เจาะกลยุทธ์ธุรกิจโรงแรมน้องใหม่ของภูเก็ต “เคป เซียนนา โฮเต็ล แอนด์ วิลล่า” ใช้กลยุทธ์สร้างความโรแมนติกให้ที่พัก ดึงลูกค้าไทย-ต่างชาติเข้าพัก เตรียมขยายสระว่ายน้ำเพิ่มหลังได้รับความนิยมสูง อนาคตอาจขยายธุรกิจเพิ่มแต่ขอสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งก่อน
ด้าน “เดอะ แนป ป่าตอง” ใช้ความชำนาญที่อยู่ในวงการโรงแรมไม่ต่ำกว่า 10 ปีเข้าบริหาร ผสานคอนเซ็ปต์ “รู้สึกน้อยแต่มาก” (Less is More) ใส่ความเป็นภูเก็ตอยู่ตามส่วนต่างๆ ของโรงแรม ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ดึงลูกค้าเข้าพัก
ชูความโรแมนติก
ดึงลูกค้าไทย-เทศเข้าพัก
การสร้าง “เคป เซียนนา โฮเต็ล แอนด์ วิลล่า” เกิดจากความคิดที่เห็นว่าธรรมชาติบริเวณหาดกมลามีความสวยงาม และจากประสบการณ์ที่มีของ “Frank Dreist” ผู้จัดการทั่วไป ที่อยู่ในเมืองไทยและทำงานบริหารโรงแรมไทยมาเกือบ 20 ปี เชื่อว่าจะพาโรงแรมเคป เซียนนา ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก
โดยสไตล์ของ เคป เซียนนา รูปแบบจะเป็นชิค โฮเต็ล ในขณะนี้โรงแรมย่านนี้จะเป็นโรงแรมสไตล์ไทยทั้งสิ้น ทำให้ เคป เซียนนา เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ ปริมาณคนเข้าพักช่วงโลว์ซีซันมีถึง 60-70% ขณะที่ไฮซีซันที่กำลังจะมาถึง (ตั้งแต่เดือน พ.ย.) น่าจะมีถึง 80% และเชื่อว่าต้นปีหน้า (มกราคม-กุมภาพันธ์) จะมีคนเข้าพักถึง 90% โดยเป็นนักท่องเที่ยว FIT 90% บิสซิเนส 10%
ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าที่เข้าพักที่ เคป เซียนนา 5 อันดับแรก คือ กลุ่มสแกนดิเนเวีย เกาหลี เบลเยียม สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ซึ่งสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีถึง 90% ส่วนที่เหลือ 10% เป็นคนไทย ซึ่ง “Frank” ยังอยากที่จะดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยให้เข้ามาเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ และจังหวัดไกลๆ อย่าง เชียงใหม่
แต่หากมองในเรื่องคาแรกเตอร์ของกลุ่มลูกค้า “Frank” บอกว่า กลุ่มเป้าหมายของเขาจะเป็นกลุ่มคนอายุ 30 ปีขึ้นไป เป็นคู่รักที่ต้องการเข้ามาพักผ่อน ไม่ใช่กลุ่มครอบครัว เนื่องจากจุดขายของเคป เซียนนา คือความโรแมนติก ปัจจุบัน เคป เซียนนาได้รับรางวัลติด 1 ใน 10 โรงแรมที่มีความโรแมนติก
“ที่ผ่านมาก็มีคนมาจัดงานแต่งงานที่นี่ โดยเฉพาะชาวต่างชาติก็มีชาวอินเดียเข้ามาจัดงานแต่งงานที่นี่เพราะชอบในบรรยากาศ หรือถ้าลูกค้าคนไหนต้องการให้เราจัดงานแต่งให้ก็สามารถทำได้ แต่ต้องให้เวลาเราหน่อย”
