Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์2 ตุลาคม 2553
เกมลวงตาคนไทยใช้บริการ “3G” การเมือง - เอกชนผลประโยชน์สุดๆ!             
 


   
search resources

แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส, บมจ.
กสท โทรคมนาคม, บมจ.
3G
ทีโอที, บมจ.
AIS




ไม่ต้องประมูล 3G คนไทยก็มี 3G ใช้ ผู้บริโภคมือถือได้ประโยชน์จริงหรือ เป็นเพียงเกมบนกระดานผลประโยชน์ที่แลกกันระหว่างกลุ่มการเมืองผู้ครองอำนาจกับเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มุ่งแสวงหารายได้บนโอกาสทางธุรกิจใหม่บนคลื่น 3G

3G กลายเป็นลูกบอลที่มีมูลค่ามหาศาลที่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้ต้องการเกี่ยวข้องได้เตะส่งกันไปมาเพื่อหาทางลงให้กับการเกิดขึ้นของบริการ 3G ให้ได้เร็วที่สุด

เห็นได้ชัดว่าหลังจากที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ระงับการประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G การค้นหาทางออกที่จะทำให้เกิดบริการ 3G เร็วที่สุดจะออกมาที่หัวหรือก้อยอย่างไร เนื่องจากทุกคนที่เกี่ยวข้องมองว่าหากต้องรอให้มีการประมูลครั้งใหม่อาจจะต้องร้องเพลงรอกันถึง 3 ปี ส่วนการเปลี่ยนสัญญาสัมปทานจาก 2G เป็น 3G น่าจะเป็นทางตันกับประเด็นทางกฎหมายที่ไม่สามารถดำเนินการได้

หวยจึงมาออกที่การเร่งผลักดัน 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เร่งขยายโครงข่ายเพื่อให้สามารถบริการ 3G โดยเปิดให้เอกชนผู้รับสัมปทานเข้ามาเช่าใช้บริการ 3G ก่อนที่จะเกิดการประมูลในอนาคต

เค้าลางเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นว่าคนไทยจะได้ใช้บริการ 3G ในเร็ววันนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ทีโอที ลงทุนในโครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 วงเงิน 19,980 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 29,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการประกวดราคา 17,440 ล้านบาท เพิ่มจำนวนสถานีฐานจาก 5,220 แห่ง เป็น 5,320 แห่ง ลงทุนอุปกรณ์ขยายขีดความสามารถของโครงข่ายอีก 540 ล้านบาท ปรับปรุงโครงข่ายเดิมของบริษัทเอซีทีโมบาย จากระบบ 2G เป็น 3G ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท พร้อมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของทีโอที โดยตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารรวมทั้งการใช้โครงข่ายร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ครอบคลุมพื้นที่บริการทั่วกรุงเทพฯ และอีก 12-15 จังหวัด

นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนแปลงวิธีการประกวดราคาสากลเป็นวิธีการประกวดราคาทั่วไป เนื่องจากปัจจุบันบริษัทชั้นนำด้านโทรคมนาคมทุกบริษัทมีผู้แทน และสาขาอยู่ในประเทศไม่ต่ำกว่า 5 ราย ดังนั้นจึงมีผู้เข้าประกวดราคาในประเทศมากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ นำมาซึ่งข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาที่ดีที่สุด ซึ่งการใช้วิธีประกวดราคาทั่วไปในประเทศจะช่วยประหยัดเวลาได้ประมาณ 60 วัน ทำให้ทีโอทีพัฒนาโครงข่าย 3G ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อนรายอื่น

สำหรับแผนธุรกิจของทีโอทีมีการปรับเพิ่มลูกค้าเป้าหมายจาก 5 ล้าน เป็น 7.4 ล้านรายภายในปี 2558 มีส่วนแบ่งการตลาด 8% จากยอดรวมในตลาด 91 ล้านเลขหมาย เป้าส่วนแบ่งการตลาด 8% ของตลาดรวมพร้อมทั้งใช้วิธีการขายส่ง (wholesale) เป็นรูปแบบธุรกิจเพียงอย่างเดียวจากเดิมควบขายปลีกด้วย

