* ถึงเวลาเชนไทยยึดตลาดรับจ้างบริหารโรงแรมโลก
* หลังพบผู้บริโภคเบื่อบริการแบบฝรั่งตะวันตก
* ดุสิตธานี,เซ็นทรัล,อมารี ประกาศศักดาความพร้อม
* ผุดเครือข่ายโรงแรมหวังสร้างแบรนด์ติดอันดับโลก
ความเชื่อที่ว่า “ฝรั่งเท่านั้นที่จะบริหารโรงแรมได้”กำลังจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย เพราะวันนี้เจ้าของโรงแรมไทยหลายแห่งหาญกล้าถึงขนาดที่จะไปรับจ้างโรงแรมที่มีเจ้าของเป็นฝรั่งบริหารงานให้ด้วยซ้ำ
ในอดีตงานอดิเรกของ “เศรษฐีระดับพันล้าน”ของไทยหลายคน นอกจากการสะสมที่ดินผืนงามไว้เป็นแลนด์แบงก์แล้ว ทรัพย์สินอีกประการหนึ่งที่ “เจ้าสัว”เหล่านี้นิยมสะสมไม่แพ้กัน นั่นก็คือ การเป็นเจ้าของโรงแรมหรูในต่างประเทศสักแห่งสองแห่ง บ้างก็ซื้อไว้เป็นการส่วนตัวเพื่อเก็งกำไร บ้างก็ซื้อไว้ในนามบริษัท หรือ กงสีตระกูล เพื่อรับรองลูกค้า
ดังเช่น กลุ่ม ทีซีซีฯของเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ครอบครองโรงแรมหลายแห่งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา หรือ การเข้าซื้อกิจการโรงแรมในลอนดอนของตระกูล “รัตนรักษ์”ในนามต้นสน พร็อพเพอร์ตี้ , การซื้อโรงแรมในญี่ปุ่นและพม่าในนามส่วนตัวของ “ชาตรี โสภณพนิช” ฯลฯ
อย่างไรก็ดีการลงทุนที่เกิดขึ้นในอดีตส่วนใหญ่ มักจะเป็นการเทคโอเวอร์มากกว่า ที่จะเข้าไปรับจ้างบริหาร ที่สำคัญเจ้าสัวเหล่านี้เมื่อซื้อแล้วก็มักจะจ้างบริษัทรับจ้างบริหารโรงแรม หรือ “เชน” จากตะวันตกที่มีชื่อเสียงเข้ามาบริหารโรงแรมที่ตัวเองลงทุนไว้
หากแต่ในวันนี้ รูปแบบการลงทุนกิจการโรงแรมในต่างประเทศเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อการลงทุนในลักษณะของการไล่ซื้อ หรือ เทคโอเวอร์กำลังถูกแทนที่ด้วยรูปแบบของการรับจ้างบริหารโรงแรม
“ดุสิตฯได้เปลี่ยนโจทย์ในการขยายธุรกิจใหม่ โดยวางตัวเป็นบริษัทบริหารโรงแรม มากกว่าเป็นเจ้าของ ด้วยการออกไปเปิดตลาดต่างประเทศมากขึ้น
เพราะการไปรับบริหารโรงแรมหรือขยายการลงทุนในต่างประเทศจะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ เนื่องจากมีช่องทางเพิ่มรายได้ในหลายจุด ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นกลุ่มโรงแรมไทยหลายกลุ่มขยายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว”
ชนินทธ์ โทณวณิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ดุสิตอินเตอร์เนชั่นแนล บอกกับ “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์ หลังจากเผชิญกับวิกฤติการณ์ในด้านการเมืองในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จนต้องปรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจเสียใหม่
ขณะที่ สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ประกาศว่า
เครือเซ็นทาราต้องการเป็นผู้นำด้านโรงแรมของไทย ดังนั้นจึงตั้งบริษัท เซ็นทารา อินเตอร์เนชั่นแนล แมเนจเมนต์ จำกัด เพื่อตระเวนหาพันธมิตร นักลงทุนโรงแรมทั่วโลก เสนอตัวเข้ารับจ้างบริหาร โดยใช้แบรนด์เซ็นทารา แกรนด์ ระดับ 5 ดาว และทยอยเปิดโรงแรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการทุกระดับตั้งแต่ 2-5 ดาว
"ผมเริ่มทำธุรกิจโรงแรมมาเกือบ 30 ปีแล้ว เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งก็จะก้าวกระโดดได้ และวันนี้จุดนั้นก็มาถึงแล้ว" นายสุทธิเกียรติกล่าว
ตลาดเมืองไทย
โอเวอร์ซัปพลาย
ระยะ 10 ปีหลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเติบโตต่อเนื่องมาตลอด และเป็นประเทศเดียวในเอเชียขยายตัวมากขนาดนี้ ถึงในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะวิกฤต แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสูงถึง 14 ล้านคน หากแต่ในทางกลับกันธุรกิจโรงแรมในเมืองไทยกลับไม่สามารถที่จะตักตวงการเติบโตจากการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่
สาเหตุสำคัญมาจากการลงทุนสร้างห้องพักในประเทศแต่ละปี ที่มีการลงทุนปีหนึ่งๆไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ห้อง ล่าสุดจากการรายงานของสมาคมโรงแรมไทยซึ่งระบุว่า จำนวนห้องพักโรงแรมที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ไป(2553-55)เชื่อได้ว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 5,000 ห้อง จากปัจจุบันทั่วประเทศมีมากกว่า 5 แสนห้อง
สืบเนื่องมาจากการลงนามเซ็นสัญญาระหว่างโรงแรมไทยกับเชนต่างประเทศซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 15 แบรนด์ ซึ่งการเข้ามาของเชนบริหารโรงแรมจากต่างประเทศครั้งนี้กลายเป็นตัวช่วยที่จะเริ่มพัฒนาแบรนด์โรงแรมใหม่ๆรวมไปถึงการนำแบรนด์ตัวใหม่เข้ามาเสนอนักลงทุนโรงแรมในไทยเพื่อรับบริหารมากขึ้น
จากข้อมูลบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ได้ระบุถึงซัพพลาย (อุปทาน) ในอนาคตของโรงแรมหรูและโรงแรมระดับบนในปี 2553 ว่า มีห้องพักจำนวนกว่า 1,650 ห้อง มีกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2553 เพิ่มขึ้นจากอุปทานรวมในปี 2552 ประมาณ 12% จำนวนห้องในโรงแรมระดับกลาง จะอยู่ที่ประมาณ 2,500 ห้อง