อย่างไรก็ตาม โรงแรมไม่เพียงแต่ขายกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคู่รักเท่านั้น หากแต่เป็นกลุ่มที่ต้องการมาจัดสัมมนาหรืออบรมโรงแรมก็สามารถรองรับได้ เพราะที่ผ่านมาลูกค้าที่มาจัดงานแต่งงานเชิญแขกมา 120 คน โรงแรมก็มีห้องพัก ห้องอาหารรองรับอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ ลูกค้าที่ต้องการมาพักแบบส่วนตัว โรงแรมได้สร้างบ้านพักแบบวิลล่าไว้จำหน่าย โดยจำหน่ายหลังละ 75 ล้านบาท มีจำนวน 9 หลัง ซึ่งขณะนี้จำหน่ายหมดแล้ว แต่ละหลังมีพื้นที่ 540 ตารางเมตร มีทั้ง 3 ห้องนอน และ 4 ห้องนอน โดยจุดที่ทำให้วิลล่าขายได้รวดเร็วนั้นเพราะทุกหลังจะมองเห็นทะเลหมด ซึ่งปัจจุบันหาโลเกชั่นแบบนี้ไม่ได้แล้ว
สำหรับแนวทางการทำตลาดเพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวให้เข้ามาพักที่เคป เซียนนา นั้น “Frank” จะทำผ่านเว็บไซต์ และงานท่องเที่ยวไทยต่างๆ อย่างที่ผ่านมาเคยขายห้องพักผ่านทางสมาคมโรงแรมไทย โดยนักท่องเที่ยวคนไทยถ้าเป็นช่วงไฮซีซันจะอยู่ที่ 4,800 บาท หน้าโลว์อยู่ที่ 2,800 บาท แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหน้าไฮซีซันจะอยู่ที่ 7,000 บาท ส่วนหน้าโลว์ 4,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีการทำตลาดผ่านทาง Social Network (Facebook, twitter) ได้ประมาณ 7 เดือนแล้ว ปัจจุบันมีแฟนเพจประมาณ 2,000 คน ซึ่ง Frank จะใช้กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับแฟนเพจด้วยการมีเกมให้เล่น
ด้านการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตนั้น ในมุมมองของ “Frank” มองว่า เมื่อ 2 ปีก่อนการแข่งขันในธุรกิจนี้มีความยากมากแต่ปัจจุบันถือว่าไม่ยากเท่าไหร่ โดยเฉพาะช่วงไฮซีซัน เนื่องจากโรงแรมอื่นมีจุดขายที่แตกต่างจากเคป เซียนนา
สำหรับแผนการขยายโรงแรมจะมีการเพิ่มสระว่ายน้ำอีกหนึ่งสระ เนื่องจากลูกค้าที่จะมาใช้บริการมีความต้องการใช้สระว่ายน้ำ ทำให้สระที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนแผนการขยายโรงแรมแห่งใหม่นั้นจะยังไม่ทำเพราะต้องการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งก่อน
ใส่เทคโนโลยี
เข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่
โรงแรม เดอะ แนป ป่าตอง เป็นโรงแรมที่เพิ่งเปิดให้บริการได้เพียง 1 เดือน และกำลังจะโอเพ่นซอฟต์อีกรอบหนึ่ง แม้จะเป็นโรงแรมใหม่แต่ด้วยประสบการณ์อันช่ำชองของผู้บริหาร อย่าง “สุพัตรา จารุอริยานนท์” กรรมการผู้จัดการ เดอะ แนป (The nap) ทำให้ เดอะ แนป เป็นโรงแรมที่น่าจับตามอง
ด้วยประสบการณ์ของ “สุพัตรา” ที่เคยบริหารโรงแรมศาลาไทยรีสอร์ตมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ทำให้การบริหาร เดอะ แนป ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ “สุพัตรา” โดยลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่ เดอะ แนป ปัจจุบันจะมาจากลูกค้าเก่าของศาลาไทยรีสอร์ต เนื่องจากศาลาไทยรีสอร์ตปัจจุบันปิดปรับปรุงมาได้ 2 เดือนแล้ว
