จะเปิดดำเนินงานได้ทั่วโลก และจะทำให้อาเซียนเข้าสู่กระบวนการสร้างเอกลักษณ์ทางเศรษฐกิจของตนขึ้นมา
แม้ในโลกแห่งอุตสาหกรรม" ทั้งนี้ นับเป็นความคิดที่ดีมากทีเดียวไม่ว่าจะใช้
ความคิดนี้ไปสร้างเป็นนโยบายของไซม์ เพื่อขยายงานหรือความต้องการอันจำเป็นของไซม์
กำลังมีอิทธิพลเหนือความคิดของ ตุน ตัน ก็ตาม
ตุนตัน ไม่เพียงแต่เป็นนักธุรกิจเท่านั้นแต่เขายังเป็นบุคคลสำคัญในวงสังคม
ซึ่งเกี่ยวข้องกับมูลเหตุให้เกิดกิจกรรมขึ้นหลายอย่าง แม้กระทั่งการคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่า
ครับ ใช่ทีเดียว งานอดิเรกที่เขาชอบนักชอบหนา ก็คือ การล่าสัตว์ป่าเขาพูดในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่า
นักล่าสัตว์ที่เอาจริงเอาจังทุกคน มักเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ไปด้วย เพราะว่า
ย่อมไม่อาจมีกีฬาล่าสัตว์ได้ ถ้าไม่มีการอนุรักษ์สัตว์เอาไว้ให้ล่า
รากฐานอันมั่นคง ถึงแม้ว่ามันจะได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางแล้วก็ตาม
โดยพื้นฐานแล้ว บริษัท ไซม์ ก็ยังเป็นของมาเลเซียอยู่ ราว 70% ของรายได้ทั้งหมดที่กลุ่มของบริษัทหาได้
(ซึ่งในปี 1981 เท่ากับ 53.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นั้น ได้มาจากการประกอบการทางเกษตรกรรมในประเทศมาเลเซียเอง
กับการค้าเครื่องมือเครื่องใช้ขนาดหนัก ซึ่งมีศูนย์การค้าอยู่ในประเทศของตนเอง
กว่า 50% ของเงินทุนที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นจำนวน 468.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่ในกำมือของชาวมาเลเซีย
อีก 30% ถือหุ้นโดยสถาบันซึ่งอยู่ในความควบคุมโดยหรือมีความสัมพันธ์อยู่กับรัฐบาลมาเลเซีย
ผู้ถือหุ้นส่วนมากได้แก่หน่วยงานของรัฐบาลเอง ที่ประสงค์จะเข้าร่วมการลงทุนที่มีผลตอบแทนเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ดินเพื่อการเกษตรมาใช้เป็นที่อยู่อาศัย
นอกจากนั้นก็มีการกำหนดอัตราส่วนของที่ดินเพื่อจัดสรรสำหรับปลูกบ้านในราคาต่ำ
และกำหนดอัตราร้อยละของบ้านทั้งหมดไว้สำหรับผู้มีเชื้อชาติเป็นชาวภูมิปุตรา
(เชื้อสายมาเลย์)
ความชำนาญที่ไม่มีข้อสงสัย บริษัท ไซม์ มีประสบการณ์และความชำนาญที่ไม่ต้องสงสัยอยู่ใน
2 แนวทางด้วยกันคือ การเกษตรกรรมในเขตร้อน และการค้า ถึงแม้ว่า บริษัท ไซม์
ดาร์บี้ จะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ในรูปลักษณะอย่างที่เป็นอยู่นี้ในกรุงลอนดอนมาตั้งแต่ปี
1942 ก็ตาม แต่บริษัทนี้มีกำเนิดย้อนหลังขึ้นไปถึง 1910 เมื่อ 2 คนพี่น้องแห่งตระกูล
ไซม์ ได้ร่วมกันเข้าหุ้นกับเพื่อนชาวสก๊อตคือ เอช.เอ็ม. ดาร์บี้ ก่อตั้งการทำสวนยางขึ้นในจังหวัดมะละกาถึง
40 เฮกตาร์ ด้วยการเริ่มต้นจากสั่งซื้อวัสดุสิ่งของต่างๆ มาใช้เองในสวนยาง
