Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2533
ศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ มือกฎหมายภาษีตลาดหุ้น             
 


   
search resources

Stock Exchange
ศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์




คนหนุ่มที่ปรากฏตัวเป็นที่สนใจของผู้เข้าร่วมสัมมนาเรื่อง"การคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ " ที่จัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกับสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปรากฏว่า ศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ นักกฎหมายที่ วัยเพิ่งก้าวล่วง 35 ปีเพียงไม่กี่เดือนเป็นวิทยากรที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

เพราะแทนที่เขาจะพูดเรื่องการให้การคุ้มครองผู้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นว่าเขาพูดในประเด็นภาระภาษีสำหรับนักเล่นหุ้นทั้งหลายได้ค่อนข้างละเอียดลออและเข้าใจง่าย ที่สำคัญภาษีนั้นก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ามีแต่เสีย ไม่มีคำว่า "ได้ - เสีย" เหมือนเล่นหุ้น เพราะฉะนั้นถ้าใครมาให้เบาะแสว่าทำอย่างไรจึงจะเสียน้อยที่สุดหรือไม่เสียเลยยิ่งดีใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่คนย่อมให้ความสนใจเป็นพิเศษ

บางคนถึงกับตกใจเมื่อมาทราบว่าถ้ามัวแต่เพลินกับกำไรจากการเล่นหุ้นจนลืมไปจ่ายภาษีให้รัฐหรือจ่ายภาษีผิด ๆ ถูก ๆ อาจถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลังมีหวังต้องล้มละลายเอาง่าย ๆ เพราะโดนค่าปรับถึง 200 % และเงินเพิ่มอีก 1.5 % ต่อเดือน

ศิริพงษ์ นับว่าเป็นนักกฎหมายทางด้านภาษีอากรที่อายุน้อยที่สุดในบรรดานักกฎหมายภาษีอากรที่มีอยู่ประมาณ 30 คนในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มภาษีอากรและธุรกิจกับหัวหน้ากลุ่มกฎหมายการเงินและการธนาคารของสำนักงานติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ และเป็นอุปนายกฝ่ายวิชาการสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

"บางคนอาจเข้าใจว่า กิจกรรมในตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับยกเว้นภาษีหมด แต่ความจริงแล้วมีรายละเอียดที่จะต้องแยกแยะอยู่มากพอสมควร" อุปนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยกล่าว

ศิริพงษ์ พูดถึงภาระภาษีของผู้เล่นหุ้นในตลาดว่าจะต้องแยกแยะออกมาศึกษาเป็น 2 ประเภทกล่าวคือประเภทที่มีรายได้จากเงินปันผล กับประเภทที่มีรายได้จากกำไรในการขายหุ้น

กรณีที่มีรายได้จากเงินปันผล ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาและเป็นบุคคลที่อยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 180 วัน เมื่อได้รับเงินปันผลจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องถูกหักภาษีเงินได้ไว้ในอัตราก้าวหน้าคือตั้งแต่ 5 ถึง 55 % แต่เมื่อคำนวณภาษีรวมกันทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 15 % ของเงินปันผลที่จ่าย

เงินที่ถูกหักไว้ก่อนนี้ผู้ได้รับเงินปันผลมีสิทธิที่จะเลือกไม่นำไปรวมเป็นเงินได้ประจำปีประเภทอื่น ๆ คือยอมให้หักแล้วหักเลย ถ้าจ่ายเกินไปก็ไม่รับคืน หรือไม่ขอใช้เครดิตภาษีที่หักไว้นั้นในการ คำนวณรายได้เพื่อเสียภาษีประจำปี ซึ่งถ้าเลือกวิธีนำรายได้จากเงินปันผลนี้ไปรวมคำนวณรายได้ประจำปีด้วย ก็จะได้รับเครดิตภาษี 30 % ของเงินปันผลที่ได้รับ

"นั่นหมายความว่าถ้านำรายได้จากเงินปันผลไปรวมคำนวณแล้วอาจจะมีภาษีคืน หรืออาจจะต้องจ่ายเพิ่มก็ได้ ฉะนั้นในกรณีเช่นนี้ก่อนที่จะเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งจะต้องมีการวางแผนให้ดีเสียก่อน" ศิริพงษ์กล่าว

ในกรณีเดียวกันนี้ถ้าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันก็จะไม่ได้รับสิทธิในการเลือกกล่าวคือจะถูกหักภาษีแล้วหักเลย

ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลจำพวกบริษัทที่ได้รับเงินปันผลจะได้รับยกเว้นก็เฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเท่านั้น ส่วนบริษัทธรรมดาทั่วไปจะได้รับยกเว้นเพียงครึ่งเดียว

แต่อย่างไรก็ตามสิทธิที่จะได้รับยกเว้นในกรณีนิติบุคคลนี้จะต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทนั้น ๆ เป็นผู้มีเงินได้ประเภทเงินปันผลเกินกว่า 15 % ของเงินได้รวมกันทั้งหมดของรอบบัญชีนั้น ๆ และจะต้องถือหุ้นที่ก่อให้เกิดปันผลนั้นทั้งก่อนและหลังมีปันผลไม่น้อยกว่า 3 เดือน คือรวมเวลาถือหุ้นนั้นไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ประเภทที่มีรายได้จาก กำไรจากการขายหุ้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดากฎหมายจะยกเว้นภาษีให้เฉพาะที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ฯเท่านั้น

แต่ถ้าผู้ขายเป็นนิติบุคคลในประเทศหรือนิติบุคคลต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ผู้ขายจะต้องนำกำไรนั้นมาคำนวณเป็นเงินได้ประจำปี โดยไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และถ้าเป็นนิติบุคคลต่างประเทศและไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทยกฎหมายกำหนดให้ผู้ซื้อหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 25 % ของกำไร และให้นำส่งสรรพากรภายใน วันที่ 7 ของเดือนถัดไป

ในกรณีเดียวกันถ้านิติบุคคลต่างประเทศนั้นเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทย กำไรนั้นจะได้รับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย

นี่คือความซับซ้อนวกไปวนมาของการจัดเก็บและยกเว้นภาษี ซึ่งหากไม่มีการวางแผนกันอย่างละเอียดรอบคอบแล้วก็จะทำให้ผู้ลงทุนทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเสียประโยชน์ไปได้ เช่นอาจจะเสียภาษีเกินไปกว่าที่ควรจะเสียหรือเสียไม่พอหรือไม่นำพาก็อาจจะถูกปรับและต้องจ่ายเพิ่มเป็นจำนวนมากก็ได้

ศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ จึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องภาษีสำหรับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯนี้เป็นพิเศษในการขึ้นมาเป็นวิทยากรในการสัมมนาของเขา

การปรากฏตัวของนักกฎหมายหนุ่มคนนี้ครั้งแรกทำให้คนที่ร่วมสัมมนาวันนั้นไม่ค่อยมั่นใจนัก เพราะยังดูอายุน้อย ซึ่งต่างกับนักกฎหมายทั่วไปที่อายุค่อนข้างมาก แต่ศิริพงษ์ก็สามารถถ่ายทอดความรู้และวิธีการให้แก่ผู้ร่วมสัมมนาได้ค่อนข้างละเอียดและเข้าใจง่าย ซึ่งดูจะเรียกความเชื่อถือกลับมาได้มากพอสมควร

"เรื่องอายุน้อยนี่มีปัญหาอยู่เหมือนกันเมื่อพบกับลูกความครั้งแรก แต่ถ้าได้พูดคุยทำความรู้จักกันระดับหนึ่งแล้ว ผมเชื่อว่าปัญหาจะหมดไป และปัจจุบันนี้นักธุรกิจรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยก็หันมาให้ความเชื่อถือแก่นักกฎหมายรุ่นใหม่ ๆ มากขึ้น" ศิริพงษ์กล่าวถึง อุปสรรคที่เกิดจากวัย

ว่ากันที่จริงแล้ว แม้จะดูอายุน้อยแต่ก็เป็นนักกฎหมายที่คร่ำหวอดอยู่ในอาชีพนี้มานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่จบปริญญาโทด้านการสืบสวนสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมจากมหาวิทยาลัยคาร์ดีฟประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2521 ซึ่งว่ากันที่จริงแล้วสายที่เขาเรียนมาก็ไม่ตรงกับด้านภาษีอากรโดยตรง เพราะความตั้งใจที่ไปเรียนทางด้านการสืบสวนสอบสวน และกระบวนการยุติธรรมนั้นก็เพราะต้องการเข้ามาทำงานในกรมตำรวจตามคำแนะนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับพ่อของเขา โพธิ์ ศุภกิจจานุสรณ์ คหบดีผู้มีชื่อเสียงของชลบุรีคนหนึ่งในสมัยนั้น

แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองหลังจากที่เขาเรียนจบมาพอดี ศิริพงษ์จึงตัดสินใจเข้าทำงานกับสำนักงานบัญชี SGV ของยุกติ ณ ถลาง ตามคำชักชวนของพิชัย สุรินทราบูรณ์ หัวหน้าฝ่ายภาษีอากรของ SGV ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพ่อเขาอีกคนหนึ่งจึงทำให้เขาได้เรียนรู้ภาษีอากรในแง่ของการปฏิบัติมากขึ้น

ศิริพงษ์อยู่ที่ SGV ได้ 8 ปีจึงเป็นการเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ด้านภาษีอากรให้แก่เขาเป็นอย่างมากทั้งจากการปฏิบัติงานแบบวันต่อวันและการฝึกอบรมระยะสั้น

SGV ส่งเขาไปฝึกอบรมและดูงานที่ศูนย์ฝึกอบรมที่ใหญ่ที่สุดของ SGV ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมในด้านการวางแผนภาษีในสัญญาทางธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ

แต่ด้วยเหตุที่ระเบียบของ SGV มีว่าไม่ให้สามีภรรยาทำงานอยู่ด้วยกัน เมื่อเขาแต่งงานกับนักบัญชีของ SGV เขาจึงขอลาออก แม้ทางสำนักงานจะยกเว้นให้ในกรณีของเขาเขาก็ไม่อาจละเมิดกฎของสำนักงานจึงต้องออกมาในที่สุด

ตำแหน่งสุดท้ายใน SGV ของศิริพงษ์คือหัวหน้าฝ่ายภาษีอากรซึ่งเป็นตำแหน่งที่นักกฎหมายภาษีอากรอาวุโสหลายคนเคยผ่านมาแล้วอย่างเช่น ดร.มานะ พิทยาภรณ์ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร และพิชัย สุรินทราบูรณ์

ดิลลิกี แอนด์ กิบบินส์ สำนักกฎหมายที่มีอายุกว่า 90 ปี ชักชวนให้ศิริพงษ์เข้าร่วมงานด้วยในเงื่อนไขที่เขาพอใจทั้งค่าตอบแทน เงินเดือนสวัสดิการ และการศึกษาต่อรวมทั้งการพัฒนาองค์กรโดยรวมที่เขาอยากจะทำ

หลังจากเข้ารับงานไม่ถึงปีติลลิกีก็ส่งเขาไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพทนายความชั้นสูง ซึ่งประกอบด้วยวิชาหลัก ๆ 4 คือวิชาภาษีอากร การวางแผนธุรกิจ กฎหมายหลักทรัพย์ และวิชาการเจรจาต่อรองและทำสัญญา ซึ่งเรียนกันทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ

ผู้เข้าเรียนในหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยอัยการทนายความและนิติกรอาวุโสในสหรัฐอเมริกา ในรุ่นของเขามีคน ต่างชาติเข้าเรียนด้วยเพียง 4 คนเท่านั้นคือตัวเขาเองกับสุรศักดิ์ วาจาสิทธิ ผู้พิพากษานักเรียนทุนจากกระทรวงยุติธรรม และนักกฎหมายชาวญี่ปุ่นกับเยอรมนีอีกประเทศละคน

จากนั้นก็เข้าฝึกงานกับสำนักงานกฎหมาย FOLEY,HOAG & ELIOT ซึ่งเป็นสำนักกฎหมายที่มีชื่อของเมืองบอสตัน จากนั้นก็ไปฝึกงานที่วอชิงตัน จากนั้นจึงบินไปฝึกงานเพิ่มเติมด้านการวางแผนประมูลงานก่อสร้างขนาดใหญ่กับรัฐบาลกับสถาบันฝึกอบรมทางธุรกิจชื่อ LLOYD INTERNATOINAL ที่กรุงลอนดอนก่อนที่จะบินกลับมาทำงานที่เมืองไทยเมื่อปลายปี 2532 ที่ผ่านมา

ในสำนักกฎหมายติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ เขารับผิดชอบเป็นหัวหน้ากลุ่มภาษีอากรและธุรกิจ และหัวหน้ากลุ่มกฎหมายการเงินและการธนาคาร เป็นหนึ่งในเก้าคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของสำนักกฎหมายแห่งนี้ และเป็นหนึ่งในสามคนที่กำลังเตรียมการขยายงานสำนักงานที่จะรุกตลาดในอินโดจีนในเร็ว ๆ นี้

เห็นประสบการณ์อย่างนี้ก็ต้องยอมรับว่าอายุน้อยนั้นมิได้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบวิชาชีพกฎหมายเลยในยุคปัจจุบัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us