|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การเคลื่อนไหวของ “เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย” ต่อต้านกลุ่มทุนขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล ด้วยหวาดหวั่นผลกระทบแหล่งท่องเที่ยวชื่อกองโลกอย่างเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งกำลังจะฟ้องศาลปกครองและอาจจะซ้ำรอย “คดีมาบตาพุด” ในพื้นที่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดนั้น เรื่องนี้กระทบแผนพัฒนาโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดเข้าอย่างจัง
“เรากำลังจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กลาง และจะขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวแบบเดียวกับคดีมาบตาพุดที่ระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด”
เรืองนาม ใจกว้าง ประธานมูลนิธิเกาะสีเขียว และนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ฝั่งตะวันออก บอกเล่ากับ ผู้จัดการ 360° ถึงการรวมตัวกันครั้งใหญ่ของประชาคมในเกาะท่องเที่ยวกลางทะเลอ่าวไทย และเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย ซึ่งได้ลุกขึ้นคัดค้านโครงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมรายชื่อประชาชน องค์กร สมาคม หรือมูลนิธิต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะเป็นโจทก์ร่วมกัน เบื้องต้นตกลงกันว่าจะมอบหมายให้ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้าน สภาวะโลกร้อน รับไปดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองกลางที่กรุงเทพฯ
ในอีกทางหนึ่งก็กำลังรอดูท่าทีของรัฐว่าจะตัดสินใจอย่างไร หลังมีการเคลื่อน ไหวคัดด้านต่อเนื่องกันมา เพราะได้ยื่นเรื่อง ไปยังนายกรัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมา ธิการต่างๆ ในรัฐสภา รวมถึงชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ด้วยแล้ว
“เร็วๆ นี้เราจะยื่นหนังสือทวงถามอีกครั้ง พร้อมกำหนดวันดีเดย์เลยว่ารัฐบาลจะยกเลิกสัมปทานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซรอบๆ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าหรือไม่ ถ้าไม่มีคำตอบอีกก็คงต้องเคลื่อนไหวต่อ แล้วผลักดันให้ฟ้องศาลไม่เกินปลายปีนี้”
เรืองนามให้ความเห็นว่า การต่อสู้ในครั้งนี้อยากให้มีการใช้ข้อมูลทางวิชาการกันอย่างจริงจัง โดยฝ่ายคัดค้านแท่นขุดเจาะน้ำมันมีแผนตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว ดึงนักวิชาการจากสถาบันที่เป็นที่ยอมรับเข้าร่วม จากนั้นให้มีการจัดเวทีถกกันของทุกฝ่ายเพื่อให้สังคมได้รับรู้
ที่ผ่านมา มีคนในภาครัฐและกลุ่มทุนเจ้าของสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยพยายามอธิบายว่า ปัญหาที่มาจากแท่นขุดเจาะที่จะส่งกระทบต่อทั้ง 3 เกาะมีน้อยมากหรือมีอัตราเพียงประมาณ 3% เท่านั้น ขณะที่ปัญหาจากเรือขนส่งน้ำมันมีสูงกว่าถึง 20-30%
แต่ไม่ว่าจะเสี่ยงน้อยหรือเสี่ยงมาก ล้วนมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นได้ทั้งนั้น และเมื่อเกิดแล้วต่างก็กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีความพยายามบอกด้วยว่า กลุ่มคัดค้านโครงการสำรวจและเจาะน้ำมันไม่น่าจะตื่นเต้นเกินไป และไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับกรณีอุบัติเหตุที่เกิดกับแท่น ขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่น้ำมันโลกอย่างบริษัทบีพี ออยล์ของอังกฤษ อันเป็นเหตุการณ์ที่สร้าง ผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกาขั้นวิกฤติ และเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก
เนื่องเพราะแท่นขุดเจาะในอ่าวไทย อยู่ในเขตน้ำตื้นเพียง 30-80 เมตร แถมแรงดันก็ต่ำ อีกทั้งน้ำมันในใต้ทะเลก็มีน้อย กว่า ส่วนแท่นขุดเจาะในอ่าวเม็กซิโกอยู่ลึก ถึงกว่า 1,600 เมตร แรงดันจึงมีปริมาณที่สูงมาก
