Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ตุลาคม 2553
ซินหัว อนาคตของสื่อสารมวลชน?             
 


   
www resources

Xinhua News Agency Homepage

   
search resources

News & Media
Xinhua News Agency




สำนักข่าวของทางการจีนกำลังสยายปีกแข่งกับสำนักข่าวของชาติตะวันตก

เมื่อไม่นานมานี้ มีการจัดประชุมสุดยอดสื่อโลกอย่างยิ่งใหญ่ถึง 3 วัน โดยมีสื่อดังๆ ระดับโลกเข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น Google, BBC เจ้าพ่อสื่ออย่าง Rupert Murdoch CEO คนดังของ News Corp แต่ทั้งๆ ที่มีชื่องานว่า การประชุมสุดยอด “สื่อ” แต่งานนี้กลับไม่เป็นที่สนใจของสื่อระดับโลก โดยเฉพาะสื่อภาษาอังกฤษ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่มหาศาลาประชาคมในกรุงปักกิ่ง โดยมีสำนักข่าวซินหัว กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเจ้าภาพ จึงถูกมองว่าเป็นเพียงงานโฆษณาชวนเชื่อ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซินหัวอาจจะยังถูกมองข้ามในวันนี้ แต่ไม่แน่ว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้ว ที่ซินหัวเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในจีน ซินหัวผูกขาดการรายงานข่าวของทางการจีน ยังมีอำนาจควบคุมสื่ออื่นๆ ยิ่งจีนเจริญมั่งคั่งและสูงด้วยยศศักดิ์ในโลกนี้มากขึ้นเพียงใด จีนก็ยิ่งรู้สึกเบื่อหน่ายกับการที่ต้องถูกมอง ข้าม หรือถูกนินทาว่าร้ายโดยสื่อตะวันตก บทบาทของซินหัวจึงถูกจัดวางใหม่ให้เป็นเครื่องมือของจีนในการสร้างอิทธิพลแบบ soft power ในโลก ปีที่แล้วสำนักข่าวของทางการจีน ซึ่งมีอายุเก่าแก่ ถึง 80 ปีแล้วแห่งนี้ เพิ่งเปิดตัวสถานีข่าวภาษาอังกฤษ 24 ชั่วโมง เข้ายึดครองอาคารสูงระฟ้าในย่าน Times Square ของนิวยอร์ก ประกาศแผนจะขยายสำนักงานในต่างประเทศจาก 120 เป็น 200 แห่ง และส่งนักข่าวไปประจำอยู่ทั่วโลก 6,000 คน และเพื่อไม่ให้น้อยหน้าคู่แข่งจากตะวันตก ซินหัวออกโปรแกรมบน iPhone เพื่อให้ผู้ใช้ iPhone สามารถรับข่าวจากซินหัวหรือการ์ตูน ข้อมูลการเงิน และโปรแกรมบันเทิงต่างๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แม้จะต้องทุ่มทุนไปหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้ซินหัวกลายเป็นกระบอกเสียงที่แพงเอาการ แต่ Li Congjun ประธานซินหัวประกาศว่า ซินหัวคือหัวหอกสำคัญที่จะทะลวงการผูกขาด และการครองความเป็นเจ้าโลกในด้านข่าวของสื่อตะวันตก ที่แน่ๆ คือซินหัวกำลังเปลี่ยนแปลงกฎการโฆษณาชวนเชื่อของตัวเองเสียใหม่อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่เน้นการปิดข่าว กลายเป็นการทำให้ตลาดท่วมท้นไปด้วยข้อมูลของฝ่ายของตน

แต่ปัญหาคือ ซินหัวจะหาผู้ซื้อ “ข่าว” ของตนได้หรือไม่ เพราะซินหัวถูกมองว่าชอบบิดเบือนข่าว ในสายตาของซินหัว เหตุสังหารหมู่ที่จตุรัสเทียนอันเหมินไม่เคยเกิดขึ้น ฝ่าหลุนกงเป็นลัทธิชั่วร้ายและองค์ทะไลลามะเป็นกบฏแห่งทิเบต ความจริงซินหัวก็ทำ ข่าวที่อ่อนไหวเช่นกัน อย่างเช่นการจลาจลใน Uighur เมื่อปีกลาย แต่ข่าวเหล่านั้นจะถูกส่งตรงไปถึงเจ้าหน้าที่จีนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ซินหัวอาจกลายเป็นสื่อแห่งอนาคต ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียว ค่าใช้จ่าย ในขณะที่สำนักข่าวส่วนใหญ่ กำลังตกต่ำต้องปิดสำนักงานและลอยแพนักข่าว แต่ซินหัวไม่ต้องกังวลถึงการทำกำไรแม้แต่น้อย สิ่งที่ซินหัวจะทำกับข่าวก็จะเหมือนกับที่โรงงานของรัฐบาลจีนทำกับสินค้าส่งออก คือการส่งออกเสื้อผ้า ที่มีราคาถูกกว่าใครๆ ไปตีตลาดโลก ค่าสมาชิกรับข่าวจากซินหัว มีราคาถูกเพียงเลข 5 หลัก ในขณะที่สำนักข่าวระดับโลกอย่าง Associated Press, Reuters หรือ AFP ต้องอย่างน้อย 6 หลัก นี่คือความได้เปรียบในการแข่งขันของซินหัว และหากลูกค้าคนใด ยังคงไม่มีเงินพอจ่าย ซินหัวยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือที่ให้ทุกอย่างตั้งแต่ข่าว อุปกรณ์และความช่วยเหลือทางเทคนิค และทั้งหมดนี้ ฟรี

