Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์25 กันยายน 2553
คิง” เล็กในบ้าน ใหญ่ในโลก             
 


   
search resources

Food and Beverage
น้ำมันบริโภคไทย, บจก.




*โมเดลการเอาตัวรอด ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้าสารพัด

*เมื่อคู่แข่งได้เปรียบจากบาทแข็ง ทำอย่างไรจึงจะฝ่าสงครามที่ไม่ยุติธรรมนี้ได้

*กลยุทธ์บริหารซัปพลายเออร์ แบบให้ทั้งคุณและโทษ

*นวัตกรรม & แบรนด์ กับการบุกตลาดต่างประเทศ

ใครจำภาพยนตร์โฆษณาล่าสุดของน้ำมันรำข้าว “คิง” ได้

ติ๊กต็อก...ติ๊กต็อก 10 นาทีผ่านไปยังไม่มีใครตอบได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก และผู้บริหารคงไม่น้อยใจ เพราะนานมากแล้วที่ “คิง” ไม่ได้มีโฆษณาผ่านสื่อประเภทอะโบฟ เดอะ ไลน์

ดูผิวเผินเหมือนไม่มีความเคลื่อนไหว แต่จริงแล้วกลับมีความเคลื่อนไหวมากมายภายใต้แบรนด์ และองค์กรแห่งนี้

ภาพรวมการแข่งขันในตลาดน้ำมันพืช แม้วันนี้น้ำมันรำข้าวจะวิ่งไล่กวดน้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลืองอย่างห่างๆ ด้วยส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 10% ขณะที่ 2 ประเภทแรกกวาดส่วนแบ่งไปกอดอย่างสบายอารมณ์ถึง 60% และ 30% ตามลำดับ ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้บริโภคบ้านเรายังให้ความสำคัญกับราคาเป็นหลัก แม้จะมีบางส่วนเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

แม้จะให้ความสนใจ แต่หลายคนก็ยังไม่รู้ว่า จริงแล้วน้ำมันพืชแต่ละประเภทมีคุณสมบัติ และคุณประโยชน์ต่อสุขภาพต่างกันอย่างไร

ติ๊กต็อก ติ๊กต็อก ให้เวลาคิดตรวจสอบตนเองอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นดังเช่นที่ว่าหรือไม่

เรื่องของ “รำ”
อาหารของหมู ที่บริหารไม่หมู

แต่ก่อนใครๆก็ให้หมูกินรำข้าว

แต่ตอนนี้ด้วยราคารำข้าวที่ถีบตัวสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 10-11 บาท จากเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วราคาอยู่ที่ 5-6 บาท ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นเท่าตัว ตอนนี้หมูคงอดกินรำไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อราคารำข้าวถีบตัวสูงขึ้นขนาดนี้ ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันจากรำข้าวต้องสูงตามไปด้วย แต่อาจเป็นเพราะวาสนาไม่ดีเลยทำให้กรมการค้าภายในไม่อนุมัติให้ปรับขึ้นราคา ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบน้ำมันพืชชนิดอื่น เช่น เมล็ดถั่วเหลืองที่นำเข้าจากต่างประเทศได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจาก40-50 บาทเมื่อหลายปีก่อนมาอยู่ที่ 30 บาทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงตามไปด้วย และแน่นอนว่ากำไรย่อมมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

จึงทำให้ผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวที่ใช้วัตถุดิบในประเทศทั้ง 100% ตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้จีงต้องหาทางออก ด้วยการหันไปลุยตลาดอินเตอร์ที่มีดีกรีความสามารถในการผลิตสู้บ้านเราไม่ได้ แถมคู่แข่งยังน้อยกว่า แต่การจะบุกตลาดต่างแดนที่ยังไม่คุ้นเคยต้องทำการบ้านให้ดีเสียก่อน ทั้งการตลาด และการให้ความรู้กับผู้บริโภคถึงอรรถประโยชน์ของน้ำมันรำข้าวว่าดีกว่าน้ำมันพืชที่เคยใช้อยู่อย่างไร

