ชื่อของบริษัทหลักทรัพย์ชินตุงกระฉ่อนไปทั่ววงการค้าหลักทรัพย์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในฐานะ
"เจ้าของ" โพยหุ้นที่แม่นเหลือหลายทำนายว่าหุ้นตัวไหนราคาขึ้นเป็นต้องขึ้นจริง
ตัวไหนราคาตกเป็นตกจริง
โพยหุ้นที่ว่านี้เลื่องลือจนตลาดหลักทรัพย์สั่งสอบสวนและเริ่มคิดหามาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น
กับการทำรายงานวิเคราะห์หุ้นประจำวัน/สัปดาห์ของบรรดาโบรกเกอร์ และซับโบรกเกอร์ทั้งหลายโดยเฉพาะพวกที่มีการชี้นำหรือระบุให้ซื้อและขายหุ้นลงในรายงานด้วย
แต่ในที่สุดเมื่อมีการสอบกันจริง ๆ การณ์กลับปรากฏว่าไม่มีอะไรในกอไผ่
LEE TAK SUAN กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ชินตุง รัตต จำกัด กล่าวเปิดใจกับ
"ผู้จัดการ" หลังจากเดินทางไปรายงานเรื่องราวกับตลาดหลักทรัพย์ฯว่า
"ผมงงกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาก เพราะไม่เคยมีใครมาสอบถามข้อเท็จจริงกับผมเลย
ยังไม่เคยมีใครมาสัมภาษณ์ผมและโพยหุ้นที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ของชินตุง"
มร.ลียื่นเอกสารที่มีการอ้างว่าเป็นโพยหุ้นให้ "ผู้จัดการ" ดู
เอกสารดังกล่าวจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ รายงานภาวะตลาดฯ ดัชนีราคาหลักทรัพย์
ข่าวความเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุน หุ้นใหม่เข้าตลาดฯ
ผลการดำเนินงานของบริษัทในตลาดฯ รวมทั้งข่าวเศรษฐกิจและการลงทุนทั่ว ๆ ไป
ดูแล้วก็เป็นเพียงข่าวรายวันจากหนังสือพิมพ์ทั่วไปที่ไม่พิเศษพิสดารอะไรนักหนา!!
ทั้งนี้มร.ลีอ้างว่าโพยหุ้นที่เป็นข่าวร่ำลือกันทั่วตลาดนั้นเป็นโพยของบงล.สินอุตสาหกรรม(ซิกโก้)ต่างหาก
โดยเจ้าหน้าที่ของซิกโก้แพ็กซ์โพยหุ้นนี้มาให้เพื่อน ๆ ที่เคยเป็นอดีตพนักงานของซิกโก้แล้วลาออกมาอยู่กับชินตุงฯแล้วโพยนี้ก็ส่งต่อ
ๆ กันไป
การส่งต่อนี้เป็นเหตุให้มีการโจษขานไปทั่วว่ามีการ "ใบ้หุ้น"!!
