Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2533
เบื้องหลังธรรมาขายสามชัยให้ธนสยาม             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
 


   
search resources

ธนสยาม, บง.
Stock Exchange
Electronic Components
ธรรมา ปิ่นสุกาญจนะ
สามชัย, บมจ.




ในวัย 62 ปีวันนี้ ธรรมา ปิ่นสุกาญจนะ แก่เกินไปที่จะบริหารกิจการจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ของบริษัทสามาชัยหรือไม่?

บางคนกล่าวว่าปัญหาเรื่องวัยไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับนักบริหารทุกวันนี้ขอแต่เพียงให้มีความคิดโลดแล่นก้าวทันความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ มีทักษะความชำนาญในการบริหารก็เพียงพอแล้ว ดูแต่รัฐบาลนั่นปะไร ไม่ใช่ผู้พ้นวัย 60 หรอกหรือ ที่นั่งบริหารอยู่ในทุกวันนี้?

กระนั้นก็ตามปัญหาเรื่องวัยอาจจะเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง สำหรับธรรมาเมื่อเขาขายกิจการที่ตนเองเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและนั่งบริหารมานานกว่า 30 ปี เพราะนอกเหนือจากเขาจะอายุมากแล้ว ผู้บริหารรุ่นราวคราวเดียวกับเขาก็อายุมากพอ ๆ กัน

และที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ เขาไม่มีผู้สืบทอดกิจการ ครั้นจะหามืออาชีพเข้ามาทำงานหรือ ก็ คงจะต้องมีการรื้อโครงสร้างการบริหารกันมากมายใหญ่โต ถึงแม้สามชัยจะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มานานกว่า 10 ปีก็ตาม แต่ผู้ใกล้ชิดและนักวิเคราะห์ ต่างรู้ดีว่า สามชัยยังยึดถือโครงสร้าง ผู้ถือหุ้นและการบริหารแบบครอบครัวไว้อย่างเหนียวแน่นเพียงใด!!

ปี 2496 ชาวจีน 5 คนร่วมกันก่อตั้งบริษัทสามชัย จำกัด เพื่อทำธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายประเภทและยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องคำนวณเลข และอื่น ๆ อีกมากมาย

2 ใน 4 ของกลุ่มผู้ก่อตั้งได้ขอเปลี่ยนชื่อเป็นไทยในเวลาต่อมาว่า ธรรมา และ ดิเรก ใช้นามสกุลเดียวกันว่า ปิ่นสุกาญจนะ ซึ่งนั่นหมายความว่ากิจการของสามชัยเป็นของตระกูล ปิ่นสุกาญจนะมาแต่เริ่มแรก โดยมีทุนจดทะเบียนเมื่อตั้ง 1 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 1,000 หุ้น ๆ ละ 1,000 บาท แบ่งชำระเมื่อขอจดทะเบียน 400,000 บาท

บริษัทสามชัยในยุคแรกเป็นผู้ค้าอะไหล่สารพัดชนิด ครั้นต่อมาได้เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรทัศน์ขาวดำ ของโซนี่และเอ็นอีซี รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทุกประเภทของโซนี่ เครื่องคำนวณโคแวค โทรศัพท์และอุปกรณ์ของโอกิ และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของผลิตภัณฑ์โซนี่และเอ็นอีซีนั้น ว่ากันว่า ผู้ที่นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในยุคแรก ๆ หาใช่ธรรมาแห่งสามชัยไม่ แต่เป็นสรร อักษรานุเคราะห์ประธานกรรมการบริษัท จาตุรงคอาภรณ์ (1923) จก.ซึ่งเป็นตัวแทนขายอุปกรณ์โทรคมนาคมสมัยใหม่หลายอย่างในปัจจุบัน และยังเป็นประธานและรองประธานของอีกหลายบริษัท อาทิเช่นบริษัทพัฒนานาฬิกา จก.ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาเพื่อส่งออกไปประกอบตัวเรือนในสวิสแต่บริษัทไทยปิโตรเคมิคัล อินดัสตรี (ทีพีไอ) เป็นต้น

สรรเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า การที่ได้เป็นเอเยนต์ขายโซนี่ก็เพราะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ ๆ สรรเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อติดต่อหาธุรกิจการค้าตามคำแนะนำของเพื่อนในสถานทูตสหรัฐที่บอกกับเขาว่า การจะทำการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้นควรติดต่อกับทางญี่ปุ่นจะเหมาะกว่า สรรจึงไปที่สถานทูตญี่ปุ่นและขอคำแนะนำ ซึ่งก็ได้รับการแนะนำว่าควรจะไปเจรจากับเอ็นอีซี ส่วนโซนี่นั้น สรรเล่าว่า โซนี่เป็นฝ่ายมาติดต่อเขาเอง เพราะรู้ว่าเขาดำริจะขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไทย

สรรกล่าวว่า "การทำตลาดในระยะแรกยากพอสมควรเพราะเมื่อผม เริ่มนำทรานซิสเตอร์เข้ามานั้น ผมเป็นรายแรกที่ขายในตลาดราคามันสูงกว่าราคาตลาดทั่วไปในเวลานั้นมากแล้ว หลังจากนั้นก็มีเนชั่นแนลเข้ามา ซึ่งราคาสินค้าเนชั่นแนลถูกกว่าเราถึง 50% แต่ว่าเราก็ยังขายได้เพราะจับกลุ่มลูกค้าต่างกัน"

ทั้งนี้สินค้าของโซนี่ราคาค่อนข้างแพงกลุ่มลูกค้าที่ใช้สินค้านี้ ก็จำกัดวงอยู่ในเมืองหลวงและกลุ่มผู้มีอันจะกิน ส่วนเนชั่นแนลที่นำมาในระยะหลังนั้น หันไปจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางและตามหัวเมืองใหญ่ สรรเล่าว่าขณะที่เขากำลังขายโซนี่ไปได้ด้วยดีนั้น ปรากฏว่าทำมาก็ดอดไปติดต่อกับโซนี่มีการตกลงทำสัญญาขอเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวและจะขายให้ได้ใน ปริมาณที่มากกว่าสรรขาย