“เรามีความลำบากมากตอนขายในประเทศ ประมาณ 8-9 ปีก่อนเราขายในประเทศประมาณ 99% จากส่งออกจากไม่กี่สิบตัน ปีที่แล้วเราส่งออก 1.2-1.3 หมื่นตันต่อปี ตรงนี้ช่วยเราได้มากในแง่ปริมาณที่มากและสม่ำเสมอ สมัยก่อนตอนขายน้ำมันรำข้าวในประเทศ มันมีปัญหาตรงที่เวลาน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลืองลงมากๆ เราต้องปรับราคาลงมากๆตาม ทั้งที่ต้นทุนมันไม่ลง แต่ตอนนี้เวลาเราขายต่างประเทศ เราก็เบสออนต้นทุนจริง แล้วตอนนี้ก้อนการขายที่ต่างประเทศเริ่มใหญ่ขึ้น ปีที่แล้วเราขายต่างประเทศประมาณ 60% ในประเทศ 40% ก้อนนี้มาช่วยทำให้มีความสม่ำเสมอ ไม่แกว่งมากตามราคาของในประเทศ” เป็นคำกล่าวของ ประวิทย์ สันติวัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท น้ำมันบริโภคไทย จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันรำข้าว “คิง”

แม้ว่าจะลุยต่างประเทศมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทิ้งตลาดในประเทศ แม้ว่าผลกระทบจากต้นทุนจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

เพราะปัญหามีเอาไว้ให้แก้ ไม่ได้มีเอาไว้ให้กลุ้ม

ดังนั้น ผู้บริหารจึงพยายามลดต้นทุนการบริหารจัดการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ลดต้นทุนด้านพลังงาน ดูแลคุณภาพวัตถุดิบให้ดี เนื่องจากหากรำข้าวคุณภาพไม่ดีจะมีค่ากรดสูง แถมเวลานำมาทำน้ำมันจะได้ปริมาณน้อย ขณะเดียวกันยังลงทุนซื้อเครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัย ได้แก่ เครื่องสุ่มตัวอย่าง กับเครื่องตรวจสอบ จำนวนหลายล้านบาท

“เมื่อก่อนรถสิบล้อเข้ามาในโรงงาน เราต้องตรวจสอบคุณภาพรำ เพื่อให้รู้ว่ารำมีคุณภาพเอามาเข้าโรงงานสกัดได้หรือไม่ ในอดีตต้องเอาคนปีนขึ้นไปหลังรถสิบล้อแล้วเจาะหลุมทีละหลุม สิบล้อคันนึงต้องเจาะห้าหลุม เสร็จแล้วเก็บตัวอย่างเข้าห้องแล็ป ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมงในการตรวจสอบปริมาณน้ำมัน ไฟเบอร์ โปรตีนต่างๆ

แต่หลังจากที่เราลงทุนซื้อเครื่องสุ่มตัวอย่างที่คล้ายแขนกลดึงตัวอย่างจากผิวรำไปจนถึงพื้นรถสิบล้อออกมาจากรถโดยใช้ท่อสแตนเลส ทำให้ได้ตัวอย่างที่เป็นตัวแทนอย่างสม่ำเสมอ จากเดิมถ้าใช้คนขุดจะได้ประมาณ 1 เมตรเท่านั้น มากกว่านั้นไม่ได้เพราะรำข้างๆจะไหลลงมา”

การทำเช่นนี้ไม่เพียงจะทำให้บริษัทรู้ว่าพ่อค้านำแกลบที่กิโลกรัมละ 50 สตางค์ที่ใช้ทำน้ำมันไม่ได้ เพราะมีแต่กาก และไฟเบอร์ แถมยังไม่เป็นผลดีต่อการเป็นอาหารสัตว์เข้ามาปะปนด้วยหรือไม่แล้ว ยังทำให้การตรวจสอบใช้เวลาเร็วขึ้น จากเดิมต้องใช้เวลารอไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมงกว่าคนขับรถจะรู้ว่าให้ขับรถกลับเพื่อคืนสินค้าหรือให้เอาสินค้าลงได้ แต่ตอนนี้ใช้เวลาจอดรอไม่เกิน 10 นาที

