|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การย้ายเมืองหลวงไปยัง Nagaoka ถือเป็นวาระสิ้นสุดสมัย Nara ลงในปี ค.ศ. 794 หลังจากนั้นเมืองหลวงเก่าและพระราชวัง Heijokyo* ก็ถูกปล่อยปละให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาคงเหลือไว้ซึ่งพุทธศาสนาที่ยังอยู่สถาวรสืบสานต่อมาจวบจนปัจจุบัน
อาณาบริเวณไม่ห่างจาก Heijokyo มากนักมีวัดคู่บ้านคู่เมืองเก่าแก่แห่งหนึ่งชื่อ Todaiji ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่นามว่า Rushanabutsu แต่คนส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า Nara Daibutsu
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ Shomu ซึ่งเคยใช้เป็นอารามหลวงในสมัย Nara ที่แสดงบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนาออกไปทั่วราชอาณาจักร
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.724 พระนัดดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดินี Gemmei ผู้สถาปนา Heijokyo ขึ้นเป็นเมืองหลวงถาวรแห่งแรกของญี่ปุ่นในปี ค.ศ.710 นั้นทรงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 45 แห่งญี่ปุ่นซึ่งทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ Shomu
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่ารัชสมัยนี้คือจุดเริ่มต้นยุคทองของพระพุทธศาสนาใน Nara โดยเฉพาะนิกาย Kegon ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากองค์สมเด็จพระจักรพรรดิซึ่งในเวลาต่อมาทรงโปรดให้สร้างวัดประจำจังหวัดขึ้นทั่วประเทศที่เรียกว่า Kokubun-ji สำหรับพระภิกษุสงฆ์และ Kokubun-niji สำหรับพระภิกษุณีโดยมี Todaiji เป็นวัดประจำจังหวัด Yamato เมืองหลวงในสมัยนั้นซึ่งในปัจจุบันคือเมือง Nara
เกี่ยวเนื่องมาจากช่วงต้นของรัชกาลนี้มีอุบัติการณ์ของภัยธรรมชาติร้ายแรงหลายครั้งอีกทั้งการระบาดของโรคไข้ทรพิษที่คร่าชีวิตของประชาชนไปเป็นจำนวนมากอันส่งผลต่อความสงบสุขโดยรวมของประเทศและเป็นเหตุให้มีการย้ายเมืองหลวงเป็นการชั่วคราวถึง 4 ครั้ง ในช่วงปี ค.ศ.740-745 (ย้ายไปที่ Kunikyo ไปที่ Naniwakyo ไปที่ Shigarakikyo และย้ายกลับสู่ Heijokyo ดังเดิม)
ระหว่างนั้นในปี ค.ศ. 743 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ Shomu ทรงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปไวโรจนะองค์สำริดขนาดใหญ่ (Daibutsu) ขึ้นที่ Shigarakikyo ตามความเชื่อของพุทธศาสนาลัทธิมหายานที่ประสงค์ให้ปกป้องคุ้มครองประเทศจากภัยพิบัติทั้งปวง อีกทั้งยังเป็นสัญญลักษณ์ของศาสนาประจำชาติ
กระนั้นก็ตามแผนการสร้าง Daibutsu ที่วัด Kogaji ใน Shigarakikyo ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ขั้นเตรียมการเนื่องเพราะสภาพภูมิประเทศของ Shigarakikyo ตั้งอยู่ใกล้แนวภูเขาไฟซึ่งเทคโนโลยีในขณะนั้นไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างองค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่
กอปรกับในปี ค.ศ.745 ได้ย้ายเมืองหลวงกลับมายัง Heijokyo จึงเริ่มดำเนินการสร้าง Daibutsu อย่างจริงจังยังวัด Todaiji จนลุล่วงสำเร็จในปี ค.ศ.751 ด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจากทั่วราชอาณาจักรทั้งในรูปแบบของการทำบุญบริจาคเงินทองไปจนถึงการร่วมแรงในการหล่อองค์พระซึ่งพบบันทึกว่าประชาชนกว่าค่อนประเทศมีส่วนร่วมในงานบุญนี้ที่ใช้ปริมาณสำริดที่มีอยู่เกือบทั้งหมด
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งคือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ Shomu ทรงมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมาก ซึ่งกลายเป็นจักรพรรดิองค์แรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ทรงสละราชสมบัติให้พระธิดาขึ้นครองราชย์แทนแล้วผนวชเป็นพระภิกษุในปี ค.ศ.749 ก่อนเข้าร่วมพิธีเบิกพระเนตร Daibutsu ที่จัดขึ้นอย่างเอิกเกริกในปี ค.ศ.752 พร้อมกับพระภิกษุอีกราวหนึ่งหมื่นกว่ารูปและพระภิกษุสักขีพยานที่นิมนต์มาจากอินเดียและจีน
อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในพิธีเบิกพระเนตรคราวนั้น อาทิ พู่กันขนาดยักษ์ที่ใช้เขียนพระเนตรโดยพระภิกษุชาวอินเดียชื่อ Bodaisenna ได้รับการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ในเมือง Nara
ภายหลังจากพิธีเบิกพระเนตรจึงสร้างพระวิหารขึ้นมาเป็นที่ประดิษฐานสำหรับ Rushanabutstu ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.758 นอกจากนี้ยังมีเจดีย์สูงกว่า 100 เมตรคู่หนึ่งบริเวณประตูทางเข้าซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้น แต่น่าเสียดายที่เจดีย์ทั้งคู่พังล้มลงจากเหตุแผ่นดินไหวในเวลาต่อมา
จากการคำนวณของ Professor Katsuhiro Miyamoto ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำ Kansai University ประมาณมูลค่าการก่อสร้างองค์ Daibutsu และพระวิหารไว้ที่ 4.6 แสนล้านเยนเมื่อคิดเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
จำนวนเงินมหาศาลที่ใช้นี้เป็นงบประมาณบานปลายเกินกว่าที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ Shomu ทรงคาดการณ์ไว้มากจนต้องเรียกเก็บภาษีจากราษฎรเพิ่มเติมจำนวนมาก ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำเสมือนอยู่ในภาวะล้มละลาย
กระนั้นก็ดีความอลังการของสิ่งปลูกสร้างและองค์ Nara Daibutsu ได้สะท้อนให้เห็นสัมพันธภาพระหว่างรัฐและศาสน์ ซึ่ง Todaiji ไม่เพียงแต่ทรงอิทธิพลในทางศาสนาที่มีผลต่อความคิดของชนชั้นปกครองและประชาชนเท่านั้นแต่ได้ค่อยๆ ขยายอำนาจเข้าสู่การกำหนดกฎหมายและนโยบายรัฐทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองจนนำไปสู่การละทิ้ง Heijokyo ย้ายเมืองหลวงอีกครั้งแบบถาวรเพื่อลดอิทธิพลของพระสงฆ์ในยุคนั้น
ภายหลังจากการย้ายเมืองหลวงไป Nagaoka เป็นเวลา 10 ปีแล้วได้ย้ายอีกครั้งไปยัง Heiankyo ซึ่งปัจจุบันคือเมือง Kyoto นั้นได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน Nara เมื่อปี ค.ศ.855 เกิดอัคคีภัยขึ้น 2 ครั้งในปี ค.ศ.1180 และระหว่างช่วงสงคราม Senkoku ในปี ค.ศ.1567 ซึ่งทั้งหมดสร้างความเสียหายบางส่วนแก่องค์ Daibutsu และพระวิหาร
งานสมโภชหลังการบูรณะ Nara Daibutsu เสร็จสิ้นลงเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะในสมัย Kamakura (ค.ศ.1180-1333) โชกุน Yorimoto Minamoto ซึ่งเลื่อมใสในศาสนาพุทธนิกาย Jodo ได้แรงบันดาลใจจากการร่วมงานบูรณะ Daibutsu ที่ Nara และประสงค์ที่จะสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในลักษณะเดียวกันขึ้นที่ Kamakura**
มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในส่วนพระหัตถ์ในสมัย Azuchi Momoyama (ค.ศ.1573-1603) พระเศียรในสมัย Edo (ค.ศ.1603-1868) ในปัจจุบัน Nara Daibutsu มีขนาดความสูง 14.73 เมตร ด้านข้างวัดได้ 50.5 เมตร ความกว้างหน้าตัก 57.5 เมตร ซึ่งภายหลังการบูรณะครั้งล่าสุดมีขนาดความกว้างหน้าตักแคบลงราว 2 ใน 3 ส่วน หากเทียบกับบันทึกของขนาดองค์พระในสมัยสร้างเสร็จครั้งแรกนั้นมีหน้าตักที่กว้างถึง 86 เมตร ส่วนความสูงและความยาวในด้านข้างใกล้เคียงกับขนาดในปัจจุบัน
นอกจากนี้พระวิหารอันเป็นที่ประดิษฐานของ Nara Daibutsu ในปัจจุบันครองสถิติอาคารไม้หลังใหญ่ที่สุดในโลก
แม้ว่าการเฉลิมฉลองความรุ่งโรจน์แห่ง Heijokyo ครบรอบ 1,300 ปีที่ Nara กำลังดำเนินไปจนถึงปลายปีนี้ก็ตาม อำนาจและบทบาทของพระภิกษุสงฆ์อย่างในอดีตหาได้ถูกรื้นฟื้นให้กลับคืนมาแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามความสงบสุขภายใน Todaiji ทุกวันนี้สามารถรับรู้ได้จากการสักการะ Nara Daibutsu ซึ่งแสดงบทบาทอันแท้จริงตามเป้าประสงค์เดิมในฐานะของศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนาอันถูกต้องตามวิถีธรรมแห่งพุทธมานานกว่าพันปีแล้ว
อ่านเพิ่มเติม :
*คอลัมน์ Japan Walker นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือนกันยายน 2553 หรือที่ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=88860
**คอลัมน์ Japan Walker นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือนมีนาคม 2548 หรือที่ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=30023
|
|
|
|
|