สรรกล่าวว่า "ที่ผมเอาโซนี่เข้ามานี่ ผมไม่ได้เซ็นสัญญาในการเป็นเอเยนต์ มันเป็นเพียงการตกลงกันด้วยวาจา แต่ผมมีปัญหาอยู่หน่อยหนึ่งตรงที่ว่าผมเอาของเอ็นอีซีเข้ามาด้วย เป็นจำพวกเครื่องกระจายเสียง ทีวี วิทยุติดต่อซึ่งผมก็มาทำตลาดได้ในส่วนของหน่วยงานราชการ กรณีของเอ็นอีซีนี่พอผมทำตลาดให้เขาเสร็จ เขาก็มาขายเองโดยไม่ได้บอกผม และเขายังพยายามให้ผมขายวิทยุซึ่งก็เหมือนกับโซนี่ ผมทำของโซนี่อยู่แล้วจึงไม่ขายให้เอ็นอีซีแล้วตอนหลังโซนี่มารู้ว่าผมเป็นเอเยนต์ให้เอ็นอีซีด้วย ก็เลยถอนผมออกแล้วไปจับมือกับสามชัยที่เสนอตัวเข้ามาในจังหวะเดียวกัน"

สรรย้อนอดีตว่าถึงแม้สินค้าหลายยี่ห้องจะหลุดจากมือเขาไป จะด้วยเหตุทีมีคนมาติดต่อกับทางบริษัทแม่ด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่าที่เขาจะทำได้ หรือการที่บริษัทแม่เข้ามดำเนินการขายเองก็ตาม เขาไม่ได้เสียใจอะไร เพราะมันก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจที่ต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือกันอยู่ตลอดเวลา อีกประการหนึ่งปัญหาในการจัดจำหน่ายสินค้าเท่าที่เขาประสบมามีความลำบากยุ่งยากไม่น้อย ไหนจะมีเรื่องหนี้สูญ เรื่องการว่าจ้างพนักงานจำนวนมากเพื่อทำตลาดในต่างจังหวัด ปัญหาจุกจิกต่าง ๆที่เกิดขึ้นทำให้เขาเกิดความเบื่อหน่ายพอควร อย่างไรก็ดี สรรก็รู้สึกภูมิใจที่เขาได้เป็นผู้ริเริ่มทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นแรก ๆ คนหนึ่งของเมืองไทย

ในส่วนของสามชัยนั้น เมื่อได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าโซนี่แล้วดูเหมือนหนทางกาค้าของสามชัยก็ดีขึ้น เพราะสามชัยไม่ได้จำหน่ายแต่สินค้าโซนี่เพียงอย่าเดียว แต่มีสินค้ายี่ห้ออื่นๆ ด้วยคือเอ็นอีซี โอกิ โคแวค

อย่างไรก็ตาม ปัญหาประการหนึ่งของสามชัยคือสินค้าที่นำมาขายค่อนข้างจะเป็นสิค้าราคาแพงนั่นหมายความว่า กลุ่มลูกค้าของบริษัทก็จะจำกัดวงอยู่ในตลาดระดับบนที่มีกำลังซื้อเท่านั้น และแม้ว่าธรรมาจะได้เปรียบอยู่บ้างเพราะรับช่วงการทำตลาดต่อจากสรร ซึ่งในเวลานั้นสินค้าโซนี่ดูจะติดตลาดระดับบนและได้รับความนิยมพอประมาณแต่ปัญหาก็ตามมาอีกว่าหลังจากพ้นสภาพการบุกเบิกแล้วนั้น สิ้นค้าของบริษัทอื่นๆ ก็พากันทยอยเข้ามาแข่งขันในตลาดเสรีแห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นเนชั่นแนล ชาร์ปและค่ายทางยุโรป

ธรรมาย้ายสำนักงานจากบริเวณสี่พระยามายังย่านวังบูรพาภิรมย์ แหล่งการค้าสำคัญในเลานันและเปิดแผนกบริการซ่อมด้วย นอกจากนี้ยังได้มาเช่าตึกแถวริมถนนพระราม 1 บริเวณสยามสแควร์เพื่อทำห้องโชว์สินค้าโซนี่ในปี 2513 แม้ว่าสามชัยจะขายสินค้าโซนี่ในระดับที่พออยู่ตัว แต่กิจการค้าประเภทนี้ก็ต้องการทุนหมุนเวียนสูงพอสมควร เพราะรายได้กับรายจ่ายมักจะเข้ามาในจังหวะที่เหลื่อมล้ำกัน ทั้งนี้สามชัยไม่ได้ขายแบบใช้สินเชื่อก็จริง แต่กว่าที่จะขายสินค้าแต่ละชิ้นได้ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ขณะที่ในการสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายนั้น ต้องสั่งเข้ามาเป็นจำนวนมากและจ่ายเงินก้อนโต้

ปี 2517 สามชัยดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งแรกจากเดิม 1 ล้านบาท เป็น 3 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3,000 พันหุ้น ๆ ละ 1,000 บาท โดยส่วนที่เพิ่มขึ้น 2,000 พันหุ้นนั้น ตระกูลปิ่นสุกาญจนะ ซื้อไว้ทั้งหมดเป็นเงิน 2 ล้านบาท

ครั้นถัดมาไม่นานนักคือต้นปี 2518 สามชัยก็เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก รวมเป็น 5 ล้านบาท โดยผู้ซื้อหุ้น เพิ่มทุนไปคือธรรมา ซึ่งได้ให้เหตุผลการเพิ่มทุนว่า "สินค้าที่บริษัทสั่งจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายมีราคาต้นทุนสูงขึ้น กว่าแต่ก่อนมาก บริษัทจำเป็นต้องเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารและยืมเงินทดรองจ่าย จากกรรมการบริษัทมาใช้หมุนเวียนเป็นจำนวนมากเพราะเงินทุนของบริษัท 3 ล้านบาท ไม่พอใช้จ่ายหมุนเวียน"

