ท่ามกลางการแข่งขันในทางธุรกิจ การมองไปข้างหน้าให้ไกลออกไปจากสิ่งที่กำลังเป็นอยู่เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่
ๆ ถ้าทำอะไรได้ก็ลงมือทำเสียตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่ใครจะตามทัน เป็น กลยุทธ์ในการเผชิญหน้ากับการแข่งขันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
สายตาที่ยาวไกลและเข้าใจแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงยิ่งเป็นปัจจัยของความอยู่รอด
ความล้มเหลวมีเท่า ๆ กับความสำเร็จ อยู่ที่ว่าจะมองทะลุอนาคตได้แม่นยำเพียงใด
315 เป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่เป็นผลจากวิธีคิดเช่นนี้กับผลงานซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ภาษาไทยสำหรับงานพิมพ์
(DESK TOP PUBLISHING) ที่ชื่อว่า "ออร์คิด"
วิวัฒนาการด้าน DESK TOP PUBLISHING มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อสี่ปีที่แล้ว
เมื่อบริษัท ALDUS แห่งสหรัฐอเมริกาพัฒนาซอฟท์แวร์ชื่อ PAGE MAKER ขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ
PAGE MAKER เลียนแบบการจัดหน้าของหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ไมโครคอมพิวเตอร์ที่มี
PAGE MAKER บรรจุอยู่สามารถเลือกแบบ ขนาดของตัวอักษร และวางรูปร่างหน้าตาของหนังสือได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว
โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนมากมายเหมือนเช่นที่ทำด้วยมือ
เลเซอร์พริ้นเตอร์เป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้งานพิมพ์ออกมาชัดเจน
สวยงาม ทั้ง PAGE MAKER และเลเซอร์พริ้นเตอร์ทำให้ระบบ DESK TOP PUBLISHING
เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และระบบนี้ก็เปรียบเสมือนการมีโรงพิมพ์ขนาดเล็กอยู่ในสำนักงานสามารถผลิตหนังสือหรือวารสารภายในได้เองทั้งหมด
PAGE MAKER เป็นซอฟท์แวร์ที่ใช้กับเครื่องแอ๊ปเปิ้ลแมคอินทอชโดยเฉพาะในเมืองไทยเองมีการดัดแปลง
PAGE MAKER ให้สามารถใช้กับภาษาไทยได้ แต่ก็ยังใช้ได้อย่างไม่สมบูรณ์เนื่องจากเป็นโปรแกรมสำหรับอักษรโรมันอย่างภาษาอังกฤษ
ในขณะที่ตัวอักษรไทยมีลักษณะที่แตกต่างออกไป เมื่อดัดแปลงไปใส่ใน PAGE MAKER
ทำให้มีปัญหาในการแบ่งและตัดคำรวมทั้งการใส่วรรณยุกต์ สระบางตัว
ออร์คิดจึงเกิดขึ้นเป็นซอฟท์แวร์สำหรับการจัดหน้า (PAGE COMPOSITION SYSTEM)
ที่พัฒนาขึ้นใช้กับภาษาไทยโดยเฉพาะและถูกเขียนขึ้นใช้กับเครื่องไอบีเอ็ม
พีซี IBM PC COMPATIBLE โดยเฉพาะ
"เราเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ทำซอฟท์แวร์แบบนี้ขึ้นมา
คงไม่อาจหาญที่จะพูดว่าเหนือกว่าต่างประเทศ แต่ก็พูดได้ว่าเท่าเทียมกัน"
แสวง ตันติราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท 315 จำกัด พูดถึงความโดดเด่นของ
3158 ในธุรกิจซอฟท์แวร์
แสวงไม่ได้เริ่มต้นจากธุรกิจคอมพิวเตอร์มาก่อนเช่นเดียวกับ 315 ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อทำธุรกิจซอฟท์แวร์โดยตรง
315 เกิดขึ้นเมื่อปี 2525 จากการร่วมทุนระหว่าง นรฤทธิ์ โชติเสถียร,อำพน
เสรีนิยมร่วมกับผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ผู้ถือหุ้นทั้งหมดคือหุ้นส่วนในบริษัทอาคเนย์ประกันภัยและใช้ตึกอาคเนย์ประกันภัยเป็นที่ทำการของ
315 ด้วย ชื่อ 315 นั้นมากจากที่ตั้งของตึกอาคเนย์ที่เลขที่ 315 ถนนสีลม
จุดประสงค์ของการตั้ง 315 คือการทำธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า แสวงซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อาคเนย์ธนกิจ
หรือเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติในปัจจุบันภายหลังจบการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี
