|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
พลันที่แสงแรกของวันสาดส่อง ผู้คนที่อยู่บริเวณหาดคอเขาในอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช หากผันสายตาออกไปในทะเลก็จะเห็นเรือสีเขียวขนาดใหญ่ที่มีเสากระโดงตระหง่านอยู่ 3 เสา ลอยลำอยู่
มันคือเรือเรนโบว์วอริเออร์หรือนักรบสายรุ้ง เรือธงที่ใช้ในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ องค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติที่ดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก ซึ่งทอดสมอห่างฝั่งออกไปในทะเลราว 2 กิโลเมตร
ครั้นสายๆ บริเวณชายหาดก็คึกคักไปด้วยกองเรือประมงพื้นบ้านกว่า 50 ลำ ที่นัด กันมาจาก 3 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราชคือ สิชล ท่าศาลา และขนอม ซึ่งได้เคลื่อน ขบวนพาแกนนำเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย ชาวประมง ชาวบ้าน นักเรียน และสื่อมวลชนหลายร้อยชีวิตออกจากชายฝั่งไปล้อมรอบนักรบสายรุ้ง
จากนั้นกองเรือประมงพื้นบ้านส่งประยุทธ วรรณพรหม แกนนำเครือข่ายพร้อมคณะ ขึ้นเรือใหญ่เป็นตัวแทนทำพิธีแลกธงกับดิเรค นิโคล กัปตันเรือเรนโบว์วอริเออร์ ก่อนที่จะรับกัปตันและนักเคลื่อนไหวจากหลายชาติที่รวมตัวกันมากับเรือใหญ่กว่า 30 ชีวิตกลับเข้าสู่ฝั่ง เพื่อทำกิจกรรม “ถอดปลั๊ก ถอดนิวเคลียร์” ร่วมกันบริเวณชายหาดคอเขา
นักรบสายรุ้งเดินทางมาเยือนหาดคอเขาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 ก่อนจะเดินทางกลับสู่ท้องทะเลอ่าวไทยในวันถัดไปคือ 23 กันยายน 2553 ได้เคลื่อนขบวนไปรณรงค์ และทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันต่อที่บริเวณอ่าวท้องชิงในอำเภอขนอม
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นนัยว่า ในเวลานี้พื้นที่ภาคใต้ถูกเร่งรัดพัฒนา โดยเฉพาะการก่อเกิดโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ ซึ่งจะเชื่อมร้อย โยงใยกันจนนำไปสู่การพลิกโฉมผืนแผ่นดินด้ามขวานอย่างขนานใหญ่ อันจะส่งผลให้พื้นที่ ภาคใต้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดมหึมาในอนาคต
ประมวลจากแผนการพัฒนาของภาครัฐก็จะเห็นเมกะโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นทั่วภาคใต้ เริ่มจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกกำหนดให้อยู่ในภาคใต้มากถึง 10 โรง จากที่รัฐวางแผนไว้ให้มีทั่วประเทศ 17 โรง โดยมีจุดที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชุมพร 3 โรง จังหวัด สุราษฎร์ธานี 2 โรง ที่เหลือ 5 โรงกระจุกอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
แต่หากรวมเอาจุดที่ตั้งอยู่ริมอ่าวไทย ซึ่งเชื่อมโยงทางทะเลถึง 14 จังหวัดภาคใต้แล้ว ก็ต้องเพิ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าไปอีก 4 โรงคือ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2 โรง จังหวัดชลบุรี 1 โรง และจังหวัดตราด 1 โรง รวมเป็นว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งล้อมรอบทะเลอ่าวไทยมากถึง 14 โรง
โครงการขนาดใหญ่ที่มีการลงหลักปักฐานไปแล้ว ได้แก่ โครงการลงทุนร่วมระหว่าง 2 ชาติคือ โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย โรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 1 และกำลังจะ สร้างโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 ตามมาในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าจากก๊าซที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
