*นักวิเคราะห์ฟันธง คู่ชิงบิ๊กดีลคาร์ฟูร์
* เซ็นทรัล-กาสิโน 2 แคนดิเดตตัวจริง
* บีเจซี โอกาสร่วงสูง เหตุไร้ประสบการณ์
* ส่วน ปตท.โดนรัฐเบรกเกมเสิร์ฟ
การซื้อขายกิจการคาร์ฟูร์ ในที่สุดก็ผ่านรอบแรก ซึ่งปรากฏว่า 4 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยผ่านเข้ารอบ ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล บิ๊กซี เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือบีเจซี และ ปตท. ทว่าล่าสุด รัฐบาลสั่งเบรกแผนซื้อกิจการคาร์ฟูร์ของ ปตท. ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่างเทสโก้ จากอังกฤษ และอิออนจากญี่ปุ่น ตกรอบแรก ทั้งนี้คาดว่าดีลการซื้อกิจการคาร์ฟูร์จะเสร็จสิ้นในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ซึ่งผู้ท้าชิงต่างหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นผู้พิชิตดีลนี้ได้ เพราะหมายถึงเส้นทางลัดสู่การขยายธุรกิจใหม่ๆ
เปิดโมเดลเซ็นทรัล
หลังซื้อคาร์ฟูร์
อดีตผู้บริหารระดับสูงจากค่ายโมเดิร์นเทรด เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่า “ผู้ที่จะมีโอกาสผ่านดีลรอบ 2 มีเพียง 2 รายที่จะเข้าชิง คือ ค่ายเซ็นทรัล และกาสิโน กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในประเทศไทย เพราะมีความพร้อมทั้งเงินทุน และโนว์ฮาวด้านค้าปลีกที่เข้มแข็ง สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีอยู่ได้ทันที
แหล่งข่าวรายเดิมขยายความต่อไปว่า “โมเดลธุรกิจของเซ็นทรัลในการต่อยอดจากการซื้อกิจการคาร์ฟูร์น่าจะมีอยู่ 2 รูปแบบคือ รูปแบบแรก เป็นการใช้แบรนด์ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สวมทับเข้าไป ซึ่งถือเป็นตลาดเดียวกัน และจะทำให้ท็อปส์สามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น และมีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
ปัจจุบัน ซูเปอร์มาร์เกต กับดิสเคานต์สโตร์ ต่างเป็นคู่แข่งกันโดยตรง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บรรดายักษ์ดิสเคานต์สโตร์พยายามปรับภาพลักษณ์เรื่องคุณภาพสินค้า โดยยังคงคอนเซ็ปต์ราคาถูก ทำให้ที่ผ่านมาท็อปส์ต้องงัดกลยุทธ์ CRM เข้าสู้ผ่านบัตร สปอต รีวอร์ด การ์ด ซึ่งจะทำให้สมาชิกรู้สึกคุ้มค่าในการจับจ่าย โดยมีทั้งราคาสมาชิก และการสะสมแต้มเพื่อแลกคูปองเงินสด
ขณะเดียวกัน ท็อปส์ก็พยายามยกระดับตัวเองให้สูงกว่าซูเปอร์มาร์เกตในดิสเคานต์สโตร์ด้วยการแตกโมเดลย่อยออกเป็น 4 โมเดล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย คือ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ เน้นความหลากหลายของสินค้านำเข้าภายใต้บรรยากาศหรูเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง สนใจในเรื่องรสชาติและคุณภาพของอาหาร ขณะที่ท็อปส์ มาร์เก็ต มีจุดขายในเรื่องของสินค้าที่หลากหลายทั้งในประเทศและนำเข้าโดยจับตลาดระดับบน ส่วนท็อปส์ ซูเปอร์ จะเน้นสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน สำหรับ ท็อปส์ เดลี่ จะขายความสะดวก เหมาะกับการซื้อสินค้าน้อยชิ้น หรือประเภทรีฟิล ซึ่ง 2 รูปแบบหลังจับตลาดระดับกลางที่สนใจในเรื่องของความคุ้มค่าคุ้มราคา
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟกว่า 7,000 รายการ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยในเร็วๆ นี้จะมีการปรับโฉมสินค้าเฮาส์แบรนด์รูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในยุค Smart Age ที่มีการเปรียบเทียบราคาสินค้าห้างต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ
ปัจจุบัน ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต มีสาขารวมกันกว่า 120 สาขา หากชนะดีลก็จะได้สาขาจากคาร์ฟูร์เพิ่มอีก 40 สาขา ซึ่งจะทำให้ท็อปส์มีสาขาที่ครอบคลุมและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ที่สำคัญจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองกับซัปพลายเออร์ ส่งผลให้ธุรกิจมีมาร์จิ้นที่เพิ่มขึ้น หรือสามารถทำราคาสู้กับคู่แข่งได้
ส่วนรูปแบบที่ 2 น่าจะเป็นโมเดลของ เซ็นทรัล เพาเวอร์ เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจค้าปลีกหนึ่งของเซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น โดยมีต้นแบบอยู่ที่สาขาหัวหมากบนถนนรามคำแหง ซึ่งแรกเริ่มคือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ทว่าไม่ตรงกับทาร์เก็ตในย่านดังกล่าว ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนโดยเอาห้างบิ๊กซีซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มกาสิโนจากฝรั่งเศสและเซ็นทรัล เข้ามาแทนที่ พร้อมด้วยสเปเชียลิตี้ ต่างๆ ในเครือเซ็นทรัล เช่น โฮมเวิร์ค บีทูเอส ซูเปอร์สปอร์ต และเพาเวอร์บาย ทว่าการแข่งขันที่รุนแรงบนถนนรามคำแหง ส่งผลให้ปัจจุบัน เซ็นทรัล เพาเวอร์ เซ็นเตอร์ เหลือเพียงห้างบิ๊กซีเท่านั้น ที่เหลือถูกปรับพื้นที่กลายเป็นพื้นที่เช่าทั้งหมด
อย่างไรก็ดี แม้ว่าโมเดล เซ็นทรัล เพาเวอร์ เซ็นเตอร์ จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่หากเทียบศักยภาพของโมเดลดิสเคานต์สโตร์อย่างห้างคาร์ฟูร์ที่ตั้งอยู่ในทำเลดีๆ หลายแห่งแล้ว เชื่อว่าจะสามารถปัดฝุ่น เซ็นทรัล เพาเวอร์ เซ็นเตอร์ ให้กลับมาได้รับความสนใจจากผู้บริโภค เนื่องจากขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ และการมีแผนกที่ครบครัน จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจมากกว่าการนำท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เข้าไปเพียงแบรนด์เดียว เพราะยังมีแผนกอื่นๆ ที่อยู่เหนือการดูแลของท็อปส์ เช่น แผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเขียน เสื้อผ้าแฟชั่น ของตกแต่งบ้าน จึงคาดว่าหากเซ็นทรัลชนะดีลคาร์ฟูร์ ก็จะนำสเปเชียลิตี้ที่มีอยู่มาผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, เพาเวอร์บาย, บีทูเอส, ซีเอ็มจี, ซูเปอร์สปอร์ต และโฮมเวิร์ค
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่เซ็นทรัลอาจนำห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ไปสวมทัพคาร์ฟูร์ในบางสาขาที่ทางเซ็นทรัลเห็นว่ามีศักยภาพ เพราะปัจจุบันที่ดินแปลงใหญ่ในเมืองที่จะพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้าหาได้ยากเต็มที
กาสิโนซื้อคาร์ฟูร์
ติดปีกบิ๊กซี เขย่าบัลลังก์โลตัส
ดีลการซื้อกิจการคาร์ฟูร์ มีความสำคัญอย่างมากสำหรับบิ๊กซี เพราะเป็นโอกาสที่จะทำให้บิ๊กซี สามารถขยับเข้าใกล้ เทสโก้ โลตัส หรืออาจจะแซงหน้าได้ โดยปัจจุบัน บิ๊กซี มีสาขาไฮเปอร์มาร์เกตกว่า 68 สาขา ขณะที่เทสโก้ โลตัส มีสาขาที่เป็นไฮเปอร์มาร์เกตกว่า 86 สาขา ส่วนคาร์ฟูร์ มีสาขามากถึง 40 สาขา หากบิ๊กซีชนะดีลนี้ก็จะทำให้บิ๊กซีมีสาขาเพิ่มเป็น 108 สาขา แซงหน้าเทสโก้ โลตัส ทว่าสาขาที่ได้บางสาขาอาจจะทับซ้อนกับลูกค้าของบิ๊กซี เพราะมีระยะทางไม่ห่างกันมากนัก