หนทางการค้าของบริษัทจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างสามชัยดูจะไม่แจ่มใสเท่าที่ควร ธรรมาแก้ปัญหาเรื่องการขาดเงินทุนหมุนเวียนโดย การเปิดวงเงินเกินบัญชีกับธนาคาร ขณะเดียวกันก็เอาเงินส่วนตัวมาทดรองจ่ายไปก่อน มันเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดูราวกับไม่ได้ใช้กลยุทธ์การจัดการทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย

ปี 2506 ธรรมาตั้งบริษัทขึ้นมาแห่งหนึ่ง ใช้ชื่อว่า "ปิ่นรังษี" เพื่อให้นำเข้า - ส่งออก สินค้าทุกชนิดแต่ทำจริง ๆ ก็เป็นจำพวกเครื่องรับส่งวิทยุ - โทรทัศน์ เครื่องบันทึกเสียงและอุปกรณ์ เครื่องเล่นจานเสียง เครื่องบันทึกภาพ และเครื่องเสียงพร้อมอุปกรณ์

ปิ่นรังษีมีทุนจดทะเบียนเมื่อตั้ง 1 ล้านบาท ดำเนินการเพิ่มทุนเรื่อยมาเพราะจำเป็นที่ต้องขยายสินค้านำเข้าหลายชนิด กระทั่ง ปี 2531 มีทุนจดทะเบียนรวม 7 ล้านบาท กระนั้นก็ยังขาดทุนสะสมอยู่เป็นประจำทุกปี (ดูตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นและตัวเลขสำคัญทางการเงินของปิ่นรังษี)

ธรรมาตั้งปิ่นรังษีขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยเหลือเจือจาน สามชัยด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดระดับล่าง เอาสินค้าที่มียี่ห้อไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปเข้ามาขาย หรือเป็นผู้นำเข้าและขายให้สามชัยอีกทอดหนึ่งก็ตาม แต่ผลการดำเนินงานของปิ่นรังษีก็ไม่ใคร่น่าพอใจนัก ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาของสามชัยด้วยวิธีการเฉพาะกิจคือ การเพิ่มทุนก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาซักเท่าไหร่ คงมีเพียงเงินทุนหมุนเวียนที่เอามาใช้จ่ายไปวัน ๆ หนึ่ง อย่างคล่องตัวมากขึ้นเท่านั้น

ว่ากันไปแล้ว การแก้ปัญหาด้วยวิธีการเฉพาะหน้าอย่างที่ธรรมาทำนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นอยู่ แต่หลังจากนั้น จะมีแผนการอะไรรองรับอยู่อีกหรือไม่

ปัญหาของสามชัยเป็นปัญหาทั้งในเรื่องของการขาดเงินทุนหมุนเวียน การทำตลาดรองรับสินค้าที่นำเข้ามาขาย สินค้าที่นำเข้ามาจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม ต้นทุนก็สูง เป็นปัญหาในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน สินค้าแต่ละชิ้นต้องใช้เวลาในการวางตลาด กว่าที่จะแปรกลับเป็นตัวเงินคืนมานั้นเป็นสัปดาห์ได้ซึ่งเรื่องนี้ ก็ทำให้เกิดลักษณะงูกินหางขึ้นจนเกิดการขัดสนเงินทุนหมุนเวียนดังที่กล่าวมา

ณ ขวบปีที่สามชัยเพิ่มทุนจดทะเบียนเพราะปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนนั้น ธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมไทย ก็เกิดช่องทางการระดมทุนแบบใหม่ขึ้น ปี 2518 เป็นปีที่เริ่มมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จุดประสงค์ลำดับแรกในเวลานั้นก็เพื่อจะให้เป็นแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ ส่งเสริมการออมและเป็นช่องทางการระดมทุนในประเทศ

เป้าหมายเรื่องการระดมทุนไปประเทศ เวลานั้นยังเป็นเรื่องห่างไกลจากความเป็นจริงแม้ว่ามันจะเป็นเนื้อหาสำคัญของการมีตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นมาก็ตาม ทั้งนี้ธุรกิจต่าง ๆ ยังนิยมการกู้ยืมเงินจากธนาคารกันมากกว่า การเรียนรู้ช่องทาง การระดมทุนแบบใหม่ จึงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ดีดูเหมือนสามชัยจะเรียนรู้ช่องทางแบบใหม่ได้ในเวลาไม่นานนัก ปลายปี 2521 ธรรมาจัดการประชุมวิสามัญขึ้นสองครั้ง ผลที่ได้จากการพูดคุยกันเป็นพิเศษคือให้มีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าขึ้น จากที่ตราไว้หุ้นละ 1,000 บาทเป็นหุ้นละ 100 บาท และให้เพิ่มทุนหุ้นสามัญอีก 25 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียนทั้งหมด 30 ล้านบาท โดยความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ธรรมามอบหมายให้บริษัทพัฒนกิจ จก. และบริษัทสินอุตสาหกรรมไทย จก. (ชื่อในเวลานั้น) เป็นผู้จัดการการค้ำประกันการจำหน่ายหุ้นครั้งนี้

ในจำนวนหุ้นทั้งหมด 250,000 หุ้น 160,000 หุ้น ให้ขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 5 หุ้นเดิมต่อ 16 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 100 บาท ส่วน 90,000 หุ้นที่เหลือแล้วแต่กรรมการจะจัดสรร ซึ่งก็ปรากฏว่า ได้มีการจัดสรร 70,000 หุ้น ขายให้ประชาชนทั่วไปในราคาหุ้นละ 255 บาท อีก 20,000 หุ้นขายให้พนักงาน ลูกค้าและผู้มีอุปการคุณของบริษัทในราคาหุ้นละ 240 บาทในคราวเดียวกัน

เห็นกันอยู่ชัด ๆ ว่า งานนี้สามชัยได้กำไรจากพรีเมี่ยมมากถึง 13.65 ล้านบาท ขณะเดียวกันผู้บริหารกลุ่มเดิมก็สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่และยังคงเป็นผู้ถือหุ้นส่วนข้างมากอยู่ด้วยสัดส่วน 53.3%