จากปัญหาด้านการเมืองในประเทศไทยมีผลกระทบโดยตรงต่อตลาดการท่องเที่ยวในปี 2552-2553 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ในระยะยาว นักลงทุนจำนวนมากยังคงคาดการณ์ในแง่ดีเกี่ยวกับโอกาสในอนาคต และยังคงให้ความสนใจพัฒนาโรงแรมในกรุงเทพฯ ตามกำหนดการจะมีห้องเพิ่ม 9,400 ห้องจาก 48 โครงการ ภายในปี 2556 ประมาณ 50% เป็นโรงแรมระดับกลาง ตามด้วยโรงแรมระดับบน 27% และโรงแรมหรู 23%
จากจำนวนซัพพลายที่เข้ามาสู่ตลาดนั้น ทางฝ่ายวิจัยของคอลลิเออร์ส ยังระบุว่า อาจทำให้เกิดภาวะล้นตลาด จะเป็นสาเหตุให้เกิดการหยุดชะงักสำหรับนักลงทุนที่ปรารถนาจะเข้าสู่ตลาด นักลงทุนในอนาคตควรพิจารณาการลงทุน และให้ความสนใจไปยังผลิตภัณฑ์เฉพาะด้าน เช่น รูปแบบสไตล์บูติคขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้โรงแรมมุ่งเน้นไปยังตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีขนาดใหญ่พอเพื่อหาผลประโยชน์จากลูกค้าในระดับราคาที่ถูกกว่า อย่างเช่น เป้าหมายในตลาดไมซ์จากการใช้ห้องจัดเลี้ยง หรือแม้แต่มุ่งเป้าไปยังตลาดเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์
ประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า หากมองการเติบโตผ่านจำนวนห้องพัก ถ้าไม่นับโรงแรมที่เปิดใหม่ถือว่าอัตราห้องพักของโรงแรมที่มีอยู่ถือว่าล้นตลาด เนื่องจากวิฤกตการเมืองทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาไทย ส่วนปัจจัยโรงแรมเปิดใหม่นั้นส่งผลให้ห้องพักล้นตลาดนั้นตนเองมองว่าการจะเปิดโรงแรมไม่ใช่การวางแผนระยะสั้นแบบคิดแล้วเปิดภายในปีสองปี แต่เป็นการวางแผนระยะยาวซึ่งต้องใช้เวลา 3-4 ปีในการวางแผน
“จริงๆ จะมีโรงแรมเปิดใหม่ในปี 2551หลายแห่ง แต่ต้องเลื่อนมาเปิดปี 2554 เนื่องจากเศรษฐกิจ พอมาปีนี้ไม่เปิดไม่ได้แล้ว เพราะเงินทุนเขาจม พอเปิดบ้านเมืองไม่สงบคนไม่เข้ามาห้องพักก็ล้นตลาา ซึ่งปีนี้มีการคาดการณ์กันว่าโรงแรมที่เปิดใหม่จะมีจำนวนห้องเพิ่มขึ้น 2,000 ห้อง”
สำหรับจำนวนห้องพักของทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 500,000 ห้อง เป็นห้องพักในกรุงเทพฯ 70,000-80,000 ห้อง แต่หากรวมเซอร์วิสอาพาร์ทเม้นต์เข้าไปแล้วห้องพักในกรุงเทพฯ จะมีถึง 100,000 ห้อง
อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากปัญหาการโอเวอร์ซัพพลายของจำนวนห้องพักแล้ว นายกสมาคมโรงแรมไทย ยังเชื่อว่า ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้โรงแรมเหล่านี้ต้องขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น นั่นก็คือ วิกฤติการเมืองไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
เชนรร.ไทยตบเท้ายึดโลก
ล่าสุดจากการสำรวจของ “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์”พบว่า ในขณะนี้มีกลุ่มโรงแรมชั้นนำของไทยหลายแห่งต่างพากันแตกแบรนด์ใหม่ๆ เพื่อที่รุกหนักในการขยายธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรมไปทั่วโลก
เริ่มจากเครือดุสิตรีสอร์ตซึ่งมีชื่อเสียงในการบริหารโรงแรมมามากกว่า60 ปี ได้ประกาศยกระดับเป็นเชนอินเตอร์ ภายใต้ชื่อ "ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล" โดยมีเป้าหมายปั้นเชนโรงแรมแบบไทยสู่ระดับสากล ภายใต้ 5 แบรนด์ คือ "ดุสิตธานี โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต"
สำหรับ 5 ดาว "ดุสิตปริ๊นเซส โฮเต็ล แอนด์รีสอร์ต" (เป็นแบรนด์ที่ได้จากการรวมแบรนด์กับเครือรอยัลปริ๊นเซส) ให้บริการ 4 ดาว "ดุสิตดีทู"(D2) สำหรับโรงแรมบูติกระดับ 5 ดาว "ดุสิตเรสสิเดนท์" จะรับบริหารเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในลักษณะเดียวกับที่โรงแรม "ดุสิต เทวรัณย์ โฮเต็ลแอนด์ รีสอร์ต" ใช้บริหารระดับ 6 ดาว โดยสาขาแรกที่ใช้คือที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ปัจจุบัน บริษัท มีโรงแรมในเครืองอยู่ทั้งสิ้น 20 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่เป็นเจ้าของเอง และรับบริหาร โดยสัดส่วนรายได้จากรับบริหารไม่ถึง 10% ของรายได้รวม ตั้งเป้า 3-5 ปีเพิ่มสัดส่วนรายได้รับบริหารเป็น30% และ 50% ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มดุสิตธานี ตั้งเป้าหมายนับจากนี้ไปอีก 5 ปี จะมีโรงแรมในเครือทั้งหมด 50 แห่งทั่วโลก ทั้งเป็นเจ้าของกิจการและ รับจ้างบริหาร
ขณะนี้ มีทั้งที่เซ็นสัญญาแล้ว และกำลังเจรจา ประเทศที่
จะขยายไปได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งที่ยุโรป จะมีการลงทุน 3 รูปแบบตามความเหมาะสม ได้แก่ ลงทุนเอง รับบริการจัดการ และ การเช่าระยะยาวซึ่งรูปแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมในยุโรป ล่าสุด ดุสิต อินเตอร์ฯ ยังได้ลงนามสัญญาที่จะบริหารโรงแรมเปิดใหม่ในต่างประเทศไปแล้วไม่น้อยกว่า 18 แห่ง ได้แก่ อินเดีย 6 แห่ง ตะวันออกกลาง 6 แห่ง อียิปต์ 1 แห่ง ประเทศอื่น 4 แห่ง จีน 1 แห่ง
