|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กลุ่มมิสซิกตี้รุกเข้มตลาดเอเชีย จัดระเบียบแบรนด์ เจาะกลุ่มเป้าหมายตรงจุด นำเข้า “คิลล่าห์” แบรนด์ในเครือดักตลาดสาววัย 15-25 ปี หลังโฟกัสแบรนด์อิมเมจ “มิสซิกตี้” ให้ตรงกลุ่มผู้หญิง 25-35 ปี พร้อมหั่นราคาลง 20% สร้างโอกาสการเข้าถึงมากขึ้น ขณะที่ “เอเนอร์จี้” จะมุ่งตอบไลฟ์สไตล์ผู้ชายอายุ 18-28 ปี ล่าสุดจ้องผนึกซีเอ็มจีเป็นฐานผลิตเสื้อในไทย หวังลดต้นทุนสินค้า สำหรับแผนบุกครั้งนี้ กลุ่มมิสซิกตี้ มั่นใจภายใน 3-5 ปีจากนี้ ยอดขายจากภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มเป็น 30% จากตอนนี้ที่มีสัดส่วน 20%
ตลาดแฟชั่นบ้านเรา หากแยกตามสัญชาติของผู้เล่นบนเวที จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอินเตอร์แบรนด์ และกลุ่มโลคัลแบรนด์ ซึ่งไม่ว่าจะหันไปมองมุมไหนก็ตาม เห็นได้ชัดเจนว่าแทบทุกตารางพื้นที่ของสมรภูมินี้ร้อนระอุไปด้วยกลยุทธ์ทุกรูปแบบที่แต่ละแบรนด์นำมาสาดใส่กันอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า หนีไม่พ้นเรื่อง “ราคา” ที่ถือเป็นตัวกระชากการตัดสินใจซื้ออันดับต้นๆ ของผู้บริโภคในยุคนี้
จึงไม่แปลกหากผู้บริโภคในบ้านเราจะได้เห็นการลดราคา ที่กระหน่ำความแรงให้ส่วนลดสูงถึง 80-90% พร้อมกับขยายเวลาการชอปให้นานจนจุใจ ซึ่งหากเทียบความได้เปรียบเสียเปรียบ ต้องยอมรับว่า ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว ผู้เล่นฝั่งโลคัลแบรนด์ถือว่าเป็นต่อในด้านต้นทุนมากกว่าผู้เล่นอินเตอร์ ทำให้ที่ผ่านมา แม้จะมีผู้เล่นอินเตอร์แบรนด์หลายราย ต้องโดดเข้าสู่สงครามราคาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ไม่สามารถหั่นราคาชนกลุ่มโลคัล เพราะไม่ใช่แค่การมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่ยังรวมถึงภาพลักษณ์แบรนด์ที่อาจลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีอิมเมจเป็นสินค้าพรีเมียมมากๆ
ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากสังเกตจะเห็นว่า ตลาดเสื้อผ้าหรือสินค้าแฟชั่นในบ้านเรามีผู้เล่นสัญชาติอินเตอร์หลายรายหันไปเปิดตัวซับแบรนด์ หรือซับคอลเลกชั่นกันมากขึ้น หรือไม่ก็นำเข้าสินค้าแบรนด์ใหม่เพื่อมาจับลูกค้าที่มีกำลังซื้อน้อยกว่ากลุ่มลูกค้าของแบรนด์หลัก ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นเท่านั้น กลยุทธ์นี้ยังช่วยให้รักษาอิมเมจของแบรนด์หลักด้วย ที่สำคัญยังช่วยต่อยอดลูกค้ากลุ่มเด็กให้ไปใช้สินค้าแบรนด์หลักในอนาคตได้ด้วย
กลุ่มมิส ซิกตี้เป็นอีกค่ายหนึ่งที่ไม่สามารถต้านกระแสจากสงครามราคา แม้ว่า 2 แบรนด์ในเครืออย่าง “มิส ซิกตี้” และ “เอเนอร์จี้” ที่เข้ามาจำหน่ายในไทยนาน 7 ปี จะถูกสื่อให้เห็นชัดเจนว่าเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียม จับลูกค้าระดับบีบวกขึ้นไปก็ตาม แต่ด้วยภาพรวมสภาพเศรษฐกิจที่ตกลง ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญและคำนึงถึงเรื่องราคามากยิ่งขึ้น ด้วยปัจจัยดังกล่าว โฮชูลอง พอล ผู้จัดการทั่วไปประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ผลิตภัณฑ์มิส ซิกตี้ เอเนอร์จี้ และคิลล่าห์ บอกว่า มิส ซิกตี้จึงมีการปรับฐานราคาสินค้าใหม่ เพื่อให้เหมาะสมและลดความแตกต่างของราคาในแต่ละประเทศ โดยใช้ราคาที่ฮ่องกงเป็นฐาน
