Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ตุลาคม 2553
แนวโน้มของโลกอินเทอร์เน็ต             
โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
 


   
search resources

Networking and Internet




ใกล้จะสิ้นปีอีกแล้วครับ เวลาผ่านไปเร็วมาก รวดเร็วพอๆ กับการเปลี่ยนแปลงในวงการเทคโนโลยีและการสื่อสารในโลกของเราใบนี้ ไม่เชื่องช้าและติดกึกเหมือนการอนุญาตให้เปิดบริการ 3G ของประเทศไทยเรา

แล้วจวนจะสิ้นปีอย่างนี้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบต่อเนื่องที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่เรียกได้ว่าลงรากลึก

มีเพียงสองแนวโน้มที่ผมมองว่าน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของอินเทอร์เน็ตตลอดปีนี้แบบเข้มข้น ซึ่งได้แก่

หนึ่ง เทคโนโลยีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

และสอง โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social network)

คงจะไม่เป็นเรื่องสายเกินไปที่จะมาพูดเรื่องแนวโน้มของโลกอินเทอร์เน็ตในวันและเวลาที่กำลังจะครบขวบปีกันอีกแล้ว

ผมขอเริ่มด้วยเรื่องเทคโนโลยีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบันนี้ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในสังคมเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้ว คนที่ห่างไกลเทคโนโลยีมากเพียงใดก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

ง่ายๆ โดยเทคโนโลยีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถูกรวมเข้ากับอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราๆ ก็ใช้ประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์, โทรศัพท์มือถือ, ออร์แกไนเซอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กในรูปแบบต่างๆ

นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น นั้นได้นำมาซึ่งราคาของอุปกรณ์เครื่องมือในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ถูกลง จึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันหรือเกินฝันที่แต่ละคนจะครอบครองเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านั้น นอกจากนี้ อุปกรณ์เครื่องมือในที่ทำงานก็เป็นช่องทาง ที่ทำให้เราจำเป็นต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ความชำนาญในการใช้งานจนมาแทนที่เครื่องมือเครื่องใช้หลายๆ อย่างก็ถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาแทนที่สื่อกลางแบบเก่าในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน

อีเมลกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการสื่อสารพอๆ กับโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีแบบเก่าๆ ก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไป เหมือนที่ประเทศไทยเราเพิ่งเลิกใช้โทรเลขไปอย่างเป็นทางการเมื่อสองปีก่อน

การเปลี่ยนแปลงของซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในงานประจำวันอย่างชุดออฟฟิศต่างๆ ที่เริ่มย้ายฐานไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการใช้งานร่วมกัน รวมถึงการทำงานที่ไม่ต้องยึดติดกับ เวลาและสถานที่ก็เป็นอีกแนวโน้มที่เกิดขึ้น ภายหลังจากอินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่ง ในการใช้ชีวิตของเรา

ต้นทุนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ลดลงเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้โลกของเราแคบและเล็กลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการดึงคนทุกภาคส่วนบน โลกให้เชื่อมถึงกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วย

เมื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่อง ง่ายและมีต้นทุนต่ำลง โซเชียลเน็ตเวิร์กจึงสามารถวางตำแหน่งของตัวเองลงบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างมั่นคงในรอบสองถึงสามปีที่ผ่านมา และมีอัตราการเติบโตสูงมากในฐานะเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันโดยถือว่าเติบโตสูงมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับสื่อไหนมาก่อน โดยเฉพาะ โซเชียลเน็ตเวิร์กสามารถตอบสนองความต้องการทั้งในเรื่องชีวิตจิตใจ, เรื่องบันเทิงเริงใจ, เรื่องการช่วยในการทำงาน, การติดต่อสื่อสาร และการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว, เพื่อนสมัยเรียน, เพื่อนที่ทำงาน, พ่อค้าและลูกค้า, รัฐบาลกับประชาชน ไปจนถึงคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ โซเชียล เน็ตเวิร์กกลายเป็นสื่อกลางที่ลดช่องว่างของความสัมพันธ์ดังกล่าวให้แคบลงและลึกขึ้น

ก่อนหน้านี้ เราอาจจะมีปัญหาในการสื่อความรู้สึกของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด แต่โซเชียลเน็ตเวิร์กก็มาช่วยทำให้เราสามารถแสดงความรู้สึกเหล่านั้นได้มากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น กำแพงที่กั้นกลาง ระหว่างความไม่แปลกหน้าแต่แปลกตาและแปลกใจได้พังทลายลง เราอาจจะบอก รักแม่ที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์บนชั้นสองของบ้านได้ โดยที่เมื่อก่อนเราอาจจะยังเหนียมอายกับการจะขอกอดแม่สักครั้ง เช่นเดียวกับที่เราสามารถบอกความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนสนิทโดยที่ไม่ต้องมารอให้มีจังหวะที่เหมาะสมที่อาจจะไม่เคยมาถึง