พิเชษฐ์ ฤทธิสุนทร ที่ปรึกษาวิศวกรรมโครงข่าย 3G ทีโอที กล่าวว่า ทีโอทีต้องติดตั้งสถานีฐานในเฟสแรกให้เสร็จครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มเติมเมื่อรวมกับโครงข่าย 500 สถานีฐานที่เปิดให้บริการไปตั้งแต่ 3 ธ.ค.52 จะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึง 3G เร็วขึ้น ที่ผ่านมาความไม่แน่นอนของรัฐบาลหรือกฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เอื้อกับการทำธุรกิจ ทำให้ทีโอทีไม่สามารถวางแผนธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ให้ MVNO เช่าใช้โครงข่าย 100% ต่างจากเดิมที่ให้เช่าแค่บางส่วน ถือเป็นการเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ คือต่อไปนี้เลขหมายโทรศัพท์มือถือของทีโอทีจะเป็นของ MVNO ไม่ใช่ของทีโอทีอีกต่อไป ถ้ากฎหมายไม่ควบคุมให้ดีพออาจเกิดปัญหาการฮั้วกันระหว่างเอกชนที่เป็น MVNO นอกจากนี้ อายุการให้บริการ 3G ไม่ได้ยาวนานอย่างที่คิด เพราะในอีก 4-5 ปี เทคโนโลยีใหม่กำลังจะมา ฉะนั้นปัญหาที่เกิดจากสัญญาสัมปทานเดิมต้องเคลียร์ให้ชัดเจนเพื่อให้ทีโอทีได้สิทธิ์ในโครงข่ายที่โอนมาอย่างครบถ้วน นำไปต่อยอดธุรกิจได้

“ประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่มีที่ไหนที่ลงทุนโครงข่ายเป็น 3G เพียวๆ แต่เป็นการเกาะเกี่ยวไปกับเทคโนโลยีอื่นด้วย ในไทยก็เช่นกัน เชื่อว่าการลงทุน 3G ของแต่ละบริษัทต้องเกาะไปกับ 2.5G การบริหารโครงข่ายตามสัญญาสัมปทานหลังหมดอายุให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

เอไอเอสพร้อมทุกอย่าง
ลุยบริการ 3G ของทีโอที

เมื่อความชัดในการขยายโครงข่าย 3G ของทีโอทีผ่านฉลุย เอไอเอสในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการภายใต้สัมปทานของทีโอที และเป็นพาร์ตเนอร์กับทีโอทีเสมอมา ก็พร้อมทันทีที่จะเข้าเจรจากับทีโอที ในการเป็นเอ็มวีเอ็นโอรายใหม่ที่จะเปิดให้บริการ 3G

“เอไอเอสต้องมีการเจรจากับทีโอทีอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งเอไอเอสพร้อมที่จะร่วมกับทีโอที ถึงระดับที่เป็นฟูลเอ็มวีเอ็นโอ หรือสร้างโครงข่ายให้ทีโอทีด้วย เพราะ 3G ทีโอทีเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากที่สุด” วิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าว

ที่ผ่านมาเอไอเอสเคยเจรจาเพื่อขอโรมมิ่งเครือข่าย 3G กับทีโอทีจำนวน 50,000 เลขหมาย แต่ไม่ได้มีการดำเนินการต่อเพราะเกรงปัญหาเรื่องคุณสมบัติการเข้าประมูล 3G ของ กทช. แต่เมื่อการประมูลไม่เกิดขึ้น การใช้โครงข่ายของทีโอทีจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเอกชนอย่างเอไอเอส เนื่องจากการขยายข่าย 3G ของทีโอทีครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยมีผู้ให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียวในขณะนี้ ที่สำคัญทีโอทีไม่จำเป็นต้องกังวลใดๆ เกี่ยวกับสิทธิในการให้บริการ 3G เพราะทีโอทีได้รับคลื่น 3G มาบริหารตั้งแต่ปี 2545

โครงข่าย 3G ของทีโอที วันนี้จึงเป็นทางออกสำหรับผู้ให้บริการทุกรายที่จะเข้ามาขอเช่าใช้โครงข่าย (โรมมิ่ง) และเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเสมือน (เอ็มวีเอ็นโอ) กับทีโอที สำหรับเอกชน 5 ราย ที่เข้ามาแบบ MVNO กับทีโอที ได้แก่ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย บริษัท ล็อกซเล่ย์ บริษัท ไออีซี บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น และบริษัท เอ็ม คอนซัลท์

3G ทีโอทีจะสำเร็จ
ต้องมีแผนที่ชัดเจน

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ให้ความเห็นว่าเงื่อนไขความสำเร็จตามแผนธุรกิจของทีโอที คือ ต้องสร้างความมั่นใจในการเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานและเชื่อถือได้ โดยทีโอทีต้องเร่งปรับโครงสร้างองค์กร จัดเตรียมความพร้อมของบุคลากรพิจารณารูปแบบการบริหารจัดการโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพ เน้นการใช้ประโยชน์และสร้างรายได้จากโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อลดความเสี่ยงธุรกิจ และการลงทุนซ้ำซ้อน