ถ้านับรวมเมกะโปรเจกต์อื่นๆ ในภาคใต้ที่ภาครัฐวางแผนไว้และก็มีที่คิดจะผลักดัน ให้เกิด รวมถึงภาคเอกชนอยากจะลงทุนเพิ่มเข้าไปอีก จะยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย อาทิ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 6 โรง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ตอนบนและพื้นที่คาบเกี่ยวกันคือ จังหวัดชุมพรกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1 โรง มีแผนจะตั้งในอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอีก 1 โรงในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
ในส่วนโครงการก่อสร้างอุตสาหกรรมเหล็กขนาดใหญ่แบบครบวงจร หรือต้องการให้มีกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นอกจากในภาคตะวันออกที่จังหวัดจันทบุรี แล้ว ในส่วนของภาคใต้มีการเลือกสรรพื้นที่ไว้รองรับแล้วคือพื้นที่ทะเลริมอ่าวไทยในอำเภอ ระโนด จังหวัดสงขลา อีกทั้งยังมีข่าวว่าบริเวณทุ่งนเรนทร์ในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับจังหวัดสงขลาก็ถูกเล็ง ไว้เช่นกัน
ด้านพื้นที่ที่จะใช้รองรับการก่อสร้าง อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่แบบครบวงจร อันเป็นผลพวงที่ทะลักล้นมาจากพื้นที่ โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งจะมีโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซรวมอยู่ด้วย มีที่วาง แผนและคิดไว้ในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ได้แก่ บริเวณชายฝั่งทะเลแถบอำเภอท่าศาลา สิชล ขนอมและนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวมถึงพื้นที่ในอำเภอละงูและต่อเนื่องถึงอำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
ที่ผ่านมาการนิคมอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (กนอ.) ได้ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในภาคใต้ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตั้งอยู่ที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี และที่วางแผนงานไว้นานแล้วคือ นิคมอุตสาหกรรมบ้านนาเดิมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เหล่านี้ยังไม่นับรวมที่เคยมีแผนงานขยายนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีกในหลายจังหวัดของภาคใต้
อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาในระดับกลุ่มจังหวัดและของแต่ละจังหวัดในภาคใต้ด้วย อย่างกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนที่ได้แจ้งเกิดไปแล้ว เช่น เขตอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี เวลานี้มีโรงงานแปรรูปอาหารทะเลเข้าไปตั้งอยู่จำนวนมาก ในจังหวัดนราธิวาสมีแผนจะปลุกปั้นเขตอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก เน้นวัตถุดิบจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน จังหวัดยะลาจะมีเขตอุตสาหกรรมที่บ้านสวนส้ม เน้นในเรื่องของผลไม้ ขณะที่จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลาก็มีแผนทำเขตอุตสาหกรรมที่เน้นแปรรูปการเกษตร เช่นกัน
เหล่านี้ยังไม่นับรวมเมกะโปรเจกต์ที่ภาคเอกชนวางแผนหรือคิดไว้ อย่างกลุ่มของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ได้ซื้อที่ดินเตรียมไว้ลงทุน ทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีประมาณ 2,400 ไร่ กับกลุ่มทุนท้องถิ่นใน จังหวัดสงขลาที่มีการรวบรวมที่ดินเตรียมไว้สำหรับทำนิคมอุตสาห-กรรมในพื้นที่อำเภอจะนะเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีที่เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ โครงการสร้างเขื่อนกั้นน้ำในลุ่มน้ำปากพนังที่เดินหน้าไปแล้ว โครงการเขื่อนกั้นน้ำในทะเลสาบสงขลา เขื่อนและอ่างเก็บน้ำอื่นๆ อาทิ คลองกลาย คลองลำแชง คลองลำขัน คลองหิน คลองนาปรัง และอีกมากมาย ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อเตรียมน้ำไว้ให้กับภาคอุตสาหกรรม
