Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ตุลาคม 2553
“เส้นทางสายไหม” สายใหม่ จาก BRIC ถึง BRICSs             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 


   
search resources

Commercial and business




“จีนกำลังพูดคุยกับพี่น้องของเราในแอฟริกา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งแตกต่างจากวิธีการของลัทธิล่าเมืองขึ้นของตะวันตกก่อนหน้านี้ที่ชอบยึดครองสิ่งต่างๆ ด้วยกำลัง...” - - จาค็อบ ซูมา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้[1]

คำประกาศของจาค็อบ ซูมา ประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ต่อหน้าสื่อมวลชน คณาจารย์ และนักศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน สถาบันการศึกษา ชั้นนำของจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม 2553 ระหว่างการเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คล้ายกับเป็นระฆังเคาะให้คนทั่วโลกตื่นตัว และรับทราบว่า ศักราชใหม่ของการค้าของโลกได้เริ่มต้นขึ้นแล้วผ่านเส้นทางสายใหม่สายใหม่ (The New Silk Road) ที่เชื่อมระหว่างกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)

ในการเดินทางไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการของผู้นำแอฟริกาใต้ที่เพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จาค็อบ ซูมา แสดงความจริงจัง ในการพัฒนาความสัมพันธ์ด้วยการหอบหิ้วผู้ติดตาม ไปด้วยคณะใหญ่อันประกอบไปด้วยรัฐมนตรี 13 คน ผู้ติดตามและนักธุรกิจอีกกว่า 370 คน

ภารกิจระหว่างการเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของซูมาไม่เพียงแค่การเข้าพบปะและพูดคุยกับสองผู้นำของจีนคือ หู จิ่นเทา ประธานาธิบดี และเวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรี แต่ยังเป็นการร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจำนวนหลายสิบฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการค้า การเงิน และการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือระหว่าง สแตนดาร์ต แบงก์ กรุ๊ปของแอฟริกาใต้ กับธนาคาร ไอซีบีซีของจีน การเชิญชวนไชน่า เนชั่นแนล นิวเคลียร์ คอร์ป (CNNC) เข้าไปสร้างโรงไฟฟ้าและถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กับแอฟริกาใต้ การเจรจาข้อตกลงเพื่อเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นร้อยละ 20 ในบริษัทผิงอัน เฮลธ์ อินชัวรันซ์ของกลุ่มประกัน ดิสคัฟเวอรีที่อาจมีมูลค่ามากถึง 200 ล้านหยวน (หรือกว่า 1,000 ล้านบาท) เป็นต้น

เป็นที่ชัดเจนว่าประเทศแอฟริกาใต้ ยักษ์ใหญ่แห่ง กาฬทวีปที่มีประชากรราว 50 ล้านคน มีความประสงค์ที่จะเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มประเทศบริก (BRIC) หรือที่สื่อมวลชนจีนเรียกขานกันว่า “สี่ประเทศอิฐทองคำ อันประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ขณะที่สื่อมวลชนจีนก็ล้อซูมาว่ากำลังเพิ่มเติมตัวอักษร “S (South Africa)” เข้าไปต่อท้าย BRIC ให้กลายเป็น BRICS

BRIC มีความเป็นมาอย่างไร?

หมุนนาฬิกากลับไปเมื่อเก้าปีที่แล้วหลังเหตุการณ์ โศกนาฏกรรม 9/11 (11 กันยายน 2544) ชื่อ BRIC หรือ BRICs ถือกำเนิดขึ้นจากจิม โอนีล หัวหน้านักเศรษฐ-ศาสตร์แห่งบริษัทวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ โกลด์แมน แซคส์ โดยโอนีลเขียนชื่อ BRICs เป็นครั้งแรกในรายงานเศรษฐกิจ “Building Better Global Economics BRICs” ซึ่งเผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน 2544 และให้ทัศนะว่า เหตุการณ์ 9/11 ทำให้เขาเชื่อว่า ดุลอำนาจของโลกกำลังจะเปลี่ยนไป โดยกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่จากซีกโลกตะวันตกกำลังจะมีบทบาทต่อโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ และโลกในอนาคตจะมิได้ถูกกำหนดตามรูปแบบของอเมริกานุวัตร (Americanization) แต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

ในรายงานชิ้นดังกล่าวโอนีลยังทำนายไว้ด้วยว่า ภายในปี 2554 (ค.ศ.2011) ขนาดของสมาชิกในกลุ่ม BRIC คือ เศรษฐกิจจีนจะใหญ่โตทัดเทียมกับเยอรมนี (วัดตามพื้นฐานของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี) ส่วนขนาดเศรษฐกิจของบราซิลและอินเดียก็จะวิ่งไล่หลังประเทศอิตาลีอยู่ไม่ห่าง ขณะที่เมื่อมองในเรื่องของการค้า หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ก็ฟันธงว่าจีน (รวมฮ่องกง) จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสูงยิ่งในระบบการค้าโลก ซึ่งนั่นย่อมทำให้เงินสกุลหยวน (CNY) กลายมาเป็นเงินสกุลหลักที่มีบทบาทอย่างยิ่งในแวดวงการค้าโลกด้วย[2]

