Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ตุลาคม 2553
กังวลนกเขาอาเซียนจะไม่ขัน             
โดย ปิยะโชติ อินทรนิวาส
 

   
related stories

2 โครงการคู่แข่งในมาเลเซีย
พลัง (งาน) ข้ามโลก เซาเทิร์นซีบอร์ด
เมกะโปรเจกต์ เมกะวาระซ่อนเร้น
Landbridge คุ้มจริงหรือ?
อะไรสำคัญกว่ากัน? พลังงานหรือการท่องเที่ยว
ปรากฏการณ์อุตสาหกรรมเข้าไปไล่ที่มรดกโลก

   
search resources

เซาท์เทิร์นซีบอร์ด
L.K.M.O. ฟาร์ม




“จะนะ” เมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่กลับขึ้นชื่อลือชาในความเป็นแหล่งเพาะพันธุ์นกเขาชวาในระดับภูมิภาคอาเซียน สร้างวงจรธุรกิจต่อเนื่องให้คนในพื้นที่มูลค่าปีละนับพันล้านบาท ตามแผนปลุกปั้นโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดจะผลักดันให้แผ่นดินนี้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แล้วอนาคตนกเขาชวาที่จะนะจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร?

“เวลานี้อากาศในเมืองที่ผมอยู่ร้อนผิดปกติแล้ว ทำให้ไม่ค่อยอยากจะผสมพันธุ์กันเลย ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ มีหวังกระทบกระเทือนกันไปทั้งระบบแน่”

หนุ่มใหญ่ร่างสันทัดผิวคล้ำตีสีหน้าจริงจังหลังพูดจบ ขณะที่แววตาก็สื่อแสดงให้เห็นว่าเต็มไปด้วยความกังวลใจ ทั้งที่ในวงสนทนาที่ดำเนินมาต่อเนื่องราวชั่วโมงมากมายไปด้วยรอยยิ้ม เขาเองเสียอีกที่ปล่อยมุกเรียกเสียงหัวเราะจากคู่สนทนาบ่อยครั้ง

ยกตัวอย่างให้เห็นก็เช่น ระหว่างที่เขาเล่าเรื่องให้คู่สนทนาฟัง ขณะที่เล่าไปเล่ามาอย่างสบายๆ ถึงจังหวะก็โพล่งออกมากลางคันว่า “...ซื้อมาทำพ่อหรือ?!...” พร้อมกับทิ้งน้ำเสียงกระแทกกระทั้นคำว่า “ทำพ่อ” เล่นเอาความรู้สึกของทั้งวงสนทนาสะดุดหยุดกึกลง และทุกคนต่างทำหน้างงๆ กันไป แต่แล้วก็เผยไต๋ว่าเล่นมุกด้วยการอธิบายว่า “ทำพ่อพันธุ์น่ะครับ... ทำพ่อพันธุ์” ซึ่งก็เรียกเสียงฮาตามมาทันที

วงสนทนาที่ ผู้จัดการ 360° มีโอกาสได้ร่วมด้วยดังกล่าวมีขึ้นที่ “L.K.M.O ฟาร์ม” กลางเมืองจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นของหนุ่มใหญ่นักปล่อยมุกขำ อับดุลรอหมาน เส็นแอ หรือที่คนในวงการนกเขาชวาเรียกขานกันว่า จูแม สวนนกจะนะ

แม้อำเภอจะนะจะเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลับเป็นที่รู้จักกันดีของบรรดานักเล่นนกเขาชวาทั้งในประเทศ และในระดับกลุ่มประเทศอาเซียน

นกเขาชวาเป็นสัตว์ในวงศ์ Columbidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Geopelia striata มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศเอเชียอาคเนย์ แหล่งที่มีการแพร่พันธุ์อย่างชุกชุมในประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งคำว่าชวาก็มาจากเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซียนั่นเอง

เวลานี้มีจำนวนมากในกลุ่มประเทศอาเซียนที่นิยมเลี้ยงนกเขาชวา หากไปถามคน ปักษ์ใต้ที่ชอบนก เขาจะบอกว่ามันเปรียบเสมือนเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของคนใต้เลยทีเดียว

โดยเฉพาะคนในจังหวัดสงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งในแต่ละจังหวัดชายแดนภาคใต้เหล่านั้นก็ถือเป็นสนามแข่งขันสำคัญที่เป็นที่รู้จักของทั้งเซียนนกเขาชวาไทยและในต่างประเทศ

ชาวจะนะนิยมเลี้ยงนกเขากันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะทำกันเป็นงาน อดิเรก แต่ช่วงกว่า 40 ปีมานี้ เมืองจะนะได้รับการกล่าวขานให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์นกเขา เสียงดี แล้วก็เกิดธุรกิจทำฟาร์มนกเขาขึ้นมาหลายแห่ง โดยผู้บุกเบิกการทำฟาร์มนกเขาจนเป็นอาชีพยอดนิยมของเมืองจะนะคือ สะมะแอ อิสอ ผู้เป็นเจ้าของฟาร์มแอทอง แม้เขาจะเสียชีวิตไปร่วม 8 ปีแล้ว แต่ในเวลานี้ลูกศิษย์ลูกหาก็กระจายอยู่เต็มเมืองจะนะและหลายจังหวัดภาคใต้