โดย เดอะ แนป ได้วางกลุ่มเป้าหมายของตัวเองไว้ที่คู่รัก ครอบครัว ที่ต้องการมาพักผ่อนยาว อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ในขณะที่ศาลาไทยรีสอร์ตจะจับกลุ่มผู้สูงอายุและต้องการบรรยากาศเหมือนอยู่บ้าน
สำหรับคอนเซ็ปต์ของ เดอะ แนป คือ โรงแรมที่ให้ความรู้สึกน้อยแต่มาก (Less is More) โดยรอบบริเวณโรงแรมและห้องพัก 91 ห้องใน 5 รูปแบบ เดย์ดรีม เดอลุกซ์, มูนไลต์ เดอลุกซ์, บลูมูน สวีต, เอเทรียม พูลวิลล่า และเดอะ แนป ซิกเนเจอร์ พูลวิลล่า ที่เน้นความเรียบง่าย ใช้ของตกแต่งน้อยชิ้นเพื่อให้ความรู้สึกที่สบาย เรียบง่าย ร่วมสมัย เก๋ไก๋ แต่แฝงด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง
นอกจากนี้ ยังดึงเอาเรื่องราวของจังหวัดภูเก็ตมาใช้ในการตกแต่ง อย่าง เต่ามะเฟืองที่เป็นเต่าพันธุ์อนุรักษ์ ก็สามารถพบเห็นอยู่โดยรอบบริเวณโรงแรม หรือเลข 76 ของชื่อห้องอาหาร 76 Bar Drink & Dine มาจากรหัสโทรศัพท์ของจังหวัดภูเก็ต (076) ยังมีการนำไม้ยางมาใช้ในการตกแต่งห้องอาหาร แม้แต่วัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารก็จะใช้วัตถุดิบท้องถิ่น อย่าง ปลาทราย ปลาที่มีในภูเก็ตเท่านั้น
เดอะ แนป ยังให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยี และการเข้าถึงข้อมูลของผู้คนทั่วโลก จึงได้จัดระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ให้กับผู้เข้าพักได้ใช้ฟรี และครอบคลุมทั่วทั้งโรงแรม โดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบ Mac OS ให้กับผู้เข้าพักในห้องสมุด และอุปกรณ์ความบันเทิงที่ทันสมัย เช่น Apple TV, iPad หรือ iMac
สำหรับตลาดธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตนั้น “สุพัตรา” มองว่า หากเป็นเมื่อ 4 ปีก่อนถือว่าอยู่ในระยะที่สดใส และเติบโตสูง โดยเฉพาะในย่านป่าตองถือว่ากำลังบูม เนื่องจากต่างชาติรู้สึกว่าป่าตองเป็น World Class แต่ปัจจุบันการเติบโตของธุรกิจโรงแรมย่านนี้มีโรงแรมต่างชาติที่เป็นเชนเข้ามาเปิดจำนวนมาก รวมทั้งมีโรงแรมขนาดเล็กเกิดเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้การแข่งขันค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ดี ลูกค้าที่เข้ามาพักที่ป่าตองจะมองเรื่องราคา และโลเกชั่นของโรงแรมเป็นสำคัญ อย่างโรงแรมที่อยู่ใกล้กับใจกลางแหล่งเที่ยวมากกว่าจะได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่ชอบเที่ยวกลางคืน เพราะเดินทางใช้เวลาไม่เกิน 2-3 นาที แต่ลูกค้าบางคนก็ต้องการความสงบ โรงแรมที่อยู่ไกลจากแหล่งเที่ยวกลางคืนจะได้รับความนิยม สำหรับ เดอะ แนปถือว่าอยู่ในจุดที่ไม่ใกล้-ไกลเกินไป คือใช้เวลาแค่ 15 นาทีก็สามารถถึงใจกลางป่าตอง หรือซอยบางลาได้แล้ว
สำหรับช่องทางการทำตลาดนั้นจะใช้ฐานลูกค้าเก่าจากศาลาไทยรีสอร์ต นอกจากนี้ จะเข้าไปแนะนำตัวกับลูกค้าตามงานต่างๆ เช่น งานไทยเที่ยวไทย และจะใช้ช่องทาง Social Network ปัจจุบันมีแฟนเพจในเฟซบุ๊ก 300 กว่าแฟนเพจ
|