กลุ่มเซ็นทรัล หลังจากลงทุนไปหลายพันล้านในการรีโนเวตโรงแรมหลายแห่งในเครือจนพร้อมก็ลอนช์แบรนด์ใหม่ออกมา คือ "เซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์รีสอร์ต" โดยค่ายนี้ยังมีแผนที่จะแตกเป็นหลายแบรนด์ เพื่อให้สอดรับกับรสนิยมของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม เพื่อจับมือนักลงทุนสร้างโอกาสขยายโรงแรมทั่วไทย และบุกตลาดเอเชีย 65 แห่ง ใน 5 ปี
โดยเฉพาะการรุกบัดเจ็ตโฮเต็ลระดับ 2 ดาว ปูพรมทั่วประเทศ ขยายแบรนด์ เซ็นทารา รับบริหารหรือร่วมทุนพัฒนารีสอร์ต 5 ดาว เจาะทำเลทองแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม จีน อินเดีย
ทั้งนี้โรงแรม 5 ดาวใช้ชื่อแบรนด์"เซ็นทาราแกรนด์" 4 ดาว แบรนด์ "เซ็นทารา" โรงแรมหรูสไตล์บูติก(มีห้องพัก 70-100 ห้อง) ใช้ชื่อ"เซ็นทารา บูติกคอลเลชัน" และ "บัดเจ็ต" ใช้บริหารโรงแรม 3-2 ดาว ซึ่งเซ็นทาราก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีโรงแรมที่ลงทุนเองและรับบริหาร 77แห่ง หรือมีห้องพัก 10,000 ห้องเพื่อก้าวขึ้นเป็นแชมป์โรงแรมห้องพักที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)หรือ CENTEL กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจา เพื่อรับจ้างบริหารโรงแรมในประเทศ และต่างประเทศ ราว 5-6 แห่ง
ปัจจุบันเซ็นทารามีโรงแรมและรีสอร์ตในเครือ 25 แห่ง
และรับบริหารอีก11 แห่ง เข้าไปร่วมลงทุนในโรงแรม 4 แห่ง และกำลังจะเปิดตัวอีก 13 แห่งในปีนี้
ขณะที่เครืออมารีโฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท ได้นำแบรนด์ใหม่ล่าสุดอย่าง ONYX Hospitality Group ไปเปิดตัวใน International Tourism Borse : ITB 2010 เป็นบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้รับจ้างบริหารโรงแรมทั่วโลก วางตำแหน่งเหมือนกับเชนสตาร์วูด ยักษ์อสังหาริมทรัพย์โรงแรมรีสอร์ตอันดับหนึ่ง พร้อมใช้ชื่อ "ซัฟฟรอน" สำหรับโรงแรมระดับ 5 ดาว "อมารี" จะใช้กับ 4 ดาว ส่วน "โอโซ" สำหรับโรมแรมบูติกโฮเต็ล ระดับ 3 ดาว
จากการรีแบรนด์ใหม่ครั้งนี้ เครือออนิกซ์มั่นใจว่าปี 2561 จะมีโรงแรมภายใต้การบริหารของบริษัท 51 แห่ง ซึ่งจะทำให้เครือนี้ติด 1 ใน 5 อันดับแรกของเครือโรงแรมในเอเชียทันที
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรม เช่น โฟร์ ซีซั่นส์ แมริออท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้านที่พักอาศัย ธุรกิจอาหาร ธุรกิจเสื้อผ้า เครื่องสำอาง หลังจากที่ชะลอการลงทุนไปในปีที่ผ่านมา
วิลเลียม ไฮเน็คกีนายวิลเลียม ไฮเน็คกี ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไมเนอร์ฯ ประกาศว่า บริษัทมีแผนรับบริหารโรงแรมเพิ่มเติมอีก 3 โรงแรม ได้แก่ อนันธารา ที่ประเทศโอมาน จีน และอาบูดาบี 2 แห่ง จากปัจจุบันที่มีโรงแรมรับบริหาร และโรงแรมที่ลงทุนและบริหารเอง 30 โรงแรม ส่วนในปี 2554 คาดว่าจะได้รับจ้างบริหารโรงแรมเพิ่มอีก 5-6 แห่ง
นอกจากนี้จะดำเนินการก่อสร้างโรงแรมอนันธารา บาอาตอ ที่หมู่เกาะมัลดีฟส์ ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินงานได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ จากมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นกว่า 1,500 ล้านบาท และยังได้ทำสัญญาซื้อหุ้นของโรมแรมในประเทศศรีลังกา จำนวน 82,010,192 หุ้น คิดเป็น 80.10% ในราคาประมาณ 11,614,500 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 372.6 ล้านบาท
โดยสิ้นปีนี้บริษัทจะรับบริหารโรงแรมและมีโรงแรมที่บริหารเองทั้งหมด 34 โรงแรม บริษัทวางเป้าหมายจะรับบริหารโรงแรม และลงทุนสร้างและบริหารโรงแรมเองให้ได้ 50 โรงแรม ภายใน 3 ปีนับต่อจากปี 2554 เป็นต้นไป หรือในปี 2556 จะบริหารโรงแรมรวมกว่า 50 โรงแรม
ทั้งนี้ ไมเนอร์ มีโรงแรมกระจายตัวมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจำนวนทั้งหมด 30 แห่ง ด้วยห้องพักรวมกว่า 3,500 ห้อง และตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ ศรีลังกา แทนซาเนีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม โรงแรมเหล่านี้บริหารและดำเนินงานภายใต้เครือโรงแรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น Mariott และ Four Seasons และภายใต้เครือโรงแรมของบริษัทเองคือ Anantara, Elewana และ Naladhu
ไม่เพียงแค่นั้น บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย จากการเปิดเผยของ กวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนายงฯ บอกว่า ในสายของธุรกิจโรงแรมและการบริหารโรงแรม ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เมืองทอง แอสเซ็ทส์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของโรงแรม ยู เชียงใหม่ โรงแรมระดับ 4 ดาว ขนาด 41 ห้อง มีแผนที่จะบุกตลาดภูมิภาคเอเชียด้วย ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทลงนามรับจ้างบริหารโรงแรมที่ประเทศเวียดนาม 6 โรงแรม เป็นแบรนด์ ยู 4 แห่ง และปีหน้า มีแผนที่จะบุกอินเดีย และกัมพูชา