มิช้ามินานบริษัทก็เลยกลายเป็นตัวแทนขายสินค้าไปด้วย โดยเป็นผู้รับขายของและอำนวยบริการต่างๆ
แทนบริษัทผู้ผลิตที่อยู่โพ้นทะเลอีกตั้งหลายบริษัท
ผลประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรมของบริษัทเวลานี้อยู่ในวงจำกัดและมีจำนวนน้อย การได้เข้าเป็นเจ้าของควบคุมผลประโยชน์โรงงานผลิตยางในฟิลิปปินส์
ที่มีมูลค่าถึง 17.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นโรงงานยางเก่าแก่ที่ควบคุมตลาดถึง
30% โดยได้มาจากบริษัท บี.เอฟ. กู้ดริช เมื่อปี 1982 นับเป็นการก้าวไปข้างหน้าอย่างสำคัญทีเดียว
เพราะด้วยเหตุนี้จึงเป็นหนทางให้ได้ติดต่อเจรจากับบริษัท ฟอร์ด โดยผ่านทางบริษัท
เพอร์นัส ไซม์ ดาร์บี้ (อันเป็นบริษัทแห่งชาติของชาวมาเลย์ซึ่งจัดการโดยกลุ่มที่ตนเองมีส่วนร่วมหุ้นอยู่ด้วยถึง
49%) เพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในโรงงานประกอบรถยนต์ในมาเลเซีย นอกจากนั้น บริษัท
ไซม์ ยังได้ผลิตช็อกโกเลต ตู้เซฟ และสีชนิดต่างๆ ในมาเลเซีย กับยังได้จัดตั้งโรงงานทอผ้าด้วยเครื่องจักรขึ้นในสิงคโปร์
ในฐานะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานและขยายกิจการค้าของบริษัท
ในปี 1979 บริษัท ไซม์ ได้หาญเข้ายื่นซองประมูลเพื่อเข้าควบคุมบริษัท กูธรี
ซึ่งดำเนินกิจการทางเกษตรกรรมขนาดใหญ่พอๆ กับของบริษัท ไซม์ โดยมีเนื้อที่เพาะปลูกถึง
80,000 เฮกตาร์ หากแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากข้อเสนอของไซม์ ต่ำกว่าเงินทุนที่ต้องการเพื่อเข้าควบคุมไปเพียง
1% นอกจากนั้น บริษัท ไซม์ ยังได้ขายหุ้นให้แก่บริษัทลงทุนภาครัฐบาลของมาเลเซีย
โดยได้กำไรงามถึง 25.6 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (รวม 50.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ในปี 1980 ไซม์ ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินในซาบาเป็นจำนวนถึง 4,000 เฮกตาร์ ตุนตัน
คาดหวังเป็นอย่างมากว่าที่ดินในภูมิภาคนี้ของมาเลเซียซึ่งพาดไปตามชายฝั่งด้านเหนือของเกาะบอร์เนียวจะมีราคาสูงขึ้นในอนาคต
สัญญาจัดการ บริษัท ไซม์ ยังมีความรับผิดชอบเกี่ยกับการจัดการถือครองที่ดินในคณะกรรมการพัฒนาที่ดินของมลรัฐซาบา
สัญญาจัดการอีกฉบับหนึ่งได้แก่ การพัฒนาที่ดินป่าจำนวน 2,000 เฮกตาร์ ซึ่งเดิมเป็นป่าดง
ให้กลายเป็นไร่โกโก้ นับเป็นการร่วมลงทุนอีกแขนงหนึ่ง ระหว่างบริษัทไซม์
กับรัฐบาลและบริษัท ภาคมหาชนของสหพันธรัฐ
บริษัท ไซม์ ยังจะสามารถบรรลุความสำเร็จในการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ โดยมีเนื้อที่ดินในกรรมสิทธิ์ของตนเองเพิ่มขึ้น
หรือเข้าจัดการในเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีก ได้หรือไม่? อดีตนักบริหารชั้นสูงเชื่อว่าได้
