Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2530
อินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตสนามปราบเซียน             
 

   
related stories

สุริยน ไรวา THE FIRST TYCOON
สิ่งที่ "ไรวา" เหลืออยู่

   
search resources

Insurance
สุริยน ไรวา
อินเตอร์เนชั่นแนลไลฟ์ แอสชัวรันส์ (ประเทศไทย)




อินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิต เป็นบริษัทเก่าแก่ที่เปลี่ยนเจ้าของบ่อยที่สุดทุกกลุ่มเข้ามาอย่างมีความหวังที่จะให้เป็นธุรกิจที่มีกำไรดี และสามารถซัพพอร์ตธุรกิจในเครือ แต่ยังไม่ทันเห็นผลพวกเขาก็มีอันต้องทิ้งไป ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมีการแซมกันว่า เหตุอาถรรพณ์เกิดเพราะชื่อ อินเตอร์ ถ้าเป็นกริยาแปลว่าฝัง ไลฟ์ แปลว่าชีวิต รวมกันแปลว่า "ฝังชีวิต" ผู้ที่มาผ่านสังเวียนที่นี่ก็มักจะเอาชื่อเสียงมาฝังที่นี่ ล่าสุดตะวันออกฟายแนนซ์ได้รับไฟเขียวจากคลังให้เป็นหัวหอกในการเข้าเทคโอเวอร์ ก็มีคำถามที่ท้าทายว่า จะซ้ำรอยเดิมหรือจะเป็นการเปิดศักราชใหม่

ผลประกอบการของบริษัทประกันชีวิตในรอบปี 2529 จำนวน 12 บริษัทเป็นของต่างประเทศสองบริษัทคือ เอไอเอ และซียูแอล บริษัทเอไอเอยังคงครองแชมป์ทำกำไรเป็นอันดับหนึ่งคือ 313.3 ล้านบาท ซึ่งกำไรนี้คิดเป็น 22 เท่าของกำไรทุกบริษัทรวมกัน

ผลประกอบการทั้งระบบ มีกำไรเพียง 5 บริษัท ที่เหลือล้วนแต่ขาดทุน ที่หนักที่สุดก็อินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิต ขาดทุนในปี 2529 จำนวน 20.467 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 216.3 ล้านบาท นับว่าฐานะการเงินของบริษัทอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง

ท่ามกลางการเฝ้าดูว่าอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตจะฝ่ามรสุมได้หรือไม่ ข่าวการเทคโอเวอร์ก็ปรากฏขึ้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา อนาคตของอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร การพิจารณาอดีตและปัจจุบันของอินเตอร์ไลฟ์คงช่วยได้มากทีเดียว

ยุคก่อตั้ง สุริยน ไรวา 2494-2516

ปี 2494 วสันต์ วีรมนัส อดีตนักขายมือดีของบริษัทนครหลวงประกันชีวิตมีความคิดอยากตั้งบริษัทประกันชีวิต เพราะเห็นว่าตลาดยังมีช่องว่างอีกมาก เขาได้ทำการรวบมักขายมือดี แล้วไปชักชวนข้าราชการผู้มีชื่อเสียง นักกฎหมาย นายแพทย์ พ่อค้า ที่เข้าใจธุรกิจนี้ดีจำนวน 10 คนเข้าร่วมการก่อตั้ง

พระยาสุนทรพิพิธ (เชย) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเป็นการเอาคนมีชื่อเสียงบวกพ่อค้า ตามสูตรการจัดตั้งบริษัท เริ่มจากทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4,000 หุ้น ๆ ละ 1,000 บาท

ใช้ชื่อบริษัทว่าสยามบริการประกันภัย ดวงตราบริษัทเป็นรูปพะสยามเทวธิราชประทับยืน มีแสงรัศมีล้อมรอบเศียรพระหัตถ์ขวามือหอกยาวเป็นศาตราวุธ

กรรมการผู้จัดการคนแรกได้แก่วสันต์ วีรมนัส มีสมจิตร พรหมสิงห์เป็นผู้ช่วย และมีเสถียร วีรกุล เป็นกรรมการผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นคนที่กลุ่มพ่อค้าส่งมาคุมวสันต์อีกที

ปีแรกเป็นการจัดวางระบบงาน และการเร่งอบรมพนักงานขายประกัน

ปีกแรกเป็นการจัดวาระบบงาน และการเร่งอบรมพนักงานขายประกัน

เนื่องจากโดยธรรมชาติของธุรกิจนี้ 3-5 ปีแรก จะยังไม่มีกำไร เพราะเบี้ยประกันปีแรกเป็นลูกค้ารายใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำครั้งแรก ซึ่งปกติผลตอบแทนในการขาย (COMMISSION) จะสูงถึง 50% ของยอดเบี้ยประกันรับ เมือรวมค่าใช้จ่ายในการบริหารเช่นค่าหัวหน้าหน่วยฝ่ายบริหาร ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ แล้วจะมีค่าใช้จ่ายถึง 110-130% ของเบี้ยประกันแสดงว่าขายลูกค้าปีแรกบริษัทจะขาดทุนทันที 10-30% โดยยังไม่คิดถึงค่าสินไหมหรือทุนประกันที่ต้องรับผิดชอบเลย ฉะนั้นปีแรกยิ่งขายมากเท่าไร ก็ยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น

ผู้บริหารยุคนั้นคงตระหนักในความจริงข้อนี้ ว่าข้อสำคัญต้องมีสายป่านยาว จำต้องหานายทุนที่มีเค้าหน้าตักมากและมีชื่อเสียงในวงกว้าง

สุริยน ไรวา คือคนที่เด่นดังที่สุดในยุคนั้น ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ในปีถัดมาสุริยนปล่อยให้ทีมเดินบริหารต่อไป แต่ปรากฏว่าผลงานไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