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบริษัท อัสทูโด โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท แมเนจเมนท์ จำกัด(บริษัทของนายแอนโทนี แมคโดนัลด์ ลูกเขยของตระกูลเผอิญโชค ที่มีธุรกิจหลักคือบริษัทไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ฯ) ที่เคยลงทุนทำรีสอร์ตหลายแห่งชื่อแบรนด์ครอสทูและอเวย์แล้ว ยังได้พัฒนาแบรนด์เดอะเบส เพื่อไปรับบริหารและขยายการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินเดีย โดยแห่งแรกจะเป็นโรงแรมในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน 130 ห้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการได้ในปีนี้
หมดยุคเชนตะวันตก
แม้ว่า เชนต่างประเทศที่มารับบริหารโรงแรมให้กับโรงแรมไทยทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ มีปริมาณที่มากขึ้น และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เครือแอคคอร์ เครืออินเตอร์เนชั่นแนล โฮเต็ล กรุ๊ป เครือสตาร์วูดและอีกหลายต่อหลายเครือ โดยอาศัย "ชื่อเสียง" และ "ทุนหนา" มาเป็นใบเบิกทางในการรุกธุรกิจของโรงแรมระดับอินเตอร์ที่มีลูกค้ากระจายอยู่ทั่วโลกบวกกับการบริการที่เป็นมาตรฐานสากล ทำให้ลูกค้ายอมรับและวางใจที่จะใช้บริการ
เพราะยิ่งมีเครือข่ายระดับโลกอยู่มากเท่าไรก็ยิ่งมีฐานข้อมูลลูกค้าที่แน่นมากขึ้นเท่านั้นและย่อมเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้มากกว่าโดยเฉพาะลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ตรงกันข้ามกับโรงแรมโลคัลที่ต้องสร้างลูกค้าด้วยตนเอง
ทว่าขณะนี้คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมมียุทธศาสตร์การพัฒนาธุรกิจแตกต่างจากยุคเดิม มีความพร้อมและกลยุทธ์ใหม่ที่พร้อมจะไปรับจ้างบริหารโรงแรมในต่างประเทศแข่งขันกับเชนระดับโลก
“ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคเบื่ออะไรที่มันซ้ำๆ และเชนจากโรงแรมเอเชียได้รับความนิยมมากในต่างประเทศต่างจากเชนจากตะวันตก หรือ อเมริกา โดยเฉพาะสไตล์การตบแต่ง การบริการ ในสไตล์เอเชีย ซึ่งลูกค้าเคยชินและชื่นชอบมากกว่า
ที่สำคัญเชนจากเอเชีย ที่ไปเปิดตลาดระดับโลก มีไม่ถึง 10 แบรนด์ ที่ได้รับความนิยม แมนดาริน ,แชงกรีล่า บันยันทรี เป็นต้น” ชนินทธ์ โทณวณิก ซีอีโอ ดุสิตฯย้ำกับ “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์”
เขาอธิบายต่อว่า แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเชนจากฮ่องกง อาทิ แมนดาริน แชงกรีล่า ,สิงคโปร์ เช่น รอสโซ่ ,อินเดียก็จะมี ทัชของทาทากรุ๊ป กับโอโบลอย ส่วนญี่ปุ่น เชนอย่าง อิมพีเรียล ,โอคิวร่า,นิวโอคานี่ โตแกียว น่าแปลกไม่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ขณะที่เชนจากประเทศเกาหลี อย่าง ลอตเต้ ,โชซัน, ชิลล่า ไม่ยอมออกนอกประเทศ เช่นเดียวกับจีน ที่พยายามแล้วแต่ก็ยังออกไปไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของเชนจากประเทศไทย
“แมนดาริน และ เพนนินซูล่า จะเป็นสไตล์อังกฤษแบบย้อนยุค ,ของเชนอินเดีย จะเป็นแบบอินเดียผสมอังกฤษ ของเราจุดเด่นคือ การบริการไม่เป็นรอง อาจจะไม่ดีที่สุด แต่ก็นิ่มนวลที่สุด โดยเฉพาะดุสิตจะเน้นความเป็นไทย ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะเห็นยูนิฟอร์มแบบไทยประยุกต์ และมีการบริการที่ไม่เป็นรองเชนโรงแรมเอเชียเหล่านี้”
เขาบอกว่า โมเดลของดุสิตธานีในการออกไปต่างประเทศคือ คือเลียนแบบความสำเร็จของเชนฮ่องกง อย่างแมนดาริน หรือ เพนนินซูล่า ที่ออกไปขยายธุรกิจที่อเมริกาและยุโรป โดยมองไปที่หัวเมืองใหญ่ๆ เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักก่อน ในอเมริกา ได้แก่ นิวยอร์ค ,ลอสแอนเจอลิส ซานฟรานซิสโก วอชิงตัน ส่วนยุโรป ก็จะเป็น ลอนดอน ปารีส มิวนิค มิลาน เป็นต้น เป้าหมายคือ อย่างน้อยต้องมีเครือข่ายไม่ต่ำกว่า 50 แห่งทั่วโลก ไม่กระจุกอยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจึงจะประสบความสำเร็จ
ขณะที่ตลาดต่างประเทศ มองว่าจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป เราน่าจะได้หาซื้อโรงแรมได้ในราคาไม่แพง โดยช่วงนี้ราคาโรงแรม 5 ดาวในยุโรปอยู่ที่ 3-5แสนเหรียญสหรัฐต่อห้อง ส่วนตลาดประเทศจีน สนใจ และสินค้ามีราคาแพง เฉลี่ยที่ห้องละ 5 แสนเหรียญสหรัฐเช่นกัน จึงจะลงทุนในรูปแบบร่วมลงทุน รับบริหารจัดการ หรือไม่ก็เป็นการเช่าระยะยาวซึ่งได้รับความนิยมในยุโรป คาดว่าจะเริ่มในยุโรปก่อนในปีหน้า
ชนินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนขยายการลงทุน จะไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน เพราะปัจจุบัน บริษัทมีหนี้สินต่อทุน ไม่ถึง 0.3 ขณะเดียวกัน คณะกรรมการบริหาร และ ผู้ถือหุ้น ได้อนุมัติแผนให้ บริษัทออกหุ้นกู้(บอนด์) ได้วงเงิน 4,000 ล้านบาท ตั้งแต่ 2 ปีก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเลือกว่าจะใช้วิธีออกบอนด์ หรือ การกู้เงินเพราะอัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในช่วงขาลงเช่นกันและมั่นใจในเครดิตของบริษัทที่สามารถขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ไม่ยาก
