|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เมื่อเวลาที่มีข่าวสารการจัดอันดับมหาเศรษฐีระดับโลก หรือระดับประเทศก็ตาม ผมเชื่อว่าความรู้สึกของสังคมที่มีต่อรายชื่อคนเหล่านั้นก็คือ “คนร่ำรวยมหาศาลขนาดนั้นได้สร้างคุณค่าอะไรต่อสังคมบ้าง”
อย่างการจัดอันดับคนรวยที่สุดของโลก โดยนิตยสาร Forbes เมื่อเร็วๆ นี้ มีคนไทยที่ติดอันดับมหาเศรษฐีโลกกับเขาด้วยหลายคน
ผลปรากฎว่า ธนินท์ เจียรวนนท์ ติดอันดับคนรวยที่สุดในประเทศไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 215,000 ล้านบาท แม้ว่าข้อมูลจากเครือซีพีจะชี้แจงว่าที่ผลสำรวจครั้งนี้ เจ้าสัวธนินท์รวยแซงหน้า เพราะตอนต้นปีฟอร์บส์จัดทำเนียบมหาเศรษฐีโลกนั้น เป็นการคำนวณทรัพย์สินของเจ้าสัวธนินท์เพียงคนเดียว แต่ในการจัดอันดับครั้งใหม่ เป็นการคำนวณทรัพย์สินของธนินท์ และพี่ชายอีก 3 คน คือ จรัญ มนตรี และสุเมธ เจียรวนนท์ รวมเข้าด้วยกัน ประกอบราคาหุ้นในตลาดขึ้นอีกด้วยจึงทำให้ตัวเลขทรัพย์สินสูงติดอันดับ 1 ในทำเนียบเศรษฐีไทย
แต่ถึงอย่างไร เมื่อโลกจะกล่าวถึงผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้นำในวงการก็ต้องนึกถึง ธนินท์ เจียรวนนท์ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิสัยทัศน์อย่างมากในการทำธุรกิจจนสร้างอาณาจักรซีพีได้ยิ่งใหญ่ทัดเทียมบริษัทชั้นนำของโลก
ความสำเร็จในการบริหารธุรกิจจนร่ำรวย บ่งบอกความสามารถในการกำหนดยุทธศาสตร์และมียุทธวิธีที่ดี ดังนั้น การบริหารงานแบบ ธนินท์ จึงเป็นตัวแบบที่ถูกหยิบไปศึกษาอยู่เสมอและแนวคิดซึ่งสะท้อนตัวตนของธนินท์ในมุมมองของการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม กำลังเป็นที่จับตาและศึกษาเรียนรู้
น่าสนใจที่ปรัชญาการดำเนินธุรกิจมีไว้ว่า ทุกธุรกิจของซีพี ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ประการ นั่นคือ "ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน และประโยชน์ต่อบริษัท ธุรกิจใดที่ไม่ทำให้ชาติเจริญ ซีพีไม่ทำ"
นอกจากนี้ ยังสร้างค่านิยมองค์กรให้พนักงานทุกคนตระหนักในหลัก “การตอบแทนคุณแผ่นดิน" ซึ่งผสมกลมกลืนไปกับกระบวนการดำเนินธุรกิจ และแตกหน่อออกมาเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมของเครือซีพีและซีพีเอฟมากมาย
“การให้โอกาส” ถือเป็นหัวใจหลักข้อหนึ่งของการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ซึ่งธนินท์ย้ำชัด... ดังเช่น หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ที่ได้รับ “โอกาส” มาตั้งแต่เมื่อกว่า 30 ปีก่อน และสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงและจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในยุคปัจจุบันนับเป็นรุ่นที่ 2 และ 3 แล้ว
จุดเริ่มต้นของหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นของธนินท์ที่ว่า เกษตรกรไทยมีความสามารถ ขยัน ซื่อสัตย์และอดทน เพียงแต่ขาด “โอกาส” เท่านั้น ถ้าเครือซีพีให้โอกาสเขา พวกเขาต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถดำรงอยู่อย่างยั่งยืนไปชั่วลูกชั่วหลาน
โอกาสในที่นี้ หมายถึง การให้ที่ดิน ให้ความรู้ ให้เทคโนโลยี และหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน ซึ่งสามารถพิสูจน์ว่าสามารถสร้างความสำเร็จด้านอาชีพแก่เกษตรกรให้อยู่ได้ดี
ธนินท์ ไม่นิยมทำ CSR แบบให้เงิน ให้สิ่งของแบบที่ให้แล้วก็แล้วกัน แต่เลือกที่จะทำ CSR ด้วยโครงการที่สร้างความยั่งยืนให้ชีวิตเกษตรกร แม้จะรู้ว่าทำได้ยากกว่า ผู้ให้ต้องเหนื่อยมากกว่า และต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล แต่เพราะเชื่อในสุภาษิตจีนที่ว่า "สอนคนจับปลาดีกว่าแค่ยื่นปลาให้เขา" ซึ่งหมายถึงการให้ความรู้ ให้อาชีพ ให้หนทางแห่งการดำรงชีวิตที่ยืนยาว และที่สำคัญยังช่วยสร้างความภูมิใจแก่ผู้รับได้ว่า เขาได้ลงมือทำด้วยตนเอง จนสำเร็จ
ในครั้งนั้นเครือซีพีจัดซื้อที่ดิน 1,253 ไร่ ในตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มาจัดรูปที่ดินใหม่ตามแนวพระราชดำริด้านการปฏิรูปที่ดิน โดยแบ่งเป็นแปลงละ 24 ไร่ พร้อมจัดสร้างบ้านพัก 2 ห้องนอน 1 ห้องครัว และโรงเรือนเลี้ยงสุกร โดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จัดทำในรูปแบบโครงการ 4 ประสาน ประกอบด้วย ภาครัฐได้แก่อำเภอพนมสารคาม สถาบันการเงินโดยธนาคารกรุงเทพซึ่งให้การสนับสนุนวงเงินกู้ ภาคเอกชนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเกษตรกร จนเกิดเป็นโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าขึ้นในปี 2520 ทั้งนี้ที่ดินกว่า 1,200 ไร่ ในขณะนั้นเป็นดินทรายที่เสื่อมสภาพ เพาะปลูกไม่ได้ผลมาก่อน