นับว่าธรรมาสบโชคโดยแท้ในโอกาสที่มีตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นในจังหวะนี้พอดี อย่างไรก็ตามกว่าที่ธรรมาจะเอาบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ก็ล่วงไปถึงปลายปี 2523 โดยเริ่มด้วยการเป็นหลักทรัพย์รับอนุญาตก่อน แล้วในปลายปีถัดมาจึงเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

ขณะนั้นสามชัย ยังเป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของโซนี่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย กลับมีสินค้าอื่นๆ เพิ่มเข้ามา คือเป็นตัวแทนจำหน่ายตู้เย็น PHLICO โทรศัพท์ OKI และเทเลคอล

เมื่อธรรมาระดมทุนจากการจำหน่ายหุ้นและเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว เขาก็เริ่มขยายงานโดยพยายามวางรากฐานการผลิตขึ้นระหว่าง ปี 2521 - 2523 สามชัยได้ร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ดังนี้

- บ.เดลต้า คอนโซลิเดทเต็ด อินดัสตรีส์ จก. จำนวน 43,616 หุ้นหรือ 14.54% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 4,361,600 บาท

- บ.โฮมอิเล็กโทรนิกส์ จก. จำนวน 21,000 หุ้นหรือ 42% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 2,100,000 บาท

- บ.คอนเซฟชั่น อินดัสตรีส์ จก. จำนวน 20,000 หุ้น หรือ 40% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 2,000,000 บาท

นอกจากนี้ ธรรมายังเข้าไปถือหุ้น ในบ.ไตรสตาร์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตซื้อขาย นำเข้า - ส่งออก โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องบันทึกเสียง และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้านานาชนิด โดยถือไว้มากกว่า 50% ในปี 2525 และมอบหมายให้ลูกสาวคือ อัจฉราวรรณ ปิ่นสุกาญจนะ เป็นกรรมการผู้จัดการ

นั่นชี้ให้เห็นว่า ความคิดที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้สามชัยเปลี่ยนนโยบายจากที่เป็นผู้จัดจำหน่าย สินค้านำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า หันมาทำการผลิตภายในประเทศแทน โดยการร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นก็มีส่วนอย่างมากที่ทำให้สามชัยคิดหาฐานการผลิตเอง

ทั้งนี้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทยมาจากญี่ปุ่นเสียมากกว่า 70% แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือ เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีความเข้มแข็งอย่างมาก เงินเยน มีค่าแข็งขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในญี่ปุ่นสูงขึ้นด้วย บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากต้องเปลี่ยนนโยบายการส่งออกโดยตรง มาเป็นการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ในจังหวะนี้ บริษัทเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ได้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทย

บริษัทโซนี่คอร์ปฯซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าให้สามชัยก็มีนโยบายเช่นนี้ด้วย หมายความว่าการที่เงินเยนมีค่าแข็งขึ้นส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นต้องออกมาตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนโดยเฉลี่ย ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่ามาก นอกจากนี้ก็ยังส่งผลกระทบให้บริษัทเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทย เปลี่ยนนโยบายไปตาม ๆ กัน คือต้องหันมาลงทุนทางด้านการผลิต และการประกอบชิ้นส่วนเอง

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนโชคจะไม่เข้าข้างธรรมาสักเท่าไหร่ แม้จะเปลี่ยนยุทะวิธีแล้วแต่ธรรมก็ยังต้องพึ่งพาสิ้นค้านำเข้าอีกหลายอย่าง เพราะอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์หลายชิ้นยังต้องมีการนำเข้าเพื่อเอามาประกอบในโรงงานทั้งหลายที่ร่วมทุนไว้ นั่นเป็นเหตุให้ธรรมต้องเจอปัญหาเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเถ้าแก่ห้างสามชัยรายนี้ก็ไม่ได้มีการเตรียมตัวต่อปัญหานี้ตาอย่างใด

สามชัยประสบการขาดทุนจากการลดค่าเงินบาทและอัตราแลกเปลี่ยนเงินในแต่ละปีเป็นจำนวนหลายแสนบาท เฉพาะปี 2527 ตัวเลขขึ้นสูงถึง 4.70 ล้านบาท

อีกปัญหาหนึ่งที่น่าจะมีการระวังป้องกันไว้สำหรับบริษัทที่ทำการค้าเกี่ยวเนื่องกับการนำเข้าส่งออกคือเรื่องการประกันสินค้า สามชัยดูเหมือนจะไม่ตระหนักในเรื่องนี้ เมือเกิดไฟไหม้สิ้นค้าที่เก็บอยู่ในโกดังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย สามชัยต้องสูญเงินถึง 1.2 ล้านบาทเมื่อปี 2525 - 2526 ยังต้องใช้จ่ายเงินเพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาการท่าเรือฯอีกต่างหาก หรือในปี 2530 ก็ยังเจอสินค้าไฟไหม้อีกทำให้สูญเงินไปเกือบล้านบาท

ส่วนในเรื่องของการลงทุนเพื่อการผลิตก็ดูราวกับว่าสามชัยจะไม่ได้ใส่ใจในการดูแลการผลิตเท่าที่ควร หลังจากร่วมทุนด้วยไม่กี่ปี สามชัยต้องถอนตัวออกในสภาพที่ขาดทุ่นย่อยยับ ผลประกอบการของบริษัท 3 แห่งแรกที่สามชัยร่วมลงทุนด้วยเกิดขาดทุนอย่างมาก ๆ ปลายปี 2526 สามชัยประกาศขายเงินลงทุนในบริษัท คอนเซฟชั่น อินดัสตรีส์และโฮม อีเล็กโทรนิกส์ ซึ่งแม้จะไม่สามารถขายได้ในราคาตามมูลค่าตลาดขณะนั้น ก็ให้ขายในราคาไม่ต่ำกว่าราคาทุนหุ้นละ 100 บาท