"ผู้จัดการ" สอบถามไปยัง อุไรรัตน์ ประมวลรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและวางแผนแห่งซิกโก้
ซึ่งก็ปฏิเสธว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ซิกโก้ทำรายงานวิเคราะห์หุ้นเป็นภาษาไทยสำหรับใช้ภายในบริษัทลูกค้าเท่านั้น
แต่เรื่องที่มีพนักงานของซิกโก้ลาออกไปอยู่ที่ชินตุงฯ เป็นเรื่องซึ่งเกิดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
พวกที่ลาออกไปเป็นคนในฝ่ายคอมพิวเตอร์และฝ่ายการตลาด โดยกระจายไปอยู่ในหลายบริษัทด้วยกัน
เรื่องโพยหุ้นฮือฮาอยู่ระยะหนึ่งแล้วเงียบไป แต่ที่ยังฮือฮาไม่เสร็จคือเรื่องของชินตุง
รัตต ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินตุง กรุ๊ปแห่งฮ่องกงและเริ่มมีบทบาทในฐานะ
MARKET MAKER ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงอยู่ไม่น้อยรวมทั้งตลาดซื้อชายล่วงหน้าด้วย
ครั้นเกิดตลาดหุ้นวิกฤติเมื่อจันทร์ทมิฬปี 2530 ชินตุงได้รับความเสียหายอย่างหนัก
ธนาคารสแตนดาร์ด ชาเตอร์ด (สแตนชาร์ท) ซึ่งเป็นผู้ปล่อยเงินกู้จำนวนมากให้ชินตุงจึงเข้ามาช่วยและซื้อกิจการไปในที่สุด
ปัจจุบัน สแตนชาร์ทฯถือหุ้นชินตุงกรุ๊ป ปริมาณมากกว่า 90 % มีการร่วมบริหารงานด้วยในระยะแรก
แต่ต่อมาก็ปล่อยให้คณะกรรมการของชินตุงกรุ๊ปที่นำโดย ARTHUR LAI CHEUK KWAN
มีผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการฯบริหารงานโดยอิสระ
ชินตุงมีเครือช่วยอยู่ในย่านเอเชียนทุกประเทศ ยกเว้นญี่ปุ่น รวมทั้งสำนักงานในยุโรปและแคนาดา
นอกจากจะเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดต่าง ๆ แล้ว บทบาทที่โดดเด่นประการหนึ่งคือการจัดหาเงินทุนโดยการออกหุ้นใหม่
ทั้งนี้ชินตุงมีเครือข่ายจำนวนมากที่จะจัดจำหน่ายหุ้นเหล่านี้
ในส่วนของงานวิจัยนั้นชินตุงก็พัฒนาเติบใหญ่จนแยกออกมาตั้งเป็นบริษัทวิจัยต่างหาก
ให้บริการข้อมูลตลาดทุนตลาดเงินและภาวะเศรษฐกิจแก่ลูกค้าในทั่วโลก งานวิจัยที่ทำที่ชินตุง
รัตต
ก็จะส่งเข้ามาที่หน่วยงานนี้เพื่อส่งเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วย
ชินตุงกรุ๊ปเพิ่งจะเข้ามาตั้งสำนักงานในไทยเมื่อปี 2532 ทำงานด้านวิจัยตลาดทุนดูลู่ทางการขยายกิจการในไทยซึ่งในที่สุดก็สามารถร่วมลงทุนกับทาง
บง.เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ (เอฟซีไอ) ได้
มร.ลี เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าเรื่องการร่วมทุนกับทางเอฟซีไอนี้เกิดก่อนที่เขาจะมาเป็นกรรมการผู้จัดการคือเมื่อเดือนกรกฎาคม
2532 มีคนของเอฟซีไอเดินทางไปเจรจากับชินตุงที่ฮ่องกงเพื่อที่จะหาลู่ทางพัฒนาธุรกิจคอร์ปอเรท
ไฟแนนซ์
ขณะที่เอฟซีไอต้องการเครือข่ายและคามชำนาญงานในการทำธุรกิจอินเวสเม้นท์
แบงก์ ชินตุงกรุ๊ปก็ต้องการขยายเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดทุน ความต้องการที่สอดคล้องกันจึงลงตัวด้วยการที่ชินตุงกรุ๊ปเข้ามาซื้อหุ้นร่วมทุนในเอฟซีไอ
25% และร่วมกันจัดตั้งบล.ชินตุง รัตต ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากบล.เอฟซีไอที่คุณหญิงพัชรี
ว่องไพฑูรย์ กรรมการบง.เอฟซีไอ ซื้อมาจากกลุ่มสยามวิทยาของสุระจันทร์ศรีชวาลาเมื่อธันวาคม
2530