“ผมก็อยากบอกกลับไปว่าเมื่อน้ำมัน ในอ่าวไทยมีน้อยก็ไม่ควรให้มีการขุดเจาะ เพราะสิ่งที่เราเป็นห่วงกันมากก็คือ พื้นที่นี้เป็นเขตที่มีพายุไต้ฝุ่น หากในอนาคตเกิดเหตุการณ์แบบพายุเกย์จะสามารถควบคุมกันได้อยู่อีกไหม” เรืองนามสำทับก่อนที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ปัจจุบันมีการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า รวมกันแล้วหลายแสนล้านบาท มีโรงแรมราว 800 แห่ง รวมห้องพักกว่า 2 หมื่นห้อง สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศชาติในแต่ละปีเกินกว่า 2 หมื่นล้านบาทมาตลอด และก็กระจายอยู่ในคนทุกอาชีพ ในทุกภาคส่วน อีกทั้งยังได้สร้างมูลค่าเพิ่มไปยังพื้นที่อื่นๆในประเทศอีกมากมาย
นอกจากนี้ยังเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ธุรกิจท่องเที่ยวหากให้มีการพัฒนาที่ดีก็จะนำไปสู่ความยั่งยืน และสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อเนื่องกันไปได้ชั่วลูกหลาน ขณะที่อุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันที่สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละไม่กี่หมื่นล้านบาท แต่กลับไม่มีความยั่งยืนอะไรเลย หรืออาจจะแค่ 5-10 ปีก็ดูดน้ำมันขึ้นมาหมดแล้ว
“ถ้าเรายังปล่อยให้มีการขยายการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยกันต่อไป หากเกิด อะไรขึ้นในวันข้างหน้าจะคุ้มกันไหม แล้วความเสียหายไม่ใช่มีเฉพาะกับธุรกิจท่องเที่ยวนะ แต่สังคมไทยโดยรวมต้องรับผลกระทบไปด้วยอย่างแน่นอน”
สำหรับแกนนำเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย นอกจากเรืองนาม ใจกว้าง ยังประกอบไปด้วยรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรี เมืองเกาะสมุย ในฐานะประธาน เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย ผู้แทนชุมชนผู้เดือด ร้อนและเสียหายในพื้นที่เกาะสมุย เกาะ พะงัน เกาะเต่า และใกล้เคียงจังหวัดสุราษฎร์ธานี สุธรรม สามทอง รองนายกเทศมนตรีเมืองเกาะสมุย
นพ.บรรณศาสตร์ เรืองจันทร์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ธีรกิจ หวังมุทิตากุล ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไชยยันต์ ธุระสกุล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเต่า วรรณี ไทยพานิช นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะพะงัน วัลวลี ตันติกาญจน์ นายกสมาคมสปาสมุย มาลีพันธ์ ซาฮิล หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลเกาะเต่า
มานพ แซ่เตียว ประธานชมรมรักษ์พะงัน รัฎดา สามหมุน เลขาธิการชมรมรักษ์เกาะเต่า อานนท์ วาทยานนท์ กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี อยับ ซาดัดคาน รองนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทนงศักดิ์ สมวงศ์ ประธาน กลุ่มรักษ์เฉวง และวชิรพงศ์ สกุลรัตน์ ประธานชมรมพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขนอม
ด้านศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ตอบข้อสงสัยผู้ที่ได้รับผลกระทบและประชาชนที่จะร่วมลงชื่อฟ้องศาลปกครองกลางไว้ว่า การฟ้องครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิ์ของประชาชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้รัฐและผู้ประกอบการสำรวจ ขุดเจาะน้ำมันดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ที่ว่า
“...การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน”
รวมทั้งให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากร ธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
นอกจากนี้แล้วการฟ้องศาลปกครองจะไม่ขอให้สั่งระงับเพียงแค่ 4 โครงการที่ตั้งอยู่รอบๆ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าเท่านั้น แต่จะขอให้ศาลมีคำสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมทั้งพื้นที่อ่าวไทยที่มีมากกว่า 26 โครงการด้วย
โดยจะเลือกฟ้องเฉพาะหน่วยงานราชการทั้งหมด เช่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี เป็นต้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีไม่ สามารถฟ้องกลับได้ เพราะเป็นคดีสาธารณะ และเป็นคดีปกครอง
อีกทั้งบริษัทที่ได้รับสัมปทานสำรวจ และขุดเจาะน้ำมันคู่กรณีก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้องกลับเช่นกัน เนื่องจากไม่ใช่คู่กรณีตามคำฟ้อง
สำหรับผลกระทบจากโครงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ใกล้เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ซึ่ง เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยรวบรวมขึ้นในปี 2553 นอกจากจะแจกแจงผลกระทบครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ความไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว และการดำรงอยู่ของชุมชนที่พึ่งการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจประกอบด้วย
ตามที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานและหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยว ข้องได้อนุมัติให้มีการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่รอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของประเทศ ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองนั้น
มีที่ได้ขออนุญาตขุดเจาะสำรวจก่อน ปี 2553 คือแปลงสัมปทาน G4/50 ของบริษัทเชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด มีระยะห่างจากเกาะพะงันและเกาะสมุยเพียง 65 กับ 78 กิโลเมตร และ G6/48 ของบริษัท เพิร์ลออยล์ (อมตะ) จำกัด มีระยะห่าง 113 กับ 110 กิโลเมตร
นอกจากนี้ยังมีแปลงสัมปทานที่ขออนุญาตขุดเจาะสำรวจใหม่ปี 2553 ที่อยู่ใน ขั้นตอนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีหลุมเจาะใกล้เกาะสมุย เกาะพะงันและเกาะเต่าอีก 2 บริษัทคือ
แปลงสัมปทาน B8/38 ของบริษัทซามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) จำกัด ห่างจากเกาะเต่าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 65 กิโลเมตร
กับแปลงสัมปทาน G5/50 ของบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด มีระยะห่างจากเกาะสมุยไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพียง 42 กิโลเมตร และห่างจากชายฝั่งอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปทางทิศตะวันออกเพียง 41 กิโลเมตร
การเกิดขึ้นของโครงการสำรวจและขุดเจาะที่มีระยะที่ใกล้กับเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และบริเวณชายฝั่งจะสร้างมลภาวะ อาทิ ตะกอน คราบน้ำมัน กลิ่นเหม็นและของเสียจากการผลิต ทั้งในกรณีปกติและกรณีเกิดการรั่วไหลของน้ำมันจากอุบัติเหตุ หรืออุบัติภัยธรรมชาติ ซึ่งมัก จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอ่าวไทย
จึงเป็นที่หวั่นเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการประกอบสัมมาชีพของผู้คนมากมายนับแสนคนและยังทำให้สูญเสียภาพลักษณ์ด้านความสวย งามทางธรรมชาติของท้องทะเลและเกาะแก่งต่างๆ
อันมีผลกระทบโดยตรงต่อตำแหน่งทางการตลาดท่องเที่ยวทางทะเลที่ทั้ง 3 เกาะ และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองมีอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งปัจจุบันยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดที่สำคัญให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเยือนไทย
อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดกับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญมากที่สุดของไทย โดยเฉพาะ “ไข่มุกอันดามัน” อย่างเกาะภูเก็ต และ “มรกตอ่าวไทย” อย่างเกาะสมุย เคยมีกรณีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว
ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือ การก่อสร้างแลนด์บริดจ์ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักให้กับการเกิดขึ้นของโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดบนแผ่นดินด้ามขวาน รัฐบาลที่ผ่านๆ มาต้องตัดสินใจเคลื่อนย้ายทั้งเส้นทางและจุดที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกหลายหน แม้จะเสียงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทสร้างเส้นทางสายพิเศษอย่างถนนเซาเทิร์นไปแล้วก็ตาม
จนการเดินเครื่องปลุกปั้นโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดให้เกิดขึ้นต้องชะงักงันไปหลายครั้ง ทำให้เกิดความล่าช้ามากว่า 20 ปีอย่างที่เห็นในวันนี้
ณ วันนี้วาทกรรมการพัฒนาที่บอกว่า ธุรกิจท่องเที่ยวไปได้กับอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยเฉพาะภายใต้กรอบการพัฒนาโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดที่ประกาศยุทธศาสตร์ไว้ว่า ต้องการให้เป็นเส้นทางโลจิสติกส์น้ำมันข้ามโลกแห่งใหม่ และเป็นศูนย์กลางพลังงานโลกด้วยนั้น กำลังจะถูกพิสูจน์อีกครั้งในอีกไม่นานนี้
|
|
|
|
|