สุริยน ไรวา ได้ให้พ่อบุญธรรม คือพระนรราชจำนง หรือสิงห์ ไรวา ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เข้ามาช่วยดูแลพระนรราชฯเห็นว่าจะต้องให้มืออาชีพเข้ามาวางระบบ และถ่ายทอดโนว์ฮาวต่าง ๆ จึงได้ดึง RICHARD SHIM ซึ่งเป็นนักขายและมีฝีมือทางด้านบริหารการขายดีเด่น จากบริษัทหนึ่งในอเมริกามาช่วย โดยมีสัญญาการบริหารสองปี

RICHARD SHIM มีส่วนอย่างสำคัญ ในการพัฒนาจากระบบแบบไทย ๆ มาสู่ทิศทางการประกันชีวิตที่เป็นสากลมากขึ้น เขาถ่ายทอดความเข้าใจในเรืองคณิตศาสตร์ประกันภัย พัฒนาแบบของกรมธรรม์ให้เป็นที่ง่ายแก่การเข้าใจมากยิ่งขึ้น

พอหมดสัญญา 2 ปี RICHARD SHIM ไม่ได้ต่อสัญญา ซึ่งคนเก่าแก่ของอินเตอร์ไลฟ์เล่าว่า "เหตุผลข้อแรกคือพาสปอร์ตหมดอายุ 2 ผลงานไม่เร็วเท่าที่ควรและถ้าทำต่อไปอำนาจการตัดสินใจคงมีไม่มากนัก" RICHARD ต่อมาไปเป็นผู้จัดการเอไอเอที่ญี่ปุ่น

ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2505 บริษัทได้ขอเปลี่ยนชื่อจากสยามบริการประกันภัยเป็น อินเตอร์เนชั่นแนลไลฟ์ แอสชัวรันส์ (ประเทศไทย) THE INTERNATIONAL LIFE ASSURANCE (THAILAND) ชื่อย่อว่า I.L.A. และเปลี่ยนสัญลักษณ์ใหม่เป็น ดวงตราลูกโลก ด้านที่มีแผนที่ประเทศไทยอยู่ กลางลูกโลกมีชื่อย่อและชื่อเต็มเป็นภาษาอังกฤษอยู่เบื้องล่าง ทั้งหมดนี้ต้องการสะท้อนความเป็นสากลนิยมมากขึ้น

หลังจากปี 2505 สุริยนเข้ามาเป็นกรรมการอำนวยการเองจนสิ้นชีวิต เขาส่งคนเข้ามาบริหารดดยเปลี่ยนหน้ากันหลายชุดสุริยนให้ความสำคัญกับกิจการประกันชีวิตมาก เพราะเขาเห็นว่าเป็นกิจการประเภทน้ำซึมบ่อทราย คือเป็นแหล่งที่มีเงินไหลเวียนตลอดเวลา

สมพงษ์ ตัณฑเศรษฐี เป็นรองกรรมการอำนวยการ และให้สมาน วัชรศิริธรรม เป็นกรรมการผู้จัดการ ว่ากันว่า สุริยนดึงทั้งมือซ้ายและมือขวาจากธนาคารเกษตรมาบริหาร สมัยนี้เองที่เป็นยุคของการขยายสาขา นอกจากนี้มือขายก็เริ่มเปลี่ยนตำแหน่งเป็นบริหารงานขายมากขึ้น ตลอดจนการเร่งออกกรมธรรม์ใหม่ ๆ เช่นกรมธรรม์ฌาปนกิจ เพื่อสงเคราะห์ครอบครัวผู้มรณกรรม "เพราะเราขายกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ไม่ได้คนเบื่อ เริ่มไม่เชื่อมั่น หลังจากที่นครหลวงประกันภัยล้มไป เรารับประกันคนอายุ 60-75 ปี เป็นก้อนประเภทชำระครั้งเดียวก็ขายดีมาก ส่วนใหญ่ลูกค้าจากภาคตะวันออก" ประมุข จุลินทร์ ลูกหม้อเก่าของอินเตอร์ไลฟ์ตั้งแต่ยุคก่อตั้งเล่ากับ "ผู้จัดการ" ซึ่งขณะนั้นประมุขดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายขาย

สุริยนดึงคนเก่งจากอาคเนย์ประกันภัยมาอีกคน ชื่อชัชวาล ชุติมา คนนี้มาเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ซึ่งเขาได้เอาประสบการณ์บริหารภายในและการขายแบบของอาคเนย์มาใช้กับอินเตอร์ไลฟ์ ทำให้ระบบอำนวยผลประโยชน์ชัดเจนและเป็นธรรมยิ่งขึ้น

ที่สำคัญคือมีการส่งเสริมการขายออกเยี่ยมและปลุกระดมตามสาขาต่างจังหวัดทำให้ยอดขายพุ่งขึ้นสูง แต่ต่อมาชัชวาลลาออกไปเป็นหุ้นใหญ่ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่เชียงใหม่ร่วมกับตระกูลนิมมานเหมินท์ (บงล.ไทยเงินทุน)

ผลประกอบการของบริษัทอยู่ในสภาพรักษาตัวเองได้ บางปีกำไร บางปีขาดทุน

ปีที่บริษัทเกิดวิกฤติคือปี 2510-2511 ผลประกอบการเริ่มแย่ลงจนเห็นได้ชัด

19 มิถุนายน 2511 กระทรวงเศรษฐการ ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ประกันชีวิต 2510 มีคำสั่งควบคุมกิจการประกันชีวิตโดยสิ้นเชิงจำนวน 4 บริษัท คือบริษัทศรีอยุธยาประกันชีวิต, บริษัทบูรพาประกันชีวิต, บริษัทไทยประสิทธิ์ประกันภัย และบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลไลฟ์แอสชัวร์รัน

ความหมายของการเข้าควบคุมคือ การสั่งระงับการดำเนินกิจการ ห้ามไม่ให้มีการหาผลงานใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและผู้เอาประกันอย่างมาก

ทั้งนี้ก็ให้เหตุผลว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน และกล่าวหาว่าบางบริษัทได้มีการยักย้ายทรัพย์สินของบริษัทโดยมิชอบ