ในส่วนของท่าเรือก็มีกระจายอยู่ทั่วในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่ก่อสร้างไปแล้ว ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 1 ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ท่าเรืออเนกประสงค์ระนอง ท่าเรืออเนกประสงค์ชุมพร ท่าเรืออเนก ประสงค์และท่าเรือท่องเที่ยวหลายแห่งในสุราษฎร์ธานี ท่าเรืออเนก ประสงค์ปากบาราในอำเภอละงู จังหวัดสตูล ถ้าเป็นถนนก็อย่างเช่น ถนนเซาเทิร์น เป็นต้น
แผนและแนวคิดการพัฒนาทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกับแผนพัฒนา ในภาพรวมของภาคใต้ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและเอกชนต้องการใช้โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด เป็นเหมือนสว่านเจาะทะลุทะลวงให้เกิดการลงทุนด้านต่างๆ ตามมาอย่างเป็นรูปธรรม
ช่วงการเกิดโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดในระยะแรก รัฐกำหนดแนวก่อสร้างสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ไว้ที่ภาคใต้ตอนกลาง นครศรีธรรมราช-กระบี่ แล้วเลื่อนไปอีก นิดหน่อยเป็นนครศรีธรรมราช-พังงา แต่ในเวลานี้ได้ให้ย้ายแนวใหม่เลื่อนลงมาภาคใต้ตอน ล่างคือ แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล
โดยในส่วนของแลนด์บริดจ์จะประกอบไปด้วยการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 แห่งในอ่าวไทยและอันดามัน แล้วเชื่อมกันด้วยทางรถไฟสายใหม่ ถนนปรับปรุงจากที่มีอยู่ให้เป็นในลักษณะมอเตอร์เวย์ ระบบท่อส่งน้ำมันและท่อส่งก๊าซที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งในแต่ละส่วนนั้นก็ถือเป็นการลงทุนในลักษณะเมกกะโปรเจกต์ด้วยกันทั้งสิ้น
มีคำถามว่า ที่ภาครัฐเร่งรัดพัฒนาภาคใต้ให้เต็มไปด้วยเมกะโปรเจกต์นั้น ทำไมจึงมากมายไปด้วย “วาระซ่อนเร้น”
คำถามนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นสิ่งที่สังคมในหลายภาคส่วนได้ประจักษ์ อีกทั้งมีชุมชนและประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว
เป็นที่ทราบกันดีว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดวาระซ่อนเร้นก็เนื่องจากทุกเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ ล้วนมีกลุ่มผลประโยชน์ยืนทะมึนทึมอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักการเมืองที่กุมกลไกอำนาจรัฐ กลุ่มข้าราชการและเทคโนแครตที่เป็นฝ่ายชงเรื่องให้ตัดสินใจ และกลุ่มทุนทั้งไทยและเทศที่ค่อยจ้องเข้าไปฮุบโครงการไว้ในอุ้งมือ
ภาพอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายการเมืองที่เข้า ไปพัวพันกับผลประโยชน์ด้านพลังงานของชาติ ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปบริษัท ปตท. การขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ เพื่อนำเงินกว่า 7.6 หมื่นล้านบาทไปลงทุนในธุรกิจน้ำมัน การดึงกลุ่มทุนข้ามชาติอย่างโมฮัมหมัด อัล ฟาเยด และดูไบเวิลด์เข้ามามีผลประโยชน์ ในธุรกิจน้ำมันของไทย
แม้จะเป็นเพียงตัวอย่างเดียว แต่ก็คือภาพสะท้อนที่ดีของสังคมไทยและเกี่ยวพันกับโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดโดยตรงด้วยเช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงปรากฏภาพของความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นในแทบจะทุกขั้นตอน ดำเนินงาน การไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลหรือเปิดเฉพาะในสิ่งที่ต้องการเปิด บางครั้งถึงขั้นบิดเบือนข้อมูลเลยก็มีให้เห็น ทั้งนี้เพราะไม่ต้องการให้เกิดการรู้เท่าทัน รวมถึง เกิดการคัดค้านขึ้นในหมู่ประชาชน
นอกจากนี้แล้ว ความที่เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่และจะส่งผลกระทบกว้างขวาง กฎหมายจึงบังคับให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือบางโครงการต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ด้วย แต่มักปรากฏ ว่าการจัดทำรายงานดังกล่าวเป็นไปแบบเพื่อให้ผ่านการพิจารณาเท่านั้น บางครั้งถึงขั้นใช้ข้อทูลเท็จเลยก็มี
เฉพาะโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดที่รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าก่อสร้าง โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างพื้นที่อย่างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ในเวลานี้ก็กำลังเป็นที่โจษขานกันอย่างกว้างขวางถึงวาระซ่อนเร้นที่มีอยู่มากมาย
เริ่มตั้งแต่แผนแม่บทของโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด จัดทำขึ้นครั้งแรกในปี 2536 ใน เวลานั้นพื้นที่เป้าหมายของโครงการอยู่ที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนกลาง ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต ส่วนโครงสร้างพื้นฐานคือแลนด์บริดจ์นครศรีธรรมราช-กระบี่ หรือภายหลังเปลี่ยนเป็นแลนด์บริดจ์นครศรีธรรมราช-พังงา
แต่ความที่โครงการมีอันต้องสะดุด หยุดชะงัก หรือถูกชะลอ รวมระยะเวลายืดยาว เกือบ 20 ปี แถมพื้นที่เป้าหมายก็ถูกเลื่อนจากภาคใต้ตอนกลางลงมาอยู่ตอนล่าง และเส้นทางที่จะก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักก็เปลี่ยนไปเป็นแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้สมควรต้องจัดทำแผนแม่บทฉบับใหม่ขึ้นมารองรับ แต่ปรากฏว่าไม่มีความเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ข่าวคราวในเรื่องนี้ออกมาจากภาครัฐเลย
การก่อสร้างแลนด์บริดจ์ที่มีองค์ประกอบหลายส่วน แต่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานชุด เดียวกัน ในเวลานี้รัฐบาลกลับกระจายการศึกษาและออกแบบก่อสร้าง รวมถึงการจัดทำรายงาน EIA แยกออกเป็นเสี่ยงๆ แถมบางโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่มีการศึกษาใหม่ โดยเฉพาะถนนมอเตอร์เวย์ที่ใช้การปรับปรุงจากที่มีอยู่แล้ว จึงไม่ได้นำไปสู่การประมวลผลในภาพรวมของโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่อย่างแท้จริง
นอกจากนี้แล้วระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าซที่เป็นอีกส่วนประกอบหลักของแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะส่งผลต่อยุทธศาสตร์ศูนย์กลางการขนส่งพลังงานแห่งใหม่ของภูมิภาคอาเซียนนั้น การเดินหน้าโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดในเที่ยวนี้กลับมีความพยายามจะไม่กล่าวถึงเรื่องนี้ต่อสาธารณะ เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบที่เป็นด้านลบตามมา
ทั้งที่ในความเป็นจริงมีการศึกษาไว้อย่างเป็นระบบทั้งหมดแล้ว โดยในแผนกำหนด ให้ฝั่งอ่าวไทยมีการวางทุ่นรับน้ำมันกลางทะเลห่างจากฝั่งราว 40 กิโลเมตร แล้วต่อท่อขึ้น ฝั่งที่บ้านวัดขนุนในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยจะใช้พื้นที่บริเวณชายทะเลตรงนั้น ประมาณ 10,000 ไร่ สร้างคลังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่
จากนั้นวางท่อลำเลียงใต้ดินเป็นระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร เชื่อมไป ยังฝั่งอันดามันที่บ้านปากบาราในอำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยจะใช้พื้นที่ชายทะเลบริเวณนั้นประมาณ 5,000 ไร่ สร้างคลังเก็บ น้ำมัน ก่อนที่จะต่อท่อลงทะเลไปประมาณ 37 กิโลเมตร แล้วทำเป็นทุ่นรับน้ำมันแบบเดียวกัน
ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน เดิมทีไม่มีแผนที่จะให้รถไฟสายนี้ขนส่งผู้โดยสาร แต่จู่ๆ หลังจากรู้ว่าถูกต่อต้านหนักก็มีการเพิ่มขบวนรถโดยสารผสมโรงเข้าไปด้วย แล้วตลอดเส้นทางประมาณ 142 กิโลเมตรก็กำหนดให้สร้างสถานีเพียง 2 แห่ง ซึ่งล้วน อยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูลทั้งหมด