อย่างไรก็ดี แม้บิ๊กซีจะสามารถขยายสาขาไฮเปอร์มาร์เกตได้มากกว่าเทสโก้ โลตัส แต่ความครอบคลุมก็ยังอาจเป็นรอง เนื่องจากเทสโก้ โลตัส มีการพัฒนาฟอร์แมตสาขาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ร้านคุ้มค่ามี 30 สาขา ใช้พื้นที่ 4-7 พันตารางเมตร เน้นสินค้าเฮาส์แบรนด์ราคาถูก ตลาดโลตัสมี 63 สาขา ใช้พื้นที่ 1 พันตารางเมตร เป็นซูเปอร์มาร์เกต และโลตัส เอ็กซ์เพรส มี 449 สาขา ใช้พื้นที่ 300 ตารางเมตร เป็นคอนวีเนียนสโตร์
ตลอดจนการขยายธุรกิจขาที่ 2 ด้วยการให้เช่าพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ โดยมี 2 ลักษณะคือ ไลฟ์สไตล์ ชอปปิ้ง มอลล์ เป็นพื้นที่เช่าในสาขาไฮเปอร์มาร์เกต ซึ่งครอบคลุมประชากร 2 แสนครัวเรือน และมีพื้นที่ระหว่าง 6 พัน-2 หมื่นตารางเมตร ส่วนอีกรูปแบบเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ใช้พื้นที่ 2 พันตารางเมตร ครอบคลุมประชากร 3-5 หมื่นครัวเรือน ซึ่งจะใช้ตลาดโลตัส หรือโลตัส เอ็กซ์เพรส เป็นแม่เหล็กในการดึงคน ส่วนจะใช้รูปแบบใดขึ้นอยู่กับกฎหมายในพื้นที่นั้นๆ ว่าอนุญาตให้สร้างได้กี่ตารางเมตร ถ้าถึง 1,000 ตารางเมตรก็จะใช้ตลาดโลตัส แต่ถ้าได้ 300 ตารางเมตรก็จะใช้โลตัส เอ็กซ์เพรส
ก่อนหน้านี้เทสโก้ โลตัส พยายามเติมเต็มไลฟ์สไตล์ความบันเทิงให้กับผู้บริโภคเพื่อดึงดูดฐานลูกค้ารุ่นใหม่ ปรับเปลี่ยน Look ไม่ให้เป็นแค่สถานที่สำหรับแม่บ้านมาซื้อสินค้าเข้าบ้านเท่านั้น เช่นสาขาบางกะปิ มีโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง คาราโอเกะ ขณะที่สาขาพระราม 4 เป็นอีกสาขาที่มีพื้นที่เช่าขนาดใหญ่ และอีกหลายสาขาที่จะมีการปรับปรุงพื้นที่เช่าให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคมากขึ้น ก่อนจะมาเป็นไลฟ์สไตล์ชอปปิ้งมอลล์ที่สมบูรณ์แบบที่สาขาปิ่นเกล้า นวนคร และศาลายา
สำหรับการรุกธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ ทางเทสโก้ โลตัส ใช้งบในการลงทุนต่อสาขา 60-80 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 เซกเมนต์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย Oasis, The Park, The Garden โดย Oasis สาขาแรกเปิดตัวที่หมู่บ้านนิชดา ธานี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระดับ A ส่วน The Park จับตลาดระดับ B ซึ่งทำให้เทสโก้ โลตัส สามารถเข้าไปใกล้ชิดกับลูกค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดระดับบนที่อาจจะไม่ค่อยได้ใช้บริการในสาขาต่างๆ ของเทสโก้ โลตัส มากนัก และสุดท้ายเป็น The Garden จับตลาดระดับ C
แม้คอมมูนิตี้มอลล์ของเทสโก้ โลตัส สามารถตอบโจทย์ในภาวะที่น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง ผู้บริโภคไม่ค่อยเดินทางไปไหนไกลๆ เน้นความสะดวก ทำอะไรใกล้บ้านมากขึ้น ซื้อของก็ใกล้บ้าน ทว่าคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ เหล่านี้ดึงดูดกำลังซื้อในรัศมีใกล้ๆ เท่านั้น อีกทั้งยังมีคอมมูนิตี้ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น เทสโก้ โลตัส จึงมีการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า Plus Mall
พลัสมอลล์ เป็นโมเดลธุรกิจชอปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่กว่า 40-50 ไร่ ด้วยงบลงทุนสาขาละ 700 ล้านบาท เปิดสาขาแรกที่ถนนศรีนครินทร์ สมุทรปราการ ใช้พื้นที่ 40 ไร่ ล่าสุดมีการเปิดสาขาพลัสมอลล์อย่างเป็นทางการสาขาที่ 2 ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ บางนา กม.57 บนพื้นที่ 54 ไร่ ซึ่งนอกจากจะมีไฮเปอร์มาร์เกตของเทสโก้ โลตัสแล้วยังมีร้านค้าเช่าอีกมากมาย ที่พิเศษกว่าคอมมูนิตี้มอลล์คือมีเอนเตอร์เทนเมนต์อย่างโรงภาพยนตร์ซึ่งทำให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตในศูนย์ได้นานขึ้น มีสินค้าและบริการตอบสนองที่หลากหลายกว่า และด้วยขนาดที่ใหญ่ ทำให้ พลัสมอลล์ มีรัศมีในการดึงดูดผู้บริโภคไกลถึง 20 กิโลเมตร จากปรกติที่ห้างใหญ่ดึงดูดลูกค้ารัศมี 5-10 กิโลเมตรเท่านั้น