เขากล่าวว่า "จากโครงสร้างเบื้องบนที่เรามีอยู่ในฝ่ายเกษตรกรรมของเรา
เรายังสามารถจะดำเนินงานได้อีก … แม้จะพิจารณาจากแง่ของการค้า พนักงานฝ่ายขายของเรา
ไม่ว่าที่กัวลาลัมเปอร์นี่หรือที่บริษัทการค้าของเราในกรุงลอนดอน หรือในนิวยอร์ก
ก็ตาม ยังสามารถขายของเพิ่มขึ้นได้อีกสักเท่าตัวของจำนวนที่เขาขายอยู่ในขณะนี้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มคนขึ้นไปอีกเท่าตัว"
โครงสร้างเบื้องบนนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก กล่าวคือ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กติดตั้งอยู่ในที่ดินทุกแห่ง
เพื่อป้อนข้อมูลให้แก่ศูนย์วางโปรแกรมและศูนย์วิเคราะห์รวมในกัวลาลัมเปอร์
นี่เป็นจุดเด่นที่ย้ำให้เห็นถึงการยกระดับการจัดการให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการนำเทคนิคด้านเกษตรกรรมสมัยใหม่มาใช้ประโยชน์
นอกจากนั้น ยังได้มีการจัดตั้งหอวิจัยเพื่อศึกษาค้นคว้าวิธีการและกรรมวิธีในการควบคุมคุณภาพของยาง
น้ำมันปาล์ม และโกโก้ ที่ส่งออกสู่ตลาดภายใต้ความอำนวยการของไซม์ และหอวิจัยนี้ยังได้ทำการวิเคราะห์ดินและใบไม้
เพื่อรวบรวมเขียนคำแนะนำสำหรับการใช้ปุ๋ย และออกแบบระบบเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะอันเกิดจากน้ำทิ้ง
เนื่องจากวิศวกรรมการถ่ายทอดพันธุ์หรือการเพาะพันธุ์ จะช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำมันปาล์มให้ได้อย่างกว้างขวาง
หอทดลองจึงควรคืบคลานเข้าไปสู่งานด้านนี้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พัฒนากำลังคนในจังหวัดมะละกา ศูนย์แห่งนี้ไม่เพียงแต่จะรับภารกิจด้านพัฒนาการเกษตรเท่านั้น
แต่ยังรับงานด้านวิศวกรรมดูแลรักษาของหน่วยงานด้านการยาง และหน่วยประกอบกรรมวิธีการสกัดน้ำมันปาล์มอีกด้วย
ความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ บริษัทไซม์ แจกจ่ายความชำนาญที่ได้มาจากงานภายในเหล่านี้
โดยผ่านบริษัท ไซม์ ดาร์บี้ เซอร์วิส ไปบริการต่างๆ ให้แก่บริษัท
รัฐบาล และสถาบันให้กู้ยืมเงินระหว่างประเทศ ดังเช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชียและแอฟริกา
เป็นต้น โดยคำแนะนำของสถาบันแอฟริกา เป็นต้น บริษัทได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้
เพื่อประเมินศักยภาพของการปลูกใบชาในโมแซมบิก (ซึ่งบริษัท ไซม์เองก็ทำไร่ใบชาด้วยเนื้อที่ถึง
6,000 เฮกตาร์ ทั้งในอินเดียและบังกลาเทศ)
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเกี่ยวกับยางกูดริชในฟิลิปปินส์ บริษัทไซม์
ได้เข้ามามีหุ้นส่วนยางในฟิลิปปินส์ถึง 1,000 เฮกตาร์ ซึ่งเป็นของบริษัท
ฟิลิปปินส์ และได้รับสิทธิการจัดการอีก 1,800 เฮกตาร์ นี่อาจเป็นเพียงการเริ่มต้นของการที่จะเข้าไปมีส่วนที่มากกว่านี้อีกก็ได้