2520 ถูกชุกชวนเข้ามาบริหารงานที่นี่ในปีที่ก่อตั้งนั่นเอง
ระหว่างเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านกับเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับสำนักงาน 315 วางบทบาทของตัวเองในการเป็นผู้จำหน่ายสินค้าประเภทหลังด้วยการขายเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าไอบีเอ็มเป็นสินค้าตัวแรก
ในช่วงนั้น ไอบีเอ็มประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนนโยบายการขายจากเดิมที่เคยขายตรงสู่ผู้ใช้มาขายผ่านคนกลางเป็นครั้งแรก
315 อยู่ในฐานะที่เรียกว่า VOLUME PURCHASER คือซื้อพิมพ์ดีดจากไอบีเอ็มแบบซื้อขาดครั้งละมาก
ๆ แล้วไปขายต่อเอง
"ไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจมากไปกว่านี้"แสวงอธิบายความแตกต่างระหว่าง
VOLUME PURCHASER กับตัวแทนจำหน่าย
สินค้าอื่นในระยะต่อมาที่ 315 เป็นผู้ขายคือเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าโอลิมเปียและไมโครคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็ม
ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายรับช่วงจากบริษัทคอมพิวเตอร์ยูเนี่ยนที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของไอบีเอ็มในตอนนั้น
จุดเริ่มต้นที่แสวงจะเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจคอมพิวเตอร์เริ่มขึ้นตรงนี้
แม้ธุรกิจนี้จะมีอนาคตตามบทบาทของคอมพิวเตอร์ที่ขยายตัวขึ้นมากแต่ก็เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงทำกำไรได้น้อย
เงื่อนไขในการอยู่ให้ได้และโตขึ้นไปคือการขยายตัวให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้นซึ่งหมายถึงความพร้อมในเรื่องเงินทุนด้วย
การเข้าไปสู่ธุรกิจซอฟท์แวร์จึงเป็นทางเลือกให้ของ 315 เมื่อปี 2529 "ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีซอฟท์แวร์รองรับ"
แสวงพูดถึงวิธีมองของเขา
315 ไม่ใช่รายแรกที่เข้ามาในธุรกิจซอฟท์แวร์ นักลงทุนและโปรแกรมเมอร์เก่ง
ๆ หลาย ๆ รายได้เข้ามาในวงการนี้ก่อนนานแล้ว ทางเลือกใหม่ที่แสวงตั้งใจไว้จึงต้องมองให้ลึกกว่าที่คิดเพื่อหาช่องว่างที่ยังไม่มีใครเจาะเข้าไปก่อน
ประสบการณ์จากการขายเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า และไมโครคอมพิวเตอร์ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับงานพิมพ์ทำให้แสวงมั่นใจ
ว่าตลาดในกลุ่มสำนักงานที่มีการผลิตเอกสารสิ่งตีพิมพ์ภายในองค์กรหรือบริการลูกค้าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่
ระบบ DESK TOP PUBLISHING จะทำให้ทำงานได้สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องพึ่งโรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ภายนอกซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้มาก
"การจะทำเช่นนี้ได้ต้องมองถึงอนาคต แนวโน้มอุปกรณ์ไฮเทค" แสวงอธิบายว่าอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง
ๆ จะมีราคาแพงเมื่อเข้าตลาดใหม่ ๆ เมื่อยกระดับการผลิตเป็นการผลิตในปริมาณมากต้นทุนจะลดลงอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น
ทำให้ทุกคนมีโอกาสจะซื้อมาใช้ได้ง่ายขึ้น
และการพัฒนาซอฟท์แวร์สำหรับภาษาไทยโดยเฉพาะในขณะที่ยังไม่มีใครทำนั้นเป็นข้อได้เปรียบค่อนข้างมาก
"ฝรั่งเข้ามาแข่งกับเรายากเพราะเป็นภาษาของเรา การพัฒนาใช้เทคโนโลยีสูง
เวลาเราทำเสร็จ แล้วคนอื่นจะแข่งกับเราลำบาก"
เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งแสวงเชื่อว่า โอกาสที่กฎหมายลิขสิทธิ์จะใช้บังคับกับประเทศไทยนั้นยังมีอยู่มากจะช้าหรือเร็วเท่านั้น
หากบังคับใช้แล้วโปรแกรม PAGE MAKER ที่ใช้อยู่ในตอนนี้จะเป็นการใช้ที่ผิดกฎหมายเพราะไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง
ถ้าจะใช้ก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ซึ่งทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น
โปรแกรมออร์คิดจึงเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต "ตอนที่เริ่มทำนั้นยังไม่มีใครมองเห็น
เมื่อผมเห็นโอกาสผมก็ดีกว่า" แสวงกล่าว
คนมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมพัฒนาการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ากับระบบการพิมพ์ให้แสวงได้มองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นคือพันศักดิ์
วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษา นโยบายของนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน
ทั้งสองคนพบกันเมื่อสี่ปีที่แล้ว คนหนึ่งขายคอมพิวเตอร์ อีกคนเล่นคอมพิวเตอร์อย่างมืออาชีพ
มีความเข้าใจมองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน และประสบการณ์จากนิตยสารข่าวจัตุรัสทำให้ถ่องแท้ในกระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์
"จุดเริ่มต้นจะมาจากตรงนั้นก่อนเพื่อนเลย ทำให้ผมเข้าใจไอเดียอะไรหลาย
ๆ อย่าง" แสวงพูดถึงการก่อตัวของแนวความคิดของตัวเอง
แต่แสวงมีไอเดียในการทำธุรกิจ ไม่มีความรู้ในเรื่องการเขียนโปรแกรมเลยแม้แต่น้อย
ถ้าโชคชะตาไม่ชักนำให้เขาไปรู้จักกับภาณุฑัต เตชะเสน 315 อาจจะยังขายคอมพิวเตอร์อยู่จนทุกวันนี้
"ผมพบเขาที่เชียงใหม่เมื่อปี 2529" แสวงเล่า ภาณุฑัตเป็นตนที่นั่น
จบจิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่กว่าจะค้นพบว่าความสุขของตัวเองคือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ต่อเมื่อรับราชการไปแล้วหลายปี
ทั้งสองคนตกลงจับมือกันสร้างซอฟท์แวร์ภาษาไทยขึ้น แสวงเป็นคนตัดสินใจว่าจะเดินไปทางไหน
ภาณุฑัตเป็นเสมือนนายช่างลงมือสร้างงานตามแนวทางที่แสวงเชื่อว่าเป็นอนาคตของ
315 เขาลาออกจากราชการมานั่งเขียนโปรแกรมที่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นมา
โดยลงทุนนับล้านบาทซื้อซอฟท์แวร์ที่ช่วยในการเขียนโปรแกรม (SOFTWARE TOOL)
จากต่างประเทศ
ธุรกิจซอฟท์แวร์ส่วนใหญ่ในบ้านเราเขียนซอฟท์แวร์ขึ้นตามความต้องการใช้โดยเฉพาะของลูกค้า
จึงไม่มีความเสี่ยงในเรื่องการลงทุนในขณะที่ 315 พัฒนาซอฟท์แวร์ขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อของตัวเองว่าทำเสร็จแล้วจะต้องมีคนใช้
ซึ่งมีความเสี่ยงสูงนับตั้งแต่ว่าทำแล้วจะสำเร็จหรือไม่ ถ้าสำเร็จแล้วจะขายได้หรือเปล่า
315 นำโปรแกรมออร์คิดที่พัฒนาโดยเริ่มจากศูนย์ด้วยฝีมือคนไทยออกสู่ตลาดมาได้ปีครึ่งแล้วในราคาชุดละ
35,000 บาท มียอดขายจนถึงตอนนี้ประมาณ 200 ชุด โดยการขายให้กับตัวแทนจำหน่ายเครื่องไอบีเอ็ม
และ IBM PC COMPATIBLE รวมทั้งการขายโดยตรงให้กับผู้ใช้อย่างเช่น ปตท. เอสโซ่เป็นต้น
"ปีนี้และปีหน้าเราจะขายได้ถึงปีละ 500 ชุด" แสวงเชื่ออย่างนี้และเขายังเชื่อว่าไม่มีใครตามทันหากคิดจะแข่งเพราะ
315 ไปไกลแล้ว "ผมเชื่ออยู่อย่างว่าถ้าคิดอะไรได้แล้วทำไปเลย โอกาสที่คนอื่นจะตามทันนั้นยาก"
ก้าวต่อไปของ 315 คือการพัฒนาโปรแกรมออร์คิดสำหรับใช้กับสำนักพิมพ์และงานหนังสือพิมพ์
ส่วนโปรแกรมออร์คิดสำหรับงานพิมพ์ในสำนักงานนั้นกำลังหาลู่ทางส่งออกไปยังสหรัฐฯ
เฉพาะส่วนภาษาอังกฤษ
"DESKTOP PUBLISKING แบบ LOWEND ในอเมริกานั้นขายราคา 100 - 200 เหรียญผมเชื่อว่าออร์คิดดีที่สุดในหมู่
LOWEND แต่ขายได้ถูกกว่าเพราะต้นทุนการพัฒนาเราน้อยกว่า" แสวงกล่าว
ความเป็นไปได้อีกโครงการหนึ่งคือการว่าจ้างจากรัฐบาลลาวให้ทำซอฟท์แวร์เป็นภาษาลาวซึ่งใกล้เคียงกับภาษาไทย
"50 - 50 ครับ อยู่ที่ว่าเขาจะตกลงในราคาที่เราต้องการไหม" ราคาสำหรับการพัฒนาซอฟท์แวร์ลาวจนเสร็จสมบูรณ์และขายลิขสิทธิ์ให้นั้นแสวงแย้มออกมาสั้น
ๆ ว่า "ก็เกือบล้าน"