“บริษัทให้ความสำคัญเรื่องราคามากยิ่งขึ้น เพราะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าในยุคนี้ โดยตอนนี้สินค้าที่จำหน่ายในไทยทั้งสองแบรนด์ ปรับลดลงประมาณ 20% แล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ตาม แม้ค่ายนี้จะปรับลดราคาจากปรกติลงมากว่า 20% ทว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่งกลุ่มโลคัล หรืออินเตอร์แบรนด์บางราย ต้องยอมรับว่า ทั้งมิส ซิกตี้และเอเนอร์จี้ก็ยังมีราคาสูงกว่า แม้ชื่อเสียงของแบรนด์และคุณภาพของสินค้าอาจจะยั่วใจขาชอปรายใหม่ได้บ้างก็ตาม แต่ถ้าจะมองไปถึงการขยายไปยังเด็กวัยรุ่น ซึ่งอาจมีกำลังซื้อไม่มากเท่ากับกลุ่มคนทำงาน จุดนี้พูดได้ว่า ราคาของทั้งสองแบรนด์ยังคงเป็นกำแพงสูงสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ และหากจะให้ดัมป์ราคามากกว่านี้ เชื่อว่าภาพลักษณ์การเป็นสินค้าพรีเมียมอาจโดนกดลงมาด้วย
ฉะนั้น เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางการตลาด ควบคู่ไปกับการรักษาอิมเมจและฐานลูกค้าเดิมของมิส ซิกตี้ ผู้จัดการทั่วไปประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ผลิตภัณฑ์มิส ซิกตี้ เอเนอร์จี้ และคิลล่าห์ บอกว่า บริษัทจึงนำเข้า “คิลล่าห์” เข้ามาเสริมทัพบุกตลาดแฟชั่นในเอเชีย รวมทั้งในบ้านเราด้วย จากตอนนี้ที่มีเพียง “มิส ซิกตี้” และ “เอเนอร์จี้”
ทั้งนี้ คิลล่าห์ (Killah) เป็นอีก 1 แบรนด์ในเครือของบริษัท ซิกตี้ ฟาร์อีส ประเทศอิตาลี ที่ปัจจุบันมีสินค้ารวม 8 แบรนด์ ประกอบด้วย มิส ซิกตี้, เอเนอร์จี้, โรเบอร์ต้า เดอ คามิเนโอ, เมอร์ฟี่ แอนด์ ไนย์, รีแฟล็กจี้แวร์, บารากูต้า และริชลู่ ซึ่งเหตุผลที่คิลล่าห์ถูกเลือกให้เข้ามาช่วยเสริมทัพในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งคงมาจากการเป็น 1 ใน 3 แบรนด์ ร่วมกับมิส ซิกตี้และเอเนอร์จี้ที่ทำรายได้สูงสุดคิดเป็นสัดส่วน 80% ให้กับซิกตี้ ฟาร์อีส รวมทั้งประเทศในแถบเอเชียอย่างจีนด้วย
กลับมาที่การทำตลาดแบรนด์คิลล่าห์ในไทย จะเห็นว่า แบรนด์นี้ถูกส่งเข้ามาเจาะตลาดผู้หญิง แต่เด็กกว่ากลุ่มของมิส ซิกตี้ โดยจะเน้นไปที่อายุ 15-25 ปี ที่ชื่นชอบแฟชั่น แต่ก็ให้ความสำคัญเรื่องราคาที่ต้องคุ้มค่าและเหมาะสมด้วย ทำให้สินค้าของคิลล่าห์จะมีราคาถูกกว่าประมาณ 30% เมื่อเทียบกับแบรนด์มิส ซิกตี้ ที่มีการปรับภาพลักษณ์ขยับไปโฟกัสกลุ่มผู้หญิงอายุ 25-35ปี จากเดิมที่เน้นกลุ่ม 20 ปีขึ้นไป เพื่อให้แยกชัดเจนกับกลุ่มลูกค้าคิลล่าห์ ส่วนแบรนด์เอเนอร์จี้ ที่เคยเน้นฐานลูกค้าผู้ชายอายุ 25 ปีขึ้นไป ก็มีการปรับลดลงมาจับตั้งแต่อายุ 18-35 ปี ซึ่งผู้บริหารค่ายนี้บอกว่า จะมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้า และนำเสนอคอลเลกชั่นให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำตลาดในแถบเอเชียมากขึ้น ทางกลุ่มมิส ซิกตี้มีแผนจับมือกับกลุ่มบริษัทซีเอ็มจีฯ หรือบริษัท เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ปฯ ที่ตอนนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์มิส ซิกตี้, เอเนอร์จี้ และคิลล่าห์ ให้นำผลิตภัณฑ์กลุ่มเสื้อเชิ้ต และเสื้อยืดมาผลิตในไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 6-9 เดือนนี้
สำหรับการจัดทัพบุกในครั้งนี้ ไม่เพียงการเพิ่มยอดขายในไทยให้ขยายตัวขึ้นไม่ต่ำกว่า 10%เท่านั้น แต่ค่ายนี้ยังตั้งเป้าขยับสัดส่วนยอดขายจากภูมิภาคเอเชียที่ 20% เป็น 30% ภายใน 3-5 ปีด้วย
|
|
|
|
|