ชินตุง รัตต เริ่มรุกในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มาหลายเดือน ด้วยปริมาณการซื้อขายเดือนละประมาณพันล้านบาท
โดยผ่านคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ไปยังโบรกเกอร์ชั้นนำรวม 6 ราย เช่น ธนชาติ
ธนสยาม บุคคลัภย์ สินอุตสาหกรรม เป็นต้น มีสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติ 70%
และในจำนวนนี้เป็นชาวฮ่องกงเสีย 30-40%
แม้ชินตุง รัตต จะทำรายได้จากการค้าหลักทรัพย์ได้มากแต่ก็จำเป็นที่จะต้องขยายตัวไปในด้านอื่น
ๆ ด้วยโดยเฉพาะการเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นหรืออันเดอร์ไรต์
ซึ่งชินตุง รัตตไม่มีใบอนุญาตให้ทำกิจการด้านนี้ คงมีใบอนุญาตเพียงแต่การเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น
การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน และผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นเท่านั้น
มร.ลี กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "เราพยายามที่จะขอใบอนุญาตทำอันเดอร์ไรต์
มันมีความหายต่อธุรกิจของชินตุงมาก เพราะเครือข่ายต่าง ๆ ชินตุงมีอยู่พร้อม
โดยเฉพาะความชำนาญจากบริษัทแม่และจากสแตนชาร์ทฯ"
นอกจากนี้แล้วชินตุง รัตต ก็เริ่มที่จะเข้าไปหารายได้จากค่าธรรมเนียมต่าง
ๆ ในการทำคอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ทำเรื่องการร่วมทุน การซื้อกิจการทั้งในประเทศและนอกประเทศการเป็นที่ปรึกษาบริษัทที่ต้องการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
เมื่อตุลาคม 2532 สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเอเชีย ซึ่งเป็นอินเวสเม้นท์แบงก์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
ก็ได้รวบรวมบริษัทในเครือมาร่วมงานกับบล.กองทุนรวมจัดตั้งกองทุนไทยเอเชียฟันด์วงเงิน
50 ล้านเหรียญสหรัฐ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ขายหน่วยลงทุนให้นักลงทุนชาวฮ่องกงเพื่อนำเงินมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย
กองทุนดังกล่าว มีสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเอเชียเป็นผู้จัดและประกันการจำหน่าย
ชินตุง บริษัทชิมิต้าฯ (SCIMITAR ASSET MANAGEMENT ASIA LTA.) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดแบงก์เป็นที่ปรึกษากองทุนระหว่างประเทศ
และธนาคารสแตนชาร์ทฯเป็นคัสโตเดียนหรือผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุน
แต่ความสำเร็จในกองทุนไทยเอเชียฯก็ไม่ได้ทำให้ชินตุงคิดตั้งกองทุนอีก เพราะมันมีความยุ่งยากหลายประการในด้านของกฎหมายไทยและการขายหน่วยลงทุน
แม้ว่าธนาคารสแตนชาร์ทฯจะไม่ได้เข้ามามีส่วนในด้านการบริหาร แต่ก็ทำให้ความร่วมมือในด้านของการส่งผ่านลูกค้าเพื่อลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
อำนวยความสะดวกด้วยเครือข่ายต่าง ๆ ของธนาคารที่มีอยู่ในทั่วโลก และเป็นคัสโตเดียนรับฝากทรัพย์สินดังที่กล่าวมา
ด้วยเหตุที่มีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ทเตอร์ดและบริษัทในเครือหนุนหลังอยู่นี่เองมร.จึงดูมีความมั่นใจในการจะสร้างให้ชินตุงรัตต
ผงาดขึ้นมาในวงการค้าหลักทรัพย์ไทย ซึ่งบทบาทอันนี้ก็เป็นภารกิจของชายมาเลย์วัย
48 คนนี้ที่มีประสบการณ์อันโชกโชนมาจากตลาดหลักทรัพย์กัวลาลัมเปอร์นานถึง
10 ปีเต็ม