|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

รัฐบาลไทยเตรียมการมานานแล้วที่จะนำ 17 อุทยานฯ และ 1 เขตห้ามล่าสัตว์ป่ารวมเป็น “พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน”
แล้วไปขอขึ้นทะเบียนเป็น “แหล่งมรดกโลก” แต่แล้วเวลานี้ก็มีแผนจะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราด้วย ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อ “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา” และ “อุทยานแห่งชาติตะรุเตา” เท่านั้น แต่แผนปั้นเป็นมรดกโลกก็น่าจะกระเทือนไม่แพ้กัน
26-27 กันยายน 2553 เกิดอีกหนึ่ง “แลนด์บริดจ์” ขึ้นในภาคใต้ตอนล่างและก็เป็นเส้นทางเชื่อมโยงตามแนวเดียวกับของโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดด้วยคือ “สงขลา-สตูล” แต่วัตถุประสงค์แตกต่างกัน แถมยัง มุ่งเน้นให้สังคมได้รับรู้อย่างกว้างขวางด้วย นั่นคือ “แลนด์บริดจ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรม สงขลา-สตูล”
แลนด์บริดจ์สายนี้ประเดิมด้วยการใช้ศิลปวัฒนธรรมทางดนตรีในสายธารเพื่อชีวิตเป็นแก่นแกนในการเชื่อมโยง 2 กลุ่ม คนที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมคนละแบบ แต่มีความรู้สึกนึกคิดไปในทางเดียวกัน และแน่นอนเป็นผลพวงที่เกิดจากการเร่งเดินหน้า โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดของภาครัฐนั่นเอง
คอนเสิร์ต “คิดถึง...ทอดตาแลแผ่นดินด้ามขวาน” จัดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 26 กันยายน ที่โรง ยิมเนเซียม สนามกีฬาจิระนคร กลางเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้อันเนื่องมาจากโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดให้สังคมได้รับทราบ
โดยนอกจากจะให้ศิลปินเพื่อชีวิตอย่างสุรชัย จันทิมาธร และวงคาราวาน ระพินทร์ พุฒิชาติ ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง และวงซูซู แสงธรรมดา กิตติเสถียรพร พร้อมด้วยวงบาโรย วงหยาดน้ำค้าง และวง ฅ.กู้ชาติ ได้ใช้บทเพลงบอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวแล้ว ยังได้เชิญผู้ที่ติดตามและศึกษาเรื่องนี้มาให้ข้อมูลบนเวทีคอนเสิร์ตด้วย
จากนั้นช่วงบ่ายของวันที่ 27 กันยายน เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล อุทยาน แห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ชมรมมัคคุเทศก์จังหวัดสตูล และชมรมศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล ได้ร่วม กันจัดคอนเสิร์ต “รักษ์เภตรา-ตะรุเตา ทะเลบ้านเราเพื่อลูกหลาน” ณ บริเวณลานสิบแปดล้าน ริมอ่าวปากปารา ซึ่งเป็นจุดขึ้นบกของสะพานเชื่อมต่อมาจากท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่อยู่กลางทะเลในอำเภอละงู จังหวัดสตูล
บนเวทีคอนเสิร์ตที่ชายฝั่งอันดามัน นอกจากจะมีศิลปินชุดเดียวกับที่แสดง บนเวทีฝั่งอ่าวไทยมาร่วมแล้วยังมีพจนาถ พจนาพิทักษ์ จ็อบ บรรจบ วงกัวลาบารา ดำ สตูล ติ๊ก ไทลากูน สุเมธ สะพาน กุ้ง ชานชาลา อรัญ เหมรา และสิรพล อักษรพันธ์ มาร่วมขึ้นเวทีอีกด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับที่ฝั่งอ่าวไทยจัดไปก่อนหน้า 1 วัน
ทั้งนี้ระหว่าง 2 เวทีคอนเสิร์ตใน 2 ฟากฝั่งทะเลภาคใต้ตอนล่าง ยังได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรากว่า 4,700 ไร่เพื่อใช้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราด้วย โดยมีเป้าหมายให้ ได้กว่า 10,000 รายชื่อเพื่อจะนำไปยื่นต่อรัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ความจริงแล้วหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราถูกสร้างขึ้น จะกระทบถึงทั้ง 2 อุทยานแห่งชาติทางทะเลในจังหวัดสตูลคือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่อยู่ติดกัน
อุทยานแห่งชาติตะรุเตามีพื้นที่รวมบนเกาะและทะเลประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ 51 เกาะ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในความใฝ่ฝันของทั้งคนไทยและทั่วโลก เนื่องจากเป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ทั้งบนเกาะและในน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่ อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ในน้ำก็งดงามไปด้วยกลุ่มปะการังหลากสีสวยสด
ปี 2479 กรมราชทัณฑ์ได้เลือกเกาะตะรุเตาจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน ใช้เป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาดและนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ปลายปี 2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดีกบฏบวรเดช (2476) และกบฏนายสิบ (2478) มากักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง
ในระหว่างสงครามเอเชียบูรพาระหว่างปี 2484-2488 เกาะตะรุเตาถูกตัด ขาดออกจากแผ่นดินใหญ่ เกิดปัญหาขาด แคลนอาหาร ยาและเครื่องใช้ต่างๆ ต้นปี 2487 ผู้คุมนักโทษทำตัวเป็นโจรสลัดเข้าปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าชาวไทยและต่างประเทศที่แล่นผ่านไปมา รัฐบาลไทยและทหารอังกฤษเข้าปราบสำเร็จปี 2489 และอีก 2 ปีต่อมากรมราชทัณฑ์จึงยกเลิก นิคมฝึกอาชีพตะรุเตา
เรื่องราวเหล่านี้ปองพล อดิเรกสาร ในนามปากกา พอล อดิเรกซ์ ได้นำไปเขียนเป็นนวนิยายเรื่อง “โจรสลัดตะรุเตา” จนโด่งดังไปทั่วโลกมาแล้ว