อาจจะมีความเคลื่อนไหวที่แสดงให้ เห็นว่ามีการศึกษาในภาพรวมอยู่บ้างคือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เคยลงพื้นที่จังหวัดสงขลาจัดเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เรื่องผลกระทบและทางออกของโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด กรณีการก่อสร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล แต่ประชาชนส่วนมากก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร
เหล่านี้คือภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งชี้ว่ามีวาระซ่อนเร้นในการเดินหน้าโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งศึกษาและลงพื้นที่เก็บ ข้อมูลแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลมาต่อเนื่อง ทั้งในฐานะนักวิชาการ และเป็นอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ความเห็นไว้ว่า การจะศึกษาผลกระทบของโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดนั้น ต้องทำการศึกษาในภาพรวมอย่างแท้จริง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
“การศึกษาเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานแบบเป็นตัวๆ ไป เช่น จะดูเฉพาะท่าเรือน้ำลึกปากบารา หรือทางรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแลนด์บริดจ์เท่านั้นไม่ได้ เพราะเรื่องนี้มีนัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาแบบเปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นศูนย์กลางพลังงานและการขนส่งของภูมิภาคอาเซียน”
ดร.อาภาเล่าว่า จากที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ตามแนวแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ชาวบ้านจะพูดเป็นเสียงเดียว กันว่าแทบไม่เคยรับทราบข้อมูลจากรัฐบาล เลย ทั้งที่ผลศึกษาส่วนต่างๆ เสร็จหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง เส้นทางรถไฟ รวมถึงการจัดทำรายงานผลกระทบ สิ่งแวดล้อม ซึ่งดูเหมือนมีการรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านไปหมดแล้ว แต่กลับไม่มีการระบุว่าชาวบ้านไม่เห็นด้วย ไม่รู้ว่ารัฐกำลังจะทำอะไรบ้าง แล้วพวกเขาจะถูกเวนคืนที่ดินหรือเปล่า
สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล บอกว่า จากการที่โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดดำเนินไปแบบมีวาระซ่อนเร้นมากมาย เครือข่าย จึงประสานงานไปยังทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องแล้วว่า หากจะมีการเดินหน้าก่อสร้างโครงการต่อไป ก็คงต้องตั้งทีมทนายความเพื่อฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับการก่อสร้างแน่นอน
การเดินหน้าก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้ยื่นลงไปในทะเลกว่า 4 กิโลเมตร รวมถึงสร้างเส้นทางรถไฟต่อเชื่อมออกมาจากท่าเรือด้วย โดยจะต้องมีการขอเพิกถอนพื้นที่กว่า 4,700 ไร่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เรื่องนี้เครือข่ายกำลังดำเนินการรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วย เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เวลานี้มีข้อมูลที่ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ในอำเภอละงูจำนวนมาก โดยคัดเอาคนในพื้นที่หรือที่เป็นคนใต้ให้ได้มากที่สุด แถมไม่ให้เอารถจากส่วน กลางลงมาใช้ แต่ให้เช่าเอาจากคนสตูล ทั้งนี้ก็เพื่อปูพรมให้การก่อสร้างเส้นทางรถไฟเป็นผลโดยเร็วที่สุด
ซึ่งก็เป็นการกระทำแบบเดียวกับที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่ง ในเวลานี้ได้ระดมทั้งวิศวกรและเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนในพื้นที่ ลงลุยผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดนครศรีธรรมราชให้บรรลุผลโดยเร็ว