ด้าน สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่ ครม.อนุมัติให้ทีโอทีดำเนินโครงการ 3G พร้อมเปลี่ยนแปลงวิธีการประกวดราคาสากลเป็นวิธีการประกวดราคาทั่วไป เป็นการตัดสินใจที่ได้อย่างเสียอย่าง คือทำให้ประชาชนมีโอกาสได้ใช้ 3G เร็วขึ้น แต่โอกาสในการแข่งขันจากการเปิดประมูลทำได้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม ทีโอทีจะมีแต้มต่อในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 3G อย่างน้อย 2 ปีเต็ม จึงเป็นโอกาสทองที่จะอยู่รอดทางธุรกิจได้ แต่จะอยู่รอดได้จริงต้องทำ 2 อย่าง คือลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพให้มีโอกาสรั่วไหลน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน การที่รัฐตัดสินใจให้ทีโอทีขายส่งหมายถึงให้มีหน้าที่ทำเน็ตเวิร์กอย่างเดียว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลมีความชัดเจนในหน้าที่ของทีโอที ดังนั้น สิ่งที่ทีโอทีต้องทำคือการหาพาร์ตเนอร์ ซึ่งเป็นผู้เช่าใช้โครงข่ายแบบ “MVNO” ที่กระตือรือร้นทำตลาด

กสท หนุนดีแทค-ทรูมูฟ
บริการ 3G บนคลื่นเดิม

กสท มีการขยับแผนรับการที่เอกชนจะไม่มีบริการ 3G จากการประมูล โดย กสท เล็งโอกาสที่เกิดขึ้นในการปรับแผนธุรกิจและการสร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ดีแทคและทรูมูฟให้บริการ HSPA (การให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิม)

“ทุกคนอยากเห็น 3G รวมถึง กสท ด้วย ซึ่งในส่วนของ HSPA บริการ 3G บนคลื่นเดิมของดีแทคและทรูมูฟ กสท ก็เป็นคนผลักดันให้เกิด แต่การจะให้บริการได้แบบไหน มีข้อกฎหมายที่ซับซ้อนซึ่งต้องพิจารณา เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐที่ต้องทำให้ถูกตามกระบวนการ ประโยชน์ของสาธารณะต้องอยู่บนความถูกต้องของกฎหมายด้วย” จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าว

กสท มองว่าในความจริงแล้วยังมีบริการ 3G อื่นๆ ที่เปิดให้บริการอยู่ อย่างซีดีเอ็มเอในต่างจังหวัด 3G ของทีโอที HSPA ของดีแทคและทรูมูฟ ซึ่งในส่วนของการเปิดให้บริการ HSPA ของดีแทคและทรูมูฟ ที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ทาง กสท ก็ได้ผลักดันให้ทั้งสองบริษัททดสอบมากว่า 2 ปีแล้ว และจะมีการประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสัญญาสัมปทานเพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้เร็วขึ้น

“มติบอร์ดอนุญาตให้ดีแทคทดสอบไปแล้ว แต่ทรูมูฟยังมีประเด็นทางกฎหมาย ทำให้กรณีของดีแทคทำได้ง่ายกว่า เพราะตามสัญญาสัมปทานได้ให้สิทธิ์ในคลื่น 850 MHz อยู่แล้ว สามารถอัปเกรดได้ แต่ของทรูมูฟไม่ได้ระบุ จึงมีข้อปลีกย่อยทางกฎหมายที่ต่างกัน ต้องพิจารณาด้วยว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการมาตรา 22 หรือไม่ ส่วนการจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ต้องดูอีกที”

ขณะนี้บริการ HSPA ทั้งดีแทคและทรูมูฟได้ขอทดสอบไปแล้วกว่า 100 สถานีฐาน ส่วนจะมีการขยายเพิ่มอีกแค่ไหนก็แล้วแต่เอกชนจะยื่นขอมา ซึ่ง กสท พร้อมสนับสนุนเต็มที่ แต่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายว่าเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องที่เอกชนต้องตัดสินใจจะลงทุน

อีกด้านหนึ่งของ กสท คือความพยายามในการซื้อกิจการของฮัทช์ หลังจากคาราคาซังมานาน โดยมีแนวโน้มว่าจะสามารถซื้อกิจการฮัทช์ได้เร็ววันนี้ เนื่องจากทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มองตรงกันว่าจะต้องมีการปรับลดวงเงินที่จะเสนอซื้อใหม่ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ฮัทช์ให้บริการอยู่ในปัจจุบันใช้มานานแล้ว เป็นเทคโนโลยีเก่าที่ต้องมีการอัปเกรด ราคาที่กำหนดไว้ตอนแรกจึงควรปรับลดลงมาให้เหลือประมาณ 6,800 ล้านบาท