ตวนกู อาหมัด ยาหยา ประธานกรรมการบริหารของกลุ่ม อธิบายว่า ยังมีลู่ทางสำหรับกิจการสวนยางในประเทศนี้อยู่อีกไม่น้อย
เนื่องจากยังมีแรงงานส่วนเกินอยู่อีกมาก
การทำสวนยางเป็นงานเพาะปลูกที่ต้องใช้แรงงานมาก และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไร่ขนาดใหญ่ในมาเลเซียกำลังขาดแคลนคนงานมากขึ้นทุกที
ต้องเปลี่ยนการทำสวนยางไปสู่การทำไร่ปาล์มน้ำมันที่สิ้นเปลืองแรงงานน้อยกว่า
สำหรับในกรณีของบริษัท ไซม์ นั้น ขนาดของที่ดินที่ใช้ทำสวนยางได้ลดลงถึง
30% เมื่อเทียบกับที่ดินถึง 70% ซึ่งขณะนี้ใช้ทำไร่ปาล์มน้ำมัน และไร่โกโก้
กระบวนการล่องตามน้ำ บริษัท ไซม์จะเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้นไปอีกในกระบวนการล่องตามน้ำของการปลูกธัญพืช
ในกรณีของน้ำมันปาล์ม โรงงานสกัดน้ำพืช 7 โรง สามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้ถึง
250,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1982 เคนเนธ เอียลส์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเกษตรกรรมและการค้าระหว่างประเทศ
กล่าวว่า "นี่หมายความว่า ปัจจุบันนี้กลุ่มของเราสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้ราว
9% ของปริมาณที่ผลิตได้ทั้งหมดในมาเลเซีย หรือ 7% ของยอดรวมการผลิตของโลก
นอกจากนี้ น้ำมันปาล์มดิบยังได้ถูกส่งไปกลั่นที่สิงคโปร์ และเมืองปาซีร์
กุดัง ในมาเลเซียภาคใต้ ทั้ง 2 แห่งนี้ผลิตน้ำมันพืชชั้นดีสำหรับใช้ปรุงอาหาร
ป้อนตลาดเป็นจำนวนมากทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก วัตถุประสงค์ในปัจจุบันนี้
ก็เพื่อจะใช้ประโยชน์จากกรดน้ำมันอันเกิดจากการผลิตผลิตภัณฑ์ที่บริโภคได้เพื่อแปลงให้เป็นสารทางเคมี
ชื่อตระกูลของผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากกรดไขมัน เรียกว่า สารเคมีน้ำมัน บริษัท
ไซม์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการผลิตเหล่านี้ ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะน้อยมากปัจจุบัน
ไซม์ กำลังมองหาลู่ทางเพื่อร่วมลงทุนหรือรับซื้อโรงงานเพื่อให้ได้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
และสามารถขยายความสัมพันธ์ด้านการตลาดเกี่ยวกับกิจกรรมประเภทสารเคมีน้ำมันได้ด้วย
ข้อผูกมัดเกี่ยวกับกระบวนการล่องตามน้ำรายสำคัญรายแรกเกี่ยวกับยาง ได้แก่
โรงานยางในฟิลิปปินส์ แต่ยังมีอะไรที่จะต้องมากกว่านั้นอีก ผลประโยชน์ของ
ไซม์ ในการผูกสัมพันธ์กับบริษัทของสหรัฐฯ แห่งนี้ เกี่ยวข้องกับความมุ่งหมายในทางการผลิตเพื่อป้อนตลาดในภูมิภาคนี้เอง
และใช้ความสะดวกเป็นพื้นฐานสำหรับก้าวเข้าสู่ตลาดโลก