ขณะนี้ มีทั้งที่เซ็นสัญญาแล้ว และกำลังเจรจา ประเทศที่จะขยายไปได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งที่ยุโรป จะมีการลงทุน 3 รูปแบบตามความเหมาะสม ได้แก่ ลงทุนเอง รับบริการจัดการ และ การเช่าระยะยาวซึ่งรูปแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมในยุโรป ล่าสุด ดุสิต อินเตอร์ฯ ยังได้ลงนามสัญญาที่จะบริหารโรงแรมเปิดใหม่ในต่างประเทศไปแล้วไม่น้อยกว่า 18 แห่ง ได้แก่ อินเดีย 6 แห่ง ตะวันออกกลาง 6 แห่ง อียิปต์ 1 แห่ง ประเทศอื่น 4 แห่ง จีน 1 แห่ง
“ผมจะเร่งโครงการพัฒนาธุรกิจ โครงการขยายการลงทุนในต่างประเทศมากที่สุด พลิกวิกฤตในประเทศเป็นโอกาสจะไปเติบโตในทั่วโลกภายใน 2-3 ปีนี้ ทำสัญญาเพิ่มเครือข่ายโรงแรมโดยใช้แบรนด์หัวหอก คือ ดุสิต เทวารัณย์ ปริ๊นเซส ขยายในต่างประเทศซึ่งมีการเซ็นสัญญาและเจรจารวมกว่า 20 แห่ง”
ทั้งนี้ เป้าหมายหลัก 5 พื้นที่ คือ ตะวันออกกลาง ศูนย์กลางที่ดูไบ รับจ้างบริหารอย่าง 5 โรงแรม อินเดียเน้นร่วมทุนกับรับจ้างบริหาร 5 แห่ง ปีนี้เปิดแห่งแรกในเดลี แห่งที่ 2 ปี 2554 จีนตั้งบริษัท ดุสิตเวิลด์ไวด์ จำกัด มีสำนักงานอยู่ในฮ่องกง ทั้งเข้าไปร่วมทุนรับจ้างบริหารขณะนี้ 3 แห่ง ไหหนาน ปักกิ่ง และกำลังเจรจาอีก 1 เมือง ยุโรปตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกิจแล้วเจรจา 3 แห่ง ในเยอรมนี อิตาลี อังกฤษ ในปีหน้าจะได้เห็นแบรนด์ดุสิตในยุโรป 1-2 แห่ง
นายปีเตอร์ เฮนรี ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารธุรกิจโรงแรมอมารีกรุ๊ป เปิดเผยว่า แผนขยายแบรนด์อมารี โรงแรมของคนไทยในต่างประเทศเริ่มดำเนินการเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โครงการแรก ทำข้อตกลงกับนายมานดีพ ลัมบา ผู้ก่อตั้งบริษัทเท็น โฮเต็ลส์ จำกัด ร่วมทุนและรับจ้างบริหารโรงแรมตามเมืองใหญ่ทั่วอินเดีย ภายใน 5-7 ปีนี้ จำนวน 7 โรงแรม เนื่องจากปัจจัยบวกจากตลาดการลงทุนโรงแรม รีสอร์ต เรสซิเดนซ์ เติบโตต่อเนื่อง ผนวกกับการเดินทางท่องเที่ยวขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยภาพรวมภายในปี 2561 อมารีจะสร้างโรงแรมและรีสอร์ตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ได้ตามเป้ามากถึง 51 แห่ง
ตามแผนการร่วมทุนครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อทั้ง 2 บริษัท ซึ่งสามารถนำจุดแข็งและจุดขายต่างกันมาวางกลยุทธ์สร้างความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว นั่นคืออมารีเป็นแบรนด์โรงแรมที่ได้รับความนิยมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ส่วนเท็น โฮเต็ลส์ มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในอินเดียทั้งตามเมืองหลักและเมืองรอง การเข้าเป็นพันธมิตรกันในจังหวะนี้จะเป็นแรงผลักดันการสร้างแบรนด์ของทั้งคู่ขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
นายมานดีพ ลัมบา กล่าวว่า ในฐานะผู้ก่อตั้งเท็น โฮเต็ลส์ มากว่า 25 ปี เป็นประธานฟอร์จูน ปาร์ค โฮเต็ลส์ เครือบริษัท ไอซีที จำกัด และเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอร์เนย์ เดย์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในอังกฤษ ตัดสินใจร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจโรงแรมกับแบรนด์ไทย เพราะเชื่อมั่นชื่อเสียงของอมารีกรุ๊ปได้รับความนิยมสูงมากในอินเดีย จะเป็นฐานการขยายแผนลงทุนสร้างธุรกิจก้าวสู่ความสำเร็จได้รวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วง 3-5 ปีนี้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตบวกเพิ่มทุกปี
ด้านสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา เปิดเผยว่า วางตำแหน่งขึ้นเป็นผู้นำตลาดโรงแรมแบรนด์ไทยด้วยการจัดทำวางแผนพัฒนาธุรกิจ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2553-2558 ครอบคลุมพื้นที่ทุกทำเล ลักษณะเดียวกันกับเชนอินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลก
จะดำเนินกลยุทธ์คู่ขนานกัน 2 แนวทาง แนวทาง 1 ขยายการลงทุนโรงแรมระดับ 5 ดาว และภายในเมษายนนี้จะเปิดแบรนด์ใหม่ระดับ 3 ดาว แนวทาง 2 นำแบรนด์ เซ็นทาราเข้าไปรับจ้างบริหารเทรนด์ใหม่บูติครีสอร์ตคอลเล็กชั่น ตั้งเป้าปี 2558 ห้องพักเพิ่ม 45% เพิ่มรายได้ 15-20% ค่าธรรมเนียมบริหารรีสอร์ตใหม่ 3 ปีแรกจะเพิ่ม 1 เท่า จากนั้นจะเพิ่มปีละ 5-10%
ส่วนนโยบายการตั้งราคาขายห้องพักของโรงแรมและรีสอร์ตปี 2553 เซ็นทาราจะเพิ่มแตกต่างกันตามความหลากหลายของโปรดักต์ขยับราคาเฉลี่ยขึ้นอีก 15-20% ให้สอดคล้องกับเป้าหมายรายได้ รวมทั้งความสำเร็จในการเป็นผู้นำโรงแรมไทยที่จะมีโรงแรมในเครือมากถึง 42 โรงแรม รวมห้องพักทั้งหมด 6,500 ห้อง
โดยการรับจ้างบริหารนั้นคาดว่าปีนี้จะมีรายได้ประมาณ125 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วที่ทำได้ 55 ล้านบาท แต่ยังคงเป้าหมายรายได้ในปี 2558 ที่จะมีรายได้รับจ้างบริหาร 500 ล้านบาท
โดยในช่วง 2 เดือนจากนี้ คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญารับจ้างบริหารโรงแรมระดับ3 ดาวได้อีก รวมทั้งการเตรียมเปิดตัวแบรนด์ใหม่ด้วย