สมาคมประกันชีวิต ประชุมเครียดเพื่อหาข้อยุติในการให้การช่วยเหลือ สมพงษ์ ตัณฑเศรษฐี กรรมการบริหารขณะนั้น ชี้แจงต่อสุริยนว่าที่ประชุมบริษัทภาคีประกันชีวิตถือวาการบอกว่าหนี้สินเกินทรัพย์สินนั้นเป็นการกล่าวอ้างเกินความจริง เพราะกองประกปันภัยยังไม่ได้คำนวณทรัพย์สินหรือคำนวรผลบังคับกรมธรรม์ (VALUATION) และที่กล่าวหาว่าบางบริษัทยักย้ายทรัพย์สินก็เป็นการกล่าวหาอย่างเหวี่ยงแห

แต่อย่างไรก็ตามบริษัทก็ต้องดำเนินการตามที่กองประกันภัยกำหนดเงื่อนไขสุริยนได้โอนหุ้นจากโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ จำนวน 1,000 หุ้น และนำที่ดินจำนวน 191 ไร่ ที่สัตหีบ ให้แก่บริษัทเพื่อเป็นการชำระหนี้ของตนที่กู้ไปจากบริษัทพร้อมทั้งเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 10 ล้านบาท

เป็นอันว่าบริษัทผ่านการควบคุมครั้งที่ 1 ไปได้

สุริยน ไรวา มีความสนิทสนมกับครอบครัวหลวงวิจิตร วาทการ ลูกชายหลวงวิจิตรฯ กลับมาจากเมืองนอก สุริยนก็ชวนเข้ามาทำอินเตอร์ไลฟ์ โดยมาคุมฝ่ายขาย

จำนรรค์ อินทุสุต น้องภรรยาของสุริยนที่ต่อมาก็เป็นภรรยาอีกคนหนึ่งของสุริยน เข้ามาบริหาร ช่วงก่อนสุริยนจะเสียชีวิตไม่นานนัก และกลายสภาพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนสุริยน ไรวา

จำนรรจ์ รู้จักกับวิวิทย์ วิจิตรวาทการตั้งแต่สมัยอยุ่สวิส จริง ๆ แล้วก็น่าจะร่วมมือกันบริหารกิจการไปได้ดี แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทั้งคู่ทะเลาะกันอุตลุด

สภาพการณ์ในบริษัทแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน วิวิทย์คุมด้านการตลาดทั้งหมด โดยที่จำนรรจ์คุมบัญชี และการเงิน

วิวิทย์ตอนนั้นบริหารแอร์สยามด้วยเขามีเพื่อนชื่อสุธี นพคุณ ซึ่งรู้จักกันตั้งแต่สมัยอยู่ต่างประเทศ และ PSA ที่สุธีร่วมกับ พร สิทธิอำนวยก็กำลังรุ่งเรืองมาก

ขณะนั้นสุธี นพคุณมีบริษัทเครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทย โรงแรมรามาทาวเวอร์ เขาสนใจอยากจะมีกิจการประกันชีวิตด้วย

วิวิทย์คือหัวหอกที่เข้าจัดการเรื่องนี้ให้สุธี โดยใช้มาตรการหลายอย่าง เขาเข้าไปเสนอกันบางกองประกันภัยว่าบริษัทควรจะเพิ่มทุนอีก 10 ล้านซึ่งทางสุธีมีเงินพร้อมอยู่แล้วที่จะซื้อหุ้น แต่ทางจำนรรจ์ไม่พร้อม

"มีการฟ้องร้องกันไปมาระหว่างวิวิทย์กับจำนรรจ์เกือบ 10 คดี เรียกกว่าขึ้นศาลกันไม่เว้แต่ละวัน ถึงความชอบธรรมในการซื้อ-ขายหุ้น มีอยู่คดีหนึ่งวิวิทย์ฟ้องว่าจำนรรจ์กู้เงินจากอินเตอร์ไลฟ์ โดยเอาโฉนดไปจำนองแล้วเอาเงินมาซื้อหุ้นในนามตัวเอง" คนเก่าแก่ในอินเตอร์ไลฟ์เล่า "ผู้จัดการ"

ดำรง ลัทธพิพัฒน์ รมต.กระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้นมีคำสั่งให้ สำนักงานประกันภัย ซึ่งมีโพธิ์ จรรย์โกมล เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเข้าเป็นประธานในการควบคุมบริษัทอินเตอร์ไลฟ์ พร้อมกับกรรมการอีก 12 คน

"เราเข้าไปเพราะผู้ถือหุ้นขัดแย้งกันหนัก เราไว้วางใจไม่ได้ แต่ละกลุ่มมุ่งหาผลประโยชน์จากบริษัท เงินประกันของผู้เอาประกันร่อยหรอลงทุนขณะ ฐานะการเงินไม่มั่นคง สภาพหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สินเราเข้าไปเคลียร์ปัญหา และวางแผนแก้ไขฐานะบริษัท" โพธิ์ จรรย์โกมลเล่า

สภาพของพนักงานทั่วไปอยู่ในภาวะระส่ำระสาย อันเกิดจากความขัดแย้งดังกล่าว นักขายมือดีหลายคนลาออก ที่เหลืออยู่ก็เกิดความไม่มั่นใจ ขวัญเสียไม่รู้ว่าต่อไปใครจะเป้นนายทำให้สภาพบริษัทยิ่งตกต่ำลงไปอีกมาก

ต่อมาจำนรรจ์ยอมขายหุ้นทั้งหมดให้วิวิทย์ วิวิทย์บริหารอินเตอร์ไลฟ์อยู่ช่วงสั้น ๆ เพราะแอร์สยามที่วิวิทย์ทำกับหมอปราเสริฐ ปราสาทของโอสถ มีปัญหาหมุนเงินไม่ทัน สุธีให้กู้เงินจึงเกิดการแลกเปลี่ยนกันขึ้น โดยชำระหนี้เป็นหุ้นของอินเตอร์ไลฟ์ เป็นอันว่าสุธีได้อินเตอร์ไลฟ์ไปสมใจอยาก