“เราสามารถรู้เลยว่ารำข้าวที่ได้มีออย คอนเทนต์ ไฟเบอร์ คอนเทนต์ มอยเจอร์ คอนเทนต์ เท่าไรในเวลาเพียงแค่ 1 นาที ทำให้เจ้าของรถไม่ต้องเสียเวลามาจอดรอนานๆ สมมติว่าแต่ก่อนเราใช้รำข้าว 70 คันรถเพื่อพอใช้งานได้ 1 วัน แต่ตอนนี้เจ้าของรถอาจใช้แค่ 35 คันแต่สามารถวิ่งได้ 2 เที่ยว ทำให้เจ้าของรถประหยัดเงิน ประหยัดเวลาได้มาก เราพยายามสร้างความสัมพันธ์ตรงนี้ ให้มีความรู้สึกว่าอยากมาหาเรา อยากส่งของให้เรามากกว่า ตอนนี้มีการปรับปรุงที่พักให้พนักงาน เราพยายามทำให้ซัปพลายเออร์มีความสุขด้วย” ประวิทย์ ที่ตอนนี้ก็มีความสุขดีกับการทำตลาดน้ำมันรำข้าว แม้ว่าปีนี้จะได้รับผผลกระทบอย่างรุนแรงในแง่ของต้นทุนและการขาย เล่าให้ฟัง

ลำพังแค่ให้ซัปพลายเออร์มีความสุขอย่างเดียวคงไม่พอ การค้าขายที่ดีต้องมีทั้งให้คุณให้โทษด้วย

“ตอนซื้อขายสินค้าเราใช้ระบบโบนัสกับระบบลงโทษ โบนัสคือเรากำหนดว่ารำข้าวที่เข้ามาต้องมีคุณภาพตามที่กำหนด มีค่ากรดไม่สูง สมมติเราตกลงกันไว้ที่ราคา 10 บาท ถ้าส่งรำเก่ามาให้ ค่ากรดสูงเราตัดเหลือ 9.50 บาท แต่ถ้าเอามาสดๆ แกลบน้อย คุณภาพดีแทนที่จะให้ 10 บาท เราก็ให้ 10.50 บาท ทำอย่างนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เขาคัดแต่ของคุณภาพดีๆมาให้เรา ขณะเดียวกันคนส่งรำที่ชอบหมกเม็ดก็จะหายไปจากระบบ เป็นการสร้างความยุติธรรมในการค้าขาย”

ระบบโบนัสนำมาใช้นานกว่า 15 ปีแล้ว ส่วนระบบสุ่มตัวอย่างเพิ่งนำเข้ามาใช้ได้ 8 ปี ระบบทั้งหมด ประวิทย์ “คอนเฟิร์ม” และ “ฟันธง” ว่าประสบความสำเร็จยิ่ง

พี่ใหญ่วงการน้ำมันรำข้าว

การยกพลไปบุกต่างประเทศของบริษัทน้ำมันบริโภคไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คนต่างถิ่น ต่างแดน ที่คุ้นเคยกับการบริโภคน้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก หันมาทดลองบริโภคน้ำมันรำข้าวที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

เมื่อไม่รู้จักจึงต้องแนะนำให้รู้จัก...ฟังดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายเวลาปฏิบัติ เราอยากรู้จักเขา แต่เขาอาจไม่อยากรู้จักเราก็เป็นได้

หลายปีก่อนตอนที่ผู้บริหารเริ่มเบนเข็มไปลุยต่างประเทศใหม่ๆ ปัญหาที่พบคือไม่มีใครรู้จักว่ารำข้าวคืออะไร มาจากส่วนไหนของข้าว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะหลายประเทศที่บุกเข้าไปไม่ใช่ประเทศที่ปลูกข้าว และบริโภคข้าวเป็นหลัก แต่ยังดีที่ว่าคนต่างชาติส่วนใหญ่เป็นคนรักการอ่าน และให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ การแนะนำเพื่อนใหม่ให้รู้จักจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป

“ทีแรกเขายังไม่รู้จักน้ำมันรำข้าวมากนัก แต่พอเราบอกว่ามาจาก brown rice ฝรั่งถึงได้เข้าใจและรู้ว่ามีคุณค่าสูง เขาเลยเห็นว่าเป็นของดี ทำให้ภาพลักษณ์ของน้ำมันรำข้าวดีขึ้น ต่างจากเมืองไทยที่มองว่ารำข้าวเป็นอาหารสัตว์มาแต่ไหนแต่ไร ในต่างประเทศน้ำมันรำข้าวมีโพสิชั่นนิ่งที่ดี ภาพลักษณ์ตรงนี้ทำให้น้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันเพื่อสุขภาพ อย่างอิตาลีที่เราเอาไปขายก็ขายในราคาใกล้เคียงกับน้ำมันมะกอก เขาไปรีแพคสวยงาม หรือบริษัทในเกาหลีนำน้ำมันของเราไปใช้ทำสแน็กฟู้ดในปริมาณที่ค่อนข้างมาก และยังมียอดซื้ออย่างต่อเนื่อง” ผู้บริหารน้ำมันรำข้าวรายใหญ่สุดของไทยเวลานี้ ยังบอกด้วยว่าที่จริงน้ำมันรำข้าวยังมีโพสิชั่นนิ่งอีกประการคือ การเป็นสินค้าที่สร้างความยั่งยืน (Sustainability) เนื่องจากไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าเหมือนการทำสวนปาล์ม เพราะพื้นที่ปลูกข้าวของบ้านเรามีอยู่อย่างมากมาย

ปัจจุบันปริมาณข้าวเปลือกในตลาดมีทั้งหมดประมาณ 30-31 ล้านตัน เมื่อขัดสีฉวีวรรณให้เหลือแต่ข้าวขาวล่อนจ้อนแล้ว จะได้รำประมาณ 2.4-2.5 ล้านตัน จำนวนนี้ส่งไปยังบริษัทน้ำมันบริโภคไทยประมาณ 3 แสนตัน ส่วนที่เหลือนำไปป้อนโรงงานผลิตอาหารสัตว์
สัตว์ได้บริโภคของดี ส่วนคนที่บอกว่าฉลาดกว่า เจริญกว่า วิวัฒนาการมากกว่ากลับไม่สนใจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่รำทั้งหมดที่ได้จะมีคุณภาพดีเริ่ด เหมาะกับการสกัดน้ำมัน เพราะจริงแล้วรำที่ใช้ได้ดีมีเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

นับเป็นโชคดีของคน ที่ได้ส่วนดีนั้นไป

ช่วงเวลาที่บริษัทน้ำมันบริโภคไทยกระโจนเข้าไปตลาดต่างประเทศนั้น มีเพียงญี่ปุ่นที่ขายน้ำมันรำข้าวส่งออก แต่ในปริมาณที่ไม่ได้มากมายอะไรนัก แถมยังราคาสูงอีกต่างหาก จึงเป็นช่องว่างให้บริษัทสามารถแทรกตัวเข้าไปแจ้งเกิดได้ มิหนำซ้ำยังทำให้ตลาดมีความตื่นตัวมากขึ้น หลายประเทศเริ่มเห็นลู่ทาง อย่างอินเดียพยายามส่งน้ำมันรำข้าวเข้าสู่ตลาดเช่นกัน แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากคุณภาพและสีสันยังไม่เป็นที่ยอมรับ

“พอเราเริ่มเข้าไปในตลาดต่างประเทศทำให้ญี่ปุ่นส่งออกน้อยลง แต่เขาไม่ค่อยเดือดร้อนมากนัก เพราะไม่ค่อยพอใช้อยู่แล้ว แต่ละปีต้องนำเข้าน้ำมันรำข้าวไปยังประเทศของเขา 2 หมื่นกว่าตัน เป็นน้ำมันดิบ เดิมนำเข้าจากเรา แต่ตอนนี้เริ่มนำเข้าจากเวียดนาม ตอนนี้มีประเทศต่างๆเริ่มเข้ามาในตลาดน้ำมันรำข้าวกันมากขึ้น เช่น ปากีสถาน บังคลาเทศ ซีเรีย อียิปต์ ฟิลิปปินส์ โดยบอกให้เราไปร่วมทำน้ำมันรำข้าวกับเขา เพราะเขามีข้าวเยอะ แต่เรามีโนว์ฮาว ต้องบอกก่อนว่าเมื่อก่อนเขาเห็นว่ารำข้าวเป็น waste หากไม่จัดการดีๆ ภายในวันสองวันค่ากรดจะสูง มีกลิ่นเหม็นหืนได้ แต่ถ้าจัดการดีๆจะได้รำสกัดที่ดี และได้อาหารสัตว์ที่ดีด้วย ซึ่งเราผ่านตรงนี้มากว่า 30 ปี ทำให้มีความรู้ความเข้าใจพอสมควร แม้ต่างประเทศจะอยากทำมาก แต่เราต้องทำให้ในประเทศแข็งแรงก่อน”

จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารตั้งแต่ปี 2000 ที่ต้องการให้บริษัทเป็นผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผ่านไปได้เพียง 1 หรือ 2 ปี ความปรารถนานั้นประสบความสำเร็จ

10 ปีที่ผ่านมาบริษัทใช้รำข้าวเพื่อผลิตน้ำมันราว 2 แสนตัน พอถึงวันนี้ปริมาณรำข้าวที่ต้องใช้เพิ่มมาเป็น 3 แสนตัน

“ถึงตรงนี้สามารถบอกได้ว่าเราเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือหนึ่งในบริษัทผลิตน้ำมันรำข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีบริษัทจากอินเดียมาหา มาคุยกัน บอกว่าเขาใหญ่ที่สุดในอินเดีย มีใบประกาศนียบัตรมาด้วย เพราะในอินเดียจะมีสมาคมสกัดน้ำมันรำข้าว ปรากฏมีกำลังการผลิต 1.2 แสนตันต่อปี ไปคุยกับญี่ป่นมีอยู่ 3-4 โรง โรงใหญ่มีอยู่ 2 โรง ถามว่าใช้เท่าไร เขาบอกประมาณ 8 หมื่นตันต่อปี เราก็ใหญ่กว่าอีก คราวนี้ไปคุยกับอเมริกา เท่าที่เช็คประวัติสอบข้อมูลมา 8-9 หมื่นตันต่อปี ผมถามว่าจะมีใครเหลืออีก เพราะไม่มีใครที่ทำน้ำมันรำข้าว เลยคิดว่าบริษัทเราน่าจะใหญ่ที่สุดในโลก” ประวิทย์ เล่าให้ฟัง และยังบอกว่าการจะดูว่าใครใหญ่หรือเล็กไม่สามารถหาข้อมูลได้ในอินเทอร์เน็ต เพราะไม่มีใครบอกว่าตนเองผลิตเท่าไร ต้องมาจากการสอบถาม พูดคุย และประสบการณ์

นวัตกรรม&แบรนด์
บุกตลาดแบบคิงและไม่คิง

ด้วยความที่ ประวิทย์ เป็นนักเคมีจึงให้ความสนใจกับการวิจัยและพัฒนา ด้วยจุดนี้เองที่ทำให้แบรนด์”คิง” และบริษัทที่เขาเป็นผู้บริหารอยู่พัฒนามาอีกขั้น

เดิมทีน้ำมันรำข้าวจะมีสารโอรีซานอล (Oryzanol) ซึ่งสถาบันวิจัยบรานสวิคส์ (Brunswick Laboratories) แห่งสหรัฐอเมริกาทำการวิจัยและพบว่าโอรีซานอลสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าวิตามินอีถึง 6 เท่าในสภาวะที่อยู่ในน้ำ โดยน้ำมันรำข้าวดิบจะมีสารต้านอนุมูลอิสระประมาณ 1.5-1.6% หรือ 15,000-16,000 PPM แต่หลังจากที่นำไปทำให้สีอ่อนลง นำไปลดกรด นำไขมันออก ทำให้ใส โอรีซานอลที่เคยมีจากหมื่นกว่าๆเหลือเพียง 500PPM เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมาศึกษาว่าทำอย่างไรจึงจะรักษาสารต้านอนุมูลอิสระให้ได้มากที่สุด

หลังจากควบคุมกระบวนการผลิตแต่ละขั้น แต่ละตอน ทำให้ในที่สุดทีมวิจัยและพัฒนาได้น้ำมันรำข้าวที่มีโอรีซานออลสูงถึง 4,000 PPM และได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติเมื่อปี 2006