โซเชียลเน็ตเวิร์กในด้านหนึ่งจึงเป็นความสวยงามของเทคโนโลยี แต่อีกด้านหนึ่ง โซเชียลเน็ตเวิร์กก็ทำให้เราสามารถรับเอาคนแปลกหน้าที่อาจจะไม่แปลกตาและแปลกใจอีกแล้วเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา นั่นหมายถึงความเสี่ยงในชีวิตของเราได้เปิดกว้างให้กับผู้ที่หวังดีและหวังร้ายรอบๆ ตัวเราได้เข้าถึงมากขึ้นและง่ายขึ้น

ด้านร้ายและความสวยงามของโซเชียลเน็ตเวิร์กจึงอยู่ห่างกันแค่พลิกฝ่ามือ แต่นี่คือแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างที่เราต้องวิ่งตามการเปลี่ยนแปลงแบบไม่กะพริบตา วิถีการใช้ชีวิตของเรากำลังจะมีโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเราก็ต้องวิ่งตามกระแสนี้ไป

สองปัจจัยข้างต้นคือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ง่ายขึ้นและการก้าวเข้ามาของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องวิถีชีวิตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับจากการตื่นนอนในตอน เช้าไปจนถึงเข้านอนอีกครั้งในตอนกลางคืน เราหลีกหนีไม่พ้นจากสิ่งเหล่านี้ได้ หน้าที่เราคือต้องเป็นส่วนหนึ่งของอินเทอร์เน็ตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ ที่ต้องใช้ประโยชน์จากสื่อต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเช่นเดียวกัน การไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตและจะทำให้เราตกขบวนรถไฟของการเปลี่ยนแปลงในระดับที่เมื่อคิดจะวิ่งตาม เราอาจจะตามการเปลี่ยนแปลงไปไม่ทันแล้ว

ปัจจัยทั้งสองนี้ทำให้แนวโน้มของการพยายามสร้างตัวตนให้เกิดขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายความสัมพันธ์มีมากขึ้นๆ การเป็น somebody โดยการแสดงถึงจุดเด่นของตนกลายเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายๆ และคนรอบตัวสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่การเป็น somebody ก็สามารถเปลี่ยนเป็น nobody ได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนเมื่อมีคนที่โดดเด่นกว่าเกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกันมาแทนที่

การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนี้ ถ้าไม่มีแรงผลักดันที่สำคัญจากภาคธุรกิจแน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ อาจจะไม่ยั่งยืนและถาวร จริงๆ แล้ว กระแสของโซเชียลเน็ตเวิร์กเกิดขึ้นในหมู่คนที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อความสัมพันธ์ส่วน ตัวเป็นสำคัญในตอนเริ่มต้น แต่เมื่อกระแสของโซเชียลเน็ตเวิร์กเองเริ่มเติบโตและขยาย ตัวอย่างกว้างขวาง เรียกได้ว่า ตัวโซเชียลเน็ตเวิร์กเองก็ขายตัวเองได้ และสอดคล้อง กับความต้องการของภาคธุรกิจเองที่จำเป็นต้องอาศัยความเป็นเครือข่าย ทำให้ภาคธุรกิจไม่รีรอที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระแสนี้

ปัจจุบันจากการศึกษาของ Deloitte, Beeline Labs และ Society for New Communications Research พบว่า แม้ว่า ภาคธุรกิจจะยังไม่ทุ่มเงินโฆษณาให้กับโซเชียลเน็ตเวิร์กแบบเต็มตัว แต่มีแนวโน้มที่ค่อนข้างเด่นชัดว่า สัดส่วนของเงินค่าโฆษณาที่ทุ่มให้กับโซเชียลเน็ตเวิร์กจะเพิ่มมากขึ้นๆ ก็ทำให้พอจะมองเห็นอนาคตที่สดใสว่า งานนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ได้เดินอย่างโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เหล่าภาคธุรกิจยังกังวลอยู่ก็คือ ความต่อเนื่องของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ใช้เครือข่ายยังคงกลับมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทำอย่างไรจึงจะทำให้โซเชียลเน็ตเวิร์กมิใช่เพียงแค่กระแสที่วูบไปวูบมาเหมือนผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นและแตกดับไปตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานับจากอินเทอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้นมา

นี่ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ยังทำให้ภาคธุรกิจยังไม่กล้าที่จะทุ่มให้กับโซเชียลเน็ตเวิร์กแบบสุดตัว

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเม็ดเงินจากภาคธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตจนถึงปัจจุบันและต่อเนื่องไปถึงอนาคต อย่างไรก็ตาม เราในฐานะผู้เสพและผู้ใช้เทคโนโลยี ยังคงสามารถเลือกได้ว่า เราจะเสพหรือใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นหรือไม่

แม้ว่าเราจะเหมือนถูกเอามีดจี้หลังให้เสพและใช้เทคโนโลยีไปแล้วก็ตามที

อ่านเพิ่มเติม:
1. Top Internet Trends 2010: A Guide to the Best Predictions from the Web, http://www.masternewmedia.org/top-internet-trends-2010-a-guide-to-the-best-predictions-from-the-web-part-1/
2. 2009 Tribalization of Business Study: Transforming companies with communities and social media, http://www.deloitte.com/view/en_US/us/Industries/Technology/article940bf5d47d124210VgnVCM200000bb42f00aRCRD.htm   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us