|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

หากต้องการเข้าใจบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้หญิงจีน ต้องดูที่ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Du Lala หญิงสาวที่สามารถไต่เต้าจนประสบความสำเร็จในบริษัท แต่เธอไม่มีตัวตนจริง Du Lala เป็นเพียงนางเอกของนิยายขายดีชื่อ Du Lala’s Rise หนังสือที่ทำสถิติติดอันดับหนังสือขายดีนาน 141 สัปดาห์ และยังมีภาคต่ออีก 2 ภาค กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ทำเงินแห่งปีของจีนในปีนี้ และเป็นละครออนไลน์ที่มียอดการเข้าชมมากกว่า 100 ล้านครั้ง นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อกลางเดือนสิงหาคม แถมยังทำให้เกิดนิยายที่มีนางเอกสไตล์เดียวกัน ผุดตามออกมาเป็นดอกเห็ด แม้จะเป็นเพียงเรื่องแต่ง แต่นิยายเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นความทะเยอทะยาน ความใฝ่ฝัน และปัญหาท้าทายสารพัดที่หญิงสาวจีนยุคใหม่ต้องเผชิญในเมืองใหญ่
นับตั้งแต่ “ท่านประธานเหมา” Mao Zedong ประกาศว่า “สตรีแบกครึ่งหนึ่งของฟ้า” เมื่อหลายทศวรรษก่อนจนมาถึงความสำเร็จของ Du Lala และเพื่อนพ้องของเธอในวันนี้ สะท้อนความจริงที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของผู้หญิงจีน นั่นคือ พวกเธอมีความทะเยอทะยานมากกว่าผู้หญิงในสหรัฐฯ ผลการศึกษาเมื่อต้นปีนี้ โดย Center for Work-Life Policy ในนิวยอร์ก พบว่ามีเพียงกว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงอเมริกันที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่บอก ว่าตัวเองมีความทะเยอทะยานมาก แต่ในจีน ตัวเลขดังกล่าวสูงถึงเกือบ 2 ใน 3 และกว่า 75% ของผู้หญิงในจีนใฝ่ฝันอยากจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด แต่มีผู้หญิงอเมริกันเพียงประมาณครึ่งเดียวที่ใฝ่ฝันเช่นนั้น ในขณะที่หญิงจีน 77% เป็นผู้หญิงทำงาน แต่ในสหรัฐฯ มีผู้หญิงทำงานเพียง 69%
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของจีนได้สร้างโอกาสใหม่ๆ อย่างมหาศาล และต้องการแรงงานที่มีทักษะทั้ง 2 เพศ แต่นอกจากจะเป็นเพราะการเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว ยังเป็นเพราะวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของจีน ที่ไม่เพียงถูกกระตุ้นให้ผู้หญิง เข้าสู่โลกของการทำงาน แต่พวกเธอถูกคาดหวังว่าจะต้องเข้าสู่โลกของการทำงาน ประโยคที่ติดปากในจีนคือ ระบอบคอมมิวนิสต์จีนเน้นย้ำเสมอว่า ผู้หญิงสามารถทำทุกอย่างที่ผู้ชายทำได้ หลาย ทศวรรษมาแล้วที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีนให้โอกาสทางการศึกษา ที่เท่าเทียมแก่ผู้หญิง Isobel Cole จากสถาบัน Council on Foreign Relations กล่าวว่า แม้การปฏิวัติวัฒนธรรมของ Mao จะสร้างความเจ็บปวดมากมายแก่สังคมจีน แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่ม อำนาจให้แก่ผู้หญิง Mao ได้สร้างผู้หญิงรุ่นใหม่ที่เชื่อว่า พวกเธอ สามารถอยู่ในศูนย์อำนาจของจีนได้
ในสหรัฐฯ นั้น กว่าผู้หญิงจะสามารถรู้สึกเช่นนั้นได้ ก็ต้องผ่านการต่อสู้อย่างยาวนานหลายทศวรรษ ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิสตรี เพียงแค่ Madeleine Albright ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1990 ก็กลายเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้หญิงอเมริกัน และเมื่อ Nancy Pelosi ได้เป็นประธานสภาหญิงคนแรก ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก สำหรับผู้หญิงในสหรัฐฯ