“มีเซียนนกยกย่องว่า คนจะนะมีพรสวรรค์และสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ให้กับวงการนกเขาได้ตลอดเวลา อย่างก่อนหน้านี้ต้องเลี้ยงกันถึงกว่า 2 ปีจึงจะส่งเข้าแข่งขันได้ แต่ฟาร์มในจะนะสามารถพัฒนาสายพันธุ์จนเหลือเวลาเพียงประมาณ 6 เดือนก็ส่งลงสนามประลองได้แล้ว เคยมีการบันทึกไว้ว่านกเขาของจะนะอายุแค่ 6 เดือนกับ 13 วันสามารถคว้ารางวัลใหญ่มาแล้ว เป็นเพราะภูมิปัญญาของคนจะนะที่สั่งสมและสืบต่อกันมา” จูแมเล่าให้ฟัง

ตลาดที่รองรับบรรดาผู้ประกอบการฟาร์มนกเขาชวาจากจะนะมีกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ส่วนในต่างประเทศก็คือทั่วภูมิภาคอาเซียน แต่ที่ถือว่าคึกคักมากก็คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน

จูแมบอกว่า เวลานี้ทั้งอำเภอจะนะมีฟาร์มนกเขาชวากระจายอยู่ทั่วพื้นที่กว่าครึ่งพันแห่ง โดยการจัดขนาดฟาร์มดูกันที่จำนวนห้องที่จัดให้พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์นกเขาอยู่คู่ละ 1 ห้อง ในจำนวนนี้ถือเป็นฟาร์มใหญ่ระดับ Inter มีอยู่ 5 แห่ง แต่ที่มีมากสุดคือฟาร์มขนาดกลางๆ ตั้งแต่ระดับ A-B มีราวๆ 300 แห่ง

สำหรับ L.K.M.O ฟาร์มมี 60 ห้อง ถือว่าเป็นเพียงฟาร์มขนาดกลาง แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้สร้างความฮือฮาไว้ในวงการนกเขาชวาพอสมควร เนื่องจากนกเขาของที่นี่ไปคว้ารางวัลใหญ่ๆ ระดับถ้วยพระราชทานมาหลายรางวัล สายพันธุ์นกเขาที่ผลิต จากฟาร์มแห่งนี้จึงเป็นที่หมายปองของบรรดาเซียนนกทั้งไทยและเทศ

ปี 2552 ฟาร์มของจูแมส่งนกเขาชวาที่ชื่อ “ศรีจะนะ” เข้าประกวดและได้รับ หลายรางวัล โดยรางวัลใหญ่สุดได้รับถ้วยรางวัลของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในปีนั้นก็ถูกเซียน นกเขาตามจีบขอซื้อนกตัวนี้ไปในราคาต่อรองกันลงได้ที่ 5 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ที่ฟาร์มของจูแมยังมีนกเขาชวาคู่แฝดผู้น้องของศรีจะนะอยู่คือ “ศรีสวนนก” ซึ่งเกิดจากไข่คู่แฝดที่มีพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เดียวกัน และคลอดออกมาครั้งเดียวกันด้วย เวลานี้เขากำลังปลุกปั้นเข้าสู่ทุกเวทีชิงรางวัล ซึ่งก็ไม่ ผิดหวัง จนมีคนมาติดต่อขอซื้อแล้วหลายครั้ง เพียงแต่ราคายังไม่ลงตัว ขณะที่เจ้าของก็อยากให้สร้างชื่อเสียงไปอีกสักพักก่อน

พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์นกเขาคู่หนึ่งจะไข่เฉลี่ย 15 วันต่อครั้ง และไข่ครั้งละ 2 ฟอง เราก็จะใช้เวลาฟักไข่อีกประมาณ 15 วัน เมื่อเป็นตัวแล้วถ้าสายพันธุ์ดีและเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาขายก็อยู่ที่คู่ละ 50,000 บาท เวลานี้หลายฟาร์มในจะนะต้องสั่งจองกันข้ามปีก็มี

นกเขาชวาสายพันธุ์จะนะที่มีการซื้อ ขายกันเวลานี้มีราคาตั้งแต่ตัวละ 100 บาท จนถึง 500,000 บาท ทว่าราคาสูงสุดที่เคย รับรู้กันคือหย่อนจาก 2 ล้านบาทไม่มากนัก เมื่อไม่นานนี้จูแมเล่าว่าเพิ่งมีการซื้อขายกัน ไปที่ตัวละ 1.2 ล้านบาท ขณะที่กรงนกเขา ที่ทำขึ้นจากฝีมือคนจะนะราคาสูงสุดที่เล่าขานกันอยู่ที่กรงละ 700,000 บาท

นี่คือสิ่งที่ชี้ชัดว่า ธุรกิจนกเขาชวาใน เมืองเล็กๆ อย่างจะนะนั้นไม่ธรรมดาเลย

มีการประเมินกันว่าในตลาดนกเขา ชวาของเมืองจะนะในแต่ละปีจะมีเงินสะพัด สูงถึงกว่า 500 ล้านบาท