ราคานี้เป็นที่น่าดึงดูดใจสำหรับประเทศอย่างในตะวันออก กลาง แอฟริกา และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยอดขายหนังสือพิมพ์ กำลังเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับความกระหายในข่าวที่ไม่ได้เสนอจากมุมมองของตะวันตก เนื่องจากซินหัวรุกเข้าไปในตลาดที่บริษัทจัด อันดับยังเข้าไม่ถึง จึงยากที่จะรู้จำนวนลูกค้าที่แท้จริงของซินหัว แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซินหัวได้ทำสัญญาขายข่าวให้แก่สำนักข่าวของทางการคิวบา มองโกเลีย มาเลเซีย เวียดนาม ตุรกี ไนจีเรียและซิมบับเว ทำให้ซินหัวกำลังกลายเป็นสำนักข่าวชั้นนำในแอฟริกาและหลายส่วนในเอเชีย

ซินหัวจะทำข่าวได้ดี หากข่าวนั้นไม่เกี่ยวกับจีน บรรณาธิการหนังสือ Yedioth Ahronoth หนึ่งในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอิสราเอล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในปากีสถานและตุรกี ต่างชื่นชมซินหัวว่า ใช้ภาษาที่อ่านง่ายและข่าวมีคุณภาพ Kmail Erdogdu นักข่าวของสำนักข่าวทางการตุรกีที่ประจำอยู่ในจีนให้ความเห็นว่า ซินหัวทำข่าวสงครามอิรักครั้งที่ 2 ได้ดีมาก และหลายครั้งที่ได้ข่าวเป็นเจ้าแรก เขาใช้ข่าวจากซินหัวหลายครั้ง เมื่อไม่นานมานี้ AFP และสำนักข่าว European Pressphoto Agency ทำข้อตกลงเป็นตัวแทนขายภาพข่าวของซินหัวในต่างประเทศ Jim Laurie อดีตนักข่าว ABC และ NBC ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้แก่สถานีโทรทัศน์ China Central Television ของทางการจีน ซึ่งก็กำลังสยายปีกไปทั่วโลกเช่นกัน ชี้ว่า การเซ็นเซอร์ในจีนไม่ได้ส่งผลต่อภาพข่าวและข่าวโทรทัศน์มากนัก และไม่มีใครสามารถจะละเลยสำนักข่าวที่เสนอบริการข่าวที่ไม่แพง มีคุณภาพดีและน่าเชื่อถือได้

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวกระแสหลักอย่าง Reuters และนักวิเคราะห์สื่อหลายคนเห็นตรงกันว่า การสยายปีกของซินหัวและความนิยมซื้อข่าวจากซินหัวในตลาดเกิดใหม่นั้น จะคงอยู่เพียงไม่นาน ซินหัวเป็นเพียงตัวแก้ขัดเท่านั้น จนกว่าลูกค้าจะมีเงินพอ ที่จะซื้อข่าวจากสำนักข่าวที่มีคุณภาพสูงกว่า และ 3 สำนักข่าวหลักอย่าง AP, AFP และ Reuters ก็เริ่มลงมือช่วยลูกค้าให้ทำเช่นนั้นได้โดยเร็ว ด้วยการเสนอขายข่าวเฉพาะที่ลูกค้าแต่ละรายต้องการ (เช่นข่าวกีฬาอย่างเดียว) เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า

ทว่า การวิเคราะห์ดังกล่าวตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ซินหัวจะ ยังคงถูกมองว่าเป็นกระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อของจีนต่อไป แต่หลายเดือนที่ผ่านมา ซินหัวกำลังดิ้นรนแก้ภาพลักษณ์ดังกล่าว ด้วยการเปิดร้านขายหนังสือแห่งแรกในลอนดอน จับมือกับ United Nations Children’s Fund ทำข่าวรายงานสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ ใน 6 ทวีป ติดตั้งโทรทัศน์จอแบนในที่สาธารณะทั่วยุโรปเพื่อเผยแพร่ข่าวของตน และถึงแม้หากซินหัวจะไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ แต่อคติที่มีต่อซินหัว คงจะไม่เป็นอุปสรรคต่อซินหัว มากเท่ากับที่สำนักข่าว TASS ของโซเวียตเคยประสบในช่วงสงครามเย็น แม้ว่าหากเป็นข่าวที่เกี่ยวกับสหรัฐฯ แล้ว ข่าวจากซินหัวจะแทบหาความเป็นธรรมหรือสมดุลไม่ได้ แต่สำหรับหลายคนแล้ว มุมมองข่าวจากจีนดูเหมือน จะเป็นทางเลือกที่แตกต่าง เช่นเดียวกับข่าวที่มาจากสำนักข่าวอย่าง Al-Jazeera, Foxnews หรือ MSNBC และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในแอฟริกาหรือเอเชียอาจจะเห็นว่า ความลำเอียงของซินหัว ยังน่ารำคาญน้อยกว่าความลำเอียงของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนก็เป็นได้

แต่ปัญหาใหญ่ของซินหัวคือความน่าเบื่อ แบบที่คุณจะคาดเดาได้จากองค์กรที่มีความเชื่อว่า ข่าวควรจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดและส่งเสริมเอกภาพของชาติ และสำหรับใครที่ต้องการข่าวที่เป็นความจริง แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเองก็รู้ว่า คงจะต้องหาอ่านเอาจากสำนักข่าวของตะวันตกมากกว่า

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us