ยุคสุธี นพคุณ

ในปัจจุบันชื่อพีเอสเอได้กลายเป็นตำนาน สำหรับความทรงจำที่เลือนหายไปแล้วของผู้คน

แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชื่อนี่หอมหวนมากเป็นกลุ่มคนหนุ่มที่ไต่เต้าจากความไม่มีอะไรมากนักสู้อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ พรอ้มกับภาพพจน์ การบริหารแบบใหม่ ภายใต้หลักวิชากรโดยคนหนุ่มสาวไฟแรงทั้งหมด นัยว่าพวกเขาชอบเข้าไปบริหารกิจการที่มีปัญหาทำท่าจะไปไม่รอด เข้าไปฟื้นฟูให้กลับดีขึ้นมาอีกครั้ง เป็นการพิสูจน์ฝีมือผู้จัดการ "มืออาชีพ"

กรกฎาคม 2518 บริษัทเปลี่ยนชื่ออีกครั้งให้สั้นลงเป็น "อินเตอร์ไลฟ์" ก่อนที่จะเพิ่มทุนในปี 2519 จาก 15 ล้านบาท เป็น 25 ล้านบาท และ 35 ล้านบาทตามลำดับกระทั่งกลายเป็นบริษัทประกันชีวิตทีมีทุนชำระสูงที่สุดในประเทศไทย มีสำนักงานตัวแทนในต่างจังหวัด 64 แห่งและย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ตึก 6 ชั้น สี่แยกมักกะสัน (จนถึงปัจจุบันมีการย้ายสำนักงานใหญ่แล้ว 9 ครั้ง) อยู่ติดกับตึกดำอันอื้อฉาว

พีเอสเอเข้ามาบริหารอินเตอร์ไลฟ์โดยมอบหมายให้ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริษัทซีเอสเอ็นแอนด์แอสโซซิเอท เป็นคนรับผิดชอบพร้อมทั้งทีมงานชุดใหม่

ทีมงานของชัยณรงค์ประกอบด้วยไพบูลย์ สำราญภูติ, สุกิจ ตันสกุล, สมชาย อเนกพุฒิ, ชะลอ เทพวัลย์, แน่งน้อย ปัญจพรรค์และอีกหลายคน

สุกิจ ตันสกุลให้ความเห็นสภาพบริษัทว่า "บริษัทมีปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากผู้ถือหุ้นมากกว่าปัญหาโครงสร้าง ถ้าหน่วยงานไม่มี UNITY มีการแบ่งฝ่าย ต่อให้มีโครงสร้างดีก็ทำไม่ได้ เราเข้าไป TAKE OVER 90% ก็ทำให้เกิดเอกภาพ มีนโยบายแน่นอน พนักงานมีทิศทางปัญหาโดยตัวธุรกิจเองไม่มากเท่าไหร่"

"ชัยณรงค์ มองว่าความจริงธุรกิจนี้มันดี เป็นธุรกิจที่ทั่วโลกยอมรับ แต่บ้านเรายังล้าหลัง ชัยณรงค์เดินทางตระเวนไปทั่วประเทศเพื่อหาข้อมูล ใช้เวลา 3 เดือนในการทำ MARKETING PLAN เพื่อเสนอสุธี" ไพบูลย์ สำราญภูติเล่า

กลุ่มผู้บริหารชุดใหม่มีความเชื่อว่าขอเพียงใช้แนวการบริหารสมัยใหม่ และเอาหลักการตลาดเข้าไปประยุกต์เท่านั้นทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะมันเป็นธุรกิจเดียวในโลกที่ลงทุนน้อยที่สุด ไม่ต้องมีเครื่องจักร โรงงานวัตถุดิบ ขอเพียงให้ได้ทีมงานที่ซื่อสัตย์สุจิรตใจเป็นพอคือที่สำคัยต้องลงทุนเรื่อง "คน"

ชัยณรงค์นำทีม ทำการแก้ไขอัตราเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายทั้งหมด โดยเฉพาะผู้จัดการสาขาต่างจังหวัดและผู้อำนวยการขายเขตต่าง ๆ ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ

เงินเดือนที่เคยได้ 800-900 บาทเปลี่ยนเป็น 2,000-3,000 บาท เป็นกลยุทธ์ที่ไม่ปล่อยให้เสือหิวโซ แต่กระตุ้นให้คนอยากทำงานมากขึ้น

กลุ่มผู้บริหารใหม่มองว่านักขายเก่าเป็นพวกเขี้ยวลากดิน เป็นพวกที่มีคอนเซ็ปท์แบบเก่า ซึ่งการเข้าไป INTERFERE ค่อนข้างยาก จึงตัดสินใจสร้างทีมใหม่

"เราตั้งความหวังไว้ที่คนรุ่นใหม่พวกที่จบปริญญาตรีทั้งหลาย เอามาอบรมให้เป็นนักขายและบริหารการขายประกันภัยรุ่นใหม่ แต่พอไป ๆ แล้วพลิกล็อก นอกจากผมจะต้องดูคนใหม่แล้ว ชัยณรงค์บอกคนเก่ามีปัญหา ไม่มีใครแก้ก็โยนมาให้ผมแก้ ผมก็เลยต้องทำด้านฝึกอบรม เสร็จแล้วก็คุมขายคุมตลาด และเป็นผู้จัดการในที่สุด" ไพบูลย์ สำราญภูมิเล่าอีกตอนหนึ่ง

การบริหารงานยุค PSA ไพบูลย์บอกว่าใช้ระบบ "แบ่งแยกแล้วปกครอง" (DIVIDED AND RULES) ตัวอย่างก็คือ "ฝ่ายการตลาดมีกรรมการ 6 คน เป็นคนเก่า 4 คนคือ ประมุข จิลินทร์, สุเมธ ณ สงขลา, มนตรี ศิวะนาวิน, ประสิทธิ์ รัตนพันธ์ ส่วนทีมใหม่มีเพียง 2 คน ซึ่งคือ 4 ต่อ 2 จะหักหาญโดยใช้แบบเผด็จการก็อาจจะถูกต่อต้านได้