นี่เฉพาะที่เกิดจากการซื้อขายนกในฟาร์มต่างๆ ของอำเภอจะนะเท่านั้น ยังไม่รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องจากการเลี้ยงนกเขาที่มีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจผลิตอาหาร นก ยารักษาโรค การทำกรงนกและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งก็มีตลาดที่คู่ขนานไปกับการซื้อขายนกคือ ทั่วประเทศไทยและในตลาดอาเซียน

ดังนั้น ถ้ารวมมูลค่าตลาดของวงการนกเขาชวาเฉพาะจากอำเภอจะนะแล้ว เงินที่สะพัดในแต่ละปีไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ในแต่ละสนามแข่งขันนก ก็มีเงินสะพัดจำนวนมากเช่นกัน เพราะในการแข่งขันสนามหนึ่งๆ จะมีผู้ส่งนกเขาเข้าร่วมประชันเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500-2,000 ตัวต่อสนาม มีการจัดการแข่งขันวนเวียนไปใน สถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศตลอดทั้งปี

เฉพาะสนามแข่งขันใหญ่ๆ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบไปด้วยการจัดงานมหกรรมการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนที่จังหวัดยะลา ซึ่งจัดต่อเนื่อง กันมาแล้ว 25 ครั้ง ถือเป็นสนามที่มีชื่อเสียง ที่สุด มีทั้งคนไทยและจากประเทศในกลุ่มอาเซียนนิยมส่งนกเข้าประชันกันมากที่สุด

นอกจากนั้นเป็นการจัดมหกรรมการแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่จังหวัดสตูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่จังหวัดปัตตานี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่อำเภอจะนะ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จังหวัดนราธิวาส

ความจริงแล้วความวิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของอำเภอจะนะไม่ได้เกิดกับแค่อับดุลรอหมาน เส็นแอเท่านั้น เจ้าของฟาร์มนกเขาชวาที่มีอยู่ในพื้นที่กว่า 500 แห่ง เครือข่ายผู้ผลิตอาหารและยานก รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์และกรงนก ล้วนตกอยู่ในบ่วงแห่งความรู้สึกเหมือนๆ กัน ไม่เพียงเท่านั้นคนทั่วไปในอำเภอจะนะจำนวนมากก็รับรู้และเป็นห่วงในเรื่องนี้เช่นกัน

เนื่องจากกิจการเพาะพันธุ์นกและที่เกี่ยวเนื่อง ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้สะพัดให้กับคนแทบทั้งจะนะ

นานมากแล้วที่นกเขาชวาของจะนะได้รับการยอมรับว่ามีรูปร่างที่สวยงาม เสียงก็เพราะเนื่องจากพื้นที่ของจะนะเหมาะกับการเพาะสายพันธุ์นกเขา แถมยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์สำหรับนก ที่สำคัญมากคือสภาพภูมิอากาศที่ถือว่าเอื้ออำนวยที่สุด แต่ 3 ปีมานี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป เป็นผลจากที่มีการตั้งโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าขึ้นในพื้นที่

ที่ผ่านมาเจ้าของฟาร์มนกเขาก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการใช้ต้นไม้จำนวนมากเข้า แต่งบริเวณ เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์เอื้อต่อการออกไข่ แต่ในช่วง 3 ปีมานี้ มีหลายต่อหลายครั้งที่โรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าปล่อยควันพิษ หรือไม่ก็มีเสียงใบพัดของเครื่องจักรดังกังวาน ทำให้นกเขาในฟาร์มเกิดอาการต่างๆ เช่น ตกใจ เสียงแหบ เป็นต้น

กิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชนอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เวลานี้ชาวจะนะหวาดหวั่นถึงการพัฒนาที่กำลังจะเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งอีกไม่นาน เมืองจะนะที่เคยมีวิถีชีวิตเรียบง่ายจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เร็วๆ นี้ยังจะมีโรงไฟฟ้า เพิ่มขึ้นอีก 1 โรง แล้วโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมก็จะตามมาอีก

“คนจะนะบางคนยังไม่เข้าใจว่าโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดคืออะไร ผมอยากบอกว่า ถ้าเราจะขึ้นหมู่บ้านจัดสรร เราต้องทำถนน ปักเสาไฟฟ้า ต่อท่อประปาและอื่นๆ ก่อนที่จะสร้างบ้านใช่ไหม เวลานี้รัฐบาลกำลังเร่งให้สร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งจะมีทั้งท่าเรือ อุตสาหกรรมแห่งใหม่เกิดขึ้น มีรถไฟสายอุตสาหกรรม สายใหม่วิ่งผ่าน สิ่งที่จะเกิดตามมาไม่ใช่สร้างแค่บ้าน แต่จะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมนับร้อยนับพันโรงในพื้นที่ จะนะ”

ถึงวันนั้นก็ไม่รู้ว่า นกเขาชวาชื่อก้องในระดับอาเซียนของคนจะนะจะขันกันได้อีกหรือเปล่า??!!   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us