เมื่อเวลาผ่านมาเกือบครบสิบปี การคาดการณ์ดังกล่าวของโอนีลถือว่ามีความแม่นยำไม่น้อย เพราะวันนี้ขนาดเศรษฐกิจจีนมิเพียงใหญ่โตทัดเทียม เยอรมนี แต่กลับเติบโตแซงหน้าเยอรมนีและญี่ปุ่นขึ้นไปเตรียมท้าชิงกับสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้านเศรษฐกิจของบราซิล อินเดีย และรัสเซีย ก็ไล่กวดตามหลังอิตาลีอยู่ไม่ห่าง

ย้อนกลับมาถึงว่าที่สมาชิกใหม่ของกลุ่ม BRIC ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับแอฟริกาใต้ ถือว่าแนบแน่นขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า โดยในปี 2551 ตัวเลขการค้าสูงถึง 107,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.29 ล้านล้านบาท) ต่อมาในปี 2552 ประเทศจีนกลายเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้แทนที่สหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันสินค้าจากจีนก็ได้รับความนิยมจากชาวแอฟริกาใต้มากเสียจนทำให้แอฟริกาใต้ ขาดดุลการค้ากับจีนถึง 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในแง่ของการลงทุน ความต้องการทรัพยากรธรรมชาติมาหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ ผลักดันให้จีนเข้าไปเสาะแสวงหาแหล่งพลังงาน แหล่งแร่และวัตถุดิบอันเหลือเฟือในแอฟริกาใต้และประเมินกันว่าบริษัทจีนได้ข้ามไปลงทุนในประเทศแห่งนี้แล้วกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สตีเฟน คิง (ที่ไม่ใช่นักเขียนเรื่องสยองขวัญชื่อดัง) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งกลุ่มเอชเอสบีซีบอกว่า ศูนย์กลางของโลกการค้าของกลุ่มประเทศ ตลาดเกิดใหม่ และเส้นทางสายไหมสายใหม่นั้นอยู่ที่ประเทศจีน และบทบาทของประเทศเหล่านี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแวดวงการค้าโลก โดยองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ประเมินออกมาแล้วว่าระหว่างปี 2543-2551 (ค.ศ.2000-2008) อัตราเติบโตทางการค้าระหว่างกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่กันเอง (Intra-Emerging-Market Trade) นั้นเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละกว่าร้อยละ 18 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่า ตัวเลขการค้าระหว่างกลุ่มประเทศเกิดใหม่หลายเท่า[3]

ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้นที่กระโดดไปทำธุรกิจในแอฟริกา เพื่อนสมาชิกในกลุ่ม BRIC อย่างบริษัท อินเดียกับบราซิลก็รุกเข้าไปในแอฟริกาด้วยเช่นกัน โดยในห้วง 6 ปีที่ผ่านมา ทาทา กรุ๊ป ผู้ผลิตรถยนต์ ชื่อดังจากแดนภารตะก็ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลในกลุ่ม ประเทศในแถบแอฟริกาตอนใต้ ส่วนเวล (Vale) ผู้ผลิตแร่เหล็กรายใหญ่ของบราซิลก็ทุ่มเงินมหาศาล ลงทุนในเหมืองทองแดงและเหมืองเหล็กในประเทศแซมเบีย คองโก และกินี เช่นกัน

กิจกรรมการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมหาศาลในหมู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่าง BRIC และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นี้ จริงๆ แล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินในสกุลดอลลาร์สหรัฐ ยูโร หรือเยนญี่ปุ่นแต่อย่างใด ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้เริ่มหันมาสุมหัวคิดกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะผลักดันให้มีการใช้เงินหยวนจีน รูปีอินเดีย หรือรีลบราซิล ให้แพร่หลายกว่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงและต้นทุนในการแลกเปลี่ยน

การกลับมาของ “เส้นทางสายไหม” และการเจริญเติบโตของ BRIC ที่กำลังจะขยายตัวกลายเป็น BRICS โดยไม่จำกัดแค่ 4-5 ประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน หรือแอฟริกาใต้ คล้ายเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังชาติตะวันตกและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายว่า ณ วันนี้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่กำลังจับมือกันเพื่อลดทอนการพึ่งพิง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ่วงดุลความเสี่ยงจากการเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจและการขูดรีดจากชาติตะวันตก อดีตนักล่าอาณานิคมและนักแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจตัวยง

ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ พลวัตของปัจจัยเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนโลกทัศน์ทางการค้าของพวกเราไปอย่างสิ้นเชิง

ข้อมูลอ้างอิงจาก:
[1] Cheng Guangjin and Wu Jiao, Zuma praises China’s Africa role, China Daily, 26 Aug 2010.
[2] Jim O’Neil , Building Better Global Economic BRICs, November, 2001. หรือสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www2.goldmansachs.com/ideas/brics/building-better.html
[3] Simon Kennedy, Matthew Bristow and Shamim Adam, There’s a New Silk Road, and It Doesn’t Lead to the U.S., Bloomberg Businessweek, 9 Aug 2010.

อ่านเพิ่มเติม :
- การทูตรถไฟความเร็วสูง นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือนเมษายน 2553
- The New Influence of China นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือนธันวาคม 2552
- China’s High-Speed Dream นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2552
- เซี่ยงไฮ้กับบทสนทนาของคนแปลกหน้า นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือนธันวาคม 2551
- Sinosphere over Africa นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนธันวาคม 2549
- จีนกับรถไฟความเร็วสูง นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2548   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us