|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เป็นที่น่าแปลกใจที่ในโลกตะวันตกมีจิตรกรหญิง ประติมากรหญิง และนักแสดงหญิงที่ยิ่งใหญ่ในระดับเทียบเท่าศิลปินชายอยู่เพียงหยิบมือเท่านั้น อย่างเช่น Frida Kahlo, Louise Bourgeois และ Marina Abramovic โลกของศิลปะระดับหัวแถวในชาติตะวันตก ยังคงถูกยึดครองโดยศิลปินชาย รวมไปถึงภัณฑารักษ์ นักค้างานศิลปะ และนักสะสมงานศิลปะด้วย แต่ในขณะที่โลกตะวันตกแทบจะหาศิลปินหญิงที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้ แต่ศิลปินหญิงในบางประเทศกลับประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่เหมือนจะถูกมองว่า หญิงไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมกับชาย ประเทศนั้นคือปากีสถาน เมื่อปีที่แล้ว ศิลปินหญิงจากประเทศมุสลิม และประเทศกำลังพัฒนาเพิ่งได้รับการสดุดีในงานนิทรรศการอย่าง Hanging Fire ซึ่งจัดขึ้นที่ Asia Society ในนิวยอร์ก และที่งาน Fukuoka Asian Art Triennial ในญี่ปุ่น
ผู้หญิงยังอยู่ในตำแหน่งสำคัญที่ทรงอิทธิพลต่อระบบศิลปะ ในปากีสถาน บริหารแกลเลอรีอันทรงเกียรติอย่าง Canvas และ Poppy Seed ในนครการาจี และเป็นผู้นำสถาบันศิลปะสำคัญๆ อย่าง School of Visual Arts ที่มหาวิทยาลัย National University ในเมืองละฮอร์ (เธอคือ Salima Hashmi) และ National College of Arts ในละฮอร์เช่นกัน (เธอคือ Naazish Ataullah)
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ศิลปินหญิงในปากีสถานมีสัดส่วนมากกว่าชาย เป็นเพราะผู้ชายมองว่า อุตสาหกรรมศิลปะไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรดี Savita Apte นักประวัติศาสตร์ศิลป์เอเชียใต้และดูแล สถาบัน Abraaj Capital Art Prize ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกชี้ ชายปากีสถานที่มีหัวคิดสร้างสรรค์มักนิยมเข้าสู่อาชีพอย่างโฆษณาหรือเขียนภาพประกอบ จึงปล่อยให้โลกศิลปะเปิดกว้างสำหรับผู้หญิงที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะ และพวกเธอก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม
ในงานแจกรางวัล Jameel Prize แก่ศิลปินมุสลิม ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ที่ Victoria and Albert Museum ในลอนดอน มีผู้เข้ารอบสุดท้าย 2 คนมาจากปากีสถานทั้งคู่ คือ Hamra Abbas และ Seher Shah ส่วนผู้ชนะคือ Afurz Amighi ศิลปินหญิงชาวอิหร่าน ส่วนที่งาน Hong Kong International Art Fair ในปีนี้ จิตรกรหญิง Shahzia Sikander จากปากีสถาน สามารถคว้ารางวัล SCMP/Art Futures ไปครอง
เหตุผลอีกประการที่ทำให้ศิลปินหญิงปากีสถานมีชื่อเสียงในระดับโลก เป็นเพราะงานของพวกเธอท้าทายทัศนคติการมองผู้หญิงปากีสถานแบบเหมารวมของโลกตะวันตก “เป็นเพราะสื่อตะวันตกทำให้ภาพของหญิงมุสลิมเป็นผู้หญิงที่ถูกปิดกั้น เวลาที่โลกมองมาที่ปากีสถาน พวกเขาจึงอยากรู้ว่าในจิตใจของผู้หญิงปากีสถานกำลังคิดอะไร” Amna Naqvi อดีตวาณิชธนกิจ และผู้ก่อตั้งแกลเลอรี Gandhara-Art ในการาจี อีกทั้งยังเป็นนักสะสม งานศิลปะคนสำคัญที่ถูกขอยืมงานไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลกกล่าว
หนึ่งในศิลปินหญิงคนโปรดของ Naqvi คือ Aisha Khalid จิตรกรหญิงในวัย 30 ซึ่งสมรสกับ Imran Qureshi ศิลปินชื่อดังเช่นกัน แต่ Khalid ดูจะโด่งดังกว่าสามี ภาพ Birth of Venus ของ Khalid เป็นภาพหญิงสาวที่ถูกปิดคลุมทั้งตัว บนฉากหลังที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ของมุสลิม งานอีกชิ้นหนึ่งของเธอดึงเอางานเย็บปักถักร้อยมาแสดงความคิดเรื่องเพศอย่างแหลมคม เช่นเข็มเย็บผ้าที่ปักทะลุเสื้อ โดยที่ด้านแหลมของเข็มแทงเข้าไปด้านใน
แม้แต่ศิลปินหญิงที่ไม่ได้เสนองานที่แสดงสัญลักษณ์เกี่ยวกับผู้หญิงอย่างชัดเจน แต่งานของพวกเธอก็ยังแสดงออกชัดถึงฐานะของผู้หญิงในวัฒนธรรมปากีสถาน Sikander เจ้าของรางวัล ศิลปินอัจฉริยะ MacArthur เมื่อปี 2006 กล่าวว่า “โดยทั่วไป หญิงปากีสถานมีอำนาจมากกว่าที่ชาวต่างชาติเข้าใจในสังคมปากีสถาน ผู้หญิงไม่ได้ถูกพะเน้าพะนอมากนัก ทำให้เราแกร่ง แก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง และมีความเป็นต้นแบบ”
สำหรับ Sikander แล้ว ศิลปะคือวิธีที่เธอใช้ “ตั้งคำถามต่อค่านิยมทางสังคมและการเมือง” ในยุคสมัยของเธอ ด้วยแนวคิดเช่นนี้ทำให้เธอถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับศิลปินหญิงชื่อดังระดับโลก ที่เป็นผู้บุกเบิกในกลุ่มนี้ อย่างกลุ่มศิลปินหญิงจากญี่ปุ่น Yayoi Kusama จิตรกรและประติมากรหญิง Miwa Yanagi ช่างภาพหญิง และ Tabaimo ตากล้องวิดีโอหญิงที่มีชื่อเสียง รวมไปถึง Shirin Neshat ช่างภาพหญิงชาวอิหร่าน เมื่อศิลปินหญิงจากประเทศกำลังพัฒนาเปิดตัวแรงในวงการศิลปะโลก ศิลปินหญิงชั้นแนวหน้าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็คือ ระดับหัวกะทิ
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
|
|
|
|
|