อย่างไรก็ตาม สามชัยอ้างว่าการที่ต้องขายเงินลงทุนในสองบริษัทดังกล่าว เพราะเป็นการขัดกับสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายสิค้าที่สามชัยมีกับโซนี่ในญี่ปุ่น

ส่วนบริษัท เดลต้า คอนโซลิเดทเต็ดฯก็หยุดดำเนินกิจการชั่วคราวในปี 526 เพราะเกิดการขาดทุนอย่างมโหฬาร ได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงโครงสร้างและการดำเนินงาน แต่ปรากฏว่าไม่เป็นผล ปีต่อมาจึงมีการขายทรัพย์สินซึ่งก็ได้จำนวนต่ำกว่าราคาตามบัญชี ในที่สุดสามชัยจึงตัดเงินลงทุนในเดลต้า คอนโซลิเดทเต็ดฯออกทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าเงินลงทุนจำนวน 4.361 ล้านบาทสูญไปโดยไม่ได้อะไรเลย

ความล้มเหลวในการลงทุนเพื่อการผลิตใน 3 บริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นบทเรียนที่ดีให้แก่สามชัยแม้แต่น้อย ธรรมยังคงทุ่มทุนลงไปในไตร-สตาร์ฯด้วยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในปี 2528 และ 2529 จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 64.58 % (ดูตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ไตร-สตาร์อุตสาหกรรม)

สามชัยเริ่มซื้อสินค้าจากไตร-สตาร์ฯตั้งแต่ปี 2526 เป็นมูลค่าปีหนึ่งหลายสิบล้านบาท เฉพาะในปี 2529 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 130.37 ล้านบาท โดยในแต่ละปีมียอดค้างชำระเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการให้กู้เป็นเงินทอรองจ่ายแก่ไตร-สตาร์ฯด้วย

ไตร-สตาร์ฯจึงไม่ใช่แต่เพียงผู้ผลิตสินค้าป้อนให้สามชัยจัดจำหน่าย แต่ยังเป็นเจ้าหนี้-ลูกหนี้เสร็จสรรพในตัว !!

นอกจานี้ไตร-สตาร์ก็หนีไม่พ้นวงจรธุรกิจแบบเดียวกับสามชัย คือมีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินเป็นประจำ และในแง่ของผลประกอบการก็ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ เมื่อสิ้นปี 2531 ไตร-สตาร์ฯมีการขาดทุนสุทธิก่อนรายการพิเศษ 4.65 ล้านบาท แต่เมื่อนำมาเฉลี่ยกับรายการพิเศษที่ไม่ได้เกิดจากผลประกอบการ แต่มาจากกำไรที่ได้จากการขายทรัพย์สินก็ทำให้มีกำไรสุทธิเป็น 15.54 ล้านบาท ทว่าเมื่อหักขาดทุนสะสมแล้ว เหลือกำไรสะสมไว้เพียง 8.35 ล้านบาทเท่านั้น (ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินของบริษัทไตร-สตาร์อุตสาหกรรม)

ครั้นในปี 2532 ไตร-สตาร์ฯยังคงมีผลประกอบการย่ำแย่ ค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้และเกิดขาดทุนสุทธิในปีนี้อีก 5.19 ล้านบาท แม้ จะมีกำไรสะสมยกมาจากปี 2531 แต่เมื่อหักคาภาษีเงินได้ฯแล้วก็กลายเป็นขาดทุนสะสมไปอีก

เมื่อสิ้นธันวาคม 2532 นั้น ไตร-สตาร์ฯมีผลดำเนินงานขาดทุนต่อหุ้น 32.48 บาท !!

ระหว่างปี 252 -2529 ที่สามชัยประสบการขาดทุนติดๆกันนั้น (ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินของบริษัทสามชัย) วงการเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมก็ประสบปัญหาไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน สามชัยได้รับผลกระทบมากกว่าใครอื่นเพราะมีสินค้าของโซนี่เป็นสินค้าหลัก ซึ่งก็มีปัญหาต่อเนื่องมาจากการที่สินค้าเครื่องเล่นวีดีเทปBATAMAX ของโซนี่ไม่ประสบความสำเร็จในการขายแม้แต่น้อย ที่หนักยิ่งไปกว่าก็คือค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งตัวสูงขึ้นเรื่อยๆเป็นตุให้รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาท และสามชัยได้รับผลกระทบอย่างแรงเพราะยังพึ่งพิงสินค้าของโซนี่แม้สิ้นค้าบางส่วนจะพยายามซื้อจากบริษัทผู้ผลิตในประเทศก็ตาม

โซนี่ คอร์ปฯตัดสินใจเขามาทำตลาดในประเทศไทยเองในปี 2530 โดยเริ่มเข้ามาเป็นสนง. ประสานงาน ขณะเดียวกันก็ให้คำปรึกษาในการปรับปรุงกำดำเนินงานของสามชัย และได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการโฆษณาสินค้า

ระหว่างนั้นเองที่มีข่าวลือกระหึ่ม ไปทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่าจะมีการรวมทุนระหว่างโซนี่ คอร์ปและสามชัย เป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องขึ้นเครื่องหมาย NP เนื่องจากราคาหุ้นสามชัยมีการเปลี่ยนแปลงมาก คือพุ่งขึ้นสูงถึง 261 บาทขณะที่คาราต่ำสุดในปี 2530 อยู่ที่ 62 บาทเท่านั้น

ในที่สุดสามชัยได้แถลงในต้นปี 2531 ว่ามีการตั้งบริษัทโซนี่คอร์ปอเรชั่นขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าโซนี่ในประเทศไทย โดยสามชัยถือหุ้นในโซนี่คอร์ปฯด้วย 25 % เป็นมูลค่าประมาณ 6.5 ล้านบาท ทั้งนี้สามชัยรับเงินค่าชดเชยจาการโอนธุรกิจทางการค้าจากโซนี่เป็นจำนวน4.9 ล้านบาท