“จังหวะนั้นเองลูกค้าอิตาลีก็มาหาบอกว่าอยากได้น้ำมันรำข้าวโอรีซานอล 4000PPM ทำได้ไหม ซึ่งจังหวะนั้นเรารู้ว่าจะควบคุมอย่างไร แต่ยังไม่รู้ว่าจะเอา 4,000 หรือเท่าไรดี เราบอกว่าทำได้ ซึ่งเขาก็ไม่เขื่อว่าจะทำได้ พอตรวจเช็คเสร็จเขาไปรีแพ็คใส่ขวดแก้วขายอย่างดีในแบรนด์ของเขาเอง เมื่อหลายปีก่อนน้ำมันมะกอกจะมีราคาอยู่ระหว่าง ขวดละ 5-20 ยูโร เขาเอาน้ำมันรำข้าวเราไปรีแพ็คใส่ขวดไซส์เดียวกัน 750 CC ขายอยู่ที่ประมาณ 6-7 ยูโร ในราคาใกล้เคียงกับน้ำมันมะกอก ขณะที่น้ำมันมะกอกราคา15-20 ยูโรจะเป็นพวกที่มาจากมะกอกพันปี มาจากสวนพิเศษ ที่มีประวัติความเป็นมา” ประวิทย์ เล่าให้ฟัง ทั้งที่วันนั้นเจ้าตัวค่อนข้างประหลาดใจเพราะไม่คิดว่าน้ำมันรำข้าวจะสามารถขายได้ดีในถิ่นน้ำมันมะกอก เรียกว่าตอนนี้บางช่วงสามารถขายได้ถึงหลักพันตันต่อปี คิดง่ายๆว่าถ้านำไปกรอกใส่ขวดจะได้ประมาณล้านกว่าขวด

เจอฤทธิ์น้ำมันรำข้าวไทย น้ำมันมะกอกที่เป็นต้นตำรับ และเอกลักษณ์ของประเทศถึงกับซวนเซ

ไม่ใช่แค่อิตาลีเท่านั้น แต่ยังรวมประเทศอื่นๆด้วย

ปัจจุบันมีประเทศต่างๆที่นำน้ำมันรำข้าวภายใต้การผลิตของบริษัทน้ำมันบริโภคไทยไปบรรจุขวด และสร้างแบรนด์ของตนเองราว 5-6 แบรนด์

“ ตอนที่เรี่มใหม่ๆ มันยากที่เราจะเอาแบรนด์คิงไป ต้องยอมรับว่าการจะไปแข่งกับน้ำมันพืชในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จึงต้องให้เขาเอาน้ำมันเราไปทำแบรนด์ แต่มีข้อดีตรงที่หลายตลาดอย่างอเมริกาเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาน้ำมันรำข้าวเข้าไปในตลาดอย่างไร อย่างอิตาลีเขามาก่อนเมื่อหลายปีที่แล้ว เขาก็เอาน้ำมันของเราไปสร้างแบรนด์ของเขา แต่เขาก็ทำให้น้ำมันรำข้าวเป็นที่รู้จักในยุโรป ส่วนที่ออสเตรเลียเป็นแบรนด์ของเราที่เริ่มพัฒนาขึ้นมา ตอนนี้เราส่งไปที่เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อิหร่าน นิวซีแลนด์ เกาหลี ยุโรป ภายใต้แบรนด์ของเรา” กรรมการบริหารหนุ่มใหญ่ ยังบอกอย่างชัดเจนอีกว่า เจ้าเก่ายอมให้เป็นแบรนด์ของเขา แต่ถ้าเจ้าใหม่เข้ามาต้องแบรนด์แบรนด์คิงทั้งหมด นโยบายนี้เริ่มเมื่อประมาณ 5 ปี หลังจากที่ทำแบรนด์ให้คนอื่นมาสักพัก ก็เริ่มรู้สึกกว่าไม่ได้แล้ว ต้องเอาแบรนด์ของประเทศไทยออกไป อาจสะดุดเล็กน้อยในตอนต้นแต่ปัจจุบันถือว่าไปได้สวย

ตอนนี้น้ำมันรำข้าวเริ่มเป็นที่นิยมในหลายประเทศ จนทำให้ฟู้ด เซนเตอร์ หรือคาเฟทีเรีย หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โอเรกอน เบิร์กลีย์ แม้กระทั่งโรงถ่ายหนังอย่างลูคัสฟิล์ม พิกซาร์ หรือเจ้าพ่อเซิร์ชเอนจิ้น อย่างกูเกิล ไปจนถึงแอปเปิล เปลี่ยนมาใช้น้ำมันรำข้าวในการทำอาหารเรียบร้อยแล้ว