ไพบูลย์แก้ปัญหาโดย เอาประมุขจุลินทร์มาอยู่ในกทม.เท่ากับประจำกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็น 3 ต่อ 2 แล้วทางแก้สำหรับ 3 ขุนศึกที่เหลือทำโดยแทนที่จะแบ่งเขตเพียง 3 เขตทั่วประเทศ ก็ให้ขยายเป็น 6 เขต ขั้นต่อไปก็ต้องเลือกผู้จัดการภาคที่มีศักดิ์ศรีและบารมีพอสมควร แม้ว่าทั้ง 3 คน จะเป็นลูกน้องที่อยู่ในอาณัติของ 3 ขุนศึกแต่ด้วยความเชื่อว่าทุกคนรอคอยจังหวะที่ก้าวหน้าทั้งนั้น ดังนั้นเสียงจึงเป็น 3-+1 ต่อ 3+2 งานก็เดินไปได้โดยผู้บริหารใหม่มีศักยภาพทางด้านนโยบายคล่องตัวขึ้น

ยุคนั้นเป็นยุคที่อินเตอร์ไลฟ์มีโครงการ ผู้จัดการบริหารสาขา ซึ่งทำหน้าที่เข้าไปดูแลควบคุมเสมียนพนังกานประจำสาขาค่าใช้จ่ายในการบริหาร งานด้านสารบรรณตลอดจนเรื่องราวต่าง ๆ ของลูกค้าโดยตรงคอยรายงานและเสนอสำนักงานใหญ่เป็นประจำทุกสัปดาห์

"โครงการนี้ทีแรกมันไม่เวิร์คเลยทะเลาะกันวินาศสันตะโร เพราะผู้จัดการขายก็บอกว่าส่งพ่อมาคุมได้ยังไง เพราะพ่อนี่มันเด็กกว่าลูกมาก" สุกิจ ซึ่งตอนนั้นเข้ามาช่วยดูแลผู้จัดการสาขาเล่าให้ฟัง

นอกจากนี้การส่งคนใหม่เข้าไปคุมทำให้ช่องทางหากินของผู้จัดการสาขาที่บางแห่งก็บริหารโดยเอาคนในครอบครัวทั้งหมดทำงาน บางคนก็มีการทำทะเบียนราษฎร์เถื่อนมีทั้งสำเนาทะเบียนบ้าน สูติบัตร มรณบัตร รวมทั้งตรายางราชสีห์ของกระทรวงมหาดไทย เขียนเอง ประทับเองเสร็จ เพื่อรับเงินประกัน ส่วนบางแห่งที่ทำอะไรถูกต้องก็รู้สึกว่าคนใหม่เข้าแบ่งเอาผลประโยชน์ที่ตนควรจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยไป

นโยบายบริหารสาขา นำมาซึ่งความแตกร้าวภายในและความแตกแยกของผู้บริหารใหม่เองด้วย ระหว่างกลุ่มของไพบูลย์ สำราญภูติและสมชาย อเนกพุฒิ

ส่วนนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครองผู้บริหารใหม่เห็นว่าดี ทำให้งานดำเนินไปได้อย่างที่ต้องการ ส่วนคนเก่าก็เห็นว่าเป็นการทำให้แตกแยกและเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้แต่เดิมไป ทำให้เสียขวัญและกำลังใจ

กว่าจะทำให้การบริหารงานภายในลงตัวได้ก็ก้าวย่างสู่ปีที่ 4 อินเตอร์ไลฟ์มุ่งพัฒนาในเรื่องภาพพจน์ มีการออกอินเตอร์ไลฟ์สาส์น เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างบริษัทถึงลูกค้า (ซึ่งยังออกอยู่จนปัจจุบัน) เป็นบริษัทแรกที่เริ่มออกโฆษณาทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุและในโรงภาพยนตร์เปลี่ยนคำขวัญของบริษัทจาก "ประกันภัย จ่ายคล่อง ต้องอินเตอร์ไลฟ์" มาเป็น "ความอบอุ่นใจแห่งปัจจุบัน หลักประกันแห่งอนาคต" และปลายเดือนกันยายน 2523 บริษัทเพิ่มทุนจาก 35 ล้านเป็น 50 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะพัฒนาแบบกรมธรรม์ให้ทันสมัยมากขึ้น "กรมธรรม์สมัยก่อนเหมือนโฉนดที่ดิน เหมือนเอกสารทางราชการ มีความจริงจังและความสมัยเก่าอยู่ค่อนข้างมาก ต้องเจ้าใจว่าเราไม่ได้ทำในด้านความตาย เรากำลังทำในเรื่องความมั่นคง ทำในสิ่งซึ่งสังคมทันสมัยเขายอมรับกัน นอกจากนี้เราจ้าง EXECUTIVE จากต่างประเทศที่เกษียณแล้วแต่ยังอยากทำงานมาช่วยดูและกำหนดทิศางและก็ส่งคนของเราไปเทรนการประกันที่ต่างประเทศ เช่น ไมตรี ตันฑวนิช ไปเทรนที่สวิส 3 เดือน" สุกิจ ตันสกุล ซึ่งตระกูลเขาคุ้นเคยกับการประกันชีวิตหลายรุ่นเล่ากับ "ผู้จัดการ"

พิจารณาผลประกอบการ ตั้งแต่ปี 2518-2524 ปรากฏว่าผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ที่ไปได้ ค่อนข้างดีกว่าตอนที่เริ่มเข้ามาจับคือปี 2518 ซึ่งขาดทุนถึง 16 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่ได้กำไรมากเท่าที่ควร ซึ่งผู้บริหารก็ให้เหตุผลว่าเวลาการบริหารไม่นาน พอที่จะเห็นผลเป็นกอบเป็นกำ ก็พบกับความจำเป็นที่ต้องถอนตัวออกไปเสียก่อน