อภินันต์ ชนะคช คณะทำงานเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาภาคใต้กล่าวว่า เขาเคย รวบรวมสิ่งที่ภาครัฐยังไม่ยอมเปิดเผยต่อประชาชนเกี่ยวกับโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งก็ได้หลายสิบประเด็น เฉพาะในพื้นที่อำเภอรัตภูมิบ้านเกิดก็มีอยู่หลายเรื่อง เช่น ถูกกำหนด ให้เป็นแหล่งทรายและหินขนาดใหญ่ที่จะนำไปก่อสร้างท่าเรือปากบารา ซึ่งจะต้องมีการระเบิดภูเขาหลายลูก ขณะที่ทรายคุณภาพที่ใช้ในการก่อสร้างก็ต้องการมากมายถึงกว่า 20 ล้านคิว
สุพร่อง แสงมณี ชาวบ้าน คลองแชง ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งบ้านและที่ดินอยู่ในแนวก่อสร้างเส้นทางรถไฟ โอดครวญว่า ใช้เวลาหลาย สิบปีสร้างครอบครัวจนมีบ้านและสวนยาง แม้ไม่มากนัก แต่ที่ผ่านมาก็หาเลี้ยงลูกทั้ง 6 คนได้แบบไม่ขัดสน ก่อนหน้านี้มีกลุ่มคนแอบอ้างว่ามาขอสำรวจน้ำใต้ดิน สุดท้ายกลับกลายเป็นเรื่องที่จะต้องถูกเวนคืน
ดนรอนี ระหมันยะ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บอกว่า การที่รัฐบาลดำเนินการให้สร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ในพื้นที่ บ้านเกิดของเขา จนเดี๋ยวนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องกันเลย ที่พอจะรู้บ้างก็ไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านมาช้านาน
ในส่วนของพื้นที่ชายฝั่งประมาณ 650 ไร่ที่จะใช้เป็นจุดสร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 มีการอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ แต่ความจริงแล้วชาวบ้านกว่า 80 ครัวเรือนได้อาศัยอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน อยู่กันมาก่อนที่จะมีการประกาศให้เป็นที่สาธารณะเสียอีก และมีบางส่วนได้รับการออกเอกสารสิทธิไปแล้ว การดำเนินการเหล่านี้ของรัฐถือว่าไม่โปร่งใสเอามากๆ
ด้านจำปา มังละกู ชาวบ้านบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล เล่าให้ฟังว่า ชายหาดบริเวณบ้านบ่อเจ็ดลูกถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ขุดทรายไปถมสร้างท่าเรือ น้ำลึกปากบารามากกว่า 10 ล้านคิว ซึ่งจะกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บหอย จับปลาทราย วางอวนกุ้ง อวนปู อวนปลาจาระเม็ด อวนปลากระบอก วางลอบดักปู และโป๊ะจับปลา ฯลฯ เขาเคยคำนวณพบว่าจะสร้างความเสียหายแก่ชาวบ้านรวมแล้วเกิน 200 ล้านบาทต่อปี
“ที่ตลกมากคือ ชายหาดที่บ้านหลอมปืน ตำบลละงู อำเภอละงู ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ที่นั่นถูกกำหนดให้เป็นแหล่งดูดทรายไปถมสร้างท่าเรือปากบารากว่า 10 ล้านคิวเช่นกัน ผมเห็นในรายงานผลกระทบ สิ่งแวดล้อมของท่าเรือปากบาราระบุว่า ทั้ง ชุมชนมีเรือประมงพื้นบ้านหากินอยู่บริเวณนั้นเพียง 2 ลำ จึงมีผลกระทบต่อชาวบ้านไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงที่นั่นเป็นจุด จอดเรือประมงหลายร้อยลำ ทั้งที่เป็นของชาวบ้านในอำเภอละงูและอำเภอใกล้เคียง”
ขณะที่บาจะ องศาราม หรือโต๊ะจะ วัย 77 ปี ผู้อาวุโสสูงสุดในชุมชนมุสลิมหมู่บ้านท่ามาลัย ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งบ้านของโต๊ะจะเอง และของลูกหลานหลายหลังกำลังจะถูกเส้นทางรถไฟ ตัดผ่าน กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า โต๊ะอายุปูนนี้ แล้วคงไปไหนไม่รอด
“จะยอมตายอยู่ที่นี่แหละ หากบ้าน หลังนี้ต้องถูกใครมารื้อถอน เอารถยักษ์มาทำลายบ้านฉัน ฉันก็จะนอนให้มันเหยียบ เพราะฉันและลูกหลานอยู่บ้านหลังนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว โดยไม่ต้องพึ่งพาความเจริญทางวัตถุเราก็อยู่กันได้”
เหล่านี้คือเสียงของชาวบ้านในพื้นที่ บางส่วนที่สะท้อนให้เห็นภาพภาครัฐกำลังเร่งเดินหน้าก่อสร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด เมื่อครั้งที่ ผู้จัดการ 360° ลงพื้นที่เก็บข้อมูล