จากนั้น ได้คัดเลือกเกษตรกร 50 ครอบครัวจากชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งประสงค์จะเข้ามาร่วมโครงการ รวมทั้งเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง แต่มีความขยัน รักในอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก และ เกษตรกรเริ่มเข้าอยู่ในโครงการเมื่อปี 2521 โดยได้รับแม่พันธุ์สุกร 30 แม่ พ่อพันธุ์ 2 ตัว
เพราะซีพีเอฟได้เข้ามารับความเสี่ยงด้านตลาดและราคาแทนเกษตรกร ด้วยการรับซื้อผลผลิตคืนในราคาประกัน พร้อมๆไปกับการสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้ธุรกิจและมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าจึงมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ กลายเป็นชุมชนที่มีความแข็งแกร่งด้านอาชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก
เมื่อโครงการดำเนินมาจนครบ 10 ปี ในปี พ.ศ. 2530 เกษตรกรก็สามารถคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับธนาคารได้จนหมด ที่ดินและทรัพย์สินทั้งหมด กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรโดยสมบูรณ์ พิสูจน์ให้เห็นว่าเกษตรกรมีความสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญา กลายเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดได้ด้วยความสามารถของตนเอง
ต่อมา เกษตรกรหนองหว้า ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ในนามบริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด ในปี 2531 โดยมีเกษตรกรทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริษัท เกษตรกรทั้งหมดต่างมุ่งมั่นดำเนินงานอย่างแข็งขัน ทำให้การเลี้ยงสุกรของหมู่บ้านแห่งนี้ เติบโต และขยายกิจการขึ้นเรื่อยๆเป็นลำดับ จากเริ่มต้นมีแม่พันธุ์รวม 1,500 ตัว จนถึงปัจจุบันมีแม่พันธุ์กว่า 7,000 ตัว
ขณะเดียวกัน พื้นที่ของหมู่บ้านแห่งนี้ก็กลับอุดมสมบูรณ์สามารถเพาะปลูกพืชไร่ ไม้ผล ยางพารา และมีสภาพแวดล้อมที่ดี จากการนำเอามูลสุกรมาบำรุงดิน
คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวหนองหว้าเห็นได้จากการมีบ้าน มีรถ มีเวลาให้ครอบครัว ตลอดจนมีความสามารถในการส่งเสียลูกหลานให้ได้รับการศึกษาสูงๆ มีการบริหารจัดการหมู่บ้านที่เข้มแข็ง จนกลายเป็นหมู่บ้านเลี้ยงุกรที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และปัจจุบัน ประมาณ 80 – 90 % เกษตรกรรุ่นแรกได้ถ่ายทอดกิจการสู่รุ่นที่ 2 แล้ว และ การส่งต่อกิจการนั้น ก็กำลังเข้าสู่การถ่ายทอดจากรุ่นที่ 2 ไปสู่รุ่นที่ 3 กรรมการหมู่บ้านจึงได้ช่วยกันสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆเพื่อให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในชุมชน ได้เรียนรู้ ได้ศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย และเล่าให้กับแขกที่มาเยี่ยมเยือนได้ทราบ เกิดเป็นกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อย และ ฟาร์มสเตย์หนองหว้า สร้างความภาคภูมิใจให้ลูกหลาน ที่พร้อมสานต่ออาชีพของปู่ย่าตายายต่อไป
วันนี้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงาน เป็นแหล่งเรียนรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงสุกรที่ทันสมัย บนพื้นฐานการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้กับหน่วยงานที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งความสำเร็จในวันนี้เกิดจากการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นชุมชนเลี้ยงสุกรทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ที่สมาชิกในชุมชนมีความเป็นปึกแผ่น และมุ่งมั่นสืบทอดอาชีพที่มั่นคงอย่างยั่งยืน นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจาก “การให้โอกาส” ของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ... ภายใต้โครงการซีพีเอฟเพื่อชีวิตยั่งยืน
|
|
|
|
|