ความแตกต่างระหว่างคอมมูนิตี้มอลล์กับพลัสมอลล์ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของรัศมีครอบคลุมโดยคอมมูนิตี้มอลล์อาจกินรัศมีไม่เกิน 3 กิโลเมตร อยู่ในรัศมีที่เดินได้ เจาะตลาดชุมชนเล็กๆ ในย่านนั้นๆ ขณะที่พลัสมอลล์ใช้พื้นที่มาก จึงยากที่จะไปตั้งในเมือง สาขาของพลัสมอลล์จึงอยู่รอบนอกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีสินค้าและบริการที่หลากหลายกว่า มีเอนเตอร์เทนเมนต์อย่างโรงภาพยนตร์ ไฮเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ใช้พื้นที่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป แต่พลัสมอลล์บนถนนศรีนครินทร์ใช้พื้นที่มากถึง 40 ไร่ มีร้านค้าต่างๆมากมายที่จะดึงดูดผู้บริโภคในรัศมีกว่า 10 กิโลเมตร
นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัส ยังมีการพัฒนาโมเดลใหม่ในรูปแบบของดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ภายใต้ชื่อ Center ซึ่งสาขาแรกอยู่ที่สระแก้ว มีพื้นที่ 4,300 ตารางเมตร โดยมีการจัดดิสเพลย์สินค้าตามแผนกเหมือนห้างสรรพสินค้า และมีแคชเชียร์ประจำแต่ละแผนก
การปูพรมขยายสาขาและพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับคู่แข่งหน้าใหม่ที่คิดจะเข้ามาชิงเค้ก แม้กระทั่งวอลมาร์ทเองก็ประเมินแล้วว่าไม่สามารถเข้ามาเบียดพื้นที่ในตลาดเมืองไทยได้ จึงต้องเบนเข็มไปหาเวียดนามแทน ดีลการซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทยจึงเป็นโอกาสให้บิ๊กซีไล่บี้เทสโก้ โลตัส เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำตลาดต่อไป
ปัจจุบัน บิ๊กซี มีฟอร์แมตสาขาที่เป็นไฮเปอร์มาร์เกตประกอบด้วยรูปแบบที่เป็นสแตนดาร์ด มีการลงทุนสาขาละ 800 ล้านบาท มีโรงหนัง ชอปปิ้งมอลล์ ครบวงจร มีพื้นที่ขายมากกว่า 8,000 ตารางเมตร ถ้าเป็นแบบไม่ครบวงจร มีพื้นที่ 3,000-4,000 ตารางเมตร ส่วนรูปแบบสาขาคอมแพกต์ ใช้งบลงทุน 350 ล้านต่อสาขา มีพื้นที่ 5,000-6,000 ตารางเมตร สุดท้ายเป็น มินิคอมแพกต์ ใช้งบลงทุน 350 ล้านบาท บนพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร
บิ๊กซีเคยมีการพัฒนาสาขาเล็กอย่างลีดเดอร์ไพรซ์ ใช้คอนเซ็ปต์คุ้มค่าคุ้มราคา เน้นสินค้าเฮาส์แบรนด์ ทว่าด้วยจำนวนไลน์อัพสินค้าที่น้อยประกอบกับในช่วงนั้นผู้บริโภคไทยขาดความเชื่อมั่นต่อสินค้าเฮาส์แบรนด์ ส่งผลให้บิ๊กซีต้องปิดร้านลีดเดอร์ไพรซ์ แล้วหันมาพัฒนาร้านสะดวกซื้อภายใต้ชื่อมินิบิ๊กซี ซึ่งปัจจุบันมี 10 สาขา โดยร้านมินิบิ๊กซี จะเน้นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน มีทั้งสินค้าแบรนด์เนม และเฮาส์แบรนด์ของบิ๊กซี นอกจากนี้ยังมีอาหารแช่แข็ง เบเกอรี่ เหมือนที่ โลตัส เอ็กซ์เพรส มี แต่มีมากกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป
มินิบิ๊กซี ถูกวางโพซิชันนิ่งให้เป็นร้านค้ารูปแบบใหม่ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคตามชุมชนต่างๆ ที่ต้องการความสะดวกในการซื้อสินค้า โดยไม่ต้องการเดินทางไกลๆ เพื่อไปซื้อของในห้างใหญ่เพียงไม่กี่ชิ้น นอกจากจะเจาะเข้าถึงชุมชนแล้ว ยังเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการแข่งขันกับโลตัส เอ็กซ์เพรส และเซเว่น-อีเลฟเว่น โดยตรง เพียงแต่ยังตามหลังในเรื่องของจำนวนสาขา ที่แตกต่างกันอยู่มาก