สาเหตุก็คือปลายปี 2524 อาณาจักรพีเอสเอเริ่มสั่นคลอน เกิดความแตกแยกระหว่างพร สิทธิอำนวย กับสุธี นพคุณ มีการแบ่งสมบัติกัน สุธีได้อินเตอร์ไลฟ์ พร้อมกับรามาทาวเวอร์ และกิจการอีกหลายตัวแต่สภาพการเงินไม่คล่องตัว ทำให้ต้องมีการเลือกเอาธุรกิจไหนอยู่และตัดธุรกิจไหนไป "เราจ้างฝรั่งมาทำการประเมินค่า (EVALUATION) ฝรั่งเห็นว่าอินเตอร์ไลฟ์เป็นบริษัทที่มีการปรับตัวเป็นตัวที่มีอนาคต แต่เนื่องจากโดยนโยบายเราเอาโรงแรม จึงต้องขายตัวประกันภัยไป" อดีตคนที่เคยร่วมงานกับพีเอสเอเล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจในครั้งนั้น

ว่ากันว่า เมื่อสุธี นพคุณ ไปทำรามาการ์เด้นส์ แล้วมีปัญหา ก็พยายามเอาเงินจากอินเตอร์ไลฟ์ไปใช้ ซึ่งทำให้ผู้บริหารที่สุธีส่งเข้าไปเกิดความอึดอัดใจมาก และยอมรับไม่ได้ เมื่อสุธีขายหุ้นให้สุพจน์ ผู้บริหารเก่าทั้งหมดก็พากันลาออก

ยุค….สุพจน์ เดชสกุลธร

สุพจน์ คือผู้ที่รับซื้อกิจการอินเตอร์ไลฟ์ต่อมา ตอนนั้นเขามี เฉลิมนครประกันภัย เยาวราชไฟแนนซ์ เจริญกรุงไฟแนนซ์เครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลกอยู่แล้ว สุพจน์เคยพูดกับลูกน้องว่าเขาใฝ่ฝันที่จะมีกิจการประกันชีวิตมานานแล้วเพราะ "ธุรกิจอื่นสู้ประกันภัยไม่ได้ เป็นสถาบันที่มั่นคงและมีเงินมาก ไฟแนนซ์นี่ถ้ามีปัญหาแล้วไปเลย ปุ๊บเดียวคนแห่ถอนหมด" ก็ไม่รู้ว่าสุพจน์พูดประโยคนี้ก่อนหรือหลังคนไปแห่ถอนเงินเยาวราชไฟแนนซ์ของเขาจนล้ม

ตามสูตรเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินเจ้าผู้ครองแผ่นดินก็เปลี่ยนไปด้วย ผู้บริหารเดิมลาออกหมด ยังคงเหลือสมชาย อเนกพุฒิรักษาการอยู่ ระดับตัวแทนที่เข้ามาสมัยพีเอสเอและคนเก่าบางคนลาออกเกลี้ยง

สุพจน์เป็นกรรมการผู้อำนวยการรองฝ่ายตลาดได้แก่เกษม วิศวพลานนท์เจ้าของสุกี้ไชน่าทาวน์ ซึ่งเคยอยู่เอไอเอในสมัยของโจเซฟ ตัน เกษมควบคุมและวางแผนงานการตลาดใหม่หมดอีกครั้ง และวรทรรศ์ กาญจนดุล เป็นรองฝ่ายการบัญชีและการเงิน

"ผมเข้ามาก็ดูรายรับ-รายจ่าง อยู่ 1 เดือน ทำให้สันนิษฐานว่าสมชาย อเนกพุฒิเพียงรักษาการให้อยู่ได้ มีรายจ่ายมากกว่า รายรับ สาขามีอยู่เกือบร้อย มีคนหลายร้อย มีทางเลือกสองทาง ทางแรกง่ายมากโละคนงานออกให้หมดเหลือไว้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้ได้ดุลกับเบี้ยประกันรับ ซึ่งมีประมาณ 1 ล้าน หรือเท่าไหร่จำไม่ได้ สมัยก่อนผมความจำแม่นมาก ตั้งแต่เข้าไปอินเตอร์ไลฟ์ แก้ปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน ความจำเลยแย่ลงไปมาก ทางที่สองเพิ่มรายรับให้พอกับรายจ่ายให้คนเก่าทำงานหนักขึ้นและสร้างคนใหม่เพื่อหารายรับจากตลาดที่ยังมีช่องว่างอีกมาก"

"เบี้ยประกันถ้าต้องการสองล้าน หรือเพิ่มขึ้น 100% ซึ่งต้องเพิ่มขึ้น ระยะสั้นเราใช้วิธีดึงคนมือดี ๆ 5-6 คน อบรมคนใหม่อีก 1 พันกว่าคน แบ่งเป็น 10 ภาค มีผู้จัดการภาค หัวหน้าหน่วยผู้จัดการขาย จัดทัพโดยมีฝ่ายเสธคือ เฉลิม ตุงคะมณี" เกษม วิศวพลานนท์ เล่าให้ฟังอย่างยืดยาว

อย่างไรก็ตามในปี 2526 บริษัทขาดทุนถึง 104.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนมโหฬารและปี 2527 ขาดทุน 25.8 ล้านแหล่งข่าวบางคนระบุว่าช่วงข้อต่อของการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งมีการยักย้ายถ่ายเทบัญชีกัน บังเอิญคราวนี้มากหน่อย แต่บางกระแสก็ว่าปี 2526 มีการปรับปรุงใหม่ ซึ่งเดิมทำไว้ไม่ถูกต้อง ยอกขาดทุนจึงออกมาบานทะโร่

ปลายปี 2527 เยาวราชไฟแนนซ์มีปัญหาสภาพคล่อง ประชาชนตื่นไปถอนเงินจนทำให้บริษัทเงินทุนแห่งนั้นล้มและตามด้วยบริษัทในเครือเช่นเจริญกรุงไฟแนนซ์และอื่น ๆ ทำให้สุพจน์ต้องปล่อยมือจากอินเตอร์ไลฟ์ขายต่อให้รุ่งเรือง จันทรภาษา

ยุคของ รุ่งเรือง จันทรภาษา

รุ่งเรืองจันทรภาษา เป็นเจาของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ มีธุรกิจเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับทั้งสุพจน์ เดชสกุลธร และสุธี นพคุณ

รุ่งเรืองส่งทีมใหม่เข้าบริหาร โดยให้เวชช วิศวโยธิน เป็นกรรมการผู้อำนวยการสิทธิรักษ์ เลขะกุล เป็นกรรมการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ส่วนอีกคนคือชัยสิทธิ์ชัยพิบาลสฤษดิ์