การที่สามชัยสูญเสียสินค้าโซนี่ไปทั้งหมดนั้นจะมองว่าเป็นผลในด้านลบทั้งหมดก็ไม่ถูกต้องนัก สิ้นค้าโซนี่มีลักษณะพิเศษแต่ไหนแต่ไรมาที่จับกลุ่มลูกค้าระดับบนหรือผู้มีอันจะกิน ซึ่งก็ก่อปัญหากับสามชัยไม่น้อยหากจะขยายไปจำหน่ายสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่กลุ่มตลาดเดียวกัน

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่สามชัยไม่อาจขยายการจำหน่ายสินค้าอื่นๆได้น่าจะมาจากการมีข้อตกลงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าโซนี่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยเป็นสำคัญ

ตลอดเวลาที่บริหารสามชัยมาหลายสิบปีรวมไปถึงกิจการอื่นๆ ที่สามชัยเข้าไปร่วมทุนด้วยนั้นธรรมไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้แม้แต่น้อย จะว่าไปธรรมาดูไม่ค่อยสันทัดการบริหารกิจการที่ต้องแข่งขันกันอย่างหนักเช่นตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเลย

การที่ "ผู้จัดการ" กล่าวอ้างเช่นนี้ ไม่เพียงแต่พิจารณาความไม่สำเร็จของสามชัย แต่ยังดูลึกลงไปในลักษณะการดำเนินงานของบริษัทนี้ด้วย

ปัญหาเริ่มแรกของสามชัยในเรื่องการขาดเงินทุนหมุนเวียนยังเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตลอด กระทั่งธรรมาเอาสามชัยเข้าตลาดหลักทรัพย์ เขาก็มีโอกาสที่จะระดมทุนจากตลาดฯได้หลายทาง แต่ปรากฏว่าสามชัยไม่เคยแม้แต่จะเพิ่มทุนสักครั้งตลอดเวลา 10 ปีที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯ

ธรรมายังคงใช้วิธีแสวงหาเงินทุนในสไตล์เดิมไม่เปลี่ยน หมายความว่าธรรมายังใช้วงเงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้ยืม และทรัสรีซีทจากธนาคารในประเทศหลายแห่ง โดยเมื่อปี 2525 เงินกู้เหล่านี้มีมูลค่ารวม 175 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีละ 15.5 % - 18.75 % โดยมีที่ดินและอาคารบริษัทและกรรมการบริษัทค้ำประกัน ทั้งนี้ที่ดินและตัวอาคารดังกล่าวก็ติดภาระจำนองกับธนาคารในประเทศ 2 แห่งคิดเป็นมูลค่า เพียง 11 ล้านบาทเท่านั้น

นี่เป็นสไตล์การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่แปลกสำหรับบริษัททั่วไป แต่ถือเป็นเรื่องประหลาดมากสำหรับบริษัทที่มีช่องทางระดมทุนแบบไม่ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ปัญหาตามมาว่าหากสามชันต้องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ สามชัยซึ่งหมายถึงคณะผู้บริหารที่มีธรรมากุมบังเหียนอยู่ มีความสามารถเพียงพอหรือไม่ในการทำรายได้และผลกำไรคืนกลับให้นักลงทุน?

คนในวงการเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าธรรมาเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัวอย่างมาก ๆ ไม่ค่อยมีใครได้เห็นเขาในงานสังคมธุรกิจใดๆ นัก แทบจะไม่พบเลยด้วยซ้ำไป แม้ว่าเขาจะสนใจให้ความช่วยเหลืองานต่าง ๆในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอย่างมาก ถึงขั้นที่ว่าได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานสภาอุตฯคู่กับอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการบริหารสหยูเนี่ยนคนปัจจุบัน และพ่ายแพ้ไปในปี2533 นี้ก็ตาม

นอกจากสนใจทำงานให้แก่วงการอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในสภาอุตฯแล้ว ธรรมายังฝักใฝ่ชอบพอกับการเมืองเอามากๆ ถึงขั้นที่คนในวงการรู้ดีว่าเขาหลงใหลเสน่ห์การเมืองของพรรคชาติไทยอย่างแน่นแฟ้น ไม่คิดเปลี่ยน โดยเฉพาะในสายตาของ ประมาณ อดิเรกสาร รมต. อุตสาหกรรมปัจจุบัน

หลายคนจึงมีความเห็นว่าธรรมาขายหุ้นส่วนข้างมากในสามชัยครั้งนี้ เพื่อที่จะหันไปสู่เวทีการเมืองอย่างเต็มตัว หลังจากที่ให้ความสนับสนุนและเป็นผู้ดูอยู่เบื้องหลังนานพอสมควร !!

ธรรมาจะก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองหรือไม่เป็นเรื่องที่เจ้าตัวเท่านั้นจึงจะบอกได้ แต่ "ผู้จัดการ" ไม่สามารถจะนึกคิดไปได้ว่า ชายวัยเกษียณอายุที่เพิ่งวางมือจากวงการธุรกิจพร้อมกับบรรดาผู้บริหารอาวุโส ในวัยวุฒิเท่า ๆ กัน ขณะที่ลูกสาวทั้งสามและหมอพเยาว์ ผู้เป็นภรรยาได้โยกย้ายไปตั้งรกรากในสหรัฐนานแล้ว ผู้นี้จะแสวงหาความสุขในบั้นปลายชีวิตที่สนามการเมืองไทยละหรือ ??