เมื่อกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ยางกันแล้ว ไซม์เริ่มต้นด้วยขนาดเล็กก่อน แต่ก็ก้าวต่อไปอย่างมั่นคงเพราะไซม์
ยังได้เกี่ยวข้องกับการขายรถยนต์และเครื่องขุดปรับพื้นดินในมาเลเซีย สิงคโปร์
บรูไน ฮ่องกง และจีน ผลิตภัณฑ์ยางหลายอย่างย่อมเกี่ยวข้องไม่ทางหนึ่งก็ทางใด
กับการขายเหล่านี้ ทำให้ไซม์ ได้รับสายเชื่อมโยงที่มีอยู่แล้วไปยังทางออกสู่ตลาด
การทำไม้ซุง ไซม์สนใจในการทำไม้ซุงด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ระหว่างกลาง
หรือเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย แต่ก็ยังไม่มีแผนงานที่แน่นอน
พลังงานอันเข้มแข็งประการหนึ่งของไซม์ ได้แก่การพาณิชย์ในฮ่องกง ในปี 1983
ปริมาณของธุรกิจการขายรถยนต์ชนิดต่างๆ เครื่องอุปกรณ์ในการก่อสร้าง เครื่องมือเครื่องใช้ด้านวิศวกรรมและกิจการค้าอย่างอื่นๆ
มีมูลค่ารวมกันถึง 238.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ธุรกิจการค้าเครื่องอุปกรณ์ขนาดหนัก
ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท แทรกเตอร์มาเลเซีย โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด ในปี 1982
ทั้งในมาเลเซียและในสิงคโปร์ มีมูลค่าการขายมากกว่า 285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัท ไซม์ ยังมองหาการเป็นตัวแทนทางการค้าเพิ่มขึ้นอีก บริษัท เพอร์นัส-ไซม์
ดาร์บี้ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ได้ร่วมทุนกับบริษัท แลนด์โรเวอร์ ของอังกฤษ
ในการตั้งบริษัทประกอบและจำหน่ายยานพาหนะต่างๆ ในมาเลเซียและบรูไน สำหรับในสิงคโปร์นั้น
บริษัท แทรกเตอร์สิงคโปร์ อันเป็นบริษัทหนึ่งในเครือของไซม์ จะเป็นผู้ดูแลกิจการในสิงคโปร์
ส่วนทางปลายสุดอีกด้านหนึ่งของเส่นทางธุรกิจนั้น บริษัท เพอร์นัสไซม์ ดาร์บี้
ยังได้เซ็นสัญญาเข้าเป็นเอเย่นต์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาผมของบริษัทเนสท์เล่
ซึ่งผลิตจากต้นไม้สมุนไพรประเภทต้นเทียนที่มีปลูกกันในอียิปต์
บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ มีความหลากหลายอย่างแท้จริงในผลประโยชน์ทางการค้า
จนทำให้ ตุนตัน มีความลำบากใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะหาคำบรรยายสรุปที่เหมาะสมมากล่าวให้กะทัดรัดอย่างดีได้
ตุน ตัน จึงได้แต่บอกแก่นิตยสาร "ฟอร์จูน" ว่า "จะมีก็เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น
ที่เรายังไม่ได้เข้าไปเป็นเจ้าของดำเนินกิจการ ก็คือ ซ่องโสเภณี" ส่วนผู้อำนวยการอีกผู้หนึ่งซึ่งรับผิดชอบงานอยู่ในฮ่องกง
ก็ลำบากใจที่จะสรรหาคำสรุปที่เหมาะสมมากล่าวได้เช่นกัน เขาจึงเลยกล่าวสรุปกิจการเอาอย่างง่ายๆ
ว่า "ไซม์ ดาร์บี้ ก็ขายทุกอย่างนั่นแหละตั้งแต่รถตีนตะขาบ (แทรกเตอร์)
ลงมาจนกระทั่งถุงยางคุมกำเนิด"