เป็นการเปลี่ยนทีมบริหารถึง 3 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี ทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลงก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ เริ่มดูงาน เริ่มจัดบ้านตามสไตล์เจ้าของบ้านใหม่ทุกทีไปทำให้ขาดความต่อเนื่องในด้านนโยบาย ไม่มีทิศทางที่แจ่มชัด ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงอย่างมาก ๆ

ชุดนี้เข้ามาก็พยายามจัดองค์กรให้กระชับขึ้น "เราต้องดำเนินการตลาดให้รัดกุม มองให้ทะลุถึงธุรกิจนี้ เรามีการปรับปรุงยุบเลิกหน่วยงานที่ซับซ้อนมี LAY OFF ออกไป 70 กว่าคน ตอนนี้อยู่ในระหว่างการเร่งปรับปรุงทุกด้าน" ชัยสิทธิกล่าว

มีการเร่งสร้างคุณภาพการบริการโดยเตรียมที่จะซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ มูลค่า 2 ล้านบาทเข้ามาบริหารงานทางด้านกรมธรรม์ ซึ่งปัจจุบันเช่าเครื่องโดยให้บริษัทหนึ่งเป็นคนจัดการบันทึกข้อมูลรายละเอียดของลูกค้ารวมทั้งการเก็บสถิติและออกใบเสร็จรับเงิน

นอกจากนี้ชัยสิทธิ์ยังบอก "ผู้จัดการ" ว่ามีโครงการจะออกกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์พิเศษมีระยะเอาประกัน 15-21 ปี ทุกประกันขั้นต่ำ 50,000 บาท และจะคืนให้ผู้เอาประกัน 5% ของทุนประกันทุก 3 ปี และกรมธรรม์เคหะสินเชื่อ เป็นการประกันชีวิตให้กับผู้ซื้อบ้านและมีสัญญาในการผ่อนส่งกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน ผลประโยชน์ที่จะได้รับในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต คือบริษัทก็จะรับภาระผ่อนส่งแทนและบ้านก็ยังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัวผู้เอาประกัน

แต่ผลประกอบการในปี 2528-2529 ขาดทุน 10.1 และ 20.4 ล้านบาทตามลำดับ

ถึงตรงนี้มีปัญหาว่าผู้บริหารปัจจุบันจะได้ทำงานตามแผนที่เตรียมไว้หรือไม่

รุ่งเรืองซึ่งเป็นเจ้าของตะวันออกฟายแนนซ์นั้น มีปัยหาหนักในช่วงวิกฤติในวงการการเงินจนยอดสภาพคล่องจนสุดจะทนจึงต้องขอความช่วยเหลือจากโครงการ 4 เมษายนของทางการ

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้บีบให้รุ่งเรืองจัดการหนี้สินที่บริษัทในเครือกู้จากบงล.ตะวันออกฟายแนนซ์โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน กระทั่งรุ่งเรืองต้องเอาหุ้นของบริษัทอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตและอินเตอร์ไลฟ์ประกันภัยค้ำประกันหนี้ รวมทั้งที่ดินอีกหลายผืน

หุ้นอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตที่เอาไปค้ำไว้นั้นมีจำนวน 6.7 แสนหุ้น หุ้นละ 100 บาท เป็นมูลค่า 67 ล้านบาท จากทุนจุดทะเบียน 120 ลาน คิดเป็น 55 % ของหุ้นทั้งหมด

หุ้นของอินเตอร์ไลฟ์ประกันภัยที่ค้ำกับตะวันออกฟายแนนซ์ 35% และที่ค้ำกับบงล.เงินทุนสากล 35% ซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากลก็อยู่ในเครือของกรุงไทย โดยกรุงไทยถืออยู่ 65%

อนาคตของอินเตอร์ไลฟ์

เตือนใจ ทองเปล่งศรี กรรมการผู้จัดการบริษัทตะวันออกฟายแนนซ์ ซึ่งอดีตเคยเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบ สำนักงานประกันภัยนับเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการประกันภัยผู้หนึ่ง ได้บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ทางการเตรียมแผนฟื้นฟูบริษัททั้งสองพร้อมทั้งขอออนุญาตให้มีการโอนหุ้น ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งทางคลังเห็นชอบด้วยแล้ว พร้อมกับมีหนังสือเป็นทางการให้ดำเนินได้เมื่อเดือนที่ผ่านมา"

นิพันธ พุกกะณุสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สนับสนุนแนวความคิดนี้ โดยได้มีการหารือกับทางผู้บริหารสำนักงานประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งดูแลธุรกิจประกันภัยทั้งระบบซึ่งต่างก็เห็นชอบที่สถาบันการเงินของกระทรวงการคลังเข้าไปบริหารอินเตอร์ไลฟ์

ข้อดีของการที่รัฐเข้าเทคโอเวอร์อินเตอร์ไลฟ์ประกันภัยและประกันชีวิต คือการทำ FINANCIAL SERVICE ธุรกิจที่มีลักษณะ COMPLIMENTARY ครบวงจรซึ่งประกอบด้วย ธนาคาร สถาบันเงินทุนประกันชีวิต และประกันภัย ซึ่งเป็นธุรกิจที่สนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นนโยบายที่หวังจะให้ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารชั้นนำ (LEAD BANK) บงล.ธนานันต์ เป็นบริษัทเงินทุนชั้นนำ และมีอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตและประกันภัยชั้นนำ นี่คือความใฝ่ฝันของผู้ใหญ่กระทรวงการคลังยุคนี้

เนื่องจากปัจจุบันอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตมีทุนจดทะเบียน 120 ล้าน แต่มียอดขาดทุนสะสมถึง 224 ล้านบาท ซึ่งตามปกติผู้เข้าถือหุ้นใหม่มักจะเรียกร้องให้มีมูลค่าตามความเป็นจริง