แม้ว่าดูเหมือนคนไทยจะได้ใช้ประโยชน์จากบริการ 3G ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่คนไทยจะได้ประโยชน์นั้นจริงๆ หรือไม่ หรือกลายเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งที่กลุ่มการเมืองและเอกชนใช้เป็นตัวประกันในการอ้างความชอบธรรมของการเกิดขึ้นของ 3G เพราะวังวนของ 3G วันนี้ยังติดอยู่กับกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ได้เสียมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มการเมืองและเอกชน

ยิ่งการอนุมัติให้ทีโอทีขยายโครงการ 3G กว่า 19,000 ล้านบาท และการอนุมัติให้ กสท ซื้อกิจการของฮัทช์ ล้วนแล้วแต่เอื้อให้เกิดการหมกเม็ดเงินลงทุนของทั้งสองหน่วยงานจากผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ พร้อมๆ กับได้รับผลประโยชน์จากเอกชนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับทางเลือก 3G ในครั้งนี้ งานนี้จึงอาจเป็นการสมประโยชน์กันแค่สองฝ่ายระหว่างกลุ่มการเมืองกับเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

หุ้นสื่อสารยังน่าลงทุน
พื้นฐานดี - 3G มายิ่งพุ่ง

แหล่งข่าววงการโบรกเกอร์ ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มที่เอไอเอส ดีแทค และทรูจะให้บริการ 3G ภายใต้โครงข่ายของทีโอที และ กสท นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เอกชนทั้ง 3 รายสามารถขยายรูปแบบการให้บริการบนเครือข่าย 3G ให้กับผู้ใช้บริการได้ และน่าที่จะเป็นผลดีในช่วงสั้นๆ เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนทุกคนเฝ้าจับตามองว่าเอกชนทั้ง 3 รายจะได้ใบไลเซนส์ 3G หรือไม่ ทำให้หุ้นกลุ่มสื่อสารมีความคึกคักอย่างมากตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไม่แพ้หุ้นในกลุ่มอื่นๆ ที่ร้อนแรงอย่างกลุ่มแบงก์และกลุ่มพลังงาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อการประมูล 3G ยังต้องรอการเกิดขึ้นของ กสทช.ที่คาดกันว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลากว่า 2-3 ปีถึงจะเห็นการให้บริการ 3G จากเอกชนที่ชนะการประมูล การให้บริการบนเครือข่ายของทีโอที และ กสท น่าจะเป็นผลดีต่อเอไอเอส ดีแทค และทรู ที่จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการให้บริการ 2G ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากการใช้งานข้อมูลที่ทุกวันนี้มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

“พอมีประเด็นเกี่ยวกับ 3G ขึ้นมาทีไร หุ้นสื่อสารก็จะพุ่งอย่างร้อนแรง เชื่อว่าการมีบริการ 3G ของเอกชนบนเครือข่ายทีโอที และ กสท นั้น น่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจะยิ่งได้รับแรงสนับสนุนจากโบรกเกอร์ยิ่งขึ้นถ้าเกิดการประมูล 3G รอบใหม่”

ที่ผ่านมาหลังจากการประมูล 3G ต้องยุติไป บรรดาโบรกเกอร์ได้ออกมาแนะนำนักลงทุนทั้งหลายที่ต้องการลงทุนในหุ้นกลุ่มสื่อสารนี้ว่าให้นักลงทุนเปลี่ยนรูปแบบในการลงทุนหุ้นสื่อสาร จากหุ้นกำไรเติบโตสูง มามองหุ้นที่มีเงินปันผลสูงแทน ซึ่งการจ่ายปันผลงวดต่อไปจะอยู่ในช่วงไตรมาสแรกปี 2554 บางรายก็แนะนำให้เก็บหุ้นสื่อสารตอนที่ราคาอ่อนตัว เพราะหุ้นกลุ่มนี้ถือเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี เมื่อมีข่าวดีจะเกิดการดีดตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่นี้ต้องจับตากันว่าเมื่อทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรู สนใจที่จะเข้าไปให้บริการ 3G บนเครือข่ายของทีโอที และ กสท จะส่งผลให้ราคาหุ้นดีดตัวขึ้นมากน้อยเพียงไร แต่ในความเป็นจริงนั้น 2 ค่ายใหญ่อย่างเอไอเอสและดีแทค ได้สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้กับผู้ถือหุ้นได้ทั้งในด้านราคาหุ้นและการจ่ายเงินปันผลอยู่แล้ว ยิ่งไม่ต้องเสียเงินไปกับการประมูล 3G 1-2 หมื่นล้านบาท เชื่อแน่ว่าเงินจำนวนนี้ต้องย้อนกลับมาสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนแน่นอน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us