วิธีที่ธรรมาวางมือจากสามชัยโดยขายหุ้นส่วนข้างมากให้กับ บงล. ธนสยามนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แปลกใจสำหรับคนในวงการเงินทุนหลักทรัพย์ เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน บง.เอกธนกิจ จัดเป็นเซียนยุคใหม่ในการแสวงหาธุรกิจที่มีอนาคตดีเพื่อให้คำปรึกษาและร่วมทุน ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในเครือบางแห่งก็เข้าไปถือหุ้นร่วมทุนในหลายกิจการที่นอกเหนือไปจากแวดวงเงิน ๆ ทอง ๆ

หรืออย่างเมื่อปี 2527 ที่ธนาคารกสิกรณ์ไทยเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทซิงเกอร์ ประเทศไทย และคงถือหุ้นไว้ในอัตราส่วนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงนั้น ธนาคารกสิกรณ์ฯก็แสดงบทบาทช่วยเหลือสนับสนุนทั้งเงินทุนและคำปรึกษาแก่ซิงเกอร์เป็นอย่างมาก เรียกว่ามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ซิงเกอเติบโตอยู่จนทุกวันนี้ นอกเหนือไปจากบทบาทของผู้บริหารเดิมที่สามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดและการบริหารให้ก้าวทันความต้องการของตลาดได้ (ดูล้อมกรอบซิงเกอร์)

อย่างล่าสุดก็เป็นกรณีของ บงล.ธนชาติที่เข้าไปจัดการกับ บ.มาบุญครอง อบพืชและไซโล โดยใช้กลยุทธ์ตั้งโฮลดิ้งคัมปะนี หลายแห่งขึ้นมาดำเนินการรวมกัน

ในลักษณะเดียวกัน ธนสยาม ก็ตั้งบริษัทสามสองธุรกิจขึ้นมาร่วมซื้อหุ้นสามชัย โดยตั้งบ.ตรีทวีธุรกิจ ขึ้นมาถือหุ้นในสามสองธุรกิจ และให้สามสองธุรกิจถือหุ้นในตรีทวีธุรกิจสลับกันไปมาอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้เพราะธนสยามเองไม่สามารถถือหุ้นลงทุนในกิจการใด ๆ เกินกว่า 10% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทนั้น ๆ ได้

ธนสยามซื้อสามชัย 10% หรือ 30,000 หุ้นส่วนสามสองธุรกิจซื้อไว้ 41% หรือ 150,000 หุ้น รวม 153,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 400 บาท คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 61.2 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ขายออกมาคือ ธรรมาและบริษัทปิ่นรังษี ทำให้ธรรมาเหลือสัดส่วนหุ้นอยู่ไม่ถึง 9% แต่ก็ยังนับว่าเป็นผู้ถือหุ้นรายบุคคลที่มากที่สุดในสามชัย (ดูตารางชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทสามชัย) ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจว่าธรรมาใช้ปิ่นรังษี เข้ามาถือหุ้นแทน ผู้ถือหุ้นในครอบครัวเพื่อที่จะขายให้ธนสยามและสามสองธุรกิจอีกทอดหนึ่ง โดยหวังประโยชน์ด้านภาษี

นอกจากนี้ ธนสยามก็ให้สามชัยเข้าไปซื้อหุ้นของไตร - สตาร์อุตสาหกรรมด้วย 159,993 หุ้นหรือ 99.99% คิดเป็นมูลค่า 40.41 ล้านบาท หรือราคาหุ้นละ 250 กว่าบาท ซึ่งก็นับว่าเป็นราคาที่สูงไม่น้อย

ทั้งนี้เป็นที่รู้กันว่า ไตร - สตาร์ฯ เป็นทรัพย์สินซ่อนเร้น สำคัญของสามชัย แหล่งข่าวในโรงงานไตร - สตาร์ฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ไตร - สตาร์ฯ เพิ่งซื้อที่ดินเพิ่มอีก 15 ไร่ ในบริเวณที่ติดต่อกัน รวมเป็นที่ดินของโรงงานทั้งหมด 21 ไร่เศษ ตั้งอยู่ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ในส่วนของการผลิตปัจจุบันนั้นมีการผลิตสินค้าเพียงสองตัวคือโทรทัศน์ยี่ห้อกรุนดิกและเมกก้า กำลังการผลิตเดือนละ 3,000 - 3,500 เครื่อง สินค้าที่ผลิตได้ทั้งหมดส่งให้ทางสามชัยเป็นผู้ขายแต่เพียงผู้เดียว"

แหล่งข่าวรายเดิม แสดงความคิดเห็นยังค่อนข้างมั่นใจกับ "ผู้จัดการ" ว่า "การที่ธนสยามเข้ามาร่วมทุนกับสามชัยน่าจะเป็นเรื่องดีเอามาก ๆ เพราะจะช่วยให้สามชัยโตขึ้นมาได้และฝ่ายธนสยามก็ให้คำมั่นในการซื้อขายครั้งนี้ด้วยว่า ภายใน 3 ปีจะเพิ่มยอดขายสินค้าของสามชัยให้ได้ถึงหนึ่งพันล้านบาทจากปัจจุบันที่ทำได้เพียง 200 - 300 ล้านบาท"

ก่อนหน้าที่ธนสยามจะตกลงซื้อสามชัยนั้น ธนสยามทำหน้าทีเป็นที่ปรึกษาในการที่บริษัทต่างชาติหลายรายติดต่อทาบทาม ปลายปี 2532 มีข่าวว่าบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ฯจะเข้ามาซื้อสามชัย การณ์กลับเป็นว่ามีเพียงการศึกษาโครงการความร่วมมือในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันเท่านั้น

แหล่งข่าวจากโรงงาน ไตร - สตาร์ฯบอก "ผู้จัดการ" ว่า "รายล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ก็มีการเจรจาตกลงกันได้ 90% แล้วแต่ก็เกิดมีเงื่อนไขบางประการที่ไม่อาจจะยอมกันได้ก็เลยล้มเลิกไป และในที่สุด ธนสยามก็มาเป็นผู้ซื้อเองหลังจากที่ให้คำปรึกษามาเป็นเวลานาน"

การเทคโอเวอร์ของธนสยามครั้งนี้ใช้เม็ดเงินต่ำมาก รัตน์ พานิชพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บงล. ธนสยามซึ่งเพิ่งย้ายมาจากฝ่ายสินเชื่อ พาณิชยกรรม ธนาคารไทยพาณิชย์และเริ่มแสดงฝีมือในงานนี้ เป็นครั้งแรกกล่าวว่า "การซื้อกิจการครั้งนี้ถ้าไม่ได้รับไฟเขียวจากคุณธรรมาก็จะทำได้ยาก เพราะราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สูงมาก และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ถือไว้เป็นจำนวนมากด้วย"