การบริโภคน้ำมันรำข้าวอย่างแพร่หลายทุกวันนี้ส่งผลดีอย่างเต็มๆ ไปยังบริษัทน้ำมันบริโภคไทย เนื่องจากมีน้อยประเทศนักที่ผลิตน้ำมันรำข้าว บางประเทศที่พอมีศักยภาพอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถผลิตน้ำมันคุณภาพดีเท่ากับบ้านเราที่หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นว่าน้ำมันเปล่งประกายกว่าบางประเทศที่สีค่อนข้างเข้ม ดีไม่ดีอาจเจอตะกอนอีกต่างหาก เลยทำให้น้ำมันรำข้าวที่ไปวางจำหน่ายในต่างประเทศกลายเป็นสินค้าพรีเมียม

“บอกได้เลยว่าราคาที่เราให้เขาแพงกว่าน้ำมันพื้นๆอยู่แล้ว ฉะนั้น เขาไม่สามารรถตั้งราคาถูกๆได้ ที่เขาชอบเพราะมันแปลกใหม่ และถ้าคุณต้องการซื้อน้ำมันถั่วเหลืองคุณสามารถหาซื้อได้ในอีกหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่นำมันรำข้าวจะไปหาซื้อกับใครได้ มันยูนีก และเรามีนโยบายที่ชัดเจนก็คือ สมมติผมขายคุณผมจะไม่ไปขายให้กับอีก 2-3 รายในเมือง หรือประเทศนั้น ให้คุณดูแลเต็มที่ แล้วแน่นอนว่าเขาชอบ เนื่องจากมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดสงครามราคา” ผู้ปลุกปั้นแบรนด์คิงจนติดตลาดต่างประเทศอธิบาย

เกิดได้เพราะข้อมูลดี

มีเรื่องเล่าของฝรั่งเรื่องหนึ่งพูดถึงกระทาชายยอดนักขาย 2 ราย ถูกเจ้านายส่งไปเสนอขายรองเท้าให้กับผู้คนยังดินแดนสารขัณฑ์แห่งหนึ่ง

คนแรกเดินเข้าไป ก่อนเดินคอตกกลับมา บอกว่าขายไม่ได้แน่ๆ เพราะคนเมืองนี้ไม่มีใครเลยที่ใส่รองเท้ากัน

ผิดกับคนที่สอง ที่กลับออกมาอย่างลิงโลดเต็มที่ พร้อมบอกว่า ยอดขายรองเท้าถล่มทลายแน่ๆ เพราะเขาจะสอนให้คนพวกนี้ใส่รองเท้ากัน

วิธีการมองแบบนักขายคนที่สอง คงไม่ต่างกับผู้บริหารของคิง

เพียงแต่ผู้บริหารคิงโชคดีกว่าตรงที่ปัจจุบันมีช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคมากมาย แถมผู้คนในต่างประเทศก็เป็นพวกสนใจใคร่รู้ ขณะที่คนไทยหลายคนยังไม่รู้ถึงคุณสมบัติของน้ำมันรำข้าว จึงต้องใส่ข้อมูลให้ผู้บริโภคเต็มที่ทั้ง การจัดสัมมนาร่วมกับโรงพยาบาล การให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์

“สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนประกอบให้ผู้บริโภคมั่นใจขึ้นและได้ผล จากเดิมคนมองน้ำมันสุขภาพว่ามีแค่น้ำมันถั่วเหลืองแต่ตอนนี้เริ่มมองน้ำมันรำข้าวด้วย ทำให้ตอนนี้คนมีสองทางเลือก” ประวิทย์ เชื่อว่าอีกไม่นานเมื่อผู้บริโภคคนไทยอ่านมาก รู้มาก ใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น ก็น่าจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดน้ำมันรำข้าวของเขาเติบโตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่เขาต้องการมากกว่านั้นก็คือ การให้บริษัทยกระดับจากเป็นเพียงแค่ส่งน้ำมันรำข้าวไปขาย มาเป็นการเข้าไปร่วมมือกับบริษัทในต่างประเทศ ซึ่งภายใน 2-3 ปี ต้องเห็นความคืบหน้าที่ว่านี้...อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us