ทฤษฎีเตา 3 ขาของธุรกิจแฟรนไชส์ ประกอบด้วย 1.องค์ความรู้ 2.นโยบายภาครัฐ3.สินเชื่อเพื่อการลงทุน ได้มีการพูดถึงกันมาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลามากกว่า 20 ปี ของการริเริ่มธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานรัฐ บทบาทสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบธุรกิจแฟรนไชส์มีการจัดโครงการอบรมความเข้าใจรูปแบบธุรกิจ การได้รับมาตรฐานแฟรนไชส์และผลักดันช่องทางการตลาดสู่ต่างประเทศ นับเป็นเตาขาแรกที่มีความชัดเจนด้านการให้ความรู้ร่วมกับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ขณะเดียวกันเตาขาที่ 2 หรือ นโยบายของภาครัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของ “อลงกรณ์ พลบุตร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการให้ความสำคัญกับธุรกิจแฟรนไชส์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและเชื่อมต่อสู่ต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ 3 โครงการคือ Franchise Academy , Franchise Bank , กฏหมายแฟรนไชส์ที่อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี
และเตาขาที่ 3 สินเชื่อเพื่อการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ ล่าสุดธนาคารกสิกรไทยได้มีการปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์นับเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่มีสินเชื่อดังกล่าวขึ้น เท่ากับว่าทฤษฎีเตา 3 ขามีครบที่พร้อมจะขับเคลื่อนธุรกิจแฟรนไชส์ไทยจากนี้ไป
บรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ข้อมูลว่า แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ มีการขยายตัวต่อเนื่อง จากผลสำรวจพบว่า มีผู้ประกอบการแฟรนไชส์ 461 ราย แบ่งเป็นแฟรนไชส์ไทย 433 กิจการและแฟรนไชส์จากต่างประเทศ 28 กิจการ มีจำนวนสาขา 33,729 สาขา มูลค่าตลาดรวมประมาณ 135,338 ล้านบาท คาดการณ์สิ้นปี 2553 นี้จะมีจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นเป็น 532 กิจการ จำนวนสาขาเป็น 40,500 สาขา มูลค่าตลาดรวม 160,000 ล้านบาท
“แบงก์กสิกรสนับสนุนแฟรนไชส์ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและมีแพคเกจเอื้อประโยชน์มากต่อการลงทุน เพราะธุรกิจทุกประเภทไม่มีเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจเดินต่อไปไม่ได้และการที่จะมุ่งแสวงหาเงินทุนเองนั้นลำบาก นอกจากแบงก์ได้มีการร่วมมือกับหลายองค์กร สมาคมแฟรนไชส์ จะทำให้แฟรนไชส์ขยายธุรกิจไปได้อีกมาก” บรรยงค์กล่าว
ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แฟรนไชส์ส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจจะมีปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือ 1.การเข้าถึงแหล่งเงินทุน 2.องค์ความรู้การบริหารงานแฟรนไชส์ จึงเป็นที่มาของ สินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์หรือ K-SME Franchise Credit เป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์หรือแฟรนไชซี
และผู้ที่ต้องการทำธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการใหม่ จะขาดใน 2 เรื่องหลัก ๆ คือ 1.ประสบการณ์ในการทำบริหารจัดการธุรกิจ และ 2.ขาดหลักประกันในการกู้แบงก์ ทำให้เกิดเงินทุนไม่เพียงพอ
กสิกรไทยจึงคิดแพคเกจสินเชื่อ โดยแบ่งผู้ประกอบการเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ผู้ประกอบที่ไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจแฟรนไชส์ 2.กลุ่มทำแฟรนไชส์อยู่แล้วแต่ไม่เกิน 3 ปี แต่เป็นกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อ
สำหรับกลุ่มไม่มีประสบการณ์ พบว่า ผู้ทำงานมีรายได้ประจำสนใจทำธุรกิจแฟรนไชส์ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการคือเงินลงทุนเริ่มต้น และเงินทุนหมุนเวียนทำธุรกิจ เงินลงทุนเบื้องต้นที่ทางแบงก์จะให้คือเงินกู้ระยะยาว วงงินกู้สูงสุด 80% ของมูลค่าลงทุน กรณีข้อจำกัดของหลักประกันมีเงื่อนไขแต่ละประเภทให้เช่น สินเชื่อไม่มีหลักประกันหรือสินเชื่อใช้หลักประกันค้ำประกัน 50% หรือขอผ่อนชำระน้อยใน 18 เดือนแรก