ทั้งนี้ราคาหุ้นของสามชัยนับแต่ถูกแขวนป้ายเอ็นพีเมื่อมีข่าวร่วมทุนกับโซนี่คอร์ปฯนั้น ได้ไต่สูงขึ้นมาโดยตลอด และมาวิ่งอย่างแรงอีกเมื่อมีข่าวว่าจะมีการซื้อกิจการในช่วงปลายปี 2532 หลังจากนั้นราคาหุ้นก็วิ่งราวติดจรวดเรื่อยมา โดยเฉพาะช่วงใกล้สามชัย ประกาศว่าธนสยามเข้ามาซื้อปริมาณการซื้อขายในช่วงเดือนพฤษภาคมพุ่งสูงมากและคาดหมายว่าราคาคงจะไม่ลงมาง่าย ๆ เพราะนักลงทุนยังรอข่าวการเพิ่มทุนที่จะตามมา (ดูกราฟราคาหุ้นสามชัย)

ทำไมธนสยามซื้อสามชัย ? ผู้ที่มองในแง่ลบให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นการซื้อไปขายต่อหรือเพื่อเอาหนี้คืนมา ทั้งนี้ไม่ได้มีการยืนยันว่าธนสยามเป็นเจ้าหนี้สามชัยแต่อย่างใด หากเป็นการประเมินจากข้อมูลแวดล้อมและความเป็นไปได้ที่ธนสยามจะไปบริหารสามชัย

ธนสยามเป็น บงล.ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ที่ไม่ใคร่โด่งดังนักเมื่อเทียบกับ บงล.ธนชาติ ในสมัยที่สุขุม สิงคารวณิช เป็นกรรมการผู้จัดการนั้น ธนสยามแทบจะไม่ได้ทำอะไรในเรื่องของอินเวสเม้นท์แบงก์ การร่วมทุนหรือธุรกิจอื่นใดมากนัก มีก็แต่ค้าหลักทรัพย์ รับฝากเงินและปล่อยกู้ธรรมดา ครั้นรัตน์เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนสุขุมที่ถูกโยกย้ายไปเป็นรองประธานบริษัทฯก็ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างภายในครั้งใหญ่ มีการโยกย้ายคน เปลี่ยนแปลงตำแหน่งมากมาย

คนวงในกล่าวกันว่าแต่นี้ไปจะถึงยุคเฟื่องฟูของธนสยามบ้างแล้ว ราคาหุ้นในกระดานก็วิ่งกระฉูดไม่เบา หลังจากที่นิ่งเงียบมานาน

ธนสยามมีความสามารถเข้าไปบริหารสามชัยมากน้อยเพียงใด ข้อได้เปรียบอย่างชัดเจนประการหนึ่งคือ บงล. แห่งนี้สามารถแก้ปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียนอันเป็นปัญหาเรื้อรังของสามชัยได้แน่ ไม่ว่าจะโดยวิธีง่าย ๆ อย่างการเพิ่มทุนหรือใช้กลไกที่ซับซ้อนในทางการเงินมากขึ้น อย่างเช่น ทำการให้กู้ร่วม หรือซินดิเคท โลน, ออกวอร์แรนท์ เป็นต้น

ส่วนเรื่องการบริหารนั้น หลายคนยังแสดงความสงสัย ธนสยามมไม่มีความสันทัดในกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าตลาดสินค้าบริโภคเหล่านี้จะไปได้ดีในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมาก ๆ ในอัตราปีละ 8 - 9% ในปัจจุบันก็ตาม

นั่นหมายความว่าธนสยามต้องหามืออาชีพที่คร่ำหวอดในวงการมาบริหาร คนที่มาเป็นกรรมผู้จัดการสามชัยคนใหม่คือ วิษณุ รุจิเกียรติกำจร ซึ่งเป็นมืออาชีพคนหนึ่งในวงการอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนหน้านี้เคยอยู่ที่ล็อกซ์เล่ย์แต่ลาออกมาได้เกือบปีแล้ว

แน่นอนว่า สิ่งที่ธนสยามต้องทำเป็นประการแรกคือ การเพิ่มทุนดังที่กล่าวมา ส่วนหนทางที่จะขยับขยายธุรกิจออกไปนั้น แหล่งข่าวในไตร - สตาร์ฯ เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า มีการความพยายามที่จะหาผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศบางรายเพื่อที่จะขายงานด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยมุ่งส่งออกต่างประเทศซึ่งมีขนาดใหญ่ยุโรปและสหรัฐ และมีความเป็นไปได้ว่าผู้ร่วมทุน ที่ติดต่ออยู่แล้วนั้นมากจากยุโรปหรือเกาหลีซึ่งสามชัยมีความสัมพันธ์อยู่ก่อนแล้ว

แนวทางต่อไปของสามชัยคือเมื่อหาผู้ร่วมทุนได้แล้วก็ตั้งบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาใหม่แล้วยื่นขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีไอโอ) โดยบริษัทนี้จะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงาน ไตร - สตาร์ฯ ที่ปทุมธานี ซึ่งมีโรงงานผลิตชิ้นอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก

นี่เป็นแนวคิดของธนสยามในการซื้อสามชัยครั้ง เพราะถึงแม้สามชัยจะมีปัจจุบันที่โทรมกับทรุดแต่อนาคต ในตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีแต่ขยายตัวรุ่งโรจน์

ดังนั้น ธนสยามจำเป็นจะต้องออกแรงมากหน่อยสำหรับงานนี้ ซึ่งจะว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตก็ไม่เชิงนัก แต่ที่แน่ ๆ คือ มันเป็นการพิสูจน์ฝีมือในงาน วาณิชธนกิจ ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ที่มีนายท้ายชื่อรัตน์ พานิชพันธ์

นี่เป็นการเปิดฉากของธนสยาม และปิดบทบาทของธรรมาได้อย่างเหมาะเจาะพอดี

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us