แต่ในจีน ผู้หญิงมีอุปสรรคน้อยกว่ามากในการไต่เต้าไปสู่ความสำเร็จในอาชีพ Judi Kilachand ผู้บริหาร Asia Society ซึ่งเพิ่งจัดการประชุมเกี่ยวกับผู้หญิงกับการเป็นผู้นำที่ฮ่องกงเมื่อเดือนมิถุนายนชี้ว่า ผู้นำหญิงในจีนเป็นเรื่องที่พบเห็นทั่วไปมากกว่า ในสหรัฐฯ ผู้นำหญิงจีนที่โลกคุ้นเคยมากที่สุดคนหนึ่ง คืออดีตรอง นายกรัฐมนตรี Wu Yi ซึ่งขณะนี้เกษียณแล้ว เธอเคยรับผิดชอบนโยบายการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของจีน Wu Yi เป็นวิศวกรปิโตรเลียม ก่อนจะเข้ารับราชการและสร้างผลงานให้ประเทศชาติ มากมาย หนึ่งในนั้นคือการเจรจาให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ได้สำเร็จ ทุกวันนี้ สัดส่วนของสมาชิกรัฐสภาจีนที่เป็นผู้หญิงสูงถึง 21.3% ซึ่งสูงกว่าสหรัฐฯ
และนั่นยังเป็นความจริงในระดับผู้บริหารของธุรกิจด้วย บริษัทจีนราว 8 ใน 10 แห่ง มีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้หญิงเทียบกับเพียงครึ่งหนึ่งในยุโรป และ 2 ใน 3 ในสหรัฐฯ และมีถึง 31% ของบริษัทจีนที่มีผู้บริหารสูงสุดเป็นผู้หญิง เทียบกับเพียง 20% ในอเมริกา หนึ่งในมหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของจีนเป็นผู้หญิงชื่อ Zhang Xin เธอและสามีเป็นเจ้าของอาณาจักร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ Sohu ในการจัดอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลกประจำปีนี้ของนิตยสาร Forbes ครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่ติดอันดับมหาเศรษฐีพันล้าน 14 คนมาจากจีน
สาเหตุความแตกต่างระหว่างหญิงจีนกับหญิงอเมริกันดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในสังคมอเมริกัน หากผู้หญิงแสดงความต้องการที่จะเป็นผู้นำมากเกินไป มักจะถูกตราหน้าว่าทะเยอ ทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง อาจเป็นเพราะผู้หญิงอเมริกันได้รับความเท่าเทียมและความสำเร็จทางวัตถุในระดับหนึ่งแล้ว จึงถูกมองว่า ควรยอมสละความทะเยอทะยานในด้านอาชีพบ้าง เมื่อ Hillary Clinton ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เธอถูกมองว่า แสดงความกระสันต์อยากจะเป็นประธานาธิบดีมากจนเกินงาม ความจริงผู้หญิงอเมริกันก็มีความทะเยอทะยานที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำไม่แพ้ผู้หญิงจีน แต่สังคมทำให้พวกเธอไม่กล้าที่จะยอมรับ
เหตุผลอีกประการคือ ผู้หญิงจีนได้รับแรงสนับสนุนให้แสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพได้อย่างเต็มที่ จากความจริงที่ว่า สถานรับเลี้ยงเด็กในจีนหาง่ายมาก แต่ในสหรัฐฯ รวมไปถึงหลาย ประเทศในโลกตะวันตก ผู้หญิงอยู่ห่างจากพ่อแม่และญาติพี่น้อง และต้องรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากที่จะต้องไปทำงาน โดยต้องส่งลูก ไปอยู่สถานรับเลี้ยงเด็ก ผู้หญิงที่จบการศึกษาสูงในสหรัฐฯ เลือกที่จะลาออก ยอมสละโอกาสที่จะไต่เต้าในบริษัทมาอยู่บ้าน เพื่อจะ เลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง
แต่ในจีนไม่เป็นเช่นนั้น สถานรับเลี้ยงเด็กของชุมชนและของรัฐตั้งอยู่ใกล้ที่ทำงาน และในจีนมีความคิดว่า ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานหนักมากกว่า เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้แก่ลูก
แต่เหนืออื่นใดคือ ความทะเยอทะยานได้กลายเป็นทักษะแห่งการอยู่รอดที่สำคัญสำหรับผู้หญิงจีนไปแล้ว สำคัญต่อการคว้าโอกาสดีๆ และการเผชิญกับปัญหามากมายกับการที่ต้องอยู่ในสังคมที่กำลังเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างจีน ซึ่งอาจเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก หญิงสาวชาวจีนรุ่นใหม่ต่างรู้สึกถึงแรงกดดันที่จะต้อง “ทำให้ได้” แต่ไม่ใช่เพราะต้องทำให้ได้เท่าผู้ชาย หากแต่เป็นเพราะต้องรับมือกับสภาพที่ราคาบ้านในเมืองใหญ่ แพงขึ้นสองเท่าแทบทุกปี และต้องเจอกับการแข่งขันไปแทบทุกอย่าง กล่าวโดยสรุปคือ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความทะเยอทะยานกลายเป็นสิ่งจำเป็น และหากใครไม่มีความทะเยอทะยาน ก็อาจถูกทอดทิ้งให้อยู่ข้างหลังในที่สุด
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
|
|
 |
|
|