แต่ทาง "ผู้จัดการ" ได้รับการยืนยันจาก พงศ์ เศวตศิลา ผู้จัดการใหญ่ของธนานันต์และเตือนใจว่าจากากรประชุมครั้งแรกของผู้ที่เตรียมจะเข้าบริหารอินเตอร์ไลฟ์ว่าไม่จำเป็นต้องลดทุนก่อน สามารถเพิ่มทุนได้เลย

ลักษณะการเพิ่มทุน นอกจากสถาบันของรัฐแล้ว ยังมีการชักชวนธนาคารที่ยังไม่มีบริษัทประกันภัยเป็นของตัวเองให้เข้ามาร่วมถือหุ้น เช่น ธนาคารมหานคร, ธนาคารนครหลวงไทย, ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ

"เราคงเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 180 ล้านบาท คือเพิ่มอีกเพียง 60 ล้านบาท เพราะเงินจากการประกันชีวิตเป็นเงินเย็น ระยะเวลาใช้คืนยาวนาน เงินกองทุนติดลบจึงไม่มีปัญหาเหมือนกับสถาบันการเงิน" เตือนใจชี้แจงให้กระจ่างขึ้น

สำหรับอินเตอร์ไลฟ์ประกันภัย (ซึ่งเดิมชื่อบริษัท ประกันนิรภัย เป็นของคนจีนแถวเยาวราช ที่ขายกิจการให้กลุ่มพีเอสเอซึ่งทางกลุ่ม PSA ส่ง ชนินทร์ รุนสำราญและเปลี่ยนชื่อเป็นอินเตอร์ไลฟ์ประกันภัย) แม้จะขาดทุนอยู่บ้าง แต่โดยธรรมชาติของกิจการ พงศ์ เศวตศิลา บอกว่า ถ้าอัดงานของเครือทั้งหมดเข้ามาตูมเดียวก็ฟื้นแล้ว ยิ่งมีภาพพจน์ของสถาบันการเงินหลายแห่งเป็นประกัน ภาพพจน์จะดีขึ้นมาก และส่งผลให้การหาประกันได้คล่องตัวขึ้น

อินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิต เตือนใจบอกว่า ตั้งเป้าว่าบริษัทซึ่งอยู่ในลำดับ 6-7 จาก 12 บริษัท มาเป็นบริษัทชั้นนำระดับต้น ๆ นอกจากเพิ่มทุนแล้ว จำเป็นต้องหาผู้บริหารมืออาชีพ ที่เป็นมือโปรทางด้านประกันชีวิตเข้ามาฟื้นฟูกิจการ

ผู้บริหารปัจจุบันก็คงนั่งร้อน ๆ หนาว ๆ ว่าตัวเองมือโปรหรือไม่ในทัศนะของผู้เอาเงินมาลง ซึ่งเขาจะต้องมั่นใจว่า ไม่สูญเปล่า

แหล่งข่าวที่เป็นกรรมการฟื้นฟูอินเตอร์ไลฟ์ ให้ความเห็นว่า พิจารณาจากสภาพอินเตอร์ไลฟ์ในปัจจุบัน และแผนซึ่งร่างเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว คงต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปีกว่าทุกอย่างจะลงตัว

มองจากอายุ 36 ขวบของอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิต ก็นับว่าเข้าสู่วัยกลางคนที่ผานประสบการณ์มาแล้วอย่างสะบักสะบอมเปลี่ยนเจ้านายครั้งแล้วครั้งเล่า ที่น่าเห็นใจก็พนักงานที่พากันเสียขวัญทุกครั้งที่เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะทุกครั้งมีการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร ปรับโน่น ยุบนี่ ให้วุ่นวายไปหมด และบางครั้งมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ อันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของพนักงานโดยตรงเสียด้วย

ในกรณีหลังมีตัวอย่างเช่น ข้อบังคับในการทำงานสมัย สุริยน ไรวา ข้อที่ 22 เรื่องการจ่ายเงินบำเหน็จ ซึ่งบอกว่า พนักงานที่ปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่ได้รับการบรรจุ และแต่งตั้ง ได้รับเงินเดือนประจำ หากมีความประสงค์จะลาออกโดยไม่มีความผิดให้คิดค่าบำเหน็จ โดยเอาเงินเดือนที่รับครั้งสุดท้ายคูณจากจำนวนปีที่ได้ปฏิบัติงานมา แต่สมัยสุธี เขียนกฎใหม่ว่า จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานซึ่งก็คือเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยหกเดือนเท่านั้น ซึ่งพนักงานหลายต่อหลายคนที่เสียประโยชน์ได้ฟ้องร้องเป็นคดีความกันอุตลุด

กรณีของอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตนั้นเห็นได้ชัดเจนว่า บริษัทล้มลุกคลุกคลานมาตลอดในยุคแรกเป็นปัญหาเรื่องความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อการประกันชิวตยังไม่มาก ปัญหาขาดมืออาชีพ และขาดโนว์ฮาว์ที่ดีพอ ตลอดจนปัญหาการใช้เงินไปลงทุนผิดประเภท และมีการทะเลาะเบาแว้งภายใน การบริหารยุคต่อ ๆ มาก็พยายามเข้ามาแก้แต่ก็ยังไม่มีใครได้ทำนานพอจนประสบความสำเร็จ และบางครั้งยังมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกไปอีกด้วย ที่สำคัญคือขาดความต่อเนื่องในการบริหาร ทำให้พัฒนาได้ไม่ทัดเทียมคู่แข่ง

อนาคตของอินเตอร์ไลฟ์จะไปได้สวยหรือไม่ขึ้นอยู่กับการทุ่มเทอย่างตั้งใจจริงต่อธุรกิจนี้ ให้สามารถดำรงอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง มิใช่พอตกแต่งให้ดูดีขึ้นแล้วก็ขายออกไป หรือชักรู้สึกไม่เข้าที ก็ถอนตัวหรือเปลี่ยนนโยบายตามแบบที่ทางการทำให้เห็นอยู่บ่อย ๆ จนประชาชนเกือบจะสิ้นศรัทธาต่อนโยบายใด ๆ ของรัฐ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us