นอกจากนี้ บิ๊กซี ยังมีการพัฒนาร้านเวชสำอางภายใต้ชื่อเพรียว เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยก่อนหน้านี้ร้านเพรียวมีสาขาเฉพาะในห้างบิ๊กซี แต่ปัจจุบันเริ่มขยายสาขาร้านเพรียวออกไปนอกห้างบิ๊กซี โดยร้านเพรียวนอกห้างบิ๊กซีสาขาแรกตั้งอยู่ที่ เอสพลานาด รัชดา ปัจจุบัน ร้านเพรียวมีสาขากว่า 20 แห่ง
บีเจซี-ปตท. ส่อแววกอดคอตกรอบ
“การซื้อกิจการของคาร์ฟูร์ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ สเตรทเตจิก ซัปพลายเชน ของบีเจซี ดังนั้น การเลือกให้บีเจซีซื้อกิจการคาร์ฟูร์ จึงเหมาะสมกว่าการใช้บริษัท ทีซีซี แลนด์” ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยเบฟเวอเรจ กล่าว
Strategic Supply Chain เป็นยุทธศาสตร์ที่กลุ่ม เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือบีเจซี วาดฝันไว้ ซึ่งที่ผ่านมา บีเจซี มีธุรกิจ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มอุปโภคบริโภค กลุ่มเวชภัณฑ์ กลุ่มเทคนิค และกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ล่าสุด ขยายธุรกิจไปสู่การจัดจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ โดยร่วมทุนกับ ไทยคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล (เวียดนาม) เพื่อนำเข้า ส่งออก และจัดจำหน่ายสินค้าในเวียดนาม
การซื้อกิจการคาร์ฟูร์ เป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานหลังจากที่บริษัทมีธุรกิจตั้งแต่การผลิต การจัดจำหน่าย การจัดส่ง จะขาดก็แต่เรื่องของช่องทางจำหน่าย
“เราสนใจคาร์ฟูร์ เพื่อต่อยอดธุรกิจในการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งจริงๆ เราก็ดูหลายช่องทางที่จะต่อยอดไม่ว่าจะเป็นดิสเคานต์สโตร์ หรือคอนวีเนียนสโตร์” กิตติพงษ์ รัตนชัยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่กลุ่มบีเจซี รวมถึงตัวของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจโมเดิร์น รีเทล ทำให้แหล่งข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการค้าปลีก เชื่อว่าเป็นการยากที่กลุ่มบีเจซีจะคว้าชัยชนะในดีลนี้
ขณะที่ ปตท.ถูกเบรกแผนการขยายธุรกิจค้าปลีก โดย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งให้ ปตท.ยุติการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท คาร์ฟูร์ โดยอาศัยอำนาจรัฐในฐานะที่กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในรัฐวิสาหกิจ ปตท. ประกอบกับการซื้อกิจการห้างคาร์ฟูร์เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารบางส่วนของ ปตท. ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ จึงส่งผลให้แผนการซื้อกิจการคาร์ฟูร์ต้องยุติลง
ก่อนหน้านี้ ปตท.มีการทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท ในการซื้อแบรนด์จิฟฟี่ นอกจากนี้ ปตท.ยังได้จดทะเบียนแบรนด์จิฟฟี่ในประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดย ปตท. มีแผนพัฒนาร้านจิฟฟี่ในปั๊ม ปตท. ล่าสุดมีการนำร้านจิฟฟี่ออกมาให้บริการนอกปั๊มที่อาคาร Energy Complex ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานแห่งใหม่ติดกับสำนักงานใหญ่ของ ปตท.บนถนนวิภาวดี ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า หาก ปตท.ชนะดีลในครั้งนี้ แบรนด์จิฟฟี่ น่าจะมีโอกาสสร้างสีสันใหม่ๆ ให้กับวงการค้าปลีก แต่ความฝันในการขยายธุรกิจ Non Oil ของ ปตท.ด้วยการซื้อกิจการคาร์ฟูร์ก็ต้องดับลง
|