ว่าที่ ร.อ.ไพโรจน์ หอมช่วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา บอกเล่ากับ ผู้จัดการ 360° ถึงผลกระทบที่จะมีตามมาจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราว่า ไม่ถึงขั้นต้องให้มีการขอเพิกถอนพื้นที่บางส่วนของอุทยานฯ แต่เนื่องจากจุดที่ตั้งท่าเรือห่างจากอุทยานฯ เพียงประมาณ 12 กิโล เมตร ผลกระทบที่จะได้รับจึงเป็นเรื่องของเส้นทางเดินเรือสินค้า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายจะต้องหาทางออกร่วมกัน
เรือสินค้าที่จะเข้า-ออกท่าเรือน้ำลึก ปากบาราจะผ่านร่องน้ำที่ใกล้กับเกาะไข่ เกาะอาดัง และเกาะตุรุเตา ซึ่งจะทำให้เกิด คลื่นและตะกอนจากใบพัดเรือ เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและการไหลของน้ำ เกิดมลพิษทางเสียง ซึ่งทั้งหมดจะกระทบต่อแนวปะการัง แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะ พะยูนที่จะไปกินหญ้าทะเลในบริเวณนั้น
ขณะที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราครอบคลุมพื้นที่ 494.38 ตารางกิโลเมตรหรือกว่า 3 แสนไร่ เป็นพื้นน้ำประมาณ 94.7 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 22 เกาะเรียงรายกระจัดกระจายตั้งแต่เขตอำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เรื่อยไปจนจรดอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
ความที่ส่วนมากเป็นเกาะเขาหินปูนและมีความลาดชันสูง บ้างเป็นโขดหิน หน้าผา ถ้ำ แถมรูปร่างก็แปลกตา จึงทำให้มีทิวทัศน์ทางทะเลที่สวยงาม มีเกาะขนาดใหญ่อยู่ 2 เกาะ คือ เกาะเภตราและเกาะเขาใหญ่ บนเกาะมีสภาพป่าสมบูรณ์มาก ส่วนที่เป็นหาดทรายก็เป็นทรายขาวสะอาด อีกทั้งในน้ำยังมีปะการังและแหล่งหญ้าทะเล จึงเป็นที่วางไข่และอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะเต่าทะเลหลายชนิด
การขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรากว่า 4,700 ไร่ ล้วนเป็นพื้นที่ในทะเล โดยในจำนวนนี้จะใช้พื้นที่ 292 ไร่ระหว่างเกาะเขาใหญ่กับเกาะลินต๊ะ ก่อสร้างแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตรขึ้นมา เพื่อให้เป็นส่วนของท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งระยะทางที่ห่างจากชายฝั่ง 4.2 กิโลเมตร จะสร้างสะพานที่เป็นทั้งถนนและรางรถไฟ เชื่อมเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ ส่วนพื้นที่น้ำที่เหลือ อีกราว 4,408 ไร่ถูกกำหนดให้ใช้เป็นเส้นทางเดินเรือสินค้า
สำหรับผลกระทบนอกจากที่จะมีคลื่น ตะกอน ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและการไหลของน้ำ รวมถึงมลพิษทางเสียงที่เกิดจากการเดินเรือแบบเดียวกันแล้ว ในส่วนของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ยังมีข้อที่น่าวิตกกว่าคือ การที่เป็นจุดที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกจึงอาจจะเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามมา แถมใกล้กับจุดที่ตั้งท่าเรือและเส้นทางเดินเรือยังมีแนวปะการังที่ยังสมบูรณ์และสวยงาม มีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่หลายร้อย ไร่ที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูน
“ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรามีท่าเรือท่องเที่ยวปากบาราตั้งอยู่ เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมาได้รับงบประมาณ 318 ล้านบาทขยายให้เป็นท่าเรืออเนกประสงค์และจะเสร็จในปี 2554 ท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นอยู่ในบริเวณไม่ไกลกันนัก แต่เส้นทางเดินเรือท่องเที่ยวไปเกาะตะรุเตากับเส้นทางเรือสินค้าในอนาคตจะทับกัน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไข”
เทิดไทย ขวัญทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า กรณีการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ เพื่อใช้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราคงต้องใช้เวลาอีก พอสมควร ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาอีกทอดหนึ่ง ก่อนที่จะส่งให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม หลายปีมานี้รัฐบาลมีแผนที่จะนำทั้ง 2 อุทยานฯ ในจังหวัดสตูลไปรวมกับอุทยานแห่งชาติทั้งบกและทะเลอื่นๆ ตลอดแนวชายฝั่งอันดามัน 15 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 1 แห่ง รวมทั้งหมดเป็น 18 แห่ง แล้วจัดตั้งเป็น “พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ ทะเลอันดามัน” เพื่อเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยลงทุนจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษาเพื่อการนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่ในส่วนของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ในปี 2525 ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็น “มรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves)” ไปแล้วด้วย
ดังนั้น การเกิดขึ้นของท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของแผนปลุกปั้นโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดให้เป็นจริงนั้น ย่อมต้องมีผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนเป็น “แหล่งมรดกโลก” ของพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันอย่างแน่นอน
|
|
 |
|
|