นอกจากนี้แล้วยังมีวาระซ่อนเร้นที่น่าวิตกยิ่งกว่าอีกคือ เวลานี้มีข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาหักล้างข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของภาครัฐ แต่ถ้ารัฐยังจะเดินหน้าสร้างส่วนต่างๆ ของแลนด์บริดจ์ต่อไปตามความต้องการของนักการเมือง ที่ร่วมมือกับนายทุนและข้าราชการ เช่น ท่าเรือสงขลา 2 และท่าเรือปากบารา รวมถึงรถไฟเชื่อมสอง ฝั่งทะเลก็เป็นที่หวาดหวั่นกันว่าอาจจะเป็นการเพิ่มมรดกบาปให้กับประเทศชาติและประชาชนขึ้นมาอีก
ซึ่งคงไม่ต่างอะไรจากที่วันนี้สังคมไทยได้เห็นมรดกบาปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจากเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลในอดีต อาทิ แท่งคอนกรีตมากมายของโครงการโฮปเวลล์ หรือระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพฯ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ในจังหวัดสมุทรปราการ ท่าเรือนครสวรรค์ ท่าเรือตะพานหินในจังหวัดพิจิตร ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งหลายโครงการถูกทิ้งร้าง หรือบางโครงการใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า
หรืออย่างการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ อันเป็นส่วนหนึ่งของแลนด์บริดจ์ของโครงการ เซาเทิร์นซีบอร์ดในอดีตคือ ถนนเซาเทิร์น ซึ่งรัฐบาลต้องทุ่มเงินหลายหมื่นล้านบาทก่อสร้างขึ้นมาอย่างเป็นพิเศษ แต่ในเวลานี้กลับมีการใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินงบประมาณที่สูญเสียไปเอาเสียเลย
อย่างไรก็ตาม วาระซ่อนเร้นเกี่ยวกับโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเชื่อมโยงถึงในระดับที่พ้นไปจากกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศ หรือเหนือขึ้นไปสู่ระดับข้ามชาติก็มีด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ไม่ต่างไปจากวิกฤติไฟใต้ที่เชื่อ กันว่ามีมหาอำนาจจากตะวันตกบางประเทศอยู่เบื้องหลังความไม่สงบที่เกิดขึ้น หากนำไปสู่การเสียดินแดนจังหวัดชายแดน ภาคใต้ของไทย นั่นหมายความว่าอาณาเขต ในท้องทะเลอ่าวไทยที่มีขุมทรัพย์พลังงาน ทั้งที่เป็นน้ำมันและก๊าซมากมายมหาศาลจะต้องหายไปเกือบครึ่ง
วิกฤติเขาพระวิหารที่กำลังครึก โครมอยู่ในเวลานี้ จากขุนเขาบนแผ่นดิน ที่ราบสูงถูกทำให้ลุกลามไปตลอดแนวชายแดนจากอีสานถึงภาคตะวันออก แล้วไหลลงสู่ท้องทะเลไปเกี่ยวโยงกับขุมทรัพย์พลังงานในอ่าวไทย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ ที่จะทำให้ไทยเสียดินแดนทั้งบนบกและในทะเล โดยในส่วนของผืนทะเลกลางอ่าวไทย ที่อาจต้องเสียให้เขมรไปนั้น เป็นแหล่งที่มีน้ำมันจำนวนมหาศาลเช่นกัน
อีกทั้งวิกฤติเกาะแก่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางอ่าวไทยที่กำลังวิตกกังวลกับแท่นขุดเจาะของบรรดากลุ่มทุนน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก แม้กระทั่งวิกฤตการณ์ที่ชาวบ้านกลายในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมตัวกันลุกขึ้นต่อต้านบริษัทเชฟรอนของอเมริกา ที่กำลังทำโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย หรือชอร์เบส บริเวณชายฝั่งในพื้นที่ของที่นั่น
เนื่องจากโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดมียุทธศาสตร์เชื่อมการขนส่งและพลังงานในระดับนานาชาติ จึงมีกลุ่มทุนน้ำมันและชาติมหาอำนาจเล่นกลชักใยกดดันอยู่เบื้อง หลังจำนวนมาก อันเป็นไปในลักษณะเดียว กับหลากหลายวิกฤติที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราเวลานี้
เมื่อแสงแรกของวันสาดส่องให้เห็นเรือเรนโบว์วอริเออร์ในท้องทะเลได้ จึงเป็นที่วาดหวังกันว่า “วาระซ่อนเร้น” ที่มีอยู่มากมายหลายระดับในโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดก็จะมีแสงส่องสว่างให้เกิด “ความโปร่งใส” ขึ้นบ้าง ขณะที่กำลังถูกขับเคลื่อนให้เดินหน้าไปในเวลานี้
|
|
|
|
|