"ตอนนี้เรามีโรงแรมและห้องพัก ที่ถือได้ว่ามีจำนวนมากที่สุดในไทย แต่เราก็ยังขยายตลาดต่อไป และเซนทาราจะเป็นอินเตอร์เนชันแนลแบรนด์ที่มีธุรกิจครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค" นายสุทธิเกียรติกล่าว
รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินบัญชีและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) CENTEL เสริมว่า แผนงานรับจ้างบริหารโรงแรมให้ต่างประเทศนั้นในอดีตบริษัทได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่ปัจจุบับหลังจากต่างชาติเห็นฝีมือการบริหารและความเป็นเอกลักษณ์ในการบริหารแบบไทยๆ ซึ่งเข้ากับวัฒนธรรมจึงถูกใจต่างชาติ ทำให้เกิดความนิยมในต่างประเทศและให้ความสนใจที่จะว่าโรงแรมในไทยเข้าไปบริหารงานซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี
“ ผมเชื่อว่าประเทศไทยเรามีเอกลักษณ์ทำให้ประเทศอื่นอยากเอาอย่าง และที่ผ่านมาเขาก็เห็นฝีมือของเรามาตลอด และเชื่อมั่นในการบริหารที่มีคุณภาพจึงให้เราเป็นคนดูแลทั้งหมด โดยอาจดึงฝ่ายบริหารเข้าไปทำด้วย เพื่อให้ต่างชาติรู้สึกมั่นใจว่าประเทศไทยบริหารงานได้มาตรฐาน”นายรณชิตกล่าว
************
โรงแรม 5 ดาวไทยถูกสุดในโลก
เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) ระบุ จากการสำรวจค่าเช่าโรงแรมชั้นหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผ่านเว็บไซต์จองโรงแรม agoda.com พบว่า ค่าเช่าโรงแรมชั้นหนึ่งในกรุงเพทฯตกต่ำลงอย่างมาก
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย พบว่า ค่าเช่าโรงแรมที่มีตราสินค้านานาชาติระดับ 5 ดาวในเขตกรุงเทพมหานคร ยังมีอัตราค่าเช่าลดลงต่ำกว่าโรงแรมที่มีตราสินค้านานาชาติเดียวกันในประเทศเพื่อนบ้านถึง 20% โดยโรงแรมที่กล่าวถึงได้แก่ แชงกรีล่า เพนนินซูลา แมริออตต์ ไฮแอท เรเนซอง อินเตอร์คอนติเนนตัล แพนแปซิฟิก มิลเลนเนียมและแอสคอตทั้งนี้ยกเว้นแมนดารินโอเรียลเต็ลที่ค่าเช่าสูงกว่าที่อื่นเนื่องจากมีชื่อเสียงด้วยตนเองมานาน
"สำหรับโรงแรมที่นำอัตราค่าเช่ามาในเมืองใหญ่ที่นำมาเปรียบเทียบได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ มะนิลา และจาการ์ตา ในจำนวนนครทั้งหมดนั้น มีเพียงกรุงมะนิลาเท่านั้นที่ค่าเช่าโรงแรมที่มีตราสินค้านานาชาติทั้งหลายอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไทย จะสังเกตได้ว่ากรุงจาการ์ตา มีอัตราค่าเช่าโรงแรมที่สูงกว่าไทย ณ เวลานี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้อาจมีค่าเช่าที่ต่ำกว่า"นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA)กล่าว
ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ในกรุงจาการ์ตาในช่วงวันที่ 17-22 มิ.ย.53 ที่ผ่านมา ทำให้เชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รวมถึงโรงแรม ซึ่งชะลอตัวอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้ การเมืองในอินโดนีเซีย “นิ่ง” แล้ว รัฐบาลมีเสียงข้างมากถึงราวสองในสาม ทำให้ประชาชนและสังคมธุรกิจทั้งในอินโดนีเซียและจากต่างประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
สำหรับรายละเอียด ที่ศูนย์ข้อมูลฯเอเจนซี่ฯ สำรวจดังกล่าวพบว่า ค่าเช่าโรงแรมที่มีตราสินค้านานาชาติระดับ 5 ดาวในเขตกรุงเทพมหานคร มีค่าเช่าต่ำกว่าในสิงคโปร์และฮ่องกงประมาณ 30% ต่ำกว่ากรุงจาการ์ตา 23% ต่ำกว่ากรุงกัวลาลัมเปอร์ 21% และต่ำกว่ากรุงมะนิลา 14% ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ราคาค่าเช่าโรงแรมชั้นหนึ่งในกทม. มีอัตราค่าเช่าที่ตำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากในกทม.มีโรงแรมชั้นหนึ่งเปิดให้บริการอยู่เป้นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันสูงทั้งในเรื่องของราคาและบริการ
ค่าเช่าโรงแรมชั้นหนึ่งในกรุงเทพมหานครเหล่านี้เป็นเงินประมาณ 5,000 - 6,000 บาทต่อคืน อย่างไรก็ตามในกรณีโรงแรมชั้นหนึ่งระดับ 5 ดาวของไทยเอง ค่าเช่ายังต่ำกว่านี้อีก เช่น โรงแรมเลอบัว เอ็มโพเรียมสวีท และดุสิตธานี เป็นต้น โดยโรงแรมเหล่านี้มีค่าเช่าคืนละประมาณ 3,000-4,000 บาท ยิ่งหากเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว และ 4 ดาว อัตราการลดของค่าเช่าอาจจะมีอัตราที่สูงกว่านี้อีก ดังนั้นจึงสะท้อนถึงภาวะที่น่าเป็นห่วงของวิสาหกิจโรงแรมในประเทศไทยในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนก.ค.นี้ ศูนย์ข้อมูลฯเอเจนซี่ฯ จะรับหน้าที่เป็นคณะทำงานจัดการประชุมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอาเซียนด้วย ซึ่งขณะนี้ แม้หลายประเทศได้จองเข้าร่วมประชุมแล้ว แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่กำลังรอดูท่าทีอยู่ ผู้เข้าประชุมเหล่านี้คงยังกลัวภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งการชะลอดูท่าทีดังกล่าวมีรูปแบบคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นกับบางประเทศในอดีต เช่น รัฐประหารในกรุงมะนิลาในปี31 หรือการนองเลือดในกรุงจาการ์ตาในปี41 ซึ่งส่งผลให้ชาวต่างประเทศมีการชะลอดูภาวะปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้มีการจับตามองสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลายคนยังมีความรู้สึกว่าความรุนแรงยังจะเกิดขึ้นอีก