ส่วนผู้มีประสบการณ์ทำธุรกิจแฟรนไชส์มากกว่า 3 ปี แบ่งเป็นสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน มีวงเงิน ODไม่เกิน 3 แสนบาทไม่ต้องมีหลักประกัน และสินเชื่อสำหรับตกแต่งร้านเงินกู้สูงสุด 1 ล้านบาทต้องมีหลักประกัน
นอกจากบริการสินเชื่อมีบริการทางการเงินบัญชีรวมมิตรกสิกรไทยเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการเป็นบัญชีรับ จ่ายผ่านธนาคาร ยังมีองค์ความรู้จัดหลักสูตรอบรมให้ผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์มาเรียนเรื่องการบริหารจัดการและวิธีการเลือกแฟรนไชซอร์
สำหรับแฟรนไชซีสนใจเข้าร่วมโครงการสินเชื่อ ต้องเป็นบุคคลที่มีเกณฑ์อายุขั้นต่ำ 25 ปีขึ้นไปที่สำคัญต้องได้รับใบรับรองจากแฟรนไชซอร์ว่าผ่านการคัดเลือกแล้ว
เบื้องต้นเจรจาเตรียมปล่อยสินเชื่อแฟรนไชซีจำนวน 20 ราย จำนวนเงินสินเชื่อต่อราย 1-12 ล้านบาท ตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยให้กับแฟรนไชส์ ใหม่ 1,500 บาทและกลุ่มที่ทำแฟรนไชส์อยู่แล้วอีก 1,500 ล้านบาท รวม 3,000 ล้านบาท
กูรูไขข้อข้องใจ
“พีระพงษ์ กิตติเวชโภคาวัฒน์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้ข้อมมูลเพิ่มเติมสำหรับแฟรนไชซีเพื่อการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์กรณีขอสินเชื่อแบงก์
Q : วงเงินที่กสิกรปล่อยกู้แฟรนไชซีใหม่หนึ่งรายเพียงพอกับการดำเนินธุรกิจหรือไม่
แบงก์ปล่อยกู้แฟรนไชซีวงเงิน 1-12 ล้านบาทต่อราย ซึ่งโฟกัสกลุ่มคนทำงาน ที่ทำงานมาระดับหนึ่งแล้วต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งคนกลุ่มนี้อายุเฉลี่ยที่ 25 ปีทำงานมาระยะหนึ่งมีเงินเก็บเองอยู่แล้ว 500,000-600,000 บาท แต่ยังขาดเงินลงทุนอีกจำนวนหนึ่งก็จะสามารถลงทุนธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จากการเก็บสถิติพบว่ามีมากถึง 300,000 คนทั่วประเทศ การที่แบงก์ปล่อยสินเชื่อจำนวนเงินต่อรายอีกไม่มากให้คนกลุ่มนี้ เท่ากับว่าเป็นการปลดล็อคทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มสูงขึ้นมาก
ยกตัวอย่างตามเงื่อนไขของแบงก์ เช่น แฟรนไชซีที่ไม่มีประสบการณ์ต้องการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์รายหนึ่งมูลค่าลงทุน 1 ล้านบาท แบงก์ให้สินเชื่อ 80% ของเม็ดเงินลงทุน เท่ากับว่าแฟรนไชซีรายนั้นต้องนำเงินฝากแบงก์ 2 แสนบาท แบงก์จะให้เงินลงทุนมา 1 ล้านบาทซึ่งเงินก่อนนี้แบงก์จะจ่ายให้กับแฟรนไชซอร์หรือเจ้าของธุรกิจที่แฟรนไชซีไปลงทุน และทุกเย็นจะมีการนำเงินจากยอดรายได้ต่อวันโอนเข้าบัญชีแบงก์
Q : กรณีที่แฟรนไชซีใหม่ไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ วิธีการใดที่จะนำเงินมาชำระหนี้แบงก์ได้
หากไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจไม่ว่าปัจจัยใดๆ ก็ตามทำให้ไม่มีเงินมาชำระแบงก์ได้ แฟรนไชซอร์หรือเจ้าของธุรกิจจะต้องนำอุปกรณ์ภายในร้านในการตกแต่ง สินค้า บริการ เพื่อขายทอดตลาดแล้วนำมามาชำระแบงก์ตามมูลค่าตามมูลค่าสินทรัพย์หรือมูลค่าตามบัญชีกู้ยืมหรือในอีกกรณีหนึ่งแฟรนไชซอร์สามารถเข้ามาสวมสิทธิ์และดำเนินการกิจการต่อในทำเลนั้นๆ
Q : กลุ่มแฟรนไชซีที่ประสบการณ์หรือทำธุรกิจมากกว่า 3 ปี ระยะเวลาของการทำธุรกิจสามารถบ่งบอกอะไรได้บ้าง
หากมองในมุมของการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ระยะเวลา 3 ปีคือค่าเฉลี่ยของการคืนทุนในการทำธุรกิจ เท่ากับว่าการปล่อยสินเชื่อให้กับแฟรนไชส์ที่ทำธุรกิจมากกว่า 3 ปีขึ้นไป แบงก์จะลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้เพราะในปีต่อไปคือการสร้างรายได้ สร้างกำไร และคิดที่จะขยายกิจการต่อในสาขาต่อไป หรือเป็นเงินหมุนเสียนหรือใช้ในการตกแต่งร้าน
|