|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กรณีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและเครือข่ายประชาชนในมาบตาพุดยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ ว่าได้ออกใบอนุญาตให้แก่โครงการลงทุน 76 โครงการในพื้นที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง โดยไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในที่สุดศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตโครงการลงทุนในมาบตาพุดที่อยู่ในประกาศประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรง ส่วนโครงการอื่นๆ ให้ยกคำร้อง
การคลี่คลายปัญหาการลงทุนในมาบตาพุดไม่เพียงแต่เป็นก้าวย่างสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มการลงทุนในประเทศในระยะข้างหน้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างมาตรฐานแนวคิดใหม่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพของสภาพแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างแท้จริง
คำพิพากษาของศาลปกครองกลางในวันที่ 2 กันยายน 2553 จะส่งผลให้โครงการลงทุนส่วนใหญ่ที่ถูกระงับไว้ก่อนหน้านี้ สามารถเดินหน้าก่อสร้างและดำเนินการต่อได้ ส่วนโครงการลงทุน ที่อยู่ในข่ายกิจการรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด หรือโครงการลงทุนใหม่ในพื้นที่อื่นๆ ก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 บัญญัติไว้ กล่าว คือ จะต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Public Hearing) และมีความเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประกอบ
แม้ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมือง รวมทั้งปัญหาการระงับโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด แต่ด้วยการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งหนุนการเติบโตของภาคการผลิตในประเทศต่างๆ ได้เป็นแรงส่งที่สำคัญต่อภาวะการลงทุนภายในประเทศ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2553 การลงทุนฟื้นตัวขึ้นได้ดีกว่าที่คาด
โดยจากข้อมูลของสำนัก งานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) การลงทุนโดยรวมของประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัว สูงถึงร้อยละ 17.2 จากการลงทุนทั้งในด้านอุปกรณ์และเครื่องจักรและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังอาจชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ประกอบกับการลงทุนในด้านการก่อสร้างมีแนวโน้มชะลอตัวหลังมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สิ้นสุดลงไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และทิศทางอัตราดอกเบี้ย ปรับตัวสูงขึ้น
โครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 เดือนแรกมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่มีมูลค่าลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน โดยโครงการลงทุนที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ มีจำนวน 777 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.6 (YoY) แต่มูลค่าโครงการลดลงร้อยละ 1.5 มาอยู่ที่ประมาณ 214,000 ล้านบาท เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่มีจำนวนน้อยลง ซึ่งการขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยรวมที่มีมูลค่าลดลงในปีนี้ เป็นผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปี 2552 ที่มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากผลของมาตรการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนสูงสุดเป็นพิเศษในช่วงปีแห่งการลงทุนระหว่างปี 2551-2552
หากพิจารณาเฉพาะโครงการลงทุนจากต่างประเทศ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.5 โดยโครงการจากต่างประเทศที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในช่วง 7 เดือนแรกมีมูลค่า 108,321 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 46.5 (YoY) ขณะที่มีจำนวนโครงการ 444 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 ซึ่งในส่วนของโครงการลงทุนจากต่างประเทศนั้นกลับมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก และบริการและสาธารณูปโภค (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านโรงไฟฟ้าและพลังงานทางเลือก)
การลงทุนของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในไทย ขณะที่ในประเทศเอเชีย อื่นๆ ล้วนแต่ลดลง โดยจากสถิติการลงทุนในต่างประเทศของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีแรก ญี่ปุ่นลงทุนในไทยสูงเป็นอันดับสองในเอเชีย รองจากจีน โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 (YoY) มาอยู่ที่ 117.6 พันล้านเยน (1.29 พันล้านดอลลาร์) หรือมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 19 ของเงินลงทุนของญี่ปุ่นในเอเชียทั้งหมด ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุน ในจีนมูลค่า 230.7 พันล้านเยน (2.53 พันล้านดอลลาร์)
เป็นที่น่าสังเกตว่า ไทยเป็นประเทศหลักในเอเชียเพียงประเทศเดียวที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่ญี่ปุ่นลงทุนในประเทศอื่นๆ ลดลงกว่าปีก่อน ทั้งในจีน อินเดีย ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และประเทศอาเซียนอื่นๆ
นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในพื้นที่จังหวัดระยอง เป็นที่สังเกตว่า โครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาโครงการลงทุนถูกระงับ เริ่มมีความสนใจลงทุนกลับคืนมา โดยมีมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 เดือนแรกรวม 57,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 122.9 (YoY) หลังจากในปี 2552 ทั้งปีมีการขอรับส่งเสริมเพียง 57,800 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 57.4 จากปีก่อน เนื่องจากปัญหาความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการลงทุนในมาบตาพุด ซึ่งความสนใจลงทุนที่กลับมาสูงขึ้นอาจสะท้อนได้ว่านักลงทุนมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มการลงทุนในพื้นที่
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนในประเทศมีการเติบโตสูง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โครงการลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น ปิโตรเคมี เหล็ก และพลังงาน ค่อนข้างหยุดชะงัก เนื่องจากไม่เพียงแต่โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดที่ถูกระงับโดยคำสั่งศาลปกครองเท่านั้น แต่โครงการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ชะลอแผนการลงทุนไปด้วยเช่นกัน ในระหว่างที่รอความชัดเจนของหลักเกณฑ์และกลไกที่จะทำหน้าที่ให้อนุญาตโครงการลงทุนที่เข้าข่ายโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ
ดังนั้น คำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ออกมา ประกอบกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อให้สอด คล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น น่าจะช่วยสร้างความชัดเจนให้แก่นักลงทุนถึงแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อให้โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับไว้ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนนับแสนล้านบาทนั้น มีทางออกในการเดินหน้าต่อไปได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากปัญหาความไม่ชัดเจน เกี่ยวกับข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติในการลงทุนประเภทกิจการรุนแรงคลี่คลายลงได้อย่างสมบูรณ์ โครงการลงทุนในมาบตาพุดน่าจะเริ่มเดินหน้าได้ ซึ่งน่าจะมีการลงทุนชัดเจนมากขึ้นในปี 2554 และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในสภาวะที่การส่งออกอาจมีทิศทางชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก
นอกจากการคลี่คลายอุปสรรคในการดำเนินโครงการลงทุน ในมาบตาพุดแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่จะสนับสนุนแนวโน้มการลงทุนในระยะข้างหน้า ยังประกอบด้วยการลงทุนขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการประกาศ แผนการลงทุนมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า การลงทุนโดยรวมในปี 2553 อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 8.1-8.8 และขยายตัวต่อเนื่องที่ประมาณร้อยละ 7.5-9.3 ในปี 2554
อย่างไรก็ดี ปัญหาโครงการลงทุนในมาบตาพุดนี้ถือเป็นบทเรียนที่จุดประกายให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีแนวโน้มหันมา ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ดังแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry แนวคิดโครงการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และแนวคิดนิคมอุตสาหกรรม เชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) เป็นต้น
ซึ่งการสร้างการยอมรับจากชุมชนจะเป็นกุญแจสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของการดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น โรงถลุงเหล็ก ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ โรงไฟฟ้า รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศหลายด้าน เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน Southern Seaboard และแลนด์บริดจ์อีกด้วย
การปลดล็อกปัญหากรณีมาบตาพุดน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการเติบโตของกิจกรรมการลงทุนภายในประเทศในระยะข้างหน้า และเมื่อผนวกกับปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น การขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนในธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐดังกล่าว ตลอดจนธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นแรงส่งให้การลงทุนของไทยเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในปีข้างหน้าจากที่เติบโตในระดับสูงในปีนี้
|
|
|
|
|