"หากประมาณว่าอัตราค่าเช่าโรงแรมลดลง 25% และอัตราการเข้าพักลดจาก 60% เหลือ 40% ก็จะทำให้รายได้ต่อปีลดลงไปถึง 50% และหากค่าเช่าในหนึ่งปีแรกลดลงเช่นนี้ ณ อัตราผลตอบแทนที่ 10% ก็จะส่งผลต่อราคาโรงแรม ณ มูลค่าปัจจุบัน 5% แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นราคาทรัพย์สินของโรงแรม ณ มูลค่าปัจจุบันจะลดลง 9%"
************
เปิดเครือข่าย Top 10 เชนอินเตอร์
ปัจจุบันโครงสร้างของธุรกิจโรงแรมของโลกได้ถูกครอบงำโดยเชนโรงแรมขนาดยักษ์จำนวนประมาณ 10 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะมีแบรนด์ต่างๆ มากมายเพื่อให้ครอบคลุมตั้งแต่ตลาดบนสุดจนถึงตลาดล่าง โดยเฉพาะโรงแรมระดับหรูหราในปัจจุบันนั้น เกือบทั้งหมดสังกัดอยู่ในเชนโรงแรมขนาดยักษ์แทบทั้งสิ้น
สำหรับเชนธุรกิจโรงแรมใหญ่ที่สุดในโลก คือ บริษัท InterContinental Hotels Group (IHG) ของสหราชอาณาจักร มีโรงแรมในสังกัดมากกว่า 3,500 แห่ง ใน 100 ประเทศทั่วโลก โดยมีจำนวนห้องรวมกันมากถึง 534,000 ห้อง เป็นเจ้าของแบรนด์ต่างๆ เป็นต้นว่า Intercontinental, Crowne Plaza, Holiday Inn, Holiday Inn Express, Staybridge Suites, Candlewood Suites, Hotel Indigo ฯลฯ
แต่ละแบรนด์ของเครือโรงแรมกลุ่มนี้จะเจาะลูกค้าเป้าหมายแตกต่างกันไป โดยโรงแรม Intercontinental และ Crowne Plaza มุ่งตลาดบนสำหรับลูกค้าที่ต้องการความหรูหราและนักธุรกิจระดับสูง ขณะที่ Holiday Inn มุ่งนักท่องเที่ยวระดับกลางและนักธุรกิจทั่วไป ส่วน Express by Holiday Inn สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการห้องพักราคาประหยัด
บริษัท Cendant Corp นับเป็นเชนโรงแรมใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีโรงแรมในเครือมากถึง 6,400 แห่ง รวมทั้งหมดประมาณ 521,000 ห้อง กลุ่มนี้จะเน้นลูกค้าตลาดกลางและตลาดล่าง ไม่เน้นโรงแรมระดับหรูหราแต่อย่างใด ทำให้เป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในสหรัฐฯ ในส่วนโรงแรมราคาประหยัด (Economy)ประกอบด้วยแบรนด์ต่างๆ เป็นต้นว่า Days Inn, Ramada, Howard Johnson, Wingate Inn, Super 8 ฯลฯ
บริษัท Marriott ของสหรัฐฯ เป็นเชนโรงแรมใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีโรงแรมในเครือประมาณ 2,600 แห่ง จำนวนห้องรวม 482,000 ห้อง ประกอบด้วยแบรนด์ต่างๆ เป็นต้นว่า Marriott, Ritz-Carlton, Renaissance, Residence Inn, Fairfield Inn, New World, Courtyard ฯลฯ โดยแต่ละแบรนด์ก็มีลูกค้าเป้าหมายแตกต่างกัน เป็นต้นว่า Ritz-Carlton เป็นโรงแรมหรูหราระดับ 5 ดาว ขณะที่ Courtyard เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว ส่วน Fairfield Inn เป็นโรงแรมเจาะลูกค้าตลาดล่างระดับ 1 - 2 ดาว
บริษัท Accor มีสำนักงานใหญ่ตั้งที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส นับเป็นเชนโรงแรมใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีโรงแรมในเครือ 4,000 แห่ง กระจายอยู่ใน 140 ประเทศทั่วโลก จำนวนห้องรวม 460,000 ห้อง มีแบรนด์ต่างๆ เป็นต้นว่า Sofitel เป็นแบรนด์สำหรับลูกค้าระดับ 5 ดาว ตามด้วยแบรนด์ Grand Mercure ระดับ 4 ดาวครึ่ง, แบรนด์ Novotel ระดับ 4 ดาว, แบรนด์ Mercure ระดับ 3 ครึ่ง แบรนด์ All Seasons เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวในรูปแบบสไตล์รีสอร์ต รองลงมาอีก คือ Ibis ระดับ 3 ดาวในรูปแบบโรงแรมในตัวเมือง และล่างสุด คือ แบรนด์ Motel 6 ระดับ 1 ดาว
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเชนโรงแรม Club Med ได้ประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากขาดทุนเรื้อรังหลายปีติดต่อกัน ดังนั้น กลุ่ม Accor ก็ได้เข้ามาช่วยเหลือโดยซื้อหุ้นใหญ่ของเชนโรงแรม Club Med เมื่อปี 2547
บริษัท Hilton Hotels Corporation มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ย่านเบเวอร์ลี่ฮิลล์ในสหรัฐฯ เป็นเชนโรงแรมใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ประกอบด้วยโรงแรม 2,800 แห่ง จำนวนห้องรวม 460,000 ห้อง ประกอบด้วยแบรนด์ Hilton, Embassy Suites, Hilton Garden Inn, Scandic, Doubletree, Hampton Inns ฯลฯ
เดิมธุรกิจโรงแรมฮิลตันแบ่งเป็น 2 กลุ่มแยกจากกันโดดเด็ดขาด กล่าวคือ กิจการในสหรัฐฯ เป็นของบริษัท Hilton Hotels Corporation ขณะที่กิจการนอกสหรัฐฯ เป็นของบริษัท Hilton Group ของสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2548 บริษัท Hilton Hotels Corporation ของสหรัฐฯ ได้ซื้อกิจการโรงแรมของบริษัท Hilton Group ของสหราชอาณาจักร ทำให้เป็นเจ้าของแบรนด์โรงแรมฮิลตันทั่วโลกแต่เพียงผู้เดียว ส่งผลให้กลายเป็นเชนโรงแรมซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ได้ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของโลก
บริษัท Choice Hotels International เป็นเชนโรงแรมใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีโรงแรมในเครือ 5,000 แห่ง รวม 404,000 ห้อง เป็นเจ้าของแบรนด์ต่างๆ เป็นต้นว่า Comfort Inn, Clarion, Quality, Econo Lodge ฯลฯ เน้นลูกค้าตลาดระดับกลาง โดยปัจจุบันครองตลาดสูงที่สุดในสหรัฐฯ ในส่วนตลาดโรงแรมระดับราคาปานกลาง (Midscale) ที่ไม่มีภัตตาคารตั้งอยู่ภายในโรงแรม
บริษัท Best Western International เป็นเชนโรงแรมใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก มีโรงแรมในเครือ 4,300 แห่ง ใน 88 ประเทศ จำนวนรวม 320,000 ห้อง เน้นตลาดโรงแรมระดับราคาปานกลางเป็นหลัก โดยครองตลาดสูงที่สุดในสหรัฐฯ ในส่วนตลาดโรงแรมระดับราคาปานกลาง (Midscale) ที่มีภัตตาคารตั้งอยู่ภายในโรงแรม ปัจจุบันมีโรงแรมทำการบริหาร 4,300 แห่ง ใน 88 ประเทศ ประกอบด้วยแบรนด์ Best Western Premier สำหรับโรงแรมระดับ 4 ดาว และแบรนด์ Best Western สำหรับโรงแรมระดับ 3 ดาว
บริษัท Starwood Hotels & Resorts Worldwide มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองไวท์เพลนใน
มลรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ เป็นเชนโรงแรมใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก มีโรงแรมในเครือ 740 แห่ง จำนวนรวม 230,000 ห้อง ทั้งนี้ มีข่าวลือว่ากลุ่มนี้อาจจะขยายฐานธุรกิจในอนาคตโดยเข้าไปซื้อกิจการบริษัท Intercontinental Hotels Group ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแรมใหญ่ที่สุดในโลก
สำหรับโรงแรมในกลุ่มนี้ประกอบด้วยแบรนด์ต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า Westin, Sheraton, 4 Points, W Hotels, Luxury Collection, St. Regis ฯลฯ โดยแต่ละแบรนด์จะมุ่งสู่ลูกค้าเป้าหมายแตกต่างกัน เป็นต้นว่า แบรนด์ Sheraton เน้นเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว สำหรับลูกค้าเป้าหมายเป็นบุคคลวัยกลางคนที่มีฐานะดี ขณะที่แบรนด์ 4 Points เน้นเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว สำหรับลูกค้าเป้าหมายเป็นคนวัยหนุ่มสาวที่ต้องการความสนุกสนาน
บริษัท Global Hyatt Corp ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2500 ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครชิคาโกในสหรัฐฯ นับเป็นเชนโรงแรมใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก มีโรงแรมในเครือ 900 แห่ง จำนวนห้องรวม 150,000 ห้อง ประกอบด้วยแบรนด์ Hyatt, Hawthorn Suits ฯลฯ โดยเน้นเฉพาะโรงแรมระดับหรูหราเท่านั้น ไม่เน้นโรงแรมในตลาดกลางและตลาดล่าง
บริษัท Carlson Hotels Worldwide มีสำนักงานใหญ่ตั้งที่นคร Minneapolis เป็นเชนโรงแรมใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก มีโรงแรมในเครือ 900 แห่ง จำนวนห้องประมาณ 150,000 ห้อง ประกอบด้วยแบรนด์ Regent อยู่ระดับบนสุด รองลงมา คือ Park Hotel และ Radisson นอกจากนี้ ยังมีโรงแรมราคาประหยัด คือ Country Inn
นอกจากเชนโรงแรมขนาดใหญ่ระดับโลกแล้ว ยังมีเครือข่ายโรงแรมขนาดกลางอีกหลายกลุ่ม โดยในภูมิภาคเอเชียมีเชนโรงแรมขนาดกลางเป็นต้นว่า โรงแรมดุสิตธานี ของไทย ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมในเครือ 20 แห่งทั่วโลก โดยในจำนวนนี้อยู่ในประเทศไทย 15 แห่ง ที่เหลืออยู่ในอินโดนีเซีย เมียนม่า ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตั้งเป้าหมายเพิ่มโรงแรมในเชนอีก 4 แห่ง ในปี 2549
บริษัท Mandarin Oriental Hotel Group ของฮ่องกง ก่อตั้งเมื่อปี 2506 เริ่มจากโรงแรมแมนดารินในฮ่องกง ต่อมาในปี 2517 ได้ซื้อหุ้น 49% ในโรงแรมโอเรียนเต็ลซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีโรงแรมหรูหราในสังกัด 31 แห่ง เป็นจำนวนห้องประมาณ 9,000 ห้อง โดยอยู่ในทวีปเอเชีย 14 แห่ง ทวีปอเมริกาเหนือ 12 แห่ง และทวีปยุโรป 5 แห่ง
บริษัท Raffles International ของสิงคโปร์ ก่อตั้งโดยบริษัท Raffles Holdings เมื่อปี 2532 เพื่อทำธุรกิจบริหารโรงแรมและรีสอร์ต โดยมีเรือธง คือ โรงแรม Raffles ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ก่อตั้งในสิงคโปร์เมื่อปี 2430 ปัจจุบันเป็นเชนโรงแรมใหญ่เป็นอันดับที่ 18 ของโลก มีโรงแรมในสังกัด 33 แห่ง จำนวนรวม 13,400 ห้อง ประกอบด้วยแบรนด์ต่างๆ เป็นต้นว่า Merchant Court, Raffles, Swissotel ฯลฯ
เดิมเชนโรงแรม Raffles มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กลุ่ม CapitalLand ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่สุดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ได้ตัดสินใจขายกิจการเชนโรงแรม Raffles เมื่อกลางปี 2548 ในมูลค่า 40,000 ล้านบาท ให้แก่กองทุน Colony Capital ของสหรัฐฯ
บริษัท Banyan Tree Hotels and Resorts ของสิงคโปร์ นับเป็นอีกเชนที่กำลังมาแรงโดยปัจจุบันที่เปิดดำเนินการแล้ว 14 แห่ง ประกอบด้วยแบรนด์ Banyan Tree และ Angsana เน้นโรงแรมในรูปแบบรีสอร์ตเป็นหลัก โดยเริ่มจากโรงแรมแห่งแรกที่จังหวัดภูเก็ต ต่อมาได้ขยายธุรกิจไปยังเกาะบินตันของอินโดนีเซีย เกาะมัลดีฟส์ เกาะเซเชลส์ และกรุงเทพมหานคร
|